‘ฟารุต สมัครไทย’ นักวาดภาพประกอบบนเส้นทางนักเขียน

‘ฟารุต สมัครไทย’ นักวาดภาพประกอบบนเส้นทางนักเขียน

โดย : YVP.T

โดยมากเรามักได้ยินคำว่า การรอคอยมีจุดสิ้นสุด แต่สำหรับฟารุต สมัครไทย การรอคอยอาจเป็นสัญญาณของการเริ่มต้น เพราะนวนิยายเรื่องภาพภพของเขารอคอยช่วงเวลาเหมาะเจาะที่จะเริ่มต้นเผยแพร่เรื่องราวที่นำไปสู่ก้าวต่อไปของเขา ในฐานะนักเขียน

ภาพภพ คือนวนิยายเรื่องแรกที่ ฟารุต เขียนขึ้นมา แต่เขาไม่ได้นำมาเผยแพร่เป็นเรื่องแรกในชีวิตอย่างที่ควรจะเป็น ด้วยเหตุผลว่า นวนิยายเรื่องนี้มีข้อมูลเชิงประวัติศาตร์ที่เขาไม่อยากให้พลาด เขาจึงเขียนเรื่อง ‘ดาราอันดามัน’ ขึ้นมาและตีพิมพ์ลงในนิตยสารหญิงไทย ซึ่งนับว่าเป็นผลงานการเขียนเรื่องที่สองที่ได้เผยแพร่ต่อสาธารณชนเป็นเรื่องแรกในชีวิตของเขา โดยภาพภพ ยังคงอยู่ในความตั้งใจของเขาภายใต้ความเชื่อที่ว่า เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม นวนิยายเรื่องแรกของเขาจะสมบูรณ์แบบและพร้อมจะให้นักอ่านได้ดื่มด่ำไปกับเรื่องราวทั้งหมด ในชื่อของ ‘ฟารุต’ … ฟารุต สมัครไทย

ฟารุต สมัครไทย เป็นหนุ่มเชียงรายที่เดินทางเข้ามาเรียนปริญญาตรี สาขาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และศึกษาต่อรับปริญญาโทที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นเขารับราชการเป็นครูสอนการออกแบบและคอมพิวเตอร์กราฟิก ตั้งแต่ปี 2529 ที่วิทยาลัยศิลปหัตถกรรม จ.นครศรีธรรมราชและย้ายมาวิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา กรุงเทพฯ จนเออร์ลี่ออกจากราชการปี 2555 เพราะต้องการย้ายกลับมาดูแลคุณแม่ที่บ้านเชียงราย

ปัจจุบัน ฟารุตเป็นอาจารย์พิเศษให้กับวิทยาลัยเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุขกาญจนาภิเษก และเป็นวิทยากรอบรมด้านคอมฯกราฟิก และเป็นนักวาดภาพประกอบอิสระ ทำงานภาพปกนิยายให้กับนักเขียนหลายท่าน

“การทำงานวาดภาพประกอบเริ่มในช่วงที่เป็นครูอยู่ที่นครศรีธรรมราชครับ ผมวาดภาพการ์ดอวยพรปีใหม่เสร็จแล้วเข้ามาส่งงานที่กรุงเทพฯ จนกระทั่งปี 2539 ได้มีโอกาสย้ายเข้ามาทำงานที่กรุงเทพฯ และได้เริ่มงานภาพประกอบให้กับ สนพ.ดอกหญ้าเป็นที่แรก โดยวาดปกให้งานของคุณหญิงวินิตา ในนามปากกา ว วินิจฉัยกุลกับแก้วเก้า ท่านถูกใจงานจนท่านจำชื่อผมได้แม่น

“จากนั้นผมมาวาดให้กับ สนพ.ต้นอ้อ ต่อด้วย สนพ. ณ บ้านวรรณกรรม, สนพ.บางกอก ขณะเดียวกันก็วาดภาพประกอบนิยายในนิตยสารหลายเล่ม เช่น นรี, จันทร์,ผู้หญิง, ผู้หญิงวันนี้, แพรว และจนท้ายสุดที่ สนพ.เพื่อนดี ทำอยู่นานมากจนสำนักพิมพ์ปิดตัวไปด้วยการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย”

แล้วอะไรที่ทำให้คนวาดภาพประกอบ กลายมาเป็นนักเขียนได้ในที่สุด

“ผมเป็นคนชอบเล่าเรื่องและเล่าได้เก่งตั้งแต่เล็ก เวลาไปดูหนังกลับมา พี่น้องและเพื่อนจะชอบให้เล่า เพราะผมจะบอกรายละเอียดได้ชัดเจน บรรยายลักษณะตัวละคร เล่าท่าทาง การดำเนินเรื่องได้ทุกฉากทุกตอนจนจบ พอเข้าช่วงวัยรุ่น ยุคนั้น เด็กต่างจังหวัด ไม่มีอะไรบันเทิงมากนัก ผมจึงเริ่มอ่านหนังสือนิยายตั้งแต่นั้น

“จำได้ว่าเรื่องแรกที่อ่านแล้วชอบมากคือ “บ้านเล็กในป่าใหญ่” ของ ลอรา อิงกัลส์ ไวเอดอร์ และไล่อ่านไปเยอะแยะ จนช่วงมัธยม ไปเจอ “สี่แผ่นดิน” อ่านแล้วอินมากจนพาตัวเองเข้าไปอยู่ในนิยายและเริ่มรู้ตอนนั้นว่าชอบเรื่องโบราณ ชอบประวัติศาตร์ช่วงสมัย ร.5 – ร.6 มาก

“ช่วงวัยนี้ผมได้ค้นพบว่าตัวเองมีความสามารถในด้านภาษาไทย การแต่งกลอน การเขียนเรียงความ ได้รับรางวัลระดับโรงเรียนและระดับจังหวัดหลายรางวัล ผมเคยฝันอยากเขียนนิยาย แต่ด้วยวัยและประสบการณ์ ทำให้พักไป และงานวาดรูปก็กำลังไปได้ดี จนช่วงปี 2554 ทำงานที่ สนพ.เพื่อนดี ได้รับโอกาสให้ลองเขียนนิยาย จึงลองเริ่มดู ซึ่งตัวผมเอง ผมเชื่ออยู่อย่างหนึ่งนะครับว่า ทุกอย่างเมื่อถึงเวลาเหมาะสม จะเข้ามาหาเราเอง บางครั้งเราดิ้นรนไขว่คว้าแทบตาย แต่ไม่เคยได้ เพราะเวลายังมาไม่ถึงครับ”

เมื่อได้ก้าวสู่เส้นทางนักเขียนที่รอคอย ความยากของการเป็นนักเขียนมือใหม่ ทำให้เขายิ่งรู้สึกว่า ใครก็ตามที่จะเป็นนักเขียน ต้องเป็นคนที่ใส่ใจในรายละเอียดมากมาย

“งานนักเขียนสำหรับผม ถือว่ายากนะครับ เพราะนักเขียนต้องมีความพร้อมหลายอย่าง ทั้งการเล่าเรื่องแบบคนฟังคนอ่านรู้เรื่อง ต่อเนื่องไปจนจบ แล้วก็ต้องมีความรู้เรื่องภาษามากพอควร รวมไปถึงข้อมูลที่ต้องการเขียน ยิ่งเป็นเรื่องราวที่ต้องการแทรกเรื่องจริงที่เคยเกิดขึ้น ยิ่งต้องระมัดระวังอย่างมาก ตอนที่เขียนภาพภพ ซึ่งเป็นงานเขียนชิ้นแรกในชีวิต มีประวัติศาสตร์และข้อมูลเยอะ ผมต้องใช้เวลาในการค้นคว้าและอ่านพอควร จึงได้พักเอาไว้ และหันไปเขียนอีกเรื่องหนึ่งก่อน เมื่อข้อมูลพร้อม ผมจึงเขียนภาพภพต่อไปจนจบ

“สิ่งที่ยากที่สุดของผมเมื่อมาเขียนนิยาย คือ คนเขียน ต้องสร้างและออกแบบตัวละครหลายตัว โดยต้องให้มีความแตกต่างทั้งรูปร่างหน้าตา อารมณ์ ความคิดและนิสัยส่วนตัว นักเขียนต้องใส่ใจในรายละเอียดที่มากกว่าเรื่องราวที่อยากเล่า แต่เป็นทุกอย่างที่หลอมรวมจนกลายเป็นนิยายเรื่องหนึ่ง”

 

“ภาพภพ” เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับช่างศิลปะชาวอิตาลีคนหนึ่งที่เข้ามาในช่วงปลายสมัย ร.5 ต้องมาเกี่ยวพันกับเด็กหนุ่มและหญิงชาวไทย เกิดเรื่องราวความรักที่ไม่สมหวัง จนเกิดความพยาบาทข้ามภพ ตัวละครหลายตัวได้กลับมาเกิดใหม่ แต่ตัวละครหลักที่ผูกจิตไว้กับความแค้นยังตามราวีจนถึงภพปัจจุบัน

ฟารุต เล่าเรื่องราวของ “ภาพภพ” ผ่านศิลปะ ภาพวาด โดยให้ตัวละครหลักหลายคนจะทำงานด้านศิลปะ และแน่นอนว่า ข้อมูลส่วนหนึ่งมากจากตัวของเขาเอง

“ผมเคยได้ยินใครคนหนึ่งพูดถึงการเขียนนิยายว่า ให้เริ่มจากตัวเราก่อน จากสิ่งที่เราเห็น คุ้นเคยและมีความรู้ เนื่องจากตัวละครเอกใน ภาพภพ เป็นจิตรกร ผมเลยดึงคาแรคเตอร์บางส่วนจากตัวเองไปใส่ แล้วไปอ่านพบในประวัติศาสตร์ว่ามีกลุ่มช่างชาวอิตาลี ที่ ร.5 ท่านได้ว่าจ้างให้เข้ามาทำงานศิลปะและก่อสร้างสถาปัตยกรรม และภาพถ่ายโบราณที่ได้เห็นแล้วประทับใจคือภาพจิตรกรชาวอิตาลีชื่อ เซซาเร แฟร์โร กำลังนั่งวาดพระบรมสาทิสลักษณ์ ร.5 อีกภาพคือภาพจิตรกรชาวอิตาลีชื่อ คาร์โล ริโกลี นั่งวาดพระบรมสาทิสลักษณ์ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี นั่นยิ่งทำให้ตัวละครของผมมีความชัดเจนสมจริงขึ้น

“พอมาบวกกับช่วงที่ผมเข้ามาเป็นครูที่กรุงเทพฯ ผมได้รู้จักลูกศิษย์คนหนึ่งที่ขอฝากตัวมาเรียนวาดรูปกับผม ผมรู้สึกผูกพันกับเด็กคนนี้มาก เคยคิดว่า เป็นไปได้ไหมที่คนสองคนเคยพบกันมาเมื่อชาติที่แล้ว และได้กลับมาพบกันอีก ผมจึงนำความรู้สึกตอนนั้นมาผูกเป็นเรื่องราวและเกิดความอยากเขียนออกมาเป็นนิยาย

อย่างที่เราได้บอกไปแต่แรกแล้วว่า การรอคอยอาจเป็นสัญญาณของการเริ่มต้นของนักเขียนท่านนี้ เพราะเมื่อผ่านเรื่อง ภาพภพ ไปแล้ว เขาเองก็มีแผนที่จะเดินสู่เส้นทางนักเขียนต่อไป

เรื่องต่อไปที่คิดว่าจะเขียน อาจจะเป็นแนวที่ผมชอบคือ สอบสวน ฆาตรกรที่ออกแนวไซโค แต่อาจจะมีแนววายใส่ลงไปให้เข้าสมัย อาจจะมีบทอีโรติคเติมลงไปหน่อย ผมอยากวางสไตล์นิยายทุกเรื่องที่ผมเขียนให้เป็นแนวลึกลับ สยองขวัญ สืบสวนและแฟนตาซี เพราะยอมรับเลยว่า ผมอ่อนการเล่าในบทรักหวาน หรือบทดราม่าครับ

“สุดท้าย ผมขอฝากตัวกับผู้อ่านทุกท่านด้วยครับ ผมไม่ใช่คนเก่ง ผมไม่มีความรู้ในการเขียนมากนัก เมื่อได้รับโอกาสแล้ว ผมจะตั้งใจเล่าเรื่องให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้เต็มความสามารถ ขอพื้นที่ความชอบในใจของทุกท่านแบ่งให้ผมสักนิดนะครับ และผมพร้อมจะรับฟังทุกข้อเสนอแนะด้วยความยินดีเพื่อนำมาปรับปรุงงานของผมต่อไปครับ”

Don`t copy text!