คุยกับกิ่งฉัตรนอกทุ่งลาเวนเดอร์ “เมื่อการเป็นนักเขียนอาชีพไม่ใช่แค่สร้างสรรค์ผลงานและจบไป”

คุยกับกิ่งฉัตรนอกทุ่งลาเวนเดอร์ “เมื่อการเป็นนักเขียนอาชีพไม่ใช่แค่สร้างสรรค์ผลงานและจบไป”

โดย : กิ่งสุรางค์ อนุภาษ

เมื่อการเป็นนักเขียนอาชีพไม่ใช่แค่สร้างสรรค์ผลงานและจบไป พร้อมเคล็ดไม่ลับ ‘ทำอย่างไรให้ตัวเองยืนอยู่ในอาชีพที่รักและฝันได้อย่างยั่งยืน’

Loading

การยืนระยะในวงการนักเขียนมากว่า ๓๐ ปี ของกิ่งฉัตร หรือ พี่ปุ้ย-ปาริฉัตร ศาลิคุปต นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากต้องมองหาแรงบันดาลใจจนกลายมาเป็นเรื่องราวหนึ่งเรื่อง ยังต้องรักษาผลงานให้ได้มาตรฐาน สร้างผลงานออกมาให้อ่านอย่างสม่ำเสมอ รับมือกับตัวเองเวลาไม่ฟีล มองความเห็นที่แตกต่างอย่างเข้าใจและไปต่อ รวมถึงการดำรงชีพ ฯลฯ เรียกว่าเมื่อตัดสินใจกระโดดลงมาเล่นสนามของนักเขียนอาชีพ ก็จะต้อง ‘จริง’ กับอาชีพนี้ไม่แพ้อาชีพอื่น และวันนี้เราจะมาคุยเรื่องราวชีวิตที่ไม่ได้อยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์กับพี่ปุ้ย-กิ่งฉัตร ด้วยกัน รวมถึงในเวลาที่โลกออนไลน์เข้ามามีบทบาทสำคัญในปัจจุบัน ทำให้นักเขียนได้รับผลกระทบในมุมต่างๆ อย่างไรบ้าง…

เล่าเรื่องราวจากสิ่งรอบตัว

แจ้งเกิดจากนิยายเรื่อง ‘พรพรหมอลเวง’ จนสร้างชื่อให้ ‘กิ่งฉัตร’ ก้าวเข้ามาในโลกแห่งการสร้างสรรค์วรรณกรรม พร้อมส่งผลงานต่างๆ ออกมาชุบชูใจแฟนๆ มากมายหลายเรื่อง เรามักได้ยินจาก FC ของกิ่งฉัตรพูดบ่อยๆ ว่า ‘มีผลงานของ กิ่งฉัตร ทุกเรื่อง’ หรือไม่ก็ ‘ตามมาตั้งแต่เรื่องแรกๆ’ ซึ่งแม้จะเปลี่ยนนามปากกามาเขียนแนวอื่นๆ บ้าง เช่น อลินา ชื่อถง แต่แฟนๆ ของเธอก็ยังเหนียวแน่นตามเก็บผลงานของเธอด้วยความชื่นชอบและชื่นชมมาโดยตลอด เรียกว่าความฝันของพี่ปุ้ยที่อยากจะเห็นงานของตัวเองบนชั้นในร้านขายหนังสือเป็นจริงตั้งแต่เธอยังอยู่ในวัยยี่สิบต้นๆ เลยทีเดียว

เสน่ห์ในงานของกิ่งฉัตรที่นอกจากจะเล่าเรื่องได้อย่างสนุกสนาน กลมกล่อมแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้ผลงานของเธอสร้างความประทับใจให้คนอ่านได้อย่างมากคือ เรื่องที่เล่านั้นล้วนมาจากเค้าโครงเรื่องจริงแล้วค่อยมาแต่งแต้ม เพิ่มอรรถรสให้กลายเป็นนิยายที่สนุกยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างผลงานล่าสุดที่เพิ่งรวมเล่มไป ‘แก่นไม้หอม’ ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากครอบครัวของเพื่อนสนิทที่ผูกพันกับแม่เลี้ยงซึ่งเปี่ยมไปด้วยความน่ารักและความเสียสละ จนกลายมาเป็นความประทับใจของผู้ฟังเช่นเธอแล้วค่อยๆ ถ่ายทอดออกมาเป็นตัวหนังสือ ถึงจะมีการปรับเปลี่ยนบางอย่างเพื่ออรรถรสของนิยาย แต่ด้วยแก่นที่แข็งแรงก็ทำให้นิยายเรื่องนี้เป็นอีกเล่มที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า แม้ว่าผู้อ่านอย่างเราอาจต้องตับพังกันบ้างก็ตาม

“อาชีพแรกของพี่คือนักข่าว เราเรียนมาทางด้านการสื่อสาร เอกหนังสือพิมพ์ แล้ววิธีการเขียนข่าว เขียนนิยายจะใกล้เคียงกันเลยปรับนำมาใช้ได้ ช่วงนั้นเป็นช่วงชีวิตที่มีคุณค่ามาก เพราะได้เห็นอะไรที่อาชีพอื่นไม่ได้เห็น มีข้อมูลมากมาย ซึ่งข้อมูลต่างๆ ก็ยังเก็บอยู่ในลิ้นชักของเราว่าเรื่องราวเป็นอย่างนี้ สมัยนั้นเป็นอย่างนี้ ชีวิตคนมีความแตกต่าง หลากหลายถึงขนาดนี้ ทุกอย่างเป็นข้อมูลสำคัญ เป็นวัตถุดิบที่นำมาเขียนได้หมด

ตอนฝึกงานพี่อยู่ฝ่ายคุณภาพชีวิต คุณภาพสังคม กับไทยรัฐ พอทำงานก็ทำที่ผู้จัดการ อยู่ฝ่ายปริทรรศน์ ซึ่งมีกฎว่าเมื่อเข้าไปครั้งแรก นักข่าวต้องฝึกครบทุกฝ่าย เลยได้ทำตั้งแต่ข่าวช้างกระทืบควาญช้าง ข่มขืน การค้ามนุษย์ อุบัติเหตุ หลากหลายมาก ทำให้มีข้อมูลในการเขียนหลายเรื่อง อย่างนิยายชุดสามทหารเสือ มายาตวันก็ได้มาจากการทำงาน ได้เห็นเรื่องราวต่างๆ ในวงการบันเทิง มนต์จันทราที่เล่าเรื่องขุดพลอยทางฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน ก็มาจากการได้มีโอกาสขึ้นเขาตามไปดูเส้นทางขุดพลอย ส่วนฟ้ากระจ่างดาวซึ่งเล่าถึงการค้ามนุษย์ ค้าประเวณี เป็นข้อมูลที่ได้มาจากการทำข่าวเช่นกัน รวมถึงเสราดารัล ก็อยู่ในช่วงที่ทำงานเป็นนักข่าวด้วย เรื่องพวกนี้เขียนได้ง่ายเพราะว่ามีความจริงที่นำมาเรียบเรียง เขียนเป็นเรื่องราวขึ้นมา แต่พี่ทำงานข่าวอยู่ประมาณสองปีก็ลาออกค่ะ นี่ยังรู้สึกเสียดายเลยที่เราทำงานประจำน้อยไปหน่อย”

แม้ไม่ได้เป็นนักข่าวให้เก็บเกี่ยวข้อมูลก็ไม่เป็นปัญหา เพราะโลกอินเทอร์เน็ตทำให้สามารถเชื่อมต่อกับเรื่องราวต่างๆ ที่อยากค้นหาได้อย่างสะดวกรวดเร็วเช่นกัน “ยิ่งพอมาถึงเดี๋ยวนี้ยิ่งสะดวกสบาย เพราะมีทั้งอินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย มีแหล่งข้อมูลที่จะค้นได้โดยไม่ต้องออกจากบ้าน สมัยก่อนต้องไปห้องสมุด สัมภาษณ์คน สมัยนี้อยากรู้อะไรก็เสิร์ชหา เพียงแต่ว่าต้องนำข้อมูลมากรองว่าอะไรที่ถูกต้องที่สุด ปัจจุบันเรื่องหลายอย่างไม่ได้ไกลตัว แล้วยังได้เห็นชีวิตและทัศนคติที่เปลี่ยนไปจากสังคมรอบข้างผ่านหน้าจอ เรื่องราวของหลายคนที่เขียนทุกวันนี้ก็ยังได้แรงบันดาลใจจากคำบอกเล่าที่เขาเล่ากันมาในนั้น ในโลกออนไลน์มีอะไรที่น่าสนใจมาก บางเรื่องก็มหัศจรรย์อย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งหลายเรื่องสามารถนำมาต่อยอดได้ค่ะ”

นอกจากแหล่งข้อมูลที่อยู่ในจอและที่อื่นๆ พี่ปุ้ยยังได้แรงบันดาลใจมาจากเพื่อนๆ ของเธอด้วย “อย่างเรื่องกับดักพนันใจ ก็มาจากเหตุการณ์ที่ไปกับเพื่อนแล้วไปเห็นสถานที่ที่ถูกใจมากจนกลายเป็นฉาก ลักษณะของเพื่อนที่ลั้ลลาก็เป็นแก๊ก เป็นมุกที่เห็นเขาทำแล้วน่ารักเลยเอามาใส่ในเรื่อง จริงๆ เรื่องขายเพื่อนกินนี่หลายเรื่องเหมือนกันนะ (หัวเราะ) แต่เรื่องแก่นไม้หอมน่าจะเยอะ ซึ่งไม่ได้นำมาทั้งหมด บางส่วนก็นำเรื่องราวของคนอื่น หรือเรื่องราวของครอบครัวเราเองปรับเขียนลงไป และหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะมีปัญหา แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ก็บอกไว้เลยว่าเป็นการแต่งเติมให้สนุกสนานในลักษณะของการเป็นนวนิยาย พี่มองว่ามนุษย์นั้นมีความหลากหลาย รอบตัวเรามีความแตกต่าง แต่ละคนมีเรื่องราวของตัวเอง เราก็จับมาผูกเล่าให้เป็นเรื่องราวได้ค่ะ”

เสน่ห์ของนักเขียนคือความแตกต่าง

ด้วยความที่พี่ปุ้ยเคยเป็นนักข่าวมาก่อน เลยเลือกใช้กลวิธีจากการเขียนข่าวมาเขียนนิยาย นำเสนอว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร “สำหรับมือใหม่ให้ใช้หลักนี้ลิสต์ขึ้นมาเลยว่า ตัวละครเป็นอย่างไร มีอะไรเกิดขึ้น สถานการณ์เกิดในช่วงไหน ฉากในแต่ละจุดที่เราเขียนในเรื่องนี้เป็นฉากอะไร มีจริงหรือเมืองสมมติ ถ้าเมืองสมมติเราอ้างอิงจากอะไร จะทำให้การทำงานง่ายขึ้น ซึ่งพอทำงานมาจนถึงจุดหนึ่ง เช่น สิบปี ยี่สิบปีก็ไม่ต้องใช้หลักนี้แล้ว เพราะเขียนได้เอง ถ้าเป็นน้องใหม่จะแนะนำวิธีนี้ แต่นักเขียนสมัยนี้เก่ง เขาสามารถนำเสนองานได้อย่างหลากหลาย อาจไม่ใช้หลักการที่พี่บอกก็ได้ค่ะ

นักเขียนแต่ละคนก็มีกลวิธีในการนำเสนอที่แตกต่างกัน มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น บางท่านใช้ภาษาที่โดดเด่น บางท่านให้ข้อมูลที่แน่น น่าสนใจ เขียนแล้วให้ความสนุกเพลิดเพลิน ซึ่งสิ่งเหล่านี้คงยากนะคะที่จะพูดว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร และที่สำคัญ ‘เลียนแบบกันยาก’ จะให้พี่เขียนแบบพี่เอียด ‘ปิยะพร ศักดิ์เกษม’ หรือว่าเขียนแบบใครๆ ก็ทำไม่ได้ เสน่ห์ของนักเขียนแต่ละคนคือความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งถ้าใครเห็น ใครอ่านก็จะรู้เลยว่าใครเป็นคนเขียน เรื่องแรกๆ ของพี่อาจยังจับจุดอะไรไม่ถูก แต่อาจเป็นเพราะเรารู้ว่าเขียนเรื่องแนวนี้ได้สนุก ค่อนข้างจะเร็ว เพราะถือเสมอว่าตัวเองเป็นคนอ่านคนแรก ฉะนั้นถ้ารู้สึกว่าเขียนแล้วสนุก ชอบงานชิ้นนั้นๆ ก็โอเค เพราะจะมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ชอบเหมือนเรา บางคนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีคนอ่านเฉพาะกลุ่ม อาจไม่มาก แต่จะเป็นกลุ่มที่ยั่งยืน เพราะเขาเป็นคนที่ชอบสไตล์เดียวกับเรา มีคำพูดประโยคหนึ่งประมาณว่า ‘แล้วนักเขียนกับนักอ่านก็หากันจนเจอ’ บางคนอาจช้านิดนึงกว่าจะเบ่งบาน เติบโต แต่ว่าเราจะต้องโตในวันหนึ่งถ้าไม่ท้อถอยเสียก่อน เพราะคนอ่านมีมหาศาล เพียงแต่เราจะต้องรอจนกว่าที่เราจะเจอกัน” นอกจากนี้เธอยังแนะนำต่อไปว่า การเขียนในสิ่งที่ชอบนอกจากจะทำให้งานชิ้นนั้นๆ สนุก ยังทำให้คนเขียนและคนอ่านไม่รู้สึกฝืนอีกด้วย “คือถ้าไปฝืนเขียนในสิ่งที่ไม่ใช่จะกลายเป็นงานหนักค่ะ คนเขียนก็แบก คนอ่านก็แบก ต่างคนต่างแบก ไปไม่ถึงสักที อีกข้อที่สำคัญคือเมื่อทำงานมากๆ แนวทาง ความคิดความอ่านอาจเปลี่ยนได้ เพียงแต่ให้ยึดไว้ว่า เราเป็นคนอ่านคนแรก ถ้าชอบแนวนี้ก็เขียนต่อไปค่ะ”

เป็นนักเขียนต้องสตรอง และมีนักอ่านช่วยเป็นกำลังใจ

ถ้าทำงานกันมาระยะหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นอาชีพไหน ส่วนมากมักจะเจออาการหมดไฟทั้งนั้น นักเขียนเองก็เช่นกัน “พี่เองเป็นบ่อยมากค่ะ (หัวเราะ) บางครั้งก็เหนื่อย บางครั้งก็มีความรู้สึกว่าเบื่อแล้ว ไม่อยากทำงานแล้ว อยากอ่านหนังสืออย่างเดียวเพราะเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาก แต่ไม่ได้ เพราะเลือกมาเส้นทางนี้แล้วต้องไปต่อ ความรู้สึกนี้จริงๆ มาจากหลายสาเหตุ เช่น บางครั้งได้รับคำวิจารณ์รุนแรงทำให้รู้สึกท้อถอย แต่พอถึงจุดหนึ่งก็จะผ่านไปแล้วกลับมารู้สึกมีความสุขกับการทำงานอีกครั้ง ซึ่งหลายครั้งที่รู้สึกถอยก็ได้นักอ่านนี่แหละที่มาช่วยผลักให้ไปต่อ บางคนอาจไม่รู้ตัวว่าคำพูดสักคำหนึ่ง หรือประโยคของเขาสักประโยคหนึ่งได้กลายมาเป็นแรงผลักดันอย่างมหาศาลให้เราก้าวต่อไป อย่างเรื่องมายาตวัน พี่เคยหยุดเขียนไปแล้วตอนนิตยสารที่ลงปิดตัว ตอนนั้นรู้สึกว่านี่ไม่ใช่เรื่องที่เราอยากเขียนแล้ว ไม่สนุก ไม่ถูกใจ แล้ววันหนึ่งมีเหตุให้ได้ไปเจอนักอ่านท่านหนึ่งที่เขาเดินเข้ามาบอกว่า ‘ยังรออ่านเรื่องนี้อยู่นะ’ พอได้ฟังแล้วใจก็มาเลย (หัวเราะ) หลังจากนั้นพอกลับบ้าน ก็ปัดฝุ่น เขียนเรื่องนี้ขึ้นมา จากนั้นก็มีเรื่องมนต์จันทรากับฟ้ากระจ่างดาวตามออกมาอีกสองเรื่อง เหตุการณ์นี้เกิดตอนที่เริ่มเขียนงานไม่เท่าไหร่ แล้วถ้าไม่เจอนักอ่านท่านนั้น พี่ก็อาจไปทำงานประจำเกี่ยวกับหนังสือด้านอื่นไปแล้ว จริงๆ มีช่วงจังหวะไม่อยากเขียนอยู่เรื่อยๆ นะ แต่โชคดีที่มีแรงสนับสนุนจากผู้อ่านทำให้เราก้าวต่อไปได้ค่ะ”

เป็นนักเขียนต้องรับได้ทั้งดอกไม้และก้อนอิฐ

เห็นเป็นนักเขียนเบสต์เซลเลอร์ก็ใช่ว่าผลงานของกิ่งฉัตรจะมีแต่เสียงชื่นชมอย่างเดียว เพราะในขณะที่บางคนมอบดอกไม้ บางคนก็ยื่นก้อนอิฐมาให้เธอเช่นเดียวกัน

คนรักเท่าผืนหนังคนชังเท่าผืนเสื่อ เราเขียนหนังสือมา…ตีสัก ๒๐ เรื่อง ไม่มีทางที่จะทำให้คนอ่านชอบทั้ง ๒๐ เรื่อง เพียงแต่กระแสที่เข้ามาเราจะรับเรื่องไหนไว้และปล่อยเรื่องไหนออกไปเท่านั้นเอง อย่างเช่น สูตรเสน่หา ตอนออกใหม่ๆ คนชอบเยอะมาก แต่ก็มีบางคนบอกว่าไม่โอเค ไม่ชอบนางเอก อย่างนั้นอย่างนี้ เคยมีลงวิจารณ์แบบแรงมาก หรือ ชุดนวหิมพานต์ตอนออกมาใหม่ๆ แล้วได้มีโอกาสพบนักอ่านบางท่านในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ เขาก็บอกว่าไม่อ่านชุดนี้เพราะไม่ชอบแนวแฟนตาซี หรืออย่างวันหนึ่งกำลังเซ็นหนังสืออยู่ที่งานงานหนึ่งแล้วก็มีนักอ่านท่านหนึ่งมาบอกว่าไม่ชอบนิยายเรื่องนี้เลย อยากเอาหนังสือมาคืน แต่ถัดจากนั้นนักอ่านอีกท่านที่กำลังรอต่อคิวเซ็นหนังสืออยู่กลับบอกว่าชอบหนังสือเล่มนี้มาก อยากได้ภาคต่อ เหตุการณ์นี้เลยทำให้เรียนรู้ว่า เราไม่สามารถจะทำให้ถูกใจทุกคนได้ ฉะนั้นการตัดสินใจทั้งหมดอยู่ที่เราว่าจะปรับปรุงตัวเองตามที่เขาบอก หรือจะยังเชื่อมั่นงานของตัวเองที่ได้นำเสนอออกมา นอกจากนี้ยังมีพี่ๆ นักเขียนผู้ใหญ่ทั้งหลายช่วยแนะนำ ถ่ายทอดประสบการณ์จากรุ่นสู่รุ่นว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่นักอ่านจะชอบอ่านหนังสือของเราทุกเรื่อง ขึ้นอยู่กับรสนิยมของแต่ละคนด้วย”

เรียกว่าต่อให้ทำงานมานานขนาดไหน แต่ทุกครั้งที่มีปัญหาเกี่ยวข้องกับผลงาน พี่ปุ้ยก็ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าเธอยังมีความกังวลอยู่ตลอด “แต่เมื่อผ่านพ้นไปก็ต้องก้าวต่อค่ะ เพราะถ้ายอมสยบกับปัญหาทั้งหลาย เช่น คำวิจารณ์ เราก็ไปไหนไม่ได้แล้วก็จบ หายไปจากวงการ แต่ถ้าเรารักที่จะทำงานอยู่ก็ต้องก้าวต่อไป เรื่องนี้เป็นเหมือนริ้วคลื่นที่มีอยู่เรื่อยๆ ถามว่านอยด์ไหม พี่ว่าใครๆ ก็นอยด์ทั้งนั้น ต่อให้ทำงานมา ๑๐ ปี ๒๐ ปี ๕๐ ปีก็ตาม เพราะว่างานคือสิ่งที่เราปล่อยออกไปด้วยความรู้สึกว่า ‘เราทำงานอย่างดีที่สุดแล้ว’ แต่บางที ‘ดีที่สุดของเราก็อาจไม่ได้ดีที่สุดสำหรับคนอื่น’ ฉะนั้นต้องยอมรับจุดนี้ ซึ่งพี่มองว่าทุกอาชีพก็เป็นแบบนี้แหละ ขณะที่ทำงานบริษัท บอสอาจมีสัก ๑-๒ คน แต่อาชีพนักเขียน บอสของเราเป็นคนอ่านที่มีหลายประเภท ซึ่งมีทั้งเข้าใจ ยินดี ชื่นชม หรือบางคนก็มีความรู้สึกว่าเขาเป็นบอสเราจริงๆ คือ จ้ำจี้ จ้ำไช จะต้องให้ได้อย่างที่ต้องการ รูปแบบบอสของเราจะมากกว่าคนอื่นเขาหน่อยนึง แต่ชีวิตมันก็คือการทำงาน ก็ต้องทำกันไปอย่างนี้ค่ะ”

ครั้งหน้าเราจะมาคุยกับพี่ปุ้ยกันต่อว่า เป็นนักเขียนแล้วไส้ต้องแห้งจริงหรือไม่ คนที่อยากเป็นนักเขียนควรทำอย่างไรเพื่อสร้างฝันตัวเองให้เป็นจริง อดใจรอนิดนึงค่ะ

 

Don`t copy text!