“แม่รักยักษา” เมื่อตัวละครในวรรณดคีไทยวาร์ปมาสนุกในยุค 2020

“แม่รักยักษา” เมื่อตัวละครในวรรณดคีไทยวาร์ปมาสนุกในยุค 2020

โดย : YVP.T

Loading

เคยคิดเล่นๆ กันไหมคะว่าถ้าเกิดตัวละครในเรื่องนั้นมาปรากฎตัวในเรื่องนี้จะสนุกแค่ไหน แล้วถ้ายิ่งเปลี่ยนบริบทเรื่องราวเข้าไปอีกล่ะ ชีวิตของพวกเขาจะเป็นอย่างไร ตอนนี้ความคิดเล่นๆ ที่ว่านี้เป็นจริงแล้ว เพราะ “อลินา” จัดให้ ในผลงานล่าสุดแสนสนุกที่ยิ่งอ่านยิ่นฟินยิ่งทำให้จินตนาการคึกคัก ใน “แม่รักยักษา”

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

เพราะอะไร ‘อลินา’ จึงนึกสนุกนำตัวละครต่างๆ ในวรรณคดีไทยที่รู้จักกันมานานมาสร้างสรรค์จนกลายเป็นตัวละครต่างๆ ใน “แม่รักยักษา”

“เกิดจากความคิดสนุกๆ ที่ว่า  ถ้าตัวละครต่างๆ ในวรรณคดีมีชีวิตจนถึงปัจจุบันจะเป็นอย่างไรนะ พวกเขาจะจะใช้ชีวิตอย่างไร  กินอยู่อย่างไร  ทำงานทำการอะไร  ตัวละครที่จบลงด้วยการครองคู่อยู่ด้วยกันอย่างหวานชื่น  จะยังคงรักใคร่กันดีไหม  แล้วถ้าเขาเหล่านั้นมาใช้ชีวิตอยู่ในยุคนี้ ตัวละครไหนควรมาจับคู่กับอาชีพอะไรที่จะเหมาะสมกับอาชีพเดิม อุปนิสัยเดิมๆ

“อย่างพันธุรัตนี่ทำอะไรไม่เป็นเลยนอกจากรักเด็ก  ดังนั้นครูอนุบาลจึงน่าจะเหมาะสมที่สุด  หรือกากีเนื้อหอม ต้องทำเครื่องหอมขายสิ ถึงจะเข้ากันดีที่สุดแล้ว  รจนาก็เปิดร้านดอกไม้ร้อยมาลัยระดับเทพ  จันท์เทวีเปิดร้านอาหารตำรับชาววัง (แท้) มี signature dish คือต้มจืดฟักสลัก  หรือความสามารถของฤๅษีแปลงสารจะเป็นอะไรไปไม่ได้เลยต้องเป็นแฮ็กเกอร์และนักปลอมแปลงเอกสารมือหนึ่ง คนเขียนก็แบบ…ยิ่งคิดยิ่งสนุก  เพราะตัวละครในวรรณคดีไทยมีหลากหลายมาก  เรียกได้ว่าทุกอาชีพมีหมดค่ะ”

 

แต่ทำไมอลินาจึงเลือก “พันธุรัต” มาเป็นตัวเอกในเรื่องนี้

“คงต้องบอกว่า ตอนเด็กๆ เวลาอ่านสังข์ทองทีไร สิ่งที่ทำให้รู้สึกขัดใจที่สุดก็เห็นจะเป็นแม่ยักษ์พันธุรัตนี่แหละค่ะ  เธองาม  เธอสูงส่งเป็นรานีครองเมือง  รับพระสังข์เป็นลูกบุญธรรมก็ทุ่มเทให้หมดทุกอย่างทั้งทรัพย์สินเงินทองและความรัก  ความรักของแม่รัตอาจจะไม่ถูกต้องเพราะไม่ได้บอกความจริงเรื่องตนเป็นยักษ์ให้สังข์ทองรู้  แต่แม่รัตไม่เคยทำร้ายสังข์ทองเลย  ขนาดลูกวิดบ่อทองไปเกือบครึ่ง (คิดดูว่าชุบทั้งตัวจะต้องใช้เนื้อทองเท่าไหร่)  หอบสมบัติล้ำค่าประจำเมืองหนีไป  แม่รัตยังห่วงตามไป  พอลูกไม่กลับแม่รัตก็ยังห่วงกลัวลูกอดตายจึงสอนมหาจินดามนตร์ไว้ให้เรียกเนื้อเรียกปลา  จากนั้นก็อกแตกตาย จบ  ตัวละครตัวหนึ่งตายเพราะลูกขโมยของหนีไปแล้วไม่ยอมกลับบ้าน แต่แปลกที่ตัวละครดีๆ แบบนี้ยังถูกจัดว่าเป็นตัวร้ายที่ต้องตายด้วยเหตุผลที่เธอเป็นยักษ์

“คิดแล้วก็…เอาล่ะเขียนเรื่องในแง่มุมมองของยักษ์เสียหน่อยแล้วกัน  ให้นางยักษ์ตนนี้เป็นนางเอก และให้นางมีเพื่อนสนิทนางเป็นยักษ์ที่ถูกด่าถูกประนามจากอีกเรื่อง  แถมพ่วงด้วยกากีนางเอกผู้ถูกกระทำอีกราย  จนกลายเป็นกลุ่มนางงามสามโลกไปในที่สุด”

นั่นแปลว่า คนอ่านจะได้พบตัวละครนิสัยเดิมที่มีความเปลี่ยนไป พร้อมมีเซอร์ไพร้ส์ในเรื่องหรือเปล่า

“ทั้งสองอย่างค่ะ  พื้นฐานอุปนิสัยใจคอจะยืนพื้นจากวรรณคดีเดิมตามการตีความของคนเขียน  ซึ่งอาจจะไม่เหมือนกับคนอ่านท่านอื่นๆ นะคะ  อย่างอลินาเองมองว่าสังข์ทองออกจะนิสัยเด็กๆ  นางสิบสองก็เป็นดาวเคราะห์ของผู้ปกครอง  ซึ่งถ้าอ่านจากเรื่องราวจริงๆ นี่  เกิดมาพ่อที่เคยเป็นเศรษฐีก็จนลงทันที  เพราะมีลูกสิบสองคน  แถมเธอยังไม่ขยับช่วยงานการใดๆ เลย  สันตรารับไปเลี้ยงก็ไม่รู้สิ้นเปลืองอีกเท่าไหร่  โสนน้อยเรือนงามจริงๆ อ่อนแอมาก  ถูกกุลากลั่นแกล้งขโมยตัวตนก็จำยอมไม่ลุกขึ้นมาสู้เลย 

“ทั้งหมดนี้เราเอามาต่อยอดว่า  ถ้าตัวละครเหล่านี้มีชีวิตถึงปัจจุบัน  เวลาจะเปลี่ยนแปลงอะไรพวกเขาบ้าง  นอกจากจะต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยแล้ว  นิสัยจะเปลี่ยนแปลงไปไหม  จะเติบโตขึ้นจากเดิมไหม  ตัวละครเรียนรู้ความผิดพลาดอะไรจากเรื่องราวเดิมหรือเปล่า ดังนั้นในแม่รักยักษา  ตัวละครจึงเป็นตัวละครเดิมที่มีพัฒนาการขึ้นหรือลงตามกาลเวลาค่ะ”

 

ความยากในการนำตัวละครที่คุ้นเคยมาสู่บริบทปัจจุบันคืออะไร

“ส่วนตัวคิดว่าการปรับตัวละครให้เป็นปัจจุบันไม่ยากนะคะ  อย่างที่บอกว่าตัวละครแทบทุกตัวมีจุดเด่นที่สามารถปรับเป็นคนยุคปัจจุบันได้เลย  นักเขียนรู้สึกสนุกด้วยซ้ำ เวลาคิดว่าตัวละครตัวนี้จะทำงานอะไรหรือมีพัฒนาการอย่างไรในยุคนี้  อย่างแม่รัตเคยรักเด็กมายุคนี้ก็ยังคงคอนเซปเดิมรักเด็ก  รักศิลปินเคป๊อบหน้าใส  ยังทุ่มไม่อั้นจนเป็นติ่งตัวแม่ไปเลย   หรือแก้วหน้าม้าอาจจะขี้เหร่  อาจจะกระโดกกระเดกเดินโครมครามแบบม้า  แต่พอมาถึงยุคนี้  สบายค่ะ  สูงยาวเข่าดี  เดินกระแทกๆ อย่างมั่นใจ  เอาฟันม้าออกแล้วไปเดินแบบเป็นนางแบบชั้นนำได้

“จริงๆ เรื่องยากน่าจะเป็นการค้นเนื้อหาที่ต่อเนื่องจากเรื่องที่เรารับรู้มามากกว่า  เพราะเวลาทำให้เนื้อหาจริงๆ ในวรรณคดีเปลี่ยนแปลงไป  บางเรื่องก็ถูกดัดแปลงและถูกเข้าใจว่าผูกโยงกัน  แถมมีเรื่องต่อที่เราเรียนหรืออ่านไปไม่ถึงอีกเยอะ  และบางทีค้นไปค้นมาก็ทำให้ใจสลายได้เพราะเรื่องมันไม่ใช่เป็นแบบที่เราคิดหรือรับรู้มา”

 

ความหมายของ “แม่รักยักษา”

“คำว่า ‘แม่รักยักษา’ นำมาจากบทละครนอกสังข์ทอง พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยค่ะ  เป็นคำที่เปิดตัวพันธุรัตครั้งแรก  โดยท้าวภุชงค์ช่วยพระสังข์มาจากแพแตก  แต่เลี้ยงเด็กในเมืองบาดาลไม่ได้เลยคิดหาคนเลี้ยงต่อ  แล้วก็นึกถึงพันธุรัตขึ้นมาได้เลยส่งพระสังข์มาเมืองของพันธุรัต  เนื้อหาจะเริ่มที่ว่า  ‘สารท้าวภุชงค์ทรงศักดิ์  คิดถึงแม่รักยักษา  แต่สหายวายปราณนานมา  ชั่วช้ามิได้มาเยี่ยมเยือน’ ดังนั้นเมื่อพันธุรัตเป็นนางเอกเรื่องนี้  ชื่อเรื่องจึงเป็น ‘แม่รักยักษา’ ค่ะ”

 

ควรอ่านสังข์ทองก่อนมาอ่านแม่รักยักษาไหม

“จริงๆ เชื่อว่าสังข์ทองเป็นวรรณคดีหรือละครที่คนไทยรู้จักกันดีอยู่แล้วนะคะ  ต่อให้ไม่เคยอ่านมาก่อนก็น่าจะรู้เรื่องกันดีอยู่แล้ว  ฉะนั้นไม่ต้องอ่านสังข์ทองมาก่อนก็อ่านแม่รักยักษาได้ค่ะ  แต่ถ้าจะให้อินและเข้าใจมุกของเรื่องแบบสุดๆ อ่านก่อนก็ดีนะคะ  อ้อ…ฝากอ่านนางสิบสอง  กากี  โสนน้อยเรือนงาม  พระอภัยมณี  ปลาบู่ทอง (หัวเราะ) ล้อเล่นค่ะ  อ่านได้เลยค่ะ  คิดว่าถึงจะไม่เคยอ่านเรื่องราวพวกนี้มาก่อนก็คงพออ่านตามได้อย่างสนุกค่ะ

ยังไงก็ฝากคนอ่านรักและเอาใจช่วยแม่รัต  นางเอกยักษ์ตนนี้ด้วยนะคะ”

ร่วมสัมผัสเรื่องราวสนุกๆ ในชีวิตของบรรดาตัวละครจากวรรณดคีไทยที่กระโดดข้ามยุคมาปี 2020 ไปกับ ‘อลินา’ และ “แม่รักยักษา” กันได้แล้วที่ www.lookangoon.com  หรือตามร้านหนังสือทั่วไป

 

Don`t copy text!