‘ชื่อธีด้าชอบหาเรื่อง’ นวนิยายตัดสายสะดือของนักเขียนฟิลกู้ด ‘กวินนภา’

‘ชื่อธีด้าชอบหาเรื่อง’ นวนิยายตัดสายสะดือของนักเขียนฟิลกู้ด ‘กวินนภา’

โดย : YVP.T

Loading

ถ้าคุณกำลังมองหานวนิยายใหม่ๆ ที่อ่านแล้วให้อารมณ์ฟิลกู้ดพร้อมๆ กับเรื่องราวความสนุกร่วมสมัยละก็ อ่านเอาขอเสนอ ชื่อธีด้าชอบหาเรื่อง เรื่องราวสนุกๆ ของยูทูเบอร์สาวกับชายหนุ่มผู้ถวิลหาอดีต อีกหนึ่งผลงานจากนักเรียนในโครงการอ่านเอาก้าวแรกรุ่น 2 ในนามปากกา ‘กวินนภา’ ที่วันนี้เราอยากให้คุณได้รู้จักเธอ

“นามปากกา ‘กวินนภา’ เป็นการนำชื่อตัวละครแรกในชีวิตซึ่งอยู่ในเรื่อง ‘ชื่อธีด้าชอบหาเรื่อง’ มารวมกับชื่อตัวเองค่ะ”

คลิกซื้อ E-Book ‘ในสวนอักษร’ ที่นี่

ส่วนชื่อจริงของ ‘กวินนภา’ คือ นภาภรณ์ เชิดธรรม เธอคนนี้ทำงานเกี่ยวข้องการกับเขียนมานานเป็นยี่สิบปี แต่ในฐานะก๊อบปี้ไรเตอร์ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นครีเอทีฟไดเร็กเตอร์  ที่ตอนนี้ขอโบกมือลาการงานทั้งหลายที่อิ่มตัวสุดๆ มาสู่การเป็นนักเขียนเต็มตัวอย่างที่ฝันไว้

“ถ้าถามว่าจุดเริ่มต้นของความอยากเป็นนักเขียนอยู่ที่ตรงไหน คงต้องบอกว่า ก็ตั้งแต่ได้รู้ว่าหนังสือทุกเล่มบนโลกนี้มีคนเขียนขึ้นมา ไม่ได้งอกมาจากดิน หรือไปสอยมาจากต้นไม้ต้นไหน ก็เริ่มรู้สึกเลยว่าเราอยากเป็นคนนั้นจังเลย… คนที่เขียนหนังสือ

“นักเขียนที่เรียกได้ว่าเป็นผู้เบิกเนตรในการอ่านให้กับเรา ท่านปรากฏอยู่ในนิยายเล่มแรกของกวินนภาด้วยนะคะ ท่านคือคุณพนมเทียนค่ะ จำได้ว่าตอนเป็นเด็กประถมเราหอบเอา ‘เพชรพระอุมา’ จากห้องสมุดที่ทำงานพ่อกลับมาอ่านที่บ้าน พอโตขึ้นติดวรรณกรรมเยาวชนงอมแงมเลยค่ะ จากนั้นเริ่มอ่านทุกอย่างจนอาจเรียกว่าสะเปะสะปะเลยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นแนวแฟนตาซี นวนิยายดิสโทเปีย และเริ่มอ่านนิยายแบบผู้ใหญ่ จากงานแปล โซฟี คินเซลลา อนห์น กริเชม และแน่นอนว่าผลงานของนักเขียนของสุดยอดนักเขียนไทยอย่างกิ่งฉัตร ปิยะพร พงศกร ปราปต์ ไม่เคยพลาด

“แต่ด้วยอะไรหลายอย่างที่ทำให้ใช้ชีวิตอ้อมไปทำอาชีพอื่นเกือบยี่สิบปี แต่ก็ยังคงเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการเขียนนะคะ ทั้งก๊อบปี้ไรเตอร์ ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ แต่เมื่อวันหนึ่งถึงจุดอิ่มตัวก็เหมือนกับว่าได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์จนฉ่ำเด้งก็เลยลาวงการเดิมแล้วหันเข้าสู่สายหนังสืออย่างเต็มตัวสักที ซึ่งก็เหมือนเริ่มนับหนึ่งใหม่เลยค่ะ แต่เราก็พยายามฝึกฝนและเคี่ยวเข็ญตัวเอง เพื่อผลิตงานเขียนออกมา ทำให้เราได้รู้ว่า มันไม่ง่ายเหมือนงานก๊อบปี้ไรเตอร์ที่คิดคำขายของส่งให้ลูกค้าตรวจ แล้วก็จบ แต่งานหนังสือมันยากเย็นกว่านั้นเยอะเลย เหมือนเข็นสิบล้อติดหล่มขึ้นภูเขาเหลียงซานเลยทีเดียว (หัวเราะ)”

 

‘กวินนภา ศิษย์อ่านเอา’

“ในจังหวะที่เกิดความรู้สึกว่าการเป็นนักเขียนมันยากเย็นเหลือเกิน ก็บังเอิญว่าได้เข้าไปเดินเล่นด้วยปลายนิ้วในเพจอ่านเอาจนได้เจอกับข่าวรับสมัครโครงการอ่านเอาก้าวแรก รุ่น 2 ที่ตอนนั้นใกล้จะปิดรับสมัครแล้ว พอตาเหลือบเห็นเงื่อนไขว่าผู้เข้าอบรมจะต้องเขียนงานส่งด้วย 1 เรื่องก็ยิ่งคิดว่า เอออออ ไม่รอดหรอก แต่เอาน่าสมัครไปก่อน ไปเอาวิชา แล้วงานนี้ยังได้กระทบไหล่ปรมาจารย์ทีเดียว 3 ท่าน ยังไงก็คุ้ม!! ซึ่งก็คิดถูก  เพราะแค่ฟังพี่ๆ เม้ามอยเรื่องงานเขียน เทคนิควิธีการรวมถึงประสบการณ์ที่หลากรส แค่นี้ก็เพลินแล้วค่ะ

“การที่พี่ๆ เล่าเรื่องราวให้เราฟังมันเหมือนเป็นการเชิญชวนเราเข้าไปในมิติเวลาที่งานเขียนนั้นกำลังก่อตัวขึ้นมายังไงยังงั้นเลย เหมือนที่ไอสไตน์บอกว่า เราไม่ต้องตัวใหญ่เท่ายักษ์ แต่เราได้ยืนบนไหล่ยักษ์ เราก็จะมองได้ในมุมเดียวกับยักษ์แล้ว

“จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการทำงาน มีเวลาให้ 5 เดือน แต่เพราะติดนิสัยชอบปั่นงานเอาตอนใกล้หมดเวลา 2 เดือนสุดท้ายจึงกลายเป็นเดือนที่โหดมากๆ แต่สุดท้ายก็ส่งงานแบบเส้นยาแดงผ่าแปดเลยค่ะ คือไม่ต้องตรวจต้องทานอะไรกันแล้ว ส่งไปก่อนให้ทันเวลาก็แล้วกัน ซึ่งผลออกมาก็แน่นอนค่ะ โดนแก้กระจุย (หัวเราะ)

“ต้องขอขอบพระคุณพี่เอียด คุณหมอกับพี่ปุ้ยที่ช่วยแนะนำขัดเกลาให้อีกหลายจุดจนกระทั่งกลายมาเป็น ชื่อธีด้าชอบหาเรื่อง’ อย่างที่ทุกท่านได้อ่าน นับแต่วันนั้นจนวันนี้ กวินนภาจึงพูดได้อย่างเต็มปากเลยว่า โครงการอ่านเอาก้าวแรก สร้าง ‘กวินนภา’ ขึ้นมาอย่างเต็มตัว จนเรารู้สึกว่า เราคือ ‘กวินนภา ศิษย์อ่านเอา’

จริงๆ”   

 

Social Disruption ต้นตอแห่งเรื่องราว “ชื่อธีด้าชอบหาเรื่อง” 

เพราะสังคมเดี๋ยวนี้มันเปลี่ยนไปจากเดิมจากแทบตามไม่ทัน แก่นของเรื่อง ‘ชื่อธีด้าชอบหาเรื่อง’ จึงเกิดขึ้นจากสิ่งเหล่านั้น

“การที่เราต้องปรับตัวเพื่อรับของใหม่ แต่ก็ยังไม่ทิ้งของเดิมที่มีคุณค่า เหมือนแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดเรื่องนี้ขึ้นมา บวกกับต้นกำเนิดของเว็บไซต์และเพจอ่านเอา ที่พี่ๆ นักเขียนเล่าให้ฟังว่า หนังสือหลายหัวพากันปิดตัว นักเขียนก็เหมือนจะเคว้งคว้าง การที่อ่านเอาเปลี่ยนตัวเองมาอยู่ในแพลตฟอร์มที่ทันสมัยก็เท่ากับเป็นการต่ออายุวงการหนังสือบ้านเรา พอฟังแล้วทำรู้สึกว้าวมากเลยนะคะกับความคิดนี้  ก็เลยจับตรงนี้มาเป็นคาแร็กเตอร์ของพระเอกในเรื่องนี้ ลที่เขาถวิลหาความทรงจำที่ดีจากอดีต แต่มันก็ต้านโลกใหม่ไม่ได้ เขาจะต้องทำยังไง  

“ส่วนนางเอก ‘กวินธิดา’ หรือ ‘ธีด้า’ ก็มาจากภาพรวมของเด็กรุ่นใหม่ที่มีความเป็นตัวของตัวเอง และคิดว่าการเป็นยูทูเบอร์ที่โด่งดังได้คือความสำเร็จในชีวิต ไม่ต้องจบมหาวิทยาลัยแบบคนสมัยก่อนก็ได้ ซึ่งตรงนี้ตอนที่เชื่อมเรื่องกับหาวิธีเล่าก็ยากอยู่เหมือนกัน เพราะเรากำลังสมมติคนที่อยู่ในโลกใหม่ให้มาวิ่งเล่นในโลกนิยาย ทำยังไงคนถึงจะเชื่อก็เลยเปิดเรื่องเป็นบทนำว่า กวินธิดามาขอให้นักเขียนคนหนึ่งเล่าเรื่องของเธอให้หน่อย ในภาษาและรูปแบบที่เป็นนิยาย เพื่อเธอจะเอาเรื่องที่เขียนขึ้นมานี้ไปทำอะไรบางอย่าง  แต่ยังไม่บอกนะคะ ต้องรออ่านตอนจบค่ะ”

แนวฟิลกู้ดก็แฮปปี้ดี แต่วรรณกรรมหนักๆ ก็น่าลอง

แม้กวินนภาพจะดูเป็นนักเขียนแนวฟิลกู้ดที่มาพร้อมวรรณศิลป์สนุกๆ เฉพาะตัวที่แฝงไว้ด้วยเสน่ห์ที่เข้าถึงได้ไม่ยาก แต่เธอก็มีความคิดในอีกส่วนว่า แนวอื่นก็น่าสน

‘ชื่อธีด้าชอบหาเรื่อง’ เป็นงานแนวฟิลกู้ดที่กวินนภายังอยากพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นในแนวนี้ โดยปรับปรุงการคิดเรื่อง เขียนเรื่อง สไตล์สำนวน อยากให้คนอ่านแล้วรู้เลยว่าเป็น กวินนภา (ศิษย์อ่านเอา) แต่แนววรรณกรรมหนักๆ ที่สะท้อนภาพของคนไทยในยุคที่เราเกิดและเติบโตในมุมมองของเราให้สากลเห็นและเข้าใจก็เป็นอีกพล็อตหนึ่งที่ยังอยู่ในช่วงหาข้อมูลและสร้างสรรค์ไอเดีย ซึ่งถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะลองเขียนปีหน้าค่ะ

“สำหรับผลงานเรื่องต่อไปของกวินนภานั้นมีร้อยเปอร์เซ็นต์เต็มแน่นอน เป็นแนวฟิลกู๊ดแต่ขยับวัยขึ้นมาหน่อย ไม่เด็กเหมือนธีด้า แต่ยังคงมีมุมมองสะท้อนเรื่องสังคมยุคใหม่อยู่ค่ะ และแน่นอนว่ากวินนภาจะเกาะอยู่ที่อ่านเอาไม่ยอมให้สลัดทิ้งด้วย (หัวเราะ) หากคุณผู้อ่านมีคำติเตือนใดๆ กวินนภายินดีน้อมปรับเสมอนะคะ”

‘กวินนภา’ ได้รับการตัดสายสะดือแล้วโดยอ่านเอาก้าวแรก วันนี้ทารกน้อยแห่งโลกหนังสือ จะได้เติบโตแข็งแรงอ้วนจ้ำม่ำแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับท่านผู้อ่านที่เปรียบเสมือนพ่อแม่ที่จะคอยอุ้มชูเลี้ยงดูแล้วล่ะค่ะ

Don`t copy text!