‘ต้องมนตร์ดนตรี’ สุ้มเสียงและสีสันแห่งตัวอักษร โดย ‘วินธยา’
โดย : YVP.T
ดนตรีไทยมักมาพร้อมกับความเชื่อ ความลึกลับ แต่มันจะจริงเสมอไปอย่างนั้นหรือ อาจเป็นเพียงเสียงลือเสียงเล่า เรื่องเมาท์กันไปปากต่อปาก ใครล่ะจะบอกได้ถึงความจริงในเรื่องนี้
‘ต้องมนตร์ดนตรี’ นวนิยายจาก ‘วินธยา’ อดีตนักศึกษาด้านดนตรี อาจมีคำตอบดีๆ ไว้ให้แล้ว
“ลูกตาล-ศุภานิช คำบุศย์ นะคะ เป็นหนึ่งในนักเรียนของโครงการอ่านเอาก้าวแรก รุ่น 2 ที่ยอมรับเลยว่า เป็นคนค่อนข้างปิดตัวเอง เวลาเขียนอะไรก็มักจะเก็บไว้กับตัว อย่างมากสุดคือให้เพื่อนๆ อ่าน แต่เมื่อคิดว่าถ้าอยากจะเป็นนักเขียนก็ต้องกล้าก้าวออกมาจากเงามืดของตัวเอง จึงตัดสินใจสมัครเข้าโครงการ และวางเป้าหมายแรกคือเขียนงานส่งให้ทันกำหนดส่งตามเงื่อนไขการรับสมัครให้ได้ เพราะปกติเขียนไปเรื่อยๆ เท่ากับเป็นการชาเลนจ์ตัวเราไปในตัว
“สิ่งที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการฯ คือได้พบและได้รับความรู้จากนักเขียนที่เราชื่นชม ทุกๆ ท่านส่งพลังงานบวกให้เรามีแรงฮึดเขียนนิยายต่อ แม้งานเขียนจะไม่ได้รางวัลแต่ก็ได้รับคำแนะนำที่มีประโยชน์มากเพื่อกลับมาแก้ไขงาน และที่ไม่คาดคิดคือ นวนิยายของเราได้รับโอกาสไปเผยแพร่ในเว็บไซต์อ่านเอา”
‘วินธยา’ ตัวอักษรมาพร้อมความรู้สึก
“ลูกตาลเป็นนักศึกษาด้านดนตรี วิชาเอกคือซออู้ ที่ใช้ชีวิตช่วงหนึ่งอยู่กับเรื่องของดนตรีค่อนข้างมาก อาจจะด้วยการเรียนและงานที่เป็นทั้งนักดนตรีอาสา เป็นครูสอนดนตรีบ้าง นอกเหนือไปจากการเป็นผู้ช่วยงานวิจัยด้านวัฒนธรรมอินเดีย และรู้ตัวว่าชอบอ่านหนังสือก็คือช่วง ม.1 แต่เริ่มอ่านงานนักเขียนต่างประเทศก่อนแล้วค่อยอ่านนักเขียนไทย จนกระทั่งจุดหนึ่งก็อยากเขียนบ้าง และก็เขียนค่ะ ส่วนคนที่อ่านก็จะเป็นน้องๆ ที่วิทยาลัย ถามว่าสนุกไหม น้องๆ ก็ตอบว่าสนุก ก็ไม่รู้สนุกจริงหรือเปล่านะคะ (หัวเราะ)
“งานเขียนสำหรับเราคือสิ่งที่มีเสน่ห์มากๆ โดยเฉพาะเมื่อมันสามารถสื่อสารในสิ่งที่คิดได้มากกว่าคำพูด ตัวอักษรสามารถแสดงความรู้สึกนึกคิด มุมมอง ทัศนคติ ตัวตนของผู้เขียนได้อย่างเปิดเผย บางครั้งสิ่งที่ซ้อนเร้นอยู่ในก้นบึ้งของหัวใจก็ได้รับการถ่ายทอดออกมาในรูปของถ้อยคำผ่านรูปประโยคอันซับซ้อนที่ร้อยเรียงโยงใยจนก่อร่างสร้างขึ้นเป็นเรื่องราวได้อย่างน่าอัศจรรย์ สิ่งที่เราพูดไม่ได้ เราก็เลยได้สื่อสารกับคนอื่นๆ ซึ่งคนอ่านก็ยังมีอิสระในการตีความที่แตกต่างกันไปตามมุมมองและประสบการณ์ของแต่ละคน ขณะเดียวกันคิดว่า การอ่านหนังสือทำให้เราได้ปลีกตัวเองออกมาจากโลกอันชุลมุนวุ่นวาย เพื่อดื่มด่ำเสพย์ตัวอักษร และได้ให้เวลากับตัวเองเพื่อครุ่นคิดบางอย่างที่เราไม่มีโอกาสคิดถึงในวันอันเร่งรีบค่ะ”
ตราตรึงด้วยภาพผ่านนวนิยาย
“นวนิยายที่ถือว่าเป็นเรื่องโปรดคือ ‘รากนครา’ ของคุณปิยะพร ศักดิ์เกษม ค่ะ แต่รู้จักเรื่องนี้ผ่านการเป็นละครโทรทัศน์ก่อนนะ ถึงได้มารู้ว่าเรื่องนี้เป็นนิยายมาก่อน ซึ่งพอได้อ่านในย่อหน้าที่ขึ้นต้นว่า ‘ปี พุทธศักราช 2427 เบื้องหน้าคือทิวเขาทอดยาวโอบล้อมไปยังทิศตะวันตก…’ ความรู้สึกคือ เราไม่ได้เห็นแต่ตัวอักษร แต่เราเห็นภาพทิวเขาที่ถูกย้อมด้วยสีสันและเงาครึ้มเหมือนว่าได้ไปยืนดูด้วยตาตนเองและสูดกลิ่นอายจากสถานที่นั้น จากนั้นก็ติดตามงานเขียนของท่านเรื่อยมา และยก ‘รากนครา’ ขึ้นหิ้งไว้ในดวงใจเลยค่ะ
“นอกจากนั้นก็มีผลงานของ ลอรา อิงกัลส์ ไวล์เดอร์ ผู้เขียนนวนิยายชุด ‘บ้านเล็กในป่าใหญ่’ บีทริกซ์ พอตเตอร์ นักเขียนและนักวาดภาพ เจ้าของผลงาน ‘ปีเตอร์ แรบบิท’ อรุณธตี รอย ผู้เขียน ‘เทพเจ้าในสิ่งเล็กๆ’ เจ.อาร์.อาร์ โทลคีน ผู้เขียน ‘The Lord of the Rings’ ที่สุดท้ายก็กลับมาอ่านอีกครั้งและคราวนี้กลายเป็นนิยายในดวงใจไปเลย และกลายเป็นแบบอย่างให้เราสร้างโลกในนิยายเสมอมา”
‘ต้องมนตร์ดนตรี’ โดย วินธยา
“ด้วยคำแนะนำของพี่ๆ ในโครงการอ่านเอาก้าวแรกที่ว่าให้เขียนเรื่องที่ใกล้ตัวเรามากที่สุด จึงมองไปที่เรื่องที่ใกล้ตัวและเข้าใจมันอย่างดีคือชีวิตของเป็นนักศึกษาดนตรี เพราะเราเรียนรวดเดียวมา 7 ปีตั้งแต่ ม.4 จนจบปี 4 ก็เลยนำมาเป็นพล็อตในเรื่องนี้ โดยให้ตัวเอกในเรื่องเรียนเอกซออู้เหมือนกัน และเมื่อคิดถึงช่วงเวลาในชีวิตที่มีสีสันและมีชีวิตชีวาที่สุดสำหรับเรามันก็คือช่วงนี้นี่แหละ เลยตัดสินใจว่า เอาล่ะ ฉันจะเขียนเรื่องราวของนักศึกษาดนตรีก็แล้วกัน
“สิ่งหนึ่งที่อยากให้คนอื่นๆ ได้รู้คือ นักศึกษาดนตรีเรียนอะไร ใช้ชีวิตยังไง ผ่านมุมมองของเรา โดยมีวิทยาลัยดนตรีเป็นบรรยากาศหลักของเรื่องและเป็นสถานที่ที่แทบจะไม่เคยเงียบงัน ขณะเดียวกันก็มีความลึกลับน่าค้นหา เพราะเราเชื่อว่าทุกสถานที่มีเรื่องเล่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผีหรือไม่ผี เป็นสีสันที่ทำให้ชีวิตในวัยเรียนไม่น่าเบื่อจนเกินไป ก็เลยสนุกสนานกับการสร้างเรื่องลี้ลับของวิทยาลัยในจินตนาการ เป็นความชื่นชอบส่วนตัวที่มักจะครุ่นคิดว่าเรื่องลึกลับเรื่องนั้นๆ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร แล้วก็ตีความออกไป
“นอกจากนี้ในเรื่องนี้ เราใส่สิ่งที่ติดอยู่ในหัวเรามาเสมอคือ ‘ถ้าฉันเข้ามาเรียนดนตรีโดยที่ไม่ใช่ชอบและไม่มีเป้าหมายอะไรเลย’ กับ ‘ถ้าวันหนึ่งดนตรีที่เราเล่นไม่ได้สร้างความเพลิดเพลินสนุกสนานให้เราอีกต่อไป’ จะเป็นอย่างไร มันคือเส้นกั้นระหว่างเล่นดนตรีเป็นงานอดิเรกเพื่อความสนุกสนานกับเรียนเพื่อจบไปประกอบอาชีพ เราจึงได้สอดแทรกความคิดในเรื่องนี้เข้าไปด้วย พร้อมๆ ไปกับการนำเสนอเรื่องความผูกพันของอาจารย์ รุ่นพี่รุ่นน้องในวิทยาลัยดนตรีก็จะสะท้อนออกมาให้ผู้อ่านได้ซึมซับกันไปพร้อมๆ กับเรื่องเราวทั้งหมด ดังนั้น ‘ต้องมนตร์ดนตรี’ จึงเป็นนวนิยายที่เกิดจากความทรงจำเสี้ยวส่วนหนึ่ง บวกกับประสบการณ์ของตัวเราผ่านการบ่มเพาะของกาลเวลาและเพิ่มเติมด้วยจินตนาการจนกลายเป็นเรื่องราวขึ้นมา เพื่อหวังว่าจะได้แบ่งปันเรื่องราวแก่ผู้อ่านค่ะ”
“เนื้อหารวมๆ ของ ‘ต้องมนตร์ดนตรี’ คือเรื่องราวของนักศึกษาคนหนึ่งที่บังเอิญเข้ามาเรียนที่วิทยาลัยดนตรีอย่างไม่มีเป้าหมาย ไม่ได้รักหรือชอบดนตรีเป็นพิเศษ แค่อยากได้ใบปริญญาเพื่อได้ชื่อว่าจบปริญญาตรีและไปต่อสาขาอื่น เล่นดนตรีก็ไม่เก่ง เรียนเพื่อเอาตัวรอดไปวันๆ เคราะห์ซ้ำกรรมซัดดันมาถูกผีหลอก ถูกชักชวนให้พิสูจน์เรื่องลึกลับในวิทยาลัย จนได้พบกับชายหนุ่มคนหนึ่งที่กลายมาเป็นติวเตอร์สอนดนตรีให้เธอกระทั่งเธอเริ่มเก่งขึ้นและเปลี่ยนมุมมองด้านดนตรี
“ขณะเดียวกันเรื่องลึกลับที่ลือกันก็ดูเหมือนจะเกี่ยวข้องกับตัวเขา เธอจึงค้นหาตัวตนของเขาว่า คือใคร อะไรคือเบื้องลับเบื้องหลังของเรื่องลึกลับในวิทยาลัยแห่งนี้ และในที่สุดแล้วตัวเอกจะวางเส้นทางอนาคตในสายดนตรีของตัวเองอย่างไร… เคล้าด้วยเรื่องราวของนักศึกษาดนตรีอื่นๆ กิจกรรม การแสดงคอนเสิร์ต ชีวิตประจำวันที่มีทั้งความเฮฮาและซีเรียสผสมปนกัน
“หลายคนมองว่า ‘ต้องมนตร์ดนตรี’ เป็นนิยายแนวผีๆ ซึ่งเรื่องผีเป็นแค่ส่วนหนึ่งค่ะ โดยมากแล้วเรื่องของดนตรีโดยเฉพาะดนตรีไทยมักจะถูกผูกโยงกับเรื่องผีสาง อาถรรพ์ คำสาป การแก้แค้น ซึ่งจุดนี้เป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนนะคะ แต่โดยส่วนตัวมองว่าสิ่งนี้เป็นเพียงแค่ส่วนประกอบที่ทำให้เรื่องราวสนุกสนานน่าติดตามเท่านั้น เพราะแก่นของนิยายเรื่องนั้นๆ อาจสอดแทรกคำสอนเรื่องบาปบุญคุณโทษ ความดีงามความชั่ว เรื่องอื่นๆ อีกมากมาย รวมถึงอาจเป็นประตูบานเล็กๆ ที่ทำให้ผู้อ่านเกิดความสนใจในเรื่องดนตรี ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับตัวผู้อ่านเอง อย่างเรื่อง ‘ต้องมนตร์ดนตรี’ เรื่องผีเป็นเพียงสิ่งที่พาตัวเอกไปพบกับสิ่งที่ในเรื่องเรียกว่า ‘สิ่งลี้ลับสุดอัศจรรย์’ เพื่อค้นพบแง่มุมที่งดงามของดนตรีว่า ‘ศิลปะไม่มีถูกผิดขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน และควรเล่นดนตรีด้วยความสุข’ ค่ะ แต่ที่สุดแล้วถ้าผู้อ่านได้รับ แง่มุมดีๆ อื่นๆ จากนิยายเรื่องนี้นักเขียนก็จะดีใจมากค่ะ”
‘ต้องมนตร์ดนตรี’ เป็นนิยายที่ตั้งใจเล่าเรื่องชีวิตของนักศึกษาดนตรีโดยมีเรื่องราวลี้ลับมาเกี่ยวข้อง ที่สำหรับบางคนอาจรู้สึกว่าค่อนข้างเรียบเรื่อยและไม่หวือหวานัก และอาจจะยังไม่ใช่ผลงานที่ดีที่สุดที่คุณผู้อ่านเคยอ่านมา แต่นี่คืออีกหนึ่งผลงานแห่งความตั้งใจของ ‘วินธยา’ ที่อยากส่งต่อความเพลิดเพลินในการอ่านให้กับคุณผู้อ่านทุกคน
“ขอบคุณผู้อ่านที่ชื่นชอบและให้การสนับสนุนผลงานชิ้นนี้ของวินธยานะคะ และแน่นอนว่า วินธยายินดีรับฟังคำติชมและจะนำไปใช้พัฒนางานเขียนให้ดียิ่งขึ้นต่อไป หวังว่าผู้อ่านจะให้โอกาส ‘ต้องมนตร์ดนตรี’ ได้สร้างความเพลิดเพลินไม่มากก็น้อย มาร่วมดื่มด่ำเสียงเพลงและเรื่องลี้ลับสุดอัศจรรย์ไปด้วยกันนะคะ”