เรื่องราวหลังแท่นพิมพ์
โดย : ไตรรัตน์ ทรงเผ่า
ย้อนเวลากลับสัก 30-40 ปีที่แล้ว วงการสิ่งพิมพ์ในบ้านเราถือว่าบูมสุดขีด ไม่ว่าจะเป็นคนทำหนังสือหรือว่าโรงพิมพ์ ผู้เขียนเองจำได้ว่าตอนนั้นหนังสือตามแผงเต็มไปหมด บางร้านถึงกับมีไม้หนีบๆ ไว้กับราว เพราะว่าบนแผงไม่มีที่วางเป็นภาพที่เห็นชินตา และร้านหนังสือ สมัยนั้นก็แผงลอยตามป้ายรถเมล์นั่นแหละ นี่คือภาพในยุคสมัยนั้น สมัยที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต โทรศัพท์เคลื่อนที่ยังไม่มีเลย
ในวัยเด็กมีความสุขที่สุดคือการเดินไปอ่านหนังสือตามแผงอ่านแค่หน้าปก ไม่หยิบไม่จับเพราะกลัวเจ้าของแผงด่าว่าไม่ซื้อแล้วยังมาจับด้วยหนังสือเขาจะยับเสียหาย โตขึ้นมาหน่อยเข้าร้านหนังสือ ร้านที่ว่าคือร้านดอกหญ้า ตรงท่าพระจันทร์ ด้วยความที่บ้านอยู่บางขุนเทียน แต่เพราะอยากอ่านหนังสือใหม่ๆ เลยต้องยอมนั่งรถเมล์ไปที่ร้านนี้ พอได้จับต้อง อ่านได้นิดๆ หน่อยๆ พอได้ความ และตัดสินใจซื้อ เป็นอย่างนี้หลายปี นั่งรถเมล์มาไกลเพื่อหนังสือหนึ่งเล่มเท่านั้น
วันหนึ่งก็ถามตัวเองว่า ต้องทำอาชีพอะไรถึงจะได้อ่านหนังสือฟรีโดยไม่ต้องซื้อ? ถึงไม่ได้อ่าน ขอแค่ได้หยิบจับพลิกไปมาก็มีความสุขแล้ว แล้วอยู่ๆ ก็นึกถึงลุงข้างบ้าน แกเป็นนักข่าวอยู่ บางกอกโพสต์ เคยบอกว่า ทำงานโรงพิมพ์สิ ทำตำแหน่งอะไรก็ได้ หรือจะเป็นช่างเลย์เอาต์ก็ดีนะ เงินดี จากนั้นยกเอาเหตุผลต่างๆ นานามาเล่าให้ฟัง คุณคิดดูเมื่อปีประมาณ พ.ศ. 2528 ช่างเลย์เอาต์เงินเดือน 8,000 บาทไม่รวมโอที ลองคำนวณดูแล้วกันว่าเป็นยังไง ซึ่งในที่สุดผมก็เดินทางเข้าสู่วงการหมึกพิมพ์ตามคำของลุงและเป้าประสงค์ของตัวเองคืออ่านหนังสือโดยไม่ต้องซื้อ
ในยุคที่ผมเริ่มเข้าทำงานในโรงพิมพ์นั้นประมาณปี 2532 ซึ่งถือว่าช่วงนั้นสิ่งพิมพ์บูมสุด เด่นสุด เงินดีสุดๆ ผมได้เข้าทำงานในโรงพิมพ์ใหญ่ระดับต้นๆ ของประเทศไทยแห่งหนึ่งย่านอรุณอมรินทร์ ในยุคที่ผู้เขียนทำงานนั้นระบบการพิมพ์เป็นระบบออฟเซตแล้ว ระบบนี้เป็นระบบที่อำนวยความสะดวกในการผลิตงานพิมพ์ได้รวดเร็วขึ้น และรูปแบบของหนังสือดูมีดีไซน์มากขึ้นเพราะกรอบขีดจำกัดในงานกว้างขึ้น
ระบบออฟเซตเป็นระบบที่ใช้แม่พิมพ์เพลตสังกะสีแล้ว ทำให้พิมพ์หนังสือได้จำนวนเยอะมากขึ้นกว่าระบบเก่านั่นคือระบบเลตเตอร์เพรสซึ่งเป็นระบบที่ใช้แม่พิมพ์เป็นบล็อกหรือถ้าเป็นตัวหนังสือเราก็จะใช้ตัวตะกั่วมาเรียงพิมพ์วิธีการขั้นตอนยุ่งยากมากครับ งานที่นิยมพิมพ์ระบบเลตเตอร์เพรสก็จะเป็นพวกนามบัตร การ์ดงานบวช งานศพ ใบฏีกาผ้าป่า ประมาณนี้
ส่วนออฟเซตนั้นลดขั้นตอนยุ่งยากดังกล่าวไปมาก เทคนิควิธีการก็เหมือนการอัดรูปล้างรูปด้วยฟิล์มครับ เพลตคือฟิล์มสังกะสี ล้างออกมาและนำไปพิมพ์งานที่ได้คือหนังสือขั้นตอนรายละเอียดมีเยอะมากกว่านี้นัก
อย่างหนึ่งที่เด็กยุคนี้อาจไม่รู้คือ โรงพิมพ์ไม่ได้พิมพ์แค่หนังสือ แต่พิมพ์อีกสารพัดสิ่ง ในแต่ละโรงพิมพ์จะมีความถนัดในการพิมพ์ไม่เหมือนกัน เช่นบางโรงพิมพ์ถนัดพิมพ์หนังสือ ไม่ว่าจะเป็นหนังสืออะไรสามารถทำได้หมด บางโรงพิมพ์ถนัดพิมพ์แพ็กเกจจิ้ง กล่องบรรจุภัณฑ์ ก็จะเน้นไปที่บรรจุภัณฑ์อย่างเดียว แต่ในทุกๆ โรงสามารถทำงานได้เหมือนกันหมด เครื่องพิมพ์ยี่ห้อและรุ่นเดียวกัน เครื่องพิมพ์บางรุ่นก็ผลิตออกมาเพื่องานบางประเภทก็มี ฉะนั้น โรงพิมพ์นอกจากพิมพ์หนังสือแล้ว ยังสามารถพิมพ์งานประเภทอื่นๆ ได้อีก ไม่จำกัดแค่หนังสือเพียงอย่างเดียว
เสน่ห์อย่างหนึ่งของสิ่งพิมพ์ หนังสือ โปสเตอร์ โปสต์การ์ด ฯลฯ นั่นคือสิ่งที่จับต้องได้ ผมหลงใหลในสิ่งที่จับต้องได้ มันได้สัมผัส รับรู้ได้ถึงกลิ่นหมึกและกลิ่นกระดาษ แอ็กชันของการพลิกหน้าหนังสือไปแต่ละหน้า มันดีกว่าการสไลด์นิ้วไปบนแท็บเล็ตนัก เพราะสิ่งพิมพ์มีทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์อยู่ในตัว เราต่างหลงใหลเสน่ห์ของหนังสือต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกัน ผมเชื่อว่าเราไม่อยากเห็นมันหายไป บางคนอาจจะบอกว่าการผลิตหนังสือทำลายสิ่งแวดล้อมเพราะว่าเราต้องตัดไม้ทำลายป่า
อันนี้ขอพูดในฐานะที่พอรู้อยู่บ้าง ในบริษัทที่ผลิตกระดาษเขาจะปลูกต้นไม้ในพื้นที่ส่วนตัวของเขาหรือถ้าไม่พอเขาก็จะให้เกษตรกรเป็นผู้ปลูกแล้วโรงงานผลิตกระดาษเป็นผู้ไปรับซื้อ ฉะนั้น กระบวนการผลิตกระดาษจะเป็นการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติที่ถูกปลูกขึ้นมาเพื่อสิ่งนี้ และในยุคสมัยที่เทคโนโลยีและความเจริญก้าวหน้าทางนวัตกรรมต่างๆ ผู้ผลิตกระดาษพยายามคิดค้นกระดาษที่ลดอัตราการใช้ต้นไม้ อย่างเช่นกระดาษ eco fiber ส่วนหมึกพิมพ์ก็จะเป็นหมึกที่ผลิตมาจากถั่วเหลืองซึ่งเมื่อปล่อยทิ้งแล้วมันจะละลายและคืนสู่ธรรมชาติโดยไม่มีสารตกค้าง และสิ่งที่กล่าวมานี้โรงพิมพ์ในบ้านเราใช้กันแพร่หลายมาก
มีคนใกล้ตัวถามว่า “สิ่งพิมพ์จะตายไหม” ถึงตอนนี้ ก็ยังยืนยันคำเดิม ว่า “มันไม่ตายหรอก แต่มันอาจจะเปลี่ยนไปบ้าง” บางครั้งอาจมีการปรับรูปแบบดีไซน์ ลดขนาดองค์กร เพิ่มอายุให้หนังสือโดยให้ออกเป็นรายสอง-สามเดือนก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง แต่สิ่งที่คนทำหนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์ต้องการและมักจะพูดออกมาเสมอๆ คือ
“จงอย่าซื้อหนังสือเพราะสงสารเรา แต่จงซื้อหนังสือเราเพราะคุณค่าของมัน”