‘จากฮันกังถึงเจ้าพระยา’ บทพิสูจน์ความฝันที่ไม่ยากจะไปถึงของ ‘นาคเหรา’
โดย : YVP.T
เพื่อนๆ นักอ่านชาวอ่านเอาที่ชื่นชอบนวนิยายแนวดราม่า อาจจะคุ้นเคยกับชื่อของ ‘นาคเหรา’ มาบ้างแล้ว เพราะเธอคือผู้เขียนเรื่อง ภูษาแห่งราชา และ สูตรลับตำรับชายา ที่ออนไลน์ผ่านทาง www.anowl.co และล่าสุดเธอได้สร้างสรรค์ ‘จากฮันกังถึงเจ้าพระยา’ ผลงานการเขียนที่ชนะใจกรรมการจนได้รับคัดเลือกให้ชนะเลิศในโครงการช่องวันอ่านเอา
‘นาคเหรา’ คือสาวไทยที่ไปใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศเกาหลี และทำงานเป็นพนักงานตรวจสอบคุณภาพสินค้าในบริษัทแห่งหนึ่งที่เกาหลีใต้ โดยหากย้อนไปประมาณ 13 ปีก่อน เธอได้พบรักกับหนุ่มเกาหลีนามว่า ‘จองชาน ลี’ ซึ่งมาติดต่องาน โดยได้รู้จักกันผ่านเพื่อนของเพื่อนอีกที หลังจากแต่งงานเรียบร้อยจึงย้ายไปที่เกาหลี และนับจากนั้น จาก ‘สุธารินี ผลเหลือ’ จึงกลายเป็น ‘สุธารินี ลี’ อย่างเต็มตัว แต่ไม่ว่าเธอจะใช้นามสกุลไหน ความฝันที่อยากจะเป็นนักเขียนของเธอคนนี้ ไม่เคยเปลี่ยนแปลง
“อยากเป็นนักเขียนตั้งแต่เด็กเลยค่ะ เพราะเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาก เริ่มจากหนังสือที่มีภาพประกอบวรรณกรรมสำหรับเด็กและหนังสือทั่วไปเท่าที่ในห้องสมุดต่างจังหวัดจะมี แต่ตอนนั้นเรียกว่าความฝันอาจจะยังไม่ชัดเจน รู้แต่ว่าชอบอ่านหนังสือ ชอบขีดเขียนเรื่องราวต่างๆ ในสมุด และเริ่มจากการแต่งนิทานมาเป็นหัดเขียนเรียงความและแต่งนิยายเล่นๆ บางทีถ้ามีการแสดงละครเวทีที่โรงเรียน ก็ชอบแต่งเรื่องให้เพื่อนแสดงบ้าง เพราะรู้สึกสนุกทุกครั้งที่ได้เขียน
“พอโตขึ้นก็ได้ลองทำงานหลายอย่าง มีทั้งที่ชอบและไม่ชอบ เพราะการทำงานไม่ได้ราบรื่นเสมอไป การเจอปัญหาในที่ทำงานเป็นเรื่องธรรมดา แต่อย่างน้อยๆ ก็ทำให้ได้คิดว่าทุกเรื่องที่เข้ามาคือประสบการณ์ที่ทำให้เราได้เข้มแข็ง ซึ่งพอมาคิดๆ ดูแล้ว อะไรที่ทำให้ตัวเองมีความสุข คำตอบที่ได้คือ การเป็นครูและนักอยากเขียนหนังสือ ที่ต้องใช้คำนี้เพราะยังไม่อาจเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนได้ ในเมื่อเรายังเขียนไม่จบเลย แต่ถ้าเรียกว่าเป็นนักอ่าน ก็จะเรียกได้เต็มที่ค่ะ
“บอลมาเริ่มเขียนหนังสือจริงจังก็ตอนที่ป่วยเป็นมะเร็งไทรอยด์เมื่อประมาณเกือบสิบปีก่อนคะ ซึ่งตามคำแนะนำของคุณหมอคือ ให้ใช้การเขียนบำบัดความวิตกกังวลจากโรค เพราะเราจะได้ไม่ต้องกังวล ให้สมาธิจดจ่อในสิ่งที่อยากทำที่สุด จากนั้นก็ใช้การเขียนหนังสือมาตลอดจนหายจากโรคมะเร็ง แต่ยังเป็นไทรอยด์อยู่นะคะ ต้องกินยาตลอดชีวิต ซึ่งสำหรับบอลแล้วการเขียนหนังสือทุกเล่มถือเป็นความสุข เลยคิดแต่ว่าอยากเขียนนิยายให้จบ และถ้าทำให้คนอ่านได้รับความสุขและได้ประโยชน์จากนิยายของเรา ถือว่าเราได้รับรางวัลแล้วค่ะ”
‘นาคเหรา’ นามปากกาที่เป็นเสมือนคำเตือนใจ
เรานำนามปากกาว่า ‘นาคเหรา’ ไปค้นหาความหมาย สิ่งที่เจอคือคำว่า นาค และเห-รา ซึ่งเมื่อมีโอกาสจึงของให้เจ้าของนามปากกานี้ช่วยเฉลยกับเราว่า นามปากกานี้คืออะไร
“นาคเหรา (นาคเห-รา) มาจากชื่อตัวละครในนิยาย เรื่อง ‘สัญญานาคี’ ที่ยังเขียนยังไม่จบเลยค่ะ ซึ่งเขียนมานานตั้งแต่ตอนเป็นครู ถ้านับได้ก็สิบหกปีแล้ว คำว่า ‘นาคเหรา’ ไม่มีความหมายชัดเจน แต่เป็นคำสองคำที่นำมารวมกัน คือ นาค กับ เหรา (เห-รา) ตามตำนานคือสัตว์หิมพานต์ ที่เอามาตั้งเป็นชื่อตัวเอกก็เพราะว่าเขาเป็นนิยายเรื่องนี้เขาเป็นลูกครึ่งเผ่ามังกรกับเผ่านาค และที่ใช้ชื่อนี้ก็เพราะต้องการเตือนตัวเองว่ายังมีนิยายที่เขียนไม่จบรอเราอยู่นะ แรกๆ จะไม่ได้ใช้นามปากกานาคเหรานะคะ แต่จะใช้นามแฝงว่า ‘สาวชัยภูมิ ลูกพ่อขุน’ ค่ะ จะเขียนนิยายสั้นๆ และบทความทางประวัติศาสตร์ลงในเว็บไซต์แห่งหนึ่ง มาใช้นามปากกา ‘นาคเหรา’ ตอนพิมพ์เรื่อง ‘หอมกลิ่นมินดัลแร’ ค่ะ”
ครูแห่งงานเขียนคือต้นแบบให้เดินตามฝัน
เมื่ออยากเป็นนักเขียน แต่ไม่ได้เรียนมาโดยตรงในสายนี้ แต่เธอคนนี้ก็พยายามขวนขวายหาความรู้มาเติมเต็มเส้นทางฝันของเธอ กระทั่งมาได้เจอกับคลาสออนไลน์และคุณครูคนแรกของเธอ
“คนที่ถือว่าเป็นครูด้านการเขียนนิยายคนแรกจริงๆ คือ ครูอี๊ด อาริตา ค่ะ เพราะบอลเคยได้เรียนกับครูในคลาสออนไลน์ในระยะเวลาหนึ่ง ได้รับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์มาก เพราะสำหรับบอลอยากจะเขียนให้สุขที่ตัวเองและอยากให้ความสุขและประโยชน์นั้นได้ส่งไปสู่ผู้อ่านในแบบของเราค่ะ
“ส่วนนิยายเรื่องแรกที่ได้อ่านคือ ‘ตราไว้ในดวงจิตร’ ของ อ.โบตั๋น ที่เมื่ออ่านไปแล้ว ทำให้รู้สึกอยากเป็นนักเขียนเหมือนท่าน จึงยกให้ท่านเป็นครูอีกคนและได้หางานของท่านมาอ่านเรื่อยมา จากนั้นค่อยๆ หานิยายของนักเขียนท่านอื่นๆ อ่านเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็น อ.ทมยันตี อ.โสภาค สุวรรณ อ.กฤษณา อโศกสิน คำพูน บุญทวี และปิยะพร ศักดิ์เกษม ค่ะ ซึ่งแต่ละท่านจะมีงานเขียนที่มีความโดดเด่น ลุ่มลึกแตกต่างกัน แต่ทุกคนก็มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว”
จากโครงการอ่านเอาก้าวแรกจนมาถึงโครงการช่องวันอ่านเอา
เพราะความที่มุ่งมั่นจะขวนขวายหาความรู้ให้กับตัวเองอยู่เสมอ เธอจึงไม่พลาดที่จะเข้าร่วมในโครงการที่มีการเปิดอบรมนักเขียน แต่ด้วยการใช้ชีวิตของเธอที่อยู่เกาหลีซะเป็นส่วนใหญ่ ทำให้การเข้าร่วมโครงการต่างๆ เป็นไปได้ยาก แต่แล้วความลงตัวก็เดินทางมาถึง
“ความจริงบอลสนใจโครงการอ่านเอาก้าวแรกมากเลยนะคะ แต่ติดที่ว่าอยู่ที่เกาหลี ทำให้การเข้าอบรมนั้นเป็นไปได้ยาก ยังอยากให้ทางอ่านเอาเปิดคลาสออนไลน์เลยค่ะ ซึ่งสำหรับบอลแม้เขียนหนังสือมาหลายเล่มแต่ก็ยังมีข้อบกพร่องให้ต้องเรียนรู้อีกมาก ยิ่งบอลอยู่เกาหลี ยอมรับค่ะว่าภาษาไทยที่ไม่ได้ใช้นานๆ มักเขียนผิด ใช้ไม่ถูกความหมาย บางทีมีภาษาใหม่ๆ ก็ไม่อัพเดต อย่างศัพท์วัยรุ่นก็ไม่ค่อยเข้าใจ ออกจะตามไม่ค่อยทันเลยค่ะ บอลอยากเรียนเพื่อให้วิทยากรมาชี้แนะในจุดที่เราบกพร่อง แต่ติดอยู่ที่ว่าอยู่ไกลเลยไม่มีโอกาสเข้าอบรมเลย บอลจึงพยายามหาที่เรียนออนไลน์มาตลอด พอมาถึงช่องวันอ่านเอาก็สนใจมาก เพราะอยากอบรม และโชคดีที่ช่วงมีการจัดอบรมบอลกลับเมืองไทยพอดีเลยค่ะ
“โครงการช่องวันอ่านเอาต้องส่งพล็อตไปคัดเลือกก่อน ถ้าผ่านถึงจะมีสิทธิ์เข้าอบรม แต่เหตุผลที่สนใจอันดับแรกที่ทำให้รู้สึกอยากเข้าอบรม เพราะอยากเจอพี่ๆ วิทยากรพร้อมๆ กัน คืออยากเรียนมาก อยากเจอเพื่อน นักเขียนหลายๆ คนที่คุยกันแต่ไม่เคยเจอกันเลย จึงคิดว่าถ้าโชคดีคงมีโอกาสได้เจอเพื่อนนักเขียนท่านอื่นหากพล็อตผ่านรอบคัดเลือก และอีกอย่างก็คืออยากเข้าไปเรียนรู้แง่มุมการทำละคร ซึ่งเป็นความรู้ใหม่และเป็นประโยชน์สำหรับบอลมากค่ะ และที่สำคัญความฝันอย่างหนึ่งก็คืออยากจะเห็นนิยายที่ตัวเองเขียนได้กลายเป็นละครสักครั้งในชีวิตเลยส่งพล็อตเข้าไปประกวด เป็นการประกวดและอบรมที่ไม่ใช่ออนไลน์ครั้งแรกในชีวิตเลยค่ะ ตื่นเต้นมากๆ
“ตอนแรกบอลเตรียมพล็อตไว้สามเรื่อง ก็คิดอยู่นานมากว่าจะส่งเรื่องไหนดี แต่สุดท้ายก็เลือก จาก ‘ฮันกังถึงเจ้าพระยา’ ส่งไป เพราะคิดว่าเป็นนิยายที่บอกถึงตัวตนที่เป็นเราและยังเป็นนิยายที่อยากเขียนที่สุด ในขณะเดียวกันก็เป็นนิยายที่คิดว่ายากที่สุดเท่าที่เคยเขียนนิยายมา เพราะจริงๆ พล็อตเรื่องนี้ คิดไว้นานแล้วแต่ไม่กล้าเขียนเพราะคิดว่ายากค่ะ เพราะข้อมูลเยอะ และต้องอ่านจดหมายเหตุประจำรัชกาลในรัชกาลที่ 20 และ 21 ของราชวงศ์โชซอน ประวัติศาสตร์เกาหลี รวมถึงประวัติศาสตร์ไทยในช่วงเวลานั้น ทั้งแผนที่โบราณ ความถนัดด้านอาชีพของตัวเอก คือข้อมูลจะเยอะมากถ้าเทียบกับนิยายเรื่องอื่นที่เคยเขียนมาค่ะ”
‘ฮันกังและเจ้าพระยา’ แม่น้ำสองสายอันเป็นที่รัก
แม่น้ำฮันและแม่น้ำเจ้าพระยา คือแม่น้ำสองสายที่นักเขียนคนนี้รักมาก เธอบอกว่าสองสายเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของทั้งสยามและเกาหลี และเป็นเหมือนสายธารทางวัฒนธรรมของทั้งสองชาติและเป็นสำหรับเธอแม่น้ำทั้งสองสายเปรียบเสมือนบ้านเลยก็ว่าได้
“ตอนแรกที่คิดพล็อตหลวมๆ ได้คือตอนที่นั่งรถไฟข้ามสะพานจากโนรยังจินไปสถานียงซาน รถไฟต้องข้ามแม่น้ำฮัน แว่บแรกคิดถึงตอนนั่งรถเมล์ไปสายใต้ใหม่แล้วคิดถึงแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นมา ตอนคิดพล็อตได้และรีบพิมพ์ไว้ในโทรศัพท์มือถือเพราะกลัวลืม แต่ยังไม่มีเวลาแก้จริงจัง พอมาเริ่มทำพล็อตก็อยากจะเขียนเรื่องนี้มาก และอยากเขียนนิยายที่ตัวเอกเป็นหมอที่มีคุณธรรมและมีใจเมตตาธรรม ซึ่งแรงบันดาลใจได้มาจากคุณหมอที่ช่วยดูแลบอลตอนไม่สบาย
“ถ้าจะย้อนไปในตอนนั้น คุณหมอที่เป็นเจ้าของไข้ท่านคงจะสังเกตเห็นว่าบอลมีความกังวลกับคำว่าโรคมะเร็ง เพราะในวันที่คุณหมอบอกว่าเป็นมะเร็ง เราคงแสดงออกถึงความกังวลจนท่านจับได้ ท่านถามว่าอยากทำอะไรที่สุดในชีวิต ก็บอกว่าอยากเขียนหนังสือสักเรื่อง เพราะกลัวตัวเองจะเขียนหนังสือไม่จบแล้วตายก่อน คุณหมอบอกว่า งั้นกลับบ้านไปเขียนหนังสือที่อยากเขียน ไม่ต้องกังวลเรื่องการรักษาเพราะหมอก็จะทำเต็มที่ ส่วนบอลก็เขียนหนังสือออกมาให้ดีที่สุดก็แล้วกัน บอลจึงทำตามที่คุณหมอได้บอกการรักษาก็เป็นไปด้วยดีค่ะ สำหรับบอลนอกจากคุณหมอจะรักษาโรคทางกายให้หายแล้วท่านรักษาโรคทางใจให้คนป่วยได้ค่ะ
“บอลจะถนัดแนวพีเรียดเกาหลี แนวโรแมนติก-ดราม่าค่ะ แต่ทั้งนี้นิยายแต่ละเรื่องก็จะมีความแตกต่างกันในรายละเอียดที่เรานำเสนอค่ะ อย่างฮันกังฯ ความยากคือข้อมูล ความถนัดด้านอาชีพ และเราต้องไปอ่านหนังสือเยอะมาก แม้พระเอกจะเป็นตัวละครสมมติอาจจะไม่มีจริงในประวัติศาสตร์ แต่สิ่งแวดล้อม และเหตุการณ์เราใช้สถานที่จริง และเพื่อบอกเล่าเรื่องราว เราต้องหาและอ่านข้อมูลค่ะ ถ้าเป็นนิยายที่เขียนมีการดำเนินเรื่องที่ไทยจะยากสำหรับบอลค่ะ เพราะบอลติดการเดินสำรวจ การที่เราอยู่เกาหลีนานๆ ทำให้เขียนนิยายที่ดำเนินเรื่องในไทยได้ช้า เพราะนึกภาพฉากหรือสถานที่ในไทยไม่ออก ต่างจากนิยายที่ดำเนินเรื่องในเกาหลีอาจจะเขียนได้เร็วกว่า เพราะคิดภาพออก มี 2 เรื่องที่บอลคิดว่าเขียนยาก คือ ‘ตะวันลาอุษาคเนย์’ และ ‘จากฮันกังถึงเจ้าพระยา’ เพราะมีเวลาเดินสำรวจก่อนการเขียนน้อยค่ะ หากได้ไปเดินสำรวจบ่อยๆ ก็จะสามารถเขียนได้ลื่นไหลกว่าค่ะ การเขียนนิยายที่มีฉากเป็นเมืองไทยต้องอ่านและขยันกว่านิยายที่มีฉากเป็นเกาหลีค่ะ”
‘จากฮันกังถึงเจ้าพระยา’ รางวัลชนะเลิศโครงการช่องวันอ่านเอา
ทั้งทีที่ได้รู้ว่า ‘จากฮันกังถึงเจ้าพระยา’ คือผลงานที่ได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการ สิ่งที่เกิดขึ้นกับเธอ…ซึ่งขณะนั้นได้เดินทางกลับไปที่ประเทศเกาหลีแล้วก็คือ…
“อึ้งมากค่ะ มือสั่น ถามตัวเองว่าจริงเหรอ เราผ่านจริงเหรอ หัวใจก็เต้นเร็วมาก สุดท้ายคือร้องไห้ค่ะ ตอนแรกคิดว่าถ้าผ่านรอบ 52 คนนี่ก็ถือว่ายากแล้ว เพราะตั้งธงไว้เพียงอยากเขียนนิยายเรื่องนี้ให้จบและไม่ว่าผลจะออกมายังไงก็พอใจเพราะทำเต็มที่แล้ว และอย่างน้อยที่สุดหากไม่ได้รางวัล ก็ยังได้เขียนนิยายที่อยากเขียนจนจบเท่ากับว่าได้ทำสำเร็จแล้ว แต่พอตอนที่รู้ว่าได้รับรางวัลชนะเลิศมันเกินคาดและรู้สึกดีใจมากจนพูดไม่ออกจริงๆ ค่ะ
“สำหรับดาราที่จะมาแสดงในเรื่องนี้จะเป็นใครก็ได้ตามที่ผู้จัดเห็นว่าเหมาะสม แต่ถ้าย้อนไปถึงตอนที่เขียนเรื่องนี้ เรามีดาราที่เป็นต้นแบบตัวเอกในใจคือ อิมจูฮวาน ซึ่งเป็นดาราเกาหลีค่ะ พอมานึกถึงนักแสดงไทยก็คือ น้องทอย-ปฐมพงศ์ เรือนใจดี เพราะเขามีลักษณะใกล้เคียงตัวละครเอกที่บอลเขียนที่สุด แต่สำหรับฝ่ายหญิงบอลยังคิดไม่ออกเลยค่ะ เอาเป็นว่าเรามาลุ้นไปพร้อมกันนะคะ”
ก้าวต่อไปของนาคเหรา
“ต้องขอบอกก่อนว่า ทุกๆ ก้าวในทางเดินของบอลจะมี ‘แม่’ เป็นแรงใจเสมอค่ะ เพราะการเขียนหนังสือทุกเล่มแม่จะบอกว่าให้ตั้งใจเขียนนะ เพราะแม่รออ่าน ก็เลยอยากเขียนนิยายให้แม่อ่าน แต่ก็มีหลายครั้งนะคะที่ท้อมากๆ แต่แม่ก็จะบอกว่า แม่รออ่านอยู่นะ เลยสลัดความท้อแล้วมาเขียนให้จบเพื่อแม่ ส่วนก้าวต่อไปของบอลยังคงเป็นความตั้งใจที่จะเขียนงานทุกชิ้นให้กับแม่ และเกิดประโยชน์กับผู้อ่าน รวมถึงอยากหัดเขียนแนวอื่นๆ ให้หลากหลายขึ้น อยากลองเขียนนิยายแนวญี่ปุ่นและเวียดนามบ้าง รวมถึงอยากลองคือการเขียนแนวสืบสวนสอบสวน แนวโรแมนติก-คอเมดี้ แต่ทั้งหมดก็ยังต้องมีเรื่องที่ต้องเรียนรู้อีกมาก แต่ไม่ว่าจะมากมายหรือยากแค่ไหน ก็จะพยายามไปให้ถึงค่ะ”
อ่านเอาเชื่อว่า เธอคนนี้จะเดินไปถึงสิ่งที่ตั้งใจได้อย่างแน่นอน เพราะแม้ในวันนี้เธอจะได้รับการยอมรับในฐานะนักเขียนอย่างเต็มภาคภูมิแล้ว แต่เธอก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะเขียนหนังสือที่คนอ่านได้ประโยชน์และได้ความบันเทิง พร้อมๆ กับเดินหน้าเรียนรู้ศาสตร์แห่งงานเขียนต่อไป
เพราะไม่ใช่เพียงแค่เป็นนักเขียนที่ดีเท่านั้น แต่เพราะทุกตัวอักษรที่เขียน เธอมีความมุ่งมั่นและหัวใจที่รักในเส้นทางสายนี้ไม่มีเปลี่ยน