ชะตารัก…กิตะซะว่า บทที่ 2 : เธอคนนั้น

ชะตารัก…กิตะซะว่า บทที่ 2 : เธอคนนั้น

โดย : ปุณรสา

Loading

ชะตารัก…กิตะซะว่า โดย ปุณรสา เมื่อผู้เป็นลุงเสียชีวิตลงและทิ้งคาเฟ่ขนมหวานแสนอร่อยที่เป็นความทรงจำแสนงดงามของคุณลุงและคุณป้าไว้ เขาจะขายร้านและพาคุณป้ากลับเมืองไทยหรือปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินไปอย่างที่ควรจะเป็น หรือบางทีคำตอบที่อยากได้อาจจะมาพร้อมกับหญิงสาวคนนั้น นิยายรักอบอุ่นหัวใจที่อ่านเอา อยากให้ทุกคนได้อ่านออนไลน์

***************************

-2-

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

ในช่วงปิดเทอมตอนอยู่มหาวิทยาลัย คีรีเคยมาพักอยู่กับป้าวนาและลุงอากิบ้าง ตอนนั้นแม้เมืองชิโมกิตะซะว่าจะได้ชื่อว่าเป็นเมืองฮิปสเตอร์แล้ว เขายังรู้สึกว่าบรรยากาศของเมืองตอนนั้นดูสบายๆ มากกว่าตอนนี้

หากเปรียบแม่น้ำเป็นที่ตั้งชุมชนในสมัยโบราณ ปัจจุบันเมืองต่างๆ ของญี่ปุ่นจะเจริญไปตามเส้นทางรถไฟ โดยจะมีชุมชนเกิดขึ้นตามสถานีรถไฟต่างๆ

ศูนย์กลางของโตเกียวหรือเอโดะในสมัยโชกุนปกครองอยู่ที่บริเวณพระราชวังอิมพีเรียลในปัจจุบัน เมื่อครั้งที่เมืองหลวงของญี่ปุ่นอยู่ที่เกียวโตเป็นที่ประทับของจักรพรรดิ ส่วนเอโดะหรือโตเกียวในปัจจุบันนั้นเป็นศูนย์กลางการปกครองของโชกุน-ผู้รับผิดชอบในการบริหารบ้านเมือง โดยมีฝ่ายบริหารและฝ่ายในอยู่ในพระราชวังอิมพีเรียล (สมัยนั้นเรียกว่าปราสาทเอโดะหรือชิโยะดะ) ในปัจจุบัน ส่วนบริเวณโดยรอบนั้นเป็นที่ตั้งปราสาทของไดเมียวหรือเจ้าเมืองของแคว้นต่างๆ ซึ่งปัจจุบันก็คือพื้นที่โล่งกว้างรอบพระราชวังอิมพีเรียล

เมื่อตระกูลโทกุงาวะของโชกุนอ่อนแอลง และขณะนั้นก็มีต่างชาติเข้ามาพยายามบีบบังคับให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศ ทำให้หลายแคว้นของญี่ปุ่นมีความคิดเห็นแตกต่าง นั่นเป็นเหตุให้บางแคว้นเลือกไปถือคำสั่งของจักรพรรดิ และต่อต้านฝั่งโชกุน เป็นเหตุให้ในช่วงนั้นได้มีการปะทะกันระหว่างฝ่ายโชกุนและแคว้นที่ถือคำสั่งของฝั่งจักรพรรดิ เมื่อกลัวว่าจะเกิดสงครามกลางเมือง ฝ่ายตระกูลโทกุงาวะจึงยอมถวายปราสาทเอโดะของตนให้กับฝ่ายจักรพรรดิ เมืองหลวงของญี่ปุ่นจึงได้ย้ายมาที่เอโดะหรือโตเกียวในปัจจุบันในปี ค.ศ.1868 เริ่มต้นรัชสมัยใหม่ของญี่ปุ่นคือยุคเมจิ

ในสมัยของโชกุนจนถึงยุคเมจิศูนย์กลางการค้าของเมืองอยู่ที่ย่านนิฮอมบาชิ-ที่ตั้งของกิโลเมตรที่ศูนย์ของญี่ปุ่นในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากพระราชวังอิมพีเรียลเท่าไรนัก จะสังเกตได้ว่าไม่ว่าย่านกินซ่า มารุโนะอุจิซึ่งอยู่ติดกับสถานีรถไฟโตเกียว หรือแม้จะเป็นย่านอูเอโนะที่อยู่ทางเหนือ ความเจริญในยุคก่อนนั้นจะอยู่ฝั่งตะวันออกของเมืองโตเกียว จนกระทั่งเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในคันโตในปี ค.ศ.1923 นั่นทำให้พื้นที่ทางตะวันออกนี้เสียหาย และผู้คนเริ่มหาที่พักอาศัยใหม่ทางตะวันตก ความเจริญจึงได้ย้ายไปทางด้านฝั่งตะวันตกคือย่านชินจูกุ ชิบูยะ ฮาราจูกุ และทางเหนือคืออิเคะบุคุโระ

เมื่อแต่ละย่านทางตะวันตกเจริญอย่างสุดๆ ทำให้ย่านเหล่านี้กลายเป็นศูนย์กลางการค้า และนั่นทำให้เกิดการขยายเมืองมาทางด้านตะวันตกมากขึ้นจึงเกิดย่านน่าเดินใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นย่านรปปงงิ อิบิซึ นากะเมงกุโระ ดังนั้นพื้นที่อยู่อาศัยทางตะวันตกจึงเพิ่มขึ้นจึงเกิดเมืองและย่านใหม่ๆ ที่สามารถต่อรถไฟจากชินจูกุและชิบูยะมายังเมืองใหม่เหล่านี้ หนึ่งในเมืองใหม่นี้ก็คือชิโมกิตะซะว่า

เมื่อครั้งที่เขามาเดินชิโมกิตะซะว่าก็เกือบสิบปีที่แล้ว สถานีรถไฟของเมืองยังเป็นสถานีเล็กๆ ที่มีทางออกเพียงทางเหนือกับทางใต้เท่านั้น ถ้าออกไปทางเหนือก็จะเจอกับร้านมูจิและห้างไดมารูพีค้อกที่ออกจะโทรมๆ สักหน่อย เดินตรงต่อไปเรื่อยๆ ถึงจะเริ่มมีร้านฮิปสเตอร์ต่างๆ แต่ในสมัยนั้นจะเรียกอินดี้หรือวินเทจ เขาชอบบรรยากาศที่ร้านค้าต่างๆ จะแขวนขายเสื้อผ้านอกร้านแบบเหมือนกำลังตากผ้าไว้อยู่ หรือไม่ก็ตั้งขายในร้านค้าที่เปิดเหมือนโรงจอดรถ บางแห่งเปิดคล้ายเป็นโรงจอดรถขนาดใหญ่และภายในจะมีบูธร้านเล็กๆ ตั้งอยู่ ตั้งแต่นั้นเขาก็ชอบสปิริตของเมืองเล็กๆ นี้

แต่ต่อมาร้านค้าก็เริ่มหนาแน่นขึ้น ห้างไดมารูพีค้อกปรับเป็นห้างพีค้อกที่ดูสะอาดตา เดินตรงมาก็มีร้านค้าสารพัดตั้งแต่แฮมเบอร์เกอร์แบบตะวันตก แพนเค้กเนื้อนุ่มยี่ห้อดัง น้ำปั่นเก๋ไก๋ ร้านกาแฟและร้านเสื้อผ้าทั้งแบบมือสองและแบบแบรนด์ดัง แต่ที่ยังทำให้ชิโมกิตะซะว่ามีเสน่ห์ไม่เหมือนย่านอื่นคือยังมีร้านบ้านๆ ที่ขายของราคาถูก ซึ่งหลายร้านเป็นสินค้ามือสอง ร้านขายของแต่งบ้านและสวนที่ไม่ได้แพงนัก แต่ก็เก๋ไก๋ เพราะบริเวณนี้เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยจริงๆ นอกจากนี้บริเวณนี้จะมีร้านยากิโทริขายเนื้อสัตว์เสียบไม้ปิ้งย่างตั้งอยู่ใกล้ทางเดินไปสถานีอยู่หลายร้าน ยามเย็นบริเวณนี้ถึงได้ครึกครื้นนัก เพราะหลังเลิกงานผู้คนมักจะนั่งดื่มพร้อมกับทานยากิโทริไปด้วย

อย่างไรนั่นก็เป็นทางฝั่งเหนือ ส่วนร้านยามะโมริของป้าวนานั้นไม่ได้อยู่ทางฝั่งเหนือ (ของด้านตะวันตกของเมือง) ที่เก๋ไก๋กำลังบูมแบบนั้น อีกด้านหนึ่งของชิโมกิตะซะว่า เมื่อออกฝั่งตะวันออกมาก็จะเจอกับตรอกถนนคนเดินที่มีร้านค้าบ้านๆ ของญี่ปุ่นยาวเหยียดและร้านราเมงนับสิบร้าน แต่ร้านของป้าวนาก็ไม่ได้อยู่บริเวณนี้อีกนั่นแหละ

เดินจนสุดตรอกถนนคนเดินก็จะเจอกับสามแยก ร้านจะต้องเลี้ยวซ้ายเดินผ่านร้านกาแฟเก๋ไก๋ที่เป็นเหมือนบ้านไม้ที่มีไม้เลื้อยพันทั่วผนังบ้านชั้นล่างที่มีชื่อว่าวิลโลว์คอทเทจ สักอีกประมาณ 100 เมตรถึงจะเป็นร้านยามะโมริ ซึ่งเกือบอยู่ในย่านที่พักอาศัย และด้วยมีร้านกาแฟเก๋ไก๋อย่างวิลโลว์คอทเทจมาตั้งอยู่ใกล้ๆ ทำให้ร้านยามะโมริไม่ค่อยมีคนมานั่งทานกาแฟสักเท่าไร และแทบไม่ต้องพูดถึงนักท่องเที่ยว ที่มักจะมาเที่ยวทางด้านเหนือฝั่งตะวันตกของเมืองมากกว่า

“ตกลงวันนี้มีเค้กอะไรขายมั่ง” คีรีถามณัฐเมื่อจัดร้านเรียบร้อย

“อืม…ก็เห็นจะต้องขายของเมื่อวานไปก่อนละครับ”

“ทำไมไม่ห้ามคุณป้าล่ะ…เรื่องเกลือน่ะ”

“มาเห็นเอาตอนใส่ไปแล้วน่ะสิครับ และตอนนี้ก็อบเสร็จแล้วด้วย เผื่อคุณคีรีอยากรับเป็นมื้อเช้า”

คีรีขมวดคิ้วมองหน้าเด็กหนุ่มร่างท้วมผิวคล้ำตรงหน้า “จะกินได้เหรอ”

“ไม่ชิมก็ไม่รู้นะครับ” ณัฐพูดตอบแบบทันควัน

“ไม่เอาละ ไปเอาอเมริกาโนมาให้ฉันสักแก้วดีกว่า” พูดจบคีรีก็ไปช่วยป้าวนาที่งกๆ เงิ่นๆ แกะกล่องขนมอยู่

ไม่นานณัฐก็กลับเข้ามาพร้อมกับกาแฟในแก้วกระเบื้องเก่าสีน้ำเงินและเค้กช็อกโกแลตฟูนุ่มมีวิปครีมฟูฟ่องอยู่ด้านข้าง ด้านบนเค้กณัฐวางใบสะระแหน่ประดับ สีขาวของวิปครีมตัดกับสีน้ำตาลเข้มของเค้ก…ดูน่าทานที่สุด ณัฐมาเสิร์ฟคีรีพร้อมน้ำในแก้วใสใบเล็กเหมือนกับเสิร์ฟให้กับลูกค้า

‘มันช่างเป็นเช้าวันใหม่ที่เริ่มต้นด้วยดี’

เขานั่งลงตรงโต๊ะที่ณัฐวางกาแฟให้ แต่ละโต๊ะณัฐวางกล่องใส่น้ำตาลและครีมเทียมไว้เรียบร้อย

“ผมเห็นว่าคุณคีรีคงไม่รับนมสด เลยไม่ได้เอานมสดมาให้นะครับ” พูดจบณัฐก็เดินจากไป

กาแฟของที่ร้านยามะโมริทำจากเครื่องทำกาแฟแบบไซฟ่อนที่ค่อนข้างชงยาก เป็นเครื่องกาแฟที่นิยมใช้ในญี่ปุ่นเมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้ว ก่อนที่เครื่องชงกาแฟสดแบบอิตาลีจะเข้ามาเป็นที่นิยม รสชาติอเมริกาโนของร้านจะค่อนข้างอ่อนหน่อยเพราะดูเหมือนคนญี่ปุ่นและอเมริกาจะทานกาแฟรสชาติอ่อน

แล้วคีรีก็ตัดเค้กช็อกโกแลตเข้าปาก ทันทีที่เขาสัมผัสเนื้อเค้กอันอ่อนละมุน เขาก็รู้สึกถึงความเค็มเหลือหลาย จนเขาต้องรีบบ้วนทิ้งในทันที เสียงหัวเราะดังมาจากด้านหลัง ทั้งป้าวนาและณัฐหัวเราะคิกคัก แต่พอเขาหันไปด้วยใบหน้าบึ้งตึง ทั้งสองก็ทำหน้าเฉไฉเหมือนเมื่อกี้ไม่ได้จับจ้องมองเขาอยู่

“ณัฐ” คีรีตะโกนเสียงลั่น

ณัฐรีบย้ายร่างท้วมๆ ของเขาเข้าไปในส่วนครัว เหมือนกลัวคีรีจะทำร้ายและตะโกนกลับมาว่า

“ถ้าไม่มีใครชิม แล้วจะรู้เหรอครับว่าใช้ได้หรือเปล่า”

“ก็ใส่เกลือเข้าไปขนาดแกร้องลั่นบ้าน แล้วยังจะกินได้เหรอ”

“คราวนี้คุณลองทานคู่กับวิปครีมที่ผมบีบให้สิครับ เผื่อยังพอทานได้อยู่” ณัฐก้มลงพูดลอดช่องส่งอาหารออกมา

“แล้วทำไมไม่ลองชิมเองล่ะ”

“ถ้าใช้ไม่ได้ คุณคีรีจะได้รู้ว่าวันนี้ไม่มีเค้กช็อกโกแลตไงครับ” ณัฐตะโกนออกมาพร้อมกับเสียงหัวเราะเบาๆ ทำให้ป้าวนาพลอยยิ้มตามไปด้วย

คีรีขมวดคิ้ว

“ทานกาแฟเสร็จ คุณคีรีอย่าลืมจำราคาขนมด้วยนะครับ เผื่อร้านยุ่งผมออกไปช่วยไม่ได้อย่างเมื่อวาน” เสียงของณัฐสั่งออกมาอีก

คีรีขมวดคิ้วเพิ่มเป็นสองเท่า เขาจะต้องทำตามคำสั่ง ‘เจ้าอ้วนหลังบ้าน’ อีกนานเท่าไร

 

วันนี้ไม่มีลูกค้าเข้ามามากนัก ทำให้คีรีค่อยหายใจโล่งหน่อย เขาเริ่มจำราคาขนมได้บ้างแล้ว เมื่อเด็กๆ เข้ามา เขาก็พอคิดเงินได้ แม้คิวจะยาวเกือบถึงหน้าร้านบ้าง พอหมดคิวของเด็กๆ บรรยากาศร้านยามเย็นก็ค่อนข้างเงียบ ร้านของป้าวนานั้นเป็นร้านเปิดโล่ง โดยมีส่วนของที่นั่งทานกาแฟอยู่ทางด้านซ้ายมือ นอกจากจะมีเคาน์เตอร์ไม้สำหรับให้ลูกค้านั่งยาวไปตามแนวกำแพงทางซ้ายแล้ว ก็มีโต๊ะไม้กลมเล็กๆ วางอยู่อีกสองโต๊ะ ส่วนด้านหน้าร้านก็ทำเป็นระเบียงเล็กๆ เฉพาะตรงฝั่งซ้ายของร้าน ที่ระเบียงจะมีโต๊ะเล็กๆ ตั้งอยู่โต๊ะนึงและมีต้นไม้ประดับอยู่เพื่อให้ระเบียงเล็กๆ ไม่ดูโล่งเกินไป ดังนั้นทางฝั่งขวาจะเป็นทางเดินที่ลูกค้าจะเดินเข้ามาเลือกขนมเล็กๆ น้อยๆ ที่วางเรียงบนชั้นสูงติดผนัง

คีรียืนอยู่หลังเคาน์เตอร์คิดเงินที่ตั้งอยู่ก่อนถึงห้องชงกาแฟและเตรียมอาหาร เมื่อเห็นร้านเงียบเขาก็หยิบโทรศัพท์ขึ้นมา นิคมจัดแจงส่งชื่อของที่พักพร้อมที่อยู่ของหญิงสาวที่อยากให้คีรีรู้จักมาให้ พร้อมเบอร์โทรศัพท์ คีรีดูที่อยู่ของที่พัก เขาเห็นว่าอยู่ในย่านคิชิโจจิซึ่งไม่ไกลจากย่านที่เขาอยู่สักเท่าไร

นิคมเขียนมาอีกว่าหัวข้อวิจัยของ ‘คุณรี’ ที่มาทำในญี่ปุ่นครั้งนี้น่าสนใจมาก เพราะเธอมาทำเรื่องการพัฒนาองค์กรของสินค้า OVOP (One Village, One Product – หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งผลิตภัณฑ์) ของภูมิภาคคันโตะ

ชายหนุ่มพยักหน้าช้าๆ เมื่อเห็นหัวข้อวิจัย เพราะเป็นเรื่องที่น่าสนใจทีเดียว เรามักจะรู้จักสินค้า แต่หัวใจของชุมชนที่ผลักดันสินค้าเหล่านี้ให้สำเร็จเกิดจากอะไรกัน เขารู้สึก ‘คุณรี’ ของนิคมดูน่าสนใจทีเดียว

แต่เขาก็ต้องตกใจกับข้อความที่นิคมส่งท้ายมา สนใจหรือเปล่า ฉันจะได้ให้ที่อยู่กับเบอร์โทรของแกกับเขา จะได้พูดคุยรู้จักกัน

เขารีบส่งข้อความไป ยังไม่ต้องเลยนะ เรื่องร้านที่นี่ยังไม่ลงตัวเลย แกไม่ต้องส่งชื่อ เบอร์โทร หรือที่อยู่ฉันไปให้เขาเลยนะ

“คีรี วันนี้จะทานอะไรกันดี” ป้าวนาพูดขึ้น

“อะไรก็ได้ครับ”

“ป้าว่าป้าจะออกไปซื้อผักมาทำกับข้าวหน่อย”

“ฮ้า…ป้าออกไปซื้อผักเองได้หรือครับ” คีรีรีบหันไปมองณัฐที่ออกมายืนด้านนอกแล้ว

“ปกติคุณป้าจะไปกับคุณลุงนะครับ” ณัฐพูดนิ่งๆ

“ป้าจะไปซื้อผัก และของสดหน่อยน่ะ”

“ป้าจะไปซื้อที่ไหน”

“ก็ซูเปอร์ใกล้สถานีรถไฟไง ที่นั่นของถูกนะ”

คีรีอ้าปาก สำหรับเขา…ซูเปอร์นั้นไม่ไกลเลย แต่สำหรับป้าวนา ซึ่งจะต้องเดินผ่านตรอกถนนคนเดินที่ค่อนข้างไกลจนสุด และค่อยเดินฉีกไปทางขวา คนละฝั่งกับย่านกิ๊บเก๋ของเมือง หากป้าวนาเดินไปถูก…เขาคงไม่ต้องมายืนอยู่ตรงนี้

“จะซื้ออะไร…ให้ณัฐไปซื้อไหมครับ”

ณัฐก้มหน้าเม้มปาก เหมือนเขาอยากพูดอะไรแต่ไม่กล้าพูดออกมา ซึ่งดูไม่ใช่นิสัยณัฐเลย

“เออ…ให้ผมไปเป็นเพื่อนคุณป้าไหมครับ” ณัฐเอ่ยปากและขยับมายืนข้างคีรี พร้อมกระซิบข้างหูชายหนุ่ม “คุณป้าไม่รู้หรอกว่าตัวเองจะซื้ออะไร ต้องไปเห็นของก่อน”

“และถ้าลูกค้าเข้ามาล่ะ” ชายหนุ่มถาม

คีรีชงกาแฟไม่ได้ แต่งจานขนมไม่ได้ และไม่ได้ๆ อีกสารพัด

“งั้นคุณก็ไปกับคุณป้าไหม”

“แล้วณัฐใช้เครื่องคิดเงินเป็นเหรอ”

ณัฐส่ายศีรษะ

“แล้วลุงอากิเคยปล่อยร้านให้ณัฐอยู่คนเดียวเหรอ”

ณัฐส่ายศีรษะ

“ปกติคุณลุงคุณป้าไปซื้อของกันตอนไหน” คีรีกระซิบถาม

“ตอนเช้าก่อนร้านเปิดหรือตอนร้านปิดแล้วครับ”

ชายหนุ่มพยักหน้ารับ

“ป้าครับ เดี๋ยวร้านปิดค่อยไปซูเปอร์เถอะ ตอนนี้ที่ตรอกคนเดินคนเยอะมากเลยครับ”

“แต่ป้าไม่มีอะไรให้คีรีกิน และเกลือก็หมดแล้วด้วย”

คีรีพยักหน้าเข้าใจ เมื่อรู้เรื่องที่ทำให้ป้าวนาเป็นกังวลจนอยากออกไปซูเปอร์ในตอนนี้

“เรื่องนั้นง่ายครับ วันนี้เราจะกินราเมงหรือพิซซ่ากันดีล่ะ ณัฐ” ชายหนุ่มพยายามเบี่ยงเบนความสนใจ

“พิซซ่าครับ”

“แล้วป้าล่ะ อยากทานอะไรครับ”

ป้าวนาไม่ตอบ แต่ก็ยิ้มและพยักหน้ารับให้พอเข้าใจว่าอะไรก็ได้

“งั้นพิซซ่านะครับ”

“คุณคีรีจะออกไปซื้อพิซซ่าหรือครับ ดีจัง” ณัฐรีบชิงพูด

คีรีชักรู้ทันณัฐ…ถ้าเกี่ยงงานอันไหนได้ก็รีบเกี่ยงไปก่อน แต่ยังดีที่กับป้าวนา ณัฐจะไม่ทำ

“ณัฐออกไปซื้อดีกว่า รู้จักแถวนี้ดีไม่ใช่เหรอ”

“แล้วถ้าลูกค้ามาจะทานกาแฟล่ะครับ”

“เดี๋ยวป้าก็สอนฉันเองน่า ว่าแต่รีบไปรีบมาก็ละกัน”

แล้วคีรีก็ควักเงินให้กับณัฐไป คิดหวั่นๆ เหมือนกัน กลัวลูกค้ามาทานกาแฟ แต่อย่างไรบรรยากาศที่เหมือนฝนกำลังจะตก ทำให้วันนี้ร้านดูเงียบกว่าปกติ

คีรีรีบแต่งตัวแต่เช้า เขารู้ว่าป้าวนานั้นตื่นแต่หกโมงเช้าทุกวัน เมื่อวานตอนซื้อของในซูเปอร์ ดูเหมือนป้าวนาจะหาของหลายอย่างไม่เจอ และเขาก็ไม่รู้ว่าป้าจะหาอะไร เผื่อวันนี้ป้าอยากออกไปซื้ออะไรอีก เขาเดินลงมาเกือบแปดโมงเช้าแล้ว

“นั่นคุณคีรีแต่งตัวลงมาแต่เช้า จะไปไหนครับ” ณัฐเอ่ยถาม

“เผื่อคุณป้าจะไปซูเปอร์อีก เมื่อวานไปซูเปอร์ตรงพีค้อก เหมือนจะไม่ถูกใจ เหมือนอยากให้พาไปซูเปอร์ที่แยกไปทางฮอนด้าเธียร์เตอร์”

คีรีหมายถึงซูเปอร์ใหญ่ของที่นี่ที่มีผลไม้สดหลากหลายวางเรียงอยู่หน้าร้าน และบริเวณร้านใกล้เคียงก็มีผักผลไม้อื่นๆ วางขาย

“ซูเปอร์นั้นเปิดปิดเวลาเดียวกับร้านเราเลยครับ สิบโมงเช้าถึงสองทุ่ม ต้องไปวันร้านหยุดครับ”

คีรีแอบรู้สึกดีใจที่ได้ยินว่าร้านนี้มีวันหยุดด้วย เขาคงจะไม่มีสายเลือดพ่อค้าหรือหัวธุรกิจแบบใครๆ

“เออ…ว่าแต่ร้านนี้หยุดวันไหน”

“วันอาทิตย์ครับ เพราะเด็กๆ หยุด คุณคีรีก็รู้ว่าร้านเราขายกาแฟได้อยู่ไม่กี่แก้ว เราได้จากการขายขนมเล็กๆ น้อยๆ ให้เด็กๆ ตอนบ่าย แต่ร้านในชิโมหลายร้านปิดวันจันทร์ บางร้านก็ปิดวันอังคารครับ” ณัฐอธิบายให้เขาฟังยาว อาจเป็นเพราะณัฐเริ่มคุ้นเคยกับเขาบ้างแล้ว

‘นั่นสิเนอะ ร้านขายกาแฟวันละไม่กี่แก้ว’ แล้วที่ร้านจ้างณัฐเพื่อมาทำกาแฟไม่กี่แก้วหรือ

ป้าวนากำลังหั่นผักเตรียมทำอาหารไว้ให้ทานกัน

“คุณจะออกไปเดินเล่นก่อนก็ได้ครับ แต่เช้าๆ ที่นี่จะเงียบ ร้านค้าที่นี่เปิดกันค่อนข้างสาย ก็จะมีพวกร้านแถวสถานีที่พอเปิดบ้าง”

เขาพยักหน้ารับ “คุณป้าครับ เดี๋ยวไว้วันอาทิตย์ไปซื้อของซูเปอร์กันใหม่นะครับ”

ป้าวนาหันมาพยักหน้า “จ้ะ”

คีรีเดินออกมานอกร้านในยามเช้าแบบนี้เป็นวันแรก จริงอย่างที่ณัฐว่า ยามเช้าที่นี่ดูเงียบเหงา จะมีแต่คนทำงานและเด็กนักเรียนที่เดินตรงไปที่สถานีรถไฟ ร้านต้นไม้ของคูมิก็ยังไม่เปิด เขาจำได้ว่าสมัยก่อนที่แม่คูมิยังดูแลร้านต้นไม้นี้ ร้านนั้นเป็นเพียงเพิงธรรมดามีต้นไม้วางเรียงรายตามพื้น แต่ตอนนี้เป็นร้านรวงดูน่าเดินน่าเข้า

เขาแอบมองร้านกาแฟในบ้านไม้ที่ด้านล่างมีไม้เลื้อยพัน ที่นี่คงเป็นร้านขายดีทีเดียว-ร้านวิลโลว์คอทเทจ ถ้าร้านป้าวนาเป็นอย่างนี้ เขาคงจ้างผู้จัดการดูแลร้านได้สักคน…คิดถึงตรงนี้ ก็อดกังวลอีกสารพัดอย่างไม่ได้ ถ้ามีผู้จัดการดีๆ สักคน เขาจะปล่อยป้าวนาไว้ที่นี่หรือ หรือจะให้ณัฐดูแลป้าวนา…ข้อนี้คงไม่ไหว แล้วอย่างไรกัน คิดไปมาอย่างไร เขาได้แต่กลับมาที่คำตอบเดิม…คือขายร้านแล้วเอาป้ากลับกรุงเทพฯ อย่างที่แม่ของเขาสั่งการให้เขามาทำ

คีรีเลี้ยวขวาเดินตรงไปตามตรอกถนนคนเดินไปเรื่อยๆ จนสุดซอยซึ่งจะอยู่ใกล้ทางเข้าออกสถานีรถไฟ เขาคิดว่าจะไปนั่งที่ร้านฟาสต์ฟูดแถวสถานี แต่เมื่อเดินมาใกล้สถานี เขาลองกดโทรศัพท์ดู

‘Shimokitazawa station to Kichijoji’ เขาลองกดดูเล่นๆ ว่าจากที่นี่ไปแถวคิชิโจจิที่พักของ ‘อาจารย์รี’ ที่นิคมบอกนั้นใกล้ไกลเพียงใด

หน้าจอบอกว่าให้นั่งรถไฟด่วนสายอิโนะคะชิระ (ที่กำลังจะออกใน 8 นาทีที่ชานชาลา 1) ใช้เวลา 14 นาทีก็จะถึงคิชิโจจิ

คีรีถอนหายใจเบาๆ จะลองไปดูที่พักของเธอดูก่อนดีไหม หรือลองไปเตร็ดเตร่ดูแถวคิชิโจจิก็ไม่น่าจะเป็นไร เพราะมีสวนใหญ่ตั้งอยู่ที่นั่น อาจไปเดินเล่นที่สวนอิโนะคะชิระสักพัก แล้วค่อยกลับมาก็ทันร้านเปิดอยู่ดี ว่าแล้วเขาก็เดินผ่านร้านฟาสต์ฟูดนั้นไปทางสถานีรถไฟ

ยามเช้าผู้คนเดินเข้าสถานีรถไฟกันขวักไขว่ แต่คีรีรู้ว่าตัวเองต้องนั่งรถไฟออกนอกเมืองไปอีก ซึ่งจะสวนทางกับคนส่วนใหญ่ที่กำลังเดินทางไปทำงานในเมือง แค่ 14 นาทีเขาก็มาถึงสถานีรถไฟคิชิโจจิ แล้วเขากดชื่อของที่พักลงในมือถือเพื่อหาแผนที่เดินทางไป

ตามแผนที่เมื่อออกจากสถานีแล้ว ให้เลี้ยวขวาไปตามถนนอิโนะคะชิระโดริ ในขณะที่สวนนั้นจะต้องเดินตรงไปตามถนนทางด้านหน้าสถานี เขาคิดทบทวน นี่เขากำลังสนใจยาย ‘อาจารย์รี’ นี่จริงๆ หรือ ถ้าไปถึงที่พักและเจอเธอคนนี้ แล้วจะทำอย่างไร

คีรีคิดอยู่นาน เขาเชื่อว่าที่เขายืนอยู่ตรงนี้เป็นเพราะเขารู้สึกไม่แน่ใจในผู้หญิงที่นิคมแนะนำให้ ดังนั้นเขาจึงอยากเห็นหน้าเธอก่อนสักครั้ง อย่างน้อยคงพอดูออกว่าเธอเป็นคนอย่างไร ถ้ารู้สึกสนใจ จะได้ติดต่อเธอคนนั้นทางโทรศัพท์ตามคำแนะนำของนิคม

เมื่อรู้สึกมีเป้าหมาย คีรีก็เดินตามทางที่บอกในแผนที่ ระยะทางเกือบหนึ่งกิโลเมตร เดินเลี้ยวลดเข้าไปตามตรอกเล็กๆ อีก จนเจอกับอาคารสามชั้นตกแต่งให้ดูคล้ายเป็นอาคารไม้ ด้านในดูคล้ายกับโฮสเทลเล็กๆ มากกว่าจะเป็นอพาร์ตเมนต์ ชายหนุ่มมองผ่านกระจกเข้าไปข้างใน บริเวณด้านหน้านี้มีเคาน์เตอร์ไม้เล็ก และมีแนวเก้าอี้เรียงติดผนังอยู่เป็นรูปตัวแอล และเหมือนพื้นที่หลังเคาน์เตอร์ก็เป็นห้องพักแล้ว แต่สิ่งที่ทำให้โฮสเทลเล็กๆ นี้เก๋ไก๋เป็นเพราะรูปวาดที่วาดบนผนังหลังเคาน์เตอร์ทั้งสองฝั่ง

แม้จะดูเหมือนภาพวาดลายเส้นการ์ตูนที่วาดเป็นรูปเตียงนอนที่คลุมด้วยผ้านวมสีสันสดใส เด็กสาวกำลังนั่งอ่านหนังสืออยู่บนเตียงขนาบข้างด้วยแมวเหมียวและสุนัขหน้าตาบ้องแบ๊ว มีหมอนหลากสีวางอยู่ด้านหลัง ส่วนอีกฝั่งที่ติดกับประตู เป็นภาพต้นแอปเปิลที่มีนกฮูกเกาะอยู่ สีน้ำเงินของพื้นหลังบอกถึงยามค่ำ ท้องฟ้าประดับด้วยดาวสีเหลืองพรายและพระจันทร์เสี้ยว ลายเส้นของภาพการ์ตูนที่วาดแม้จะดูเคร่งขรึมหน่อย แต่ก็มีความเก๋ จนรู้สึกว่าคนวาดจะต้องเป็นศิลปินหน้าตาเก๋ไก๋

ด้วยความอยากจะดูภาพนั้นใกล้ๆ คีรีจึงผลักประตูกระจกเข้าไป เสียงกระดิ่งทำให้หญิงวัยกลางคนคนหนึ่งวิ่งออกมาข้างหน้า ในมือเธอยังถือตะกร้าผ้าอยู่ คงเหมือนกำลังทำความสะอาดห้องใดห้องหนึ่งอยู่ พอเห็นหน้าเขา เธอก็เอ่ยปากทักเป็นภาษาญี่ปุ่น คีรีได้แต่ยิ้มกลับ และส่งภาษาอังกฤษพูดคุยต่อ

“รูปภาพนี้สวยจังครับ”

“ค่ะ ใครๆ เห็นก็ชอบค่ะ” เธอพูดภาษาอังกฤษตอบกลับ

เมื่อเห็นเธอพูดภาษาอังกฤษได้ คีรีจึงรู้สึกว่าเธอน่าจะเป็นเจ้าของโฮสเทลนี้

“ผมมาหาคนที่อยู่ห้อง 102 ครับ”

“อ๋อ คนไทย คุณดูเหมือนคนญี่ปุ่น”

“คนไทยครับ” คีรียิ้ม รู้สึกว่ามาไม่ผิดที่แล้ว

“ตอนนี้คนห้องนั้นออกไปหมดแล้วค่ะ แต่เห็นคุณแม่น่าจะออกไปซื้อของแถวๆ นี้ สักพักคงจะกลับค่ะ”

“คุณแม่” คีรีรู้สึกสงสัย เขาคิดว่า ‘อาจารย์รี’ จะอยู่ที่นี่คนเดียว

“ใช่ค่ะ มาทั้งครอบครัวค่ะ”

เขาได้แต่พยักหน้ารับ ลองมาทั้งครอบครัวแบบนี้ เขาถอยหนีก่อนดีกว่า

“จะฝากข้อความอะไรไหมคะ”

“ไม่ละครับ เดี๋ยวผมโทรหาเขาเองดีกว่า ลาก่อนนะครับ” แล้วคีรีก็โค้งศีรษะคำนับและเดินถอยออกมา

ชายหนุ่มเดินกลับออกมาตามทางเดิม ออกมาไม่ทันเท่าไร ก็เห็นหญิงสูงวัยถือถุงใบใหญ่กำลังเดินสวนมา เพียงแวบเดียว เขาก็รู้ว่าหญิงคนนั้นน่าจะเป็นแม่ของ ‘อาจารย์รี’ ชายหนุ่มรีบก้มหน้าหลบและเดินห่างออกมา ตอนเดินสวนกันชายหนุ่มเบือนหน้าหนี กลัวว่าในอนาคตหญิงสูงวัยท่านนี้จะจำเขาได้ เสียดายที่เวลานี้กำลังเข้าฤดูร้อน เขาไม่ได้ใส่เสื้อกันหนาวที่จะปกปิดหุ่นหรือใบหน้าได้ เมื่อเดินผ่านหญิงสูงอายุคนนั้นมาได้ เขาก็ถอนหายใจ รู้สึกสบายใจมากขึ้น

บนถนนอิโนะคะชิระโดริในส่วนที่ใกล้กับสถานีรถไฟ มีร้านค้าเก๋ไก๋มากมาย แต่ยามเช้าแบบนี้ก็มีแต่ร้านกาแฟบางร้านที่เปิดเท่านั้น พอมาช่วยป้าวนาทำร้านกาแฟ ทำให้เขามักแอบมองร้านกาแฟต่างๆ ตอนอยู่เมืองไทยเขาไม่มีโอกาสไปนั่งทานกาแฟสดที่ไหนมากนัก ส่วนใหญ่เขาทานกาแฟในตอนเช้าที่คอนโดฯเท่านั้น เมื่อไปถึงมหาวิทยาลัยก็นั่งโรงอาหารทานข้าว

เขาเดินดูร้านกาแฟที่อยู่ใกล้สถานีไปเรื่อย เขาเห็นร้านที่ใช้สัตว์เลี้ยงอย่างกระต่ายเป็นตัวดึงลูกค้า และร้านกาแฟแบบที่ขายอาหารด้วย เขาไม่รู้เหมือนกันว่าจะดูร้านกาแฟเก๋ๆ แบบนี้ไปทำไม หรือเขาอยากได้ไอเดียไปปรับปรุงร้านยามะโมริ

‘จะดูร้านเหล่านี้เพื่อไปปรับปรุงร้านหรือไง’ ชายหนุ่มถามตัวเอง

ปรับปรุงเพื่ออะไร…เพื่อจะให้ร้านขายดีขึ้นและจ้างผู้จัดการมาดูแลร้านหรืออย่างไร ถ้าอย่างนั้น…แล้วใครจะเป็นคนดูแลป้าวนา หรือเขาควรให้ผู้จัดการร้านทำร้านไป ส่วนเขาเอาป้าวนากลับเมืองไทย

หรือเพียงแค่ปรับปรุงเพื่อขายไป…กรณีนี้ยิ่งหนักกว่า เขาไม่รู้ว่าจะขายร้านได้เมื่อไหร่อีกนั่นแหละ แล้วทุกอย่างจะทันสองเดือนที่เขามีเวลาอยู่ที่นี่หรือไม่ แล้วไหนจะต้องเก็บข้าวของทั้งบ้าน

แล้วประตูร้านกาแฟที่เขากำลังเดินผ่านก็เปิดออก เขาคิดอะไรเพลินไปจริงๆ นั่นแหละ เพราะเขาไม่อาจถอยหลบหญิงสาวที่ผลักประตูเดินออกมาทัน แต่เธอคล่องแคล่วพอที่เมื่อเปิดประตูออกมา เธอก็หยุดและไม่เดินชนกับเขาที่เดินเข้ามาประชิด นั่นทำให้เขามองไปที่เธอ

หญิงสาวในเสื้อลินินขาวที่เสียบเข้าไปในกางเกงสีน้ำเงินเข้มทรงหลวมคาดด้วยเข็มขัดสีน้ำตาลเข้มเพราะตัวเธอนั้นค่อนข้างผอมบาง ทำให้เสื้อผ้าที่หลวมนั้นดูจะเข้ากับเธอมาก โดยเฉพาะผมสั้นที่ปล่อยยาวพอดีคอแต่ทัดหูไว้ ทำให้หน้าที่ขาวนวลดูโดดเด่นออกมา เธอคนนั้นสะพายกระเป๋าผ้ายีนทรงเก๋ เธอช่างดูทะมัดทะแมง เขารู้สึกคุ้นหน้าเธอในทันที

เธอคือผู้หญิงคนนั้นที่อยู่ในรูปที่นิคมส่งให้!

เมื่อเธอเห็นชายหนุ่มร่างสูงยืนเก้ๆ กังๆ ไม่เดินพ้นประตูไปสักที แถมยังหันหน้ามามองเธอแบบซึ่งๆ หน้าอีก ทำให้หญิงสาวต้องก้มศีรษะเล็กน้อย

“ซึมิมะเซน” หญิงสาวพูดขอโทษและเดินเบี่ยงจากตัวชายหนุ่มออกไป

 



Don`t copy text!