เปิดหู เปิดตา เปิดใจ ในศรีลังกา ตอนที่ 1 : จากกรุงเทพ สู่ โคลอมโบ
โดย : อรรถรัตน์ จันทรวรินทร์
ไม่ได้มีแค่ นิยายออนไลน์ ให้อ่าน ที่ อ่านเอา แต่เรายังมีบทความอ่านเอาสบายอีกเพียบ อย่างซีรี่ย์สารคดีท่องเที่ยวศรีลังกาจากมุมมองของตุ๊กตาบันนี่กระต่ายน้อยชุดนี้ โดย อรรถรัตน์ จันทรวรินทร์ ให้ได้ อ่านออนไลน์กันเพลินๆ
——————————————————
ฮะแฮ่มๆ สวัสดีฮะคุณผู้อ่าน อย่าได้แปลกใจไปที่ได้มาพบกับผม นายบันนี่ กระต่ายน้อยตัวอ้วนกลมในวันนี้ เพราะหลังจากที่ผมมีโอกาสติดตาม ‘พี่กรู๊ฟ’ เจ้านายของผมไปเที่ยวมาหลายที่ อยู่ๆ วันหนึ่ง พี่กรู๊ฟก็ส่งหนังสือท่องเที่ยวเล่มใหม่มาให้ แล้วบอกให้ผมอ่านไปพลางๆ ก่อน เพราะอีกไม่กี่วันเราจะได้ไปเที่ยวศรีลังกาด้วยกัน
“สวัสดีฮะคุณผู้อ่าน…ผมบันนี่กระต่ายน้อยของพี่กรู๊ฟ
จะเป็นไกด์พาไปเที่ยวศรีลังกาด้วยกันนะครับ”
“อะไรนะ จะไปตีลังกาเหรอ” ผมถามอย่างงงๆ ตามประสากระต่ายน้อยแสนซื่อ ก็แหม…ตั้งแต่เกิดมาเป็นกระต่ายแก้มยุ้ยอย่างทุกวันนี้ ผมก็เพิ่งได้ยินชื่อ ‘ศรีลังกา’ ก็วันนี้เองนี่ฮะ แต่หลังจากพลิกๆ หนังสือท่องเที่ยวเล่มดังกล่าวดู ก็เลยรู้ว่าศรีลังกานั้นเป็นชื่อประเทศ ไม่ใช่สวนสนุกที่จะให้ไปกระโดดโลดเต้น ตีลังกาผาดโผนอย่างที่ผมนึกไว้ น่าอายจริงๆ เลยบันนี่เอ๋ย
และแล้ววันเดินทางก็มาถึง พวกเราออกเดินทางไปประเทศศรีลังกาด้วยเครื่องบินแอร์บัส A330-200 ของสายการบินศรีลังกาแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ UL 889 โดยออกจากสนามบินสุวรรณภูมิเวลา 19.25 นาฬิกา แต่โชคร้ายที่เกิดความล่าช้ากว่าที่กำหนดไว้ เพราะกว่าที่ทางสายการบินจะยอมให้พวกเราขึ้นเครื่องได้ ก็สายไปอีกตั้งชั่วโมง หรือเพราะพวกเขารู้ว่าพี่กรู๊ฟแอบพากระต่ายน้อยอย่างผมไปด้วยกันแน่นะ
เครื่องบินใช้เวลาบินเพียง 3 ชั่วโมงกับอีก 20 นาที ก็ร่อนลงอย่างปลอดภัยที่สนามบินนานาชาติบันดราไนยเก ณ เมืองโคลอมโบ เมืองหลวงปัจจุบันของประเทศศรีลังกา สาเหตุศรีลังกานั้นได้รับสมญานามว่าเป็น ‘ไข่มุกแห่งคาบสมุทรอินเดีย’ ส่วนหนึ่งคงจะมาจากรูปร่างของประเทศที่มีรูปทรงคล้ายกับหยดน้ำ และอีกส่วนหนึ่งก็เพราะว่าที่นี่สวยงามมากเปรียบได้กับไข่มุกแห่งท้องทะเล แต่ผมยังไม่แน่ใจว่าอย่างไหนถูกต้องหรอกนะฮะ เอาไว้ถึงวันกลับเสียก่อน แล้วผมจะมาบอกอีกทีว่าศรีลังกานั้นเลอค่า อย่างที่ใครๆ ว่ากันไว้จริงหรือเปล่า
เมื่อไปถึงที่นั่น ก็เป็นเวลาสี่ทุ่มกว่าๆ แต่ถ้าเป็นที่ประเทศไทยก็เกือบๆ จะเที่ยงคืนแล้วล่ะฮะ เพราะเวลาที่โคลอมโบนั้นเดินช้ากว่ากรุงเทพบ้านเราอยู่ 1 ชั่วโมงกับอีก 30 นาที ถึงตอนนี้ผมก็เริ่มจะมีอาการตาปรือ ง่วงนอนขึ้นมาหน่อยๆ แต่ผมจะแอบนอนหลับอย่างทุกครั้งไม่ได้ เพราะพี่กรู๊ฟกำชับนักกำชับหนา ว่ามาด้วยกันก็ต้องไปด้วยกัน ต้องช่วยเหลือกัน ถึงจะไม่ใช่เลือดสุพรรณก็ตามที ดังนั้นกระต่ายน้อยอย่างผมจึงทำตามคำสั่งของพี่กรู๊ฟอย่างเคร่งครัด
Galle Lighthouse หรือ Pointe de Galle
ประภาคารที่เก่าแก่ที่สุดของศรีลังกา สร้างเมื่อ ค.ศ. 1848
“ไปทางนั้นฮะ นั่นไงที่ตรวจคนเข้าเมือง” ผมตาไวเหลือบไปเห็นป้ายตรวจคนเข้าเมืองตัวเบ้อเริ่มเทิ่ม จึงรีบส่งเสียงบอกพี่กรู๊ฟ จริงๆ แล้วการเดินทางไปศรีลังกานั้นไม่ยาก เพราะไม่ต้องทำวีซ่าจากประเทศไทย เราสามารถไปทำวีซ่าที่นั่นอย่างที่เรียกว่า Visa on arrival ได้ เหมือนกับประเทศในแถบเอเชียประเทศอื่นๆ นั่นละ ที่สำคัญเราไม่ต้องเสียสตางค์ในการทำวีซ่าอีกด้วย นั่นเป็นเพราะรัฐบาลศรีลังกาเขากำลังผลักดันให้การท่องเที่ยว เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่จะสร้างรายได้ให้กับประเทศ หลังจากที่นักท่องเที่ยวหนีหายไปหมด เนื่องจากสงครามภายในประเทศซึ่งเกิดมาอย่างต่อเนื่องหลายปี และเพิ่งจะมาสงบเมื่อปลายปี ค.ศ. 2009 หลังจากมีการเลือกตั้งและพวกเขาได้ประธานาธิบดีคนใหม่
วีซ่าแบบ on arrival สำหรับนักท่องเที่ยวศรีลังกา สามารถอยู่ได้ 30 วัน ถ้าต้องการอยู่นานกว่านั้นต้องขอที่สถานทูตฮะ หลังจากยื่นหนังสือเดินทางและผ่านขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมืองแล้ว พี่กรู๊ฟก็เดินไปรอรับกระเป๋าเดินทาง ระหว่างนั้นผมเหลือบไปเห็นว่ามีพระสงฆ์มากมาย ห่มจีวรสีเหลืองมัสตาร์ดยืนรอกระเป๋าเดินทางอยู่กันมากมายเต็มไปหมด
“ศรีลังกาเป็นประเทศที่มีศาสนาพุทธเป็นศาสนาหลัก และว่ากันว่าพุทธศาสนาของที่นี่ยังคงบริสุทธิ์และเต็มไปด้วยความศรัทธาของชาวพุทธทั่วโลก ไม่ต้องทำหน้าแปลกใจที่เห็นพระสงฆ์มากมายที่นี่หรอก” พี่กรู๊ฟเหมือนอ่านใจของผมออก รีบบอกออกมาให้ผมหายสงสัย
บรรยากาศข้างถนน
สาวศรีลังกาในชุดแดง
“และที่ที่เราจะไปเที่ยวกันตลอด 4-5 วันนี้ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นสถานที่สำคัญ ที่ชาวพุทธทั่วโลกต่างมุ่งหวังว่าครั้งหนึ่งในชีวิต จะต้องเดินทางมาสัมผัสด้วยตัวเองให้ได้ แต่ยังไม่บอกหรอกว่าจะพาไปที่ไหนบ้าง เพราะรู้ว่าถึงบอกไป นายก็จำไม่ได้อยู่ดี” พี่กรู๊ฟสำทับ แถมยังดูถูกผมอีกต่างหาก
เชอะ…ผมทำการบ้านมาหรอกน่า แอบเห็นจากแผนการท่องเที่ยวที่พี่กรู๊ฟเขียนเอาไว้ แล้วก็เลยไปค้นคว้าจากคู่มือท่องเที่ยวที่พี่กรู๊ฟให้มาอ่าน แต่ผมก็แกล้งทำเป็นไม่รู้ต่อไป จะคอยดูว่าพี่กรู๊ฟจะรู้ลึกรู้จริงอย่างที่คุยเอาไว้หรือเปล่า อิอิ
ก่อนจะออกจากสนามบิน พี่กรู๊ฟเอาเงินดอลล่าร์สหรัฐที่แลกมาจากเมืองไทย มาแลกเป็นเงินศรีลังการูปีที่นี่ สกุลเงินรูปีของศรีลังกาแตกต่างจากรูปีของอินเดีย แม้จะเรียกว่ารูปีเหมือนกันก็ตาม แล้วถ้าเทียบกับค่าเงินบาทของเราแล้ว ก็ตกราวๆ 4.8 รูปี ต่อ 1 บาท พี่กรู๊ฟบอกว่าถ้าจะให้ง่าย ต่อไปหากเราจะซื้ออะไร ก็ให้เอา 5 หารราคาสินค้าเอาก็แล้วกัน แต่แหม…ไม่เห็นให้เงินผมเลยสักกะรูปี แล้วอย่างนี้ผมจะได้ชอปปิงกับเขาไหมละเนี่ย
เมื่อออกจากสนามบิน ผมนึกว่าคราวนี้เราจะมาเที่ยวกันตามลำพัง ที่ไหนได้ พี่กรู๊ฟได้นัดพี่ชายที่เดินทางมาทำงานที่นี่ล่วงหน้าเมื่อ 4 วันก่อนเอาไว้แล้ว กะเอาไว้แล้วเชียว ผมก็ไม่คิดหรอกว่าพี่กรู๊ฟนี่นะหรือ จะยอมเดินทางท่องเที่ยวคนเดียว โดยเฉพาะประเทศที่ไม่คุ้นเคยแบบนี้ ถึงแม้จะมีผมเดินทางมาด้วยก็ตาม
พี่โอ๊ต พงศกร คือพี่ชายคนดังกล่าว มายืนรอรับเราที่ทางออกพร้อมกับใบหน้ายิ้มแฉ่ง ก่อนจะกล่าวต้อนรับเราเป็นภาษาท้องถิ่นว่า “Ayubowan” (อายุบวร / อา-ยุ-บะ-วอน) ซึ่งผมมารู้ทีหลังว่าคำๆ นี้ นอกจากจะใช้กล่าวทักทายกันแล้ว ยังมีความหมายถึงการอวยพรให้มีอายุที่ยืนยาวและแข็งแรงอีกด้วย ผมเลยรีบท่องจำให้ขึ้นใจ กะเอาไว้ว่าถ้าเจอชาวศรีลังกาเมื่อไรจะรีบทักทายว่า “อายุบวร” กับเขาบ้าง
ระหว่างทางจากสนามบินไปยังโรงแรม พี่โอ๊ตเล่าคร่าวๆ เกี่ยวกับประเทศศรีลังกา ทั้งเรื่องประวัติศาสตร์ เรื่องลมฟ้าอากาศ เรื่องผู้คน และที่สำคัญคือเรื่องอาหาร แน่นอนว่าผมสนใจเรื่องหลังมากที่สุด แต่ถึงจะสนใจเรื่องกินมากเพียงไร ตาแป๋วๆ ทั้งสองข้างของกระต่ายน้อยก็ค่อยๆ หรี่ลงๆ จนปิดสนิทในที่สุด
จากสนามบินบันดราไนยเก สู่ กอล เฟส โฮเทล
“ถึงแล้วๆ ตื่นได้แล้วเจ้ากระต่ายขี้เซา” พี่กรู๊ฟปลุกผมขึ้นจากนิทรา น่าเสียดายเป็นที่สุด เพราะผมกำลังฝันหวานว่าตัวเองนั้นเป็นมหาราชา มีกระต่ายน้อยใหญ่เป็นบริวาร ในเมืองอันแสนสวยงามบนคาบสมุทรอินเดีย
ภาพสมัยเก่าสุดคลาสสิกของ Galle Face Hotel
เรามาถึง Galle Face Hotel โรงแรมที่เราจะเข้าพักในเวลาเกือบจะเที่ยงคืนของศรีลังกา ที่นี่มีประวัติศาสตร์ยาวนานหลายร้อยปี พี่ๆ ทั้งสองคนเป็นพวกที่ชื่นชอบความเก่าแก่ของสถานที่ ที่ได้ผ่านช่วงเวลาต่างๆ มาอย่างยาวนาน และยังคงเก็บรักษาความเก่าแก่และความสวยงามนั้นๆ เอาไว้ได้อย่างสมดุล จึงเลือกพักที่โรงแรมแห่งนี้ แต่ผมหวังว่าผู้คนที่เคยอาศัยอยู่ที่นี่ในสมัยโบราณ จะไม่ได้อยากออกมาต้อนรับพวกเราด้วยหรอกนะ…บรื๋อ !
บรรยากาศสุดคลาสสิก
การตกแต่งสไตล์โคโลเนียลภายในโรงแรม Galle Face Hotel
พี่โอ๊ตพูดเสริมขณะที่เรากำลังเดินขึ้นห้องพักอีกด้วยว่า ในนวนิยายไทยเรื่อง ‘ศิขริน-เทวินตา’ ของคุณโสภาค สุวรรณ นักเขียนผู้มีชื่อเสียงท่านหนึ่งของเมืองไทย ได้บรรยายถึงฉากๆ หนึ่ง ที่เทวินตา-นางเอกของเรื่องได้เดินทางมายังประเทศศรีลังกา และเข้าพักที่โรงแรมแห่งนี้ด้วย แหม… เริ่มรู้สึกอยากเป็นพระเอกของเรื่องหน่อยๆ แล้วสิฮะ เพราะที่โรงแรมนี้สวยงามมากจริงๆ
จากกอล เฟส โฮเทล สู่ สิคีริยา
หลังจากนอนหลับไปแทบจะทันทีที่หัวและหูยาวๆ ของผมถึงหมอน ผมลืมตาตื่นขึ้นมาอีกทีก็พบกับเช้าวันใหม่ที่มีอากาศสดชื่น ท้องฟ้าเป็นสีฟ้าสวยงาม และน้ำทะเลก็มีสีครามสดใส อ้อ…ผมลืมบอกไปว่าที่ Galle face Hotel นี้ อยู่ติดริมทะเลด้วยนะฮะ แต่ผมไม่กล้าลงไปเล่นน้ำทะเลหรอก เพราะที่นี่คลื่นลมแรงมาก เสียดายที่ผมไม่มีโอกาสเอาวิดีโอที่ผมถ่ายเอาไว้มาให้ดู ไม่อย่างนั้นคุณผู้อ่านจะได้รู้ว่าที่ผมบอกว่าคลื่นและลมแรงนั้นจริงหรือเปล่า
เรารับประทานอาหารเช้าของโรงแรม โดยมีบรรยากาศของมหาสมุทรอินเดียเป็นอาหารตา ผมเดินสำรวจดูอาหารของที่นี่ แล้วก็พบว่านอกจากอาหารเช้าแบบอเมริกัน เบรคฟาสต์ จำพวกขนมปัง ไส้กรอก แฮมและไข่ดาวแล้ว ที่นี่ยังบริการอาหารพื้นเมืองจำพวกแกงกระหรี่ และอาหารอื่นๆ ไว้มากมายอีกด้วย และที่ผมสนใจมากที่สุดคือเจ้าแป้งทอดกลมๆ ที่มีไข่ดาวโปะอยู่ข้างในนั่นมากที่สุด
แกงกระหรี่ และ ‘ฮอปเปอร์’ อาหารเช้ายอดนิยมของศรีลังกา
‘ฮอปเปอร์’ คือชื่อเรียกของอาหารชนิดนั้น ผมรู้หลังจากที่ถามพี่พนักงานซึ่งยืนให้บริการอยู่ และไม่รอช้าที่จะสั่ง ฮอปเปอร์ใส่ไข่ มาทดลองชิมในทันใด พี่พนักงานคนเดิมยังใจดีบอกอีกด้วยว่า ฮอปเปอร์นั้นจะพบเห็นได้เฉพาะที่ศรีลังกา และทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย อาหารชนิดนี้ทำจากแป้งข้าวเจ้า ผสมกับยีสต์ เกลือและน้ำตาลอีกนิดหน่อย โดยนำส่วนผสมทั้งหมดมาตีรวมกันจนได้ส่วนผสมเหมือนกับการทำแพนเค้ก (หรือขนมครกบ้านเรา-อันนี้ผมคิดเองนะฮะ) ก่อนจะนำลงไปทอดในกระทะทรงครึ่งวงกลม
การรับประทานฮอปเปอร์นั้น นิยมกินกันเป็นอาหารเช้า โดยอาจจะกินเปล่าๆ หรือใส่ไข่ลงไปด้วยก็ได้ และมีการกินร่วมกันกับผักดองและเครื่องแกงที่หน้าตาคล้ายกับน้ำพริกเผา แต่ผมไม่กล้ากินน้ำพริกนั่นหรอกนะฮะ กระต่ายน้อยอย่างผมกินอาหารเผ็ดไม่ได้ แถมพ่อครัวคนที่ยืนทำฮอปเปอร์ให้นั้น ยืนยันหนักแน่นว่าเจ้าน้ำพริกนั่น …เว้-รี่-ฮ้อต !
หลังจากรับประทานอาหารเช้าแล้ว ผมก็ได้พบกับคุณลุงมหินทร์ ผู้ซึ่งมารับหน้าที่เป็นคนขับรถตลอดระยะเวลาที่เราท่องเที่ยวอยู่ในศรีลังกานี้ คุณลุงมหินทร์หน้าตาใจดี แม้จะมีหนวดเคราปกปิดหน้าตาบางส่วนเอาไว้ แต่เราก็รู้ได้ว่าเขาเป็นคนใจดีจริงๆ ทั้งจากน้ำเสียง ท่าทาง และการแสดงออกที่เป็นมิตรอย่างเปิดเผย ผมเลยไม่รอช้าที่จะกล่าวทักทายว่า “อายุบวร” ตามที่ได้ซักซ้อมเอาไว้
ก่อนจะออกเดินทางไปสิคีริยา สถานที่สำคัญที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกขององค์การยูเนสโก คุณลุงมหินทร์ยังทำการแนะนำและปูพื้นฐาน เรื่องของประวัติศาสตร์ศรีลังกาให้พวกเราฟังอีกนิดหน่อย และยังช่วยจัดตารางการเดินทางเสียใหม่ เพื่อให้เราไม่เสียเวลาเดินทางมาก และได้ท่องเที่ยวในศรีลังกาอย่างคุ้มค่าที่สุด เห็นไหมฮะว่าคุณลุงเขาน่ารักจริงๆ
สิคีริยา หรือ ‘หินราชสีห์’
เราเดินทางออกจากโรงแรมมุ่งสู่สิคีริยา ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองโคลอมโบ ซึ่งคุณลุงมหินทร์บอกว่าจะใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมงครึ่ง ตอนแรกกระต่ายน้อยตั้งใจว่าจะแอบงีบเอาแรง แต่กลับกลายเป็นว่าเมื่อได้นั่งดูวิวสองข้างทาง ผมก็ตื่นเต้นกับทุกๆ สิ่งที่พบเห็นจนหลับไม่ลง เผลอแป๊บเดียว เจ้าภูเขาหินทรงสี่เหลี่ยมลูกใหญ่ ที่ชื่อว่าสิคีริยา ก็มาตั้งตระหง่านอยู่ตรงหน้าเสียแล้ว
ทิปการเดินทางจากกระต่ายน้อย 🙂
- อากาศที่ศรีลังกา เป็นแบบร้อนชื้นไม่ต่างกับทางภาคใต้ของบ้านเรา เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่ควรเตรียมไปนอกเหนือจากเสื้อผ้าเก๋ๆ ก็คือหมวกใบโตๆ แว่นกันแดด และครีมกันแดดนะฮะ
- ควรแลกเงินรูปีไว้ใช้ เพราะถึงแม้จะสามารถใช้เงินดอลลาร์สหรัฐได้ แต่ตามร้านค้าเล็กๆ เขาไม่ค่อยจะทอนเงินกันหรอกนะ เงินรูปีของศรีลังกาเป็นคนละสกุลกับรูปีอินเดีย อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ประมาณ 4.8 รูปีต่อ 1 บาท
– อ่านตอนต่อไป –