“ช่วงเวลาที่พอเหมาะสมควรในอดีต” ของ กิตติศักดิ์ คงคา
โดย : YVP.T
อ่านชื่อบทความพิเศษครั้งนี้แล้วรู้สึก “เอ๊ะ!” กันไหมค่ะ เพราะนี่คือความหมายที่หลายคนต้องการคำตอบจากนวนิยายเรื่องใหม่ที่อ่านเอานำมาให้อ่านออนไลน์กันล่าสุด “ไนปุราณเริกส์” โดยนักเขียนที่บอกกับเราว่า เขาคือมือใหม่ในวงการนี้
แต่แม้เขาจะบอกแบบนี้ แต่ผลงานที่ผ่านๆ มา สำหรับอ่านเอาแล้ว เขาคนนี้จะเป็นมือใหม่ที่มีมือดีและน่าจับตาไม่แพ้ใคร ไปรู้จักกับเขาเลยไหมค่ะ เบส – กิตติศักดิ์ คงคา
กิตติศักดิ์ คงคา คือหนึ่งในนามปากกาที่นักเขียนผู้นี้ใช้กับงานวรรณกรรมทั่วไป นอกเหนือจากชื่อนี้ หากนวนิยายสำหรับวัยรุ่น เขาคือ นายพินต้า และจะใช้ชื่อ ‘ลงทุนศาสตร’ เมื่อเขียนสารคดีการเงินการลงทุน แต่ถ้าล้วงลึกไปอีกนิด เขาไม่ได้จบอักษรศาสตร์แต่จบเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แถมปัจจุบันยังทำงานเป็นเภสัชกรดูแลธุรกิจโรงงานยาที่เป็นกิจการครอบครัว มีงานอดิเรกคือ การเป็นนักลงทุน โดย ทำสื่อเกี่ยวกับการลงทุนชื่อว่าลงทุนศาสตร์ด้วย
แล้วงานเขียนนวนิยายล่ะ มาสู่ชีวิตเขาได้อย่างไร?
“ผมอยากเป็นนักเขียนมาตั้งแต่อายุ 12 ปีแล้วครับ ตอนนั้นอ่านเพชรพระอุมาแล้วชอบมาก รู้สึกว่าการเป็นนักเขียนเป็นเรื่องราวแสนวิเศษ เพราะสามารถสร้างเรื่องอะไรก็ได้ให้คนอ่านผจญภัยไปด้วยกัน แต่เพิ่งจะมีโอกาสมาเป็นนักเขียนก็ตอนอายุ 28 ปี เมื่องานประจำเข้าที่เข้าทางมากขึ้น ผมก็กลับมามองหาเส้นทางความฝันของตัวเองที่อาจจะละเลยไป ผมพบว่าตัวเองอยากเป็นนักเขียน และเริ่มต้นเขียนอย่างจริงจัง
“ก่อนหน้านี้ ผมมีผลงานมาบ้างแล้วพอสมควร แต่ก็ยังเป็นมือใหม่เพราะเขียนมาประมาณ 3 ปี แต่อาศัยว่าทำหนังสือขายเองเป็นหลักเลยมีผลงานออกมาได้เรื่อยๆ ซึ่งผลงานที่พอจะเป็นที่รู้จักบ้าง ได้แก่ เกียร์สีขาวกับกาวน์สีฝุ่น, ใครคืออองชองเต, มนุษย์ซึมเศร้ากับเรื่องเล่าสีขาวดำ, โอปปาติกะอำพราง และจวบจนสิ้นแสงแดงดาว”
กิตติศักดิ์ คงคา คือ หนึ่งในผู้เข้าร่วมในโครงการช่องวันอ่านเอาครั้งที่ 2 ซึ่งเขาไม่ลังเลที่จะสมัครทันทีที่รู้ข่าว
“ผมรู้สึกว่าเป็นเรื่องยากมากที่งานเขียนของเราจะได้รับการพิจารณาไปทำละครโดยตรงจากช่องโทรทัศน์ขนาดใหญ่ ช่องวันอ่านเอาจึงเป็นโครงการที่ผมคิดว่าดีมากๆ และผมจะพลาดไม่ได้เด็ดขาด ความจริงปีแรกผมก็ส่งประกวดด้วยแต่ไม่ผ่านรอบคัดเลือก ปีสองผมก็ส่งผลงานเข้ามาใหม่ รอบนี้ได้ผ่านเข้ารอบคัดเลือกจนเขียนนิยายออกมาจนจบเล่ม ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีมากของผมครับ”
“ไนปุรานเริกส์” นวนิยายชื่อแปลก แต่มากไปด้วยความหมายที่มาพร้อมความตั้งใจ
“ไนปุรานเริกส์” มาจาก “ในปุราณฤกษ์” ที่แปลความว่า “ช่วงเวลาที่พอเหมาะสมควรในอดีต” และเหตุผลที่สะกดแบบนี้ เนื่องจาก ‘อินทิรา’ ซึ่งเป็นนางเอกของเรื่องหลุดมาจากยุคปฏิวัติวัฒนธรรมช่วงปี 2485 สมัยนั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ลงนามใน “ประกาสสำนักนายกรัถมนตรี เรื่อง การปรับปรุงอักสรไทย” เพื่อเปลี่ยนแปลงการใช้ภาษาไทยของชาติให้ทันสมัยมากขึ้น ตามลักษณะของการสร้างกระแสรักชาติเพื่อต้านทานกระแสสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงเวลานั้น เขาจึงเลือกใช้การเขียนชื่อเรื่องให้ตรงกับยุคที่นางเอกจากมา
“ไนปุรานเริกส์ เป็นเรื่องราวของแพทย์หญิงผู้มีศักดิ์เป็นหม่อมราชวงศ์ที่เกิดเหตุมหัศจรรย์ให้หลุดมาในยุคสมัยปัจจุบัน แต่ตัวนางเอกเองดันมีความผูกพันกับ ‘เรือนปุราน’ บ้านที่ตัวเองอยู่มาตั้งแต่เกิดจนตาย เมื่อมาถึงโลกอนาคต อินทิราจึงตามเสาะหาว่าเรือนที่รักตกไปเป็นมรดกของใคร อยู่รอดปลอดภัยดีหรือเปล่า ไนปุรานเริกส์ จึงสื่อถึงช่วงเวลาอันเหมาะเจาะพอดีในอดีตที่ส่งตัวอินทิรามายังอนาคตเพื่อจะค้นพบอะไรบางอย่างที่ตัวเองไม่เคยเข้าใจมาตลอดชีวิต
“แรงบันดาลใจของการเขียนเรื่องนี้ คือ การอ่านเรื่องสั้นเรื่อง “25 ปีต่อมา” ของ นทธี ศศิวิมล จากหนังสือ “มหรสพยังไม่ลาโรง” และผมเกิดความคิดว่านิยายส่วนใหญ่เล่าเรื่องคนจากปัจจุบันย้อนกลับไปอดีต แล้วถ้าคนจากอดีตข้ามมาอนาคตบ้างล่ะจะเกิดอะไร ประกอบกับช่วงนั้นมีโอกาสได้อ่านหนังสือ “ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2” ของ ดิเรก ชัยนาม ด้วย ผมจึงรู้สึกสนใจกระแสชาตินิยมในช่วงยุคหลวงพิบูลสงครามแรกเป็นพิเศษ
“ไนปุรานเริกส์จึงกลายเป็นส่วนผสมของความผิดที่ผิดทางไปเสียหมดตั้งแต่ในยุคอดีตเองที่นางเอกก็ต้องใช้ชีวิตท่ามกลางกระแสชาตินิยมหนักหน่วง และเมื่อหลุดมายังปัจจุบัน นางเอกก็ต้องมาปรับตัวเข้ากับโลกสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปจนแทบไม่เหลือเค้าเดิม นิยายทั้งเรื่องจึงพูดถึง “กระบวนการเรียนรู้ – รับมือ – เข้าใจ” ต่อความเปลี่ยนแปลงแห่งความเป็นจริงในชีวิต เหมือนกับที่อินทิราประสบ โลกเปลี่ยนไปแล้ว เราจะรับมือกับทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวอย่างไรมากกว่า”
นิยายรักโรแมนติกที่แทรกเรื่องราวในประวัติศาสตร์ได้อย่างกลมกล่อม
จุดเด่นอย่างหนึ่งของ ‘ไนปุรานเริกส์’ คือ การสะท้อนทัศนคติของหญิงไทยในสมัยอดีตที่แม้อินทิราจะเป็นผู้หญิงที่เรียนสูงและหัวสมัยใหม่มาก แต่เมื่อเจอกับปัจจุบันก็ทำให้นางเอกของเรากลายเป็นคนหัวโบราณที่สุด นิยายจะพาคุณผู้อ่านไปพบกับความผิดที่ผิดทางที่นำไปสู่อะไรหลายอย่าง การคลี่คลายปมในใจ ความรักโรแมนติก รวมไปถึงสัจธรรมในชีวิต
“ไนปุรานเริกส์เป็นนิยายที่บีบนางเอกไว้ด้วยความรู้สึกอย่างมหาศาลต่อพ่อที่ไม่มีวันจบสิ้น อินทิราต้องใช้เวลาหลายร้อยหน้ากระดาษเพื่อจะค้นพบวิธีการปลดปล่อยตัวเองออกจากอดีต ผมต้องการจะสื่อถึงประเด็นนี้อย่างมากที่สุดในนิยายเรื่องนี้ ผมขอยกคำพูดที่ผมยึดเป็นหลักประจำใจข้อหนึ่งขอท่าน ติช นัท ฮันห์ ขึ้นมาให้คนอ่านได้เห็นถึงแก่นแท้ที่ผมอยากจะสื่อ “มนุษย์ไม่เคยใช้ชีวิตอยู่ในอดีตและอนาคต พวกเรามีชีวิตอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น” ผมอยากจะควรทุกคนมาตั้งคำถามกับว่าเราใช้ปัจจุบันได้ดีพอแล้วหรือยัง”
“ผมหวังว่านักอ่านทุกท่านจะมีความสุขกับนิยายเรื่องนี้นะครับ และแม้ว่าจะเป็นนิยายรักโรแมนติก แต่ก็อัดแน่นไปด้วยหลายมวลอารมณ์และห้วงนึก บันทึกประวัติศาสตร์ สืบสวนสอบสวน รวมไปถึงการเรียนรู้และเติบโตของชีวิต และผมเชื่อว่านิยายเรื่องที่จะเป็นเหมือนกระแสเล็กๆ ที่เข้าไปกวนตะกอนให้ผู้อ่านตระหนักถึงอะไรบางอย่าง เช่น “ความสำคัญของปัจจุบัน” ความเชื่อมโยงระหว่างผลกับเหตุและการนำไปสู่การประกอบอะไรสักอย่างให้กับชีวิต และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าไนปุรานเริกส์จะเหมือนนิยายที่พอเหมาะพอควรที่ทำให้เราได้รู้จักกันมากขึ้นในหนังสือเล่มต่อไป และต่อๆ ไปนะครับ”
เพื่อนๆ นักอ่านชาวอ่านเอาที่อยากรู้จัก กิตติศักดิ์ คงคา มากขึ้น เขายังมีงานเขียนส่วนตัวที่บอกเล่าผลงานต่างๆ รวมไปถึงข้อคิดและประสบการณ์ที่ได้จากการอ่านและเขียน ทางเพจ Multiverse of Alphabets สามารถกดติดตามกันได้เลยนะคะ