เมื่อหัวใจยังรักที่จะเขียน “ลำนำพราย” โดย เก็ตตะหวา จึงเกิดขึ้น
โดย : YVP.T
นวนิยายเรื่องใหม่ล่าสุดที่อ่านเอาแสนจะภูมิใจนำเสนอ ไม่ใช่เพียงเพราะเป็นผลงานรองชนะเลิศในโครงการอ่านเอาก้าวแรกรุ่น 3 เท่านั้น แต่ “ลำนำพราย” มาจากผู้เขียนที่ทิ้งร้างความฝันในการเป็นนักเขียนไปนานถึง 20 ปี เก็ตตะหวา หรือคุณไก่ – อ้อมทิพย์ ศรีสุวรรณ์ ค่ะ
‘เก็ตตะหวา’ คือนามปากกาของอ้อมทิพย์ ศรีสุวรรณ์ เธอผู้นี้ทำงานเป็นพยาบาลแผนกทารกแรกเกิดในโรงพยาบาลแมคคอร์มิค จ.เชียงใหม่ แต่ขณะเดียวกัน ความรักในการอ่านและความอยากเขียนนั้นเป็นอีกส่วนหนึ่งของชีวิตที่รักมาก ทำให้ก่อนหน้านี้ เธอเคยเขียนเรื่องสั้นส่งตามนิตยสารขวัญเรือน, สกุลไทยบ้างเล็กน้อย และได้มีวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง “หัวใจทองในใจเธอ” เป็นผลงานที่ภาคภูมิใจ ก่อนที่จะหยุดเขียนไปประมาณ 20 ปี
“ในช่วงที่หยุดเขียนไป เพราะอุบัติเหตุบางอย่างในชีวิตที่ทำให้หมดพลัง หมดไฟทั้งๆ ที่ใจยังรักในการเขียน เมื่ออยากจะกลับมาเขียนก็ไม่รู้ว่าจะกลับมาในหนทางนี้ได้อย่างไร ‘ลำนำพราย’ จึงเป็นนวนิยายเรื่องแรกที่ได้กลับมาเขียน และก็เขียนจนจบอย่างที่ตั้งใจ เพราะหากไม่นับวรรณกรรมเยาวชนเรื่องเดียวที่เขียนจบ ในชิวิตนี้ ยังไม่เคยเขียนเรื่องยาวจบแม้แต่เรื่องเดียว”
“อาจารย์ทั้งสามคนเป็นเหมือนเปลวไฟในสายลมหนาว”
“ด้วยความที่เป็นคนชอบอ่าน ก็ได้มาเจอกับเพจ anowldotco ที่โพสต์นวนิยายไว้ให้อ่าน ทำให้ได้มาเจาพญานาคจากนิลนาคินทร์ ได้มาพบโลกนวหินพานต์ มาพบเจอกับพญานาคอีกครั้งในพนมนาคาและประทับใจกับรากนคราที่อ่านไปร้องไห้ไป จึงสนใจสมัครมาเรียนกับอาจาร์ยทั้งสามท่าน ต้องขอขอบคุณอาจารย์ทั้งสามคนที่ทำให้มีโครงการที่ดีมากอย่างนี้ เหมือนชุบชีวิตคนที่วางปากกาไว้นานมาก อาจารย์คือคนที่เป็นเหมือนเปลวไฟในสายลมหนาว เป็นคนชี้ทางแนะนำให้กลับมาเดินในหนทางที่รัก
“เคยมีคนบอกว่า นักเขียนที่ไม่เขียนคือนักเขียนที่ตายแล้ว แต่เพราะโครงการอ่านเอาก้าวแรก ทำให้รู้ว่าจงใช้ชีวิตให้เหมือนนกฟีนิกซ์ จงเกิดใหม่จากกองเถ้าถ่านของตัวเอง เมื่อมองตัวเองก็รู้สึกว่าเราเหมือนน้ำก้นแก้ว อยากมีครูในการเขียน และอาจารย์ทั้งสามท่านก็ทำให้เราได้เขียนและออกมาเป็น ‘ลำนำพราย’”
“ได้รู้ในสิ่งที่ไม่รู้จากอ่านเอาก้าวแรก”
“ถึงแม้จะเคยเขียนวรรณกรรมเยาวชนออกมา หรือแม้แต่อ่านนิยายมามากมายก็ไม่เคยรู้ว่า การจะเขียนนิยายได้หนึ่งเรื่อง ต้องมีพล็อตด้วย ก็เลยได้มาคิดว่า หรือนี่คือจุดอ่อนของตัวเอง ทำให้ไม่เคยเขียนนิยายเรื่องยาวๆ ได้จนจบสักเรื่อง พอเรียนรู้จากอาจารย์ที่โครงการไปเรื่อยๆ สิ่งที่ไม่รู้มีมากกว่านั้น เช่น ต้องมีฉากด้วยหรอ และเราต้องตัวละครที่เป็นสีสันของเรื่องนอกจากบทพระเอกนางเอก หรือผู้ร้ายด้วยเหรอ เหมือนจะเป็นสิ่งที่ควรรู้ ควรคิดไว้ก่อนลงมือเขียน แต่กลายเป็นสิ่งที่เราไม่ทันได้คิด เพราะไม่เคยรู้มาก่อนว่าควรกำหนดให้มีแต่แรกอย่างไร เมื่อได้เข้ามาอบรมในโครงการอ่านเอาก้าวแรก จึงรู้สึกขอบคุณ ขอบคุณ และขอบคุณ ที่มีอาจารย์ทั้งสามคอยให้คำชี้แนะ แนะนำ ถ่ายทอดประสบการณ์ ให้ความรู้ที่หามาจากที่ไหนไม่ได้ ไม่มีในห้องเรียน
“และเมื่อรู้ว่าได้รับรางวัลรองชนะเลิศจากโครงการนี้ สิ่งแรกที่ทำคือ บอกแม่ บอกครอบครัว บอกเพื่อนๆ ให้ช่วยดีใจด้วย ยิ้มแก้มแตก ตื่นเต้นจนนอนไม่หลับ ตื่นมาตอนเช้านึกว่าฝันไป แต่ทั้งหมดคือความจริงที่ไม่คิดว่าคนที่ห่างไปนานจากการเขียน จะเขียนได้จนเป็นผลงานที่อาจารย์ทั้งสามท่านยอมรับ”
“ลำนำพราย” และแรงบันดาลใจจากเครื่องแบบสีขาว
“ลำนำพราย ได้แรงบันดาลใจมาจากหนองน้ำกว้างใหญ่ในอำเภอสันป่าตอง เป็นหนองน้ำที่มีตำนานพื้นบ้าน ที่มีตำนานพื้นบ้านชื่อว่า ‘หนองสะเรียม’ ที่พูดถึงเรื่องของปลาไหลเผือก และหมู่บ้านถล่มจมหาย เพราะชาวบ้านกินปลาไหลเผือก และมีหญิงสาวที่หนีไปกับชายคนรัก แต่หนีไม่พ้นเพราะดินถล่มไล่หลังมาจวนตัว นางถูกคนรักผลักตกหลังม้าให้แผ่นดินสูบเป็นโศกนาฏกรรมของความรักกลายเป็นพรายน้ำแสนสวย เป็นผีเงือกน้ำ ที่คอยคร่าชีวิตผู้ชาย และในอำเภอเมือง ซึ่งห่างจากหนองน้ำที่ว่านี้อยู่ 30 กิโลเมตรมีโรงพยาบาลแมคคอร์มิคตั้งอยู่ โรงพยาบาลแห่งนี้อยู่คู่ล้านนามากว่า 130 ปีแล้ว เป็นโรงพยาบาลที่ก่อตั้งโดยนายแพทย์ EC. cort หรือที่ชาวบ้านเรียกหมอคอร์ทบ้าง พ่อเลี้ยงคอร์ทบ้าง ซึ่งคุณยายของไก่เองเป็นคนไข้ของโรงพยาบาลที่ชื่นชมในตัวหมอคอร์ทมาก และคุณยายมักจะเล่าเรื่องในอดีตให้ฟังบ่อยๆ เช่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองตอนที่ญี่ปุ่นมาอยู่ในโรงพยาบาล หมอคอร์ทยังให้พี่ๆ พยาบาลพกปืนขึ้นวอร์ดเพื่อป้องกันตัวด้วย
“พอมีหลาน หลานของคุณยายก็เป็นพยาบาลที่เรียนจบจากคณะพยาบาลศาสตร์แมคคอร์มิค มหาวิทยาลัยพายัพถึง 4 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือตัวของไก่เอง จึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจในการวางพล็อตเรื่องนี้ขึ้นมา โดยวางตัวเอกเป็นพยาบาลที่มีคาแรกเตอร์ของพยาบาลรุ่นพี่ที่อยู่ในยุคก่อตั้งโรงพยาบาล มีความสมาร์ท อ่อนโยน และเข้มแข็งอยู่ในคนๆ เดียวกัน และพล็อตเรื่องมีกลิ่นอายของความเป็นล้านนาที่กำลังก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงผสมผสานด้วยศิลปะ วัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นการขาย soft power เช่น การฟ้อนเจิง กลองสะบัดชัย การสักหมึกดำ และแนะนำอาหารเหนือ ผักกาดจอ เป็นต้น โดยมีตัวนางเอกเป็นตัวเดินเรื่อง
“สุดท้ายนี้ ขอฝากไปถึงคนที่รักในการเป็นนักเขียนที่ยังรีรอหรือไม่กล้าเขียนว่า เมื่ออยากเขียน จงลงมือเขียน และอย่าหยุดเขียน ถ้าเรารู้ข้างในใจยังรักในการเขียน ลงมือทำค่ะ
“ถ้าจะให้ดีคือ สมัครโครงการอ่านเอาก้าว 4 นะคะ เพราะนอกจากเราจะได้ความรู้อย่างเต็มเปี่ยมแล้ว เราจะถูกกำหนดให้มีวินัยในการเขียนด้วยกรอบเวลา และคำแนะนำที่มีค่าทำให้เขียนได้จนจบเป็นนิยายเรื่องหนึ่ง การที่เราเขียนนิยายจนจบได้ คือ รางวัลอันยิ่งใหญ่สำหรับตัวเองแล้ว
“ขอบคุณอาจารย์ทั้งสามคนที่เคี่ยวจนเขียนนิยายได้จบเป็นเล่มแรกในชีวิต ขอบคุณจากใจค่ะ”