กรุ่นกลิ่นความรักและความทรงจำของ ‘วานิลลา’ ผ่านปลายปากกาของ นัท-ศศิวิมล นทธี สุระเดชชะมงคล
โดย : กิ่งสุรางค์ อนุภาษ
เมื่อรสสัมผัสอย่าง กลิ่น และรสชาติคือหนึ่งในตัวช่วยที่เชื่อมโยงเราให้ระลึกถึงอดีต นัท-ศศิวิมล นทธี สุระเดชชะมงคล จึงหยิบประเด็นที่น่าสนใจนี้มาถ่ายทอดในนิยายชื่อน่ากินและกลิ่นโดนใจเรื่อง “เมื่อวานรสวานิลลาซันเดย์” ความละเมียดละไมในการเล่าเรื่องที่ผ่านแง่มุมมากมาย หลายสถานการณ์ ทำให้ผลงานของเธอกลายเป็นที่ชื่นชอบของเหล่าคณะกรรมการจนสามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศ นวนิยายดีเด่น กลุ่มรักรัก จากโครงการช่องวันอ่านเอา รุ่นที่ ๓ มานอนกอดได้สำเร็จ
‘นัท’ เป็นเจ้าของนามปากกา ‘นทธี ศศิวิมล’ เธอคร่ำหวอดอยู่ในวงการงานเขียนมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ ผลงานของนัทส่วนใหญ่จะเป็นแนวสยองขวัญ สะท้อนสังคม การเมือง เศรษฐกิจ จิตวิทยา อาชญากรรม ไม่ว่าจะเป็น คอลัมน์ จิตหลอน ในนิตยสารเล่มโปรด, คอลัมน์ หลอน ในหนังสือพิมพ์ข่าวสดรายวัน, คอลัมน์ แมวสำคัญของโลก ในเว็บไซต์ข่าวสดออนไลน์, คอลัมน์ เป็นแม่ไม่ง่าย ในเว็บไซต์ข่าวสดออนไลน์, คอลัมน์ สันหลังวาบ นิตยสาร ขายหัวเราะ ฯลฯ แต่ดูเหมือนผลงานเรื่อง “เมื่อวานรสวานิลลาซันเดย์” จะเป็นสไตล์ที่ต่างไป และการที่นัทได้ลองมาเขียนแนวรักรักดูบ้าง ก็ดูจะเพิ่มอรรถรสในการทำงานของเธออยู่มากเลยทีเดียว
“นัทใช้วิธีจริงใจกับความรู้สึกของเราไปเลย เพราะไม่ได้ถนัดเขียนนิยายรักมาก่อน ข้อดีคือทำให้ไม่ติดกรอบหรือสูตรของนิยายรัก และใช้วิธีนำประสบการณ์และความรู้สึกส่วนตัวที่มีกับความรักมาเขียนนิยายเรื่องนี้ค่ะ” นักเขียนสาวเล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงสบายๆ “นอกจากนี้การที่เราเป็นวัยรุ่นในช่วงปี 90’s ตอนปลาย ทำให้ได้อยู่ในช่วงของวิกฤติต้มยำกุ้ง ซึ่งตรงนี้จะมีการเก็บรายละเอียดนิดๆ หน่อยๆ ทางสังคม เช่น การทรุดของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ทำให้ผู้ประกอบการล้มละลาย ฆ่าตัวตาย ทำให้วัยรุ่นในวัยเรียนสมัยนั้นที่ครอบครัวประสบวิกฤติต้องดิ้นรน ดูแลตัวเอง เขาผ่านช่วงเวลานั้นมายังไง กระทั่งถึงปัจจุบัน และยังมีเรื่องของคนสองคนที่ความรักในวัยมัธยมยังไม่ไปไหน แต่ยังฟูมฟักอยู่ในหัวใจ ถึงแม้จะมีอุปสรรคในเรื่องเวลาหรืออื่นๆ เข้ามา เมื่อถึงเวลาที่ได้มีโอกาสกลับมาเจอกันอีกครั้ง เขาเยียวยากันยังไง ต่อจากนี้ก็ยังมีปมสำคัญของเรื่องอีกปมคือช่วงเวลาที่ป่วยไข้ เขาดูแลกันยังไง ในช่วงเวลาที่ไม่ได้น่ารักใส่กันแล้วจะเป็นยังไงต่อไป อีกทั้งยังมีความลึกลับและเงื่อนงำของพระ-นาง ที่ทำให้คนอ่านอยากจะติดตามว่าทั้งสองคนนี้เป็นยังไง มายังไงกันแน่อีกด้วยค่ะ”
เมื่อถามถึงชื่อเรื่องที่ดูเหมือนจะทำให้หลายคนอยากชวนคนสนิทออกไปเปิดเมนูดูไอศกรีมรสโปรด และกินให้หนำใจ นัทก็เล่าถึงที่มาที่ไปของการตั้งชื่อนิยายเรื่องนี้ว่า “สิ่งหนึ่งที่ทำให้เชื่อมโยงคนเราไปถึงอดีตได้นั่นก็คือเรื่องของกลิ่น และรสชาติ ซึ่งในเรื่องนี้กลิ่นวานิลลาจะเป็นกลิ่นประจำตัวของนางเอก และกลิ่นนี้แหละที่จะกระตุ้นความทรงจำของพระเอกได้ นอกจากนี้ทั้งคู่ยังเคยเป็นกลุ่มเพื่อนมัธยมที่พอเลิกเรียนแล้วจะไปกินไอศกรีมที่เป็นร้านโฮมเมดเล็กๆ ที่พอไปถึงตอนเย็นปรากฏว่ารสอื่นหมดเหลือแต่รสวานิลลา ก็เลยต้องกินไอศกรีมรสวานิลลาซันเดย์กันจนกลายเป็นความทรงจำในวัยเรียนที่มีร่วมกันมา นัทเลยตัดสินใจว่าจะใช้ชื่อนี้มาเป็นชื่อนิยาย เพราะกลิ่นของวานิลลาก็เป็นส่วนสำคัญของเรื่องเหมือนกัน”
นอกจากนี้ความทรงจำดีๆ ที่ผ่านการกระตุ้นเตือนผ่านกลิ่นและรสชาติให้ความสุขที่ลึกซึ้งมากมายในมุมมองของเธออีกด้วย “นัทคิดว่าสิ่งหนึ่งที่มีค่าที่สุดของมนุษย์คือความทรงจำ โดยเฉพาะความทรงจำด้านความรู้สึก อยากให้เราถนอมความรู้สึกที่ดีในทุกความสัมพันธ์ไว้ให้มากๆ เพราะในวันสุดท้ายของชีวิต ความทรงจำเกี่ยวกับความรู้สึกจะอยู่กับเราจนถึงวินาทีสุดท้าย ต่อให้จำเรื่องราวไม่ได้แล้ว แต่เราก็ยังรู้สึก เมื่อเราได้สัมผัสกับสิ่งนั้น”
นัทบอกว่าผลงานต่อจากนี้เธออยากเขียนวรรณกรรมเยาวชนให้มากขึ้นและตั้งใจจะเขียนเรื่องแม่ที่เลี้ยงดูลูกที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรังซึ่งมองว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับคุณแม่อีกหลายคน และเธอยังรับประกันว่ามีครบทั้งสาระและความบันเทิงแน่นอน
สำหรับคนที่อยากเป็นนักเขียนแต่ยังไม่กล้าที่จะเริ่มต้น นัทก็เป็นอีกคนที่ฝากบอกว่า เพียงแค่ชอบก็เริ่มได้แล้ว “ถ้าเป็นสิ่งที่เรารักจริงๆ ไม่จำเป็นต้องรอให้จังหวะ เวลา หรือทุกอย่างพร้อม เราทำไปได้เลยในชีวิตประจำวันค่ะ เพราะทุกวัน ทุกวินาทีของนัท เราทำงานอยู่ตลอดเวลาจนนอนหลับ การทำงานของนัทคือมองทุกอย่างรอบตัวแล้วเก็บเป็นข้อมูล เป็นเกร็ด ประสบการณ์ เป็นโครงสร้างของสิ่งที่เราทำจึงสามารถอยู่ในชีวิตของเราได้เลย ต่อให้มีอาชีพอื่น หรือภาระอื่นก็สามารถทำสิ่งที่เรารักได้ เพียงแต่โอกาสที่จะเผยแพร่อาจต้องรอจังหวะนิดนึง อยากให้ทุกคนรออย่างมีความสุข เพราะว่าน่าจะมีเวลาและโอกาสที่เป็นของทุกคน
“สำหรับเทคนิคในการเขียนของนัทคือเขียนให้คนอ่านที่จะยอมรับเราได้มากที่สุดคนเดียวอ่านก่อนก็คือตัวเราเอง ในเมื่อเราเป็นคนที่รักการอ่านและรักการเขียนอยู่แล้ว เราเขียนให้ถูกใจคนอ่านคนนี้ให้ได้ก่อน แล้วโอกาสที่มันจะเดินทางไปทางไหน ให้เป็นเรื่องของโอกาสและอนาคตข้างหน้าดีกว่า สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มอย่าเพิ่งคิดไปไกลว่าคนนั้นจะชอบหรือไม่ชอบ ให้ตัวเองชอบก่อนเป็นอย่างแรกค่ะ”