บ่วงเวรา บทที่ 4 : เค้าลางหายนะ

บ่วงเวรา บทที่ 4 : เค้าลางหายนะ

โดย : สัมพันธ์ สุวรรณเลิศ

Loading

บ่วงเวรา นวนิยายรางวัลรองชนะเลิศ โครงการอ่านเอาก้าวแรก ๓  โดย สัมพันธ์ สุวรรณเลิศ กับเรื่องราวของวังวนความรักและความแค้น ความมุ่งมั่นที่จะตอบแทน ทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามให้สาสม แล้วความรักจะเยียวยาใจแก้ไขความแค้นได้จริงหรือ…อ่านเอาขอเชิญทุกท่านร่วมเพลิดเพลินไปกับนวนิยายพีเรียดสุดเข้มข้นเรื่องนี้ที่ anowl.co

ภายหลังจากที่อโยธยาให้เจ้านายในวงศ์แห่งยโสธรปุระปกครองพระนครกันเอง ก็เกิดเหตุการณ์ความไม่มั่นคงภายในมาโดยตลอด อโยธยาได้แต่พยายามสังเกตการณ์อยู่ห่างๆ เพื่อป้องกันปัญหาที่จะมากระทบ จนวันหนึ่งก็มีข่าวลือลอยลมมาว่ากรุงยโสธรปุระเตรียมทัพจะมากระทำศึกกับอโยธยา…

มีรายงานขึ้นกราบทูลว่ากัมรเตงแห่งศรียโสธรปุระกำลังตระเตรียมสั่งสมไพร่พลและเสบียงหมายจะโจมตีอโยธยา พ่ออยู่หัวซึ่งขณะนั้นกำลังประทับอยู่ ณ เมืองพระพิษณุโลกสองแคว ด้วยเหตุที่โอรสพญาสุโขทัยผู้เสด็จทิวงคต มีใจไปฝักใฝ่ด้วยเจ้านพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่เพราะเคืองใจที่พ่ออยู่หัวไม่ยกตนขึ้นเป็นท้าวเป็นพญาครองเมืองสุโขทัยสืบต่อจากบิดาตน พ่ออยู่หัวจึงต้องเสด็จไปประทับคุมเชิงและเตรียมรับศึกยังเมืองสองแควนั้น

เมื่อทราบเหตุจากยโสธรปุระก็ทรงกังวลพระทัยมิใช่น้อย เพราะหากเป็นดังนั้น หมายความว่าพระองค์ต้องรับศึกสองทาง เป็นที่ยากลำบากยิ่ง จึงทรงเรียกให้พระเยาวราชเสด็จขึ้นเฝ้ายังเมืองพระพิษณุโลก

แม้พ่ออยู่หัวจะทรงประทับอยู่เมืองสองแควแต่ก็ทรงแบ่งขุนนางไว้สองส่วน ส่วนหนึ่งช่วยทำราชการสงครามกับพระองค์ที่เมืองพระพิษณุโลก อีกส่วนก็ทำราชการที่อโยธยาเช่นเดิมโดยมีสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า พระมหาอุปราชกำกับดูแลต่างพระเนตรพระกรรณ บัดนี้เกิดเหตุการณ์ไม่สู้ดีจึงเรียกขุนนางที่มีหน้าที่ทั้งสองฝ่ายมาร่วมประชุม ออกญายมราชซึ่งว่าการกรมเวียงอยู่ในอโยธยาก็ต้องขึ้นมาเพื่อรับคำสั่งตกแต่งพระนครหากต้องรับศึก

“หม่อมฉันเห็นว่าเป็นเพียงข่าวลือ เมืองพระนครธมเองก็ยังจัดการปัญหาภายในไม่เรียบร้อย จึงไม่น่าจะมีเวลาตระเตรียมการทำศึกที่ต้องใช้กำลังไพล่พลและเสบียงจำนวนมากในเพลานี้” พระเยาวราชกราบทูล

พ่ออยู่หัวเองก็มีพระทัยเห็นด้วยกับพระเยาวราช แต่ก็ทรงฉุกพระทัยเมื่อออกญายมราชทูลเตือนว่า

“หม่อมฉันกลับเห็นว่าไม่ควรวางพระทัย หากชาวยโสธรบุรีรู้ว่าอโยธยาติดพันศึกกับเชียงใหม่ ไม่แน่ว่าจะยกทัพมาซ้ำเติม… หม่อมฉันเห็นว่าควรสืบข่าวให้แน่ใจว่ายโสธรไม่ได้ตระเตรียมกองทัพและเสบียงไว้เพื่อทำศึกพ่ะย่ะค่ะ”

เกิดคำถามในที่ประชุม ว่าใครเล่าควรจะเป็นนายกองคุมพวกเสือหมอบแมวเซาไปสืบความ

“หม่อมฉันเห็นว่านายแม้น บุตรองค์เม็งกับนางเภานั่นแล้วที่เหมาะสมจะเป็นนายกองลอบคุมพวกเสือหมอบแมวเซาไปสืบความ” ขุนนางในกรมเวียงผู้หนึ่งทูลเสนอ

“หม่อมฉันเห็นพ้องด้วยพ่ะย่ะค่ะ ด้วยนายแม้นรู้ภาษาชาวยโสธรดี อีกทั้งยังน่าจะมีญาติที่อยู่ฝั่งนั้นคอยเป็นหูเป็นตาให้ น่าจะได้ข่าวที่เที่ยงแท้พ่ะย่ะค่ะ” พระเยาวราชเหลือบเนตรดูขุนนางที่สนับสนุนผู้นั้น พวกกรมเวียงอีกแล้ว ทรงรำพึงในใจ ระหว่างนั้นก็มีเสียงขุนนางหลายคนสนับสนุนให้พ่ออยู่หัวส่งนายแม้นคุมกองเสือหมอบแมวเซาไปสืบข่าวอีกหลายเสียง พระเยาวราชสังเกตว่าขุนนางเหล่านั้น หากไม่สังกัดในกรมเวียง ก็ล้วนแล้วแต่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับออกญายมราช ในพระทัยก็หวั่นระแวงว่าเหตุการณ์ไม่เป็นปกติเป็นแน่แท้ ออกญายมราชจะเล่นกลฉันใดแก่นายแม้นน้าเขยของตนหรือไม่

ขณะที่หวั่นพระทัยอยู่นั้น ออกญายมราชก็กราบทูลด้วยเสียงอันหนักว่า “หม่อมฉันเห็นว่าหาควรไม่พระเจ้าค่า” เมื่อเจ้ากรมเสียงแข็งขึ้นเหล่าขุนนางในกรมก็เงียบเสียงลง

“ทำไมถึงไม่ได้หวาอ้ายเชื้อ”

“หม่อมฉันเชื่อมาโดยตลอดว่าเลือดข้นกว่าน้ำ นายแม้นแม้จะอยู่อโยธยามานาน แต่ก็ไม่ควรลืมว่านายแม้นนี้เป็นราชนิกุลกัมพุชเต็มตัว ทั้งองค์เม็งและนางเภาต่างก็เป็นพวกกัมพุชที่กวาดต้อนมา เราจะไว้ใจได้อย่างไรว่า นายแม้นจะไม่ทรยศอโยธยาหันกลับไปสวามิภักดิ์ต่อกรุงยโสธรตามสายเลือดที่แท้จริงของนายแม้น”

พ่ออยู่หัวทรงนิ่งตรองในพระทัย เพียงครู่ก็หันไปตรัสถามกับพระเยาวราชว่าคิดเห็นเป็นประการใด

เมื่อแรกพระเยาวราชไม่เห็นด้วยที่จะส่งนายแม้นไปเป็นนายกองเสือป่าแมวเซาสืบความ ด้วยรู้ดีว่าน้าเขยตนแม้จะเคยเรียนวิชาดาบและสู้รบมาจากสำนักวัดพุทไธศวรรย์ แต่นั่นก็นานมาแล้ว นายแม้นในวัยนี้ชำนาญแต่การก่อสร้างและบูรณะเท่านั้น การส่งไปทำราชการงานศึกที่สุ่มเสี่ยง พระองค์เองเป็นห่วงยิ่งนัก

แต่บัดนี้ออกญายมราชนำเรื่องความจงรักภักดีมากล่าวอ้างขึ้นในที่ประชุมขุนนาง หากพระองค์ทูลว่าไม่ควรส่งนายแม้นไปสืบความ นั่นก็เท่ากับทรงยอมรับว่า พระองค์เองก็ระแวงนายแม้นว่าจะไม่จงรักภักดีเช่นกัน เมื่อคิดดังนี้จึงหักพระทัยทูลตอบกลับไปว่า

“หม่อมฉันไม่เห็นว่าใครจะเหมาะสมกว่านายแม้นอีกแล้วพระเจ้าค่า ด้วยนายแม้นรู้ทั้งภาษาของชาวยโสธรปุระ ทั้งรูปร่างภายนอกก็ละม้ายชาวกัมพุชยิ่งนัก น่าจะแฝงตัวเข้าไปสอดแนมถึงในพระนครธมได้ไม่ยาก…” พระเยาวราชยังไม่ลืมที่จะทูลบ่งเสี้ยนหนามในพระทัยที่อาจระแวงต่อนายแม้นว่า “…แต่ที่หม่อมฉันเห็นว่านายแม้นจะทำได้ยากเพราะนายแม้นเอง แม้จะมีบิดามารดาเป็นราชนิกุลกัมพุชแท้ แต่นายแม้นก็กำเนิดในอโยธยา เป็นชาวอโยธยา เท่าที่หม่อมฉันทราบจากนางวาด…” พระเยาวราชหมายถึงน้าสาวที่ล่วงลับของตน “…นายแม้นหาได้เคยติดต่อกับญาติวงศ์พงศาทางฝั่งพระนครธมเลยพระเจ้าค่า” พระเยาวราชตรัสชี้ให้พ่ออยู่หัวและขุนนางทั้งหลายเห็นความจริงในข้อที่ว่า แม้นายแม้นจะมีเชื้อสายของชาวยโสธรปุระ แต่แท้จริงแล้วเขานั้นกำเนิดในอโยธยา เป็นชาวยโยธยาโดยแท้ อีกทั้งยังไม่เคยข้องแวะติดต่อกับบรรดาญาติที่เป็นชาวยโสธรปุระเลย

ถกเถียงกันอยู่นานก็ยังไม่เห็นว่าใครจะเหมาะสมกว่านายแม้น สุดท้ายออกญายมราชก็คล้ายจะต้องยอมรับโดยดุษณีให้นายแม้นรับหน้าที่เป็นนายกองคุมไป แต่ก็ไม่วางหมากสุดท้ายว่า

“หม่อมฉันทูลขอให้ทรงส่งพันยงรณรายเดินทางร่วมไปกับนายแม้นด้วยพระเจ้าค่า” ออกญายมราชทูลขึ้น

พระเยาวราชเข้าพระทัยว่าออกญายมราชเกรงว่าหากนายแม้นได้ราชการกลับมาจะได้รับการปูนบำเหน็จแต่ผู้เดียว จึงยัดเยียดใครสักคนเข้าไปร่วมในกองสอดแนมเพื่อที่จะให้เป็นหมากเผื่อแผ่แบ่งปันความชอบเมื่อสำเร็จการกลับมา พระองค์ตระหนักดีว่านายแม้นฝักใฝ่แต่งานช่างเท่านั้น หาได้อยากได้เกี่ยวข้องกับงานราชการอันใด การจะมีคนมาช่วยรับความชอบไม่ใช่ปัญหาที่ต้องปริวิตก อีกทั้งพันยงรณรายเป็นขุนนางประทวนผู้น้อยในสังกัดกรมทหารล้อมวัง ที่ไม่อาจสร้างปัญหาในการบังคับบัญชากองเสือป่าแมวเซาสอดแนมได้ จึงทรงนิ่งเสียไม่ท้วงติงแต่ประการใด

เมื่อการหารือยุติดังนั้น พ่ออยู่หัวจึงมีรับสั่งให้นายแม้นเป็นนายกองเสือป่าแมวเซาไปสอดแนมและสืบข่าวเรื่องกรุงยโสธรปุระหมายจะทำศึกกับอโยธยานั้นจริงหรือไม่ โดยให้พันยงรณรายติดตามไปด้วย

 

แม้เหตุจะยุติลงโดยได้ผลตามที่พระเยาวราชทรงคาดการณ์ไว้ แต่ในพระทัยลึกๆ ก็ยังทรงไม่มั่นพระทัย ทรงมีลางสังหรณ์ว่ามีอะไรไม่ชอบมาพากลในการครั้งนี้ แม้พระองค์จะมีชัยเหนือข้อขัดแย้งเรื่องการส่งนายแม้นเป็นนายกองไปสอดแนม แต่ก็รู้สึกว่าเหตุการณ์ต่างๆ ในวันนี้มันช่างประจวบเหมาะบังเอิญลงตัวเกินไป แต่ถึงแม้จะใคร่ครวญอย่างไรก็ยังทรงขบไม่แตกว่าทรงพลาดพลั้งสิ่งใดไปหรือไม่ เมื่อไม่สามารถหาคำตอบที่กังขาในพระทัยได้ จึงทรงให้จางวางอู๋ลงเรือเร็วล่องลงไปยังอยุธยา นำความไปแจ้งแก่นายแม้นน้าเขยตนอย่างลับๆ

 

อุปนิขิตแจ้งมาว่ากรุงยโสธรคิดเป็นอื่น หมายจะยกทัพมารบเอากรุงอโยธยาเรา พ่ออยู่หัวตรัสใช้ให้ท่านน้าเป็นนายกองเสือหมอบแมวเซาไปสืบข่าวยังแดนของพวกชาวกัมพุช ข้าเห็นการบางอย่างไม่ชอบมาพากลแต่ยังสืบความไม่ชัด ได้แต่ระแวงสงสัย ขอให้ท่านน้าทำราชการด้วยความระแวดระวังอย่าไว้ใจใคร…โดยเฉพาะพันยงรณราย

 

เรือเร็วพายล่องลำน้ำจากพิษณุโลกถึงอโยธยาเพียงชั่ววันกับคืนก็ถึงที่หมาย จางวางอู๋เร่งนำความสำคัญไปแจ้งต่อนายแม้น

“อีกสักชั่วยามคงมีคนมาถ่ายทอดพระบรมราชโองการ…ท่านจงวางแผนและตระเตรียมการให้พร้อม…ส่วนทางเรือนนี้ข้าจะช่วยดูแลเอง ยามท่านไม่อยู่อย่าได้ห่วงหน้าพะวงหลัง” แจ้งความเสร็จจางวางอู๋ก็รีบจากเรือนของนายแม้นไป ด้วยไม่ต้องการให้ใครเห็นว่าตนเร่งนำข่าวลับมาส่ง

นายแม้นปลุกนางเภาผู้เป็นมารดาของตนขึ้นมาแจ้งข่าว นางเภานิ่งคิดเพียงครู่ก็เรียกบ่าวคนสนิทมาสั่งการ “สอเอ็งจงไปบอกอ้ายชุบผัวเอ็งว่าให้เตรียมตัวเดินทางไปพร้อมกับนายแม้น แล้วค้นยาในหีบของข้าเลือกยาสมานแผลชั้นดี น้ำมันกันยุงแลเหลือบไร อ้อ.. ยาลูกกลอนแก้ไข้ที่ท่านจางวางอู๋ปรุงและมอบเอาไว้ให้ด้วยนะ เอ็งอย่ากระโตกกระตาก…รอให้ท่านข้างในนำพระบรมราชโองการมาแจ้งเสียก่อน เจ้าถึงค่อยลงเรือนไปควบคุมบ่าวไพร่มันจัดการเสบียงกรังสำหรับการเดินทาง”

สั่งนางสอเสร็จก็หันมาพูดกับนายแม้น “แม่จะให้อ้ายชุบมันตามลูกไปด้วย มันคล่องแคล่วนัก เมื่อยังน้อยมันเคยรับใช้พ่อของเจ้า ทั้งมันก็รู้ภาษากัมพุช ญาติพี่น้องของมันทางนั้นก็ยังมี จะได้พอเป็นมือเป็นเท้าให้ลูกได้บ้าง จงระแวดระวังให้ดี…อ้อ พ่อแม้นหากเจ้าจำเป็นต้องส่งข่าวสำคัญมายังแม่ จงให้คนถือสารแจ้งคุยรหัสแก่แม่…”

 

จางวางอู๋คล้อยหลังลงเรือนไปเพียงชั่วหม้อข้าวเดือด มหาดเล็กชั้นหลวงนายผู้หนึ่งก็ขึ้นเรือนมาอย่างเร่งร้อน เรียกหานายแม้นแล้วแจ้งพระราชประสงค์ของพ่ออยู่หัวแก่นายแม้นอย่างลับๆ  หลวงนายแปลกใจอยู่บางที่นายแม้นนั้นหาได้ตกใจแต่ประการใด รับพระราชบัญชาตรัสใช้อย่างสุขุม หลวงนายแจ้งว่าอีกไม่นานพันยงรณรายจะมาพบที่เรือนของนายแม้น และทั้งสองจะพร้อมออกเดินทางไปสมทบที่ชายป่าต่อแดนของยโสธรปุระ

ด้วยการสอดแนมเป็นความลับ นายแม้นไม่รู้เลยว่าชาวเขมรกัมพุชที่เป็นบริวารอาศัยพำนักบริเวณเรือนตนนั้น แท้จริงเป็นชาวบ้านสามัญหรือเป็นอุปนิขิตข้างยโสธรปุระแสร้งปลอมแปลงมาสืบความ เพื่อป้องกันความลับรั่วไหลอันจะนำภัยมาสู่ตน นายแม้นจึงแสร้งวางอุบายว่าพ่ออยู่หัวประสงค์จะซ่อมพระอารามสำคัญที่เมืองพระพิษณุโลก จึงรับสั่งให้ตนเข้าไปเฝ้าเพื่อปรึกษาราชการซ่อมพระอารามนั้น

ก่อนเดินทางนายแม้นเรียกมาศมาร่ำลาและสั่งความให้ตั้งใจเล่าเรียนกับย่า เมื่อพ่อกลับมาจากราชการจะเริ่มสอนให้มาศเรียนรู้ด้านวิชาช่างที่ยากขึ้นไปกว่าเดิม

นี่ไม่ใช่คราแรกที่ตนจะต้องเดินทางไกลห่างบ้าน ห่างมารดาและบุตร แต่คราวนี้ในใจของเขากลับรู้สึกอัดอั้นไปด้วยความอาลัยจนท่วมท้นที่ต้องจากบ้านจากคนที่รักไป เขาเรียกมาศลูกชายเพียงคนเดียวมากอดไว้กับอก ความอาลัยห่วงหามันเป็นเช่นนี้หนอ เขารำพึงในใจ

นางเภาสังเกตเห็นความห่วงหาอาลัยในตัวบุตรชาย ก็เข้ามาลูบหน้าลูบหลังแล้วปลอบโยนว่า

“พ่อแม้นอย่าห่วงไปเลย เรือนเราแน่นหนานัก บ่าวไพร่บริวารก็มากโขไม่มีภยันตรายใดมาแผ้วพาน ส่วนเจ้ามาศแม่จะดูแลอย่างดี จะไม่ให้ไปเล่นซนจนเป็นอันตรายที่ไหนดอก พ่อไปทำราชการให้เต็มกำลังเถิด”

นายแม้นได้ฟังก็พยักหน้ารับ โอ้อกเอ๋ย…น้ำตาเหมือนจะไหล…เขาเป็นคนหนักแน่นเข้มแข็งมาโดยตลอด จะเสียน้ำตาเพียงเมื่อคราวบิดาและภรรยาอันเป็นที่รักจากไปอย่างไม่มีวันกลับเท่านั้น นอกจากนั้นเขาไม่เคยหลั่งน้ำตาให้แก่เรื่องใดเลย…เขาร้องไห้แต่เฉพาะเมื่อคราวสูญเสียสิ่งที่รักยิ่งเท่านั้น

เขาก้มกราบที่เท้ามารดาแล้วขอฉีกเอาชายผ้านุ่งของมารดามาฟั่นทำประเจียดรัดต้นแขน

“ไปดีมีสุขเถิดหนาลูกของแม่ อย่าเจ็บอย่าไข้ระหว่างทาง อุตสาหะทำราชการถวายพ่ออยู่หัวด้วยใจกตัญญู แม่ขอให้ภาระของพ่อแม้นลุล่วงไปด้วยดี ศัตรูหมู่มารอย่าแผ้วพาน ขอคุณพระพุทธเจ้า ขอคุณพระธรรมเจ้า ขอคุณพระสังฆเจ้า คุณบิดามารดาปกปักรักษาพ่อแม้นของแม่ให้รอดปลอดภัยกลับมาเถิดนะพ่อ” ปลายเสียงของนางเภามีแววสะอื้นเครือ…เขาก้มลงกราบรับพรของมารดาอีกคำรบหนึ่ง

แล้วบ่าวผู้หนึ่งก็ขึ้นมาแจ้งแก่เขาว่า “นายขอรับ…พันยงรณรายมาถึงแล้วขอรับ ท่านพันให้มาเรียนนายว่าควรรีบเดินทางบัดเดี๋ยวนี้ หากช้าจนพลบค่ำจะเดินทางลำบากยิ่งขึ้นขอรับ”

“อ้ายชุบเอ็งพร้อมแล้วใช่ไหม” เขาหันไปถามบ่าวคนสนิท

ชุบพยักหน้ารับแล้วคลานไปกราบที่แทบเท้านางเภาแล้วว่า “แม่นายขอรับบ่าวไม่อยู่ บ่าวขอฝากนางสอไว้กับนายด้วยนะครับ” นางเภาพยักหน้าตอบรับ

ช่างเป็นการร่ำลาที่หดหู่อาดูร…

พลันเขาก็สลัดความรู้สึกทั้งหมดออก เดินย่ำเท้าหนักๆ ลงเรือนไป

มาศวิ่งตามไปส่งบิดาที่ท่าน้ำของเรือ เด็กชายยืนกอดเสาชะเง้อมองบิดาที่พายเรือห่างออกไปทีละน้อยด้วยความอาลัย คงเพราะแสงแดดยามเที่ยงวันตกต้องแผ่นน้ำกระมังที่ทำให้เกิดพยับแดด และพยับแดดนั้นก็ลวงตาให้เขาเห็นว่าบิดาที่พายเรือห่างออกไปนั้นไม่มีหัว!



Don`t copy text!