เพื่อนเดียวเสี่ยวฮัก บทที่ 4 : ใต้ร่มทองกวาว
โดย : มาลา คำจันทร์
เพื่อนเดียวเสี่ยวฮัก กับเรื่องราวของตำนาน ความเชื่อ และความรัก…มิตรภาพอันบริสุทธิ์ของเพื่อนรัก กับความรักที่มีต่อหญิงสาวคนเดียวกัน ความรักนั้นจะสะบั้นสายสัมพันธ์ของเพื่อนลงได้หรือไม่…ผลงานจาก อ. มาลา คำจันทร์ ในรูปแบบ นิยายออนไลน์ ได้ลงจนจบบริบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางผู้เขียนใจดีมอบ 5 บทแรกไว้ให้อ่านกันที่อ่านเอาและหากติดใจอยากอ่านต่อละก็…เตรียมพบกับ #เพื่อนเดียวเสี่ยวฮัก จาก มาลา คำจันทร์ ในรูปแบบหนังสือและอีบุ๊ก โดย สำนักพิมพ์ กรู๊ฟ พับลิชชิ่ง / GROOVE PUBLISHING ตามร้านหนังสือและที่ www.groovebooks.com ได้ในเดือนสิงหาคม 62 นี้
……………………………………………………………
-4-
สายแล้วแต่ยังเย็นๆ อยู่ ยอดหญ้ายังมีน้ำค้างเกาะนิ่งเป็นติ่งใส ดอกอะไรไม่รู้มีเหื่อเม็ดเล็กๆ เกาะพราวบนกลีบสีม่วง คล้ายดอกถั่ว แต่คงไม่ใช่ถั่วอย่างที่รู้จักกันทั่วไป ฝักก็ไม่เหมือนฝักถั่ว คล้ายไปทางฝักฝาง เมื่อแก่จัดเปลือกจะแห้งแข็ง ไม่มีใครกิน งัวควายก็ไม่กิน มันพาดพันเพ่นพ่านไปตามพุ่มไม้รายฝั่งเหมือง น้ำเหมืองยังไม่แห้งแต่ก็ลดระดับไหลเพียงลิดๆ รินๆ หญ้าปล้องยาวทอดเถาเลื้อยลงผิวน้ำ ผักบุ้งทอดเถาพอมีอยู่บ้างแต่ไม่มากพอจะเก็บไปคั่วกินให้อิ่มท้องถ้วนทั่วตัวคน
“เร็วหน่อย อีหล้า”
แม่แบกแซะคันใหญ่นำหน้า ลูกสาวท้ายท้องแบกแซะคันเล็กตามหลัง อากาศยังเย็นๆ แต่ในน้ำจะอุ่น ปลาเล็กปลาน้อยและแมงน้ำแมงนาที่กินได้มักจะเชื่องตอนเช้าๆ เอาแซะ (1) มุดน้ำ เอาตีนกวาดต้อน อีเหน้วอุ่มหน้า (2) เข้าแซะหลายตัว แมงดาแต็บ (3) ก็เข้ามา กินได้ทั้งนั้น แต่แมงขายาวยงโย่ยงหยกไต่ตามผิวน้ำกินไม่ได้ หรือกินได้แต่คนเลือกที่จะไม่กินก็ไม่อาจรู้ได้ ปู่หม่นท่อนท้าวไม่กิน ลูกหลานก็เลยไม่กิน
“อันนี้แมงอะหยัง อีแม่”
“ไหน อันไหน อ๋อ…อันนี้แมงบ่ดีกิน บ่มีชื่อเรียก”
บอกให้ลูกสาวสะบัดแซะทิ้งแมงตัวดำๆ เล็กๆ มีขาสั้นๆ ชอบผัดปั่นไปมาในน้ำทิ้งไปเสีย นึกถึงตัวเองเมื่ออายุเท่าลูก นางเองก็ติดตามแม่ออกทุ่งออกนาเสาะว่าหากิน แม่สอนนาง นางสอนลูก วันภายหน้าหากมันมีลูกก็คงสั่งๆ สอนๆ สืบช่วงกันไป
“ไอ้อ้ายสานแซะได้ไหม อีแม่”
“พอได้ แต่ไม่งามเท่าพ่อเอ็ง”
“แซะข้ามันผุแล้ว อยากได้อันใหม่”
“การงานพันตีนพันมือมันนัก จะออกป่ามาวันใดก็ยังบ่ฮู้ ลูกพ่อกำนันลากมันไป”
“ข้าไปขอตาสานให้ดีกว่า”
“บ่ดี ตาเอ็งเลิกสานแซะสานไซหลายปีแล้ว มันเป็นเครื่องมือฆ่าสัตว์ บ่ผิดก็เหมือนผิดศีลปาณา ตาเอ็งว่าอย่างนั้น”
“ศีลปาณาคืออะหยัง อีแม่”
“บ่ฮู้ ใคร่ฮู้ไปถามตามึง”
ตอบแบบปัดทิ้งพอพ้นตัว สองคนแม่ลูกช่วยกันช้อนตัวกินได้ในน้ำตื้นเอาไปทำกิน ได้พอแก่ความต้องการ เอาตะข้องให้ลูกกลับเรือน สั่งมันไปบอกพี่สาวว่าให้ต้มตำน้ำพริก นางเองขึ้นคันเหมืองอีกฟากไปเก็บผักควบผักฮินกินกับน้ำพริก ฟากเหมืองด้านนี้กั้นกลางระหว่างบ้านดงม่วงฝ้าย กับบ้านหล่ายหนอง กลางทุ่งมีสันดอนแห่งหนึ่ง เรียกกันว่าสันกู่ร้าง นางกับผัวเคยสาบานรักต่อกัน
ยืนดูอยู่แต่ไกล ยกมือไหว้ ไม่ได้เศร้าโศกหมกหมอง นึกคิดขึ้นมายามใดยังมีความชื่นหวานเสมอ พบกันครั้งแรกเมื่อเป็นสาวช่างฟ้อน ไม่ได้อ้อนแอ้นเอวไหวอยู่หน้าขบวน แต่สายตาพี่น้อยก็ยังสอดส่ายมาพบ สบตากัน ไม่ได้พึงพอใจในทันที แล้วก็ลืมได้ในเร็ววัน กระทั่งต่ออีกนาน ราวเดือนกว่าหรือสองเดือน พี่น้อยอุ่นคนบ้านหล่ายหนองค่อยขึ้นเรือนมา เท้าความกัน จึงจำได้ว่าพบกันครั้งแรกเมื่องานปอยหลวง
พี่น้อยอุ่นไม่ใช่ลูกคนรวย ฐานะเงินทองทางบ้านออกจะด้อยกว่านางด้วยซ้ำ แต่พี่น้อยเป็นคนดี ใจคอหนักแน่น คิดหวังจริงจังจนพ่อแม่นางพอใจ อยู่กินกันมา ยิ่งนาน นางก็ยิ่งรัก รักที่ความดี ความขยันหมั่นเพียร ความใส่ใจดูแลลูกเมียไม่ให้เดือดร้อน ความดีของพี่น้อยมั่นคงในใจ ไม่มีวันที่ใครจะเข้ามาแทนที่ได้
ต่อให้พี่น้อยตายไปแล้ว นางก็คงไม่ลืม
“พี่น้อยอุ่น ข้าบ่เคยลืมพี่”
แสงเช้ายังส่องอ่อน สันกู่ร้างเป็นที่ดอนกลางนา ยังมีกู่หรือซากพระเจดีย์ปรักหักพังไม่มีใครกล้าแตะต้อง นึกคิดคำนึงถึงวันที่นางกับผัวสาบานรักต่อกัน สาบานต่อเทวดาอารักษ์ผู้พิทักษ์กู่ ว่าจะเป็นผัวเดียวเมียเดียวแก่กัน วันนี้นางยังมีผัวเดียว จริงอยู่ เป็นแม่ร้างลูกหลายมันลำบาก แต่อยู่มาถึงวันนี้ อันที่ทุกข์ที่สุดยากที่สุดมันผ่านมาแล้ว ไอ้อ้ายลูกแรกบ่าไหล่แรงหลายแทนที่พ่อมันได้ ไม่ทันเป็นหนุ่มก็เข้าป่าหากินได้แล้ว ไอ้ผุยลูกคนรองก็ขึ้นใหญ่เป็นบ่าวใหม่อายุสิบหกแล้วปีนี้ สองคนพี่น้องช่วยกันทำนา ไม่ได้ข้าวมากเหมือนที่ผัวนางเคยทำ แต่ก็พออยู่พอกินไม่เป็นหนี้ใคร ไม่ต้องกู้ข้าวท่านมากินให้เป็นที่ติฉินนินทา
พี่น้อย
ไม่ว่าพี่จะอยู่โลกนี้หรือโลกไหน
ไม่ว่าพี่ยังเป็นหรือตายไปแล้ว
ข้าก็ยังยึดมั่นในคำสาบาน
“อายุเท่าไรแล้ว บ้วผาย”
“สิบหกแล้ว อ้ายองอาจ”
“สิบหกเองหรือ เป็นสาวงามเกินอายุ นึกว่าสิบแปด”
ใช้สายตาหลังแว่นตาราคาแพงจาบจ้วงสำรวจก้นกอยอกเอวโดยไม่เกรงใจ แล้วเอาไปเทียบกับสาวอีกคนอายุเท่ากัน แต่สุมิตราลูกพ่อกำนันห้วยทรายขาวยังดูเด็กมาก เหมือนอายุสักสิบสี่เท่านั้นเอง
ล้วงเอาบุหรี่ซองแดงจากกระเป๋าเสื้อด้านบนมาจุดสูบ วางท่าวางทางให้ดูโอ่อ่าผ่าเผยเหมือนพระเอกลือชัย นฤนาทในหนัง บ้วผายไม่เห็นสายตา แต่เห็นท่าทีคุกคามโลมเลียมของลูกพ่อกำนันก็ก้มหน้าอยู่กับผักผาบผักแพมบนพื้น ไม่เงยหน้าขึ้นมาเลย
“กูบ่สู้…”
บอกแก่ตัวเองในใจ บ่สู้คือไม่ชอบ สายตาเหมือนจะแก้เสื้อแก้ผ้า กูชอบอีกคน แสงตาออกเศร้าๆ หมองๆ ท่าทีนอบน้อมถ่อมตัว ยำเยงเกรงใจ
“บ้วผาย อยากเข้าเวียงไหม ซ้อนรถอ้ายไป”
“บ่อยาก”
สาวตอบปัด หนุ่มโก้หัวเราะหึๆ คาบบุหรี่เฉียงๆ ทำทีเอียงหน้าหนีควันเลียนแบบพระเอกในหนัง ปากอ้างว่าจะออกมาช่วยสาวปาดผักหมู แต่มือสองข้างกลับซุกกระเป๋าเสื้อแจ๊กเก๊ตที่ขยุ้มลูกโดดลูกปรายใส่มาจนตุง
แดดเริ่มแรง นอกทุ่งหรือทุ่งนานอกหมู่บ้านเริ่มร้อนขึ้น นึกไปถึงสาวหมายที่พ่อหมายตาไว้ให้ สุมิตราเป็นลูกกำนันตำบลห้วยทรายขาว พบกันครั้งสุดท้ายวันเผาศพยายเธอ ไม่อยากพบอีกเลย รู้สึกต่ำต้อยกว่า สุมิตราอายุสิบหก อ่อนกว่าเขาสี่ปี แต่เรียนขึ้นมาถึงม.๕ แล้ว ปีหน้าก็ขึ้นม.๖ จบแล้วจะไปเรียนเป็นครู ส่วนเขาเอง แค่นึกเห็นหน้าดุหนวดดกของคุณพ่อนิโคลาสก็ไม่อยากกลับไปยืนตรงอยู่ต่อหน้าท่านอีกเลย
ขยับตัวเข้าไปอาศัยร่มเงาทองกวาวร้างดอก เดือนห้าต่อเดือนหกจะเข้าหน้าร้อนแล้ว ดอกทองกวาวร่วงไปโดยมาก บ้วผายยังอยู่กลางแดด แต่มีกุบหรืองอบใบตาลครอบหัว คงอาย หรือเขิน หรือกระดากกระเดื่อง จึงซ่อนหน้าอยู่ใต้กุบตลอดเวลา ยังเป็นสาวใหม่ ไม่ยากเลยสำหรับกู ลมปากเป่าหูไม่กี่ครั้งกูได้นอนแน่นอน
“มีแฟนละยัง บ้วผาย”
“ยัง”
“อยากเป็นแฟนลูกพ่อกำนันไหม จะพาไปซื้อเกือก ซื้อยกทรง”
สาวใหม่มีลักยิ้มข้างแก้มก้มหน้าต่ำลงไปอีก หนุ่มโก้ประจำตำบลสูบบุหรี่อึกสุดท้าย ดีดก้นบุหรี่ไม่มีก้นกรองทิ้งไป อยากตรงไปรวบแล้วอุ้มวางตัก แล้วจูบดมชมเชย
แค่คิดก็คึกแล้ว
ซื้อหนังสือที่ www.naiin.com ไม่ว่าเล่มใดก็ตาม
ทุกยอดการสั่งซื้อจะมีส่วนแบ่งกลับมาเพื่อสนับสนุนเว็บไซต์อ่านเอา
“อุ๊ยแก้ว”
อุ่นแสงเรียก ชายวัยหกสิบเศษขานรับว่าหือแล้วถามว่ามีอันใดหรือ
”เมื่อห้าสิบปีก่อน มีคนหลุดออกมาจากโหล่งเผตหรือ เรื่องราวมันเป็นอย่างใด”
“ก็อย่างที่ว่า ค้างอยู่ห้วยห้อมสองสามวันแล้วออกไป มันเมินนานมากนักแล้วเอ็ง อุ๊ยอายุสิบสาม ยังเป็นเณรอยู่ในวัด หลงๆ ลืมๆ ไปละ เฒ่าแก่มาก็อย่างนี้ละเอ็ง บางวันกินข้าวลงไปแล้ว มีคนถามว่ากินข้าวงายกับหยัง นึกบ่ออก”
“แล้วโหล่งเผตที่ว่า มันเป็นอย่างใดหือ อุ๊ย”
ช่วยแกหอบฟืนไปซ้อนระหว่างเสายุ้งข้าว เมียของพ่ออุ๊ยแก้วชื่อหล้า อายุราวหกสิบ ขาเสียมาสี่ห้าปีแล้ว ขึ้นลงบันไดไม่สะดวก แม่อุ๊ยหล้าปรารภอยากลงมาอยู่กับดิน พ่อหลวงสมผู้ลูกเขยจึงผูกเพิงพะพิงยุ้งข้าวให้สองเฒ่าอยู่อาศัยได้สะดวก แม่เฒ่าหน้าตาดี แม้จะแก่มากแล้วก็ยังงาม งามแบบคนเฒ่างาม
คำแก้วเองก็งาม ไม่งดงามมากจนฉูดฉาดบาดตา วันข้างหน้าหากแก่เฒ่าลงก็คงงามเหมือนแม่อุ๊ยหล้ายังงามวันนี้
“เล่าลือกันมา โหล่งเผตเป็นอาณาอันหนึ่ง”พ่อเฒ่าเรียงฟืนก่อซ้อนกัน “ลึกลับ รุงรัง มันเป็นโหล่ง คือที่ว่างอันใหญ่ อยู่ในดงหลวงนั่นละ เผตผีพล่านพลุกดุกเดือด ออกมาเป็นตัวเป็นตน ไล่จับเอาคนไปกิน เล่าลือกันมาอย่างนั้น”
“ดงหลวงกว้างใหญ่สักมอกใด” หนุ่มผิวเผือดผอมบางหมายถึงกว้างใหญ่ขนาดไหน”อุ๊ยทะลุทะลวงละยัง”
“อุ๊ยบ่แม่นคนหากินทางป่าทางปืน เคยเข้าก็เจาะๆ แจะๆ ชายป่าตีนดงเท่านั้น ดงหลวงกว้างใหญ่นักเอ็ง พู้น แผ่ลามไปถึงเมืองม่าน หล่ายนี้เป็นเมืองเรา แต่หล่ายพู้นเป็นเมืองม่านเมืองเม็งนะเอ็ง เขายังสู้รบกันอยู่ พ่อเอ็งที่ว่าหายไป อาจไปตกค้างในสงครามสู้รบหล่ายพู้น”
“โหล่งเผตอันนั้นเป็นเมืองอันหนึ่ง” แม่อุ๊ยหล้าคนขาเสียเล่าเสริม “บ่แม่นเมืองคนเฮา แต่เป็นเมืองเผตเมืองผี มีแต่เผตแต่ผี มีปีศาจยักษ์ร้ายหลายส่ำนานา ไผไพล่พลัดลัดหลงเข้าไป มันจับเอาไปกิน คนบ้านเราบ่มีไผเข้าลึกเข้าดึกถึงกลางดงหลวง มันดิบดำล้ำไป”
“แล้วเผตซาวเอ็ดจำพวกมีอะหยังพ่อง อุ๊ย”
ถามกลางๆ ใช้คำว่าอุ๊ย ไม่ระบุชื่อ แม่อุ๊ยหล้าไม่ชิงตอบก่อน คล้ายรอผัว คล้ายให้ผัวเป็นผู้นำ
“ไผบอกมึงว่าเผตมีซาวเอ็ดจำพวก ไอ้น้อยอุ่นแสง”
“ตาข้า ตาคัดลอกลงใส่ลานก้อม แล้วเอาออกมาจากวัดด้วยซ้ำ แต่ลานก้อมหายไป”
“เผตซาวเอ็ดจำพวกตาเอ็งฮู้ แต่อุ๊ยแก้วบ่ฮู้ ที่อุ๊ยฮู้เผตมีสิบสองจำพวก ว่าแต่เอ็งเถิด ตาเอ็งเก่งสารพัด คาถาอาคม วิชาปัญญาต่างๆ ได้สืบจากตาเอ็งมาบ้างหรือไม่”
“บ่ทันได้สืบ ลานหายแต่เมื่อข้ายังเป็นเณร ตาเอาไปไว้ทางใดบ่ฮู้”
“เสียดาย ลานก้อม (4) แต่ละผูกกว่าจะรวบรวมได้บ่ใช่ง่ายๆ ต้องไปคัดลอกออกมาจากผูกนั้นผูกนี้ เล่มนั้นเล่มนี้ วัดนั้นวัดนี้ พ่อน้อยคนนั้น พ่อหนานคนนี้ วิชาผายเบี้ยเจ็ดแก่นนั้นเล่า หายไปกับลานก้อนหรือไม่”
“บ่หาย อันนี้บ่อยู่ในลานก้อม แต่อยู่ในพับ (5)”
ฟืนหมด พักมือ ถือโอกาสคลี่ปากย่ามล้วงเอายาสูบกับใบตองมามวน ชายชรามองเห็นอะไรบางอย่างแว่บๆ สะท้อนแสงแดด
มีดอุ่มด้ามงา…
คล้ายจะเคยเห็น แต่นึกไม่ออก
“เอ็งได้แต่ใดมา ตาเอ็งให้หรือ”
“อะหยัง”
“มีดอุ่มด้ามงา”
“บ่แม่นตาหื้อ แต่ครูข้าหื้อมา”
มีคนเคลื่อนไหวตัดแดดวับๆ เข้ามาในเขตบ้าน บ้วผายหลานสาวแกกระเตงกระบุงผักหมูแยกไปทางโรงต้มข้าวหมู องอาจลูกพ่อกำนันตามไป ไม่แวะมาทางนี้
“เสี่ยวเอ็ง…เจ้าชู้”
“บ่ใช่เสี่ยวข้าหรอกอุ๊ย มันอาจเรียกข้าว่าเสี่ยว แต่ข้าบ่เคยนับมันเป็นเสี่ยว”
“มัน…เป็นคนบ่ดีกา?”
“บ่แม่นอย่างนั้น แต่มันกับข้าสูงต่ำแตกต่างกันนัก มันเป็นถึงลูกพ่อกำนัน รถเครื่องก็มี รถยนต์ก็มี ไร่นาท่าท้างมากหลายจนจำได้ไม่หมด ส่วนข้า…นาไร่เดียวพ่อไม่ทันได้หาไว้ก็หายไปเสียก่อน ทุกวันนี้ข้าเองยังเยียะนาผ่าเกิ่ง (6) ของพ่อมันอยู่ ข้าจะขึ้นไปเป็นเสี่ยวทัดเทียมมันได้อย่างใด ข้ามันลูกคนทุกข์คนผาน บ่ถึงขั้นกู้ข้าวท่านมากินก่อนแล้วค่อยไปใช้คืนก็ถือว่าบุญแล้ว”
“อย่าได้น้อยใจอันใดเลย ไอ้น้อยอุ่นแสง” แม่อุ๊ยหล้าว่ากล่าวเย็นๆ อ่อนและเย็นเหมือนลมพัดกลางทุ่ง “คนทุกข์คนผานกว่าเอ็งยังมีอยู่นัก อายุก็ยังหนุ่มยังน้อย ค่อยหมั่นค่อยเพียรทำไปเถิด บ่สุขเมื่อนี้ก็สุขเมื่อหน้า วิริเยนะ…อะไรอีกนะ ปู่เฒ่า”
“ทุกข มัจเจติ…”ปู่เฒ่าหรือพ่อเฒ่าแก้วเอ่ยต่อ “คนล่วงทุกข์ได้ก็เพราะความเพียร พระเจ้าเฮาสอนไว้อย่างนั้น อยู่ตามศีล กินตามธรรมพระเจ้า ย่อมเข้าถึงสุขสักวัน”
“แต่ศีลของข้าก็บกพร่องนัก พ่ออุ๊ย”
……………………………………….
เชิงอรรถ :
- (1) แซะ= เครื่องมือจับปลา ทำจากตอกไม้ไผ่สานเป็นตาถี่ๆ บีบทางก้นให้สอบ ปล่อยปากให้ผายกว้าง มีเชือกรั้ง มีคันยก
- (2) อีเหน้วอุ่มหน้า= ตัวอ่อนของแมลงปอที่ยังอยู่ในน้ำ
- (3) แมงดาแต็บ =แมงดาชนิดหนึ่ง ตัวแบนลีบ
- (4) ลานก้อม หมายถึงใบลานขนาดสั้นกว่าปรกติทั่วไป มักจะยาวราวคืบเศษ มักใช้จดจารคัดลอกเรื่องราวที่ผู้คัดลอกสนใจ อาจจะเป็นหยูกยา มนตราอาคม ไสยวิธี พิธีกรรมต่างๆ คล้ายๆ กับสมุดจดงานส่วนตัว หนึ่งผูกอาจมีหลายเรื่อง ถือเป็นสมบัติส่วนตัวของผู้จดจารคัดลอก ไม่ใช่สมบัติทางศาสนา เมื่อสึกออกมาจึงเอาติดตัวออกจากวัดมาได้ ส่วนลานทั่วไปหรือลานปกติเรียกว่าธัมม์ มักใช้จดจารคัดลอกวรรณกรรมทางศาสนา เช่นชาดก คำสอน บทสวดมนต์ พระวินัยและตำนานต่างๆ ถือเป็นสมบัติทางศาสนา เมื่อสึกแล้วจะไม่เอาติดตัวออกมาจากวัด
- (5) พับ ออกเสียงแบบไทยวนว่าปั๊บ แต่ไทลื้อไทเขินออกเสียงว่าป๊อบ หมายถึงสมุดบันทึกโบราณ ทำจากเยื่อสา บางทีก็เรียกว่าพับสา หรือพับหนังสา
- (6) เยียะนาผ่าเกิ่ง การทำนาแบบแบ่งผลผลิตคนละครึ่ง เจ้าของนาครึ่งหนึ่ง คนทำนาครึ่งหนึ่ง