เพื่อนเดียวเสี่ยวฮัก บทที่ 5 : เสือเย็น
โดย : มาลา คำจันทร์
เพื่อนเดียวเสี่ยวฮัก กับเรื่องราวของตำนาน ความเชื่อ และความรัก…มิตรภาพอันบริสุทธิ์ของเพื่อนรัก กับความรักที่มีต่อหญิงสาวคนเดียวกัน ความรักนั้นจะสะบั้นสายสัมพันธ์ของเพื่อนลงได้หรือไม่…ผลงานจาก อ. มาลา คำจันทร์ ในรูปแบบ นิยายออนไลน์ ได้ลงจนจบบริบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางผู้เขียนใจดีมอบ 5 บทแรกไว้ให้อ่านกันที่อ่านเอาและหากติดใจอยากอ่านต่อละก็…เตรียมพบกับ #เพื่อนเดียวเสี่ยวฮัก จาก มาลา คำจันทร์ ในรูปแบบหนังสือและอีบุ๊ก โดย สำนักพิมพ์ กรู๊ฟ พับลิชชิ่ง / GROOVE PUBLISHING ตามร้านหนังสือและที่ www.groovebooks.com ได้ในเดือนสิงหาคม 62 นี้
……………………………………………………………
-5-
หลานสาวป้วนเปี้ยนอยู่ไม่ไกลนัก พี่สาวเอาฝากไว้เพราะไปช่วยพี่เขยรับจ้างเลาะครั่ง เรือนพี่สาวพี่เขยอยู่ไม่ไกล ย่างเพียงสามสิบก้าวก็ถึง แต่พี่ชายทั้งสองไม่ได้ปลูกเรือนในเรือกนี้เพราะไปเป็นเขยเรือนอื่น นานๆ หากได้ของกินดีกินลำ หรือของหากินได้ลำบาก อย่างเก้งกวางหมูป่า พี่ก็กลับมาเยี่ยมพ่อเยี่ยมแม่สักครั้ง
“พ่อเอ็งไปไหนเสีย คำแก้ว”
“ลืมถาม เห็นเอามีดเหน็บหลัง จะไปรานครั่งหรือเอาไม้เอาตอก ข้าไม่แน่ใจนัก”
แม่หนีบร่มกระดาษสีแดง หิ้วรองเท้าคู่ใหม่ลงมาจากบนบ้าน หวีผมเผ้าเกล้ามวยสวยเรียบ มักเอายันต์เก้าปล้องเคียนคาดรอบมวยแล้วเหนือบดอกไม้หรือเครื่องประดับผมสอดแซม มักผัดหน้านวลเขียนคิ้ว ไว้เล็บยาวเคลือบเล็บแดงงามอยู่ตลอด ยายว่าแม่รักสวยรักงามมาแต่ยังไม่ขึ้นสาวโน่นแล้ว วันๆ มักเสียเวลาอยู่กับแว่นกับหวีมากมาย
คำแก้วกำชับหลานสาวไม่ให้ออกแดดแล้วก้มหน้าลงทอผ้าพึบๆ แม่ย่าแม่หญิงทั่วทั้งดงม่วงฝ้ายทอผ้าเป็นกันแทบทุกคน จะมียกเว้นบ้างก็คงคนตาเสีย แขนเสียหรือขาเสียเท่านั้นกระมัง
แม่เองก็ทอผ้าได้แต่ไม่ชอบทอ ยายว่าแม่ไม่มีจิตใจใฝ่มักทางด้านนี้อย่างป้าและน้า ตั้งแต่พี่สาวขึ้นสาว แม่ก็เลิกละหมดเลย ทั้งเลี้ยงหมูและทอผ้า
“แม่จะไปไหนหรือ”
“จะไปตูบกาด เผื่อพ่อเอ็งอยากได้เมี่ยงได้ยา ก็เลยถามหา”
“เมี่ยงยาข้าซื้อมาแต่ตลาดแล้ว จะไปอวดเกือกใหม่แก่เขาน่ะไม่ว่า”
“อีนี่” นางค้อน “มึงเป็นลูก อย่ามาว่ากู”
บ่ายแก่ ง่วงเหงาหาวนอนเพราะไม่มีอะไรจะทำ จะแช่นั่งแช่นอนอยู่แต่บนบ้านก็ดูกระไรอยู่ จริงอยู่ ผู้ใหญ่บ้านอาจไม่ว่าอะไรเพราะโดยฐานะตำแหน่งถือว่าเป็นเป็นลูกน้องของพ่อ แต่ก็ไม่ใช่คนของพ่อโดยตรง เพราะไม่ได้กินเงินเดือนจากพ่อ
“เข้าแพะเข้าพงกันเถอะเสี่ยว อยู่เปล่าอยู่ดายกูรำคาญ เผื่อได้ฟานสักตัวลาบกินแลงนี้”
ว่าเอาโก้ไปอย่างนั้นเอง ไม่คาดหวังอะไรมากนัก แพะคือป่าละเมาะ ป่าชายบ้านหรือป่าใช้สอยของหมู่บ้าน ไม่ใช่ป่าดิบดงดำอย่างดงหลวงที่ว่าแผ่ลามข้ามเขตประเทศไทยไปถึงเขตประเทศพม่า สัตว์เล็กสัตว์น้อยจำพวกกระต่ายกระแตพอมีอยู่ แต่เก้งกวางเห็นทีจะยาก
“มึงยิงกวางยิงฟานมาสักกี่ตัวแล้ว อุ่นแสง”
“ฟานจำไม่ได้หรอก แต่กวางเคยได้สักสองสามตัวเท่านั้น หายากกว่าฟาน”
“เสือล่ะ”
“เกินกำลังปืนกู”
“ปืนแก๊ป”เบะปากแต่ไม่ถึงกับถ่มถุย “ขี้โล้”
เจ้าของปืนขี้โล้คร้านตอบคำเพื่อน รู้ดี มันพูดไปอย่างนั้นเอง เจตนามันไม่ได้ดูถูกดูแคลนอะไรหรอก มันเองก็เคยยัดเยียดลูกซองออโตฯ ให้เขาลอง ก็เคยลองอยู่ครั้งสองครั้งแล้วเลิก ไม่ใช่กลัวแรงสะท้อนของปืน แต่กลัวใจจะกำเริบเสิบกล้า ลูกซองกระบอกหนึ่งราคาใช่สามสิบสี่สิบ พูดกันเป็นร้อย ใหม่ๆ ดีๆ พูดกันเป็นพันในสมัยนี้ (1)
“เข้าป่าง่าไม้ มึงเคยพบเคยปะบ้างไหม เสือเย็น”
“เสือธรรมดากูยังไม่อยากพบเลย เสือเย็นยิ่งไม่ต้องพูดถึง แต่ครูกูเคยพบแล้ว…นั่งลงองอาจ ยอบตัวต่ำไว้ ไม่กระต่ายก็กระจง กูเห็นไหวๆ”
ย่างย่อง ส่องสอด แดดเริ่มลับเลือนลงแล้ว ตีนที่หุ้มด้วยเกือกหนังควายยกย่างวางเบา เป็นของตกทอดมาจากอุ่นแสงผู้พี่ ตีนพี่โตเกินเกือกจึงถ่ายโอนมาให้เขา หน้าไม้ด้ามนี้ก็เช่นกัน แต่เดิมเป็นของพี่ พี่มีปืนใช้ หน้าไม้เลยตกทอดลงมาถึงเขา
ไม่ได้น้อยอกหมองใจอะไรเลย
ไม่เคยรังเกียจเดียดฉันท์ข้าวของใช้แล้วที่ผ่านจากพี่ลงมา รู้จักตัวดีอยู่ รับรู้มาแต่หกเจ็ดขวบโน่นแล้วว่าฐานะครอบครัวตัวไม่เหมือนเพื่อนเพราะพ่อหนีหาย บางคนว่าพ่อหนี บางคนว่าพ่อหาย บางคนว่าพ่อตายไปแล้วแต่ตายืนยันหนักแน่นว่าพ่อยังอยู่ คำผุยเองจำหน้าพ่อไม่ค่อยชัดแล้ว อาจเพราะยังเด็กเกินไปกระมัง ยิ่งอีหล้ายิ่งไม่ต้องพูดถึง เมื่อพ่อหายไป อีหล้าแค่สี่ขวบ ยังเป็นขี้มูกน้ำลายอยู่เลย
เสียงเกราะห้อยคอควายยังได้ยินอยู่ ผูกติดหลักล่ามไว้ จึงไม่ห่วงเลยว่ามันจะเตลิดหนีหาย เสือโหงเสือพรายใหญ่กล้าขนาดฆ่ากินควายได้ก็ไม่เคยมี ตาว่าตั้งแต่ตามาอยู่ดงม่วงฝ้ายเมื่อสี่สิบกว่าปีก่อน เสือไม่เคยเข้าบ้านนี้เลย
“เสือเย็นมันเป็นอย่างใดตา” คำผุยเคยถาม “คนถึงกลัวนัก”
“มันเป็นเสือแปลง บ่แม่นเสือแท้ๆ เกิดจากคนที่มีคาถาอาคมแก่กล้าแต่ควบคุมไม่อยู่ สุดท้ายคาถาอาคมเข้าควบคุมมัน กลายเป็นเสือเย็นไล่ฆ่ากินคน”
“ปืนธรรมดายิงมันไม่เข้าหรือ ไอ้อ้ายว่า”
“อันนี้ละ คนถึงกลัว เสือธรรมดาพอยิงได้ แต่เสือเย็นยิงบ่ได้ เว้นไว้แต่พรานเก่งกล้าถึงขนาด มีอำนาจ มีเตชะปารมี ที่น่ากลัวอีกอย่างคือเสือแม้ดุร้ายปานใดก็อยู่ในป่า แต่เสือเย็นอยู่ได้ทั้งในบ้านและในป่า อยู่ในบ้านมันเป็นคน คนผู้นั้นผู้นี้ คนนั้นคนนี้ คนใดก็บ่ฮู้ มันจะปองขบหัวเราวันใดบ่มีไผฮู้ตัว ระวังยาก”
“ตาล่ะ ตาปราบเสือเย็นได้ไหม”
“บ่ได้ วิชาปัญญาตาเป็นทางเย็น บ่แม่นทางฮ้อน”
ถึงที่หมาย แดดเริ่มยกจากพื้นขึ้นส่องปลายไฮ ออกหนาวเข้าร้อน หมากม่วงลำไย หมากไฟหมากเฟือง หมากแกวหมากโก้ยใดๆ วายลูกหมดแล้ว แต่ไม้ไฮยังติดลูกดก กระรอกกระแตและสัตว์ไต่เต้นปลายไม้หลายอย่างจึงมักมาหากินลูกไฮที่ต้นไฮใหญ่หลวงต้นนี้ ซุ่มอยู่เงียบๆ แทบไม่กระดุกกระดิก อดใจรอคอย อุ่นแสงผู้พี่สอนว่าตาสัตว์ดีกว่าตาคน เรายังไม่ทันเห็นมัน แต่มันอาจเห็นเราแล้ว ต้องหนิม ต้องนิ่งจนมันตายใจถึงจะได้กิน
เขาว่าไอ้อ้ายเก่งเหมือนพ่อ
อายุสิบห้า ไอ้อ้ายก็สอดล่าเดินดงแล้ว
มาแล้ว เสียงมันโจนลงสู่ยอดไม้ดังเซ่าๆ เห็นตัวแล้ว ค่อยขึ้นสายหน้าไม้ เอาตีนเหยียบโคนปีก เหนี่ยวสายขึ้นคล้องรอยบากตรงโคนด้าม สับไกห้ามสายยกขึ้น หยิบลูกดอกพาดแล่งแล้วเล็ง คิดไปถึงพี่ชาย คิดไปถึงพ่อ เขาเองก็อยากเก่งอย่างพ่อ อย่างพี่ ตามั่นใจว่าวันหนึ่งพ่อจะกลับมา แต่คำผุยเอง ไม่ค่อยมั่นใจแล้วว่าพ่อจะกลับมา
แม่กับพี่ชายก็คล้ายกัน
ไม่ค่อยเชื่อมั่นแล้วว่าพ่อยังมีชีวิต
ซื้อหนังสือที่ www.naiin.com ไม่ว่าเล่มใดก็ตาม
ทุกยอดการสั่งซื้อจะมีส่วนแบ่งกลับมาเพื่อสนับสนุนเว็บไซต์อ่านเอา
แดดเหลืองลง หม่นลงทุกขณะ ใกล้ค่ำมาแล้ว ตะวันลอยลงต่ำเกือบแตะเทือกแถวดอยหลวง อยู่แต่ไกลมองเห็นเป็นแนวทมึนทึบทึม ไล่ตาระลงมาทางตะวันออก ยังพอมองเห็นขุนห้วยแม่แลบอยู่บางส่วน อันนั้นก็เป็นดอยใหญ่เหมือนกัน แต่ไม่ใหญ่เท่าดอยหลวงทางทิศตะวันตกด้านนี้
“อยู่ทางนี้ดู ขุนห้วยแม่แลบดูแปลกไป ไม่เหมือนมองจากบ้านเรา”
“อือ…” องอาจรับคำไปอย่างนั้นเอง “เร่งตามเถอะเสี่ยว อาจทันได้ลาบได้แกงแลงนี้”
แสงใกล้ลับยกพ้นพื้นขึ้นไปจับหมู่เมฆบนฟ้า พระสุริยะเจ้าเลื่อนลาลงสู่สันเขา กำลังจะลับ กำลังจะหลับ ณ เวลานี้ ขณะบัดนี้ เมื่อหลายหมื่นหลายแสนปีก่อนโน้น พญานกยูงคำจะขึ้นคอนไซ้ขน ท่านเป็นโพธิสัตว์หน่อพระเจ้า ท่านจะสวดร่ำพระโมรปริตร สรรเสริญคุณแห่งพระสุริยะเจ้า ขอความสวัสดีมีชัยในค่ำคืนแก่ตนจนรุ่งแจ้ง ถึงตอนรุ่งแจ้งอรุโณทัยไขส่อง พญานกยูงคำก็จะสวดพระโมรปริตร ขอความสวัสดีมีชัยแก่ตนจนถึงตะวันตกอีกครั้ง
ทุกเช้าค่ำยามเมื่อพระสุริยาเจ้าฟ้ากำลังขึ้นและตก ผู้ใดสวดโมรปริตรเป็นประจำ จะอยู่เย็นเป็นสุข จะป้องกันสรรพอุบาทว์นานา…
นึกถึงคำพูดของตา แต่ไม่ทันจะนึกคิดอันใดสืบต่อ เพื่อนก็พูดขึ้น
“กูว่าน่าจะโดนนะเสี่ยว มันโผนลอยขึ้นเลย ตกปุแล้วเผ่นแผล็ว”
“บ่โดน มันตกใจเท่านั้น กระต่ายเวลาตกใจจะโดดเต้น กูบอกมึงแล้ว สัตว์เล็กสัตว์น้อยควรใช้ลูกปราย แต่มึงใช้ลูกโดด”
“กูลืมเปลี่ยน เสียดาย เป็นใดมึงบ่ซ้ำ”
“มันไกลเกินปืนกู”
“มึงหลีกทางไปเสียไอ้เสี่ยว ออโตฯ กระบอกนี้ กูจ้างมึงเลย”
“หลีกทาง? หลีกไปไหน”
“หลีกไปจากคำแก้ว คำแก้วต้องเป็นของกู มึงจำไว้”
“เอาอย่างนี้ไหม ไอ้ลูกกำนัน” สูดลมหายใจลึกๆ ข่มอารมณ์พลุ่งพล่านจนสงบแล้วค่อยพูดต่อ “กู ปืนแก๊ป ปืนขี้โล้ มึงปืนออโตฯ กูนัด มึงนัด ผู้ใดรอด ผู้นั้นได้คำแก้ว”
“มึงว่าแท้กา? ไอ้หน้าซีดหน้าจาง”
“คนอย่างกู คำใดเป็นคำนั้น คนละนัด ต่อหน้าพ่อหลวง หรือยามนี้เลยก็ยังได้ ต่อหน้าพระสุริยาเจ้าฟ้า”
“ไอ้…ไอ้ห่าปักห่ายอกมึงเอ๊ย…คำแก้วสำคัญต่อมึงถึงขนาดนั้นเลยหรือวะ”
“สำคัญต่อกูมาก แต่ไม่สำคัญต่อมึงเลย เว้นไว้แก่กูสักคน…ไม่ได้หรือ”
สบแสงตา ตาออกเศร้ามีแววสะเทือนใจ คสอบม.๖ ตกซ้ำชั้นมองเลยผ่านไป
“ได้อันใดมาไหม คำผุย”
“ได้ฮอก แต่ได้มาตัวเดียว บ่พอลาบพอหลู้”
“เอาแกงแค คำมูนไปเก็บผัก แม่จะเผาฮอก ครัวฮอก”
อีหล้าเข้ามาช่วยแม่ในครัวไฟ อายุแม้ยังน้อยแต่ก็ก่อไฟเป็นแล้ว ฮอกคือกระรอกพันธุ์หนึ่ง ตัวไม่โตนัก ต้องเผาขนก่อน แล้วค่อยครัวคือตัดแบ่งหรือชำแหละ ฮอกตัวเดียวเอาแกงแคใส่ผักไม้ไซ้เครือตามราวรั้วเรือกสวน กินพออิ่มกันทั้งเรือน เผื่อไปถึงเรือนพ่อด้วยซ้ำ
ไฟลุกดี เอาตัวกินได้ชื่อนั้นลงเผาขน กลิ่นขนไหม้ไฟไม่หอมไม่เหม็น มันหลืด คือชินชา จะว่าไม่รู้สึกรู้สาก็ไม่ใช่ เพียงแต่ไม่เอาใจเข้าไปแบกเท่านั้นเอง ทุกข์หนักทุกข์หนานางผ่านมาแล้ว ไปข้างหน้าเชื่อมั่นว่าไม่ทุกข์ไปกว่านี้เด็ดขาด
“เอาหม้อแกงไปล้างอีหล้า ใส่น้ำเข้ามา ระวังหม้อแกงจะแตก”
คำผุยดูแลควาย คำมูนลงไปไล่เลาะเสาะหาผักไม้อันควรเอาใส่แกงแค อีหล้าล้างหม้อแกงก้นดำ เอาน้ำใส่มาพอสมควรแล้วยกวางบนก้อนเส้า หม้อแกงเป็นหม้อดิน หม้อแกงโดนไฟไหม้ก้นอยู่ทุกวันแต่มันไม่ทุกข์ไม่ร้อนอะไรเลย เป็นเพราะมันไม่มีใจ นางเองก็ฝึกมาหนักหนาพอสมควร กว่าจะทำใจให้เหมือนหม้อแกงได้
พ่อแม่นางดี พ่อแม่นางค้ำหนุนอุ่นช่วยทางด้านจิตใจ พ่อแม่ไม่เคยซ้ำเติม ไม่เคยยุยงส่งเสริมให้หาผัวใหม่ พี่ๆ ของนางก็ดีทุกคน มีพริกปันพริก มีเกลือปันเกลือ พี่น้องชาวบ้านก็ดี ดีหมด เขาคงสงสารแม่ร้างนางหม้ายผู้นี้ เขาเองก็ไม่ค่อยแน่ใจกันนัก แต่เขาไม่เคยรังควานข่มเหงนางเลย ไข่ไก่ในเล้าไม่เคยหาย มีดพร้ากะท้าขวานบางทีหลงลืม เขาพบ เขายังเอามาส่งคืนด้วยซ้ำ
บุญกูแล้วได้เกิดในที่ดี มีแต่อันดีๆ มาค้ำหนุนอุ่นช่วย ส่วนกูกับผัวก็ถือเสียว่ากรรม กรรมเก่าชาติแล้วอาจได้พรากผัวพรากเมียเขา ชาตินี้จงได้พลัดพรากกันไป
ไอ้อ้าย…
ใจนางแวบไปหาลูกคนโต อายุยี่สิบแล้ว ควรมีเมียแล้วแต่มันก็ยังค้างเรือนอยู่ ใจมันปักฝังอยู่แต่คำแก้ว หากมันได้เข้าไปเป็นเขยเรือนนั้นนางไม่หวงแหนห้ามปรามลูกเลย
แต่พี่บัวถาไม่อยากได้เขยเข้าเรือน พี่บัวถาอยากส่งลูกสาวไปเป็นสะใภ้เรือนหลวง เอาเขยเข้าเรือน ได้แต่บ่าไหล่เรี่ยวแรงของเขย แต่ส่งลูกไปเป็นสะใภ้ได้เงินได้ทอง
แสงลับแสงลากำลังจากพื้นขึ้นไปบนฟ้าเกือบหมดแล้ว เมฆบนฟ้าดูดซับรับแสงเหมือนผีตากผ้าอ้อม เพื่อนตัวสูงกว่า ผอมบางกว่าเดินดุ่มนำหน้า คนตัวหนากว่า เตี้ยกว่า คมเข้มกว่าตามหลังเงียบๆ นึกๆ ก็เสียใจที่ทำให้เพื่อนโกรธจัดถึงขั้นท้าดวลปืนเหมือนหนังฝรั่งคาวบอย
มันกล้าถึงขนาดนั้นไหม ไม่รู้ แต่เขาเองไม่กล้าหรอก
คำแก้วไม่ได้มีคุณค่ามากมายถึงขั้นอาชีวิตไปเสี่ยง อีกสิบคำแก้วก็ยังไม่คู่ควรด้วยซ้ำ
เดินตามห่างๆ ท่าทางมันเหมือนยังฉุนเฉียวอยู่ เขากับเพื่อนเรียนหนังสือร่วมชั้นกันมา รู้จักกัน แต่ไม่ได้สนิทสนมคุ้นเคยกันมาแต่ในโรงเรียนเพราะอยู่คนละหมู่บ้าน เขาเกิดที่สันป่าเลียง แต่อุ่นแสงเกิดที่ดงม่วงฝ้าย จบ.ป.๔ พ่อส่งเขาไปเรียนชั้นม.๑ที่โรงเรียนในเครือสภาคริสตจักรในตัวเมือง เป็นนักเรียนประจำ อยู่กินในหอพัก ส่วนอุ่นแสงเข้าวัดแล้วบวชเป็นสามเณร มาคุ้นเคยใกล้ชิดกันจริงๆ ก็ในช่วงที่ไม่ยอมกลับไปเป็นนักเรียนโค่งสอบตกซ้ำชั้นอยู่ชั้นแล้วชั้นเล่านี่เอง
อุ่นแสงมันยิงปืนแม่น หากินเก่งเหมือนพ่อมัน เขาเองแม้ไม่มีความจำเป็นต้องทำมาหากินเหมือนมัน แต่มีใจรักใจชอบ ชอบเข้าป่านอนค้างอ้างแรม ชอบชีวิตสมบุกสมบันกินสุกกินดิบจึงติดเพื่อน แม่ไม่ชอบนัก แม่อ้างว่าเขากับเพื่อนเกิดวันที่เป็นศัตรูกัน เขาจะได้รับเคราะห์ภัยใหญ่หลวงจากเพื่อนคนนี้
“มันเป็นอย่างใดพ่อ วันมิตร วันศัตรู”
“เป็นความเชื่อที่คนแต่ก่อนแต่เดิมท่านเชื่อถือสืบตามกันมา” พ่อผู้ยิ่งใหญ่ ผู้เป็นกำนันดีเด่น ผู้เดินมือเปล่าเข้าหาเสือวงศ์อธิบายให้ฟัง” คนเกิดวันที่เป็นมิตรต่อกัน จะเกื้อกูลกัน คนที่เกิดวันที่เป็นศัตรูต่อกัน จะเป็นภัยต่อกัน”
“ข้ากับไอ้แสงเกิดวันศัตรู แม่ว่าข้าจะได้รับเคราะห์ภัยใหญ่หลวงจากมัน แล้วมันล่ะ ไม่ได้รับเคราะห์ภัยจากข้าหรือ”
“ก็คงได้รับเหมือนกัน แต่ก็อย่ายึดมั่นถือมั่นนัก โบราณท่านผูกไว้ให้ระวัง ไม่ได้ผูกไว้ให้ยึดถือ”
เชิงอรรถ
(1) ราว พ.ศ. ๒๕๐๐