บ่าวหนุ่มบ้านบน บทที่ 2 : ยามปลอด เพื่อนร่วมทาง และวิญญาณผู้อาภัพ
โดย : มาลา คำจันทร์
บ่าวหนุ่มบ้านบน โดย มาลา คำจันทร์ เรื่องของ บุญส่ง ครูหนุ่มที่ถูกบรรจุให้ไปสอนหนังสือที่บ้านห้วยผักกูดพร้อมคำเตือนที่ว่าไม่ไหวก็ให้ลาออก แล้ววันหนึ่งเขาก็พบเรื่องผิดปกติมากมาย ทั้งเสียงร้องไห้ในยามค่ำคืน เงาปริศนา เรื่องเล่า ตำนานท้องถิ่น และภูตร้ายพรายผี เขาจะเดินหน้าหรือถอยหนี พบกับคำตอบที่เพจอ่านเอาและ anowl.co
โรงเรียนบ้านห้วยผักกูดมีนักเรียนในบัญชีแปดสิบกว่าคน มาจากสองสามหมู่บ้าน หลักๆแล้วเป็นเด็กหญิงเด็กชายในห้วยผักกูดนี่เอง ชั้น ป.1 ที่ครูใหญ่องอาจเป็นครูประจำชั้นมีชื่อในบัญชี 36 คน ป.2 ที่บุญส่งรับผิดชอบมี 24 คน ป.3 ที่พี่หอมนวลดูแลมี 12 คน ป.4 ที่จุ๊บแจงสอนมี 10 คน แต่ละวันแทบไม่มีชั้นใดที่นักเรียนมาเรียนเต็มตามบัญชี ทุกๆ เช้าหลังเคารพธงชาติเข้าห้องเรียนแล้ว ครูประจำชั้นต้องกางบัญชีเรียกชื่อนักเรียนทีละคนแล้วทำเครื่องหมายว่าใครมาใครขาด ภาคเช้าของแต่ละวันจะเป็นเลขคณิต ภาคบ่ายจะเป็นอ่านไทยคัดไทยเขียนไทย ชั่วโมงท้ายๆ จะเป็นวิชาอื่นๆ ที่เหลือ บางวันเป็นหน้าที่ศีลธรรม บางวันเป็นภูมิศาสตร์ประวัติศาสตร์ บางวันเป็นวิทยาศาสตร์ เกษตร สุขศึกษา พลศึกษา แล้วแต่ว่าวันใดครูออกใจจะสอนวิชาใด มันไม่ค่อยเป็นไปตามระเบียบวิธีทางราชการอะไรมากนัก
“เย็นนี้ว่างไหม บุญส่ง”
“ว่าง มีอะไรหรือ”
“เป็นเพื่อนเราไปห้วยปลากั้งหน่อย เด็กหญิงคำมา ขาดเรียนสิบกว่าวันแล้ว”
ห้วยปลากั้งตั้งอยู่อีกฟากทุ่งทางทิศใต้ ตั้งชื่อตามลำห้วยที่ไหลผ่านทางท้ายหมู่บ้าน ลักษณะเด่นจนเป็นที่มาของชื่อเรียกคงเนื่องจากลำห้วยสายนี้มีปลากั้งชุกชุม ส่วนห้วยผักกูดก็คงมีลักษณะเด่นอยู่ที่ผักกูดงอกงาม ลำห้วยทั้งสองสายไหลไปลงห้วยเคาะ ห้วยเคาะไหลไปลงแม่น้ำอิงอีกที ท้องถิ่นแถวนี้เมื่อปี พ.ศ.2513 เป็นที่ราบเล็กๆ ในหุบห้วยดอยดงห่างไกล การไปมายังลำบากอยู่มาก ถนนหนทางยังเป็นถนนลูกรัง ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง
ตอนนั้นเกือบพ้นระยะทดลองปฏิบัติราชการแล้ว ยังไม่เคยได้รับเงินเดือนเลย ระเบียบปฏิบัติทางราชการเหมือนจะกำหนดว่าทดลองก่อนหกเดือน หากผ่านการทดลองทางราชการท่านก็จะตกเบิกเงินเดือนย้อนหลังให้หมด แต่หากไม่ผ่านการทดลองไม่แน่ใจว่าหลวงท่านจะจ่ายเงินเดือนให้หรือไม่ เท่าที่เห็นและเป็นมา ครูใหม่เกือบร้อยทั้งร้อยจะผ่านการทดลอง อาจมีบ้างที่ผิดระเบียบร้ายแรง เช่นค้าเฮโรอีน เป็นโจรปล้นชิงหรือฆ่าคนตายก็อาจไม่ผ่าน แต่เราไม่ค่อยได้ยินข่าวร้ายรุนแรงเช่นนี้ ตอนนั้นพ้นหน้าฝนมาแล้ว น่าจะราวเดือนพฤศจิกายนอากาศหนาวเย็น ที่ทางแห้งแข็งไม่เป็นหล่มเลนเฉอะแฉะแล้ว จุ๊บแจงเอามอเตอร์ไซค์มาใช้ไว้ออกไปเยี่ยมยามถามไถ่สุขทุกข์นักเรียนในความรับผิดชอบของเธอ เธอขยันขันแข็ง อาจไม่สะสวยมากมายแต่เป็นคนน่ารัก สูงสัก 154 เซนติเมตร เวลายิ้มตาเล็กยิบหยีเลย
“คำมาป่วยไข้เป็นอะไรหรือ”
“เห็นว่าผีเข้า”
“ผีเข้าหรือ เราช่วยอะไรได้หรือ”
“จำได้ไหม ตอนเราเรียนปีหนึ่ง ศรีวิไลโดนผีหนองน้ำทักทอรอกิน แต่อาจารย์ห้องพยาบาลว่าเป็นไข้ทับระดู ส่งเข้าโรงยาออกมาแล้วก็ยังไม่หาย แต่หายขาดเพียงแค่เธอเอามือทาบหลังครั้งเดียว”
“อย่าคิดว่าหายเพราะเราเอามือทาบหลังนะ เหตุปัจจัยอาจบังเอิญมาจำเพาะ ถึงเราไม่เอามือทาบหลังก็ต้องหายเพราะเหตุปัจจัยเหมาะสมแล้วที่จะให้เกิดผล”
“ไม่รู้ละ ศรีวิไลว่ารู้ตัวดี รู้ตัวตลอด แต่ทำอย่างไรก็หลุดออกจากผีตัวนั้นไม่ได้ กระทั่งเธอเอามือแตะหลัง มันจึงออกไป”
“อาจบังเอิญ”
บ่ายสี่โมงกว่าตะวันรอนอ่อนแสง กลับถึงบ้านตาหนาน อาบน้ำก่อนเลย กะว่ากว่าจะกลับจากห้วยปลากั้งคงมืดค่ำหนาวหนักอาบน้ำไม่ได้ น้ำอาบอยู่ในบ่อ ตักขึ้นมาใส่ตุ่มตั้งไว้ เกรงใจยายผัด ให้แกตักน้ำให้ตาหนานอาบก็พอ ไม่ต้องมาตักให้คนอาศัยเรือนนอนอย่างเขา แต่แกว่าไม่เป็นไร ไม่ลำบากอะไรเลย อยากทำบุญเยอะๆ
“อย่าเลยยาย ขอร้องละ” ยกมือไหว้ ไหว้จริงจัง ไหว้จากใจ “ยายได้บุญแต่ผมจะได้บาป อยากได้บุญเยอะๆ ยายตักน้ำไปถวายหลวงปู่ครูบาท่านเถิด ยายได้บุญแต่หลวงปู่ไม่ได้บาปอย่างผม”
“มาพักอยู่เรือนยายก็เมินนานอาละ” แกเปลี่ยนเรือน ยกประเด็นใหม่ว่ามาอยู่เรือนแกก็เนิ่นนานพอสมควร “พบเห็นอะไรบ้างไหม เมื่อค่ำยามคืน”
“เปล่าครับยาย มีอะไรหรือ”
“ไม่มีอะไร”
ว่ากล่าวแปลกๆ อีกคน
ยายผัดตัวผอมๆ ดำๆ ผมเผ้าเกล้ามวยหรอมแหรม ไม่ดกหนาอย่างผมหัวยายบัวเกี๋ยง ยายแท้ๆ ของครูหนุ่ม ท่าทีเหมือนมีความเศร้าซุกซ่อนอยู่ในใจ สายตาของตาหนานเองบางครั้งคล้ายฉายแววกังวลเป็นห่วงเมียคู่ทุกข์คู่ยาก บางคืนดื่นดึกตื่นมาเหมือนได้ยินสองเฒ่าเจ้าเรือนปรับทุกข์แก่กัน
“ครูจะไปไหน รีบอาบน้ำแต่วัน”
“เป็นเพื่อนครูมาริสาไปห้วยปลากั้งครับยายผัด นักเรียนไม่สบาย ขาดเรียนสิบกว่าวัน ครูมาริสาอยากไปเยี่ยม”
“กลับมากินข้าวไหม”
“เผื่อเหลือเผื่อขาด ยายเหลือไว้ให้ผมในตู้กับข้าวก็ได้ ไม่ต้องลุกมาดาขันโตก (1) ผมเข้าครัวไปกินเอง”
“อย่ากลับดึก ที่ทางมันเปลี่ยว พบเห็นอันใดอย่าได้ตกใจ”
ว่ากล่าวแปลกๆ อีกแล้ว
อาบน้ำเข้าเสื้อเข้าผ้าเสร็จสรรพ จุ๊บแจงขับมอเตอร์ไซค์มารับ บุญส่งเองก็ขับเป็นแล้วฝึกจากมอเตอร์ไซค์ใช้แล้วของผัวพี่ทิพย์ เป็นครูปีแรกๆ ยังไม่มีปัญญาเป็นเจ้าของมอเตอร์ไซค์ส่วนตัว กระทั่งเข้าปีที่สามเมื่อย้ายไปสอนหนองหล่มแล้วจึงซื้อใช้
“ไอ้หนุ่ยเป็นไงบ้าง ได้ข่าวได้คราวอะไรบ้างไหม”
“ไม่รู้สิ จดหมายหายไปเกือบสองเดือน”
“งอนกันหรือ”
“พบรักใหม่แล้วมั้ง”
คนซ้อนท้ายทำเสียงให้รื่นเริง แต่กระนั้นคนขับขี่ก็สัมผัสได้ถึงความกังวลปนเศร้าอยู่ลึกๆ
ตะวันลอยต่ำ หน้าหนาวค่ำเร็ว ท้องที่ห่างไกลสงบสงัด ไม่ได้ลัดข้ามทุ่งเพราะคันนาเล็กมาก เดินข้ามได้แต่ขี่มอเตอร์ไซค์ไต่ข้ามไปไม่ได้ ขับไปตามทางทอดเชื่อมระหว่างหมู่บ้าน อาจเป็นทางเกวียนดั้งเดิมมาก่อน คงค่อยปรับปรุงกันขึ้นมาจนสามารถใช้รถกระบะได้ตลอดทาง ผ่านป่าช้าป่าเส้าก็เข้าสู่เขตบ้านห้วยปลากั้ง ป่าช้าาเส้ามีต้นเส้าสูงใหญ่หลายสิบต้น แต่เดิมคงเป็นป่า ต่อมาคงค่อยแผ้วถางถากลงจนป่ากลายเป็นทุ่งนา เหลือไว้แต่บริเวณป่าเส้าเอาไว้เป็นพื้นที่ส่วนรวมระหว่างหมู่บ้าน
ย่างเข้าเขตป่าช้าก็หนาวเย็นยะเยือกเลย
ตะวันแขวนลอยอยู่ไกลไป อาจอยู่ตรงโน้น หลังดอยผาช้างมูบที่บ้านเกิด แสงสีเหลืองแกมส้มยามใกล้ค่ำดูหมองๆ นกกาบินไกลไปเป็นหมู่ ตัดข้ามฟ้าเมื่อครามยามใกล้ค่ำเป็นภาพจดจำ นกกลับสู่รังนอน แต่คนไกลบ้านผู้หนึ่งเมื่อไรจะได้นอนเรือน
ครูบ้านนอก…
“ไอ้หนุ่ยมันจริงใจกับเธอมากนะ ”หาเรื่องพูด อยากเปลี่ยนอารมณ์คนนั่งซ้อนท้าย “จำไม่ได้หรือ เมื่อฝึกสอน มันเขียนจดหมายหาเธอแทบทุกอาทิตย์”
“มันอาจเป็นอดีตไปแล้ว บุญส่ง”
“อย่าคาดเดาทางร้ายเลย ทำให้ใจเศร้าหมองเสียเปล่า เป็นบาปทางใจ”
“จ้า…ท่านมหา”
“ลุงหนานมากกว่า”
แล้วเราก็หัวเราะขึ้นพร้อมกัน
บ้านห้วยปลากั้งไม่คับคั่งแน่นหนาเท่าห้วยผักกูด ยังจำได้ถึงเรื่องเปรตหื่นโป้งที่ตาหนานเล่าให้ฟัง เกิดขึ้นที่ห้วยปลากั้งเมื่อสี่ห้าสิบปีก่อนย้อนหลังไป ก่อนการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเมื่อปี พ.ศ.2475 คนยุคบุญส่งมักใช้ปี 2475 เป็นจุดแบ่งระหว่างสมัยเก่ากับสมัยใหม่ บางคนก็ใช้ช่วงเวลาสงครามญี่ปุ่นเป็นตัวแบ่ง แต่ช่วงสงครามมันยาวนานหลายปี ไม่ใช่ปีเดียวเหมือนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ตาหนานวาดภาพเปรตหื่นโป้งด้วยลมปาก แต่วาดได้ชัดเจนจนเห็นเป็นตัวเป็นตนเลย
เห็นชายหญิงคู่หนึ่ง เปลือยเปล่าด้วยกันทั้งคู่ นั่งหันหน้าหากัน แข้งขาสี่ข้างสอดไขว้ขัดขวางกัน มือสี่ข้างของแต่ละคนเท้าไปทางหลัง ต่างพยายามดึงตัวเองเพื่อให้อวัยวะทางเพศหลุดจากกัน แต่ฝ่ายหนึ่งดึงกลับเป็นการรั้งอีกฝ่ายตามไป ลากกันไปก็ลากกันมาประเจิดประเจ้อเป็นที่อับอายของลูกหลาน สุดท้ายไม่มีลูกหลานคนใดรับเป็นลูกเป็นหลาน ก็เลยไม่มีใครทานขันข้าวหรืออุทิศถวายสำรับกับข้าวไปหา ก็เลยอดอยากตรากตรำ กลายเป็นหมาขำโป้งหรือหมาติดเก้งประจานตนไปชั่วกัปชั่วกัลป์
หมาติดเก้งเอาก้นติดกัน
แต่เปรตหื่นโป้ง หันหน้าหากัน ทะเลาะตบตีกัน บางทีก็ใช้เล็บจิกข่วนแย่งชิงเนื้อหนังของกันและกันมาใส่ปากกินน่าสลดสังเวชใจ
“เอาไปหาหมอละยัง พ่อแม่คำมา”
“หมอที่ไหน” พ่อของคำมาตอบ “มันไกล ไปมาลำบาก ค่าใช้จ่ายหลาย ได้แต่หยูกยารากไม้บ้านเรา”
เด็กหญิงคำมาอายุ 12 เรียนชั้น ป.4 ผลการเรียนไม่ค่อยดีนักเพราะขาดเรียนบ่อย สุขภาพร่างกายก็ดูท่าไม่ค่อยดีนัก ผอมบาง ร่างเล็ก ประเมินคร่าวๆ คล้ายเด็กอายุสิบขวบมากกว่า ผอมมาก แขนลีบ ข้อมือมีฝ้ายไหมมือหรือด้ายผูกขวัญคล้องอยู่เต็ม ขะมุกขะมอมไปแล้วก็มี ยังใหม่อยู่ก็มี ที่เหนือหัวนอนเธอมีถาดสังกะสีใส่เสื้อเก่าๆ ผืนหนึ่งรองอยู่ล่างสุด บนเสื้อสุมทับด้วยข้าวตอกดอกไม้ กับกล้วยผลหนึ่งกับข้าวเย็นก้อนหนึ่ง เข้าใจได้เลยว่านี่คือข้าวขวัญกล้วยขวัญ บางทีก็เรียกว่าข้าวปั้นกล้วยหน่อย พ่อหมอผู้เยียวยารักษาให้คนไปช้อนขวัญเธอกลับคืนมา กล้วยสุกงอมจนเปลือกเริ่มดำ ก้อนข้าวก็เย็นจนแข็งไปแล้ว
คำมายังหลับอยู่
เราไปถึงเมื่อตะวันลับแล้ว แต่ความสว่างยังพอเหลืออยู่บ้างก่อนจางหายให้ความมืดค่ำย่ำคืนทำหน้าที่ เหย้าเรือนของพ่อแม่คำมาเป็นเรือนไม้หลังย่อมที่ยังไม่สำเร็จเรียบร้อยดีนัก คล้ายเพิ่งสร้างขึ้นมาไม่นาน
“พ่อหมอว่าคำมาเป็นอะไรครับ พ่อคำมา”
“ผีแฝงแรงกุม”
ในแสงอ่อนจางใกล้ค่ำ มองไม่เห็นผิวพรรณผู้ป่วยชัดเจนนัก ต่อเมื่อขออนุญาตเข้าไปดูใกล้ๆ พอสังเกตเห็นได้ว่าสีหน้าออกไปทางซีดเหลือง แม่ของเด็กเอาไฟเข้ามา แสงไฟทำให้วี่แววบางอย่างที่สังเกตได้จากสีหน้าหายไป
ตาสอนว่าหากดูสีหน้าไม่ออก ให้พลิกดูตาขาว หากตาขาวซ่านแดงมีสายเลือดขึ้นเต็มเหมือนกระจกร้าว ผีแฝงแรงกุมแน่นอน
พ่อคำมาชื่อว่าอ้ายเป็ง อายุราว 32 แม่ชื่อว่าสุพิศอายุราว 30 มีลูกเลี้ยงรอด 4 คน ยังรอคลอดอยู่ในท้องอีกคน ราวปี 2513 การคุมกำเนิดในประเทศไทยเริ่มแพร่หลายแล้ว แต่ในชนบทห่างไกลอย่างห้วยผักกูดห้วยปลากั้ง พี่น้องบ้านไกลยังเข้าไม่ถึงการบริการเรื่องคุมกำเนิด
อ้ายเป็งประคองช้อนร่างลูกสาวให้ลุกนั่ง พี่สุพิศพับฟูกมารองหลัง จุ๊บแจงเรียกชื่อลูกศิษย์แล้วบอกว่าครูจะวัดปรอทนะ ไม่เรียกว่าวัดอุณหภูมิ มักเรียกกันว่าวัดปรอท สาวหน้าใสใจดีสอดแท่งวัดไข้เข้าในปากเด็กหญิงตัวผอมบางหน้าจางหมอง บุญส่งมองเห็นรอยคล้ำดำใต้ดวงตา บอกเธอว่าคำมาลืมตานะ ครูขอดูตาเธอหน่อยนะ
ให้เธอเหลือกตาขึ้นบน สบายใจขึ้น ตาขาวไม่มีสายเลือดซ่านแดงขึ้นเต็ม เป็นไข้ธรรมดา รบกับไข้ง่ายกว่ารบกับผีหลายเท่า
“ไข้สูง” จุ๊บแจงพูดเมื่ออ่านปรอทในเทอร์โมมิเตอร์เสร็จ “ครูจะตกยาให้นะ อันนี้ยาวิตามินกินก่อนข้าว อันนี้ยาแก้ไขกินหลังข้าว ข้าวปลายังกินดีอยู่ไหม อ้ายเป็ง”
“ไม่ค่อยกินข้าว เอาให้กินก็มักอ้วกออกมา” อ้ายเป็งอึกๆ อักๆ แล้วตัดสินใจพูด “แต่ดึกดื่นค่อนคืน มักลงเรือนไปเก็บกินขี้เป็ดขี้ไก่”
“ผ้าขี้ผ้าเยี่ยวน้องมัน” พี่สุพิศเพิ่มเติม “บางทีมันก็แอบไปเลีย”
เพื่อนสาวหันหน้ามาสบตาเขา บุญส่งส่ายหน้าเป็นเชิงบอกว่าไม่ต้องพูดอะไร
“ไม่เห็นช่วยอะไรเลย บุญส่ง”
ขับรถฝ่าลมหนาวกลับสู่ห้วยผักกูดด้วยกัน ท้องไส้ดังโครกคราก อ้ายเป็งบอกเมียให้ไปครัวแลงแปลงกินให้เราแต่เราเกรงใจ พี่สุพิศท้องโย้ แต่ลูกอีกคนก็ยังต้องอุ้มติดเอว
“เธอเก่งกว่าฉัน เรื่องป่วยไข้หยูกยา”
“ครั้งกระนู้น…ตอนที่ศรีวิไลโดนผีหนองน้ำทักทอรอ…กิน”
“ก็บอกแล้ว อาจบังเอิญ”
“แล้วก็…ใบหน้าในบ่อน้ำ…”
“หือ เธอรู้ได้อย่างไร ใบหน้าในบ่อน้ำ”
“หนุ่ยว่าเธอเล่าให้หนุ่ยฟัง ตอนไปฝึกสอน”
“ไอ้หนุ่ยอาจใส่สีใส่ไข่ละเลงเละเทะ ส่วนที่ว่าคำมาลงเรือนไปเก็บกินขี้เป็ดขี้ไก่ เอาผ้าขี้ผ้าเยี่ยวไปเลียอาจตาฝาด จิตชักนำ ตาสร้างภาพตามจิต…”
ชักเรื่องราวเป็นอื่น มันกระดากปากที่จะพูดถึงความสามารถพิเศษที่ตนมี กระทั่งราวสองทุ่มกว่าก็ถึงเรือนผู้ใหญ่บ้านที่เธอพัก จอดรถ ปิดสวิตช์ คืนกุญแจให้แล้วเดินกลับ ไม่ห่างไกลกันมากมายอะไรนัก หัวบ้านท้ายบ้านไม่ถึงสิบนาทีก็ถึงก็ถึง สองเฒ่าเจ้าเรือนยังไม่นอน สองทุ่มกว่าถือว่าดึกมากสำหรับบ้านนอกห่างไกลอย่างห้วยผักกูด มืดเงียบสงบสงัดไม่มีสีแสงและเสียงจากพลังงานไฟฟ้าใดๆ ทั้งสิ้น มีเสียงเกราะผูกคองัวควายอยู่บ้างยามมันขยับเคลื่อนไหว ตาหนานเองมีไร่นาวัวควาย ฐานะการเงินมั่นคงพอจะเป็นอยู่โดยไม่ต้องเดือดร้อนดิ้นรนอะไร ลูกๆ ต่างแตกเรือนออกไปหมดแล้ว ไม่มีใครมีหนี้สินรุงรังเพราะวิถีชีวิตแบบชาวบ้านนอกห่างไกลสมัยนั้นไม่ค่อยกระตุ้นให้ตัณหาความอยากได้อื่นๆให้เกิดขึ้นได้ง่าย ขอแต่มีเหย้าเรือนพออยู่ มีข้าวพอกิน มีช่องทางทำมาหากิน ไม่ต้องกู้หนี้ยืมสินใครให้เป็นภาระ เขาก็พอใจกันแล้ว
ตาหนานมีเรือนไม้กระดานหลังหนึ่ง มียุ้งข้าว มีนาสี่ห้าไร่ยังไม่แบ่งให้ใคร ไม่ต้องทำนาเองเพราะลูกเขยสองคนทำให้แล้วแบ่งข้าวปันกันตามกำหนดนิยมดั้งเดิมในระเบียบสังคมพื้นบ้าน ตาหนานเข้ามาเป็นเขย แต่ยายผัดไม่ใช่ลูกสืบเรือน พอเริ่มตั้งตัวได้แกก็ชวนยายผัดแยกครัวออกมาจากพ่อตาแม่ยายเป็นอิสระแก่ตน ยายผัดไม่ต้องรับภาระสืบผีสืบเรือน แต่ก็ยังไปไหว้ผีปู่ย่ายังเรือนเค้าหรือเรือนเดิม หรือเรือนที่แกคลอดออกมา
“ตามีพี่น้องสามคน พ่อแม่มีนาหกไร่ ตาได้มาสองไร่ ที่ได้เพิ่มมาก็คิดหามาเอง”
“ช่องทางอย่างใดครับ ที่คิดหามาได้”
“เหมือนหนานสินตาเอ็งนั่นแหละ ตาได้วิชาจากในวัดออมา เป็นหมอแก้ตู้ (2)”
“คล้ายๆ กันกับตาหนานสิน”
“พ่อกำนัน พ่อของครูใหญ่องอาจคนนี้แหละ โดนตู้จนผอมเหลืองป่วยไข้ยาวนาน ผู้ใดก็ยาบ่หาย แต่ตายาหาย พ่อกำนันดีใจว่าเหมือนตายแล้วเกิดใหม่ เลยปันนาแก่ตาสองไร่”
“ตาผมก็แก้ตู้ให้ผัวเจ้าตุ้ยก็ได้นามาผืนหนึ่ง เป็นเขี้ยวฟันผีตายโหงเจ็ดซี่ครับตาหนาน แล้วพ่อกำนันโดนตู้ด้วยอะไร”
“หนังควาย ผืนใหญ่เท่าผ้าเช็ดหน้า แรกเมื่อเรียกออกมาขนาดเท่ากล้วยทับ แล้วมันก็กางออก ยืดออกเท่าผ้าเช็ดหน้า”
“แล้วกำจัดอย่างไร”
“ก็ถามพ่อกำนัน ว่าจะให้ตาส่งคืนไปสู่ผู้ส่งหนังควายมาเข้าท้องไหม พ่อกำนันว่าคร้านแล้ว ไม่อยากผูกเวรผูกกรรมอะไรต่อใครอีกแล้ว มันเหนื่อย มันทุกข์ ให้สุดให้สิ้นกันแต่เพียงแค่นี้ แล้วก็แล้วไปเถอะ ตาหนานก็เสกคาถาแล้วหยดน้ำตาเทียนลงใส่ มันก็ยุบฝ่อจนหายไป”
“ตาหนานเคยพลาดไหมครับ”
“พลาด เกือบตายเหมือนกัน มันเป็นยามปลอด ไม่ทันระวัง”
“ยามปลอดคืออะไรครับตา”
“เป็นยามที่คนเราปลอดจากอันที่คุ้มครองรักษา แต่ละคนมียามปลอดทั้งนั้นไอ้หล้า ไม่ว่าจะกล้าแกร่งแรงเรี่ยวอย่างไร ต่างก็มียามปลอด ตาเองก็โดนตู้ มันเหมือนเข็มเป็นร้อยพุ่งเข้าเสียบใจ เกือบตายไปแล้ว บุญยังมีที่ครูบาอินสมท่านดูดออกมาได้ เป็นเข็มขึ้นสนิมเจ็ดเล่ม”
“แล้วตาให้ครูบาท่านส่งเข็มเจ็ดเล่มไปหาผู้ตู้ไหม”
“ไม่ใช่แนวทางของครูบาอินสม”
“วิชาตู้ แก้ตู้ ตาหนานเรียนจากครูบาอินสมหรือ”
“ไม่ใช่วิชาของท่าน ตาหนานได้มาจากครูเมืองน่าน”
“ครูบาไม่ว่าอะไรหรือ”
“ไม่ว่า…แต่ด่า ดุด่ายับเยินเลย ท่านว่ามึงหลงทางแล้ว อายุบ่ยืน บ่ได้ตายเฒ่า บ่ได้ตายดี จะกินอะไรบ่ได้ กินเข้าไปก็อ้วกออกหมด จะตายยาก ตายทุกข์ทรมาน ท่านให้ลอยครูเสีย”
“ลอยครู?”
“สำรอกเอาทุกสิ่งทุกอย่างที่รับมาจากครูเมืองน่านใส่กระทงใบตอง เอากระทงใบตองใส่กระทงกาบกล้วยแล้วเอาไปลอยน้ำ ตราบใดกระทงไม่ไหลย้อนคืนมา วิชาตู้ก็ไม่กลับคืน”
คืนนั้นคุยกันยาว ราวสี่ทุ่มตาหนานเข้าเรือนนอน หมู่บ้านสงบสงัดเงียบเสียงไปหมด บุญส่งยังไม่หลับ ยังนั่งอยู่ต่อหน้าพระพุทธรูปไม้แกะสลักที่ตาให้มา ตั้งจิตตั้งใจสวดมนต์แผ่เมตตา สูดลมหายใจลึกๆ หลับตา ภาพพระพุทธรูปองค์น้อยยังจำหลักอยู่ในใจ ตั้งนิ่งในคำภาวนาว่าพุทโธ พุทหายใจเข้า โธหายใจออก ภาพที่เห็นด้วยใจเลือนจางสลายไป หลวงปู่ว่าอย่ารั้งกลับ หายก็ให้รู้ว่าหาย อยู่ก็ให้รู้ว่าอยู่ เดี๋ยวก็อยู่เดี๋ยวก็หายเป็นเรื่องธรรมดาของอนิจจัง
ใจดิ่งลึกลงไปละเอียดอ่อนลึกซึ้ง รั้งรอคลอเคลียอยู่ตรงนั้น จนปีติค่อยเสื่อม รับรู้ว่ามันเสื่อม ค่อยถอนใจออกมา ลมหายใจเป็นปกติ คงราวห้าทุ่มเป็นอย่างน้อย หากไม่มีอะไรรบกวน แต่ละครั้งที่สวดมนต์ภาวนาใช้เวลาราวชั่วโมงเศษ ลืมตาขึ้น มองผ่านหน้าต่างออกไป แสงเดือนส่องนวลขาว กลางลานบ้านมีเงาร่างหนึ่งก้มๆ เงยๆ งมควานหาของกินได้เก็บใส่ปาก รู้สึกเศร้าๆ เศร้าสลดแกมหม่นหมอง ร่างนั้นเหมือนรู้ว่ามีคนเห็น พริบตาเต้นขึ้นทั้งที่ยังนั่งแล้วหายวับ กวาดตามองทางใดก็ไม่เห็น
รู้ได้เลย ไม่ใช่คน จะเกี่ยวอันใดกับคำถามจากคนยังเรือนว่าพบเห็นอะไรไหม ไม่แน่ใจ
ยกมือจบ น้อมหาบุญกุศลอันตนได้กระทำมา อธิษฐานว่าถ้ากุศลผลบุญที่ข้ามีแล้วสูควรจะได้รับก็จงรับไปเถิด
อีกสองวันถัดมา เราไปเยี่ยมยามถามไข้คำมาอีกครั้ง เด็กหญิงตัวน้อยดูดีขึ้น ไม่เอาแต่หลับตาซมไข้เหมือนครั้งก่อน กินข้าวได้มากขึ้น หยูกยากินครบครันตามกำหนด ครั้งนี้เรากลับเร็วกว่าครั้งแรก เขาเองเป็นคนขับขี่ จุ๊บแจงซ้อนหลัง ถึงป่าช้าส่วนรวมของสามสี่หมู่บ้าน จู่ๆ เธอรวบเอวเขาหมับแล้วกอดไว้แน่น เอาหน้าแนบหลังเขา
เหมือนไม่ใช่สาวหน้าใสตาหยีที่ผูกใจรักใคร่ชอบพอกับเพื่อน
“เป็นอะไร จุ๊บแจง”
“มัน…ตามมา” เธอคลายมือออก แต่ยังรั้งดึงชายเสื้อไว้ “ขอโทษ บุญส่ง มัน…กลัวจับใจเลย”
“ไม่ต้องกลัว นึกถึงบุญที่ได้ทำมา นึกถึงพระเจ้าแก้วทั้งสาม นึกถึงพ่อแม่ ครูบาอาจารย์”
“มัน…คืออะไรหรือ”
“สัมภเวสีตนหนึ่งเท่านั้นเอง สัมภเวสี…ผีเร่ร่อนล้วนแต่น่าสงสาร”
นึกไปถึงอันที่เก็บกินขี้เป็ดขี้ไก่ เสลดน้ำลายคนคายทิ้งที่ลานบ้านตาหนาน นั่นก็เป็นสัมภเวสีตนหนึ่งเท่านั้นเอง พบเห็นจนชินชามาแต่เด็กๆ
แต่บุญส่งก็เข้าใจผิดไปอย่างหนึ่ง
ที่พบเห็นคืนนั้นไม่ใช่สัมภเวสีผีเร่ร่อน
หากแต่เป็น…เป็นบางสิ่งบางอย่างที่ตาหนานปกปิดอุบอำไว้
อาทิตย์ถัดมา เด็กหญิงคำมาก็มาโรงเรียนได้ อ้วนขึ้น มีเนื้อมีหนังมากขึ้น ฝ้ายไหมมือหรือด้ายผูกขวัญยังคล้องเต็มแขน ไม่เก่าดำขะมุกขะมอมตามเดิม คงเป็นเพราะได้อาบน้ำขัดถูขี้ไคลทุกวัน คนพื้นเมืองทั่วไปมีความเชื่อว่าไม่ควรตัดฝ้ายไหมมือทิ้ง ต้องให้มันหลุดขาดไปเอง ถือเป็นข้อสังเกตอย่างหนึ่งได้ว่าใครที่ยังมีฝ้ายไหมมือคล้องมือ คงเป็นคนเพิ่งฟื้นป่วยหายไข้หรือเพิ่งฟื้นจากภาวะผีกุมผีอำมาไม่นาน
วันเวลาถัดมา เราสองคนไม่ได้ขับมอเตอร์ไซค์ไปห้วยปลากั้งอีกเพราะไม่มีเด็กคนใดขาดเรียนยาวนานให้ต้องติดตาม เรื่องนี้เคยเรียนต่อครูใหญ่ให้ท่านรับทราบ ท่านดูเฉยๆ ไม่ถึงกับละเลยแต่เหมือนไม่ใส่ใจเป็นพิเศษอะไร ครูใหญ่ไม่ค่อยอยู่โรงเรียน พี่หอมนวลก็คล้ายๆ กัน บางทีก็ไม่อยู่พร้อมกันทั้งสองคน แรกๆ บุญส่งก็ไม่ได้สนใจอะไรนัก ต่อมาคำเล่าลือหนาหูขึ้นในหมู่เพื่อนครูร่วมตำบลเดียวกัน
เขาเล่าว่าครูใหญ่กับพี่หอมนวลเป็นชู้กัน
เป็นเรื่องเศร้า เศร้าสลดกระทบกระเทือนความรู้สึกนึกคิดของครูใหม่ไฟแรง ครูควรเป็นปูชนียบุคคล เป็นคนควรแก่การเคารพบูชา ครูต้องประพฤติดีงามเหมาะสมอยู่ในศีลธรรมอันดีของสังคม ครูเป็นขี้เหล้าเมายายังพอยอมรับได้ แต่ครูเป็นชู้กันเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ในทัศนะของสังคมสมัยนั้น
ผ่านเข้ามากลางหน้าหนาวแล้ว อากาศเริ่มอุ่นขึ้น ชีวิตครูบ้านนอกดำเนินไปราบรื่นไม่มีอะไรน่าหนักใจเป็นพิเศษ สอนควบสองชั้นบ่อยมาก เพื่อนสาวก็เหมือนกัน ครูองอาจกับพี่หอมนวลไม่ค่อยอยู่สอน มาโรงเรียนแล้วก็มักแวบหายไปพร้อมกันบ้าง ไม่พร้อมกันบ้าง ครูหอมนวลชอบสวมรองเท้าส้นสูงดูไม่สะดวกนักต่อการย่างเดินบนดินขรุขระ ลักษณะเด่นอีกอย่างคือใช้น้ำหอมจนหอมฟุ้ง เรามักเรียกลับหลังว่าพี่หอมฟุ้ง ขอพักเรื่องพี่หอมนวลไว้ก่อน ขอย้อนไปพูดถึงเรื่องยามปลอดที่ตาหนานว่าทุกคนมียามปลอด อยู่มาวันหนึ่งก็มีจดหมายไม่ผ่านระบบไปรษณีย์มาถึงมาริสา พ่อของเธอฝากมากับรถโดยสารซึ่งช่วงหลังฝนเข้าออกทุกวัน เธอได้รับจดหมายก็ร้อนใจผลุนผลันไปหาครูใหญ่ทันที
แม่เธอป่วย อาจป่วยหนัก แต่เนื้อความในจดหมายบอกแค่ป่วย
“หนูขอลาค่ะครูใหญ่ สองสามวัน”
“แล้วจะไปอย่างไร ขับมอเตอร์ไซค์ไปหรือ”
“ค่ะ ครูใหญ่ หนูร้อนใจ ขออนุญาตไปเลย วันนี้”
“นี่มันบ่ายแล้ว ก่อนมืดค่ำจะทันถึงหรือ เอาอย่างนี้เถอะ ให้บุญส่งเป็นเพื่อนไป ครูใหญ่อนุญาตทั้งสองคน”
“ขอบคุณค่ะ ครูใหญ่ หนูจะบอกบุญส่ง เก็บข้าวของแล้วออกไปเลย”
“ขับรถขับราก็ระวังดีๆ นะ ทางมันไกล เปลี่ยวด้วย”
วันนั้นไม่รู้ว่าเป็นยามปลอดของตน ถึงรู้ก็ยากจะปฏิเสธ จุ๊บแจงเป็นเพื่อนที่ดี ไม่มีอะไรบาดหมางตะขิดตะขวงใจต่อกันเลย เธอใจดี เธอใจบุญ มักแบ่งข้าวของกินได้ที่แม่เธอฝากเข้ามาแก่เขา ไม่สวยมากแต่ไม่ถึงกับจืดชืด ระยะนั้นจุ๊บแจงกับหนุ่ยติดต่อคบหากันเป็นปกติดีแล้ว มีจดหมายไปมาถึงกันด้วยดีดังเดิม
วันนั้นเราออกจากโรงเรียนราวบ่ายสามโมง สักห้าโมงเย็นก่อนมืดคงถึง แต่เรากลับหลงไปถึงไหนต่อไหนก็ไม่รู้ เหมือนเดินทางทะลุมิติหรือผีบังตา เหมือนเส้นทางมันงอกยาวออกไปไม่มีที่สิ้นสุด ท่าทางคนนั่งซ้อนท้ายดูกระวนกระวาย บุญส่งไม่อยากให้เพื่อนเครียด เสแสร้งซักถามไปอีกเรื่อง
“คืนนั้น ที่กลับจากห้วยปลากั้งถึงป่าช้าป่าเส้าเธอว่ามันตามมา มันคืออะไร”
“คน เป็นผู้ชาย ไม่ใส่เสื้อแต่นุ่งผ้าเฟ็ดม่าม (3) มันวิ่งตามมา”
“อาจเป็นคนก็ได้”
“มันไม่แค่นั้นซี หากเป็นคนก็ควรวิ่งสองขา นี่ควบสี่ตีน เหมือนหมาเลย”
“ศีลเธอพร่อง”
“จ้า พ่อมหา…จำเริญ”
หัวเราะได้ หัวเราะพร้อมกัน สถานการณ์คลี่คลายออกมาดีแบบนี้ก็ดีเหมือนกัน ชวนคุยนั่นคุยนี่พอเพลิน สักพักใหญ่คนซ้อนท้ายก็กระตุกชายเสื้อคนขับขี่
“เราปวดท้อง พักปลดท้องเถอะ ทนไม่ไหว”
“ได้ๆ”
ผ่อนรถ เข้าเกียร์ว่าง ชะลอจอดใต้ร่มไม้ใหญ่ข้างทาง สาวตาหยีแต่หน้าใสไร้สิวพรวดพราดลงทันที
“อย่าตามมานะ”
ตะวันจะลับแล้ว ร้อนใจก็เผาไหม้ใจไปเปล่าๆ ตั้งสติ ระงับอารมณ์ จอดรถข้างทาง จุ๊บแจงเดินลับหลังต้นไปใหญ่ไปทางขวามือ เขาเองปลีกไปทางซ้ายมือ ไม่ถึงสิบนาทีก็กลับมาที่รถ เธอรออยู่แล้ว ขึ้นคร่อมรถ บิดกุญแจ ถีบคันสตาร์ท เข้าเกียร์หนึ่งแล้วเร่งเครื่อง เพื่อนสาวมีสติมั่นคงเกินคาด ตะวันดับลับหายไปรวดเร็ว มืดมารวดเร็ว เปิดไฟ เส้นทางแปลกเปลี่ยวผิดหูผิดตา อาจเพราะไม่เคยผ่านทางกลางคืนกระมัง
“กลัวไหม จุ๊บแจง”
“ไม่กลัว อยู่กับตัวเอง เค้าไม่เคยกลัว”
“พูดแปลกเว้ย วันนี้”
จริงๆ น้า…”
ลากเสียงซะหวานเลย เปลี่ยนไปมาก ถ้อยคำสนิทสนมมากมายขนาดนี้ควรใช้กับไอ้หนุ่ยไม่ใช่ใช้กับเขา
สาวตาหยีเอามือมาโอบรอบเอวเขาทั้งที่ไม่มีเหตุการณ์อะไรให้ตกใจสะดุ้งกลัวเหมือนคืนที่ไปเยี่ยมเด็กหญิงคำมา เธอค่อยรัดแขนแน่นขึ้น เอาหน้าแนบหลัง แล้วค่อยขยับตัวขึ้นหน้าจนหน้าอกเธอทาบอยู่บนหลังเขาอุ่นๆ หยุ่นๆ
แล้วสิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น
เพื่อนผู้เปิดเผย กันเอง ใจดียื่นปากมาจุ๊บแก้มเขา
“จุ๊บ…แจง”
ครางกระเส่า มือแทบหลุดจากแฮนด์รถ ขอสารภาพเลย เกิดมาจนอายุ 18 ยังไม่เคยใกล้ชิดสนิทแน่นถึงขึ้นกอดจูบผู้หญิงคนใดมาก่อน มีความขี้อาย ไม่กล้า กลัวเสียหน้าหากจะจีบใครสักคนแล้วเขาปฏิเสธ ความต้องการตามธรรมชาติมีอยู่ แต่ไม่เคยประกอบกามกิจกับใครมาก่อนเลย
ไม่ไหวแล้ว ทนไม่ได้ มันจะระเบิด เลี้ยวรถเข้าหลังไม้ใหญ่มหึมา จับจูงกันลงรถแล้วละเลงกันตรงนั้นเลย
“เอ็งบำเพ็ญมาแล้วหลายชาติ เรียกว่าบารมี อย่าเผลอทำบาปหนักกรรมหนาเด็ดขาด อย่างทุบตีพ่อแม่ ฆ่าคน เป็นชู้เมียท่าน อย่างนี้ไม่ใช่แค่บุญเสี้ยง แต่บารมีบำเพ็ญมาสูญหมด อันเก่าล่วงแล้วกี่ชาติต่อกี่ชาติกลายเป็นศูนย์ ต้องเริ่มต้นใหม่ตั้งแต่หนึ่งขึ้นมา อย่าให้อารมณ์ชั่ววูบครอบงำเด็ดขาด อารมณ์วูบเดียว ผิดพลาดชั่วชีวิต”
อารมณ์วูบเดียว ผิดพลาดชั่วชีวิต
ฉับพลันนั้น ตนชุ่มเย็นปรากฏต่อหน้า คำสอนของท่านเหมือนเสียงชักระฆังสวดมนต์ทำวัตรเช้า ผลุนผลันผละละ ร่างจุ๊บแจงกลายเป็นกองผ้า เก่าๆ แล้วกองผ้าก็หายไปต่อหน้าต่อตา
ผีตัวใดก็ไม่รู้มาหลอนมาหลอก คงเป็นยามปลอดของเขา ตาหนานว่าทุกคนมียามปลอดไม่ว่าวิชาอาคมแข็งกล้าปานใด ถึงยามปลอด วิชาอาคมย่อหย่อนลง
จุ๊บแจงล่ะ จุ๊บแจงตัวจริงอยู่ที่ไหน ร้อนใจ สตาร์ตรถ หัวหัวรถกลับทางเดิม มาถึงไม้ต้นเดิม จุ๊บแจงเอนซบรากไม้หลับใหล ระแวงไปว่าจะเป็นตัวจริงหรือไม่ ตั้งใจน้อมหาพระรัตนตรัย ยื่นมือไปแตะแขนเธอ เพื่อนสาวร่วมอาชีพสะดุ้งเฮือกแล้วลืมตาขึ้น
“จุ๊บแจง”
“เรา…” เธอเหลียวไปมา แสงเดือนส่องแจ้งดีอยู่ แสงไฟหน้ารถก็ยังไม่ดับ “เราเป็นอะไรไป”
“เธอหลับอยู่ตรงนี้ ไม่มีอะไรแล้ว”
ตบหัวไหล่เธอเบาๆ ฉุดให้ลุกขึ้น คงทุ่มกว่าแล้วยังงมอยู่กลางป่ากลางเปลี่ยวกันอยู่เลย ขึ้นคร่อมรถ มีถ้อยคำอยากถามไถ่มากมายแต่เกรงว่าเธอจะกลัว ออกรถมาราวสิบนาที เธอเป็นฝ่ายเปิดปากก่อน
“จู่ๆ เราก็วูบลง แล้วเหมือนมีใครสักคนนั่งเฝ้าเรา”
“ผู้หญิงหรือผู้ชาย”
“ผู้ชาย อายุราวสิบห้าสิบหก ผอมๆ บางๆ บอกว่าชื่อทองอินทร์”
“ไอ้อินทร์…”
“รู้จักหรือ”
“เพื่อนเก่าเราเอง ไอ้อินทร์ถูกแทงตายพร้อมแม่ เมื่อเราอยู่มอศอสาม”
เร่งความเร็วขึ้น เสียเวลาไปมากมาย ผีโหงผีพรายตนใดไม่รู้ที่จำแลงแปลงตัวเป็นนางสาวมาริสาผู้คบหาแน่นแฟ้นเป็นแฟนกันอยู่กับไอ้หนุ่ย เขาเองก็เกือบ…เกือบละเมิดศีลข้อกาเมสุไปแล้ว ถึงมาริสากับหนุ่ยยังไม่ได้แต่งงานเป็นผัวเมียกัน แต่เขารักกัน เป็นเจ้าของทางใจต่อกัน ถึงร่างนั้นจะไม่ใช่คนจริงๆ แต่หากรั้งใจไม่ทันมันก็ยังเป็นการละเมิดทางใจอยู่ดี
มองไปข้างหน้า สูดลมหายใจลึกๆ วิญญาณผู้อาภัพยังลอยนำหน้า ขอบใจมากเพื่อนรัก เราไม่เคยลืมนาย ตักบาตรทำบุญ จำศีลภาวนา เรารำลึกถึงนายเสมอ
เชิงอรรถ :
(1) ดาขันโตก = แต่งเตรียมสำรับกับข้าว
(2) แก้ตู้ = ถอนของ แก้ไขเยียวยาผู้ถูกกระทำด้วยไสยศาสตร์
(3) เฟ็ดม่าม บางถิ่นออกเสียงว่าเฮ็ดม่าม หมายถึงการนุ่งผ้าแล้วรวบชายข้างหน้าลอดระหว่างขาไปเหน็บเอาทางด้านหลัง