ยามเสียงเพรียกหา บทที่ 2 : เสียงเพรียกจากอดีต
โดย : สิรี กวีผล
ยามเสียงเพรียกหา นวนิยายจากโครงการอ่านเอาก้าวแรกปี 4 โดย สิรี กวีผล เรื่องราวความหลงใหลในเสียงดนตรีและความเข้าใจผิดจนกลายเป็นแรงอาฆาตแค้น บทเพลงรักจะกลายเป็นบทเพลงแค้น ทำนองรักจะกลายเป็นเศร้าเคล้าน้ำตาอย่างไร ติดตามกันได้ในเว็บไซต์ anowl.co
“The man that hath no music in himself, Nor is not moved with concord of sweet sounds, Is fit for treasons, stratagems and spoils; The motions of his spirit are dull as night And his affections dark as Erebus: Let no such man be trusted. Mark the music.”
เสียงชายหนุ่มก้องกังวาน ระรื่นหู มีจังหวะคล้ายเสียงเปียโนเบาๆ แต่เข้มแข็งและชัดเจน คีตะ หรือ คีร์ ชายหนุ่มรูปร่างสูงโปร่ง ผิวพรรณสะอาดสะอ้าน ผมเผ้าไม่ได้ถูกจัดแต่ง ปรกลูกนัยน์ตากลมใส ดูอบอุ่น กำลังนั่งอ่านหนังสือเรื่อง ‘เวนิสวาณิช’ โดยมีสายตาอ่อนโยนคู่หนึ่งที่ส่งมาให้เขา แต่ทว่าหนักแน่นและจริงจัง เข้ากับริมฝีปากบาง ยิ้มจนตาเป็นสระอิ เผยให้เห็นฟันเขี้ยวเล็กๆ ซึ่งได้ขโมยหัวใจของเขาไปตั้งแต่แรกเห็น สลิลทิพย์ หรือ ทิพย์ เธอกำลังเคลิบเคลิ้ม กับบทประพันธ์พระราชนิพนธ์เรื่องนี้อยู่
“ชนใดไม่มีดนตรีกาล ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก อีกใครฟังดนตรีไม่เห็นเพราะ เขานั้นเหมาะคิดกบฏอัปลักษณ์ ฤๅอุบายเล่ห์ร้านขมังนัก มโนหนักมืดมัวเหมือนราตรี อีกดวงใจย่อมดำสกปรก ราวนรกชนเช่นกล่าวมานี่ ไม่ควรใครไว้ใจในโลกนี้ เจ้าจงฟังดนตรีเถิดชื่นใจ” เสียงสลิลทิพย์อ่านกลอนบทดังกล่าวได้หวานไพเราะ จนคีตะตกอยู่ในภวังค์
“ดีนะ คีร์หล่อ” สลิลทิพย์มองหน้าคนหลงตัวเองตรงหน้า
“อยู่ๆ คนเราก็ชมตัวเองได้ด้วยเนอะ”
“คนเล่นดนตรีเก่ง มีดนตรีในหัวใจก็ต้องหล่อเป็นธรรมดา” ชายหนุ่มเสยผม ทำหน้ากะลิ้มกะเหลี่ย
“แหวะ คนหลงตัวเอง”
“แล้วทิพย์หลงปะล่ะ” ชายหนุ่มเหย้าแหย่แฟนสาว
“ไม่หลง เบื่อคนหลงตัวเองมากกว่า” สลิลทิพย์ทำหน้ากวนน้ำโหใส่คีตะ แทนที่เขาจะโกรธแต่กลายเป็นหัวเราะขำขัน
“สงสัยทิพย์ต้องเบื่อคีร์ไปตลอดชีวิตแล้วแหละ” คีตะยื่นหน้าเข้ามาใกล้ สลิลทิพย์อายๆ ดันหน้าหล่อๆ ของเขาออกไปห่างๆ
เสียงซอด้วงบรรเลงดังก้องขึ้นในหูของเขา เสียงที่เขาได้ยินเป็นประจำตั้งแต่เด็กๆ จนเป็นหนุ่ม เสียงเพลงรัก โหยหา ฟังดูอาลัยรัก มากกว่าสมหวังในรัก เป็นเพลงรักที่บรรเลงสดด้วยซอด้วง บาดหูแต่ร้าวไปถึงใจ คีตะรีบผละจากสลิลทิพย์ ขอตัวกลับบ้านของเขาที่อยู่ตรงข้าม
รีบไปไหนของเขา
เที่ยง ชายในชุดนุ่งโจงกระเบนสีกรมท่า เสื้อสีขาวบางพลิ้ว มีผ้าขาวม้ามัดหลวมที่เอว กำลังสอนลูกศิษย์เล่นเครื่องดนตรีไทยนานาชนิด เสียงซอตรงเสียงบ้างไม่ตรงบ้าง ลูกศิษย์โดนตีมือบ้าง โดนให้กำมือใหม่ จับใหม่อยู่หลายครั้ง หันไปอีกมุมหนึ่งเด็กน้อยกำลังจับไม้นวมมองระนาดด้านหน้า พร้อมกับนับลูกระนาดให้ได้คู่ 8 ก่อนจะวางมือได้ตรงแล้วตีลงเบาๆ เสียงเล็กๆ กำลังฝึกเล่นระนาดเอกอยู่ บางกลุ่มกำลังหัดตีกลอง บางกลุ่มกำลังเป่าปี่ เที่ยงนั่งบนตั่งไม้กลางโรงสอนดนตรีกระชับก้านคันซอเข้ามือ ดูอ่อนโยนและอบอุ่น ทอดสายตามองไปข้างหน้า ดวงตากลมใส แววตาตื่นเต้นทุกคู่จับจ้องเขาเป็นตาเดียว เสียงเพลงผ่านออกมาจากกะลาซอ หางม้า และเส้นเอ็นที่ยึดไว้ ผสานกันเปล่งเสียงออกมาไพเราะจับใจคนฟัง ใครเดินอยู่เป็นต้องชะงัก ใครกำลังทำครัวพลางต้องเงี่ยหูฟัง ใครทะเลาะกันก็หยุดเพื่อฟังเสียงซอด้วงนี้ เที่ยงสีซอเป็นตัวอย่างให้เหล่าลูกศิษย์ได้ฟังกัน เที่ยงยิ้มเล็กๆ เผยให้เห็นรอยยิ้มปรากฏมุมปากเล็กน้อย
สมแล้วที่เป็นครูเพลง ที่ทิพย์ชอบ
“ข้าเล่นให้พวกเอ็งฟังแล้ว ดูแล้วจำ ฟังให้เข้าหูแล้วหมั่นฝึกฝน” ไม่ทันจะขาดคำ ความอ่อนโยนก็หายวับ
“โว้ย จับก้านแบบนี้ไม่ถูก สอนกี่ครั้งไม่รู้จักจำ” เสียงเที่ยงโมโหที่ลูกศิษย์สอนไม่ได้อย่างใจ คีตะที่นั่งอยู่ข้างๆ มือไม้สั่น เหงื่อแตกพลั่ก ไม่รู้จะทำอย่างไร ในใจเกรงกลัวผู้เป็นครูอย่างที่สุด ลูกศิษย์คนอื่นๆ มองหน้ากันเลิ่กลั่ก รอยยิ้มมุมปากเล็กน้อยหายวับไปทันที ความอ่อนโยนหลบซ่อนกลับไปในมุมลึกสุด
“ผมขอโทษครับครู” สินตอบด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ คีตะมองสินอย่างให้กำลังใจ ตอนแรกเขาสะดุ้งโหยงเพราะแท้จริงแล้วเขานี่แหละที่บอกให้สินจับก้านแบบนี้ เขาได้แค่มองหน้าสินอย่างรู้สึกผิด ในสมองพยายามประมวลผลการสอนที่ครูเที่ยงพยายามพร่ำสอนมาหลายสัปดาห์ เขารู้ดีว่าเขาเล่นดนตรีไทยไม่เก่ง ในครอบครัวทุนคนเป็นนักดนตรี พ่อคาดหวังในตัวเขาอย่างที่สุด เพราะเขาแยกเสียงได้เก่ง มีไหวพริบ หรือเรียกว่ามีคุณสมบัติของนักดนตรีอย่างเต็มที่
“ไอ้เที่ยง เอ็งก็อย่าไปดุมันนักเลย เรียนไม่กี่ครั้งจะให้มันเก่งได้อย่างไร”
โจงกระเบนสีน้ำตาลเข้ม ตัดกับเสื้อขาวบาง ผ้าขาวม้าสีขาวน้ำตาลดูเย็นตา นพ หรือครูนพ ครูผู้เงียบขรึม ขัดกับหน้าตาที่ดูเป็นคนคารมดี ใจดีและใจเย็น แม้น้ำเสียงเขานุ่มนวลชวนฟัง แต่น้อยครั้งเหลือเกินที่จะได้ยินเสียงครูนพ ครูนพในสายตาคีตะดูเป็นคนเข้าถึงยาก ไม่เป็นมิตรเอาเสียเลย ใบหน้าเรียวได้รูป กับคิ้วยักษ์ที่ดูเท่และแปลกตา นิสัย ท่าทางดูแตกต่างกับเที่ยงราวฟ้ากับเหว
เที่ยงถอนหายใจ ตอบอย่างใจร้อน
“เอ็งก็เป็นเสียอย่างนี้ เจ้าคีตะมันถึงได้ใจกว่าคนอื่น” คีตะยิ้มกะล่อนให้ครูเที่ยง
“เอ็งลืมไปแล้วหรือ กว่าข้าจะเล่นซอด้วงเป็นเอ็งก็ถอนหายใจไปกี่สิบครั้ง ข้ากับซอเนี่ยไปด้วยกันได้เสียเมื่อไหร่” นพช่ำชองกับระนาดเอกมาก เมื่อไหร่ที่เขาจับไม้นวมคู่นั้น แววตามุ่งมั่น เคร่งขรึม ดุดัน แตกต่างจากเที่ยงที่ดูอ่อนโยนเวลาจับซอด้วงเสียเหลือเกิน
“เจ้าคีตะนี่ก็แปลก แปลกทั้งชื่อ เสื้อผ้าหน้าผม พูดก็แปลก ลักษณะท่าทางไม่เหมือนคนยุคนี้” น้ำเสียงฟังแล้วชวนขนลุก เหมือนกำลังจ้องจับผิดใครสักคนอยู่ ทั้งที่เป็นแค่ข้อสงสัยของนพเท่านั้น ก็ไม่แปลกเพราะทุกคนที่อยู่ในโรงสอนดนตรีต่างประหลาดใจกับการมา การไปของคีตะอยู่ประจำ ถามถึงบ้านก็ตอบไปเรื่อย ถามถึงพ่อแม่ก็บอกอยู่ไกล บทจะมาก็โผล่มา บทจะไปก็หายวับไป
รอยยิ้มแหยๆ ทำหน้าไม่ถูกของชายหนุ่มที่เดินทางข้ามยุคมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ปรากฏขึ้นชัดเจน เขาได้แต่นั่งยิ้มกลบเกลื่อนเรื่องราวของตนเอง ใช่ว่าเขาไม่เคยพูดให้ใครฟังเสียที่ไหน สิน เด็กหนุ่มรุ่นราวคราวเดียวกับคีตะ เป็นเพื่อนเล่นกันมาตั้งแต่คีตะย้อนเวลากลับมาได้ สินเคยช็อกเป็นลมหมดสติ เพราะเห็นคีตะหายตัวไปต่อหน้าต่อตา สินจึงกลายเป็นเพื่อนที่คีตะไว้ใจเพียงคนเดียวในยุคนี้ สินเป็นคนเรียบร้อย พูดเพราะ ซื่อๆ ใครพูดอะไรก็ไม่เคยตั้งคำถาม เชื่อฟังทำตามทุกอย่าง เป็นหนุ่มหน้าตาดี บ้านมีฐานะสำหรับคนทำการค้า แต่ชอบถูกครูเที่ยงต่อว่าอยู่เนื่องๆ เพราะบ้านเขาค้าขายกับฝรั่ง
“ไม่เห็นจะแปลก มันก็แค่เด็กทั่วไปเหมือนเจ้าสิน แค่กะล่อนกว่านิดหน่อย” เที่ยงดูออกว่าคีตะไม่อยากถูกนพไต่สวนเท่าไรนัก เที่ยงมักจะช่วยคีตะตอบคำถามจากคนทั่วไป
“เป็นญาติฝ่ายไหนของเอ็งวะไอ้เที่ยง ข้าอยู่กับเอ็งมาก็นาน ไม่เห็นเอ็งเคยพูดถึง”
“เออ ญาติจากทางเหนือมาฝากไว้ ตอนเอ็งไม่อยู่ไปเข้าวังหลวงนั่นแหละ” นพเงียบไม่พูดไม่จา สีหน้านิ่งเรียบเฉย หันมามองหน้าคีตะอย่างพิจารณา
ลมพัดเย็นปะทะใบหน้า หอบพัดเอาเสียงคนงามคล้ายนกกระเวทลอยมาติดหู เสียงขับร้องใสดังกังวาน ล่องลอยมาตามสายลม ครูสายพิณ ครูสาวสวยแห่งโรงสอนดนตรี ทุกคนเงยหน้าหันไปมองตามเสียงที่ลมพัดพามา สายพิณกำลังนั่งสอนลูกศิษย์ชายหญิงขับกลอนอยู่เรือนริมน้ำ เสียงขับกลอนไพเราะดังไปทั่วคุ้ง คนพายเรือผ่านไปมา ต่างหยุดฝีพายปล่อยให้เรือค่อยๆ แล่นไปตามกระแสน้ำอย่างเชื่องช้า เหมือนกลัวเสียงนั้นจะหายไป แต่พอลูกศิษย์เริ่มขับกลอน ฝีพายก็รีบจ้ำ เป็นช่วงเวลาตลกๆ ของครูเที่ยงที่ได้เห็นทุกครั้ง ผิดกับครูนพหน้านิ่วคิ้วขมวดไม่พอใจอยู่ตลอดเวลา ลูกศิษย์ยกมือไหว้ลาครู พร้อมกับเก็บของแยกย้ายกันกลับเรือน บ้างรออยู่ท่าน้ำ บ้างเดินออกไปด้านหน้าโรงสอนดนตรีเพื่อเดินกลับบ้าน
“พี่เอาน้ำมาให้พิณจ้ะ” เที่ยงเดินถือถาดน้ำ ข้างๆ มีมะนาวฝานบางๆ และน้ำผึ้งเดือนห้าที่หวานหอมอร่อย
“ขอบคุณจ้ะพี่เที่ยง รู้ใจพิณที่สุดเลย”
“ครูเที่ยง ดูแลครูพิณดีจังเลยนะครับ” คีตะแอบเดินตามมา เที่ยงขาไวกว่ามือ ยกขาขึ้นไปเตะตูดชายหนุ่มที่กำลังหัวเราะ ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ที่แซวตนเองได้ คีตะกระโดดหลบแล้ววิ่งอย่างไวไปคล้องคอสิน ชวนกันไปเดินตลาด แดดยามเย็นกระทบผิวน้ำ กระทบแก้มขาวๆ ทำให้ดูแก้มแดงระเรื่อ คล้ายคนกำลังเขินอาย เที่ยงนั่งข้างๆ บีบมะนาวผสมน้ำผึ้งคนให้เข้ากันกับน้ำอุ่น ความเอาใจใส่ของเขาทำให้สายพิณหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง เบื้องหลังยังมีสายตาอีกคู่หนึ่งที่กำลังมองลงมาจากชานโรงสอนดนตรี สายตาคู่นั้นมองภาพไม่ชัดเจนคล้ายมีม่านน้ำมาบดบัง นพยืนมองภาพของสายพิณกับเที่ยง มือหนาปาดน้ำตาที่กำลังเอ่อล้นออกมาไม่ให้ไหล หายใจเข้าเต็มปอด มือกำหมัดแน่น แม้ใจของเขาจะเจ็บแต่ภาพของสายพิณที่กำลังมีความสุข คือ ความสุขของเขาเช่นกัน
“ครูเที่ยงใจดีจังเลยเนอะ”
ตลาดบกกำลังคึกคัก เสียงพ่อค้าแม่ขายกำลังคุยกับลูกค้าอย่างสนุกสนาน ของกินเรียงรายให้เลือก ทั้งขนมไทย ขนมจีน แต่ไม่ใช่ของคนจีน ขนมจีนมาจากบางประอิน กินคู่กับแกงกะทิกับผักสดๆ อร่อยจนคนนั่งทานยกชามซดน้ำ เดินไปสักพักเจอลูกชิ้นปิ้งกำลังถูกเสียบไม้นำไปวางบนเตาถ่าน ผู้คนยืนรอคอยหวังได้ทานของอร่อยกันยาวเยียด มีก๋วยเตี๋ยวอยู่อีกร้านสองร้านเบื้องหน้า ลูกเล็กเด็กแดงวิ่งลิ่วตัวลอยไล่จับกันอย่างไม่ระวังคน เสียงผู้หญิงตะโกนไล่หลัง ดูอลม่านกันพอตัว คีตะกับสินเดินคุยกันมาระหว่างทาง ได้ยินบ้างไม่ได้ยินบ้าง ในมือสินมีลูกชิ้นปิ้งอยู่ 4 ไม้ หวังจะกินคนเดียวแต่ที่ไหนได้ คีตะคว้าหยิบไปเป็นของตัวเองเสียไม้นึง
“เมื่อครู่คีร์พูดว่าอะไรนะ ฉันฟังไม่ค่อยได้ยิน” ในปากสินยังมีลูกชิ้นที่ยังเคี้ยวไม่หมด พูดไปกินไปอย่างเอร็ดอร่อย
“บอกว่า ครูเที่ยงใจดีเนอะ” คีตะนึกถึงครูเที่ยงก็แอบหัวเราะ ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ เขาอยากกลับไปหาสลิลทิพย์เล่าเรื่องครูเที่ยงให้ฟังไวๆ
“ใจดียังไงวะ ดุจะตาย วันนี้ตีมือข้าซะแดง” สินไม่สบอารมณ์กับครูเที่ยง เขาไม่เคยรู้สึกว่าครูเที่ยงใจดีหรืออ่อนโยน หรืออบอุ่นอย่างที่คีตะรู้สึก สินค่อนข้างแปลกใจเสียด้วยซ้ำที่คีตะปลาบปลื้มครูเที่ยงมากกว่าครูนพ ทั้งๆ ที่ใครๆ ที่รู้จักทั้งสองคน ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าครูนพใจดี อบอุ่น อ่อนโยน
“ครูสายพิณกับครูเที่ยง เขาเป็นแฟนกันหรือ” มือของสินทุบอกตัวเองแทบไม่ทัน ลูกชิ้นในปากแทบติดคอ ถึงขั้นสำลัก ตาแดงน้ำตาไหลกับคำพูดของเพื่อนสนิท สีหน้าสินมองหน้าคีตะอย่างงุนงง คิ้วขมวดแทบติดกัน
“ไม่มีทางเป็นไปได้ ครูสายพิณเนี่ยนะเป็นแฟนครูเที่ยง เพ้อเจ้อแล้ว” สินยัดลูกชิ้นใส่ปากคีตะ เป็นเชิงขอให้ไม่ต้องพูดอะไรออกมาอีก กินลูกชิ้นในมือไปจะได้สงบปากสงบคำกับเขาบ้าง เพราะตั้งแต่เดินออกมาคีตะพูดไม่หยุด สงสัยใคร่รู้ไปหมด
“ถึงเวลากลับบ้านเมืองของคีร์หรือยัง”
“ไม่รู้สิ ฉันควบคุมเวลามากับเวลากลับไม่ได้ ต้องได้ยินเสียงสัญญาณเท่านั้นน่ะ”
“เสียงอะไร” สินอยากรู้ เพราะตั้งแต่รู้จักกันมาเขาไม่เคยได้ยินเสียงอะไรสักอย่าง แม้กระทั่งตอนคีตะปรากฏตัวหรือตอนเขาหายตัวไป
“เสียงซอด้วง ทำนองเพลงแปลกๆ ไม่น่าใช่เพลงที่ทุกคนรู้จัก เหมือนเป็นเพลงที่แต่งให้ใครสักคนโดยเฉพาะมากกว่า” หลังจากที่คีตะพูด สินก็หน้าซีดเหมือนเห็นผี เขารู้ดีกว่าเสียงที่คีตะได้ยินคือเพลงอะไร เสียงทำนองคะนึงหา โหยหวนถึงความรักที่ไม่สมหวัง แต่เป็นเสียงแห่งการสารภาพรักที่มีต่อหญิงอันเป็นที่รัก
พูดมากไปแล้วไอ้สิน
เสียงหนักแน่น น่ากลัว ค่อยๆ เปล่งออกมาช้าๆ คล้ายคนพูดยานคาง ลอยเข้าหูสินอย่างไม่ได้ตั้งตัว เนื้อตัวสั่นขนลุก แววตาเปลี่ยนสีกลายเป็นสีแดงก่ำเหมือนคนกำลังจะร้องไห้ ถุงลูกชิ้นในมือหล่น แต่คีตะคว้าไว้ได้ทัน เขาเงยขึ้นมามองหน้าที่ซีดเซียวของสิน ดวงตาแดงก่ำ คีตะคว้ามือสินไว้ทำให้รู้ว่ามือของสินสั่นระริกเหมือนผีเข้า
“สิน สิน เป็นอะไร ทำใจดีๆ ไว้” คีตะคิดว่าลูกชิ้นติดคอ เขาเอามือทุบหลังสินแรงๆ อยู่สองสามทีจนสินได้สติ
“ฉันขอตัวกลับก่อนดีกว่า กลับบ้านดีๆ ล่ะ” มือจับไหล่คีตะเบาๆ แล้วรีบเดินแยกทางออกไป สินมองซ้ายมองขวาเหมือนระแวดระวังอะไรสักอย่าง รีบจ้ำอ้าวหายลับไปจากสายตาคีตะ ปล่อยให้คนหลงยุคยืนงงในดงตลาดอยู่คนเดียวกับถุงลูกชิ้นของเขา คีตะไม่ได้สนใจใคร่รู้อะไร เดินดูชาวบ้านดูผู้คนต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเขาได้ยินเสียงซอด้วงบรรเลงอีกครั้ง เขามองซ้ายมองขวาไม่เห็นอะไร พลันหยุดสายตามองเบื้องหน้าเห็นแสงสว่างไรๆ สีเหลืองทองค่อยๆ จ้าขึ้น ร่างกายของเขาเหมือนถูกดูดเข้าไป โดยไม่ต้องเดิน ไม่ต้องวิ่งจากสถานที่ตรงนั้นแม้แต่นิดเดียว
ไม่ชินสักทีนะเรา
คีตะกลับมายืนอยู่กลางห้องเก็บเครื่องดนตรีเก่าของพ่อและแม่ ที่ชั้นสองมุมในสุดของบ้าน รอบกายเขามีทั้งระนาดเอกสมัยรัชกาลที่ 5 วางอยู่ในกระจกตู้โชว์ มีขิมโบราณ มีจระเข้โบราณ ฉิง กรับ กลอง โพน ปี่ ขลุ่ย ของโบราณเต็มไปหมด และที่มุมห้องในสุดเป็นตู้โชว์ที่มีฝุ่นเกาะหนาเตอะอยู่ด้านบนกระจก ภายในเป็นซอด้วงโบราณ สภาพดูเหมือนผ่านมือผู้เล่นมาหลายคน สีไม้มีบางจุดเข้มบางจุดอ่อน บ้างเป็นสีน้ำตาล บ้างเป็นสีน้ำตาลแดง บ้างเป็นสีแดงฝังอยู่ในเนื้อไม้ ก้านคันซอก็ขาดวิ่นไม่เคยมีคนเปลี่ยนหางม้าและเอ็นสี
‘ซอด้วงเครื่องนี้น่าจะถูกลืม’ คีตะคิดในใจ
เดี๋ยวเอ็งก็จะจำข้าไปจนวันตาย
- READ ยามเสียงเพรียกหา บทที่ 10 : บทเพลงท่อนสุดท้าย
- READ ยามเสียงเพรียกหา บทที่ 9 : ร้องบรรเลงเพลงประสาน
- READ ยามเสียงเพรียกหา บทที่ 8 : ตัวโน้ตที่เปลี่ยนแปลง
- READ ยามเสียงเพรียกหา บทที่ 7 : ความลับต่างภพ
- READ ยามเสียงเพรียกหา บทที่ 6 : เรือนการเวก
- READ ยามเสียงเพรียกหา บทที่ 5 : เรื่องเร้นที่ซ่อนลับ
- READ ยามเสียงเพรียกหา บทที่ 4 : บทเพลงแห่งรัก
- READ ยามเสียงเพรียกหา บทที่ 3 : อัฏฐกรเมธา
- READ ยามเสียงเพรียกหา บทที่ 2 : เสียงเพรียกจากอดีต
- READ ยามเสียงเพรียกหา บทที่ 1 : ซอสะอื้น