ยามเสียงเพรียกหา บทที่ 3 : อัฏฐกรเมธา

ยามเสียงเพรียกหา บทที่ 3 : อัฏฐกรเมธา

โดย : สิรี กวีผล

Loading

ยามเสียงเพรียกหา นวนิยายจากโครงการอ่านเอาก้าวแรกปี 4 โดย สิรี กวีผล เรื่องราวความหลงใหลในเสียงดนตรีและความเข้าใจผิดจนกลายเป็นแรงอาฆาตแค้น บทเพลงรักจะกลายเป็นบทเพลงแค้น ทำนองรักจะกลายเป็นเศร้าเคล้าน้ำตาอย่างไร ติดตามกันได้ในเว็บไซต์ anowl.co

In sleep he sang to me in dreams he came, that voice which calls to me and speaks my name. ไลน์ประสานขับร้อง หลังจากคีตะลีดกีตาร์ (Lead Guitar) ในเมโลดี้สวยๆ ของบทเพลงคลาสสิกอย่าง Phantom of the opera

คีร์มาในฉบับที่แปลกตากว่าไปเจอสลิลทิพย์ที่บ้าน ชุดสูทสีน้ำเงินเข้ม ตัดกับเสื้อเชิ้ตสีขาวที่กระดุมหลุดหายไปหลายเม็ด เผยให้เห็นรูปร่างส่วนบนเล็กน้อย ตามความตั้งใจของเจ้าของเรือนร่างใบหน้าเรียวรูปไข่เป็นเอกลักษณ์ของตระกูลอัฏฐกรเมธา หน้าใส คิ้วเข้มเรียงตัวสวย ตวัดกลายขึ้นเหมือนคิ้วยักษ์ ชายหนุ่มยักคิ้วเล็กน้อย ก่อนลงมือดีดสายกีตาร์ไฟฟ้าตัวโปรด เสียงโห่ร้องยินดี เสียงปรบมือจากเหล่านักเรียนสาวเล็ก สาวใหญ่ พนักงานชาย-หญิง เหล่า LGBTQ+ และเหล่าสื่อมวลชนกันเกรียวกราว ความหนักแน่น แต่ดูอบอุ่น และอ่อนโยนเมื่ออยู่เบื้องหลังเครื่องดนตรี ลูกชายคนเล็กของเจ้าของโรงเรียนดลยกวี ที่มีสาขาไปทั่วประเทศได้โซโล่กีตาร์จบเพลง รอยยิ้มมีเสน่ห์มากับลักยิ้มเล็กๆ พร้อมกับความมือไม้อ่อนและปากหวานของเขา ทำให้เขาเป็นที่รักของเหล่านักเรียนและพนักงานทุกคน

“คู่ 3  บีแฟลชเพี้ยน เวลาไล่คู่ 3 ไป 4 5 ยังไม่ลื่นหู” คณินทร์ตบไหล่คีตะที่กำลังยิ้มขอบคุณเสียงปรบมือ สีหน้ายิ้มแย้มเหมือนไม่ได้ยินเสียงที่พ่อกำลังพูด

 สายหย่อนลงนิดเดียว

หูของคีตะก็ได้ยินเช่นเดียวกัน หลังจากที่เขาได้เล่นไปสักพักเหมือนตัวล็อกสายกีตาร์จะมีปัญหา แต่เขาก็ยังรับผิดชอบบทเพลงของเขาอย่างดีที่สุดในทุกครั้ง คีตะมองการเล่นดนตรีเป็นศิลปะคอยจรรโลงจิตใจ จรรโลงโลก ทำให้โลกน่าอยู่ เขาชอบหนีโลกจมอยู่กับเครื่องดนตรีได้ทั้งวัน เหมือนเครื่องดนตรีและเสียงเพลงเป็นกำลังใจ เป็นสิ่งเดียวที่เหนี่ยวรั้งเขาให้อยู่บนโลก คีตะเชื่อว่าแม้ยามที่คนไม่ต้องการเสียงเพลง แต่เสียงเพลงก็ยังคงทำหน้าที่อยู่ข้างๆ เป็นคลอเคลียเบาๆ แม้จะไร้ตัวตนแต่สัมผัสได้ถึงความอบอุ่น เสียงเพลงและเครื่องดนตรีมีชีวิตจิตใจ รู้ว่ามนุษย์ต้องการอะไร ยามเหงาเพลงเหงาหรือเครื่องดนตรีก็พากันร่ำร้องกันอย่างช้าๆ ยามรักเพลงรักและทำนองก็แสนจะกินใจ

“ดนตรีมีไว้ประโลมจิตใจ คอยปลอบโยน ไม่ใช่หาผลประโยชน์แบบพ่อ” คีตะพูดเบาๆ ให้คณินทร์ได้ยินก่อนทั้งคู่จะเดินฉีกยิ้มไปพบกับเหล่านักเรียน พนักงาน และสื่อมวลชนทั้งหลาย

 

ลูกชายของคุณคณินทร์เก่งกันทุกคนเลยนะครับ

เสียงชื่นชมหนาหู คำยินยอที่ คณินทร์ มักปลาบปลื้มอยู่ในใจลึกๆ ชายวัย 45 ปี ผู้ประสบความสำเร็จในการสานต่อธุรกิจโรงเรียนดนตรีดลยกวีต่อจากผู้เป็นพ่อได้อย่างดี ชายวัยกลายคนผู้มีดวงตามุ่งมั่น แฝงความทะเยอทะยานอยู่ภายใน รูปร่างสูงกำยำ เป็นผลจากการออกกำลังกายอยู่เนื่องๆ เขาวางแผนชีวิตให้กับลูกๆ ทุกคน จัดภาพลักษณ์ของครอบครัวอัฏฐกรเมธาให้ดูยิ่งใหญ่ น่าเคารพ และเป็นครอบครัวสมบูรณ์แบบ เพราะคณินทร์ดำเนินชีวิตตามแบบที่พ่อของเขาวางไว้ให้จนประสบความสำเร็จ เขามั่นใจว่า ลูกๆ ต้องเชื่อฟังและเดินตามเขาอย่างที่เขาเคยทำมา คณินทร์ดูแลเครื่องดนตรี และหมกมุ่นกับเสียงเพลงมากกว่าลูกๆ ด้วยซ้ำ ความมุ่งมั่นในความต้องการที่จะสานต่อความรู้ทางดนตรี ไม่ว่าจะเป็นดนตรีไทยหรือดนตรีสากลอยู่ในสายเลือดของเขาอย่างเข้มข้น จนกลายเป็นโรคเพอร์เฟ็กต์ชันนิสต์โดยไม่รู้ตัว ด้วยความเป็นคนตรง แสดงออกไม่เก่งมาแต่ไหนแต่ไร ปากอย่างใจอย่าง ทำให้เขากับคีตะไม่เคยลงรอยกัน คีตกานต์ ภรรยาของเขารู้ดีกว่าใคร

“คุณก็อย่าไปว่าลูกนักเลย คีตะของเราเก่งแค่ไหนคุณก็รู้” คีตกานต์เดินเข้ามาจับมือคณินทร์เป็นนัยที่คอยปรามเขาไม่ให้ควบคุมลูกจนเกินไป คีตกานต์เป็นคนรักแรกของเขา เขาเคยเปรียบตัวเองเป็นเครื่องดนตรีและคีตกานต์คือเครื่องกำกับทำนอง ให้เดินตามร่องตามรอย ไม่สะเปะสะปะ เธอคอยเป็นที่ตีจังหวะ ตีให้เขาอยู่กับร่องกับรอย คอยเตือนสติ คอยให้กำลังใจ นัยน์ตาของเธอเป็นประกายเสมอ เหมือนน้ำทิพย์ชโลมจิตใจของเขา คิ้วบางถูกจัดตกแต่งให้เป็นทรงดังคันศร รับกับใบหน้าอย่างสวยงาม ความใจเย็นของคีตกานต์เอาชนะคณินทร์ที่ร้อนดั่งไฟได้ และเป็นที่พึ่งพิงของลูกๆ ได้เสมอ

“ต่อไปเป็นโชว์เดี่ยวเปียโน จากคุณคณณัฐ อัฎฐกรเมธา” เสียงพิธีกรกำลังดำเนินรายการต่อ ตามด้วยเสียงปรบมือและเสียงโห่ร้องยินดีอย่างล้นหลาม

คณณัฐ หรือ ณัฐ มาในชุดสูทสีดำ รองเท้าหนังขัดมันเงาวับ ต่างกับคีตะที่แม้ท่อนบนจะเป็นสูท แต่แทรกสไตล์เกาหลีขาห้าส่วนและรองเท้าผ้าใบสีขาว คณณัฐเป็นหนุ่มเจ้าระเบียบ ผมถูกจัดเซตทรงมาอย่างภูมิฐาน เผยให้เห็นใบหน้าเรียวใส ดูสะอาดตา ตัดกับคิ้วหนาและคมเข้ม จมูกเป็นสันได้รูปเช่นเดียวกับผู้เป็นแม่ รอยยิ้มเล็กน้อยที่แทบจะไม่เห็นถ้าไม่สังเกต แง้มออกมาเล็กน้อย ก่อนเจ้าตัวจะนั่งลงหน้าเครื่องดนตรีสุดรักอย่างเปียโน นิ้วเรียวยาว มือขาวสะอาดเผยให้เห็นเส้นเอ็น เส้นเลือดสีเขียวอ่อนๆ ดูชวนหลงใหล นิ้วทั้งสิบค่อยๆ จรดลงบนแป้นเปียโนอย่างหนักแน่น ทว่าพลิ้วไหว ข้อนิ้วเรียวงอได้รูป นิ้วทั้งสิบสอดประสานกันบรรเลงบทเพลงอย่างไร้ที่ติ มีทั้งความหนักแน่น และอ่อนโยน บางเสียงลากยาวเหมือนไม่อยากให้สิ้นสุด โดยใช้แพดเดิ้ลขวาสุดลากเสียงให้ยาวก่อนจะจบเพลง

         

ไม่ได้ดีที่สุด ต้องไพเราะกว่านี้ให้ได้

คณณัฐลุกขึ้นโค้งคำนับทุกคน ก่อนจะเดินลงจากเวที รอยยิ้มภูมิใจของคณินทร์เกิดขึ้นบนใบหน้า เขาเดินเข้ามาโอบไหล่ลูกชายคนโตอย่างภาคภูมิใจ คณณัฐเฉยชากับการกระทำเหล่านี้เสียจนอยากจะตะโกนออกมา เขาไม่เคยรู้สึกว่าการเล่นดนตรีของเขาสมบูรณ์แบบ

‘มันต้องดีกว่านี้ มันจะเหมือนเดิมทุกครั้งไม่ได้’ ความคิดครุกรุ่นอยู่ในหัวสมองของเขาตลอดเวลา คิ้วเรียงสวยเข้มขมวดชนกันเบาๆ แต่เสียอย่างไรเขาก็ยินดีทุกครั้งที่ได้รับเสียงปรบมือ และมองเห็นรอยยิ้ม รวมทั้งแววตาที่มีความสุขจากคนฟังของเขาทุกคน

เสียงอื้ออึงดังประสานกันเป็นเชิงกดดัน คล้ายเสียงโห่ร้องแสดงความต้องการจากคนฟัง เกิดขึ้นจากกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง แล้วค่อยๆ ดังต่อไปอีกกลุ่ม และลามไปอีกกลุ่มจนทั่วทั้งบริเวณจัดงาน เสียงนั้นตะโกนดังขึ้นมาจนฟังชัดเจน

“เล่นอีก เล่นอีก เล่นอีก” พิธีกรบนเวทีถึงกับพูดไม่ออก ในสคริปต์ไม่มีเรื่องนี้ และเวลาในการใช้สถานที่ก็ใกล้จะหมด แววตาอ้อนวอนขอร้องถูกส่งตรงลงมายังคณินทร์และคีตกานต์ เป็นเชิงขออนุญาต ทั้งสองคนมองหน้ากันอย่างไม่ค่อยสบอารมณ์ คีตกานต์คล้องแขนคณินทร์ไว้เป็นเชิงบอกให้ใจเย็น คณินทร์มองหน้าลูกทั้งสองคน คีตะและคณณัฐรู้ทันทีว่านี่คือคำสั่งที่ต้องทำตาม ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

“เพื่อคนฟังของดลยกวีของเรา ผมจะทำวันนี้ให้พิเศษที่สุดครับ” คณินทร์พูดใส่ไมค์อย่างอารมณ์ดี พร้อมกับรอยยิ้มจริงใจ เป็นกันเองที่สุด เขาผายมือให้กับลูกๆ ทั้งสองคน

คีตะ คณณัฐ เดินขึ้นมาบนเวทีอีกครั้ง ทั้งสองยืนคู่กันอย่างสง่าผ่าเผย เป็นภาพที่น่ามองและชวนหลงใหล คณณัฐหยิบไวโอลินขึ้นประคองที่บ่าในท่าที่ถนัด เชยคางเล็กน้อยบนเครื่องสี คันชักถูกหยิบขึ้นมาจับที่ Frog วางมือราวกับจับปากกาคู่โปรด ข้างกันคีตะนั่งพับเพียบในท่าสุภาพบนตั่งไม้ที่คนดูแลงานยกขึ้นมาวางไว้ให้เพื่อการแสดงครั้งนี้ เขานั่งพร้อมกับหยิบซอด้วงขึ้นมาวางที่ขาข้างหนึ่ง มือจับคอซอด้วงเพื่อเรียงนิ้วจับสาย อีกมือหนึ่งจับก้านสีให้ถนัดมือ พี่น้องทั้งสองมองหน้าเป็นสัญญาณให้กันและเพื่อบรรเลงเพลง คนดูคนเดินผ่านไปมาต่างหยุดมอง เสียงโห่ร้องยินดีกังวาลไปทั่วบริเวณ เสียงปรบมือคล้ายเสียงกำลังใจแทนการพูดจากเบื้องหน้าเวทีของทั้งสองคน รอยยิ้มและสายตาแห่งความสุขส่งถึงพวกเขาอย่างเต็มที่ คณณัฐเริ่มนำเพลงบรรเลงที่เขาเลือกขึ้นเป็นเพลงหวานๆ ซึ้งๆ ที่นำด้วยเครื่องสายฝรั่ง หรือดนตรีสากลอย่างที่เราคุ้นเคย มีลูกรับด้วยซอด้วง เครื่องดนตรีไทยที่คีตะเลือกเล่น เขาอยากอวดผู้เป็นพ่อด้วยเครื่องดนตรีชนิดนี้ที่เขาไม่เคยเล่นให้พ่อเห็นเลยสักครั้ง

 

เจ้าคีร์เล่นซอด้วงได้ด้วยหรือ

คณินทร์มองคีตะอย่างประหลาดใจ คีตะสีซอด้วงได้อ่อนนุ่ม ละมุน และไพเราะ เกินกว่าใครที่เขาได้ยินมา เสียงซอด้วงถูกต้องตามโน้ตเพลง สายขึงแข็งแรงและหางม้าถูกขึงได้อย่างพอเหมาะ ไม่มีสิ่งใดจะสมบูรณ์แบบได้มากกว่านี้ มือที่จับ ท่านั่งที่ลงตัว ส่งเสริมให้คีตะดูเหมือนกำลังล่องลอย เหาะอยู่บนวิมานในอากาศ ผิดกับคณณัฐที่ยืนตัวแข็งเล่นไวโอลิน แม้จะมีการขยับตัวย่อขา ยามที่เสียงสะบัด หรือยามลากสุดเสียงก็ยังไม่อ่อนหวานเท่ากับคีตะในยามนี้

นั่นเงาอะไร

คีตกานต์มองเห็นภาพซ้อนแปลกๆ ที่ตัวลูกชายคนเล็ก เธอเห็นเหมือนเป็นเงาดำๆ อยู่ในตัวลูกชาย คอยจับมือ จัดท่าทางไปตามเวลาที่คีตะขยับตัว ไม่ว่าเขาจะเล่นตัวโน้ตไหน มือจะแกว่งไปมาอย่างไร เงานั้นจะไปตามคีตะเสมอ คีตกานต์หยิบผ้าเช็ดหน้าเช็ดขอบตาของตนคล้ายขยี้ตา เมื่อมองอีกครั้งก็ไม่เห็นเงานั้นแล้ว เธอจึงคิดเอาว่าเป็นไฟสะท้อนบนเวทีเท่านั้น

 “คุณคะ” คีตกานต์รู้สึกร้อนๆ หนาวๆ จับมือคณินทร์แน่น จนทำให้คณินทร์สะดุ้งหลุดจากภวังค์ของซอด้วงที่ลูกชายคนเล็กกำลังเล่น เขามองหน้าภรรยาอย่างฉงนที่เห็นภรรยาของเขาหน้าซีด มือสั่นเบาๆ

“คุณเป็นอะไรหรือเปล่า ไปนั่งก่อนเถอะ ผมพาไป” คณินทร์ประคองภรรยาไปนั่งที่เก้าอี้ข้างเวที

 

“คุณแม่ทำใจดีๆ ไว้นะครับ”

น้ำตาลูกผู้ชายกำลังไหลอาบแก้ม นั่งกุมมือผู้เป็นแม่ในวัยชราที่นอนอยู่บนเปลหามในรถพยาบาล สายน้ำเกลือ สายวัดชีพจรรุงรังเต็มตัวไปหมด ปราณี หญิงชราในวัย 90 กำลังนอนไร้สติอยู่เบื้องหน้าของเขา ปราณีเป็นน้องสาวคนเล็กของปู่คีตะ เป็นญาติผู้ใหญ่คนเดียวที่เหลืออยู่ในตระกูลของเขา เชน หรือ คเชนทร์ ลูกพี่ลูกน้องของคณินทร์กำลังลุกลี้ลุกลน คอยวิ่งตามเตียงของผู้เป็นแม่ไม่ห่างจนกระทั่งต้องปล่อยแม่ไปในห้องฉุกเฉินกับหมอและพยายบาลเพียงลำพัง

“ครับ จู่ๆ แม่ก็แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก” คเชนทร์โทร.เล่าอาการให้คณินทร์ฟัง “คุณแม่ไม่เคยมีภาวะโรคหัวใจเลยครับพี่ณิน ตรวจสุขภาพครั้งสุดท้ายคุณหมอยังประหลาดใจถึงสุขภาพของคนวัยเก้าสิบอยู่เลย” ในน้ำเสียงมีภาวะสั่นเครือ พูดช้าเหมือนใจดวงน้อยๆ ได้แหลกสลายหายไปต่อหน้า ยามคเชนทร์เล่าเรื่องของแม่ให้คณินทร์ฟัง น้ำตาและภาพความทรงจำเก่าๆ ก็ยิ่งย้อนกลับเข้ามาหาเขาอย่างไม่รู้จบ

“เสียใจด้วยนะเชน ไว้พี่จะขึ้นไปช่วยงาน” ปลายจมูกและหูเริ่มแดงขึ้นทีละนิด เช่นเดียวกับแววตาที่เริ่มมีน้ำตาคลอ คณินทร์รับรู้เรื่องราวของอาณีหลังจากกลับถึงบ้านได้ไม่นานนัก

เสียงข่าวสารบ้านเมือง ดังออกมาจากทีวีขนาดใหญ่ที่ถูกแขวนไว้อย่างกลมกลืนบนผนังสีน้ำตาลเข้ม คีตกานต์หันไปเป็นสีหน้าแววตา ท่าทางของสามีก็เริ่มชะงัก เขายกมือขึ้นมาปาดน้ำตาหวังที่จะไม่ให้คนในบ้านสังเกตเห็น คีตกานต์ลุกขึ้นไปหาเขาที่เดินมาจากมุมห้องหลังหลบไปคุยโทรศัพท์อยู่พักใหญ่ แค่แววตาเป็นห่วงเป็นใยของเธอก็แทบจะทำให้คณินทร์ร้องไห้ออกมา ทว่าสายตาตั้งคำถามของลูกๆ ทั้งสองจ้องมองมาที่เขา ความอ่อนแอถูกซ่อนเร้นไว้ภายใต้ความเข้มแข็งที่สร้างขึ้นมาอย่างฉับพลัน คีตกานต์นั่งน้ำตาไหลอยู่ที่โซฟาใหญ่บริเวณห้องรับแขก เธอสนิทกับอาณีตั้งแต่สมัยเธอได้หมั้นกับคณินทร์ อาณีเปรียบเสมือนแม่อีกคนหนึ่งของเธอที่คอยดูแล ถามไถ่เอาใจใส่เธอยามเข้ามาอยู่ในตระกูลอัฏฐกรเมธา แต่หลังจากนั้นไม่นาน สามีของอาณีก็เสียไปในเวลาไล่เลี่ยกับปู่ของคณินทร์พี่ชายของเธอ ลูกชายคนเดียวของอาณีได้ทำงานเป็นหัวหน้ากรมตำรวจจึงขอย้ายไปอยู่เชียงราย ทำให้เธอกับอาณีไม่ค่อยได้เจอกันหลังจากนั้น เช่นเดียวกับที่คณินทร์ไม่ค่อยได้เจอกับคเชนทร์ผู้เป็นน้อง ข่าวคราวของแต่ละคนส่วนใหญ่มักรับรู้กันผ่านสื่อ เพราะลูกพี่ลูกน้องคู่นี้ต่างประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานของตนเองและมีชื่อเสียงพอๆ กัน

“แปลกจังนะครับ พอเรามีงานใหญ่ทีไร ต้องมีข่าวร้ายภายในบ้านตลอด” คณณัฐรู้สึกใจคอไม่ค่อยดี เขาเดินเข้ามานั่งข้างๆ ผู้เป็นแม่เหมือนเด็กๆ กำลังขอกำลังใจ คีตกานต์โอบลูกไว้ในอ้อมกอด คีตะขอตัวขึ้นห้อง

“นี่ลูกเล่นซอด้วงเป็นด้วยหรือ” น้ำเสียงไม่พอใจของพ่อเดินตามไล่หลังขึ้นมา

“สนใจด้วยหรือครับว่าผมเล่นเครื่องดนตรีอะไรได้บ้าง”

“เจ้าลูกคนนี้!”

“ผมมีครูที่ดี ที่คอยใส่ใจสั่งสอนผม พ่อไม่ต้องเป็นห่วง” น้ำเสียงคีตะเน้นย้ำคำว่า ใส่ใจสั่งสอน เพราะอยากแดกดันผู้เป็นพ่อที่ไม่เคยสนใจตัวเขา

“ฉันไม่ได้เป็นห่วง ก็แค่จะมาบอก โชว์ครั้งหน้าลูกก็เล่นซอด้วง ไม่ต้องไปเล่นดนตรีสากลเหมือนเจ้าณัฐ บ้านเราจะได้ยกระดับดนตรีไปอีกขั้น” คณินทร์ไม่ได้สนใจว่าลูกของเขาจะไปเรียนรู้ หรือเล่นเป็นมาจากไหน เขาสนใจแค่ว่า ลูกทั้งสองคนจะสร้างชื่อเสียงให้ตระกูลของเขาได้มากแค่ไหน

“ครับ” คีตะโน้มตัวคำนับเหมือนรับทราบคำสั่งของพ่อ ครับของเขาไม่ได้มีความหมายหรือใส่ใจอะไร ตอบรับไปเพียงเพราะหน้าที่ของตนเท่านั้น ประตูห้องถูกปิดอย่างแรงจนแรงลมปะทะผมของคณินทร์เบาๆ ความไม่พอใจส่งผ่านประตูบานนั้น ใช่ว่าคณินทร์จะไม่รับรู้ เพียงแต่เขาไม่อยากจะสนใจ

โตๆ กันหมดแล้วคงไม่เป็นอะไร

ลึกๆ ภายในใจ คณินทร์ก็อยากแสดงออกให้ลูกรับรู้ว่าเขาทั้งอยากรู้เรื่องราวของลูกทุกคน อยากดูแล อยากรู้ความรู้สึกของลูก แต่การเลี้ยงดูจากรุ่นสู่รุ่นทำให้เขาไม่เคยได้เรียนรู้ถึงการแสดงออกว่า ความเป็นห่วงของพ่อที่มีต่อลูกต้องเป็นอย่างไร เพราะพ่อของเขาหรือปู่ของคีตะเสียชีวิตไปตั้งแต่คณินทร์ยังเด็ก เขาเติบโตมากับญาติพี่น้อง และดิ้นรนสานต่อความฝันของพ่อด้วยตัวเอง

 

บรรยากาศรอบๆ บ้านหลังใหญ่ของครอบครัวอัฏฐกรเมธาวังเวง ร่มไม้กลายเป็นเงาไม้ทอดยาวในยามค่ำคืน ความเงียบสงัดถูกแทนที่ความเงียบสงบ ความอึดอัดถูกส่งผ่านมาจากสายลมที่พยายามแทรกตัวผ่านร่มไม้ต่างๆ คืนนี้ดูช่างยากเย็นกว่าทุกครั้ง แสงจันทร์ที่สว่างสดใสเกือบจะเต็มดวงก็พามีเมฆสีดำลอยตัวบดบังไปเกือบไม่เห็นเงา ความรู้สึกเหมือนมีสายตาประหลาด รุนแรง อาฆาต ส่งผ่านเมฆสีดำสนิทยามค่ำคืน

เสียงลมพัดผ่านคล้ายเสียงหัวเราะสะใจของใครบางคน จากสถานที่บางแห่ง ลมยิ่งแรงเท่าไรเหมือนความสะใจในน้ำเสียงมีมากขึ้นเท่านั้น

 



Don`t copy text!