ลุยป่า สัมผัสธรรมชาติ ดำดิ่งหยั่งลึกลงไปในใจคน ผ่าน ‘พยับฟ้าโพยมดิน’ ซีรีส์ผ้าลำดับที่ 10 ของ พงศกร (ตอนที่ 2)

โดย : กิ่งสุรางค์ อนุภาษ

Loading

ครั้งที่แล้ว เราพาคุณผู้อ่านไปสัมผัสเบื้องหลังก่อนมาเป็นนิยายเรื่อง พยับฟ้าโพยมดิน ครั้งนี้เลยจะมาคุยกันต่อกับคุณหมอโอ๊ตถึงผลงานซีรีส์ผ้าทั้ง 10 เรื่องว่า แก่นและแกนของเรื่องเหล่านี้อยู่ที่ไหน และทำยังไงถึงมีแรงบันดาลใจในการสร้างงานตลอดเวลา นอกจากนี้ยังมีคำถามส่งท้ายด้วยว่า จบ ‘พยับฟ้าโพยมดิน’ แล้ว เรื่องไหนคือลำดับถัดไป…

 

กระดูกสันหลังในซีรีส์ผ้าของ พงศกร

เมื่อเราถามถึงแก่นของซีรีส์ผ้าทั้ง ๑๐ เรื่องของพงศกรว่าคืออะไร คุณหมอก็ได้ตอบแบบตรงไปตรงมาว่า ‘ผ้า’

“แกนหลักของซีรีส์ผ้าคือผ้าหนึ่งผืน ถามตรงนี้เลยอยากเล่าเรื่องนี้ครับ เพราะบางคนก็จะมีคำพูดประมาณว่า ผ้าอีกแล้ว ผีอีกแล้ว ซึ่งน่าจะเป็นคนที่ไม่เคยอ่าน เพราะคนที่เคยอ่านนวนิยายที่เป็นซีรีส์ผ้าจะเห็นว่า ๙ เรื่องที่ผ่านมาไม่มีอะไรเหมือนกันเลย สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือแต่ละเรื่องจะมีผ้าที่เป็นผืนหลักของเรื่องซึ่งคือกระดูกสันหลังของทุกๆ เรื่องในซีรีส์นี้

“ผมรู้สึกว่าผ้าเป็นสิ่งที่คู่กับมนุษยชาติ พอมนุษย์มีวัฒนธรรมขึ้นมาก็จะมีเครื่องนุ่งห่มของแต่ละประเทศ พื้นที่แต่ละอาณาจักร แต่ละเมืองก็จะมีผ้าที่เป็นลักษณะเด่นของตัวเอง เหล่านี้คือการบันทึกวัฒนธรรม บันทึกวิถีชีวิต บันทึกความคิดของคนเอาไว้ ผ้าทุกผืนจึงเป็นมากกว่าผ้าธรรมดา อย่างลุนตยา จะเห็นเป็นลายเกลียวคลื่น เพราะว่าเป็นอาณาจักรที่อยู่ริมแม่น้ำอิรวดี ซึ่งอิรวดีมีคลื่นขนาดใหญ่ เขาจึงบันทึกเรื่องราวในวิถีชีวิตของเขาผ่านลายคลื่นน้ำ หรือว่ากิโมโนก็จะมีลักษณะเฉพาะของตัวเองอยู่ จึงมีความรู้สึกว่าผ้าหนึ่งผืนไม่ได้เป็นแค่เครื่องนุ่งห่มอย่างเดียว แต่เป็นการบันทึกชีวิตของคน

“ส่วนผ้าที่จะดึงให้ผมเข้าไปสนใจจะเป็นผ้าที่ดูเหมือนธรรมดาที่ไม่ธรรมดา อย่าง ผ้าห่มสะพักทองในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ผืนที่เป็นต้นกำเนิด สาปภูษา เป็นผ้าห่มสะพักทอด้วยด้ายทอง แต่ว่าที่มุมของผ้ามีรอยเปื้อน ซึ่งจริงๆ คงไม่มีอะไร อาจเพราะเก่าด้วยผ่านกาลเวลา แต่ตอนนั้นเราก็มานั่งคิดจินตนาการต่อว่า รอยอะไร เป็นเลือดหรือเปล่า

“ฉะนั้นเวลาเราหยิบผ้าแต่ละผืนขึ้นมาเล่า หมายความว่าแต่ละเรื่องก็จะมีผ้าหนึ่งผืนที่เป็นผืนหลัก แล้วร้อยเรื่องราวทั้งหมดของคนในเรื่องเข้ามาด้วยกัน มีเหตุการณ์ที่ต้องมามีเส้นชีวิตที่พาดผ่านกัน

“ถึงจะมีผ้าหนึ่งผืนเป็นแกนหลัก แต่ผมเลือกเล่าเรื่องไม่เหมือนกันครับ อย่าง สาปภูษา นี่ตั้งใจเล่าเลยว่าเป็นเรื่องผี หรือ เลื่อมลวง ซึ่งถ้าได้อ่านก็จะรู้ว่าจะโมเดิร์นหน่อย กึ่งๆ ไซโคทริลเลอร์ ฆาตกรรม สืบสวน หรือเรื่องกี่เพ้า เรื่องนี้ตั้งใจให้เป็นสืบสวน อกาธา คริสตี ใครฆ่า แต่ทุกเรื่องที่เหมือนกันคือมีผ้าผืนหลักที่จะนำเรื่องไปสู่ไคลแม็กซ์ที่นักเขียนวางเอาไว้ครับ”

ยิ่งเติบโตขึ้น งานเขียนยิ่งลึกซึ้งขึ้น

ในขณะที่นิยายเรื่องนี้กำลังให้ความบันเทิงกับนักอ่าน ระหว่างที่เขียน พยับฟ้าโพยมดิน คุณหมอเองก็ได้อะไรกลับมาเหมือนกัน

“ตอนนั่งเขียนก็ได้เห็นตัวละครในเรื่องนี้ว่า การที่ดิ้นรนไขว่คว้ามากๆ ไม่ได้ทำให้มีความสุข แต่กลับทำให้ทุกข์ด้วยซ้ำ อยากได้อันนั้น แต่ไม่มี ทำอย่างไรให้หามาได้ ก็ต้องทำสิ คนอื่นเขาก็ทำกัน ในขณะที่ตัวละครบางตัวเลือกที่จะใช้ชีวิตที่เรียบง่าย แค่นั้นก็มีความสุขแล้ว เวลาที่เราเขียนถึงตัวละครที่มีความแตกต่างกันอย่างนี้ก็ทำให้ได้หันกลับมาสำรวจตัวเองเหมือนกันว่า วันนี้เราต้องการอะไร ความสุขจริงๆ ของตัวเราคืออะไร เหมือนกับว่าเราเติบโตขึ้นระหว่างการทำงาน และการใช้ชีวิตด้วย

“ถ้าย้อนกลับไปตอนเขียน สาปภูษา นี่อยากเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ คนลาวมาอยู่รัตนโกสินทร์ เขียนด้วยความรู้สึกให้สนุกอย่างเดียวเลย แต่พอผ่านเวลาไป การเขียนก็ลึกลงไปในความคิดมากขึ้น คือพอเราอายุเยอะขึ้น ความคิดก็เปลี่ยนไปจากวันแรกที่เราเริ่มเขียนนิยายด้วยครับ”

 

เมื่อเรื่องชัดเจน ไม่มีทางที่จะเขียนไม่ออก

การเขียนนิยาย ๒ เล่มต่อปีไม่ใช่เรื่องง่าย แต่คุณหมอบอกว่าถ้ามี ‘วินัย’ ก็ทำให้งานสำเร็จเสร็จสิ้นได้

“สำหรับผมเองมีความรู้สึกว่านอกจาก พยับฟ้าโพยมดิน แล้ว ยังมีนิยายอีกหลายเรื่องมากที่อยากเขียน ในขณะที่อายุก็ยิ่งมากขึ้น เวลาในชีวิตเหลือน้อยลง เลยบังคับตัวเองว่าต้องมีวินัยมากๆ งานประจำก็ต้องทำอย่างไม่บกพร่อง ส่วนงานเขียนก็ใช้ช่วงเวลาที่ว่างนั่งลงแล้วก็เขียน ซึ่งบางวันก็ขี้เกียจแหละ (หัวเราะ) แต่เมื่อคิดว่าจะทำงานของเราให้เต็มที่ ก็เลยไม่ปล่อยเวลา เมื่อถึงเวลาปุ๊บก็จะนั่งลงและเขียนเลย”

ส่วนกรณีที่นั่งลงแล้วเขียนไม่ออก คุณหมอโอ๊ตบอกว่าไม่ค่อยมีปัญหานั้น

“เพราะก่อนที่จะเริ่มเขียนบทที่หนึ่งเราจะเห็นเรื่องนี้หมดทั้งเรื่อง เหมือนดูหนังจบทั้งเรื่องแล้วเลยรู้รายละเอียด จากนั้นก็แค่นั่งและเล่าออกมา อย่าง พยับฟ้าโพยมดิน ผมเห็นแล้วว่าสุดท้ายจะจบด้วยอะไร ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องบล็อก หรือจินตนาการไม่ได้ แต่จะมีปัญหาว่าเหนื่อย สุขภาพไม่ได้มากกว่า

“จากการที่เราทำคลาสสอนนักเรียนเขียนนิยาย ผมคิดว่าคนที่เขียนไม่ออก จริงๆ แล้ว น่าจะยังเห็นเรื่องไม่ชัด พอเขียนไปถึงจุดหนึ่งถึงไปต่อไม่ได้ ตรงนี้หมายถึงเชิงเทคนิคนะครับ แต่ถ้าเชิงอารมณ์ เช่น ตอนเขียนมีอะไรบางอย่างเกิดขึ้นเช่น มีญาติพี่น้องเสียชีวิต การงาน ธุรกิจ เศรษฐกิจมีปัญหา นี่เป็นปัจจัยภายนอก แต่ปัจจัยภายในคือกลวิธีการคิดนี่แหละ สำคัญคือถ้าเรายังเห็นเรื่องไม่ทะลุปรุโปร่ง เขียนไปแล้วมีโอกาสติดขัดหรือ บล็อกเยอะมาก  แต่อย่างที่เล่าไปว่าเมื่อเห็นภาพทั้งเรื่องแล้วเลยไม่มีปัญหาในการเขียนครับ แต่รายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ จะค่อยๆ มา เพราะวันนั้นเรายังไม่รู้หรอกว่านิยายจะมีกี่หน้า ยังไม่รู้หรอกว่าช่วงนี้ถึงช่วงนี้ดีเทลเยอะหรือน้อย กระชับสั้นหรือยาว ต้องเริ่มเขียนไปถึงจะค่อยๆ เห็นว่าช่วงนี้ต้องขยายละเอียดหน่อยนะ ช่วงนี้ไม่เป็นไร เดินทางกระชับได้ เพราะว่านักเขียนก็ต้องปรับตัวเนื่องจากยุคนี้นักอ่านไม่ชอบอ่านอะไรยาวๆ แต่เขาอยากรู้เรื่องไวๆ เพราะฉะนั้นพาร์ตที่ต้องให้เขารู้เรื่องไวๆ ก็ต้องให้เขารู้เรื่องไวๆ แต่ถ้าเป็นพาร์ตอารมณ์ ความรู้สึกของตัวละคร เราก็อาจต้องให้เวลาตรงนี้นิดนึง”

 

แรงบันดาลใจสร้างได้ด้วยตัวเอง

เคยนั่งคิดเล่นๆ เหมือนกันว่า คุณหมอเอาเรี่ยวแรงมาจากไหน ถึงสามารถเขียนได้อย่างต่อเนื่อง และยังมีพล็อตให้นำมาเล่าได้ราวกับมีคลังความคิดขนาดใหญ่อยู่ในตัวเองที่ใช้เท่าไหร่ก็ไม่หมด

“ผมมีความรู้สึกว่า โลกหมุนไป เราต้องหมุนตาม ต้องมีความเป็นคนอยากรู้ อยากเข้าใจ อะไรอย่างนี้ตลอดเวลา อย่างเห็นผ้าทังกา ก็ไม่ใช่แค่เห็นผ้าทังกาอยู่ในพิพิธภัณฑ์ แต่มานั่งคิดต่อว่า ใครทำ ทำทำไม ประเทศอื่นเขาทำแบบนี้ไหม คือเห็นแล้วต้องมีความสงสัยและอยากรู้ ตรงนี้จะทำให้สนุกกับทุกๆ อย่างที่หยิบขึ้นมาเขียน แต่ไม่ได้จะเกิดขึ้นแบบนี้เสมอไป ผ้าบางประเทศ เห็นแล้วรู้สึกเฉยๆ ก็มี แต่ผ้าบางอย่างก็รู้สึกว่าน่าสนใจจัง ดูมีสิ่งที่น่าศึกษาเรียนรู้อีกเยอะที่อยู่เบื้องหลัง เหล่านี้ก็จะพาเราไปสู่ชุดข้อมูลใหม่ๆ แล้วชุดข้อมูลใหม่ๆ เหล่านี้แหละที่จะจุดจินตนาการของเราขึ้นมา

“แต่ถ้าคุ้นเคยกับสิ่งหนึ่งแล้วเมื่อโลกเปลี่ยนไปเรากลับไม่เปลี่ยนตาม ตัวเรานั่นแหละจะมีคำถามและมีความไม่เข้าใจกับชีวิตมากมาย ตรงนี้จะบล็อกและทำให้ไม่สนุก ไม่อยากเขียนอะไร แต่ถ้าทำความเข้าใจกับโลกที่เปลี่ยนไป ทำความเข้าใจกับเจเนอเรชันที่เปลี่ยนไป ปรับตัวเอง และศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ ตลอดเวลาก็จะทำให้เราสนุกกับการคิดอะไรใหม่ๆ กับการทำงานชิ้นใหม่ๆ ตรงนี้เป็นวิธีการเติมเต็มของผม คือไม่หยุดตัวเอง อยู่กับวันนี้ แต่ก็ยังไปให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือเรื่องสุขภาพครับ พอถึงวัยนี้แล้วรู้สึกเลยว่า ถ้าไม่ดูแลสุขภาพ ทำให้เราป่วย นอนไม่พอ มันก็บล็อกทำให้ไม่มีพลังที่จะเขียนงานเหมือนกัน ก็ต้องบาลานซ์กันไป

“ทุกวันนี้ผมอัพเดตตัวเองตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก การพูดคุยกับเพื่อน ทั้งเพื่อนวัยเดียวกัน เพื่อนเด็กกว่าหรือเพื่อนที่สูงวัยกว่า ตรงนี้จะทำให้เห็นวิธีคิดของคนในรูปแบบต่างๆ กัน เห็นการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ในชั่วลัดนิ้วมือ และยังคงหาความรู้ อ่านหนังสือทุกวันครับ”

  

หรือจะตามด้วยซีรีส์ผ้า ลำดับที่ 11?

จบซีรีส์ผ้าลำดับที่ 10 แล้ว จะตามมาด้วยลำดับที่ 11 หรือเปล่า มีคำตอบมาแล้วค่ะ

“เป็นเรื่องแปลกครับ เพราะซีรีส์ผ้าเวลามามักจะมาทีละคู่ อย่าง สาปภูษา นี่มาพร้อมกับ รอยไหม, กี่เพ้า มาพร้อมกับ สิเน่หาส่าหรี, บุหงาบาติก มาพร้อมกับ เลื่อมลวง ซึ่งไม่ได้เป็นการวางแผนไว้ตั้งแต่แรก แต่มักจะมีอะไรบางอย่างที่บรรจบกันโดยบังเอิญ อย่างตอนเขียน สาปภูษา ได้ค้นเรื่องเกี่ยวกับประเทศลาว ประกอบกับตอนนั้นไปทำงานที่หลวงพระบางพอดีก็เลยเกิดเป็น รอยไหม ขึ้นมา ตอนนี้ที่ทำข้อมูลเรื่อง พยับฟ้าโพยมดิน ก็มีข้อมูลผ้าฟิลิปปินส์มาด้วย ทำให้รู้สึกสนใจ พอถามว่าหลังซีรีส์ผ้าเรื่อง พยับฟ้าพโยมดิน จบจะมีเรื่องอะไร ที่ผมคิดไว้คือ บาปบารอง ซึ่งจะเป็นซีรีส์ผ้าเรื่องที่ ๑๑ บารองเป็นชื่อชุดประจำชาติของฟิลิปปินส์ คิดเอาไว้แต่ยังไม่รับปากนะครับ (หัวเราะ) เพราะยังมีอีกเรื่องที่ติดค้างสำนักพิมพ์เอาไว้คือ เจ้าสาวต้องสาป ที่มีภาคต่อคือ หงสาพิสุทธิ์ และ มงกุฎดอกไม้ไหว ซึ่งโดนพี่กรู๊ฟทวงถามอยู่ว่าเมื่อไหร่สองเรื่องนี้จะออกเสียที จะได้ปิดซีรีส์ (หัวเราะ) ตอนนี้อยู่ที่ข้อมูลแล้วว่าเรื่องไหนพร้อมก่อนก็จะได้เขียนก่อน แต่ดูแววแล้วน่าจะเป็น หงสาพิสุทธิ์ ก่อนครับ

ท้ายสุด เราได้ถามถึง กลกิโมโน ที่ตัวละครมีความเชื่อมโยงกับ พยับฟ้าโพยมดิน ว่าถ้าอ่านแยกกันจะรู้เรื่องหรือไม่ ซึ่งได้รับคำตอบว่ารู้เรื่องแน่นอน

“ทุกเรื่องของพงศกรอ่านแยกกันได้หมด จบในตัวทุกเรื่อง ไม่จำเป็นต้องอ่านเรื่องนี้ก่อน ถึงจะอ่านเรื่องนี้เข้าใจ แต่ถ้าอ่าน กลกิโมโน ก่อน แล้วมาอ่าน พยับฟ้าโพยมดิน จะมีเสน่ห์บางอย่างที่เชื่อมโยงกัน เพราะมีตัวละครที่เคยปรากฏใน กลกิโมโน มาปรากฏในเล่มนี้ ซึ่งถ้าใครอ่าน กลกิโมโน แล้วมาอ่านเรื่องนี้ก็จะได้เจอกันอีกครั้ง ซึ่งจะมาว้าวมาก แต่ถ้าไม่ได้ด้วยกันก็ไม่เป็นไรเช่นกันครับ”

 

Don`t copy text!