เขียนได้ เขียนดี เขียนงาม
โดย : กฤษณา อโศกสิน
เขียนได้ คำนี้สำคัญมากเพราะเปรียบเสมือนการเริ่มต้นหรือการตั้งต้นชีวิตการเขียนหนังสือเลยทีเดียว เพราะถ้าเขียนได้อย่างเดียวเท่านั้น ทุกอย่างก็จะมีหวังขึ้นมาแล้วครึ่งหนึ่ง แม้ว่าจะยังไม่ทราบว่าเขียนได้นั้นเขียนดีด้วยหรือไม่ เราจะยังไม่คำนึงถึง ยังไม่ไปเร็ว เพราะเพียงแค่คำว่าเขียนได้ก็ค่อนข้างยากทีเดียวสำหรับคนไม่เคยลงมือเขียน เชื่อว่าทุกท่านคงเคยผ่านการเขียนไม่ได้มาก่อนแล้ว ถ้าเขียนไม่ได้ก็คือไม่ได้จริงๆ แม้แต่บรรทัดเดียวก็ดูเหมือนยากมากๆ ลองอ่านที่เขียนดูก็จะรู้สึกว่าเป็นภาษาที่ใช้ไม่ได้ มันดูขรุขระไปหมดทั้งประโยค อย่าว่าแต่จะทำให้เป็นบทความ สารคดี หรือเรื่องสั้นขึ้นมาเลย แม้เพียงข้อความธรรมดาก็รู้สึกว่าตกม้าตายตั้งแต่ ๑ บรรทัดแรกแล้ว
ฉะนั้น ทำอย่างไรจึงจะเขียนได้
ลองกลับไปอ่านเรื่องราวที่ใครสักคนเขียนแล้วเราชอบดูก่อน ดูซิว่าเขาเขียนอย่างไรจึงน่าอ่าน อ่านแล้วรู้ไหมว่าเขาผูกประโยคอย่างไร เชื่อมประโยควิธีไหน อารมณ์ความรู้สึกจากตัวอักษรของเขาที่ระเหยขึ้นมากระทบใจเรานั้นอยู่ที่ใด ขัดข้องขัดเขินตรงไหนหรือไม่ เขาใช้ถ้อยคำบรรยายหรือพรรณนาอย่างไรจึงรู้สึกเคลิบเคลิ้มคล้อยตามไป
ถ้าเช่นนั้น ก็ลองเขียนดูใหม่ โดยหาเรื่องที่เรารู้จักและรู้ดี รวมทั้งเคยรู้สึกมารวมเข้าด้วยกันจนเป็นเนื้อถ้อยกระทงความที่อยากเล่าให้ใครสักคนฟัง แล้วค่อยๆ ลำดับความเป็นมาเป็นไปของเนื้อหาคือ
๑. ตั้งใจจะเขียนเรื่องอะไร เรื่องสุนัขที่เรารักตัวหนึ่ง ลองเล่าตั้งแต่มันเกิด มันลืมตา มันกินนม มันเริ่มเห่า และมันทำอะไรต่างๆ ขึ้นมาเป็นขั้นเป็นตอน
๒. เป้าหมาย ตั้งใจจะบอกอะไรเกี่ยวกับสุนัขตัวนี้ เช่น ตั้งใจจะบอกว่า มันเหมือนคนคนหนึ่ง เหมือนเพื่อนคนหนึ่ง เหมือนใครบางคนกลับชาติมาเกิดก็ยังได้ เนื่องจากมันฟังเราเข้าใจ มันประจบเรา มันเคลียคลอออเซาะเรา
ถ้าเราเขียนจบตามที่ตั้งเป้าไว้ ก็ถือว่าเราเขียนได้
ต่อไปก็คือ เขียนดี
เขียนดีคืออย่างไร ก็คือเมื่อเขียนได้แล้วอาจจะยังไม่ดีก็ได้ เพียงแค่เขียนจบครบตามหัวข้อที่ต้องเขียน ในระหว่างบรรทัดทุกบรรทัดอาจจะยังไม่เรียบไม่เนียน ยังขรุขระเหมือนถนนที่ยังเป็นหลุมเป็นบ่อ พอเดินไปได้ แต่ก็เป็นถนนที่ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่อยากเดินผ่าน นี่ก็เรียกว่าเพียงแค่เขียนได้ แต่ยังไม่ดี
เพราะฉะนั้น ก็ต้องฝึกกันต่อไป
สิ่งที่จะต้องฝึกก็คือ ภาษา สำนวน และลีลา
การที่ตัวอักษรมีลีลาโดยผู้เขียนสร้างสรรลีลาและสำนวนที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตนขึ้นมา ถือได้ว่าเริ่มออกโรงแบบมีลายขึ้นมาบ้างแล้ว เพราะเอกลักษณ์ของนักเขียนถือเป็นความสำคัญอีกขั้นตอนหนึ่งที่ทุกคนต้องมี อาจจะเคยเกิดแรงบันดาลใจจากนักเขียนรุ่นก่อนแล้วเลียนแบบไปพลางๆ หรืออย่างไรก็ได้ แต่ท้ายที่สุดจะต้องหาตัวเองจนพบ แล้วมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวให้ได้
แต่เอกลักษณ์เฉพาะตัวก็ยังไม่ใช่บทสรุปที่จะบอกว่าเขียนดี
อะไรจึงเรียกได้ว่าเขียนดี
เขียนดีหมายถึง
๑. เนื้อหา ๒. เป้าหมาย ๓. แนวคิดที่เป็นเหตุเป็นผล ๔. ความเป็นเอกภาพ ๕. ภาษา ๖. สำนวนลีลา ๗. การขึ้นต้น ๘. การดำเนินเรื่อง การพาเรื่องราวไปสู่บทอวสานอย่างที่ทำให้ผู้อ่านประทับใจ ๙. ห้ามมีคำซ้ำยกเว้นจำเป็น ๑๐. คำเชื่อมประโยคบางคำ เช่น และ ของ ที่ ซึ่ง อัน ต้องใส่ให้ตรงที่ที่ควรใส่ ไม่ใช้มากเกินไปจนทำให้ประโยคดูกระด้าง
ในระหว่างที่เรื่องสั้นและนวนิยายดำเนินไป งานเขียนที่เรียกว่าเขียนดีจะสามารถดึงดูดใจให้ผู้อ่านติดตามด้วยคุณสมบัติทั้ง ๑๐ ข้อที่กล่าวมา
ส่วนเขียนงาม ก็คือการเขียนที่สละสลวยหมดจด โดยใช้หลักการเดียวกับเขียนดี เพราะดีกับงามก็มักใช้ควบคู่กันไป เมื่อมีความดี ก็มักพาไปสู่มีความงาม
ตามความรู้สึกของดิฉัน เขียนงามมักจะมีบรรยายโวหารและพรรณนาโวหารในจังหวะที่เหมาะควร ช่วยให้มวลตัวอักษรทั้งหมดงดงามขึ้นมากกว่าจะใช้แต่บทสนทนาล้วนๆ ซึ่งถ้าเป็นบทสนทนาที่ไม่เฉียบแหลมคมคายก็จะเห็นได้ชัดว่าไม่น่าอ่าน อาจจะอ่านได้ก็เพียงอ่านไปเรื่อยๆ โดยไม่มีประกายไฟให้ได้รู้สึกว่าตรงนี้ร้อน ตรงนั้นหนาว ตรงโน้นโหด เพราะรสชาติระหว่างบรรทัดที่สำคัญมากขาดหายไป เกิดความไม่งามเท่าที่ควรจะงาม ฉะนั้น ถ้านักเขียนพยายามทำให้เกิดช่องที่ไม่ว่างได้มากเท่าไร เนื้อหา ตัวอักษรก็จะแน่นได้ครบถ้วน ทั้งรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส คืองามทั้งองคาพยพ ไม่ได้งามเฉพาะหน้าตา แต่งามเลยไปถึงแขน ขา นิ้วทั้งห้า เอว สะโพก และข้อเท้า ต้องงามให้ได้ครบถ้วนขนาดนั้น
ถึงแม้ว่าจะยากมาก แต่ก็ไม่ยากเกินความพยายาม ถ้าก่อนเขียนได้ทำโครงสร้างไว้แน่น กะสัดส่วนให้ดี ไม่ขาดไม่เกิน แล้วเดินเรื่องไปทีละขั้นตอน สอดใส่รายละเอียดที่เตรียมไว้อย่างค่อยใส่ค่อยเติม อย่าอัดพรวดเข้าไปเป็นหน้าๆ เพราะนั่นจะทำให้เรื่องสั้นหรือนวนิยายกลายเป็นสารคดี บางทีความรู้มากเกินไปของเราก็ฆ่าเราได้ คือทำให้ศิลปะด้านวรรณศิลป์เสียไปเพราะความตื่นเต้นกับข้อมูลของนักเขียน
ถ้าอยากเขียนหนังสือให้ดีให้งาม ก็ต้องคุมตัวเองให้นิ่ง คิดตรองจัดสรรสัดส่วนให้เหมาะก่อนลงมือ เพราะถ้าพาเรื่องเดินไปแล้วย้ายเรื่อง เพราะนึกขึ้นมาได้ว่าไปทางนี้เขียนยาก ไปอีกทางง่ายกว่าละก็ เรื่องเบี้ยวแน่ๆ และจะห่างจากทั้งคำว่าดีและงามหลายขุม