ระลึกคุณ คุณป้าสุภัทร สวัสดิรักษ์ : ตอนที่ 3

ระลึกคุณ คุณป้าสุภัทร สวัสดิรักษ์ : ตอนที่ 3

Loading

โดย : ศรัณยา ชินะโรจน์

หลงรักตัวอักษร จึงเลือกทำงานสายสื่อสิ่งพิมพ์ เริ่มต้นที่สำนักพิมพ์ดอกหญ้า นิตยสารโลกวรรณกรรม แล้วมายืนหยัดยาวนานร่วมยี่สิบปีที่กองบรรณาธิการ นิตยสารสกุลไทย  ปัจจุบันรับเขียนทุกสิ่งทุกอย่างที่อยากเขียน

 

“การเลือกโปรยนวนิยายในแต่ละตอนออกมานั้น เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์

เป็นงานที่ต้องใช้ศิลปะการอ่าน แม้จะเลือกเพียงสามสี่ประโยคก็ตาม

แต่สามสี่ประโยคนั้นควรโดดเด่นในด้านสร้างสรรค์

เมื่อโปรยกระทบตาผู้อ่าน ต้องดึงดูดให้เขามองเห็นเรื่องว่าน่าสนใจ น่าอ่าน อยากอ่านขึ้นมาในทันใด นี่คือหน้าที่ของ ‘โปรย”

 

 

 

“เรื่องงานป้าใจร้อน เวลามีปัญหาป้าใจเย็น”

นี่คือคำกล่าวหนึ่งของคุณป้าสุภัทร สวัสดิรักษ์ ในสมัยที่ท่านยังมีสุขภาพแข็งแรง

หรือจะเรียกว่าเป็นคำสอนก็ว่าได้  อันเนื่องมาจากฉันปรารภขึ้นมาทำนองว่า ไม่เคยเห็นคุณป้าหงุดหงิดหรืออารมณ์ร้อนใส่ใครหรือใส่อะไรเลย

เท่าที่ฉันได้รับโอกาสทำงานกับคุณป้าสุภัทร ฉันรู้สึกว่าอยู่ใกล้ท่านแล้วเย็น  ท่านเป็นคนเย็น จึงทำให้คนรอบข้างเย็นกาย สบายใจไปด้วย

ตรงกันข้ามกับฉัน ที่อารมณ์ร้อน ก้าวร้าว โวยวายกับฝ่ายโน้นฝ่ายนี้ไปทั่ว แต่เวลาปิดต้นฉบับ ฉันนี่แหละใจเย้นเย็น (แฮร่)

ไม่เหมือนคุณป้า หากเป็นเรื่องการทำงาน ท่านก็อยากให้เราขยันขันแข็ง ส่งงานให้ทันตามกำหนดโดยเร็วไว แต่ถ้ามีปัญหาเข้ามา ท่านจะรับมืออย่างมีสติ ใคร่ครวญอย่างรอบด้าน แล้วแก้ไขปัญหาตรงจุด

ขั้วอารมณ์ระหว่างฉันกับคุณป้า แตกต่างกันชนิดไม่เห็นฝุ่น ท่านทำให้ฉันมองเห็นตัวเองโดยที่ท่านอาจจะไม่ทราบ

ในงานเลี้ยงสังสรรค์นักเขียน สกุลไทย คราหนึ่ง ซึ่งจัดที่โรงแรมหรู คุณป้าสุภัทรเป็นแม่งาน ท่านแบ่งหน้าที่ให้กอง บ.ก. แต่ละคนรับผิดชอบภารกิจในวันนั้นแตกต่างกันไป

ฉันมีหน้าที่ต้อนรับแขกผู้ใหญ่ และเหล่านักเขียนทั้งอาวุโสและไม่อาวุโส

ขณะที่งานดำเนินไป บังเอิญมีพี่ฟรีแลนซ์ท่านหนึ่งเข้ามาสะกิดฉัน และกระซิบว่า “ดูเจ้าหนุ่มคนนั้นสิ ใครไม่รู้ พี่เห็นนั่งกระแซะนักเขียนผู้ใหญ่โต๊ะนั้นโต๊ะนี้ ดูแปลกๆ”

ฉันก็จับจ้องตาม เหมือนถูกสะกดจิตเดี่ยว (ไม่หมู่) ในทันที  และก็เห็นอย่างที่พี่ฟรีแลนซ์ท่านนั้นว่า

‘เอายังไงดี’ โต๊ะแขกผู้ใหญ่ มีทั้งนักเขียนอาวุโส ศิลปินแห่งชาติก็หลายคน และท่านองคมนตรี กำธน สินธวานนท์ มาเป็นประธานในงานด้วย

ฉันจำไม่ได้แล้วว่าได้ปรึกษากอง บ.ก. ใครบ้างหรือเปล่า

จับตามองอยู่หลายนาที  ในที่สุดก็ตัดสินใจแจ้งแก่ทางโรงแรมให้ส่งเจ้าหน้าที่มาเชิญตัว ‘หนุ่มคนนั้น’ ออกจากงานอย่างเรียบร้อย ไม่เอิกเกริก ไม่เป็นที่ผิดสังเกตของผู้ใด

กระทั่งเช้าวันต่อมา ฉันได้รับโทรศัพท์จากคุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ ที่ปรึกษานิตยสารสกุลไทย สาเหตุที่ท่านโทรสายด่วนมาเพื่อบอกให้ทราบว่า ‘ชายหนุ่ม’ ที่ฉันให้เจ้าหน้าที่โรงแรมเชิญตัวออกไป เขาเป็นนักอ่านตัวยง เขาเป็นแฟนพันธุ์แท้สกุลไทย  เขาชื่นชอบนักเขียนสกุลไทยมาก และนักเขียนผู้ใหญ่หลายท่านก็รู้จักเขา! และ… เขาคือ… บุตรชายของคุณข้าหลวงในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ

วินาทีนั้นฉันพูดไม่ออก อ้ำอึ้ง คล้ายมีก้อนอะไรบางอย่างมาจุกอยู่ที่คอ!  

ฉันไม่นึกไม่ฝันว่าเรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นได้ คิดว่ามีแต่ในละคร (พาฝัน)

คุณหญิงกุลทรัพย์ท่านก็เป็นคนเย็นคล้ายคลึงคุณป้าสุภัทร  

ในสาย คุณหญิงถือโอกาสสอนฉันไปในตัว ประดุจแม่สอนลูก พี่สอนน้อง

เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ฉันเห็นจุดอ่อนในตัวเองว่าความหุนหันพลันแล่นไม่เคยให้คุณแก่ใคร

หากเกิดในสมัยออเจ้า ฉันอาจโดนคาดโทษ หรืออาจต้องนำพานธูปเทียนแพคลานเข่าเข้าไปขอขมาคุณข้าหลวงและบุตรชาย

นับจากวันนั้น โอกาสต่อมา ฉันมีโอกาสพบ ‘ชายหนุ่ม’ ท่านนั้นอีก ถึงเขาอายุน้อยกว่า ฉันรีบยกมือไหว้ก่อนทันที และเอ่ยคำขอโทษ  

เขาน่าจะเป็นชายหนุ่มอารมณ์ดี มองโลกแง่บวก สีหน้าและแววตาของเขาไม่บ่งบอกความไม่พอใจหรือโกรธฉันแต่อย่างใดเลย

เขาตอบรับฉันด้วยการไหว้กลับ และพูดหยอกล้อว่า “สวัสดีครับ คุณหญิงโย”

ฉันควรจะฮา หรือชาวาบดี!

แว่วเสียงคุณป้าลอยลมมาเข้าหู “เรื่องงานป้าใจร้อน เวลามีปัญหาป้าใจเย็น”

เรื่องราวนี้ผ่านมานานมากแล้ว แต่ฉันไม่เคยลืม และยังขอบคุณเขาเสมอ ที่ไม่ถือโทษโกรธฉัน

น่าเสียดายที่ฉันกับเขาเกิดในภพเดียวกัน ไม่สามารถทะลุมิติหากันได้ เสียดายที่ฉันแก่กว่า ไม่สะสวยเท่าแม่หญิงการะเกด! ไม่อย่างนั้นคงได้เป็นพระ-นางอีกคู่ ในโลกต่างมิตินะ

 

…………………………………………………

 

แต่ไหนแต่ไรมา ฉันไม่เคยคิดว่าตัวเองมีพรสวรรค์ด้านภาษา จึงพยายามประดิษฐ์คำให้เวอร์วังเข้าไว้

เพราะเข้าใจว่านั่นคือการแสดงออกถึงภูมิการเขียน จนกระทั่ง มาได้ยินคุณป้าสุภัทรท่านแนะนำให้เราเข้าใจเสียใหม่

“ภาษาที่ดีที่สุด คือภาษาที่เรียบง่ายที่สุด” ท่านบอกฉันตั้งแต่ฉันเริ่มเข้ามาทำที่สกุลไทยในปีแรก

จากนั้นเป็นต้นมา ฉันลดทอนการประดิษฐ์คำลงไปมาก และก็พบว่าภาษาที่ง่ายที่สุดนี่แหละกลับยากกว่าภาษาเวอร์วังหลายเท่า  

ถามว่า ‘ง่าย’ มันยากกว่าตรงไหน ความจริงมันไม่ได้ ‘ยาก’ ที่การกลั่นกรองภาษา แต่มันยากที่การกลั่นกรองความคิด

ต่อให้เรารุ่มรวยคำมากสักแค่ไหน แต่ถ้าผลึกความคิดไม่หลอมเป็นเนื้อเดียวกันอย่างชัดเจน ก็ยากที่จะส่งผ่านตัวอักษรหรือส่งสารไปถึงผู้อ่านให้เขาเข้าใจเสมือนหนึ่งมานั่งอยู่ในหัวใจเราซึ่งเป็นคนเขียนได้

ฉันจึงอยากกล่าวด้วยความเคารพว่า คุณป้าสุภัทรคือผู้ที่เปิดมิติทางภาษาให้แก่ฉัน ท่านได้ปลดล็อกให้ฉันก้าวออกจากบ่วงความเข้าใจผิดนี้

ดังนั้น อักษรศิลป์ของเราจะคมคายจริงหรือไม่ สิ่งสำคัญมันไม่ได้อยู่ที่การผสมพยัญชนะและสระวรรณยุกต์ แล้วเขย่าๆ ออกมาจนสละสลวยสวยหรู  

ผู้ใช้ภาษาเป็น ย่อมตระหนักดีว่าภาษาเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่ง มีไว้ให้มนุษย์สื่อสารต่อกัน ไม่ว่าจะฟัง พูด อ่าน เขียน ล้วนต้องใช้ภาษาในการถ่ายทอดสื่อสาร แต่ที่ลึกล้ำกว่านั้นคือสติปัญญาความคิดอันเฉียบคมที่ถูกห่อหุ้มด้วยภาษาที่เรียบง่าย

ช่วงพักเที่ยงของวันหนึ่ง คุณป้าสุภัทรตั้งคำถามกับฉันบ้าง “หนูจบเอกภาษาไทยมารึเปล่าคะ”

ฉันตอบทันควัน “เปล่าค่ะคุณป้า หนูมาจากสายศึกษาศาสตร์…”

สีหน้าคุณป้าตอนนั้นดูเหมือนอึ้งไปหนึ่งวินาที แล้วท่านก็พูดว่า “อ้าวเหรอ ป้าคิดว่าหนูจบภาษาไทยมาซะอีก”

ฉันส่ายหน้ายิ้มๆ ในใจแอบหวั่นเล็กน้อย “นี่เราทำให้ท่านผิดหวังหรือเปล่า” ฉันไม่กล้าเผยความในใจต่อไปว่า “หนูมีเพียงพื้นฐานการรักการอ่าน กับน้ำที่ไม่เต็มแก้ว ส่วนความรู้ด้านการเขียน หนูตั้งใจมาหาเอาข้างหน้าค่ะ”  

แต่จนแล้วจนรอด ยามที่ท่านมีชีวิตอยู่ ฉันไม่เคยพูดประโยคดังกล่าวออกมา และไม่เคยคิดว่าตัวเองมีพรสวรรค์ด้านนี้ จึงอยากท่องยุทธภพออกแสวงหาความรู้ มุ่งหมายมาทำงานที่สกุลไทย เพื่อให้ได้ใกล้ชิดเหล่าจอมยุทธ์ให้มากที่สุด

หน้าที่ของฉันซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกอง บ.ก. สกุลไทย นอกจากได้รับโอกาสฝึกฝนเขียนต้นฉบับหลากหลายแนว ทั้งบทสัมภาษณ์ สกู๊ป สารคดี ท่องเที่ยว และบทความพิเศษเฉลิมพระเกียรติในวาระมิ่งมงคล ไม่ใช่แต่เฉพาะฉัน กอง บ.ก. ทุกคนที่เป็นมือเขียนต้นฉบับ ก็ได้รับโอกาสแสดงฝีมือด้านการเขียนเหล่านี้เช่นเดียวกัน

ในอาณาจักรสกุลไทย ฉันยังได้รับโอกาสฝึกฝนทักษะด้านการดูแลต้นฉบับนวนิยาย โดยค่อยเป็นค่อยไป เช่น เริ่มจากการดึงโปรยนวนิยาย การตัดบทนวนิยายแต่ละตอนอย่างมีจังหวะ  

คุณป้าสุภัทรท่านสอนว่า “นี่คืองานที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์”

 

………………………………………………………………………

 

มีอยู่คราวหนึ่ง เนื่องจากฉันติดตามต้นฉบับนวนิยายเรื่อง จะเก็บรักไว้มิให้หลุดลอย ของคุณกนกวลี พจนปกรณ์ จึงอ่านและเลือกดึงโปรยเพียงสามสี่ประโยคที่ตนเองชอบจากเนื้อหาทั้งหมดของตอนนั้นๆ เสร็จแล้วฉันก็เดินไปส่งที่ฝ่ายผลิต

หารู้ไม่ว่าคุณป้าสุภัทรท่านสอดส่องดูในภายหลัง

วันต่อมา คุณป้าเรียกฉันไปบอกกล่าวที่หน้าโต๊ะทันที ท่านชี้แนะให้ทราบว่า การเลือกโปรยนวนิยายในแต่ละตอนออกมานั้น

“เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์นะหนู” คุณป้าสุภัทรกล่าว

เป็นงานที่ต้องใช้ศิลปะการอ่าน แม้จะเลือกเพียงสามสี่ประโยคก็ตาม แต่สามสี่ประโยคนั้นควรโดดเด่นในด้านสร้างสรรค์ เมื่อโปรยกระทบตาผู้อ่าน ต้องดึงดูดให้เขามองเห็นเรื่องว่าน่าสนใจ น่าอ่าน อยากอ่านขึ้นมาในทันใด นี่คือหน้าที่ของ ‘โปรย’

ตั้งแต่บัดนั้น ฉันจดจำหลักแห่งการดึงโปรยนวนิยายที่คุณป้าสอนจนขึ้นใจ

จริงอยู่ว่า ‘คำโปรย’ ทำหน้าที่กระทบตาคนอ่านเพียงชั่วเวลาไม่เกินสองวินาที แต่การจะเลือกสามสี่ประโยคขึ้นมาให้โดดเด้ง เราแค่กวาดสายตาควานหาอย่างลวกๆ หรืออย่างขอไปทีไม่ได้เด็ดขาด หรือเลือกเพราะสนองความชอบรสนิยมส่วนตัวก็ไม่ใช่อีก

ตอนหลังมา ฉันยังได้รู้ว่า นอกจากศาสตร์และศิลป์แล้ว ได้ฝึกฝนเซนส์บางอย่างกึ่งๆ การตลาดควบคู่ไปด้วย

ทุกวันนี้ ฉันเห็นคุณประโยชน์ของงานโปรยอย่างยิ่ง การเลือกโปรยนวนิยายแค่ไม่กี่บรรทัด อาจดูเป็นงานกล้วยๆ ชิลๆ แต่มันบ่มเพาะให้ต้องอ่านอย่างขบคิด พินิจพิเคราะห์  อ่านจนแตกกันเป็นเสี่ยง!

ไม่เช่นนั้น เราอาจผ่านสายตาละเลยชิ้นถ้อยคำที่มีน้ำหนักแห่ง ‘โปรย’ ที่ซ่อนตัวอยู่อย่างกลมกลืนบนหน้ากระดาษกับตัวอักษรอีกกว่าสิบกว่าร้อย

ถ้าเป็นภาษาสมัยนี้คงใกล้เคียงคำว่า ‘เป๊ะเวอร์’ อะไรทำนองนั้น

เชื่อไหม ถึงเดี๋ยวนี้เวลาที่ฉันอ่านนิยายเพื่อสันทนาการส่วนตัว ยังเผลอใจเลือกดึงโปรยนวนิยาย (ฮา) เพราะมันติดมันคุ้นชิน

อีกงานหนึ่งซึ่งฉันได้มีโอกาสเรียนรู้บ้างบางครั้งบางคราว คืองานแบ่งตอนนวนิยายหรือแบ่งบทนวนิยายใหม่  

กลยุทธ์การแบ่งตอนนวนิยาย คุณป้าสุภัทรเลือกใช้ก็ต่อเมื่อมีเหตุอันสมควร แต่ไม่บ่อยนัก เป็นอานิสงส์ให้ฉันพลอยได้รับศาสตร์นี้มาด้วย

ต้นฉบับที่บางครั้งบางคราว คุณป้าสุภัทรท่านแบ่งบทใหม่ ส่วนใหญ่เป็นต้นฉบับนวนิยายที่นักเขียนส่งมาล่วงหน้า มีตุนอยู่หลายตอน อาทิ เรื่องของคุณป้านิดาบ้าง คุณโสภาค สุวรรณ บ้าง  คุณม.มธุการีบ้าง ฯลฯ

โดยท่านเหล่านี้คงไม่ทราบว่าได้ช่วยให้สกุลไทย แก้ปัญหาหน้ากระดาษได้ลุล่วงรวดเร็วทันเวลา

ส่วนกลเม็ดในการแบ่งตอนนวนิยายอย่างมีทั้งศาสตร์และศิลป์ สำหรับฉันคงยากที่จะอธิบายเป็นหลักวิชาวรรณกรรม แต่จากประสบการณ์ พบอยู่คำตอบหนึ่ง นั่นคือ เราต้องอ่านให้มาก

เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่งการอ่านนั้นจะแปรค่าเป็นความรู้ย้อนคืนกลับมาให้เราเอง!

Don`t copy text!