มากกว่าฝันคือเกินฝัน “คดีรักร้าง” นวนิยายดีเด่นกลุ่มครอบครัว โครงการช่องวันอ่านเอา #2 โดย เวฬุวลี

มากกว่าฝันคือเกินฝัน “คดีรักร้าง” นวนิยายดีเด่นกลุ่มครอบครัว โครงการช่องวันอ่านเอา #2 โดย เวฬุวลี

โดย : YVP.T

Loading

จากบทบาทของอาจารย์มหาวิทยาลัยสู่บทบาทใหม่ของ ‘เวฬุรีย์ เมธาวีวินิจ’ เจ้าของผลงาน ‘คดีรักร้าง’ ภายใต้นามปากกา ‘เวฬุวลี’ นวนิยายดีเด่นกลุ่มครอบครัว จากโครงการช่องวันอ่านเอาปี 2 แม้เส้นทางชีวิตจะทำให้ต้องแวะไปทำอาชีพอื่นบ้าง แต่เธอก็พาตัวเองกลับเข้าสู่เส้นทางที่ฝันเสมอ และ “คดีรักร้าง” คือบทพิสูจน์ความตั้งใจของเธอ

“เป็นคนชอบอ่านหนังสือ ดูหนัง ดูละคร และมีความฝันอยากเป็นนักเขียนมาตั้งแต่เด็กๆ แล้วค่ะ ทุกปิดเทอมจะต้องเขียนนิยายหรือวาดการ์ตูนเก็บไว้ พอเข้าเรียนปีหนึ่งก็ตัดสินใจส่งเรื่องสั้นไปที่นิตยสารขวัญเรือนแล้วก็ได้ลงด้วยนะคะ นั่นยิ่งทำให้ความคิดอยากเป็นนักเขียนยิ่งทวีคูณ แต่ปรากฏว่าได้เป็นนักเขียนบทละครโทรทัศน์ซะก่อน

“หลังจากจบปริญญาตรีก็ได้งานเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีค่ะ ระหว่างนั้นก็พยายามมองหาคอร์สอบรมด้านการเขียนไปด้วย ก็มาเจอที่แกรมมีเปิดคอร์สอบรมการเขียนบทละครโทรทัศน์จึงสมัครเรียน หลังจากนั้นก็เขียนบทละครโทรทัศน์อยู่หลายปี กระทั่งได้ทุนไปเรียนต่อปริญญาเอกที่ประเทศอังกฤษจึงหยุดไป พอกลับมาเมืองไทยก็ยุ่งกับการทำงานอาจารย์หลักสูตรการจัดการมรดกวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จนไม่มีเวลาเขียนบทละครหรือนิยายอีกเลย มามีโอกาสอีกครั้งก็ตอนที่มีโครงการช่องวันอ่านเอาเกิดขึ้นนี่ละค่ะ”

 

แม้การทำงานด้านวิชาการต้องใช้สมอง แต่เธอมองว่าเป็นความสนุกอีกรูปแบบหนึ่ง ขณะที่การสร้างสรรค์นิยายคือการใช้จินตนาการเพื่อสร้างโลกอีกใบและถ่ายทอดให้คนอื่นเห็น ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอมีความสุขทำครั้งที่ได้ทำ

“พี่ๆ ที่เคยทำงานด้วยตอนเขียนบทละครแชร์ข่าวการเปิดรับสมัครโครงการช่องวันอ่านเอาทางเฟซบุ๊ก ซึ่งไผ่เองก็ติดตามเพจนี้อยู่เหมือนกัน แต่ตอนนั้นเป็นโครงการครั้งแรกนะคะ พอได้เห็นก็ตัดสินใจสมัครเข้าอบรมทันทีและตั้งใจว่าจะส่งนิยายเข้าประกวด ปรากฏว่าพล็อตของเราผ่านเข้ารอบมาแต่ไม่ได้รับการคัดเลือก พอเปิดในปีถัดมาก็ขอลองอีกครั้ง”

สิ่งที่ทำให้คุณไผ่ประทับใจมากกับการเข้าร่วมในโครงการช่องวันอ่านเอาคือ โครงการนี้มีวิทยากรเบอร์ใหญ่ แต่ใส่ใจมากๆ

“ไม่ว่าจะเป็นโครงการครั้งที่ 1 หรือ 2 สิ่งที่ทำให้รู้สึกประทับใจไม่ต่างกันเลยคือ ความใส่ใจของพี่ๆ วิทยากรทั้งจากช่องวันและอ่านเอา ไม่ว่าจะเป็นพี่ลักษณ์ – ศิริลักษณ์ ศรีสุคนธ์ พี่เกด – พิมพ์มาดา พัฒนอลงกรณ์ พี่เอียด – ปิยะพร ศักดิ์เกษม พี่ปุ้ย – กิ่งฉัตร และพี่หมอโอ๊ต – พงศกรค่ะ ทุกคนดูแลผู้เข้าอบรมดีมาก เปิดโอกาสให้ซักถาม รวมทั้งมีคอมเมนต์เพื่อให้เห็นจุดเด่น-จุดด้อย ซึ่งเป็นสิ่งที่นักเขียนนิยายมือใหม่ต้องการอย่างมาก เพราะงานนักเขียนเป็นงานที่โดดเดี่ยวอยู่แล้ว เนื่องจากต้องทำงานเพียงลำพัง แต่โครงการนี้ เรามีโค้ชอยู่ข้างๆ รวมถึงเพื่อนๆ ที่เข้าร่วมโครงการร่วมวิ่งไปในลู่ทางเดียวกัน มีเป้าหมายชัดเจนในการส่งประกวด ทั้งหมดนี้ทำให้เราที่ยังไม่สามารถเขียนนิยายสำเร็จมาหลายปีสามารถเขียนนิยายจนจบได้ในที่สุด

 “การเข้าร่วมโครงการยังทำให้เข้าใจการเขียนนวนิยายมากขึ้น ซึ่งต่างจากการเขียนบทละครโทรทัศน์ เพราะการเขียนบทละครต้องเขียนให้เห็นภาพที่สามารถถ่ายทำได้และเขียนทีละซีน เพื่อปูเรื่องของแต่ละตัวละคร แต่การเขียนนวนิยายสามารถเขียนบรรยายความคิดของตัวละครได้มากกว่า และเขียนเหตุการณ์สลับไปมาในฉากเดียวกันได้ การมาร่วมอบรมการเขียนนวนิยายกับโครงการนี้ จึงช่วยให้ไผ่สามารถนำเอาประสบการณ์ในการเขียนบทมาปรับใช้กับการเขียนนวนิยายได้ดีมากขึ้นด้วยนะคะ”

 

จากการเข้าร่วมโครงการช่องวันอ่านเอา ปี 1 สู่ปี 2 วันนี้เธอพิสูจน์แล้วว่า เส้นทางแห่งความสำเร็จบนสิ่งที่ฝันเป็นจริงได้ แม้ต้องใช้เวลาข้ามปี เพราะผลลัพธ์แห่งความตั้งใจ ทำให้เกิดรอยยิ้มแห่งความภาคภูมิใจ

“อย่างที่เล่าไปแล้วว่า ไผ่เข้าร่วมโครงการสองปี แต่ปีแรกนิยายไม่ได้รับคัดเลือกจนมาส่งพล็อตเข้าประกวดอีกครั้งในโครงการช่องวันอ่านเอาปี 2 และได้รางวัลนวนิยายดีเด่นในที่สุด ตรงนี้ไผ่เชื่อว่า เกิดจากคอมเมนต์ของพี่ๆ ตั้งแต่การเข้าอบรมครั้งแรก ที่พี่ๆ ชี้ให้เห็นว่างานยังมีจุดที่ต้องปรับปรุงและพัฒนาตรงไหน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้งานในปีที่ 2 มีพัฒนาการจนได้รับรางวัลในที่สุด

“ปีแรกไผ่ส่งนิยายรักเข้าประกวด ซึ่งจุดอ่อนของงานคือช่วงต้นเรื่องยังไม่ค่อยน่าติดตามนัก พอมาปี 2 จึงตัดสินใจเปลี่ยนมาเขียนดราม่าครอบครัวที่มีประเด็นความขัดแย้งที่เข้มข้นตั้งแต่ต้น เพราะคิดว่าน่าจะเป็นสิ่งที่สามารถแก้จุดอ่อนตรงนี้ได้ แต่ก็ยอมรับนะคะว่า ก่อนส่งก็แอบลังเลเหมือนกัน เพราะมีทั้งพล็อตนิยายรัก และนิยายครอบครัวอยู่ในมือ พอลองเล่าพล็อตให้คนที่สนิทๆ ฟัง ดูเหมือนว่าพล็อตนิยายครอบครัวจะน่าสนใจกว่า ประกอบกับ นิยายครอบครัวจะมีกำหนดส่งช้ากว่าคนที่เขียนนิยายรัก ในแง่คนที่ต้องแบ่งเวลาทำงานประจำไปด้วย เขียนนิยายไปด้วย เราเลยเลือกประเภทนี้ เพราะน่าจะจัดการในเรื่องเวลาได้ดีกว่า”

 

“คดีรักร้าง” เรื่องราวของผู้หญิงที่สามีนอกใจ

“ไผ่มองว่าครอบครัวสมัยใหม่อาจจะไม่ได้อยู่กันเป็นครอบครัวตลอดไป แต่มีการเลิกรา การแยกทางเป็นเรื่องปกติ เรามองว่ากระบวนการการเลิกราของคู่สามีภรรยาก็เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญสำหรับการเป็นครอบครัวพอๆกับการแต่งงานสร้างครอบครัวด้วยเหมือนกัน จึงอยากนำเสนอมุมมองความสัมพันธ์ว่าเมื่อหมดรักแล้ว จะเลิกกันยังไงให้ไม่ทำร้ายกันและกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ยากกว่าตอนที่ยังรักกันเสียอีก จึงกลายมาเป็น “คดีรักร้าง” ในที่สุด

“คดีรักร้าง เป็นเรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่งที่สามีนอกใจ สิ่งที่เธอเลือกทำคือการเรียกร้องความยุติธรรมจากศาลในฐานะภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งในกระบวนการพิจารณาคดีนั้นจะนำเสนอมุมมองของ สามี-ภรรยา-ชู้ รวมถึงลูกที่มีต่อเหตุในการหย่าร้าง คนที่อ่านน่าจะได้ทบทวนว่าสุดท้ายแล้วอะไรคือสิ่งสำคัญของชีวิตคู่และชีวิตครอบครัว รวมทั้งอยากให้คนตระหนักถึงข้อกฎหมาย ไปจนถึงตั้งคำถามกับกฎหมายบางข้อที่กำหนดสถานภาพของสามี-ภรรยา และความเป็นพ่อ-แม่ด้วยค่ะ ถึงแม้จะดูเป็นประเด็นที่หนัก แต่ในนวนิยาย ได้ใส่ความสนุกในแบบ courtroom drama ที่มีฉากชิงไหวชิงพริบ การอ้างเหตุผล หลักฐานและพยาน เพื่อต่อสู้ในศาล ซึ่งเข้มข้นน่าติดตามแน่นอนค่ะ”

ความพร้อมกับเวลาที่เหมาะสมจึงลงตัวมาเป็น “คดีรักร้าง” นวนิยายที่จะกลายเป็นละครทางช่อง One 31

“เคยมีคำพูดว่าก่อนที่จะเป็นนักเขียน ขอให้ไปใช้ชีวิตก่อน ซึ่งไผ่มองว่ามันเป็นเรื่องจริงนะคะ เราเองหยุดเขียนมาเป็นสิบปี แต่เรื่องบางเรื่อง ต้องรอให้มีความพร้อม ความคิดตกผลึกก่อนถึงจะเข้าใจแล้วถ่ายทอดออกมาได้ ดังนั้น การเป็นนักเขียนจึงไม่ได้มีอะไรสูญเปล่าเลย เพราะทุกๆ วันที่ใช้ชีวิตคือการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่มีค่าที่เราจะไปใช้กับงานเขียนค่ะ

“สุดท้ายนี้ ไผ่ขอขอบคุณพี่ๆ วิทยากรโครงการช่องวันอ่านเอาอีกครั้ง และขอบคุณเพื่อนๆ ที่ร่วมประกวดมาด้วยกัน รวมทั้งขอบคุณหลายๆ คนที่เราไปปรึกษาในช่วงหาข้อมูลด้านกฎหมายและข้อมูลอื่นๆ เพื่อมาประกอบในการเขียนนวนิยายเรื่องนี้ ขอบคุณครอบครัว และทุกๆ คนช่วยสนับสนุนในช่วงการประกวด และฝากติดตาม ‘คดีรักร้าง’ ที่จะเผยแพร่ในเว็บไซต์อ่านเอาต่อไปด้วยนะคะ”

Don`t copy text!