ล้อมวงฝันกับอ่านเอาก้าวแรก รุ่น ๕ เป็นจริงได้แน่ แค่ลงมือทำ!

ล้อมวงฝันกับอ่านเอาก้าวแรก รุ่น ๕ เป็นจริงได้แน่ แค่ลงมือทำ!

Loading

เพราะ ‘โครงการอ่านเอาก้าวแรก’ นั้น สามารถปั้นนักเขียน สร้างสรรค์นิยายคุณภาพ ได้ตามคอนเซปต์ ‘เรียนจริง เขียนจริง ประสบความสำเร็จจริง’ ได้จริงและมีมาอย่างต่อเนื่อง จึงไม่น่าแปลกใจที่โครงการนี้จะได้รับการตอบรับอย่างท่วมท้นมากขึ้นเรื่อยๆ

และในปีนี้ โครงการอ่านเอาก้าวแรก รุ่น ๕ ยังได้รับเกียรติจากนักเขียนระดับบรมครูอย่างคุณกฤษณา อโศกสิน มาถ่ายทอดประสบการณ์ดีๆ ให้นักเรียนและทีมงานร่วมฟังกันอย่างอิ่มอกอิ่มใจ อีกทั้งยังมีคุณหน่อง-อรุโณชา ภาณุพันธุ์ และคุณคิง-สมจริง ศรีสุภาพ มาร่วมเป็นวิทยากรถ่ายทอดมุมมองของคนที่จะหยิบจับนิยายไปสร้างเป็นละครให้ได้ฟังกันอีกด้วย เรียกว่าใครที่สามารถกดสมัครเข้าโครงการอ่านเอาก้าวแรกทันนั้น…สุดแสนซูเปอร์คุ้ม!

ในส่วนของวิทยากรหลักทั้งสามท่าน ไม่ว่าจะเป็นพี่เอียด เจ้าของนามปากกา ปิยะพร ศักดิ์เกษม พี่ปุ้ย เจ้าของนามปากกา กิ่งฉัตร และพี่หมอโอ๊ต เจ้าของนามปากกา พงศกร นั้นก็บอกได้เลยว่าปลื้มปริ่มและใจฟูอีกเช่นเคย โดยเริ่มจากพี่หมอโอ๊ตที่ได้พูดถึงนักเรียนรุ่นที่ ๕ ให้ฟังว่า “นักเรียนรุ่นนี้มีความหลากหลายมาก มีทั้งคนที่เขียนเก่งและคนที่ยังไม่เคยเขียน แต่ทุกคนมาเรียนด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจ พี่อยากให้ทำตามความฝันของตัวเองให้สำเร็จครับ ในเมื่อมาเรียนเพื่อจะเขียนนิยายก็ขอให้กลับไปเขียนนิยายได้สำเร็จดังความตั้งใจแต่แรก” นอกจากนี้พี่ปุ้ยยังกล่าวเสริมด้วยว่า ภาพรวมของโครงการดูดีมากเพราะนักเรียนต่างเตรียมความพร้อมกันมาอย่างเห็นได้ชัด “มีการซักถามและร่วมมือในการทำกิจกรรมต่างๆ ดีมาก ความประทับใจนอกจากจะเป็นความตั้งใจเรียน ความใฝ่รู้ ใส่ใจวิชาของนักเรียนแล้ว ยังปลื้มมากที่นักเรียนมีมิตรภาพที่ดีในกลุ่มไลน์รุ่น อาสาเกื้อกูลกันอย่างเต็มที่ อยากให้ทุกคนเป็นลมใต้ปีกของกันและกันอย่างนี้ตลอดไปนะคะ”

สำหรับครูใหญ่ของบ้านอ่านเอาอย่างพี่เอียดเองก็มีความสุขที่ได้เห็นความจริงจังของนักเรียนรุ่นนี้เช่นกัน “เรื่องที่พี่รู้สึกประทับใจคือ ความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความตั้งใจของนักเรียนค่ะ ทุกคนดูมุ่งมั่น ตั้งใจ และมีไฟแห่งความฝันในดวงตา ทั้งยังเป็นรุ่นที่โชคดีได้วิทยากรที่เป็นนักเขียนระดับตำนานอย่างคุณกฤษณา อโศกสิน มาเป็นวิทยากรอีกด้วย ขอให้จัดแบ่งเวลาอย่างชาญฉลาดนะคะ ทุกคนล้วนมีโลกอีกใบ มีภาระ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานหรือพ่อแม่ครอบครัว ต้องดูแล แต่มาเรียนแล้ว มาไขว่คว้าหาความฝันของเราแล้วก็ต้องฉวยโอกาสนี้ เขียนนิยายให้สำเร็จขึ้นมาให้ได้ค่ะ พี่ๆ กรรมการทุกคนรออ่านผลงานอยู่ อีกเรื่องคืออยากให้ทุกคนรัก สามัคคี และส่งเสริมซึ่งกันและกันช่วยเหลือกันตลอดไป เรามีความฝันเดียวกันและมาเรียนร่วมรุ่นกัน เป็นเหมือนเมล็ดพันธุ์ที่อยู่ในดินเดียวกันแล้ว ต้องรักและสามัคคีกันค่ะ”

อ่านมุมมองของวิทยากรหลักกันแล้ว ลองมาคุยกับวิทยากรพิเศษอีกสองท่านอย่างพี่คิงและพี่หน่องกันด้วยดีกว่าว่าทั้งคู่รู้สึกอย่างไรกับการมาร่วมพูดคุยในครั้งนี้ อีกทั้งเราเองก็อยากรู้จริงๆ ด้วยว่า ถ้าจะเลือกนิยายสักเรื่องไปสร้างเป็นละคร พี่ๆ เขามีวิธีการหรือหลักการอย่างไรกันบ้าง

“ถ้าพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้จัดละครกับนิยาย ถึงวันนี้พี่ก็ยังเลือกนิยายไปสร้างเป็นละครครับ” พี่คิงกล่าว “เพราะทางช่องเองก็จะมั่นใจมากกว่าเมื่อเป็นพล็อตจากนิยาย เนื่องจากนิยายมีจุดเริ่ม จุดกลาง จุดจบ ภาพที่เห็นจะชัดเจน ในขณะที่ถ้าเป็นพล็อต ผู้จัดจะต้องเข้มแข็งกับบทมากๆ ที่จะไม่ให้ตกท้องช้างหรือเรื่องหมด ซึ่งถ้าพี่จะเลือกนิยายสักเรื่องไปเสนอช่องเพื่อสร้างเป็นละคร นิยายเรื่องนั้นต้องมีเรื่องที่มีมุมมองดี หรือไม่ก็อ่านสนุก ตรงนี้เป็นแรงจูงใจ ถ้างานใครอ่านสนุกก็จะเป็นที่ต้องการของผู้จัดอยู่แล้ว ซึ่งนิยายเรื่องหนึ่งจะสนุกได้นั้นในมุมมองของพี่อยู่ที่การเล่าเรื่อง มีพล็อตที่อาจไม่ได้บิดไปจากเดิมมาก แต่มีความแปลกใหม่ มีความน่าสนใจ เหมาะกับการพัฒนาที่จะเป็นละครได้ครับ ซึ่งการมาร่วมเป็นวิทยากรครั้งนี้ก็ทำให้ได้แลกเปลี่ยนมุมมองจากนักเขียนรุ่นใหม่ ทำให้ได้เห็นอะไรที่กว้างขึ้น และพี่ว่านักเรียนแต่ละคนล้วนมีของดีอยู่แล้ว เพียงแต่วันนี้การที่เราอบรมกันก็เพื่ออยากให้ทุกคนเห็นของดีที่อยู่ในตัวเราและหยิบยกกันขึ้นมาและพัฒนาจนเป็นนิยายดีๆ เรื่องหนึ่ง พร้อมที่จะให้ผู้จัดหลายคนแย่งซื้อ เพราะมีนะครับที่โทรไปแล้วนักเขียนบอกว่าเจ้านั้นเจ้านี้จองแล้วค่ะ เราเลยอยากให้มีนิยายดีๆ สนุกๆ เพื่อที่จะนำมาผลิตเป็นละครอีกเยอะๆ ครับ” พี่คิงกล่าว

สำหรับพี่หน่องเองก็มีมุมมองไปในทางเดียวกันกับพี่คิง โดยบอกว่านิยายที่มีความแปลกใหม่ น่าสนใจ และมีการถ่ายทอดที่ดีจากนักเขียนนั้นมักจะโดนใจให้เลือกมาสร้างเป็นละครเสมอ

“พี่สร้างงาน ผลิตละครให้ช่อง ๓ มายาวนาน ซึ่งต้องบอกว่าในเรื่องของบทประพันธ์ถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากเป็นอันดับแรก บทประพันธ์นั้นต้องสนุกสนาน ได้ใจคนอ่านก่อน และบทประพันธ์ที่ดีก็ยังเป็นที่ต้องการของตลาดอยู่ เพราะยังมีการแข่งขันในเรื่องการสร้างละคร การผลิตคอนเทนต์ในแพลตฟอร์มต่างๆ หลายแห่ง และแต่ละแห่งก็อยากได้เรื่องราวที่แหวกแนวหรือแหวกไปจากเดิม ซึ่งถ้านักเขียนมีบทประพันธ์ที่ตรงกับแนวทางและมีคุณภาพก็มีโอกาสที่จะได้รับการพิจารณาอย่างแน่นอน และบทประพันธ์ที่น่าสนใจนั้นก็มาจากการถ่ายทอดภาษาของนักเขียนที่มีความเข้าใจในงานของตัวเอง เข้าใจบริบทของเรื่องว่าเกิดอะไรขึ้น ความสมจริง ข้อมูลเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งสำคัญค่ะ”

ในเรื่องของการอ่านนิยายนั้น พี่หน่องบอกว่าเธอเป็นคนอ่านงานได้ทุกแนว แต่ก็จะมีการฟังจากคอมเมนต์ต่างๆ มาประกอบร่วมกันด้วย “ถ้าพี่จะเลือกนิยายสักเรื่องมาอ่าน โปรไฟล์ ชื่อเรื่อง คำโปรยเป็นเรื่องสำคัญ อย่างเวลาไปงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ พี่ก็จะหยิบปกหลังมาอ่านว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับอะไร หัวใจของเรื่องคืออะไร เช่น ถ้าเป็นเรื่องของความรัก แล้วรักนั้นเป็นรักแบบไหน มีความดีที่แตกต่างจากเรื่องอื่นๆ อย่างไร ถ้านักเขียนสามารถนำเสนอได้ว่าเรื่องนี้ต้องอ่านเพราะยังไม่เคยเขียนเป็นพล็อตแบบนี้มาก่อนเลย ก็ถือเป็นความแปลกใหม่ที่ฉีกไปจากเรื่องอื่นๆ เป็นความท้าทายไม่กี่บรรทัดที่คลิก ทำให้เราอยากอ่าน ซึ่งพี่ก็จะอ่านอย่างจริงจังนะคะเพื่อที่จะได้รู้ว่านักเขียนอยากถ่ายทอดอะไรค่ะ

สำหรับการมาเป็นวิทยากรพิเศษในครั้งนี้ พี่รู้สึกประทับใจและไม่คิดว่าจะมีนักเขียนรุ่นใหม่ที่รักการเขียนเยอะขนาดนี้ รวมไปถึงความสนใจและคำถามที่ทุกคนถามก็ทำให้รู้ว่าน้องๆ เป็นตัวจริงที่อยากเข้ามาทำจริงๆ พี่ก็ขอเป็นกำลังใจให้กับโครงการดีๆ อย่างนี้ รวมถึงขอให้น้องๆ ประสบความสำเร็จ ให้ผลงานของทุกคนเป็นนิยายที่ได้รับความชื่นชมจากคนไทยและดังไกลถึงต่างประเทศ กลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของไทยไปเลยค่ะ”

ได้รู้ถึงมุมมองและความคิดเห็นของเหล่าวิทยากรทุกท่านแล้ว ก็อยากให้นักเรียนรุ่น ๕ มุ่งมั่นสร้างฝันให้เป็นจริงกันทุกคน ก้าวแรกของเราเริ่มกันแล้ว มาก้าวให้สุดทางไปด้วยกันนะคะ 

 

Don`t copy text!