‘รักจะเขียน… เริ่มที่รัก’ โดย ปิยะพร ศักดิ์เกษม
โดย : ปิยะพร ศักดิ์เกษม
“คุณสมบัติที่สำคัญที่สุดที่ผู้ที่ต้องการเป็นนักเขียน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเขียนนวนิยายต้องมีนั้นก็คือความรัก
รักในการอ่านและเขียนอย่างแท้จริง
เพราะความรักนี่แหละ จะผลักดันให้เราสร้างงานอย่างไม่ย่อท้อและมีความสุข”
ตลอดเวลาหลายปีมานี้ ดิฉันมีโอกาสได้พูดคุยกับสื่อมวลชน นักอ่าน นักเขียน และนักอยากเขียนมากมาย คำถามที่มีการถามกันมากที่สุดคือคำถามว่า หากจะเขียนหนังสือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนวนิยาย… คนคนนั้นต้องมีคุณสมบัติอย่างไร?
คำตอบก็คือการพิจารณาย้อนกลับทางว่า นวนิยายคืออะไร
นวนิยายคือภาพจำลองของชีวิตมนุษย์ เป็นการศึกษามานุษยวิทยานอกห้องเรียน เป็นภาพจำลองของสังคม… ภาพนั้นเป็นภาพที่เราต้องมองเห็นทั้งด้วยตาและใจของเรา
คนที่จะสามารถคิดเป็นเรื่องออกมาได้ต้องมีทั้งความช่างสังเกตและจินตนาการ ทั้งสองสิ่งนี้สร้างได้ ฝึกฝนให้แข็งแกร่งแหลมคมได้ ด้วยการที่ไม่ว่าเราจะเห็นใครหรือเห็นเรื่องอะไร อย่าหยุดเพียงแค่ที่ตาเห็น …ให้ใช้ ‘ใจ’ คิดต่อและคิดย้อนกลับไปทั้งสองทาง
ดิฉันจะยกตัวอย่างง่ายๆ ให้ฟังเสมอว่า เมื่อเราเปิดโทรทัศน์เห็นนักมวยกำลังชกมวย อย่าดูแค่การเตะการต่อย แต่ให้คิดต่อว่าเมื่อจบจากการชกนี้แล้วเขาไปไหน ใช้ชีวิตอย่างไร และให้คิดย้อนไปด้วยว่า เพราะอะไรเขาจึงต้องขึ้นมาชกมวย ขึ้นมาเจ็บตัวบนเวที มีอะไรหรือใครอยู่เบื้องหลังคอยผลักดันให้เขาต้องทำ
การฝึกฝนเช่นนี้กับทุกเรื่องที่เห็น ทุกเรื่องที่ได้ฟัง ทุกเรื่องที่ได้อ่าน จะช่วยสร้างการสังเกตและจินตนาการให้เราจนสามารถสร้างโครงเรื่องเป็นนวนิยายได้ในที่สุด
นอกจากนี้นวนิยายยังเป็นช่องทางหนึ่งในการถ่ายทอดแนวคิด ความฝัน และประสบการณ์ แน่นอนว่าเราต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือในการทำให้การถ่ายทอดสิ่งที่เราต้องการจะบอกเล่าให้บรรลุผล… เครื่องไม้เครื่องมือนั้นก็คือ เราต้องมีการใช้ภาษาที่ดี ชัดเจน งดงาม หมดจด ต้องสามารถใช้ภาษาถ่ายทอดความคิดของเรา ดึงให้ผู้อ่านคิด ติดตาม และสามารถใช้ภาษานั้นสร้างอารมณ์ให้ผู้อ่านได้ด้วย
ภาษาที่ดี ชัดเจน งดงาม หมดจดนั้น ค้นหาและหยิบฉวยมาเป็นของเราได้จากการอ่าน การอ่านอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นนวนิยาย สารคดี เรื่องสั้น เรื่องแปลจากผลงานของนักเขียนชั้นครู ยิ่งถ้าได้อ่านเลยไปถึงวรรณคดี ร้อยกรองด้วยยิ่งดี เพราะยิ่งอ่านมากเท่าไร เราก็ยิ่งมีเครื่องไม้เครื่องมือหลายชิ้นหลากชนิดมาสะสมไว้เป็นของเรามากเท่านั้น
เมื่อเราจะสร้างงานของเราเอง เราก็จะสามารถเลือกหยิบเครื่องมือที่เรามีสะสมไว้เหล่านั้นมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้ได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมกับงานแต่ละชิ้น
สองสิ่งที่พูดมานั้นความจริงเป็นเพียงแค่เทคนิควิธีการ คุณสมบัติที่สำคัญที่สุดที่ผู้ที่ต้องการเป็นนักเขียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเขียนนวนิยายต้องมีนั้นก็คือความรัก รักในการอ่านและเขียนอย่างแท้จริง
เพราะความรักนี่แหละจะผลักดันให้เราสร้างงานอย่างไม่ย่อท้อและมีความสุข
ตรงจุดนี้ดิฉันมักจะยกตัวอย่างตัวเองให้ฟังเสมอ… การเขียนนวนิยายเรื่องแรกในชีวิตเกิดขึ้นด้วยความรัก รักจะเขียนรักจะเล่า เขียนจนจบเรื่อง ใช้เวลาที่ว่างจากงานประจำเขียนอยู่นานถึงสองปีเต็มทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าเรื่องที่เขียนอยู่นี้จะได้ลงพิมพ์หรือไม่ จะได้ผลตอบแทนจากการทำงานนี้หรือเปล่า และเมื่อเขียนจบไปแล้ว ส่งไปให้บรรณาธิการพิจารณาแล้ว ความรักก็ผลักดันให้เราเขียนงานชิ้นต่อไปโดยไม่ทุกข์ร้อนคิดพะวงถึงงานชิ้นแรก เพราะการเขียน-ทั้งเขียนสำเร็จแล้วและกำลังเขียน ล้วนเกิดจากความรักในการเขียนโดยไม่ได้คิดถึงผลตอบแทนใดๆ
เท่าที่ได้พูดคุยมา นักเขียนใหญ่ๆ ระดับเจ้าของรางวัลซีไรต์ ระดับศิลปินแห่งชาติ หรือนักเขียนที่เป็นขวัญใจของนักอ่าน ก็ล้วนเป็นเช่นนี้ คือมีความรักในการเขียนอยู่เต็มหัวใจ ทั้งที่จุดเริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน
เมื่อเล่ามาถึงตรงนี้ก็ทำให้นึกย้อนกลับไปถึงข้อความหนึ่งในตอนที่สองของบทความพิเศษ ‘ระลึกคุณคุณสุภัทร สวัสดิรักษ์’ เขียนโดยคุณศรัณยา ชินะโรจน์ ที่หมวด เปิดบ้านอ่านเอา ในเว็บอ่านเอาของเรา…
คุณศรัณยาเล่าว่า เธอเคยถามคุณสุภัทร สวัสดิรักษ์ ผู้เป็นตำนาน เป็นหนึ่งในสุดยอดบรรณาธิการของประเทศไทยว่า ท่านมีหลักการอย่างไรในการมองทะลุเห็นว่าคนคนนี้คือเพชรแท้ คือนักเขียนที่จะสามารถยืนยงอยู่ในงานและในหัวใจของผู้อ่าน คำตอบของท่านคือ ต้องหยั่งความมุ่งมั่นของนักเขียนด้วยว่าเขาต้องการเดินบนถนนวรรณกรรมจริงหรือไม่ หรือแค่เข้ามาโลดแล่นเพียงระยะสั้นๆ
เมื่อคิดต่อจากถ้อยคำของท่าน คิดให้ลึกลงไประหว่างถ้อยคำ เราก็จะพบว่าความมุ่งมั่นต้องการเดินบนถนนสายวรรณกรรมนั้นต้องมีความรักในการเขียนอย่างแท้จริงคอยผลักดัน…
นั่นคือ… คุณสมบัติของนักเขียนที่ดีควรมี คือจุดเริ่มต้นที่ดี… เริ่มที่รัก