ไปเที่ยวอังกฤษที่พม่า : ตัวตายตัวแทน ตอนที่ 1
โดย : จินต์ชญา
โดย : จินต์ชญา
อวตารมาจากคอลัมน์ ‘เรื่องผีที่แม่เล่า’ ในนิตยสาร พลอยแกมเพชร อันลือลั่น จากผู้เขียนหนังสือขายดีอันดับหนึ่ง ‘ชาววังช่างเล่าเรื่อง (ผี)’ และ ‘ชาววังช่างเล่าเรื่อง (ผีนอกวัง)’
ไปเที่ยวอังกฤษที่พม่า : ตัวตายตัวแทน ตอนที่ 1
“ตอนที่รถขึ้นเขามา ผ่านจุดนี้ บางครั้ง อยู่ดีๆ ก็วิ่งไม่ไปเสียดื้อๆ
แก้ไขกันเท่าไหร่ก็ไปไม่ได้… เหมือนมีคนขึ้นมานั่งจนหนักแอ้ดๆ
จนต้องจุดธูปจุดเทียน เอาเนื้อสดๆ มีเลือดใส่ภาชนะ เปิดเหล้า วางเซ่นตรงหลักไมล์…”
เมื่อ 2-3 อาทิตย์ที่แล้ว ฉันเพิ่งจะกลับจากการไปเยือนประเทศเพื่อนบ้านของเรา คือสหภาพพม่า หรือชื่อที่เปลี่ยนมาไม่นาน จาก Burma กลายเป็น Myanmar หรือในชื่อเต็มๆ ว่า สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (Republic of the Union of Myanmar)
แม้รัฐบาลทหารพม่าได้เปลี่ยนชื่อประเทศนับตั้งแต่ปี 1989 คำว่า ‘เมียนมา’ มาจากภาษาพม่าแปลว่า “เข็มแข็งขึ้นอย่างรวดเร็ว” โดยเป็นการประสมคำระหว่างคำว่า ‘เมียน’ (Myan) ที่แปลว่า ‘รวดเร็ว’ กับ ‘มา’ (Ma) ที่แปลว่า ‘เข็มแข็ง’
ทำไมต้องเปลี่ยน? อยู่กันมาชื่อนี้หลายสิบปีแล้ว ทุกประเทศทั่วโลกต่างก็รู้จัก ทำไมจึงต้องเปลี่ยนให้มันยุ่งยากด้วย ?
น่าจะเป็นด้วยเรื่องการเมืองล้วนๆ รัฐบาลทหารพม่าในขณะนั้น ให้เหตุผลในการเปลี่ยนชื่อว่า เพราะต้องการแสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกภาพของประเทศ จาก ‘เบอร์มา’ หมายถึงชนชาติเดียวคือชนชาติพม่า (Bamar) ที่เป็นชนกลุ่มใหญ่ของประเทศทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงในพม่ามีชนกลุ่มน้อยอีกหลายชาติพันธุ์ (ไทยใหญ่, มอญ, ชิน, ฯลฯ) อาศัยรวมอยู่ด้วย แบบเดียวกันกับมลายู ก็เปลี่ยนเป็นมาเลเซีย เพราะชนชาติในประเทศนี้มีรวมกันทั้งจีนและอินเดีย แต่มีการกีดกันหลายอย่างให้กับคนมลายูดั้งเดิมหรือ ‘ภูมิบุตร’ ทำให้เกิดความแตกแยกขึ้น
นอกจากเหตุผลนี้ คำว่า ‘เบอร์มา’ ยังเป็นสัญลักษณ์ของการเป็นอดีตประเทศอาณานิคม เนื่องจากเป็นชื่อที่อังกฤษใช้เรียกชื่อประเทศแห่งนี้ ความจริงเรื่องที่มันยุ่งๆ ในประเทศนี้ก็มีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากอังกฤษนั่นแหละ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรฮิงญาหรือเรื่องรัฐฉาน เขาเปลี่ยนไม่เพียงแต่ชื่อประเทศเท่านั้น แม้แต่เมืองสำคัญหลายแห่ง อาทิ อดีตเมืองหลวง ‘ร่างกุ้ง’ (Rangoon) ก็ได้รับการเปลี่ยนชื่อโดยรัฐบาลทหารเป็น ‘ยางโกง’ (Yangon) เช่นกัน ซึ่งชื่อนั้นสำคัญไฉน คนไทยก็ยังเรียกพม่าเรียกย่างกุ้งอยู่เหมือนเดิม
ในอดีต ชนชั้นปกครองของอังกฤษจะอาศัยอยู่ที่แถวๆ มัณฑะเลย์ก็เยอะ ซึ่งหน้าร้อนจะร้อนมากๆ เขาเลยไปหาที่ตากอากาศกันบนยอดเขาที่มีอากาศเย็นสบาย ซึ่งที่เมืองเมเมียว (Maymyo) เป็นเมืองหนึ่งในประเทศพม่าตอนบน ความสูงจากระดับน้ำทะเลกว่า 1,000 เมตรตอบโจทย์นี้ได้ดี อากาศเย็นสบายตลอดปี จนหนาวสั่นในหน้าหนาว โดยคำว่า ‘เมเมียว’ มาจากชื่อของ พันเอกเมย์ ฟลาวเวอร์ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบอังกฤษ ที่รับหน้าที่เป็นผู้บัญชาการใหญ่ในเมืองนี้เมื่อครั้งที่พม่ายังเป็นประเทศอาณานิคมของอังกฤษเมื่อเกือบ 100 ปีก่อน เมืองพินอูลวิน (Pyin Oo Lwin) ถูกทำให้เป็นฐานบัญชาการของกองทัพอังกฤษ อีกทั้งยังเป็นเมืองตากอากาศชั้นสูงของเหล่าคณะทหารและขุนนางชาวอังกฤษในสมัยก่อน
ดังนั้น หน้าตาของสถาปัตยกรรมบ้านเรือนแถวนี้ เลยมีอิทธิพลของโคโลเนียลสไตล์เข้ามาเต็มๆ มีบ้านเก่าแก่โบราณอายุเกือบร้อยปี มีปล่องไฟพร้อมอิฐแดง เพื่อสุมฟืนให้ความอบอุ่นเมื่ออากาศหนาวเย็นแบบเดียวกับยุโรป ผู้คนเป็นลูกหลานของทหารกูรข่ารับจ้างจากเนปาลที่อังกฤษเคยใช้ไปรบสมัยโน้น พอคืนเอกราชก็ตกค้างอยู่ที่นี่ ตั้งรกรากในเมืองนี้ แต่ไม่ได้มีปัญหามากเหมือนโรฮิงจา เพราะเป็นพวกฮินดูที่กลืนๆ กับพวกพุทธได้สบาย คนแถวนี้เลยผิวพม่า นัยน์ตาแขกกันเยอะ หน้าเป็นแขกเลยก็มี
ด้วยอากาศที่เป็นใจ ปัจจุบันเมืองพินอูลวินได้กลายเป็นศูนย์กลางการผลิตดอกไม้ และผักผลไม้เมืองหนาวที่สำคัญของประเทศ นอกจากนี้แล้ว ยังเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมกาแฟของพม่าที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วอีกด้วย แถมตอนนี้เปิดประเทศ ก็มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวเป็นจำนวนมาก เกิดโรงแรมดีๆ ขึ้นเป็นดอกเห็ด เพราะเมืองนี้เป็นเมืองตากอากาศของคนรวย หรือพวกข้าราชการระดับสูงของพม่า
ฉันนั่งเครื่องบินมาจากเมืองไทยมาลงที่มัณฑะเลย์ นั่งรถไปสัก 2 ชั่วโมง (ทั้งๆ ที่ระยะทางแค่ 60 กิโลเมตร แต่ถนนกำลังทำตลอดสาย) ก็ถึงเมืองพินอูลวิน ทางไปต้องขึ้นเขาลาดชัน ช่วงนี้พระอาทิตย์อัสดงโพล้เพล้แบบผีตากผ้าอ้อม เราแล่นรถผ่านจุดพักหลักไมล์ที่ 21 คนขับและคนพาเรามาจากสนามบินดูเงียบผิดปกติ ฉันก็นึกยังไงไม่ทราบ เกิดถามว่า ที่นี่มีอุบัติเหตุเยอะมั้ย เพราะดูสภาพแล้วสองข้างทางเต็มไปด้วยเหว รถต้องวิ่งกันอย่างช้าๆ สวนกันตอนขึ้นเขาสูง บางครั้งเห็นรอยที่รถไถลชนหินกั้นตกลงไปข้างล่าง น่ากลัวพิลึก
สาวพม่าที่มารับรีบจุ๊ปากแล้วบอกว่า “ให้เลยตรงนี้ไปก่อนแล้วจะเล่าให้ฟัง”
เขาเล่ากันว่า…. มีรถมาคว่ำหรือประสบอุบัติเหตุ หรือตกเขาแถวนี้บ่อยๆ
เรื่องราวก็เหมือนๆ กับโค้งร้อยศพบ้านเราแหละ ที่เรามักจะพูดกันเรื่องตัวตาย ตัวแทน พอใครอยากออกจากที่ตรงนั้น ก็จะพยายามทำให้มีคน (ผี) มาแทนที่ ฉันเองก็สงสัยว่าผีที่ทำให้คนอื่นตายน่าจะบาปกรรม ไม่ควรได้ไปเกิดใหม่ แต่เขาว่าเป็นเพราะคนที่จะตายแทนนั้นมีกรรมที่สิ้นสุดอายุพอดี ก็เลยต้องวนเวียนอยู่ตรงนั้นจนหมดกรรมแทน ถ้าผีตนเก่ายังไม่หมดกรรม ตนใหม่มาอยู่ด้วย ก็ไม่ได้หมายความว่าตนเก่าจะไปจากตรงนั้นได้ทันที หากผีตนเก่ากับผีตนใหม่เคยมีกรรมฆ่ากันเกี่ยวเนื่องมาจากอดีตชาติ ด้วยผลกรรมนั้นจึงทำให้ผีตนเก่ามีอำนาจก่อเป็นสาเหตุแห่งการตายของผีตนใหม่ได้อีกด้วย ประมาณว่าเป็นเจ้ากรรมนายเวรมาเอาชีวิต
เรื่องผีที่เขาว่าฉันไม่ทราบ แต่โดยมากก็เพราะที่ที่ มีคนตายเยอะแยะตรงนั้นมีความอันตรายอยู่ในตัว เช่น วังน้ำวน ถนนไม่ดี ไม่ก่อสร้างตามหลักวิศวกรรม มีจุดตัด จุดอันตรายที่ใครไม่ระวังก็เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายอยู่แล้วด้วย เลยทำให้มีคนตายเป็นประจำในจุดๆ นั้น เช่นโค้งหน้าศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ส่วนบางห้างในกรุงเทพฯ ที่มีคนมากระโดดตึกตายบ่อยๆ ก็อาจเป็นที่ที่ มีตัวตายตัวแทนอีกเหมือนกัน
พอรถผ่านไปถึงตัวโรงแรมที่พัก ซึ่งเคยเป็นบ้านของผู้ว่าการเมืองชาวอังกฤษเก่า เจอวิลล่าเป็นหลังๆ บรรยากาศวังเวง น่าจะรีบเข้าไปนอนด่วนๆ ฉันก็ไม่ยอมแพ้ ได้รู้เรื่องราวของหลักไมล์ที่ 21 จนได้…
คนที่ขับรถผ่านไปมาตอนกลางคืน จะเห็นมีรถปริศนาโผล่มาในระยะกระชั้นชิดบ้าง มีคนมาเดินตัดหน้าบ้าง เกิดอุบัติเหตุไปหลายรายแล้ว
ที่ยิ่งไปกว่านั้น ตอนที่รถขึ้นเขามา ผ่านจุดนี้ บางครั้ง อยู่ดีๆ ก็วิ่งไม่ไปเสียดื้อๆ
แก้ไขกันเท่าไหร่ก็ไปไม่ได้… เหมือนมีคนขึ้นมานั่งจนหนักแอ้ดๆ
จนต้องจุดธูปจุดเทียน เอาเนื้อสดๆ มีเลือดใส่ภาชนะ เปิดเหล้า วางเซ่นตรงหลักไมล์…
จากนั้น ขึ้นรถเข้าเกียร์ รถก็จะวิ่งออกได้อย่างปกติ
ทุกวันนี้ เวลาขับรถผ่านหลักไมล์ที่ 21 คนขับรถทุกคันจะต้องใช้ความระมัดระวังอย่างเต็มที่ !!
เพราะไม่รู้ว่าวันนี้จะเกิดอะไรขึ้น !!!
- READ คุ้มเจ้าเมืองเหนือ 2 : คุกทาส
- READ คุ้มเจ้าเมืองเหนือ 1 : เจ้านายฝ่ายเหนือ
- READ ตุ๊กตาผีที่แท้ทรู
- READ ถ้ำอาถรรพ์ 2 : เหตุบังเอิญ ?
- READ ถ้ำอาถรรพ์ 1 : ถ้ำพญานาค
- READ โซ่ปริศนา
- READ บุญหนัก
- READ กรุงเก่า
- READ อาถรรพ์สองยาม...ตัวตายตัวแทน : ตอนที่ 3
- READ โค้งร้อยศพ...ตัวตายตัวแทน : ตอนที่ 2
- READ ไปเที่ยวอังกฤษที่พม่า : ตัวตายตัวแทน ตอนที่ 1