สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 3 : เจ้าจอม

สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 3 : เจ้าจอม

โดย : สิริทัศนา

เรื่องเล่าและเกร็ดประวัติศาสตร์ อันเกี่ยวเนื่องกับ สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา พระสนมเอกในรัชกาลที่สี่ พระราชชนนีแห่งสมเด็จพระนางเรือล่ม สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ผู้ทรงอยู่เบื้องหลังยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ไทย ถ่ายทอดโดย สิริทัศนา เรื่องราวที่แม้จะไม่ใช่ นิยายออนไลน์ แต่ก็เปี่ยมไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์น่าสนใจที่ อ่านเอา นำมาให้คุณได้ อ่านออนไลน์

Loading

“ในรัชกาลที่ 4 นักสนมมีเครื่องยศ 5 ชั้น

เริ่มจาก ‘นางอยู่งาน’ หรือนางกำนัลที่ทำงานในพระราชมณเฑียร

คนที่ทรงพระเมตตาจะได้รับหีบหมากเงินกะไหล่ทอง

แต่ยังไม่ใช้คำนำหน้าว่าเจ้าจอม ต่อเมื่อทรงเลือกไว้รับใช้ใกล้ชิด

ได้รับพระราชทานหีบหมากทองคำแล้ว จึงจะเรียกว่า เจ้าจอม ”

 

เจ้าจอม

เจ้าจอม คือตำแหน่งบาทบริจาริกาในพระมหากษัตริย์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายไว้ในหนังสือ สาส์นสมเด็จ ว่า จอมพระสนม หรือเจ้าจอมพระสนม เดิมเป็นคำเรียกพระสนมคนโปรด ต่อมาตัดคำออกเหลือเพียง จอม หรือ เจ้าจอม ในรัชกาลที่ 4 นักสนมมีเครื่องยศ 5 ชั้น เริ่มจาก ‘นางอยู่งาน’ หรือนางกำนัลที่ทำงานในพระราชมณเฑียร คนที่ทรงพระเมตตาจะได้รับหีบหมากเงินกะไหล่ทอง แต่ยังไม่ใช้คำนำหน้าว่าเจ้าจอม ต่อเมื่อทรงเลือกไว้รับใช้ใกล้ชิด ได้รับพระราชทานหีบหมากทองคำแล้ว จึงจะเรียกว่า ‘เจ้าจอม’ หากเป็นเจ้าจอมมารดา หรือทรงยกย่องมากขึ้น ก็จะพระราชทานหีบหมากทองคำลงยาราชาวดี ส่วนชั้นที่ 1 หรือพระสนมเอก จะพระราชทานพานทองเพิ่มจากหีบหมาก มีเครื่องประกอบครบชุดคล้ายกับของฝ่ายหน้าแต่ขนาดย่อมกว่า ชั้นพิเศษ คือพระมเหสีเทวี ได้รับพระราชทานหีบหมากและพานหมากเสวยเป็นทองคำลงยาราชาวดี

เจ้าจอม เปี่ยม ได้เลื่อนเป็น เจ้าจอม มารดา ในปี พ.ศ. 2399 เมื่อพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชยประสูติ คำพรที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานมาพร้อมกับดวงพระชะตาและพระนาม ‘อุณากรรณ’ นั้น แสดงถึงพระเมตตาที่ทรงมีต่อเจ้าจอมมารดามากเป็นพิเศษ

“พระราชกุมาร ซึ่งประสูติแล้วองค์นี้ ทรงพระนามว่าอุณากรรณอนันตนรไชย ได้สมความปรารถนาของบิดา จงเป็นสุขมีอายุยืนนาน จงอย่ามีโรค จงปราศจากความขัดข้องวุ่นวาย จงมีอานุภาพใหญ่ ประกอบไปด้วยทรัพย์แลยศเป็นอันมาก บิดามีความรักใคร่ในมารดาฉันใด พระราชกุมารก็จงรักษามารดาฉันนั้น มารดาเป็นที่อาศัยของบุตรนานเพียงไร เจริญได้ก็ด้วยอานุภาพของบุตร แม้คนอื่นนอกจากบิดาตนแล้วไม่ล่วงเกิน ขอพระราชกุมารองค์นั้นจงชนะข้าศึกทั้งหลาย ไม่มีที่สุดในกาลทั้งปวง เทอญ ความสำเร็จจงมี”

 

พระองค์อุณากรรณ

 

พระองค์อุณากรรณทรงเป็นพระเจ้าลูกเธอลำดับที่ 29 ถือเป็นรุ่นกลางที่ประสูติในเศวตรฉัตร คือประสูติเมื่อรัชกาลที่ 4 เสวยราชย์แล้ว สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงแบ่งรุ่นชั้นพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ 4 ที่ประสูติในเศวตฉัตรไว้ตามพระชนมายุ กล่าวคือ ประสูติแต่ปีชวด พ.ศ. 2395  ลงมาจนปีมะโรง พ.ศ. 2399 เป็นชั้นใหญ่ ที่ประสูติแต่ปีมะเส็ง พ.ศ. 2400 ลงมาจนปีวอก พ.ศ. 2403 เป็นชั้นกลาง ที่ประสูติแต่ปีระกา พ.ศ. 2404 มาจนปีมะโรง พ.ศ. 2411 เป็นชั้นเล็ก1

พระราชโอรสองค์ที่ 2 ที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเปี่ยม ทรงอยู่ในชั้นกลาง เพราะประสูติในปี พ.ศ. 2401 คือพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ พระนามที่ได้รับพระราชทาน ยังคงเกี่ยวข้องกับ ‘วงศ์เทวัญ’ จาก อิเหนา มีคาถาพระราชทานกำกับ พระสาสนโสภณ (เจริญ) วัดเทพศิรินทร์ แปลไว้ว่า

“คำว่า เทวัญอุไทยวงศ จงเปนนามแห่งกุมารนี้นี่แล ผู้เปนที่รักของเรา โดยเปนนามาภิธัยอันประเสริญ เพราะเดชแห่งพระรัตนตรัยด้วย เพราะเหตุแห่งบุญของเราด้วย ขอกุมารผู้เปนบุตรของเรานี้ จงมีอายุยืนนาน มีความสุขสำราญ ไม่มีโรค มียศ มีบริวาร แลประกอบด้วยเดชเห็นปานนั้น พึงรักษามารดาของตนอย่างไร จากบุรุษอื่น และพึงรักษาตระกูล แม้เปนของบิดาไว้ในอนาคตกาลฯ”

เมื่อพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเปี่ยม ในปี พ.ศ. 2403 นั้น ทรงเป็นพระราชธิดาลำดับที่ 50 และทรงอยู่ในชั้นเล็ก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระนามและพรเป็นภาษามคธ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงแปลว่า

“พระองค์เจ้าองค์นี้ ทรงนามว่า ‘สุนันทากุมารีรัตน์’ อย่างนี้ดังนี้ จงอย่ามีโรค จงมีความสุข ปราศจากความทุกข์และความวุ่นวายเถิด พระองค์เจ้าหญิงนั้นจงมั่งคั่งด้วยทรัพย์มาก มีโภคมาก มียศและบริวารไม่แปรผัน ขอพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ กับทั้งอารักขเทวดา จงช่วยอภิบาลรักษา พระองค์เจ้าหญิงสุนันทากุมารีรัตน์นั้นให้พ้นภัยจากอันตรายเป็นนิตย์ ขอความสัมฤทธิ์จงมีแก่พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์เทอญ”

เมื่อเจ้าจอมมารดาเปี่ยม มีพระองค์เจ้าเล็กๆ หลายพระองค์ไล่เรียงกัน คุณเหม พี่สาวของท่าน จึงเข้าไปเป็นพระพี่เลี้ยงในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นท้าววนิดาพิจาริณี และลูกสาวบุญธรรมของท่านนาค ก็เข้ามาเป็นพระพี่เลี้ยงด้วย ชาววังเรียกกันว่า ขรัวนายมา

 

เซอร์จอห์น เบาว์ริง

 

ในช่วงนั้น การล่าอาณานิคมรุนแรง อังกฤษทำสงครามกับพม่ามาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอลองพญา และกำลังมองมาที่สยาม รัชกาลที่ 4 ทรงตัดสินพระทัยดำเนินวิเทโศบายทางการทูตแทนการรบ และอังกฤษก็ส่งเซอร์จอห์น บาวริง เข้ามาสยามในปี พ.ศ. 2398 ไทยต้องยอมทำสนธิสัญญาเสียเปรียบ ทั้งด้านอำนาจศาลกงสุล สิทธิสภาพนอกอาณาเขต และภาษี แต่สยามก็จำเป็นต้องเปิดประเทศและรับวัฒนธรรมตะวันตก ส่งราชทูต ไปลอนดอนในปี พ.ศ. 2400 และฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2403 ความเปลี่ยนแปลงนี้ เข้ามาถึงราชสำนักฝ่ายในด้วย

—————————-

 

อ้างอิง :

  1. จากหนังสือ ‘ความทรงจำ’ บทพระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

 

ภาพประกอบ :

3.1—พระองค์เจ้าอุณากรรณ ภาพจากวิกิพีเดีย

3.2—เซอร์จอห์น เบาว์ริง ภาพจาก www.extermemories.co.uk

 

Don`t copy text!