สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 5 : พระราชอาคันตุกะ

สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 5 : พระราชอาคันตุกะ

โดย : สิริทัศนา

เรื่องเล่าและเกร็ดประวัติศาสตร์ อันเกี่ยวเนื่องกับ สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา พระสนมเอกในรัชกาลที่สี่ พระราชชนนีแห่งสมเด็จพระนางเรือล่ม สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ผู้ทรงอยู่เบื้องหลังยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ไทย ถ่ายทอดโดย สิริทัศนา เรื่องราวที่แม้จะไม่ใช่ นิยายออนไลน์ แต่ก็เปี่ยมไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์น่าสนใจที่ อ่านเอา นำมาให้คุณได้ อ่านออนไลน์

Loading

“…การสอนหนังสือชาววังนี้

เป็นงานให้การศึกษาชาววังเป็นครั้งแรกในต่างประเทศ

และกล่าวว่าจุดนี้เป็นการเริ่มต้นให้การศึกษาแก่สตรีชาววังอย่างเป็นทางการ”

 

พระราชอาคันตุกะ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชวินิจฉัยให้ลอร์ดเฮย์ “ขึ้นมาโดยดี  เมื่อมีเหตุอะไรก็ให้พูดกันฉัน เมืองเปนไมตรี” ทางกรุงเทพฯ ก็เตรียมการต้อนรับ โดยโปรดฯ ให้ฝ่ายในออกงานด้วย

ราชสำนักยุคนั้นพอจะคุ้นเคยกับ ‘ฝาหรั่ง’ อยู่บ้าง เพราะมีครูเข้าไปสอนถึงข้างใน สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระราชโอรสลำดับที่ 47 ของรัชกาลที่สี่ ทรงเล่าไว้ในบทพระนิพนธ์ ประวัติตรัสเล่า ว่า “…เริ่มต้นที่ล้นเกล้าฯ จะทรงทำนุบำรุงพวกเราให้ได้รับความรู้ ทรงตั้งโรงเรียนภาษาอังกฤษขึ้นที่ตึกแถวริมประตูพิมานชัยศรี ด้านขวามือหันหน้าออก มีนายฟรานซิล ยอร์ช แพตเตอร์สัน เป็นครูสอน อยู่ในความดูแลของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ เช้าสอนเจ้านายกับพวกเราและหม่อมเจ้าบ้าง บ่ายสอนข้าราชการที่เป็นทหารมหาดเล็ก เราเข้าเรียนมาตั้งแต่เปิดโรงเรียน ครั้งนั้นเรามีอายุราว 12 ปี ครูพูดไทยไม่ได้สอนอย่างฝรั่งเจี๊ยบ หนังสือเรียนใช้แบบฝรั่ง ที่สุดจนแผนที่ก็ใช้แผนที่ยุโรปสำหรับสอน เรารู้จักแผนที่ของเมืองฝรั่งก่อนเมืองไทยเราเอง คิดเลขก็ใช้มาตราอังกฤษ เรารู้นิสัยฝรั่งจากหนังสือเรียน…”

นายแพทย์ซามูเอล เรโนลด์ เฮาส์ มิชชันนารีอเมริกัน ที่คนไทยเรียกว่า ‘หมอเหา’ บันทึกไว้ว่า นางแดน บรัดเลย์, นางเอส แมททูน และนางจอร์น เทเลอร์โจน สตรีมิชชันนารี ได้เข้าไปสอนหนังสือฝ่ายในช่วงปี พ.ศ. 2394-2397 นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลกที่มิชชันนารีได้เข้าไปสอนในพระราชวัง

สมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรีย

“…การสอนหนังสือชาววังนี้เป็นงานให้การศึกษาชาววังเป็นครั้งแรกในต่างประเทศ และกล่าวว่าจุดนี้เป็นการเริ่มต้นให้การศึกษาแก่สตรีชาววังอย่างเป็นทางการ” ต่อมา ภรรยาของหมอเฮาส์ คือ มิสซิสแฮร์เรียต เอ็ม เฮาส์ ก็เข้าไปสอนหนังสือในวังหลวงด้วย หมอเฮาส์ผู้นี้มีบทบาทในการร่างสนธิสัญญาไทยอังกฤษ เขาและภรรยา มีส่วนร่วมในการก่อตั้งโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน และวัฒนาวิทยาลัย

จากนั้น ในปี พ.ศ. 2404 นางแอนนา ลีโอโนเวนส์ ได้เข้าไปสอนในราชสำนัก ตามที่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้ผู้จัดการบริษัทบอร์เนียวที่สิงคโปร์หาครูสตรีส่งมาสอนภาษาอังกฤษฝ่ายในและเจ้านายเล็กๆ แหม่มแอนนาได้แต่งบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับสยามไว้สองเล่ม คือ The English Governess at the Siamese Court และ The Romance of the Harem ซึ่งมาร์กาเร็ต แลนดอน นักเขียนชาวอเมริกัน นำมาแต่งเป็นนวนิยายเรื่อง Anna and the King of Siam ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2487

นอกเหนือจากการเรียนภาษา เสื้อผ้าของฝ่ายในก็เริ่มเปลี่ยนไปจากเดิม เจ้านายสตรีเมื่อเสด็จร่วมงานพระราชพิธีหรือแต่งพระองค์เต็มยศ จะทรงพระภูษาเป็นผ้ายกและทรงสะพักตาด หากเป็นเจ้าจอมสามัญชน ก็จะห่มสไบสองชั้น ชั้นบนเป็นผ้าพิมพ์ลาย เช่นเดียวกับผ้านุ่งจีบหน้านางที่มักจะเป็นผ้าลายอย่าง เพราะคนสามัญไม่นุ่งผ้าที่ทอด้วยเส้นเงินทอง

ในเวลาปกติ ชาววังห่มสไบและนุ่งผ้าโจงกระเบนสีตามวัน หรือสวมเสื้อคอกลมปิดคอ มีแพรห่มทับเสื้อแบบสไบเฉียง ผู้หญิงทั่วไปก็แต่งตัวแบบนี้ หากอยู่กับบ้านก็จะห่มผ้าแถบคาดอกหรือตะเบงมานเมื่อทำงานหนัก ส่วนผม นิยมไว้ผมปีก คือตัดด้านข้างสั้นเกรียนรอบศีรษะ เหลือผมด้านบนตั้งขึ้น และมีผมทัดเป็นจอนยาวสองข้างหู ถ้ารำละคร จะไว้ผมยาว

แต่เจ้าจอมและเจ้าจอมมารดาที่ออกงานต้อนรับลอร์ดเฮย์ในครั้งนั้น ‘แต่งแหม่ม’ และมีการถ่ายภาพในชุดแบบสตรีตะวันตกเก็บไว้ด้วย

แมรี่ ลินคอล์น สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐอเมริกา

ชุดของเจ้าจอมมารดาเปี่ยมในภาพถ่าย ตรงกับความนิยมในราชสำนักสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย และชุดของสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งสหรัฐอเมริกา นางแมรี่ ลินคอล์น ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1860 กระโปรงบานสุ่มเป็นระบายซ้อนๆ กันหลายชั้น คอกว้างและแขนก็ซ้อนระบาย ผ้าที่ใช้มีทั้งโบรเคด ไหม ลูกไม้ และดอกกุหลาบประดิษฐ์ สวมกรอบพักตร์แทนเทียร่า ประดับดอกไม้ที่ผม ใส่เครื่องเพชรครบชุด แต่งหน้าขาวอย่างเมื่อรำละคร ที่น่าสังเกตคือถือผ้าเช็ดหน้า และไว้เล็บยาวมาก เล็บนี้ไว้กันทั้งหญิงและชาย แต่ขึ้นกับความชอบ เจ้าจอมบางท่านก็ตัดเล็บสั้น

การแต่งแหม่มนี้ มีนัยยะสำคัญที่สื่อถึงความทันสมัยของสตรีไทย จากที่ชาวตะวันตกเคยมองว่าตัดผมสั้นและฟันดำจากการรับประทานหมาก อีกทั้งยังแสดงว่ามีการศึกษาดีพอที่จะเข้าสมาคมในงานสำคัญระดับประเทศได้

ผลจากการเชิญลอร์ดเฮย์เข้ามากรุงเทพฯ ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล่าไว้ในช่วงท้ายของลายพระราชหัตถเลขาถึงกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญว่า…

“เรือนำร่องออกไปจะนำเรือรบเข้ามา เลอร์ด ยอน เฮ ยังไม่เข้ามาว่าจะคอยฟังหนังสือตอบกงสุลก่อน รออยู่อีกวันหนึ่ง… จึงใช้จักรเรือรบลำย่อมชื่อ กอเกวด ซึ่งไปยิงเมืองตรังกานูนั้น มีปืนใหญ่ 4 กระบอก เปนปืนอามสตรองอย่างใหม่ประจุท้ายกระบอก ๑ เปนปืนใหญ่ตามธรรมเนียม กระสุน 12 นิ้ว 3 กระบอก เข้ามาถึงปากน้ำเวลาเช้า 2 โมง รอจักรอยู่ที่หน้าด่าน พระยาพิพัฒน์โกษาหม่อมราโชทัย  พระยามหาอรรคนิกร พระยาสมุทบุรานุรักษ์ พระอมรมหาเดชลงไปในเรือ เลอร์ด ยอน เฮ  ก็ขึ้นมาต้อนรับเชิญลงไปในห้อง แต่สิ่งของซึ่งหัวเมืองจัดลงไปทักตามธรรมเนียมนั้นไม่รับไว้ ว่าอย่างธรรมเนียมไม่มี… เมื่อปราไสกันแล้ว เลอร์ด ยอน เฮ ก็ให้ใช้จักรขึ้นมาถึงกรุงเทพฯ… ทอดสมออยู่ใต้บ้านกงสุลอังกฤษลงไป แล้วแจ้งความแก่เจ้าพนักงานว่า ซึ่งเข้ามาทั้งนี้ไม่มีธุระอะไร เปนแต่ตัวเลอร์ด ยอน เฮ มารับราชการอยู่ในทะเลถึง ๓ ปี บัดนี้ใกล้ถึงคราวจะกลับไป เมืองไหนๆ ได้เที่ยวไปหมด แต่เมืองไทยยังไม่ได้เห็น จึงเข้ามาจะขอเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินสยาม…

“ครั้นวัน………ค่ำ เลอร์ด ยอน เฮ กับขุนนางเรือรบ 8 นาย กับกงสุลอังกฤษ พากันลงเรือเที่ยวไปรอบพระนคร… ครั้นวัน………. ค่ำ เลอร์ด ยอน เฮ กัปตัน อาเลกแษนเดอร์ กับขุนนางมียศเปนเซอ แลหมอรวมกัน ๙ นาย เข้ามาหา ฯข้าฯ ในท่ามกลางขุนนาง ฯข้าฯ ปราไสว่า ท่านมานี้ด้วยธุระประสงค์สิ่งใด ก็ว่าไม่มีธุระอันใด เปนแต่ได้ฟังกิติศัพท์ว่า พระเจ้าแผ่นดินฝ่ายไทยโปรดอังกฤษมาก… แลว่าเวรที่จะต้องอยู่ในทเลยังเหลืออิก 5 เดือน  แล้วจะกลับไปลอนดอน จะได้ไปกราบทูลควินวิกตอเรียว่า ได้เข้ามาเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินไทย ก็จะเปนอันบำรุงรักษาทางพระราชไมตรี… แล้วก็ไม่ได้ออกหาญพานชื่อเรื่องความที่เมืองตรังกานูเลย การที่เรือรบมาครั้งนี้ก็สมกับความในใบบอก พระพิเทศพานิชเมืองสิงคโปร์… ความในหนังสือนั้นว่า เรือรบอังกฤษลำหนึ่งชื่อ สก๊อด ได้เที่ยวไปเยี่ยมเยียนบ้านเมืองต่างๆ ที่ไปตั้งอยู่เปนกอลอนีก็ดี เปนเมืองกงสุลอังกฤษไปตั้งอยู่ก็ดี หลายแห่งมาแล้ว… ได้ยินว่าเรือรบลำนั้นจะขึ้นไปเยี่ยมเมืองไทยในเดือนเดเสมเบอร์เปนแน่ เสอริฉาดแมกเกาสแลน ซึ่งเปนผู้กำกับความเมืองสิงคโปร์ ว่าอยู่ถ้าเวลานั้นว่างการอยู่ จะโดยสานเรือรบนั้นเข้ามาเฝ้าเฉพาะพระภักตร์สักครั้งหนึ่งให้ได้

“เซอริฉาดแมกเกาสแลนนั้น เปนผู้รู้จักชอบพอกับ ฯข้าฯ มีหนังสือไปมากันเนืองๆ เมื่อมีอะไรก็ลอบให้เล่ห์ ให้นัย ให้สติปัญญาแก่ ฯข้าฯ มานานแล้ว ถึงในเรื่องเจ้าเมืองสิงคโปร์ คิดการวุ่นวายที่เมืองตรังกานูครั้งนี้ก็ไม่เห็นด้วย ไม่เข้าด้วย ท่านคนนั้นดูเหมือนจะเปนคนดีอยู่

“เลอร์ด ยอน เฮ บอกแก่ ฯข้าฯ ว่าวัน………. จะลากลับไป  การที่ตื่นตกใจซุบซิบกันอยู่เล็กน้อยเดี๋ยวนี้สงบแล้ว…

“แลเมื่อข่าวว่าเรือรบเข้ามา ตกใจกันอยู่นั้น ฯข้าฯ ได้แต่งคนเข้าไปสืบตามบ้านกงสุลบ้าง  ในเรือรบที่เขามานั้นบ้าง… คำของคนไปสืบเขา จดหมายเขียนมาให้ ฯข้าฯ … ข้อความในจดหมายเหล่านั้นก็ต้องกันกับเหตุที่เปนจริง…”

 

ภาพประกอบ :

5.1—แมรี่ ลินคอล์น สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ภาพจาก Wikipedia

5.2—สมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรีย ภาพจาก https://www.theweddingsecret.co.uk

 

Don`t copy text!