สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 9 : เล่าเรียนของเจ้านายเล็กๆ ในรัชกาลที่ 4

สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 9 : เล่าเรียนของเจ้านายเล็กๆ ในรัชกาลที่ 4

โดย : สิริทัศนา

เรื่องเล่าและเกร็ดประวัติศาสตร์ อันเกี่ยวเนื่องกับ สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา พระสนมเอกในรัชกาลที่สี่ พระราชชนนีแห่งสมเด็จพระนางเรือล่ม สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ผู้ทรงอยู่เบื้องหลังยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ไทย ถ่ายทอดโดย สิริทัศนา เรื่องราวที่แม้จะไม่ใช่ นิยายออนไลน์ แต่ก็เปี่ยมไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์น่าสนใจที่ อ่านเอา นำมาให้คุณได้ อ่านออนไลน์

Loading

พระเจ้าลูกเธอเริ่มเรียนหนังสือตั้งแต่อายุ 3 ขวบกับครูผู้หญิงในวังหลวง

จนถึง  7 ขวบจึงเรียกว่าชั้นมัธยมแยกหญิงชาย ยังคงเรียนหนังสือไทย

แต่จะมีวิชาอื่นเพิ่มขึ้นมา พระองค์ชายเรียนภาษามคธกับครูผู้ชาย…

 

เล่าเรียนของเจ้านายเล็กๆ ในรัชกาลที่ 4

พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา และพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี โปรดเสวยลูกกวาดที่เป็นของใหม่มาจากเมืองนอก ดังที่ สมภพ จันทรประภา เล่าไว้ในหนังสือ สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ ว่า เมื่อได้รับพระราชทานเงิน ก็จะให้พระพี่เลี้ยงไปซื้อลูกกวาดมาจากห้าง พระองค์เสาวภาฯ มักจะเสวยหมดก่อน แล้วกันแสงขอเพิ่มจากพระเชษฐภคินี ซึ่งต้องทรงยอมให้ เพราะเจ้าจอมมารดาสอนไม่ให้หวงของจากน้อง บางครั้ง พระองค์สว่างฯ จึงต้องซ่อนลูกกวาดไว้ไม่ให้น้องเห็น (1)

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับพระราชโอรส
ภาพจาก https://oer.learn.in.th/file_upload/cover/14241.jpg

พระลักษณะของพระราชโอรสธิดาที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเปี่ยม สะท้อนอยู่ในคำกลอนล้อเจ้านายที่ยังทรงพระเยาว์

“ช่างเล่นสนุก ท่านกันต์” พระองค์เจ้าอุณากรรณ พระชันษา 12 ปี

“โมโหฤทธิ์กล้า องค์เทวัญ” พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ พระชันษา 10 ปี

“พูดจาจัดกระจ่าง องค์นันทา” พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระชันษา 8 ปี

“หน้าตาคมสัน องค์สว่าง” พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา พระชันษา 6 ปี

“หน้าตาอ่อนหวาน องค์เสาวภา” พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี พระชันษา 5 ปี

“เป็นเด็กสุภาพ องค์โต” พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ พระชันษา 3 ปี

คำกลอนนี้อยู่ในหนังสือที่พิมพ์เรื่องลายพระหัตถ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงโต้ตอบกับพระยาอนุมานราชธน คุณจุลลดา ภักดีภูมินทร์ คัดมาวิเคราะห์ไว้ในหนังสือ เลาะวัง  (2)

พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย ภาพจากสำนักหอสมุดแห่งชาติ

ผู้ประพันธ์ซึ่งไม่ทราบนาม แต่งคำกลอนนี้ในช่วงที่พระองค์เจ้าอุณากรรณ และพระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ ทรงเจริญวัยและเริ่มศึกษาเล่าเรียนมาได้หลายปีแล้ว

บทพระราชนิพนธ์ใน ความทรงจำ ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าถึงการศึกษาของเจ้านายเล็กๆ สรุปความได้ว่า พระเจ้าลูกเธอเริ่มเรียนหนังสือตั้งแต่อายุ 3 ขวบกับครูผู้หญิงในวังหลวง จนถึง  7 ขวบจึงเรียกว่าชั้นมัธยม แยกหญิงชาย ยังคงเรียนหนังสือไทย แต่จะมีวิชาอื่นเพิ่มขึ้นมา พระองค์ชายเรียนภาษามคธกับครูผู้ชาย พระองค์หญิงฝึกหัดการเรือนการฝีมือต่างๆ

หลัง (ไว้พระเมาฬี) พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์

หลังจากโสกันต์ พระองค์ชายบวชเณร เมื่อสึกมาก็เรียนวิชาราชการ ทั้งจากการขึ้นเฝ้าในท้องพระโรง และได้ทราบข้อราชการจากขุนนางต่างๆ ที่ทรงคุ้นเคย อีกทั้งศึกษาศิลปวิทยาตามที่สนพระทัยกับครูผู้เชี่ยวชาญ แล้วผนวชเป็นพระภิกษุเมื่อพระชนมายุ 23 เมื่อลาผนวชก็รับราชการได้

หลังสุด-พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย กลาง-พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์

พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ ทรงหัดเขียนอ่านชั้นต้นที่เรียกว่าชั้นปฐมกับพระองค์เจ้าหญิงกฤษณา พระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วเริ่มทรงเล่าเรียนภาษามคธขึ้นชั้นมัธยมศึกษา ในสำนักพระยาปริยัติธรรมธาดา (เปี่ยม) จากนั้น เมื่อจบวิชาสามัญแล้ว กุลบุตรส่วนใหญ่เรียนวิชาชีพหรือราชการกับอาจารย์ผู้ชำนาญ ฝึกหัดสั่งสอนเฉพาะตัว (3)

ส่วนพระองค์หญิงเมื่อโสกันต์แล้ว ทรงฝึกศีลธรรม วิชาการเรือน และวิชาที่ทรงโปรด เพื่อทรงปฏิบัติหน้าที่ขัตติยนารีได้ โดยทรงศึกษาประเพณี ระเบียบของฝ่ายใน จนรับราชการและสอนผู้อื่นได้ ดังที่มีผู้ส่งบุตรสาวเข้าไปเรียนกิริยามารยาทวิชากุลสตรีที่ในพระบรมมหาราชวัง เหมือนกับไปเข้ามหาวิทยาลัย

พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา

สำหรับหนังสือเรียนของเจ้านายเล็กๆ สมัยนั้นหนังสือเรียนยังไม่มีฉบับพิมพ์ ต้องจ้างอาลักษณ์เขียนด้วยเส้นหรดาลลงในสมุดดำ  

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าถึงการเริ่มต้นศึกษาว่า “เมื่อได้หนังสือมาแล้ว ถึงวันพฤหัสบดีอันถือกันทั่วไปจนทุกวันนี้ว่าเป็นวันครู ควรเริ่มเรียนหนังสือ เวลาเช้าให้บ่าวถือพานรองหนังสือเรียนนั้นนำหน้า พี่เลี้ยงอุ้มตัวฉันเดินตาม มีบ่าวกั้นพระกลดคน ๑ บ่าวตามอีกสองสามคน คน ๑ ถือพานเครื่องบูชามีดอกไม้ธูปเทียนกับดอกเข็มและดอกมะเขือกับทั้งหญ้าแพรก (ของเหล่านี้เป็นของอธิษฐานของให้ปัญญาแหลมเหมือนเข็ม มีความรู้มากเหมือนเมล็ดมะเขือ และรู้รวดเร็วเหมือนหญ้าแพรกขึ้น) เมื่อถึงสำนักครู ยกพานหนังสือเข้าไปตั้งตรงหน้า จุดธูปเทียนกราบไหว้บูชาหนังสือแล้วจึงเริ่มเรียน ครูให้ไม้เหลาเท่าแกนธูปอัน ๑ สำหรับชี้ตัวหนังสือที่อ่านสอน ให้อ่านคำนมัสการ นโม พุทฺธาย สิทฺธํ ก่อน จำได้แล้วจึงอ่านสระและพยัญชนะต่อไป นอกจากวันพฤหัสบดีไม่ต้องมีเครื่องบูชา”

ในวังนำหนังสือปฐม ก กา ที่หมอบรัดเลพิมพ์เข้าไปสอนอ่านพยัญชนะและอักษรประสมกันด้วย จากนั้นจึงหัดอ่านหนังสือ บทละคร อิเหนา รามเกียรติ์ เรียนถึงชั้นนี้เรียกว่า ขึ้นสมุด เพราะใช้สมุดหนังสือเรื่องต่างๆ เป็นหนังสือเรียน อ่านเรื่องต่างๆ ไปจนสามารถอ่านหนังสือไทยได้แตกฉาน แต่ส่วนหัดเขียนหนังสือไม่สู้กวดขันนัก เลขไม่ได้สอนทีเดียว เพราะในสมัยนั้นยังถือกันว่าเป็นวิชาอันหนึ่งซึ่งต้องมีครูสอนต่างหาก

พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี (องค์กลาง)

เมื่อหมอบรัดเลพิมพ์หนังสือ สามก๊ก สำเร็จ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงซื้อมาพระราชทานพระเจ้าลูกเธอ และทรงวางแผนการศึกษาให้เรียนภาษาอังกฤษ โปรดให้ออกรับแขกเมืองด้วย

พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ

เวลาเสด็จออกรับแขกเมืองนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประทับพระราชบัลลังก์ ตรงกลางขุนนางเฝ้าทางด้านหน้า เจ้านายต่างกรมรัชกาลอื่นเฝ้าทางด้านเหนือ พระเจ้าลูกยาเธอชั้นผู้ใหญ่ มีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นหัวหน้า เฝ้าทางด้านใต้ ที่โสกันต์แล้วแต่งพระองค์ฉลองพระองค์ครุยอย่างเจ้านายผู้ใหญ่ ที่ยังไม่ได้โสกันต์แต่งพระองค์ทรงเกี้ยวและอาภรณ์ตามแบบพระราชกุมารที่ยังเยาว์วัย ประทับบนเบาะและมีเครื่องยศตั้ง(4)

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดูแลการศึกษาของพระราชโอรสธิดาอย่างใกล้ชิด แล้วยังทรงห่วงใยไปจนถึงกาลภายหน้าด้วย…

……………………………………………………………………….

หมายเหตุ : ภาพที่ 3-7 สมุดพระรูปพระราชโอรส พระราชธิดา และพระราชนัดดาใน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาพจาก http://www.reurnthai.com/ โดยคุณ werachaisubhong

เชิงอรรถ :

1. สมภพ จันทรประภา, สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ศยาม, 2551)

2. จุลลดา ภักดีภูมินทร์, เลาะวัง เล่ม 3 (กรุงเทพฯ: โชคชัยเทเวศร์, 2535)

3. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, พระประวัติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ (กรุงเทพฯ: จันวาณิชย์ จำกัด. 2526)

4. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ความทรงจำ (พระนคร : สำนักพิมพ์สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2505)

 

Don`t copy text!