เปอร์เซียเงาสะท้อนของอิหร่าน : ชิราซยังมีสวน-ป้อม-ตลาด-สุสาน
โดย : สองตา
อ่านสองตา คอลัมน์ที่ ‘สองตา’ เจ้าของเพจ “บันทึกของสองตา” จะพาคุณผู้อ่านเดินทางสู่โลกกว้างด้วยงบประมาณอันน้อยนิด เพราะเพียงแค่คลิกเดียวคุณก็จะได้ขึ้นเครื่องออนทัวร์อย่างเพลิดเพลินไปกับเรื่องราวต่างแดนที่เธอคนนี้ได้นำมาแบ่งปันให้ชาวอ่านเอาได้อ่านออนไลน์
จากมัสยิดสีชมพู ไกด์พาเราเดินไปตามถนน ผ่านร้านรวงของย่านนั้น มีทั้งร้านขายพรม ขายเฟอร์นิเจอร์ ขายขนมปัง ขายเนื้อ และที่ดูจะเป็นสิ่งใหม่คือมีคาเฟ่ทันสมัยร้านเล็กๆ แทรกตัวอยู่ เราผ่านซอกซอยที่เป็นแผงขายผักผลไม้ เดินสวนกับรถเข็นขายผลไม้ เป็นรถแบบที่บ้านเราใช้ขนอิฐปูนในการก่อสร้าง
เดินชมร้านเพลินๆ ไม่ทันเหนื่อย ก็ได้รับสัญญาณให้เตรียมข้ามถนนไปอีกฝั่ง ที่เป็นที่ตั้งของ Naranjestan E Ghavam คฤหาสน์ของคหบดี ผู้ดีตระกูลกวาวัม ที่สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมอิสลาม เคยเป็นที่พำนักของเจ้าของ เป็นที่ว่าการของเมือง (ใช้อาคารด้านหน้า) มีบทบาทสำคัญมาทุกยุคสมัยตั้งแต่ราชวงศ์ซานด์ การ์จา มาจนถึงปาห์เลวี ปัจจุบันนอกจากเป็นพิพิธภัณฑ์แล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยปาห์เลวีด้วย
ที่ต้องมาชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เพราะมีเรื่องราวและตัวอย่างศิลปะที่สะท้อนให้เห็นรสนิยมของชนชั้นสูงในศตวรรษที่ 19 ผ่านความงามของสถาปัตยกรรม การประดับตกแต่งด้วยงานกระเบื้อง งานไม้ งานกระจก จิตรกรรมให้ชม โดยไฮไลต์อยู่ที่การจัดสวนแบบเปอร์เชียแท้ๆ ที่เรียกว่าเป็นสวนสวรรค์
การจัดสวนแบบเปอร์เชียสวยจนยูเนสโกยกย่องให้เป็นมรดกโลก ซึ่งในโลกนี้มีอีกสองสวนที่สวยที่สุดในโลกที่ได้รับอิทธิพลจากสวนเปอร์เซียคือ Taj Mahal Garden ประเทศอินเดีย และ Alhambra Garden ประเทศสเปน
การชมตั้งต้นกันตรงกลางของทางเข้าหน้าอาคารติดประตู จุดที่เรายืนรวมตัวกันมีผนังประดับกระเบื้องสี สองข้างเล่าเรื่องการออกล่าสิงโตของกษัตริย์ ซึ่งสิงโตเป็นสัตว์ใหญ่ที่เป็นตัวแทนของอำนาจ จึงมีเพียงกษัตริย์เท่านั้นที่สามารถฆ่าได้ด้วยมือเปล่า ส่วนตรงกลางดูเด่นกว่า เป็นภาพขนาดใหญ่ของชายรับใช้สามคนที่ตามขบวนล่าสัตว์ไป ในเครื่องแบบสีสันสวยงาม
เบื้องหน้าเราคือสระน้ำทอดยาวเป็นแนว แบ่งสวนและอาคารออกเป็นสี่ส่วน มีต้นส้มที่เมื่อออกลูกเต็มที่ ต้นไม้สีเขียว จะมีลูกสีเหลืองสดใสสะพรั่งน่ามอง ด้านหลังมีต้นอินทผลสลัมคั่นเป็นแนวกับต้นปาล์มสูงที่ปลูกคู่กันมานานปี มีการทดแทนด้วยต้นใหม่เมื่อถึงเวลา เช่นเดียวกับสวนดอกไม้ข้างสระน้ำ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะและสไตล์ของสวนเปอร์เซีย
สีสัน แนวต้นไม้ และสระน้ำ นำสายตาไปสู่อาคารสองชั้นเบื้องหน้า มีทางขึ้นสองข้าง จากโถงตรงกลางที่โดดเด่นด้วยเสาหินสองต้น เพดานประดับกระจกเล่นกับแสงแดดระยิบระยับ หน้าจั่วมีภาพวาด ‘สิงโตและดวงอาทิตย์’ สัญลักษณ์ราชวงศ์การ์จา ส่วนฐานอาคารที่ยกสูงจากพื้นถึงสองเมตร ตกแต่งด้วยประติมากรรมนูนต่ำภาพสิงโตสู้กับวัว ที่อาจารย์ต้นจะไปเล่ารายละเอียดเรื่องภาพนี้ให้ฟังที่ Persepolis พรุ่งนี้
ภายในอาคารทุกห้องตกแต่งไม่ซ้ำกัน จุดที่พลาดไม่ได้ แต่ต้องปีนบันไดแคบชันขึ้นไป คือห้องที่มีเพดานและคานไม้เพนต์ลวดลายตามแนวศิลปะวิกตอเรียนของยุโรป ตระการตามาก ส่วนชั้นใต้ดินเป็นห้องแสดงงานศิลปะและมีขายของที่ระลึกนิดหน่อย
เราเดินชมสวน อาคารหลักของนาเรนเจสตาน แล้วลงมานั่งพักในสวน ภาพ แสง สี เสียง (น้ำพุ น้ำไหล) รอบตัวทำให้อยากนั่งนิ่งๆ ไปเรื่อยๆ เหมือนชาวเมืองที่เข้ามาใช้ที่นี่เป็นที่หย่อนใจ นั่งเล่น ดื่มกาแฟในสวน หลบแดดร้อนๆ และความวุ่นวายภายนอกสักพัก
ออกจากคฤหาสน์ เราไปชมป้อมคาริม ข่าน (Karim Khan Citadel หรือ Arg-e-Karim Khan) ป้อมขนาดใหญ่ที่ล้อมรอบด้วยกำแพงอิฐสีน้ำตาลแดง และหินจำหลักลายลึกอย่างวิจิตรตามสไตล์เปอร์เซีย ในสมัยราชวงศ์ซานด์ (Zand Dynasty)
กำแพงสูง 13 เมตรทั้งสี่ด้าน ทุกมุมมีหอคอยตรวจการสูงเด่นขึ้นมา แต่หอคอยที่อยู่ด้านทางเข้าเอียงลงมาคล้ายหอเอนปิซาในอิตาลี เนื่องจากด้านล่างของหอคอยนี้เป็นบ่อน้ำและที่ตั้งโรงอาบน้ำ จึงทำให้ดินเกิดการทรุดตัวเพราะความชื้น
ป้อมสร้างเมื่อ ค.ศ. 1766-1767 เป็นที่ประทับของจักรพรรดิคาริม ผู้สถาปนาราชวงศ์ซานด์ ทรงปกครองอิหร่านตั้งแต่ค.ศ.1705-1779 ทรงเป็นกษัตริย์รักความยุติธรรมและมีพระปรีชาสามารถองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์ของอิหร่าน ประชาชนรักและเทิดทูนมาก เพราะทรงวางตัวเหมือนเป็นพ่อเมืองมากกว่ากษัตริย์ จะเห็นได้จากที่ประทับในป้อมของพระองค์ไม่ได้วิจิตรอลังการ ดูเป็นที่อยู่แบบแมนๆ สมกับอยู่ในป้อม น่าเสียดายที่หลังจบราชวงศ์ซานด์ ที่นี่ถูกทิ้งและเคยใช้เป็นที่คุมขังนักโทษ เลยยิ่งทำให้อาคาร งานศิลปะชำรุดทรุดโทรมไป จนเมื่อเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ จึงมีบูรณะอาคารต่างๆ (ตอนนี้ก็ยังทำอยู่) และเปิดให้ชมได้เป็นส่วนๆ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ยังพอเหลือเค้าความงาม โครงสร้างไม้ และสวนส้มที่อยู่ตรงกลาง รวมถึงประตูไม้บานใหญ่ตรงทางเข้า
บ่ายนี้คณะเราจะใช้เวลาแถวป้อมนี่แหละ เพราะเดินไม่ถึง 10 นาทีก็ถึงร้านอาหารกลางวันที่อยู่ใกล้วากิล บาซาร์ (Vakil Bazaar) ที่หลังจากอิ่มท้องแล้ว เราจะได้ละลายเงินเรียลในกระเป๋า ที่มีอยู่คนละประมาณ 30 ล้านเรียล (100 ดอลลาร์ฯ) ได้ใช้สกิลในการคิดคำนวนกลับมาเป็นเงินไทย และต่อรองราคา
วากิล บาซาร์เป็นตลาดโบราณมีหลังคาคลุม เมื่อก่อนขายงานศิลปหัตถรรมเป็นหลัก มีทุกอย่างตั้งแต่เครื่องประดับ เครื่องเงิน เครื่องทองแดง ทองเหลือง ผ้าทอ พรมเปอร์เซีย งานเซรามิก กระเบื้องเพนต์สี เครื่องแก้วสารพัด แต่ปัจจุบันมีตลาดค้าเหมือนสำเพ็งเข้ามาอยู่อีกด้าน
ที่นี่กว้างและลดเลี้ยวเคี้ยวคดมาก ก่อนแยกย้ายอาจารย์ต้นให้เราถ่ายรูปป้ายจุดนัดพบของเราไว้ ถ้าหลงทางให้ถามคนในตลาดได้เลย และฉันกับมลก็ได้ใช้รูปถ่ายนั้นพาเรากลับมาที่เดิมจริงๆ เพราะยิ่งเดินยิ่งไปไหนไม่รู้ จากที่ว่าจำทางได้ เกิดงงจนสบตากับหนุ่มหน้าตาใจดีคนหนึ่ง จึงเข้าไปเปิดรูปให้ดู เขายิ้ม แล้วบอกว่า ตรงไปเลี้ยวขวา แล้วก็เลี้ยวขวาอีกที เราก็มาเจอร้านอาหารที่กินกลางวันก่อนแยกย้ายช้อปปิ้ง จากตรงนี้จำทางได้ล่ะ
อ้อ… ตลาดหยุดวันพฤหัสกับวันศุกร์ ตามวันหยุดราชการของอิหร่านนะคะ ถ้าจะไปเที่ยว วางแผนดีๆ จะได้ไม่พลาด
นวลให้พวกเราใช้เวลาที่ตลาดพอสมควร ใครสนใจอะไรซื้อได้เลย ต่างคนต่างได้ของกันคนละนิดละหน่อยมาโชว์กันก่อนขึ้นรถ น้องๆ ที่ทำเกี่ยวกับอาหารได้จานสวยๆ มาหลายใบ คนอื่นๆ ได้ผ้า ได้ของที่ระลึก ส่วนฉันได้งานเซรามิกตั้งโชว์เป็นเจ้าชายน้อย วางอยู่ในร้านขายเครื่องประดับ ตอนแรกเห็นมีอยู่ชิ้นเดียว ไม่แน่ใจว่าวางเป็นพร็อพหรือขาย พอเขาบอกว่าขายที่เห็นแล้วใจสั่น ต่อราคาไม่ถูก คิดกลับมาเป็นเงินไทยไม่ทัน แต่ควักเงินจ่ายทันที แฮปปี้มาก
หลังจากนั้นก็ได้เวลาไปซื้อถั่วต่างๆ ที่นวลโฆษณาชวนเชื่อไว้ว่าถั่วทุกอย่างของที่นี่อร่อย โปรดสำรองพื้นที่ในกระเป๋าสำหรับรับน้ำหนักการช้อปปิ้งครั้งนี้ด้วย หลังจากไปถึงร้านได้ชิมแบบนั้นแบบนี้แล้ว ทุกคนได้ถั่วพิสตาชิโอมาคนละอย่างน้อยหนึ่งกิโล และได้ข่าวว่ามีคนหนึ่งแบกน้ำหนักถั่วออกจากร้านถึงหกกิโลกรัมทีเดียว
ก่อนไปกินมื้อเย็น เรายังเหลืออีกหนึ่งจุดสำคัญที่ต้องไปชม นั่นคือ Mausoleum Of Hafe หรือสุสานของกวีเอกแห่งศตวรรษที่ 14 นาม Hafez
“ตอนนี้หกโมงและฟ้ามืดแล้ว เราไปสุสานกัน มันไม่น่ากลัวไปหน่อยหรือคะ”
ฉันถาม อาจารย์ต้นหัวเราะ บอกว่าที่นี่ยิ่งค่ำยิ่งคึกคัก แล้วเมื่อไปถึงก็ได้เห็นว่าจริง หน้าทางเข้ามีผู้คนพลุกพล่านราวกับมีงานฉลองอะไรกันอยู่ แต่เขาว่าเป็นอย่างนี้ทุกวัน
สำหรับชาวเปอร์เซีย บทกวีเป็นอาหารหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณ การเดินทางรอน แรมในอดีตสิ่งที่ขาดไม่ได้คืออาหาร พรม และหนังสือบทกวี ซึ่งกวีหลายคนกลายเป็นผู้นำทางปัญญาที่มีอิทธิพลทางความคิดและจิตใจของผู้คน
สุสานนี้ พระเจ้าคาริม ข่านโปรดให้สร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานให้กับฮาเฟซ (Hafez) กวีอิหร่านคนสำคัญที่เป็นชาวเมืองชิราซ มีการจัดสวนสวยงามตามแบบเปอร์เซีย สร้างศาลายกพื้น ตั้งเสาแปดเสารับหลังคาโดมตกแต่งสวยงาม บนพื้นศาลาตั้งหินอ่อนสีขาวเหนือที่ฝังศพ ซึ่งตอนนี้ล้อมรอบด้วยพี่น้องชาวอิหร่านและกรุ๊ปนักท่องเที่ยว ฉันแทรกตัวเข้าไปดูแป๊บเดียวก็ถอยออกมาเพราะมีคนรอรอบนอกอีกไม่น้อย
อ่านจากหนังสืออิหร่านที่มี ได้ข้อมูลว่า
“ว่ากันว่าแทบทุกบ้านในอิหร่านจะต้องมีหนังสือบทกวีของฮาเฟซอย่างน้อย 1 เล่ม และสำหรับบางคน บางทีเมื่อถึงคราวอับจนทางความคิดหรือมีเรื่องที่ต้องตัดสินใจ เขาจะอ่านคัมภีร์อัลกุรอานสองบทเพื่ออวยพรให้กับฮาเฟซ จากนั้นจึงเปิดหนังสือของท่านขึ้นมาหน้าใดก็ได้สักหน้าหนึ่ง แล้วข้อความของหนังสือหน้านี้ก็จักเปิดเผยคำตอบ หรือชี้ทางเพื่อการตัดสินใจเรื่องสำคัญในชีวิตให้โดยปริยาย”
เมื่อกลับออกมาจากสุสาน ด้านหน้ามีการอ่านบทกวี และมีคนถือไพ่ พร้อมนกเกาะบนมือตรงดิ่งมาหาเรา ตอนแรกไม่รู้ว่าคืออะไร ชวนปล่อยนกเหรอ แต่เปล่า เขาชวนให้ดูดวง ค้นหาคำตอบจากบทกวีของฮาเฟซ คือถ้าเราใช้บริการ ก็ต้องตั้งจิตอธิษฐานขอพรแล้วนกน้อยนั้นจะเลือกไพ่ที่มีบทกวีอยู่ด้านหลังไพ่เป็นคำตอบให้กับเรา
สำหรับฉันแม้จะเดินกลับมาขึ้นรถแล้วก็ยังแปลกใจกับภาพที่เห็นในสุสานเมื่อครู่ และเกิดคำถามว่ากวีทำไมจึงยิ่งใหญ่ได้ขนาดนี้ จะถามนกน้อยก็ไม่ทันเสียแล้ว คงต้องไปหาความรู้และคำตอบเองว่า ฮาเฟซคือใคร สำคัญกับคนอิหร่านอย่างไร
- READ เปอร์เซียเงาสะท้อนของอิหร่าน : ยินดีที่ได้รู้จักอิหร่าน
- READ เปอร์เซียเงาสะท้อนของอิหร่าน : อิสฟาฮาน (Esfahan) จุดครึ่งหนึ่งของโลก
- READ เปอร์เซียเงาสะท้อนของอิหร่าน : เยือนเปอร์เซโพลิส (Persepolis) นครที่ร่ำรวยที่สุดใต้ดวงตะวัน
- READ เปอร์เซียเงาสะท้อนของอิหร่าน : ชิราซยังมีสวน-ป้อม-ตลาด-สุสาน
- READ เปอร์เซียเงาสะท้อนของอิหร่าน : ชิราซ (Shiraz) ไม่ได้มีแต่องุ่น
- READ เปอร์เซียเงาสะท้อนของอิหร่าน : พลาดบางสิ่งก็ทำให้ไปเจอกับบางอย่าง
- READ เปอร์เซียเงาสะท้อนของอิหร่าน : สวัสดีอิหร่าน
- READ บันทึกญี่ปุ่นของสองตา : นั่งรถไฟไป Chihiro Art Museum Tokyo
- READ บันทึกญี่ปุ่นของสองตา : ไปเดินเที่ยวนิงเงียวโจ
- READ บันทึกญี่ปุ่นของสองตา : ท่องถนนหนังสือ
- READ เปอร์เซียเงาสะท้อนของอิหร่าน : ชมอีกวังก่อนบอกลาเตหะราน