บูนา บูคาเรสต์

บูนา บูคาเรสต์

โดย : วิฑูรย์ ทิพย์กองลาศ

Loading

“เที่ยวโทงเทง” คอลัมน์ท่องเที่ยวกับเรื่องเล่าจากสมุดบันทึกของ “วิฑูรย์ ทิพย์กองลาศ” ซึ่งได้แบกเป้เดินทางคนเดียวตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา เป็นบันทึกการโดยสารขนส่งสาธารณะ การพบปะและบทสนทนากับผู้คน (ตลอดจนหมาแมว) พร้อมแนบข้อมูลทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมประจำเมือง แต่ละวันมักจบลงด้วยเบียร์เย็นๆ หรือวิสกี้ในบาร์ท้องถิ่น

ต้นพฤษภาคม 2560 หรือประมาณ 1 เดือนก่อนที่ชาติอาหรับ 4 ชาติ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ บาห์เรน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จะมีปัญหากับประเทศกาตาร์ ถึงขั้นตัดความสัมพันธ์ทางการทูตและตามมาด้วยการออกหลายมาตรการคว่ำบาตร รวมถึงห้ามบินผ่านน่านฟ้า ผมได้ใช้บริการ ‘กาตาร์แอร์เวย์ส’ สายการบินแห่งชาติของกาตาร์ เดินทางไปยังกรุงบูคาเรสต์ เมืองหลวงของโรมาเนีย

บินออกจากสนามบินสุวรรณภูมิ ในเวลา 02.05 น. ถึงสนามบิน Hamad International Airport กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ เวลา 04.50 น. ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งช้ากว่าเมืองไทย 4 ชั่วโมง พักเครื่อง 2 ชั่วโมง แล้วขึ้นบินอีกครั้งในเวลา 06.50 น. ใช้เวลาบิน 4 ชั่วโมง 50 นาที ถึงสนามบิน Henri Coanda International Airport กรุงบูคาเรสต์ ประเทศโรมาเนีย เวลา 11.40 น. โดยเวลาที่โรมาเนียห่างจากประเทศไทย 4 ชั่วโมงเช่นเดียวกับกาตาร์

เครื่องบินกำลังลงจอดที่สนามบิน Otopeni กรุงบูคาเรสต์

นี่เป็นสิ่งที่ทำให้ผมงงงวยเป็นอย่างมาก เวลาที่กาตาร์และโรมาเนียห่างจากเมืองไทย 4 ชั่วโมงเท่ากัน ทั้งที่สองประเทศนี้อยู่ห่างกันโดยใช้เวลาบินถึงประมาณ 5 ชั่วโมง กรุงบูคาเรสต์ตั้งอยู่ที่ลองติจูด 26 องศาตะวันออก ขณะที่กรุงโดฮาตั้งอยู่ที่ลองติจูด 51 องศาตะวันออก

มาทราบทีหลังว่าเหตุที่เวลาของโรมาเนียและกาตาร์ตรงกัน (ในช่วงที่ไม่ใช่ฤดูหนาว) ก็เพราะกาตาร์ใช้เวลาของ Arabia Standard Time หรือ AST ซึ่งต้องใช้ร่วมกับประเทศตะวันออกกลางอีก 6 ประเทศ ได้แก่ บาห์เรน อิรัก คูเวต เยเมน  และซาอุดีอาระเบีย ซึ่งซาอุฯ มีอาณาเขตประเทศกว้างใหญ่ไพศาล ร่วมลองติจูดเดียวกับตุรกีถึงเกือบครึ่งประเทศ  และตุรกีก็มีพื้นที่ร่วมลองติจูดกับโรมาเนียส่วนหนึ่งด้วย

เมื่อถึงสนามบิน Henri Coanda (หรือหลายคนเรียก Otopeni ตามชื่อเมืองที่ตั้งของสนามบิน ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของกรุงบูคาเรสต์ขึ้นไปประมาณ 16 กิโลเมตร) ก็ต้องผ่านการตรวจคนเข้าเมือง กว่าเจ้าหน้าที่จะประทับตราลงในพาสปอร์ตใช้เวลาไปหลายนาที เพราะผมไม่มีวีซ่าโรมาเนีย แต่ใช้วีซ่าเชงเกนที่ขอจากสถานกงสุลฮังการีในกรุงเทพฯ ซึ่งแทบทุกประเทศในคาบสมุทรบอลข่านและอดีตยูโกสลาเวียจะอนุโลมให้ใช้เข้าประเทศได้ หากว่าวีซ่าเชงเกนนั้นเป็นแบบเข้าออกได้หลายครั้ง (โรมาเนียเป็นสมาชิกกลุ่มเชงเก้นแล้วเมื่อต้นปี 2567 เช่นเดียวกับบัลแกเรีย)

จะนั่งรถบัสเข้าเมือง แต่ผมยังไม่มีเงินสกุล Lei (เล) ของโรมาเนีย และหากจะใช้เงินสกุลยูโรที่มีติดตัวมาบ้างแลกกับเงินเลที่สนามบิน ประสบการณ์บอกว่าหากยังมีทางเลือกอื่นก็อย่าได้ทำเป็นอันขาด เพราะจะได้อัตราแลกเปลี่ยนถูกกว่าราคาตลาดหลายช่วงตัว

ผมกดเงินออกมาเป็นสกุลเลจากเอทีเอ็ม โดยใช้บัตรเดบิตประเภท Visa บัตรแบบนี้จะกำหนดเรตขึ้นซึ่งแน่นอนว่าผู้ใช้บริการได้รับอัตราแลกเปลี่ยนถูกกว่าปกติ บวกเพิ่มค่าป้องกันความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงินในอัตราแลกเปลี่ยนอีกร้อยละ 2.5 ของยอดที่ถอน และคิดค่าถอนอีกครั้งละ 100 บาท แต่ก็ยังน่าพอใจกว่าแลกเงินตามสนามบินและสถานีรถไฟ

ได้เงินมาแล้ว ผมก็เดินไปซื้อตั๋วรถเมล์ราคา 9 เล (ในเวลานั้น 1 เล เท่ากับเงินไทย 8.5 บาท) ซึ่งสามารถใช้โดยสารได้ 2 เที่ยว เมื่อเห็นรถเมล์สาย 783 เข้ามาจอดก็รีบขึ้นไปนั่งทันที รถเมล์จากสนามบินสายนี้คือสายเดียวที่ผ่านใจกลางเมืองและผ่านที่พักที่ผมจองไว้

บนรถเมล์มีตัวหนังสือวิ่งอยู่บนป้ายอิเล็กทรอนิกส์เล็กๆ คอยบอกชื่อป้ายถัดไป อีกทั้งมีเสียงจากลำโพงในรถบอกอีกทางหนึ่งแม้ว่าจะมีแค่ภาษาโรมาเนียก็ตาม ผมลงที่ป้าย Piata Romana

ย่าน Piata Romana กรุงบูคาเรสต์

ถามชาวบ้านไป 2 คน และเดินคลำทางอยู่ไม่นานก็เจอที่พัก Vatra Accommodation บนถนน Strada Mihai Eminescu ซึ่งได้จองไว้กับ Booking.com กดกริ่งหน้าประตูอยู่นานกว่าจะมีคนมาเปิด และคนที่มาเปิดประตูกลับเป็นเพื่อนของเจ้าของ เขากดโทรศัพท์มือถือให้ผมคุยกับเจ้าของชื่อ “ซีซาร์” เขาบอกว่าจะกลับเข้ามาในอีกประมาณ 1 ชั่วโมง ให้ผมเข้าห้องพักไปก่อน ค่อยจ่ายเงิน

ผมเพิ่งทราบตอนนี้อีกเหมือนกันว่าที่พักของเขาเป็นแบบอพาร์ตเมนต์ นั่นคือเจ้าของสถานที่กับผู้เข้าพักจะนัดแนะเวลากันก่อนทางโทรศัทพ์หรืออีเมลเพื่อรับกุญแจ ราคาค่าเช่าที่พักแบบอพาร์ตเมนต์นั้นจะถูก แต่คุณภาพห้องพักดีกว่าเกสต์เฮาส์และโฮสเทล บางครั้งเป็นบ้านทั้งหลัง ผู้พักอาจจะเจอหน้าผู้ให้เช่าเพียงแค่ครั้งเดียวตอนจ่ายเงิน หากประสงค์จะอยู่ต่ออีกวันก็แค่ทิ้งเงินและกุญแจไว้บนหัวเตียง หรือในกล่องรับไปรษณีย์หน้าห้อง ความจริงซีซาร์ได้ส่งอีเมลบอกรหัสประตูทางเข้าและหมายเลขห้องไว้แล้ว ห้องไม่ได้ล็อกและกุญแจวางอยู่ในห้องพัก แต่ผมไม่ได้เช็กอีเมล

สถานที่แห่งนี้เป็นบ้านโบราณขนาดใหญ่ (ซีซาร์เรียกว่าวิลลา) ได้ปรับปรุง ซอยย่อยเป็นห้องพักแบบอพาร์ตเมนต์ แต่ขนาดห้องและขนาดเตียงเล็กกว่าที่ระบุไว้ในเว็บไซต์ และเมื่อมองออกไปนอกหน้าต่างก็ไม่มีทิวทัศน์สวนสวยดังที่โม้ไว้

อีกมึมหนึ่งในย่าน Piata Romana กรุงบูคาเรสต์บูคาเรสต์

เก็บกระเป๋าเสร็จผมออกไปหาอาหารเที่ยงกินแถว Piata Romana (Piata แปลว่า “ตลาด” หรืออาจเรียกว่า “ย่าน” ก็ได้) ด้วยความหิวจึงเข้าร้านเคเอฟซีเพราะสั่งแล้วได้กินเลย เคเอฟซีที่นี่คิดค่าซอสมะเขือเทศซองละ 2 เล กินเสร็จก็กลับเข้าที่พักและได้เจอกับซีซาร์ เขาไม่ขอข้อมูลและหลักฐานอะไรทั้งสิ้น ผมแค่จ่ายเงินในสกุลเลเทียบเท่า 30 ยูโร เป็นอันเรียบร้อย

ตอนเย็นผมมีนัดกับสาวโรมาเนียชื่อ ‘คาร์ลา’ เราเคยเจอกันที่กรุงเทพฯ เมื่อ 3 เดือนก่อนหน้านั้น ผมออกไปยังสี่แยก Piata Romana เพื่อจะซื้อซิมการ์ดของเครือข่าย Orange ที่เล็งไว้ ปรากฏว่าร้านปิดเสียก่อนแล้ว จึงต้องเข้าร้านกาแฟเพื่อขอใช้ Wifi เลือกได้ร้านชื่อ Gloria Jean’s Coffees บนถนน Bulevardul Dacia ไม่ห่างจากสี่แยก แล้วส่งข้อความให้คาร์ลาทราบ

University Square กรุงบูคาเรสต์

ประมาณครึ่งชั่วโมงต่อมาคาร์ลาเดินเฉิดฉายมาในชุดกางเกงสีดำแนบเนื้อ เสื้อยืดสีขาว และแจ็กเก็ตหนังสีน้ำตาล หน้าตาเธอสวยเก๋แบบฉบับสาวบอลข่าน รูปร่างสูงเพรียว หุ่นดี เธอมีอาชีพเขียน Advertorial (บทความเชิงโฆษณา) ให้กับบริษัทพนันแห่งหนึ่งเพื่อลงตีพิมพ์ในนิตยสารและเว็บไซต์ต่างๆ ที่บริษัทของเธอซื้อพื้นที่ไว้

คาร์ลาไม่ดื่มกาแฟเพราะเวลาปาเข้าไป 1 ทุ่มแล้ว เพียงแต่แสงแดดในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมยังไม่หมดไป เธอว่าหากจ่ายเงินค่ากาแฟเรียบร้อยแล้วก็ไปหาอะไรดื่มกันเถอะ ผมเห็นด้วย แล้วคาร์ลาก็พูดขึ้นว่า “ฉันจะพยายามเป็นไกด์ที่ดี” ผมบอกเธอว่า “อย่าดีมากก็แล้วกัน ผมไม่มีเงินจ่าย”

เราเดินไปบนถนน Bulevard General Gheorghe Magheru ถนนสายสำคัญของกรุงบูคาเรสต์ ย่านเมืองเก่า อยู่ห่างออกไปประมาณ 2 กิโลเมตร แต่เธอเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนเล็กๆ เส้นหนึ่ง เพราะได้นัดกับกลุ่มเพื่อนที่เบียร์การ์เดนในซอยนี้

เบียร์การ์เด้น หรือที่คาร์ลาเรียกว่า Beer Terrace แห่งนี้ขนาดกว้างขวาง มีต้นไม้อยู่เต็มไปหมด ทั้งต้นเล็กต้นใหญ่ จุดจ่ายเบียร์มี 2 จุด แต่ละจุดมีหลายหัวจ่าย คนหนุ่มสาวเข้าคิวกันยาวเหยียด คงเพราะคืนนี้เป็นคืนวันเสาร์ ลูกหลานแดรกคูลาจึงออกมาท่องราตรีกันคึกคัก ผมไม่อยากต่อคิวเบียร์สด ตรงเข้าไปซื้อเบียร์ขวด เลือกได้ยี่ห้อ Samson เบียร์เช็กที่เคยดื่มมาก่อน

เพื่อนของคาร์ลานั่งรออยู่แล้ว ในกลุ่มมีผู้ชาย 4 คน และผู้หญิง 1 คน ทั้งหมดดูจะเป็นรุ่นราวคราวเดียวกัน อายุประมาณ 30 ปี ทุกคนยิ้มแย้มและเป็นกันเอง เมื่อมีนั่งผมอยู่ด้วยพวกเขาเปลี่ยนมาคุยกันเป็นภาษาอังกฤษ หลายต่อหลายบทสนทนานำมาซึ่งเสียงหัวเราะ เราพูดคุยกันไหลลื่นจนผมลืมถามอาชีพของพวกเขา

เวลาประมาณ 5 ทุ่ม วงครื้นเครงของพวกเราย้ายออกจากเบียร์การ์เดนสู่ถนน Bulevard General Gheorghe Magheru ผ่านโรงละครแห่งชาติ มหาวิทยาลัยบูคาเรสต์ สถานที่สำคัญๆ โรงแรมมีชื่อ และบรรดาห้างร้านแบรนด์เนม มุ่งหน้าย่านเมืองเก่าซึ่งเต็มเป็นด้วยผับบาร์ แสดงถึงการเป็นชนชาตินิยมดื่มและร้องรำทำเพลง เช่นเดียวกับเพื่อนบ้านในคาบสมุทรบอลข่านอีกหลายประเทศ

พวกเราเดินไปตามซอกซอย เลี้ยวไปเลี้ยวมาอยู่หลายครั้ง แล้วหยุดที่ร้านชื่อ Fire Club – Fire Pub ‘แดน’ ผู้มีอารมณ์ขันที่สุดในกลุ่มเฉลยว่า “เรายอมเดินมาไกล เพราะที่นี่ราคาไม่แพง”

Mici (มิช) กับแกล้มท้องถิ่น

คาร์ลาแนะนำให้ผมดื่มเบียร์ Ursus และ Ciuc เบียร์ท้องถิ่น พร้อมด้วยกับแกล้มที่เรียกว่า Mici (อ่านว่า ‘มิช’) เป็นเนื้อวัว เนื้อแพะ และเนื้อหมูบดรวมกันคลุกเครื่องเทศแล้วนำไปย่าง รูปร่างเป็นแท่งๆ คล้ายไส้กรอก แต่ไม่มีอะไรหุ้ม และรสชาติเข้มข้นกว่าไส้กรอก ออกเค็มนำ เหมาะที่จะกินกับเบียร์

ประมาณตีสอง ซึ่งเป็นเวลาที่รถไฟใต้ดินหยุดวิ่งไปนานแล้ว แดนเรียกแท็กซี่ Uber เขาบอกผมว่ายินดีจะแวะไปส่ง ผมจึงน้อมรับความมีน้ำใจไว้

ผมลาคาร์ลาและเพื่อนๆ ของเธอที่ยังคงนั่งดื่มกันต่อ เดินตามแดนออกไปขึ้นแท็กซี่ Uber แดนบอกโชเฟอร์ให้ขับไปส่งผมก่อน พอถึงที่พักผมขอหารค่ารถ แต่แดนไม่รับ แล้วพูดว่า

“คุณค่อยจ่ายให้ผมที่เมืองไทยก็แล้วกัน”

Don`t copy text!