บ่าวหนุ่มบ้านบน บทที่ 1 : เปรตหื่นโป้ง

บ่าวหนุ่มบ้านบน บทที่ 1 : เปรตหื่นโป้ง

โดย : มาลา คำจันทร์

Loading

บ่าวหนุ่มบ้านบน โดย มาลา คำจันทร์  เรื่องของ บุญส่ง ครูหนุ่มที่ถูกบรรจุให้ไปสอนหนังสือที่บ้านห้วยผักกูดพร้อมคำเตือนที่ว่าไม่ไหวก็ให้ลาออก แล้ววันหนึ่งเขาก็พบเรื่องผิดปกติมากมาย ทั้งเสียงร้องไห้ในยามค่ำคืน เงาปริศนา เรื่องเล่า ตำนานท้องถิ่น และภูตร้ายพรายผี เขาจะเดินหน้าหรือถอยหนี พบกับคำตอบที่เพจอ่านเอาและ anowl.co

บุญส่งได้รับการบรรจุเข้าเป็นครูประชาบาลตำแหน่งครูจัตวา เมื่อปี พ.ศ.2513 อายุเพียง 18 ปี อัตราเงินเดือน 750 บาท โรงเรียนที่บ่าวหนุ่มบ้านบนถูกบรรจุเข้าไปชื่อว่าโรงเรียนบ้านห้วยผักกูด บรรจุพร้อมกันกับมาริสา ชื่อเล่นว่าจุ๊บแจง

บุญส่งกับมาริสา เป็นคนอำเภอเดียวกันแต่จบจากต่างโรงเรียน เป็นเพื่อนกันมาเมื่อเรียนวิทยาลัยครู จบออกมาพร้อมกัน สอบเป็นครูก็ได้รับการบรรจุโรงเรียนเดียวกัน

จุ๊บแจงเป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ สูงราว 155 เซนติเมตร มีแฟนแล้ว คำว่าแฟนสมัยนั้นหมายถึงหนุ่มสาวที่คบหาดูใจกัน อยู่ในขั้นรักใคร่ชอบพอกันเท่านั้น ยังไม่ได้แต่งงานเป็นผัวเป็นเมียแก่กัน แฟนเธอก็สอบบรจุพร้อมกัน แต่บรรจุที่อำเภอเชียงของบ้านเกิดของเขา ชื่อเล่นว่าหนุ่ย ชื่อจริงว่าสิทธิศักดิ์ เมื่อยังเรียนครูอยู่ด้วยกัน หนุ่ยกับบุญส่งพักร่วมหอพักเดียวกันในวิทยาลัยครู ไปฝึกสอนที่เดียวกัน จึงรู้จักคุ้นเคยกันดีแม้ไม่ถึงขั้นเพื่อนเดียวเสี่ยวฮัก

คนอย่างเขาคงหาเสี่ยวฮักเสี่ยวแพงได้ยาก เพราะนิสัยใจคอแผกเพื่อน แผกยุคสมัย ฝักใฝ่ไปทางพระเจ้าพระธรรมคำสอน เพื่อนที่วิทยาลัยครูมักเรียกเขาว่าไอ้หนาน บางคนก็เรียกว่าลุงหนาน ที่หนักหน่อยก็ไปโน่นเลย…ท่านมหา

มีใจอยากบวช อยากเป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอย่างหลวงปู่ผู้เป็นแบบเบ้าดีงาม ประทับใจลึกซึ้งมาแต่เด็กๆ เมื่อยังตัวน้อยๆ มักตามตาไปวัด ชอบนั่งตักท่าน รั้งพวงประคำท่านเล่นบ้าง เอามือลูบแก้มลูบคางท่านบ้าง ตามักปราม แต่หลวงปู่ที่ตนเรียกติดปากว่าตุ๊ปู่หัวเราะหึๆ

“ปล่อยมันเทอะ ละอ่อนก็เหมือนหมาน้อย บางทีมันก็ชอบงับสบง งับชายจีวร ใหญ่ขึ้นเป็นหมาใหญ่ก็หายไป”

รักท่าน เคารพท่าน เหมือนเป็นปู่เป็นตาอีกคน ท่านเองเป็นคนตั้งชื่อตนว่าบุญส่ง ท่านว่าบุญส่งเอ็งมาเกิด อย่าให้บุญเสี้ยงในชาตินี้ จงพยายามต่อไป ชาติใหม่จะขึ้นใหญ่ขึ้นสูงกว่าเดิม

 

หนึ่งวันก่อนเดินทางไปรับราชการ ไปไหว้สากราบลาท่าน ท่านลูบหัวลูบเกล้าอวยชัยให้พร ท่านให้ผ้ายันต์อรหันต์แปดทิศติดตัวไปปกห่มคุ้มครอง ส่วนตามอบพระเจ้าไม้องค์ที่ตาแกะด้วยมือมาไว้ไหว้สาเป็นอนุสรณะ ตาใช้คำว่าอนุสรณะ ไม่ใช้คำแบบใหม่ว่าอนุสรณ์ อนุสรณะแปลว่าตามระลึก นึกคิดติดตามถึงพระพุทธคุณ

ตาเองก็ร่วมเดินทางมาด้วย ตั้งใจจะไปฝากฝังหลานไว้กับตาหนานอุดมเพื่อนรักเพื่อนใคร่ที่รู้จักกันมานานแต่เมื่อยังอยู่ในเพศบรรพชิตด้วยกันโน่นแล้ว สนิทสนมกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เป็นเพื่อนแท้แก่กัน แต่จืดจางห่างหายไปบ้างเมื่อต่างเข้าสู่วัยปลายของชีวิต

กล่าวถึงบ้านห้วยผักกูดก่อน ห้วยผักกูดกับบ้านบนอยู่ห่างกันราว 40 กิโลเมตร บ้านบนอยู่ทางทิศตะวันตกของห้วยผักกูด ห้วยผักกูดอยู่ทางตะวันออกของบ้านบน ต้องไปอยู่ประจำ จุ๊บแจงเองก็ต้องไปอยู่ประจำเช่นกัน ถึงทางบ้านจะมีฐานะมั่งคั่งมั่นคงมีพร้อมทั้งรถยนต์และรถเครื่อง แต่ครูสาวตัวคนเดียวจะขี่มอเตอร์ไซค์ไปกลับทุกวัน วันละ 80 กิโลเมตรเป็นไปไม่ได้

“ฮาฝากคิงดูแลแฟนฮา” ไอ้หนุ่ยมันว่ากูฝากมึงดูแลแฟนกูด้วย “ฮาเชื่อใจคิง”

“ยินดี” ตอบว่ารู้สึกดี เป็นเกียรติ “ที่คิงเชื่อใจฮา”

คำว่าฮา หากเทียบกับคำไทยใกล้เคียงกับคำว่ากูที่สุด คำว่าคิงก็ใกล้เคียงคำว่ามึงที่สุด มักใช้กันในหมู่คนที่วัยเสมอกัน สนิทสนมกันใช้ในเพศชาย ผู้หญิงไม่ค่อยใช้ อาจมีบ้างอย่างคำผายเพื่อนในวัยเด็กที่เรามักเรียกว่าอีผู้ คำผายพูดกับบุญส่งสมยศและสุมิตรก็ใช้คำว่าฮาคิง คำผายเกิดผิดเพศ ตัวเป็นหญิงแต่ใจเป็นชาย แต่หากเพศชายใจเป็นหญิงเรามักเรียกว่าผู้เมีย

“จะบอกอะไรให้” สิทธิศักดิ์หรือไอ้หนุ่ยตบหลังเขาเบาๆ พลางหลิ่วตา “น้องสาวเราสวยนะ นายไปทางพระ น้องสาวเราไปทางชี น่าจะเข้ากัน”

“เปรียบเทียบอย่างนั้นไม่ดี” จุ๊บแจงหัวเราะ ยามหัวเราะตาเล็กหยิบหยีเลย “น่าจะว่าเหมือนมัคนายกกับอุบาสิกา”

“เออ…เออ”

 

เดินทางไปรับราชการวันแรก พ่อแม่เหมารถน้าหนานอุ่นเฮือนไปส่ง เป็นญาติทางแม่ เป็นพ่อของปัญญาญาติรุ่นน้องที่เคยไปส่องจิ้งหรีดด้วยกันบนสันดอยหลังบ้าน เหตุการณ์ครั้งนั้นชักนำเด็กชายบุญส่งไปพบเสี้ยงเหมี้ยง

เข้าใจว่าท่านคือเสี้ยงเหมี้ยง

เสี้ยงเหมี้ยงเป็นผีฝ่ายดี เป็นใหญ่ในป่าช้า

แต่ไม่ใช่ มารู้ในภายหลัง ท่านคือพญากู่เวละ ผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่แก่ผีทั้งปวง คำในใบลานบ้านเราเรียกว่ากู่เวละ คำที่ถูกต้องคือกุเวร อีกชื่อที่คนรู้จักคุ้นเคยมากกว่าคือเวสสุวัณ

วันเดินทางไปรายงานตัว คนไปส่งคือตา พ่อและพี่เขยชื่อน้อยสิทธิ์ ผัวของพี่จันทร์เพ็ญ น้าหนานแวะส่งบุญส่งลงหน้าโรงเรียนแล้วพาตาไปบ้านตาหนานอุดม จุ๊บแจงมาถึงก่อนแล้วราวครึ่งชั่วโมง ไม่ต้องเช่ารถใครมาเพราะพ่อจุ๊บแจงมีรถกระบะส่วนตัว

จะเล่าข้ามๆ ไปก่อน โรงเรียนไม่มีบ้านพักครู จุ๊บแจงมีญาติห่างๆ ทางแม่เป็นเป็นผู้ใหญ่บ้าน เธอพักที่นั่น ค่าที่พักรวมค่าอาหารเดือนละ 150 บาท สมัยนั้นเงินแพง ครูแรกบรรจุเงินเดือน 750 บาท ทองคำราคาบาทละ 600 บาทหากจำไม่ผิด แต่บุญส่งจ่ายค่าที่อยู่ที่กินถูกกว่า ตาหนานคิดเดือนละ 120 บาทเท่านั้นเอง

“อยู่ได้ก็อยู่ อยู่ไม่ได้อย่าฝืนนะ”

ตาหนานพูดแปลกๆ

 

ปีแรกที่ได้แต่งชุดสีกากี มีความสุข สนุกมากแต่ก็เหน็ดเหนื่อยมาก ครูอาจารย์ท่านอัดอุดมการณ์อุดมคติใส่ในหัวเราเต็มที่ มีความห้าวเหิมคึกคะนองราวทหารจะเข้าสนามรบ ได้ยินเสียงเพลงแม่พิมพ์ของชาติเมื่อไรก็ขนลุกเมื่อนั้น ห้วยผักกูดมีครูสี่คน ครูใหญ่ชื่อองอาจ เป็นข้าราชการชั้นตรีอายุราว 36-38 รูปหล่อ ฐานะดี ขับรถกระบะโตโยขับถือว่าโก้มาก  ครูอีกคนชื่อหอมนวลยังสาวอยู่ ย้ายมาจากเชียงของบ้านเดียวกันกับสิทธิศักดิ์ ดูเหมือนจะเป็นญาติกันกับสิทธิศักดิ์ด้วยซ้ำ พี่หอมนวลย้ายมาเมื่อปีก่อนหน้านี้เอง เช่าบ้านอยู่ที่ตลาดประจำตำบล เป็นคนสวย เห็นหน้าลอยมาแต่ไกลเพราะแต่งหน้าเข้ม ตัวไม่สูงเท่าไรแต่ใส่สวมรองเท้าส้นสูงจึงดูสูง ใส่น้ำหอมจนหอมฟุ้ง ครูใหญ่สอน ป.1 ครูหอมนวลสอน ป.3 บุญส่งสอน ป.2 จุ๊บแจงสอน ป.4 ดูแปลกๆ ดี ต่อมาจึงเข้าใจว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ผ่านไปครึ่งปี บุญส่งสอนควบทั้ง ป.1และ ป.2 จนเป็นเรื่องปกติ มาริสาสอนควบ ป.3 กับ ป.4 จนเป็นเรื่องปกติเช่นกัน

บ้านห้วยผักกูดเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่มีประชากรราวแปดสิบครัวเรือน มีวัดก็ชื่อวัดห้วยผักกูด เป็นวัดเล็กๆ มีวิหารแต่ไม่มีโบสถ์ ตาหนานให้ความรู้ว่าทุกวัดไม่จำเป็นต้องมีโบสถ์ โบสถ์เป็นที่ประกอบกิจทางสงฆ์โดยเฉพาะ แต่ดั้งเดิมมา ล้านนาบ้านเราสามสี่วัดหรือสี่ห้าวัดรวมกันถึงจะมีหนึ่งอุโบสถ วัดที่มีอุโบสถเรียกว่าหัวโบสถ์หรือหัวหมวด กิจทางสงฆ์โดยเฉพาะเช่นพิธีอุปสมบท การสวดพระปาฏิโมกข์ การปลงอาบัติ พระสงฆ์สี่ห้าวัดจะไปรวมกันประกอบกิจที่หัวโบสถ์ ส่วนพิธีกรรมทั่วไปที่ไม่ใช่กิจของสงฆ์โดยเฉพาะจะประกอบพิธีในวิหาร ทุกวัดจึงต้องมีวิหาร แต่ทุกวัดไม่จำเป็นต้องมีอุโบสถ

ตาหนานอุดมเล่าว่าท้องถิ่นแถวดอยด้วนยุคนั้น หากจะบวช มักบวชพร้อมกันพร้อมกันสามสี่รูปจะได้ไม่เป็นภาระแก่พระอุปัชฌาย์มากเกินไปเพราะการเดินทางลำบาก ตาหนานไม่ได้บวชเป็นเณรมาก่อนต้องเข้ากรรมเจ็ดวัน แต่พระรูปอื่นที่บวชพร้อมกันเคยเป็นเณรมาก่อนจึงเข้ากรรมเพียงสามวัน

“คืนแรกที่นอนคนเดียว ก็โดนเลยเอ็ง”

“โดนอะไรครับตาหนาน”

ตอนนั้นเหมือนจะพ้นช่วงทดลองรับราชการมาแล้ว จำได้ว่าเป็นหน้าหนาว เหน็บหนาวที่ห้วยผักกูดรุนแรงกว่าบ้านบนเพราะอยู่ใกล้ป่าลึกดึกดำอย่างดอยด้วน ป่าดงแถบบ้านบนโล่งเตียนลงเพราะอยู่ติดทางหลวงแผ่นดินที่แล่นจากลำปางไปสุดเส้นทางที่อำเภอแม่สายจังหวัดเชียงราย คนมาก ความต้องการในการใช้พื้นที่และต้นไม้ก็มีมาก ไม้ใหญ่ๆ โดนคมมีดคมขวานโค่นล้มลงเพื่อสร้างบ้านเรือน บ้านบนเองแต่เดิมก็ยังเป็นป่า คนอยู่กันทางบ้านลุ่ม เมื่อคนบ้านลุ่มเพิ่มมากขึ้นพื้นที่ไม่เพียงพอ คนส่วนหนึ่งจึงค่อยขยับขึ้นบนเนินจนกลายเป็นบ้านบน ต่อมาอีกฟากของแนวดอยผาช้างมูบก็กลายเป็นหมู่บ้านขึ้นมาอีก ชื่อว่าบ้านใหม่สันทราย คนจากอำเภอสันทรายจังหวัดเชียงใหม่โยกย้ายกันมาเอาที่เอาแดนในสมัยที่จอมพลสฤษฎิ์ ธนะรัชต์เป็นนายกรัฐมนตรี สมัยนี้มีนโยบายสร้างชาติและเร่งรัดพัฒนาชนบท เมืองเชียงใหม่ถูกเร่งรัดฟื้นฟูให้กลายเป็นหัวเมืองใหญ่ในภาคเหนือ ที่ดินแถบใกล้ตัวเมืองเชียงใหม่อย่างอำเภอสันทรายและอำเภอสันกำแพงราคาแพงขึ้นมากมาย คนท้องถิ่นแถวสันทรายสันกำแพงขายนาได้ราคาสูงก็มาหาที่อยู่ใหม่ทางบ้านเรา บ้างก็ซื้อเอาไร่เอานา บ้างก็บุกเบิกเอาเอง ป่าไม้อีกฟากของผาช้างมูบก็ร่อยหรอบางตาไปอีก แต่แถวห้วยผักกูดห่างไกลมากจุดศูนย์กลางคือตลาดและตัวอำเภอมากเกินไป จึงไม่ค่อยมีคนจากหัวเมืองใหญ่ไปอยู่สร้างทำกิน

ตาหนานกับตาอายุเท่ากัน เกิดปีเดียวกัน แต่ตาเข้าผ้าเหลืองก่อน บรรพชาเป็นเณรก่อนแล้วค่อยอุปสมบทเป็นพระ แต่ตาหนานเข้าผ้าเหลืองหลังตาหลายปี ไม่ผ่านการเป็นเณรมาก่อน พระอุปัชฌาย์กำหนดให้ตาหนานอยู่กรรมเจ็ดวันท่านก็อยู่เจ็ดวัน แต่ในคืนแรกที่ต้องนอนในโบสถ์คนเดียว ตาหนานก็โดนเลย

“ก็เปลี่ยวอยู่” แกเล่าย้อนความหลังไปเมื่อราวปี พ.ศ.2456 “มันหนาวๆ เย็นๆ เสียวสันหลังอยู่วาบๆ เหมือนกัน มืดค่ำลงบนกุฏิตีระฆังไหว้พระสวดมนต์ หมาวัดมันหอนยะเยือกเลยเอ็ง ผิดแปลกไปกว่าทุกวันที่มันหอนโหวกเหวกเพราะหนวกหูเสียงระฆัง”

“เดี๋ยวก่อนครับตาหนาน” คนวัยหลานยกจอกยาดองจิบเล็กน้อย กินเป็นเพื่อนท่าน ใจจริงก็อยากเลี่ยงหรือปฏิเสธแต่มันไม่เหมาะสม “ยังอยู่ที่โบสถ์หรือครับ ยังไม่ได้กลับวัดห้วยผักกูดหรือครับ”

“ยังอยู่ที่โบสถ์ พระรูปอื่นกลับวัดตนได้แล้วแต่ตาหนานต้องอยู่ในโบสถ์ต่อให้ครบเจ็ดวัน จะกลับวัดได้ก็วันที่แปด”

ประเพณีแบบนี้ยังปฏิบัติอยู่ไหมครับ”

“เลิกละกันไป ตั้งแต่ครูบาเจ้าศรีวิชัยถูกจับลงไปสอบสวนที่กรุงเทพว่าเป็นอุปัชฌาย์เถื่อน”

“หมายความว่าอย่างใดครับ อุปัชฌาย์เถื่อน”

“มันมีกฎหมายใหม่ออกมาว่าพระอุปัชฌาย์จะต้องได้รับการแต่งตั้งจากมหาเถรสมาคมเท่านั้น แต่ครูบาเจ้าศรีวิชัยท่านไม่รู้กฎหมาย ท่านเป็นอุปัชฌาย์ตามแบบโบราณบ้านเมืองเราแต่ก่อนแต่เดิม ท่านเลยถูกสงสัยว่าจะซ่องสุมผู้คนกระด้างกระเดื่องเป็นผีบุญ”

“ผีบุญ บ่เคยได้ยิน”

“เป็นพระผู้ใหญ่มากมีด้วยบุญบารมีอย่างครูบาเจ้าศรีวิชัยบ้านเรานี้แหละ แต่อยู่ทางอีสาน มีอำนาจอยู่ทางอีสาน ราชการบ้านเมืองเรียกว่ากบฏผีบุญ ครูบาเราก็ถูกสงสัยว่าจะเป็นกบฏผีบุญทางภาคเหนือเลยถูกเรียกไปสอบสวนแล้วห้ามไม่ให้เป็นอุปัชฌาย์บวชใครต่อไปอีก หากไม่ฟังต้องติดคุก ประเพณีการบวชบ้านเราก็เลยเปลี่ยนไปไม่เหมือนเก่า คลาดเคลื่อนไปมาก อยู่กรรมก็อยู่บ้างไม่อยู่บ้าง ทิฐิความเห็นระหองระแหงไม่ลงรอยกันต่อมาอีกนานเลยเอ็ง”

“แล้วอย่างใดครับ คืนแรกก็โดนเลย”

“บนกุฏิไหว้พระ ตาหนานก็จุดเทียนไหว้พระอยู่คนเดียวในโบสถ์…แล้วมันก็ออกมา พูดแล้วยังขนลุก”

แกยกแขนขึ้น แทบไม่มีขนเหลืออยู่แล้ว อายุเกือบแปดสิบ ผมบาง ขนร่วงแต่ขนคิ้วกลับยาวจนเห็นได้ชัด ตาหนานเรียกเอากับแกล้มมาเพิ่ม ยายผัดตักมาเติมแล้วปลีกตัวไปอยู่ยังห้องครัวตามเดิม ตาหนานกับยายผัดมีลูกกับกันสามคน แต่ยายผัดเล่าว่าคลอดออกมาห้าคน ตายแต่แรกคลอดหนึ่งคน ตายแต่เมื่อเด็กหนี่งคน ลูกเลี้ยงรอดทั้งสามเป็นเหย้าเป็นเรือนหมดแล้ว เหลือค้างอยู่ยังเรือนคืออ้ายแดง ไม่ใช่ลูก แต่เป็นหลาน เกิดจากลูกชายคนสุดท้องชื่อพ่อน้อยทูน ไปเป็นเขยบ้านม่วงคำสองสามปี เมียตายละจึงหอบลูกคืออ้ายแดงกลับเรือนเดิม ต่อมาไปได้เมียใหม่อยู่ทางพะเยา เลยละลูกให้ปู่กับย่าเลี้ยงจนโต อ้ายแดงเรียกปู่กับย่าว่าอีพ่ออีแม่จนติดปาก ปี 2513 บุญส่งบรรจุเป็นครูอยู่ห้วยผักกูด ตาพาไปฝากอยู่บ้านตาหนาน ท่าทีตาหนานเหมือนไม่ค่อยเต็มใจนัก

ปีนั้นอ้ายแดงติดทหารอยู่ในตัวเมือง นานๆ หากได้ลาพักจึงกลับบ้าน ตาหนานเอาห้องอ้ายแดงให้บุญส่งพัก รู้สึกเกรงใจพี่แกจังเลย แต่พี่แกใจกว้างใจดี ว่านานๆ ทีอ้ายถึงกลับมา อยู่ไปเถอะ

“ครูพบเห็นอะไรบ้างไหม” อ้ายแดงเคยถาม

“ไม่พบเห็นอะไรเลยอ้าย มีอะไรหรือ”

“เปล่าๆ ไม่มีอะไร”

รู้สึกแปลกๆ อยู่เหมือนกัน เหมือนรู้สึกต่อคำทักคำทายแต่วันแรกของตาหนานที่ว่าอยู่ได้ก็อยู่ไปเถอะ เหมือนแกไม่เต็มใจจะให้อยู่ แต่คงไม่อยากขัดใจกับตาที่เป็นเพื่อนเก่าเพื่อนแก่เคยเกื้อกูลกันมาแต่ยังนุ่งผ้าเหลืองด้วยกัน

 

“มันออกมา ออกมาอย่างไรครับตาหนาน”

ย้อนไปยังคำถามที่ถามถึงคืนแรกที่พระเพิ่งเป็นพระบวชใหม่ยังไม่พ้นกรรม เพื่อนเสี่ยวของตาเล่าว่าแกหันหน้าเข้าหาพระประธาน มีเสียงลั่นกรอบแกรบบนเพดานโบสถ์คล้ายคนย่องย่าง แต่แรกก็ไม่ใส่ใจ แต่เสียงกรอบแกรบพาใจว่อกแว่ก เหมือนมันจะย่องไปทางมุมซ้ายด้านหน้าของพระวิหาร เพดานเป็นไม้กระดานคล้ายกระดานปูพื้นทั่วไป มุมเพดานด้านนั้นเขาเว้นเป็นช่องขนาดคนปีนขึ้นไปทำความสะอาดได้

อดใจไม่ไหว ตาหนานเหลียวหลังไปมองแล้วก็แทบหงายหลังผลึ่งลงไปเลย

“อะไรครับตา อะไร”

“มัน มันยื่นหัวลงมาจากปล่อง” แกจิบยาดองอีกนิดคล้ายจะระงับอารมณ์ “หัวหมดหัวเหม่งบ่มีเส้นผม หน้าซีดขาว เบ้าตาดำ แก้วตาแดงเรือง มันค่อยยืดตัวลงมา ยืดยาวลงมา ยืดเหมือนยางเหียวโดนไฟเอ็งเคยเห็นไหม ไม่ได้ยืดแต่หัวกับคอ แต่ตั้งแต่เอวยืดลงมา เอาพับน่องเกี่ยวปากปล่องไว้ ผ้าสบงอังสะพลิกปลิ้นรุ่ยร่ายระหน้าระตา แล้วมันก็ยื่นมือยาวมาคว้าหมับข้าวหนมข้าวเหนียบที่คนทิ้งไว้โคนเสา แล้วหดตัววูบหายเข้าไปในปล่องเพดาน”

“บ่มีเส้นผม แต่นุ่งผ้าสงบอังสะ เป็นพระหรือตา”

“เป็นเปรต เปรตตุ๊ลุงจันทร์ ตายไปนานแล้ว สามสี่สิบปีก่อนหน้านั้น ตายแล้วไปเกิดไม่ได้ กลายเป็นเปรตใช้บาปใช้กรรม”

ชานเรือนด้านหลังรูปร่างคล้ายชานเรือนเราที่บ้านบน เป็นชานโล่งไม่มีฝา ยามลมหัวค่ำโชยมาจึงเยือกเย็นซ้อยล้อย ตาหนานตั้งหม้อยามีไอกรุ่นๆ ออกทางพวยกา เป็นยาแก้เจ็บหลังเจ็บเอวทั่วไป ส่วยยาดองเหล้าตาหนานว่าเป็นยากินข้าวลำ แปลว่ายาเจริญอาหาร

ยายผัดถามจากครัวไฟว่าจะให้ยกขันโตกออกไปเลยหรือไม่ หรือจะเข้ามากินในเรือนไฟ ตาหนานว่ายกออกมาเลย ครูใหม่เกรงใจ ยายผัดอายุมากกว่าพ่อกับแม่ร่วมยี่สิบปีด้วยซ้ำ เขาเองเป็นคนวัยหลาน ให้ย่ายายยกข้าวยกน้ำมาให้กินดูไม่เหมาะสมจึงลุกไปรับเอามาเอง

“ตุ๊ลุงจันทร์สร้างบาปสร้างกรรมอะไรไว้ ตายแล้วไม่ได้ไปเกิด กลายเป็นเปรตชดใช้กรรมเวร”

“โกงเงินวัด เสพเมถุน เอาเงินทองไปปรนเปรอเมียลับ”

หัวค่ำแสงเดือนส่องอ่อน น่าจะขึ้น 6 ค่ำ ห้วยผักกูดมีหัวบ้านอยู่ทางตะวันตก หางบ้านอยู่ทางตะวันออก หัวบ้านติดทุ่งนา หางบ้านหรือท้ายหมู่บ้านอยู่ติดป่าละเมาะแล้วค่อยเป็นป่าเป็นดงที่ค่อยแน่นหนาไปทางดอยด้วน

ที่บ้านบนมีเปรตพ่อหนานทายักยอกเงินวัดกลายเป็นเปรตกู่ปากหวีดหวิวอยู่หลังวัด อดอยากหิวโหย ไม่มีอะไรจะกินก็ออกมาเก็บกินข้าวกินแกงซากหมา ที่ห้วยปลากั้งมีเปรตตุ๊ลุงจันทร์ โกงเงินวัด เสพเมถุน เอาเงินทองไปปรนเปรอเมียลับ

นึกคิดไปตามเรื่องที่ตาหนานเล่า น่ากลัวนะ ปล่องเพดานโบสถ์สูงจากพื้นราวสี่ห้าเมตร เปรตผีตนหนึ่งยื่นหัวลงมา หัวเหม่ง หน้าซีดขาว เบ้าตาดำ แก้วตาแดง ค่อยยืดตัวลงมาแล้วยื่นมือยาวเอื้อมคว้าขนมขบเคี้ยวที่คนทิ้งไว้โคนเสาแล้วหดหัวกลับขึ้นไป

อเนจอนาถ น่าสังเวชสลดใจนัก

ยายผัดไม่กินข้าวร่วม ยกเอาโหลยาดองไปไว้ใต้ชายคาร้านน้ำแล้วเข้าไปขลุกในเรือนไฟตามเดิม แต่เดิมมาเราเรียกว่าเรือนไฟ เพราะเป็นเรือนอีกหลังเอาไว้ก่อไฟครัวแลงแปลงกิน เป็นเรือนแยกออกไปอีกหลังเพราะหลังคาที่มุงแยกออกจากัน ต่อเชื่อมกับเรือนนอนด้วยชานแล่นกลาง ส่วนชานหลังเชื่อมติดทั้งชานแล่นและเรือนไฟ

กินข้าวได้สองสามคำ เพื่อนสมัยยังอยู่ในผ้าเหลืองของตาถามว่า

“แล้วเอ็งรู้ไหมไอ้หล้า เมียลับเมียพรางผู้นั้นเสวยวิบากอะไร”

“กำลังจะถามเลยครับตา ไม่น่าจะเป็นวิบากอันดี”

“ตาไม่ได้เห็นกับตานะ เรื่องมันเกิดมานาน เกิดที่ห้วยปลากั้งไม่ได้เกิดที่ห้วยผักกูด ได้ยินได้ฟังมาอีกที แต่เร็วๆ มานี้ สองสามปีก่อนหน้านี้เอง เปรตหื่นโป้งยังออกมาให้คนเห็น”

“เปรตหื่นโป้ง?”

“อือ คำไทยเพิ่นว่าหยัง มันเหมือนหมาผสมพันธุ์กัน หมาติดโป้ง…หมาติดเก้ง?”

“หมาติดเก้งครับตา”

“นั้นละๆ แต่มันบ่ใช่หมาสองตัวหื่นโป้งกัน แต่เป็นเปรตหื่นโป้ง หมาหื่นโป้งมันหันหลังชนกัน แต่เปรตหื่นโป้งมันหันหน้าหากัน แข้งขาสี่ข้างไขว่ขว้างขวิดขวางเกะกะ คันเยี่ยวกับรูเยี่ยวของเขาติดขำกันเหมือนหมาขำโป้ง” ตาหนานว่าอวัยวะสืบพันธุ์ของเขาคากันเหมือนหมาคาเก้ง “เหลือแต่มือสองข้างยื่นไปข้างหลัง ต่างฝ่ายต่างอยากหลุดจากโป้งจึงดึงตัวไปข้างหลัง ผู้หนึ่งดึงไปข้างหลังก็เท่ากับดึงอีกผู้ไปข้างหน้า ยักแย่ยักยันดึงกันไปก็ดึงกันมาแต่ยังติดขำค้างคากันอยู่อย่างนั้น น่าสมเพชเวทนานัก”

“เป็นเปรตตุ๊ลุงจันทร์กับเมียลับหรือตา”

“จะมีไผ จนป่านนี้ยังไม่ได้ไปเกิด ผู้อื่นตายทีหลังแต่ไปเกิดใหม่กันแล้ว แต่คนบาปสองคนผู้นั้นยังไปไหนไม่พ้นเลย ต้องใช้บาปใช้กรรมก่อนลงนรก ต้องออกมาตากหน้าเป็นที่อับอายไปชั่วลูกชั่วหลาน พ้นจากนี้ก็ยังต้องไปลงนรกอีก  อย่าประมาทบาปกรรมศีลธรรมพระเจ้านะไอ้หลาน อันใดบ่ดีอย่าทำ ทำแล้วใช่จะทุกข์แต่ตัว ทุกข์นั้นลามแปดถึงลูกถึงหลานเหมือนเปรตหื่นโป้งคู่นี้”

 



Don`t copy text!