บ่วงเวรา บทที่ 1 : เรือนราชนิกูลแห่งกัมพุช
โดย : สัมพันธ์ สุวรรณเลิศ
บ่วงเวรา นวนิยายรางวัลรองชนะเลิศ โครงการอ่านเอาก้าวแรก ๓ โดย สัมพันธ์ สุวรรณเลิศ กับเรื่องราวของวังวนความรักและความแค้น ความมุ่งมั่นที่จะตอบแทน ทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามให้สาสม แล้วความรักจะเยียวยาใจแก้ไขความแค้นได้จริงหรือ…อ่านเอาขอเชิญทุกท่านร่วมเพลิดเพลินไปกับนวนิยายพีเรียดสุดเข้มข้นเรื่องนี้ที่ anowl.co
ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้วัดพุทไธศวรรย์มีเรือนหมู่ขนาดใหญ่หมู่หนึ่ง ปลูกขึ้นซับซ้อนแน่นหนา บอกให้รู้ว่าเจ้าของเรือนนั้นไม่ควรเป็นไพร่สามัญทั่วไป หากได้ถามชาวบ้านร้านถิ่นอันอยู่ละแวกนั้น ก็จะได้คำตอบว่าเป็นเรือนของเจ้าราชนิกุลแห่งกัมพุชประเทศ อันต้นตระกูลสืบวงศ์มาแต่นครยโสธรปุระพระนครฟากตะวันออกอันไกลออกไปจากกรุงอโยธยาแห่งนี้
ชาวบ้านผู้สนใจในชีวิตความเป็นไปของผู้อื่นราวกับเป็นมหรสพอันพิเศษย่อมไม่เป็นที่ประหลาดหากจะรู้ภูมิหลังของตระกูลเจ้าราชนิกุลแห่งพระนครกัมพุชนี้โดยสืบความสู่กันฟังได้ว่า เมื่อครั้งพ่ออยู่หัวผู้ทรงสถาปนาวัดราชบูรณ์เสวยราชนั้น ได้ทรงเสด็จไปเอาเมืองพระนครธมมาอยู่ในขอบขัณฑสีมาอโยธยาเพื่อเป็นพระเกียรติยศ เมื่อได้เมืองพระนครนั้นแล้วทรงให้พระราชกุมารผู้เป็นเอกเสวยราชย์ในพระนครธมนั่น เมื่อแต่แรกพระราชกุมารได้เสวยพระราชสมบัติปกครองบ้านเมืองเป็นปกติสุขดี แต่ภายหลังเมื่อพระราชกุมารผู้ครองเศวตฉัตรแห่งนครธมเสด็จสวรรคตแล้ว เจ้านายฝ่ายในผู้สืบสายจากอโยธยาเกิดว้าเหว่พระราชหฤทัยด้วยไร้ที่พึ่งจึงเสด็จนิวัตพระนครศรีอโยธยา
ครานั้นเจ้านายแห่งกัมพุชฉัตรซึ่งมีจิตสวามิภักดิ์รับใช้อโยธยามาแต่เดิมช่วยคุ้มกันเภทภัยระหว่างทางมาจนลุถึงอโยธยา ครั้นแล้วเจ้านายกัมพุชแห่งยโสธรปุระก็เข้าฝากตัวถวายชีวิตต่อพ่ออยู่หัวเจ้า พ่ออยู่หัวเห็นจิตสวามิภักดิ์ก็โปรดรับไว้โปรดเลี้ยงดูอย่างเจ้าราชนิกุลต่างวงศ์และให้ไปปลูกเรือนอยู่บริเวณริมน้ำใกล้วัดพุทไธศวรรย์ ด้วยเพราะมีชาวละโว้และชาวแขกจามอาศัยอยู่ในละแวกนั้นมาก่อนแล้ว เจ้ากัมพุชหมู่นั้นจะได้ไม่ต้องเปล่าเปลี่ยวหัวใจเพราะทั้งชาวละโว้ และชาวแขกจามต่างก็เจรจาภาษาสำเนียงเดียวกับเจ้ากัมพุชที่มาพึ่งพำนักใหม่นี้ เจ้ากัมพุชผู้นั้นสืบพงศ์มาเป็นลำดับถึงสามชั่วคน บัดนี้เรือนน้อยก็ได้ขยายเป็นเรือนหมู่แน่นหนาเป็นปึกแผ่น
นั่นคือเรื่องที่ชาวบ้านเล่ากันสู่ฟังเกี่ยวกับความเป็นมาของเรือนหมู่นั้น
ยามเย็นยอแสง พระสุริยากำลังจะชักรถลับเหลี่ยมโลก บ่าวไพร่ในเรือนกำลังตระเตรียมน้ำมัน แลเทียนไขจุดให้ความสว่างแก่เรือน โดยเฉพาะหอนั่งที่ไม่นานเจ้านายของเรือนจะลงมือรับประทานอาหารกันอย่างสำราญ
กลางเรือนมีหญิงชรานางหนึ่งคุมบ่าวไพร่ตระเตรียมสำรับคับค้อนอย่างตั้งใจ
“นางสอ ปลาเห็ดที่ข้าปรุงไว้จนได้ที่แล้ว ให้นางคนครัวลงทอดได้แล้วนะ พอเจ้ามาศหลานข้ามาจะได้กินร้อนๆ” นางสั่งบ่าวใกล้ตัว ส่วนนางสอบ่าวคนสนิทก็ไวทันใจนาย เพียงสิ้นคำสั่งก็คลานปราดหายไปทันที
เสียงวิ่งลงส้นโครมๆ ดังมาจากเรือนด้านใน หญิงชรารามือจากงานหันไปมองที่ต้นเสียงพลางปรามด้วยน้ำเสียงที่เอ็นดูว่า “ย่าบอกเจ้ากี่คราวแล้วว่าอย่าวิ่งบนเรือน เสียงตึงตังลั่นเรือนไปหมด”
ต้นเสียงโครมครามนั้นมาจากเด็กชายวัยราวเจ็ดแปดขวบ ผมจุกกลางกระหม่อมที่ถูกถอนไรรอบจนเรียบร้อยเป็นเส้นวงขาวสะอาด ขมวดรัดแน่นหนาพร้อมปิ่นทองเสียบขัดไว้ดูงามตา ดวงหน้าเรียวขาวสะอาดต่างจากผู้ที่แทนตัวว่าย่า ผู้ซึ่งมีรูปหน้าค่อนข้างไปทางป้านเหลี่ยมตามเชื้อสายกัมพุชของตน
เด็กชายใช้แขนที่เริ่มจะเก้งก้างเพราะใกล้จะเป็นเด็กรุ่นหนุ่มกอดแขนผู้เป็นย่า ใช้พวงแก้มขาวนวลถูไถไปตามต้นแขนทำนองออดอ้อน “หลานขอสมาเจ้าค่าคุณย่าเจ้าขา ก็ยายผาดบอกหลานว่า คุณย่าลงครัวทำปลาเห็ดให้หลาน หลานดีใจจึงรีบวิ่งออกมาไม่ทันระวังกิริยา คุณย่าอย่าถือโทษหลานเลยหนาเจ้าคะ” เด็กชายกล่าวขอโทษพร้อมชี้แจงเหตุผลต้นปลายที่ตนไม่รักษากิริยาเสร็จสรรพ
ผู้เป็นย่าหรือที่บริวารออกนามว่า ‘แม่นาย’ จับหลานมาโอบกอดไว้ ในใจก็ชื่นชมว่าหลานของตนเป็นคนกล้าที่จะชี้แจงเหตุผล ต่างจากเด็กอื่นในวัยเดียวกัน ที่เมื่อถูกดุก็จะกลัวหงอไม่กล้าพูดจา โตกว่านี้สักหน่อยคงต้องให้พ่อนำขึ้นถวายตัวเป็นมหาดเล็กเรียนรู้การทำราชการ แต่อย่างไรก็ต้องสอนเรื่องกาลเทศะสิ่งใดควรเจรจาสิ่งใดควรงับปากให้มิดเสียก่อนจะส่งไปถวายตัวทำราชการ นางกะเกณฑ์เช่นนั้น
แต่ถึงแม้ใจจะชมแต่ปากก็ต้องกำราบให้รู้กฎรู้เกณฑ์ “เพียงแค่ปลาเห็ดทำให้เจ้าเสียกิริยาได้ถึงขนาดนี้เทียวหรือเจ้ามาศ หากย่ายกทองให้เจ้าสักเส้น เจ้ามิเต้นแร้งเต้นกาออกท่าโขนเลยดอกหรือ”
“ถ้าคุณย่าให้ทองแก่หลาน หลานก็ขอคลานมารับความกรุณาจากคุณย่าแต่โดยดี ไม่โลดเต้น เพราะทองนั้นตาช่างทองเป็นคนทำ มีค่าก็เพียงตีราคาทอง แต่ปลาเห็ดที่หลานจะได้กินเป็นฝีมือของคุณย่ากรุณาทำให้หลานแต่เฉพาะ คุณค่าย่อมต่างจากทองเจ้าค่า”
แม้รู้ว่าหลานตีฝีปากฝากสำนวนก็อดชื่นใจไม่ได้ที่หลานน้อยเชิดชูให้ค่าในสิ่งที่ตนนั้นทำ แต่พลางนางยกนิ้วชี้จิ้มหน้าผากหลานเบาๆ อย่างเอ็นดู “เจ้ามันช่างเก่งตีฝีปากนัก ย่าละห่วงจริง วันหน้าหากไปรับราชการฝีปากคมริบๆ ของเจ้าจะสร้างปัญหาให้เจ้าเอง”
นางสอคลานปราดยกจานเชิงใส่ปลาเห็ดขึ้นมาพอดี สองย่าหลานจึงเปลี่ยนเรื่องที่สนทนา
“เย็นย่ำแล้วเรามารับมื้อเย็นกันเสียก่อนเลย พ่อของเจ้าคงยังคุมช่างตำปูนอยู่ที่วัดนั้นแล้ว เห็นว่าพ่ออยู่หัวใคร่จะให้เสริมฐานพระปรางค์ให้เสร็จก่อนกาลกฐินปีนี้”
พระปรางค์ที่นางกล่าวถึงนั้น หมายถึงพระปรางค์องค์ที่ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพุทไธศวรรย์ เล่าสืบกันมาว่าตรงนั้นเดิมคือ ‘เวียงเหล็ก’ ที่พ่ออยู่หัวพระเจ้าอู่ทองปฐมบรมกษัตริย์ที่ข้ามน้ำหนีโรคห่ามา ได้ทรงเคยประทับอยู่ชั่วคราวขณะสร้างกรุงอโยธยาใหม่ขึ้น ดังนั้นวัดพุทไธศวรรย์ถึงจะอยู่ห่างไกลออกมาจากพระนครแต่พระเจ้าอยู่หัวทุกรัชกาลก็ให้ความสำคัญแก่วัดนี้
นางผู้เป็นประธานของเรือนก็หาได้เร่งเร้าอยากให้ลูกชายกลับมากินข้าวที่เรือน ด้วยรู้ว่าบุตรชายของตนเอาใจใส่ต่อภาระที่พ่ออยู่หัวทรงมอบหมายด้วยใจกตัญญู จึงทำการอย่างเต็มความสามารถและเต็มความรู้ที่สืบทอดมาในตระกูล
หากย้อนขึ้นไปสามชั่วคน บรรพบุรุษทั้งฝ่ายตนและฝ่ายสามีนั้นล้วนเป็นเจ้านายราชนิกุลกัมพุช ที่โดยเสด็จเจ้านายอโยธยาที่นิวัตกลับมามาตุภูมิด้วยใจจงรัก พระเจ้าอยู่หัวทุกรัชกาลที่ผ่านมาก็อุปการะยกย่องเลี้ยงดูอย่างเจ้านายต่างวงศ์ ดังนั้นคนในตระกูลของตนซึ่งมีวิชาความรู้ที่ตกทอดกันมาแต่ครั้งบรรพบุรุษคือวิชาช่างก่อสร้างต่างๆ ทั้งสถูปเจดีย์ อาคารสถาน กุฎาคาร ทั้งงานไม้งานปูนล้วนรู้ครบจบสิ้น ทำการได้ทุกสิ่ง ก็ใช้ความรู้นั้นสนองพระมหากรุณาธิคุณอย่างเต็มกำลัง ดังคราวนี้ที่ทรงรับสั่งใช้ให้เสริมฐานพระปรางค์ บุตรชายตนก็เร่งทำให้เรียบร้อยและทันตามกำหนดอย่างทุกครั้งที่ผ่านมา
นางหันไปสั่งให้บ่าวไพร่จัดสำรับไปส่งบุตรของตน ที่กำลังคุมช่างในสังกัดเสริมฐานพระปรางค์วัดพุทไธศวรรค์ที่บางส่วนแตกล่อนออกมาเพราะความชื้น “เอาไปเผื่อพวกช่างเขาด้วยล่ะ” นางไม่วายเผื่อแผ่ไปยังบริวาร
นางสอยกโถที่ห่อในผ้านวมรักษาความร้อนสีแดงเข้มแล้วถามว่า “ตุ๋นไก่ยาจีนที่ท่านจางวางอู๋ส่งมานี่ให้บ่าวยกไปให้นายที่วัดด้วยเลยไหมเจ้าคะ”
“ไม่ต้องหรอก รอพ่อแม้นกลับมาถึงเรือนค่อยอุ่นให้กินเป็นของมื้อดึกแล้วกัน” นางตอบ
“ท่านจางวางอู๋สหายสนิทของพ่อเจ้า เขาเห็นว่าพ่อเจ้านั้นโหมงานหนักกลัวจะป่วยไข้ จึงต้มไก่ใส่เครื่องยาอย่างจีนมาให้พ่อเจ้าบำรุงกำลัง” นางผู้เป็นย่าหันมาบอกกล่าวแก่หลาน
“ท่านจางวางอู๋คือผู้ใดกันเจ้าคะ ชื่อเสียงเรียงนามฟังดูแปร่งหูดังไม่ใช่ชาวอโยธยา”
“ท่านจางวางอู๋เป็นขันทีชาวต้าฉิงหนาเจ้า บัดนี้ทำราชการในองค์พระเยาวราช เป็นจางวางผู้ดูแลวังของสมเด็จท่าน…ก็เมื่อวันเกิดเจ้าเมื่อปีก่อน ท่านจางวางอู๋ยังส่งกล่องจิ้งหรีดกลมากำนัลวันเกิดเจ้านั้นอย่างไร”
มาศพยักหน้างึกงัก เขาจำได้ในทันที ก็ชายร่างบางคนนั้นอย่างไรเล่า ที่เมตตาเขามากเป็นพิเศษ กล่องจิ้งหรีดกลที่เมื่อเปิดกล่องแล้วจะมีจิ้งหรีดทองเหลืองกระโดดขึ้นมาเกาะที่ปากกล่อง แล้วส่งเสียงร้องดังมีชีวิตจริง เขาถูกใจเป็นยิ่งนัก เขาจำได้แต่เลาๆ ว่า บิดาของตนรักใคร่ชอบพอกับท่านจางวางขันทีผู้นี้ยิ่งนัก ท่านย่าเคยบอกว่าท่านจางวางอู๋เคารพและให้เกียรติพ่อของตนมาก เพราะพ่อของตนเคยช่วยชีวิตของจางวางขันทีผู้นี้ไว้เมื่อคราวหนึ่ง ภายหลังเมื่อรู้ว่าจางวางอู๋ผู้นี้มีความรู้ทั้งวิชาแพทย์และสรรพวิทยา บิดาของตนจึงไหว้วานให้มารดาผู้ลาลับโลกของตน ไปฝากฝังถวายตัวกับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ผู้เป็นพี่สาว ภายหลังเมื่อพระเยาวราชโอรสของพ่ออยู่หัว อันประสูติแต่ท้าวศรีจุฬาลักษณ์เข้าพิธีโสกันต์แล้ว ต้องย้ายออกมาอยู่วังนอก ท้าวศรีจุฬาลักษณ์จึงโปรดให้จางวางอู๋มาเป็นจางวางดูแลวังของพระเยาวราชด้วยความไว้วางใจ ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกที่จางวางอู๋จะเคารพรักบิดาของตนดังสหายร่วมตายเช่นนี้
นางสอที่เดินออกสั่งบ่าวไพร่ให้จัดสำรับเดินย้อนกลับมาแล้วรายงานว่า “คงไม่ต้องไปส่งสำรับให้ที่วัดแล้วละเจ้าค่ะ นายขึ้นเรือนมานั่นแล้ว”
นายที่นางสอเรียกเป็นชายวัยเข้ากลางคน รูปร่างสูงโปร่ง คางเห็นมุมเหลี่ยมชัด ผิวเข้มคร้ามแดดอย่างคนทำงานกลางแจ้งเป็นนิตย์ นายของนางสอเดินลงเท้าหนักๆ แสดงอาการข่มความโกรธไว้อย่างเห็นได้ชัด แต่ก็ไม่อาจปกปิดมารดาของตนได้
ฝ่ายมารดาก็รู้จักหนักเบา เห็นว่าบุตรของตนกำลังร้อนกายและร้อนใจ จึงเรียกหาผ้าชุบน้ำมาให้บุตรชายเช็ดหน้าเช็ดมือคลายร้อน แล้วชี้ชวนให้กินอาหารอย่างเอมโอช เมื่อเห็นบุตรชายค่อยคลายอารมณ์ลงจึงเอ่ยปากถาม “พ่อแม้นเป็นอันใดหรือลูก เมื่อขึ้นเรือนมาแม่เห็นพ่อมีท่าทีขัดอกขัดใจนัก”
บุตรชายส่ายหน้าด้วยความหนักใจก่อนกล่าว “อ้ายเชื้อมันให้คนมาไล่สักเลกไพร่ไปเข้าสังกัดของมัน”
“อ้ายเชื้อที่ลูกว่านี่คือออกญายมราชผู้นั้นน่ะหรือ” นายแม้นพยักหน้าตอบรับคำถามของมารดา “แม่ก็ไม่เห็นผิดอันใด ไพร่ก็ต้องมีสังกัดมูลนาย การที่ออกญายมราชจะมาสักไพร่เข้าสังกัดเป็นไพร่สมก็สมควรอยู่” นางแม่แสดงความเห็น
“แต่ไม่ถูกที่มันลามมาไล่สักเอาพวกคนของลูก แม่ท่านก็ทราบดีว่าคนของลูกล้วนแล้วแต่ถือว่าเป็นชาวต่างเพศต่างพันธุ์ต่างภาษากับชาวอโยธยา คนที่ลูกกำกับมีทั้งพวกเขมรพระนคร แลแขกจาม หากใช่คนอโยธยาโดยแท้ อ้ายเชื้อมันจะมาเกณฑ์สักเลกไปใช้งานของมันไม่ได้”
“เขาเกณฑ์สักไปมากไหม ยอมได้ก็ยอมหนาลูก ออกญาผู้นี้เขาลือว่าเจ้าคิดเจ้าแค้น ใครทำให้ขัดเคืองใจก็อาฆาตจองเวรจนตายตกไปข้างหนึ่งทีเดียว แม่ละหวั่นใจหากมีเรื่องกับคนหมู่นี้” มารดาเขาไกล่เกลี่ย
“ลูกหายอมได้ไม่แล้วแม่ท่าน มันเบียดเบียนพวกเราหนักขึ้นทุกวัน มื้อนี้มันให้คนมาเกณฑ์สักคนในสังกัดของลูกไปเกือบครึ่งหมู่บ้าน ใครพูดภาษาสยามได้มันเกณฑ์สักเลกเสียหมด หากเป็นเช่นนี้ต่อไปลูกก็คงไม่มีแรงงานไว้ทำงานถวายพ่ออยู่หัวอีกแล้ว พรุ่งนี้พ่ออยู่หัวจะเสด็จตรวจงานฐานพระปรางค์ ลูกจะฉวยโอกาสนี้ถวายฎีการ้องเรียนอ้ายเชื้อ”
บทสนทนาจบลงเพียงนั้น แม้นางเภาผู้มารดาจะวิตกวิจารณ์ไปล่วงหน้าด้วยรู้ทั้งนิสัยของบุตรชายที่เถรตรงและมุทะลุ ส่วนคู่ปัญหานั้นก็เป็นคนที่ขึ้นชื่อเรื่องมากเล่ห์และเจ้าคิดเจ้าแค้น นางกังวลเหลือเกินว่าปัญหาจะไม่จบลงเพียงนี้