บุษบาลุยไฟ ตอนที่ 47 : กตเวทิตา

บุษบาลุยไฟ ตอนที่ 47 : กตเวทิตา

โดย : ปราณประมูล

Loading

บุษบาลุยไฟ โดย ปราณประมูล เรื่องราวของ ลำจวน หญิงสาวผู้ต่อสู้กับค่านิยมทางสังคมในยุค ร.3 เธอลุกขึ้นทำสิ่งที่คนในห่วงเวลานั้นไม่ทำกัน หนทางจึงไม่ได้ราบรื่น หากเต็มไปด้วยอุปสรรคและถ้าไม่ใช่เพราะแรงรักแรงใจที่หนุ่มจีนคนนั้น คงยากที่บุษบาดอกนี้จะไปสู่จุดหมาย ‘บุษบาลุยไฟ’ นวนิยายเรื่องเยี่ยมที่อ่านเอานำมาให้อ่านออนไลน์

คงแป๊ะนั่งอยู่บนนั่งร้านไม้ไผ่ ริมผนังในพระอุโบสถ มีม่านผ้าฝ้ายดิบขาวกางกั้นแบ่งเขต ระหว่างบริเวณทำงานของคงแป๊ะกับครูทองอยู่เหมือนเคย ต่างฝ่ายต่างทำงานกันมาจนถึงช่วงท้ายแล้ว อีกไม่นานภาพชาดกของแต่ละครู ก็น่าจะสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

คงแป๊ะก้มรับพู่กันอันจิ๋วที่ฮุนยื่นส่งให้จากเบื้องล่างแล้วค่อยๆ ยื่นมือออกไปห่าง เพื่อมองขนพู่กันให้เห็นถนัด

“พู่กันหนวดหนู…มันแปลกไปอย่างไรรือวะ”

“ครูลองลงมือดูเถิดขอรับ รับรองว่าเส้นสายจะคมพลิ้วกว่าเคย”

ฮุนยิ้มแป้นแล้นตาปิด ภูมิใจนำเสนอ

“เพราะเหตุไร เอ็งไปทำอันใดมา”

ผู้อาวุโสพลิกซ้าย พลิกขวาพิจารณา

“กระผมใช้ขนที่นิ่มกว่าเคย เส้นอ่อนบางกว่าเคย แต่เพิ่มจำนวนเส้นขอรับ”

ฮุนส่งจานสีเปลือกหอย ที่ใส่สีที่ผสมยางไม้แล้วให้ครู

“นี่ขอรับ สีดำงาช้างเผา จะให้สีผม ดวงตาของทหารแขก ดูแปลกออกไป”

คงแป๊ะรับไปวางข้างกาย เอาพู่กันจุ่มสีให้พอเหมาะ

ฮุนส่งไม้รองเขียนให้

คงแป๊ะรับแล้วหันมาที่ภาพทหารแขกชุดขาว ที่นั่งบนหลังม้าขาว ที่วาดร่างกายเสื้อผ้าไว้แล้ว ระบายสีผิวหน้าแล้ว

ท่านวางไม้รองเขียนทาบลง เอามือที่จับพู่กันพาดวางบนไม้รองเขียน กำลังจะวาดเส้นผม

หยิกหยอยที่โผล่พ้นหมวกออกมา ทับลงบนเส้นร่างภาพที่วาดไว้ก่อนด้วยดินสอหินบางๆ

แต่แล้วเมื่อช่างเขียนเอกมองดูตรงหน้า เส้นทั้งหลายนั้นกลับพร่าเลือน รัวๆรางๆ

คงแป๊ะหรี่ตาเล็ง พยายามจะจรดพู่กันลง แต่ภาพกลับยิ่งมัวซัว เส้นสีดูซับซ้อนกันไปหมด

ท่านถอนใจ ลดไม้รองเขียนและพู่กันลง

เจ้าศิษย์จีนกำลังนั่งยอง เตรียมผสมกาวและสีต่อไป อยู่ที่พื้นโบสถ์ข้างใต้นั่งร้าน

“เจ้าฮุนเอ๋ย…เอ็งขึ้นมานี่ถี”

เสียงเรียกนั้นเรียบแผ่วหวิวผิดปกติ ฮุนเงยหน้ามองสงสัยและรีบปีนเดียะๆ ขึ้นไปรวดเร็ว

“กูมองเส้นที่ร่างไว้ไม่เห็นเสียแล้ว คงถึงวันที่กูจะวางมือจริงแท้แน่นอน แม้จะรู้อยู่ว่า…ดวงตาของคนเราจักต้องเสื่อมลงทุกคน แต่ไม่นึกเลยว่าดวงตาของกู…จะมาถึงวันนี้เร็วเพียงนี้”

ท่านหันมาบอก หน้าตาตระหนก

“ครูแน่ใจรือขอรับ”

ฮุนใจหาย

“ไม่รู้ซี…เมื่อวาน กูยังมองเห็นได้ดีอยู่  น่าพิศวงว่าดวงตากู…เปลี่ยนไปได้เพียงชั่วข้ามคืนเชียวรือ”

ช่างเขียนเอกคนหนึ่งแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ยุคนั้น ใบหน้าเผือด อกใจแห้งแล้งอย่างถึงที่สุด

 

ครูทองอยู่กับเนตรกำลังเดินสูดอากาศ เปลี่ยนอิริยาบถแก้เมื่อยขบกันอยู่ที่ริมน้ำคลองบางยี่ขัน ใต้ร่มไม้ไทรใหญ่ครึ้มเย็น

“คุณหลวงเสนีย์บริรักษ์แอบประดิษฐ์พู่กันแบบใหม่ แอบใช้สีแบบใหม่ คิดดูสิ อ้ายฮุนมันไม่เคยหยุดคิดทำสิ่งต่างๆ นอกแบบนอกแผนเอาเสียเลย นี่แล สันดานพวกไม่มีแผ่นดินจะอยู่ตายอดตายอยาก  โล้สำเภาข้ามทะเลหอบเสื่อผืนหมอนใบเที่ยวคุ้ยเขี่ยหากิน วันๆ เอาแต่คิดค้นสิ่งใหม่ๆ แปลกๆ เพื่อจะเอามาประชันของดีของงามที่ทรงคุณค่าอยู่แล้ว”

เนตร  ‘เหยียด’ ได้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย

ครูทองอยู่เองยังอดหน่าย ปรายหางตามองมิได้

“ทุกสิ่งทุกอย่าง…ไม่มีอันใดอยู่คงที่เช่นเดิม…นิ่ง…ตลอดกาล ไม่เคลื่อนคลายกลายเปลี่ยนไปดอก ไม่ว่าอันใด ก็ต้องปรับปรุงให้ใหม่เข้าไว้”

ท่านติง

“แต่สิ่งใดที่ดี ที่เลิศ ที่ประเสริฐอยู่แล้ว ก็ต้องรักษาไว้ให้มั่นคงสถาพร ไม่ให้ผิดแผก”

เนตรยัน

“ช่างเขียนแผ่นดินธนบุรีแลแผ่นดินต้น ก็ย่อมตั้งใจจักสืบงานช่างเขียนครั้งกรุงเก่าไว้ ไม่ให้ขาดช่วงหายไป หากเมื่อแผ่นดินเป็นปึกแผ่นแล้ว แลมีผู้คนจากต่างบ้านต่างเมืองไปมาหาสู่ ช่างเขียนก็ย่อมจารึกเรื่องราวของชีวิตผู้คนในยามนั้นไว้ให้ลูกหลานดู”

ท่านพยายามชี้แนะ

“แต่ลูกหลาน ก็สมควรจะมีงานอันถูกต้อง เป็นแบบอย่างอันสมบูรณ์แลบริสุทธิ์ไม่แปดเปื้อนไว้ให้ได้เคารพ บูชา ร่ำเรียน แลทำตาม”

เนตรไม่ยอมลดละ

ทำให้ครูบาอาจารย์ต้องถอนใจยาว

“โลกนี้ มันก็ต้องมีหลายแบบ หลายอย่าง เคล้าคละปะปนกันไปนั่นแล ไม่มีอันใดสมบูรณ์บริสุทธิ์ดอก ไม่มีเก่า ก็ไม่รู้ว่าอะไรใหม่ ไม่มีใหม่ ก็ไม่รู้ว่าอะไรเก่า”

เนตรหงุดหงิด เพราะท่านครูไม่เอออวยด้วยเอาเลย

ทันใด คงแป๊ะเดินตัวตรง ไม่มองใคร สีหน้าเรียบนิ่ง ผ่านทองอยู่กับเนตรไปที่ท่าเรือวัดอย่างรวดเร็ว

ฮุนสะพายข้าวของทั้งย่ามคงแป๊ะ ย่ามตัวเอง ม้วนกระดาษสาต้นแบบ กล่องใส่พู่กัน กล่องสี เต็มไม้เต็มมือ รีบวิ่งตามครูมา

คนเรือบ้านคงแป๊ะเห็น ก็รีบแก้เชือกผูกเรือ เลื่อนเรือมาเทียบทันใจ

“กลับบ้าน…”

คงแป๊ะสั่ง

“ขอรับ”

คนเรือรับคำ

คงแป๊ะลงนั่งกลางลำเรือ กอดอก ขรึม

ฮุนโดดตามพลางละล่ำละลัก

“ครูต้องพักก่อนขอรับ หลับสักตื่น ตื่นมาแล้ว…อาการน่าจะดีขึ้น”

“ข้ามิได้เจ็บป่วยอันใด”

คงแป๊ะบอกอย่างหงุดหงิด

“รือว่าเหตุเพราะครูเหนื่อยเกินไป”

เสียงฮุนปลอบประโลมแว่วๆ มา ขณะคนเรือรีบพายจ้ำจากไป

ครูทองอยู่และเนตรมองตาม แล้วหันมาสบตากัน สงสัย

 

สมุดไทยที่วางเรียงบนพื้นหอนั่ง มีทั้งสมุดดำเขียนสีขาว และสมุดขาวเขียนหมึกดำ ทั้งที่เป็นตัวหนังสือ และรูปภาพ

คงแป๊ะหยิบขึ้นมา มองใกล้ มองไกล เปลี่ยนระยะต่างๆ ไปมา แต่ไม่ว่าจะทำอย่างไร เมื่อขยับสมุดมาในระยะปกติ ท่านก็อ่านไม่ได้ทั้งหมด

ฮุนกับครูพุดมอง เอาใจช่วยแทบกลั้นลมหายใจ

คงแป๊ะจับพู่กัน แต้มสี ทดลองวาดลายกระหนกง่ายๆ ลงบนแผ่นกระดาษสาสำหรับใช้ลองร่างภาพ

หลังจากสะบัดเส้นไปเส้นหนึ่งแล้ว กำลังจะวาดต่อ สายตาก็เห็นภาพนั้นไหวๆ ไม่เป็นส่ำ

คงแป๊ะหรี่ตา พยายามจรดพู่กันขีดอีกเส้น ให้รับกัน แต่กลับกลายเป็นว่าไม่อาจทำได้

คงแป๊ะลองวาดหน้าคน  ขยับตัวเข้าใกล้บ้าง ไกลบ้าง กะเอาเองตามมีตามเกิด

แต่ในระยะที่ยื่นมือไปวาดได้ ท่านวาด หน้าตา จมูก คิ้ว ปาก ซ้อนกันไปหมด

ช่างเขียนใหญ่เม้มปาก เศร้าแต่ปลง วางพู่กันลง

“แน่นอนละ…”

“ว่า…”

ครูพุดรอฟัง

“กูแก่…เกินจะเขียนภาพได้อีกแล้ว!”

เหล่าศิษย์น้อยใหญ่ได้แต่เงียบกริบ

หลานเตยเอาน้ำชามาวาง

“ลุง…ไม่ต้องเสียใจไปดอก ลุงมีทั้งอาฮุน มีทั้งครูพุด ไหนจะเจ้าสัก เจ้าหนวด เจ้าวง เจ้าพลับ ลุงก็ร่างภาพหยาบๆ แล้วก็ให้พวกศิษย์ตัดเส้นที่เล็กๆ ละเอียดๆ จะให้มันลงสีอันใด ก็สั่งไป”

“นั่นซีขอรับ ประเดี๋ยวกระผมจะกลับวัดไปเขียนต่อ ตามภาพที่ครูร่างไว้เองขอรับ ไม่ต้องกังวล”

ฮุนทำเสียงให้แจ่มใส

“แล้วเมื่อเขียนเสร็จ กูก็ไปรับเงินหลวง บอกว่า…เป็นฝีมือกูเอง เช่นนั้นรือ…”

คงแป๊ะละเหี่ย

“อ้าว ก็เป็นฝีมือลุงจริงๆนี่นา”

หลานสาวแย้ง

“อาเตยเอ๊ย…ช่างเขียนก็มีอายุขัยของอาชีพการงานเหมือนอาชีพทั้งหลายนั่นแล มาถึงวัยหนึ่ง ก็ฝืนสังขารไปไม่ไหวดอก สุดแต่เวรแต่กรรม ว่าวันนั้นของใครจักมาถึงเมื่อใด”

ท่านยกชาขึ้นจิบอย่างหมดกำลังเรี่ยวแรง

“ก็ดีหนาลุง ลุงจะได้กลับไปอยู่บ้านป้า…กลับไปอยู่กับลูกกับเมียที่ฉะเชิงเทราให้สบายใจ”

เตยลูบแขนลุงเบาๆ

“ให้ข้าไปนั่งตาลอยดูน้ำบางปะกงขึ้นๆ ลงๆ ทั้งวันเช่นนั้นรือ…”

“ใช่ ว่างๆ ก็ลงไปจับกุ้งกันให้สนุก”

เตยทำท่าคึกคัก ปลุกใจ

“อย่างนี้ ให้ข้าถูกประหารไปเมื่อคราวต้องคดีเสียยังดีกว่า พระราชทานชีวิตให้ข้า ผู้เป็นนักโทษฆ่าคนตายได้อยู่ต่อ เพราะเสียดายฝีมือที่จักเขียนผนังโบสถ์ให้บ้านเมืองไปอีกนาน…แต่แล้ว…กลับไม่อาจได้ทำงานสนองพระกรุณาธิคุณได้อีกแล้ว…”

คงแป๊ะรำพึงอย่างสิ้นหวัง แล้วนั่งไหล่ลู่ หลังงอลงไป อย่างสลดหดหู่เหลือเกิน

 

ที่เรือนแพ ลำจวนสนเข็ม ร้อยไหมลงไปในรูเล็กเท่าไข่เหา แล้วตัดให้ช่วงความยาวของเส้นไหมได้ขนาดพอดี จากนั้น จึงปักเรียงไว้บนหมอนปักเข็ม จนหมอนนั้นเต็มไปด้วยเข็มที่ร้อยไหมสีต่างๆ สำหรับนางเต็มใช้ปักสะดึง ทำหมอนอิงถวายพระ

ทองใบเดินผ่านจะไปทำความสะอาดหน้าบ้าน หยุดมองอย่างแปลกใจ แล้วเอ่ยเย้า

“ผู้ชายที่ไหนเขามานั่งสนเข็มกันคะ  คุณเฉก”

ลำจวนและนางเต็มสะดุ้ง

“เอ…อินางทาสนี่ สอดรู้สอดเห็นจริง ก็ข้าจักใช้ผู้ใดเล่า หากไม่ขอพึ่งพาไหว้วานคุณเฉกเธอ ตาข้า ยังพอมองเห็นเวลาเย็บปักถักร้อยได้ก็จริง แต่อีตอนสนเข็ม มันสุดปัญญาจริงๆ จะให้ใช้เอ็ง

ก็มือตีนห่างนัก”

ทองใบไม่สลด เข้ามานั่งทำท่ากระชดกระช้อย เท้าแขน ยื่นหน้าเข้ามาดูจนใกล้ ขณะลำจวนสนเข็มไปได้อีกเล่ม

“แหม…สอดด้ายใส่รูเข็มคล่องจริงนะเจ้าคะ คุณเฉก…ไม่ทราบว่าสอดอย่างอื่นจะคล่องรือไม่หนา”

นางเต็มเสียงเกรี้ยว

“อีทองใบ! อีจังไร!”

ทองใบสะดุ้ง หัวเราะทะเล้นระริกระรี้ แล้วรีบเผ่น

คุณพุ่มเดินออกมาจากในห้อง ถือสมุดไทยดำเล่มบางๆ เล่มหนึ่ง เดินมานั่งที่ประจำ

“เจ้าเฉก  มานี่เดี๋ยว”

ลำจวนรีบเข้าไปนั่งพับเพียบหน้า  ‘คุณอา’

“หาตั้งนาน กว่าจะพบ เอ้า เอาไปอ่าน”

เธอหมายถึงหนังสือที่ส่งให้ผู้เป็นศิษย์

เจ้าเฉกพนมมือไหว ก่อนจะรับมา ที่ปกไม่มีเขียนคำอะไร เป็นสีดำเปล่าๆ

เมื่อเปิดดูข้างใน จึงเห็นชื่อเรื่องว่า ‘ระเด่นลันได’

“ระเด่นลันได…ระเด่น…แปลว่าพระราชธิดารือพระราชโอรส ภาษาชวา…แสดงว่า…นี่เป็นเรื่องอิเหนารือไม่ขอรับ”

คุณพุ่มยิ้ม

“เรื่องนี้เกี่ยวกับอิเหนาจริง…ในข้อที่…ผู้เขียนตั้งใจจะล้อเลียนเรื่องอิเหนา แลประชดเสียดสีแดกดันอีกหลายสิ่งนัก เจ้าลองอ่านดู แล้วมาพูดคุยกัน”

ลำจวนพลิกดูเร็วๆ รอบหนึ่ง

“ผู้ใดเขียนขอรับ”

“ผู้เขียน…เป็นคุณพระตำรวจใหญ่ที่วังหลวง แต่ท่านเขียนโดยไม่อยากเปิดเผย เจ้าไปอ่านให้จบ แล้วข้าจะเฉลยให้ฟัง”

“น่าสนุก…”

เจ้าเฉกรู้สึกเร้าใจกับเรื่องลับลมคมใน

“สนุกมาก…แลแตกต่างจากทุกเรื่องที่เจ้าเคยอ่าน”

“ขอรับ”

เจ้าหนุ่มกำมะลอดูคึกคัก มีชีวิตชีวาขึ้นมา เมื่อได้หนังสือใหม่อ่าน

“เป็นลูกศิษย์ท่านอาลักษณ์ภู่…เจ้าจักได้ศึกษาวิชากลอนตามอย่างท่าน นักกลอนทั้งบ้านทั้งเมือง รวมทั้งบุตรของท่านก็เขียนกลอนตามอย่างท่านกันทั้งนั้น ขนาดนายมีบ้านบุที่เป็นช่างเขียนรูป ยังเขียนเหมือนจนคนสับสน ว่าไหนนิราศนายมี นิราศสุนทรภู่ แม้แต่ตัวข้าเอง ก็เขียนกลอนโดยมีกลอนของท่านภู่ เป็นแผนที่ให้เดินตาม”

ลำจวนเฉกตาโต

“ขอรับ”

“แต่หากเป็นศิษย์ข้า ข้ามีหนังสือหลายเล่มสมุดไทยให้เจ้าอ่าน ถึงไม่มี ข้าก็หยิบยืมมาให้เจ้าได้เสมอ ข้าเคยให้เจ้าอ่านลิลิต งานพระนิพนธ์ท่านเจ้าพระ…ที่เป็นแบบอย่างงานประพันธ์ที่สูงส่ง แลนี่ คืองานคุณพระตำรวจ ผู้มีฝีปากคมกริบเชือดเฉือนเจ็บปวด ข้าจักไม่บอกให้เจ้าแต่งกลอนตามอย่างใครทั้งนั้นแม้แต่ตัวข้า ดังนั้น เจ้าลองตรองดู ว่าเป็นศิษย์ผู้ใด จึงจะก้าวไกลกว่ากัน”

ลำจวนอึ้ง เมื่อถูกดักทาง

ส่วนนางเต็มแอบขำปนสะใจ

 

ฮุนนั่งล้างพู่กันจนสะอาดวางตากเรียงกันไว้เป็นแถวที่ขอบระเบียงก่อนลงบันไดหลังโบสถ์ ในที่แสงแดดอ่อนยามเช้าส่องมาไรๆ พลันมีเงาคนมาหยุดมองอยู่ด้านข้าง

ชายหนุ่มจีนหันไปดู ไม่คาดว่าเป็นครูทองอยู่ ที่มองดูสิ่งที่เขาทำอย่างสนใจ

ฮุนรีบยกมือไหว้อย่างนอบน้อม

ท่านยิ้ม พยักหน้ารับ

“ไม่เห็นคุณหลวงเสนีย์ฯ มาเขียนหลายวันแล้ว มีแต่เจ้ากับคนอื่นๆ”

ช่างเขียนหนุ่มก้มหน้าลง

“ขอรับ”

“ได้ข่าวว่า…ท่านจักเลิกเขียนแล้วรือ”

น้ำเสียงครูท่านมีความห่วงใย

“หามิได้นาขอรับ”

ฮุนปกป้องเต็มที่

“ไม่ใช่ดอกรือ…ที่มีคนซุบซิบว่า…มือแลตาคุณหลวงทำงานไม่ประสานกันเสียแล้ว วาดเส้นเล็กๆด้วยพู่กันหนวดหนูที่ตนเองคิดขึ้นเองแท้ๆ…ก็ยังวาดมิได้ ไม่เป็นความจริงรือ”

ฮุนเงียบ เพราะไม่อยากโป้ปด

“เจ้าฮุน…เมื่อหลายปีก่อน เจ้าอยากจะมาเป็นศิษย์ข้า…บัดนี้ เจ้ายังต้องการจะมาเป็นช่างเขียน  ที่ได้ชื่อว่าได้เรียนกับหลวงวิจิตรเจษฎารือไม่”

ฮุนตกตะลึง

“เป็นศิษย์หลวงเสนีย์ฯ ก็ดีดอก แต่ท่านหาได้ขยันหมั่นเข้าหาเจ้าเข้าหานายไม่ เอาแต่ทำตัวตามสบายตามใจสนุกไปเรื่อย  หากต้องการเป็นช่างเขียนหลวง ได้ถวายตัวเป็นขุนนางกับเขา จักได้พ้นสภาพคนจีนผูกปี้ ตัดเปียเสียเร็วๆ มาอยู่กับข้า น่าจักสมหวังได้ไม่นาน”

สีหน้าท่านไม่ทราบว่าพูดจริง หรือลองใจกันแน่

“คิดให้ดีหนา เจ้าฮุน  เสร็จจากงานที่โบสถ์นี้ ก็ไม่แน่ว่าหลวงเสนีย์ฯ ยังจักเขียนภาพผนังได้อีกสักกี่งาน แลเจ้าจักเหนื่อยเปล่า ที่รับใช้ท่านภายใต้ชื่อของท่าน มิได้ความดีความชอบใด นอกจากเงินค่าจ้างส่วนแบ่ง  แต่หากมาช่วยข้า ข้าก็จักช่วยเจ้าตอบแทน”

ท่านพูดเรียบๆ เรื่อยๆ อย่างสบายๆ แต่ใจคนฟังเต้นแรง

เนตรเดินมาแต่ไกล ฮุนหันไปมอง ครูทองอยู่มองตาม

“ไม่ต้องเกรงเจ้าเนตร เพราะคำพูดของข้านับเป็นที่สุด ที่ไม่มีผู้ใดมาขัดได้”

เนตรเดินมาถึง มองท่านครูสลับกับฮุน ระแวงสงสัย

“มาสายนัก เจ้าเนตร  ข้ามาถึง ไม่มีใครให้ใช้สักคน”

พลันท่านตีหน้าเคร่ง บ่นพลางเดินเข้าโบสถ์ไป

เนตรมองหน้าฮุนอย่างเป็นเชิงถาม ฮุนหันมาจัดวางพู่กันต่อไม่ให้ความสนใจ เนตรจึงรีบตามครูทองอยู่เข้าโบสถ์ไป

แต่ฮุนยังครุ่นคิด ดวงตาเคร่งไม่คลาย

 

วันรุ่งขึ้น ขณะที่เจ้าหนุ่มจีนเดินจากที่พักหลังศาลเจ้า จะไปโอสถศาลา

ที่ทางสามแพร่ง  มิสเตอร์โรบินสันมิชชันนารีผู้หนุ่มแน่น ผู้ช่วยหมอแดน แบรดลีย์ และท่าน

จอห์นสันผู้อาวุโสกว่าที่สวมแว่นหนา ยืนแจกใบปลิวพิมพ์มาใหม่เอี่ยมที่วางอยู่หลายกองด้วยกัน

คนจีนชายหนุ่มสองสามคนเดินผ่าน เมียงมองสนใจ

ทั้งสองยื่นใบปลิวให้

“เชิญอ่านเรื่องของพระผู้เป็นเจ้า แลหนทางสู่สวรรค์”

ใบปลิวที่มิสเตอร์โรบินสันยื่นให้คนจีน เป็นภาษาจีน

หญิงอิสลามชรามีลูกสาววัยกลางคน ประคองผ่านมา

“มะเป็นอย่างไรบ้าง มาเรียม”

“มะสบายดีค่ะ คุณโรบินสัน”

“พระเจ้าคุ้มครองๆ”

ทั้งสองมิชชันนารีกล่าว โดยไม่แจกใบปลิวให้แต่อย่างใด

ครั้นคนไทยกลุ่มหนึ่งผ่านมา ทั้งสองจึงยื่นใบปลิวให้อีก

“เชิญอ่านเรื่องของพระผู้เป็นเจ้า แลหนทางสู่สวรรค์”

ฮุนเดินมาหยุดพิจารณาดูท่านจอห์นสัน ด้วยสนใจในแว่นกรอบทอง

“เอ้า  อาฮุน จะไปไหน  อากงเป็นอย่างไรบ้าง”

โรบินสันถามอย่างคุ้นเคย

“อากงดีขึ้นแล้วขอรับ กินยาจีนควบคู่ไปด้วย เวลานี้ไม่ไอแล้ว”

ฮุนดูใบปลิวอย่างทึ่ง

“มีทั้งตัวอักษรจีน ตัวอักษรไทยเลยรือขอรับ”

“ภาษาอิงลิชก็มีหนา”

โรบินสันอวด

ฮุนหยิบมาดู

“อีกหน่อย ถ้าพิมพ์หนังสือตำรา นิทาน รือคำกลอนทั้งหลายได้ คนที่รับจ้างคัดสมุดไทย ก็คงจักไม่มีงานทำสิหนาขอรับ”

เขาออกความเห็นไปในอีกมุม เพราะคิดถึงคนอีกคนอยู่เสมอ

“คงอีกนานแล นายฮุน กระดาษสำหรับพิมพ์แบบนี้ราคาแพงนัก คนสยามทั่วๆ ไปจะมีอัฐมาซื้อหากันไหวรือ…”

ท่านจอห์นสันขยับแว่น มองดูใบปลิว เลือกหยิบขึ้นมา
“เอ้า นายฮุนจักเอาภาษาใด อ่านออกทั้งหมดมิใช่รือ”

ฮุนกลับจ้องเป๋งที่แว่นตาท่าน แล้วมองดูที่คอ เพราะท่านจอห์นสันมีแว่นสองอัน เป็นสร้อยห้อยที่คออันหนึ่ง และสวมอยู่อันหนึ่ง

“ท่านจอห์นสันใส่แว่น เพราะอ่านหนังสือไม่เห็นรือขอรับ”

ท่านจอห์นสันมอง ยิ้มเมตตา

“ใช่…ทีแรกฉันสายตาสั้น มองไกลๆ ไม่เห็น ก็ใส่แว่นอันนี้ เวลานี้ พออายุมากขึ้น สายตายาว ก็กลับอ่านหนังสือ มองสิ่งใกล้ๆ ไม่เห็นอีกด้วย  เวลาจะอ่านหนังสือ…ก็ต้องใช้อันนี้”

“นำมาจากอเมริการือขอรับ”

ฮุนจริงจัง

“ใช่…เอามาจากอเมริกา  แต่ที่ปีนัง  รือสิงคโปร์ ก็พอหาได้”

“อ้อ…ขอรับ”

ฮุนเมียงๆ มองๆ

 

อีกหลายวันต่อมา ฮุนกับพรรคพวกคนงานอู่ต่อเรือข้างวัดกัลยาณมิตร ที่ใช้เวลาหลังเลิกงาน รับจ้างขนส่งแบกหามเครื่องเรือนจากร้านช่างจีนที่ทำงานฝีมือแบบช่างฝรั่ง ยกตู้สำหรับวางอวดสินค้าข้างใน ที่มีบานกระจกห่อแยกๆ ต่างหาก เพื่อไปประกอบเข้าด้วยกันภายหลัง เข้าไปในห้างของนายหันแตร

ห้างหันแตร เป็นห้างของชาวสก็อต ชื่อโรเบิร์ต ฮันเตอร์ ซึ่งเจ้าพระยาพระคลังดิศ บิดาของหลวงสิทธิ์นายเวรช่วง ได้แบ่งที่ดินของท่านตรงส่วนริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณตอนเหนือถนนสะพานฉนวน หน้าวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ให้ฝรั่งเช่าเพื่อสร้างเป็นตึกที่ทำกิจการบริษัทและร้านสรรพสินค้า

นายหันแตร ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงอาวุธวิเศษประเทศพานิช เมื่อครั้งขายปืนให้ไทยไปปราบเจ้าอนุวงศ์ก่อนหน้านี้ประมาณสิบปี หันแตรมีภรรยาเป็นเชื้อสายโปรตุเกส ชื่อแอนเจลิก้า หรือท่านผู้หญิงทรัพย์ เชื้อสายเจ้าพระยาวิชาเยนทร์รุ่นที่สี่  ผู้นำชุมชนกุฎีจีน แต่นายพ่อค้าชาวสก็อตผู้นี้ถูกเนรเทศจากไทย…ประมาณแปดปีหลังจากนี้ สาเหตุหนึ่งคือเรื่องพยายามขายเรือกลไฟให้สยามในราคาแพงมากเมื่อสยามรบกับอันนาม พอสยามไม่ยอมซื้อ เขาก็ประกาศจะเอาไปขายให้อันนามแทน

ขณะที่ฮุนและพวกกำลังช่วยกันประกอบบานกระจกเข้ากับตู้อยู่  หันแตรเดินชูแว่นกรอบทองพร้อมกล่องให้ภรรยาดูพลางบ่นอุบปนหารือ

“เสด็จท่านก็ไม่เอา  ท่านเจ้าคุณผู้ใหญ่ก็ไม่เอา  หมอแบรดลีย์ก็ไม่เอา บอกว่าของอเมริกันถูกกว่ามาก ฉันว่าจะเอามาขายถูกๆ ให้หลวงพ่อที่วัดประยุรฯ…เธอว่าจะดีไหม”

“ดาร์ลิ้ง…ขายของให้พระไม่ดีดอกนะคะ ถวายท่านไปเถิด”

แอนเจลิก้าค้าน

“ซอรี่นะ พระสงฆ์ไทยร่ำรวยสุขสบายมาก คนเอาเงินมาถวายมากมาย มีความเป็นอยู่หรูหรา ขนาดจีวรยังเป็นผ้าไหมยกดอก ฉันถวายไม่ลงดอก”

นายหันแตรหมายถึงพระสงฆ์ไทยทั่วไปในเวลานั้น โดยมิได้เจาะจง

ความรวยทรัพย์สิน มีข้าวของเครื่องใช้ที่หรูหรา ชีวิตค่อนข้างสุขสบายและย่อหย่อนพระธรรมวินัยของพระในสมัยนั้น เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้เจ้าฟ้ามงกุฎตั้งธรรมยุติกนิกายขึ้น จีวรไหมยกดอกดังกล่าว จะเห็นได้จากพระพุทธรูปสมัยรัชกาลที่สาม  มีหลายองค์ที่ช่างประดิษฐ์ลวดลายยกดอกบนจีวรบนองค์พระพุทธรูป ส่วนในความเป็นจริง ก็มีการทอไหมยกดอกเป็นจีวรไปถวายพระสงฆ์

“โรเบิร์ต ใจคุณทำด้วยอะไรกันนี่…”

ภรรยาสาวที่มีความเป็นไทยมากกว่าเชื้อชาติอื่นๆ ในตัวตัดพ้อ

“ดาร์ลิ้ง…งั้นคุณเอาไปขายถูกๆ ให้เศรษฐีสักคนเถิด แต่อย่าเอาไปถวายพระฟรีๆ  เข้าใจไหม โอ๊ย ร้อน เหงื่อแตก…ยูช่วยทำทุกอย่างแทนไอที”

เขาวางกระแทกแว่นตาบนหลังตู้ แล้วเดินปังๆ เข้าไปข้างใน

แอนเจลิก้ามองตาม ถอนใจ จะเก็บแว่นใส่กล่อง

แต่ไม่ทันฮุน ที่โฉบเข้ามาเลียบๆ เคียงๆ

“ไอเบ็ก ยัวร์พาร์ด๊อน”

ฮุนก้มหัว สุภาพ อย่างมารยาทสากล

แอนเจลิกาหันมายิ้ม

“พูดภาษาไทยกับฉันเถิด”

“อ้อ…”

ฮุนโค้ง ยิ้มอย่างพินอบพิเทาเต็มที่

“ขออภัยเถิดขอรับ นั่นคือแว่นตาสำหรับอ่านหนังสือของผู้สูงวัย ใช่ไหมขอรับ”

“ใช่…”

คุณนายหันแตรส่งให้แว่นให้ฮุนดูอย่างใจดี

ฮุนหยิบแว่นตาอันสวยงามแวววาวนั้นมาพิจารณา ลองส่องดูใกล้ไกล

“ราคาสักเท่าใดขอรับ…ถ้าแพงนัก  กระผมไม่มีปัญญาดอก แต่อยากจะได้ไปให้ญาติผู้ใหญ่น่ะขอรับ…”

สุภาพสตรีผู้มีฐานะ รู้สึกเอ็นดูเจ้าหนุ่มผมเปีย เพราะนอกจากเอาการเอางาน หนักเอาเบาสู้แล้ว เขายังยิ้มแย้มแจ่มใส สุภาพเรียบร้อย และมีเสน่ห์นะเมตตาอย่างยิ่ง

“เอาไปลองดูก่อนเถิดว่าสายตาพอดีหรือไม่ หากไม่พอดี ก็เอามาคืน”

 

ที่เรือนริมคลองบางบำรุ ฮุนหยิบกล่องสิ่งของบางอย่างออกมาจากย่าม แล้วเปิดออก วางลงบนพื้นกระดานตรงหน้าคงแป๊ะที่กำลังจิบชา

แว่นกรอบทอง ทรงกลม แบบเดียวกับที่เบญจามิน แฟรงกลินใช้

ผู้เป็นครูอ้าปากค้าง งงงันไปชั่วขณะ

“อาฮุน เอ็งเอามาจากไหน มีแต่พวกเศรษฐีฝรั่ง จึงจะมีใช้กัน”

“กระผมก็เอามาจากฝาหรั่งนั่นแล”

ฮุนกล่าวยิ้มๆ

“ผู้ใด คุณหมอปลัดเลย์รือ”

ฮุนส่ายหน้า

“ห้างหันแตรหน้าวัดประยุรฯ ขอรับ…”

“มึงซื้อมารือ  มึงมีอัฐมากถึงเพียงนั้นเทียว”

คงแป๊ะหยิบแว่นขึ้นมาส่อง ลังเล

ฮุนยิ้มขรึมๆ อยู่ตรงหน้าท่านครู หลังจากตื๊อพาท่านปีนขึ้นมานั่งอยู่ด้วยกัน บนนั่งร้านที่ในโบสถ์

คงแป๊ะลองสวมแว่น แล้วมองใหม่ พลันหน้าฮุนกลับหม่นมัวไป

ช่างเขียนเอกรีบถอดแว่นออกทันที

“ไม่ยักเห็นอันใด หน้าเจ้าก็กลายเป็นเลือนๆ ไหลๆ”

“มิได้สำหรับมองหน้ากระผมขอรับ ลองมองดูภาพที่จะเขียน”

ฮุนรอผลด้วยความตื่นเต้น

คงแป๊ะสวมแว่นกลับเข้าไปใหม่ หันกลับไปดูภาพที่เขียนค้างคา

พลัน เส้นสายที่รัวๆ เลือนๆ กลับคมชัดขึ้นมาทันที

“เฮ้ย!…”

ท่านแทบร้องตะโกนออกมา

“คราวนี้…ครูลองเขียนดูขอรับ”

คงแป๊ะวางไม้รองเขียน เอาพู่กันจุ่ม แล้วลองเขียนเส้นผมของตัวภาพทหารแขก

ทุกลายเส้นพลิ้วไหวงดงาม ละเอียดลออ คมชัด

“อ้ายฮุน อ้ายวายร้าย กูเขียนภาพได้ กูกลับมาเขียนได้แล้วจริงๆ”

คงแป๊ะวางอุปกรณ์ใดๆ หันมาลูบหัวลูบหลังเจ้าศิษย์เปีย

“พ่อฮุน พ่อมหาจำเริญ…หากชีวิตข้าไม่มีเจ้า…ข้าจะเป็นเช่นไรหนา ข้าต้องให้อัฐเจ้าเท่าไหร่ดี”

“ไม่ต้องดอกขอรับ นายห้างหันแตรเป็นลูกค้าขาประจำของลูกพี่กระผม พวกผมไปแบกหามขนส่งของที่ห้างแกบ่อยๆ เมียแกเป็นคนที่กระฏีจีน เคยเห็นหน้ากันเสมอ เลยคิดไม่แพงขอรับ”

สองครูศิษย์ยิ้มแย้ม ดีใจกัน

เบื้องหลังผ้าม่านที่กั้นกลางอยู่  ทองอยู่ เนตร อยู่บนนั่งร้าน เจ้าคุณอินทรากับนพเดินมาหยุดยืนเงียบกริบ ฟังอยู่

ทั้งผู้บังคับบัญชากับลูกน้องได้ยินประโยคหลังทั้งหมด

นพกระซิบนายที่มีศักดิ์เป็นน้องเขยเขาด้วย

“ได้ยินไหมขอรับ…อ้ายเจ๊กนั้นค้าขายสิ่งใด กับนายห้างหันแตร”

เจ้าคุณนิ่งเงียบ

เนตรเข้าโอบน้องชาย กระซิบถาม

“ห้างหันแตรมีอันใด”

“นอกจากสินค้านานา…ที่นายหันแตรขายหน้าร้าน…มันมีสินค้า ที่นายหันแตรขายหลังร้านด้วยน่ะซี พี่เนตร”

เนตรตาลุก

คุณหลวงวิจิตรเจษฎาเลิกคิ้ว สงสัย

“ระวังหน่อย เจ้านพ…อย่าปากพล่อย”

เจ้าคุณมอง กำราบ

เนตรยิ่งคันยิบอยากรู้เป็นสามสี่เท่าแล้วคราวนี้

ครูทองอยู่มองสบตาเจ้าคุณอินทรา ทั้งสองส่งนัยสู่กัน

 



Don`t copy text!