
หริณจันทร์กังสดาล : อาทิบรรพ
โดย : กันต์พิชญ์
หริณจันทร์กังสดาล นวนิยายจาก กันต์พิชญ์ นักเขียนจากช่องวันอ่านเอาปี 1 ที่เปิดตัวด้วยผลงานสุดระทึกวางไม่ลง ‘ม่อนเมิงมาง’ ตามด้วย ‘วายัง’ และ ‘สีตคีตา’ ที่ประดาผู้อ่านกล่าวขานว่างานเขียนของกันต์พิชญ์นั้นช่างโดดเด่นและแตกต่าง และวันนี้เขามากับผลงานเรื่องนี้ที่อ่านเอานำมาให้คุณได้อ่านบนเว็บไซต์ anowl.co และเพจอ่านเอา
ปรัตยุตบัน อาศวิน (1) มหาศักราช 923 (2)
ก่อนสติสัมปชัญญะจะแจ่มชัด ม่านตาของมันจับทัศนียภาพผืนฟ้าฝั่งทิศตะวันออกผ่านทวารโคปุระเบื้องหน้าได้อย่างเลือนราง แม้กล่าวได้ว่าทัศนียภาพ ทิวทัศน์ที่เห็นกลับคับแคบยิ่ง ประหนึ่งร่างกายของมันกำลังนอนแบ็บอยู่ก้นโลงใต้ผืนดิน แล้วแหงนหน้าขึ้นมองท้องนภาซึ่งถูกตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า นอกเหนือจากสันเขาทะมึนทอดยาวในแนวขวางแล้ว สรรพสิ่งที่เหลือล้วนล้อมกรอบด้วยอนธการ
เมื่อแรกมันยังไม่เข้าใจว่าลักษณะภูมิประเทศตรงหน้านั้นหมายถึงสิ่งใด และไม่อาจเดาได้ว่าสถานที่ที่อยู่ในขณะนี้คือแห่งหนไหน
มันรู้สึกคล้ายเพิ่งตื่นจากนิทรารมณ์ เส้นแบ่งระหว่างความฝันกับความเป็นจริงคลุมเครือและเคลือบคลุม
มวลอากาศเย็นชื่นผิวทำให้มันรู้ว่าน่าจะเป็นเวลาก่อนรุ่งสาง บางคราวได้ยินเสียงร้องของนกแสกอยู่ไม่ไกล เสียงนั้นช่างมีพลังคุกคามอย่างประหลาด นกชนิดนี้ไม่เคยแสดงตัว ไม่กระพือปีก มีเพียงเสียงร้องเท่านั้นที่สะท้อนก้องตามผนังศิลาแลงแห่งนี้
เสียงร้องของนกแสกเลือนหาย แทนที่ด้วยกลิ่นอายของดอกซ้อนเหลืองนวลที่กระตุ้นประสาทรับกลิ่นบางเบา
มันค่อยๆ นึกออกแล้วว่าขณะนี้ตนเองอยู่ที่ใด
มันพยายามเชิดคางขึ้นสูง ทว่าศีรษะคล้ายถูกตรึงไว้กับอะไรบางอย่าง ทำได้เพียงกลอกตาไปมาเท่านั้น
ทันทีที่มันชำเลืองไปทางขวา เห็นลวดลายปรากฏบนเสาติดผนังปรางค์ประธานประกอบด้วยรูปแบบหน้ากระดานสลักลายประจำยามขนาบด้วยลูกประคำ พื้นที่ส่วนบนมีการสลักลายบัวคว่ำอันต่อเนื่องมาจากลวดลายประดับฐานอย่างสิงห์คายพรรณพฤกษา
มันกลอกตาลงเบื้องล่างโดยไม่อาจขยับเขยื้อนร่างกาย สายตาไปหยุดอยู่ที่ปลายเท้าของตน และแทบไม่อยากจะเชื่อในสิ่งที่เห็น
ด้วยแขนซ้ายและขาซ้ายของมันถูกจัดวางให้พาดขวางไปทางด้านขวา มือซ้ายถูกตรึงให้อยู่ในท่าพาดขวางระดับอก หงายฝ่ามือหักข้อคล้ายงวงช้าง ชี้ปลายนิ้วลงสู่เท้าซ้ายข้างที่ยกพาดเหนือเข่าขวา ดุจอยู่ในท่วงท่าหลุดพ้นจากสังสารวัฏ รับกับมือขวาที่แบและยกข้อมือขึ้นจดข้อมือซ้าย คล้ายอยู่ในท่าปางอภัยของมหาเทวะ
มันรู้สึกว่าฝ่าเท้าข้างขวาเหมือนกำลังเหยียบยืนอยู่บนแท่นรูปดอกบัว เมื่อหลุบตาเพ่งให้ดีก็พบว่าสิ่งที่ถูกฝ่าเท้าของมันกดอยู่คือรูปปั้นอสูรแคระอปัสมารปุรุษะ ซึ่งวางอยู่บนแท่นดอกบัวอีกชั้นหนึ่ง
“เมื่ออปัสมารปุรุษะ ตัวแทนแห่งอวิชชาโง่เขลาถูกเหยียบย่ำ มิให้โผล่ขึ้นมาบดบังความจริง วิชชา ความรู้แจ้งย่อมปรากฏ…”
มันพึมพำก่อนเหลือบตามองวงกบที่ตรึงร่างของมันเอาไว้ทันที
วงกบโลหะที่วางกรอบล้อมร่างของมันอยู่มีรูปทรงคล้ายพนมเทียน เปลวไฟซึ่งติดอยู่ปลายเทียน ส่ายสะบัดรูปกรวยพุ่งขึ้นไปเบื้องบน ตรงกลางป่องอวบอูมอันเป็นที่มาของคำว่าพนม
“ขอบเขตแห่งการร่ายรำ เบื้องนอกคือเปลวไฟ ด้านในเป็นมหาสมุทร สรรพสิ่งเกิดดับด้วยกูณฑ์ไฟประลัยกัลป์”
มันหมายถึงประภามณฑล คำเรียกวงโค้งสำริดรูปทรงเกือกม้า
นฤตตมูรติ!
ชั่วพริบตาที่ไพล่นึกไปถึง ‘ศิวนาฏราช’ มันก็พานคิดไปถึงนรกและภัยพิบัติล้างโลก ก่อนเกิดผัสสะเสมือนว่ารูขุมขนกำลังหดตัวทั่วสรรพางค์
มันนึกไม่ออกว่าทำไมตนเองจึงมาอยู่ในสถานที่เช่นนี้
ความทรงจำขาดตอนไม่ปะติดปะต่อประหนึ่งกระเบื้องเคลือบถูกขว้างแตกเป็นเสี่ยง แม้พยายามนึกเท่าไร แต่ละชิ้นส่วนไม่ยอมประกอบกันเป็นรูปร่างลวดลายที่มีความหมาย
มันงุนงงว่าสิ่งใดคือเหตุ เรื่องราวใดคือผล
ทำไมตัวมันถึงมาอยู่ในสภาพเช่นนี้ได้
ยามนี้มันแน่ใจว่าความทรงจำได้สูญหายไปบางส่วน ทว่าไม่อาจคาดเดาได้ว่าส่วนซึ่งว่างเปล่านั้นมีมากน้อยเพียงไร
ขณะพยายามรำลึกถึงความทรงจำในอดีต มันกลับรับรู้ได้ว่าสติสัมปชัญญะติดขัด ขาดความลื่นไหล คล้ายเพิ่งตื่นจากภวังค์สลับไปมากับความรู้สึกคล้ายจะหมดสติ
ไร้ประโยชน์สิ้นดี
ผืนฟ้าค่อยๆ สว่างขึ้นโดยไม่รู้ตัว เฉดสีที่เคยมีแต่ความมืดกลับกลายเป็นครามเข้ม เส้นแสงเจือจางซึ่งแบ่งระหว่างความตายกับความเป็นเรืองเรื่ออยู่ไกลลิบ
“ต้องหาวิธีหนีออกไปจากที่นี่” มันแลบลิ้นเลียริมฝีปากที่แตกระแหง
หากหนีออกไปไม่ได้ จิตจะถูกความตายที่กำลังคืบเคลื่อนเข้ามาเข้ามาเชื่องช้ากัดกินทีละน้อย
มันเงี่ยหูฟัง กลอกตาสังเกตบรรยากาศโดยรอบ จู่ๆ บุรุษอกสามศอกอย่างมันก็หวาดกลัวขึ้นมาที่ต้องตายอย่างโดดเดี่ยว
“ผู้ใดก็ได้ช่วยเดินผ่านเทวาลัยแห่งนี้ทีเถิด”
สิ่งที่พึ่งพาได้ในตอนนี้มีเพียงสองตาและสองหู มันนิ่งรอให้มีเสียงฝีเท้าย่ำเข้ามาใกล้ พลางหงุดหงิดตนเองที่ทำอะไรไม่ได้แม้สักอย่าง
“ช่วยด้วย…”
มันลองส่งเสียงร้องขอความช่วยเหลือ น้ำเสียงนั้นช่างแหบแห้งแทบไม่หลุดจากลำคอ และถูกกลืนหายไปกับมวลอากาศเย็นเยียบทันที ไม่มีทีท่าว่าจะไปถึงหูใคร มันจึงพยายามออกแรงเฮือกสุดท้ายให้ตัวเองหลุดพ้นจากพันธนาการของเส้นเชือกที่ตรึงร่างของมันเอาไว้ในท่าศิวนาฏราช ซึ่งดูแล้วด้ายฟั่นเส้นยาวก็คล้ายลำตัวอสรพิษเสียเหลือเกิน
เมื่อแสงสูรยะโผล่พ้นทิวเขา สาดทะลุม่านน้ำโปร่งบางที่เคลือบนัยน์ตาของมัน เมื่อนั้นมันจึงเข้าใจโดยดุษณีที่ลมหายใจของมันกำลังจะถูกถ่ายโอน
มันสะอื้นผะแผ่ว ไร้สำเนียงเปล่งออกมาเป็นคำพูด
กลิ่นอายของผืนน้ำในบารายคล้ายจะอบอวลเข้มข้นยิ่งขึ้น
พราหมณาจารย์เคยบอกว่า ตราบใดที่ปล่อยให้ชีวิตเป็นไปตามจังหวะของธรรมชาติ มนุษย์จะอุบัติยามน้ำขึ้น และละโลกเมื่อน้ำลง
อาการเจ็บปวดแปรเปลี่ยนเป็นด้านชา พร้อมกับแว่วเสียงกังสดาลบอกเวลามาแต่ไกล
ชั่วพริบตาที่แสงอาทิตย์ลอดผ่านทวารทั้งสิบห้าของเทวาลัยเป็นเส้นตรงกระทบร่างของมันในท่วงท่าตาณฑวะ ซึ่งในหนึ่งปีปรากฏการณ์เช่นนี้มีเพียงสี่ครั้งเท่านั้น ด้ายฟั่นเหนียวหนาที่พันธนาการตัวของมันไว้กับวงกบโลหะก็ส่งเสียงลั่นเปรี๊ยะพร้อมเปลวอัคนีลุกพึ่บ
มันยิ้มอย่างไร้เรี่ยวแรง ไม่มีความเจ็บปวดอีกต่อไป
ความตายคืบคลานมารออยู่เบื้องหน้าแล้ว
เชิงอรรถ :
(1) เดือนกันยายน เป็นคำเรียกตามสัญลักษณ์ของจักรราศีที่อิงการโคจรของดวงอาทิตย์ โดยเริ่มนับเดือนแรกของปีคือ ไจตระ (มีนาคม) และสิ้นสุดที่ ผาลคุนะ (กุมภาพันธ์)
(2) พุทธศักราช 1544 อนึ่งมหาศักราชนั้นใช้ตามปีครองราชย์ของพระเจ้ากนิษกะ กษัตริย์ที่ปกครองอาณาจักรกุษาณะ ศากยะวงศ์องค์หนึ่ง เมื่อมหาศักราชแพร่เข้ามายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้จารึกโบราณส่วนใหญ่ใช้มหาศักราชในการจดจาร
- READ หริณจันทร์กังสดาล บทที่ 27 : คำมั่น
- READ หริณจันทร์กังสดาล บทที่ 26 : จุมพิต
- READ หริณจันทร์กังสดาล บทที่ 25 : รังสีอำมหิต
- READ หริณจันทร์กังสดาล บทที่ 24 : ข้าวจี่
- READ หริณจันทร์กังสดาล บทที่ 23 : มล้าง
- READ หริณจันทร์กังสดาล บทที่ 22 : สุดสวาสดิ์
- READ หริณจันทร์กังสดาล บทที่ 21 : สมิง
- READ หริณจันทร์กังสดาล บทที่ 20 : พาโลโสเก
- READ หริณจันทร์กังสดาล บทที่ 19 : ส่วย
- READ หริณจันทร์กังสดาล บทที่ 18 : ภูเตศวร
- READ หริณจันทร์กังสดาล บทที่ 17 : ศาลิครามศิลา
- READ หริณจันทร์กังสดาล บทที่ 16 : โหมกูณฑ์
- READ หริณจันทร์กังสดาล บทที่ 15 : ความหวัง
- READ หริณจันทร์กังสดาล บทที่ 14 : เชื้อไข้
- READ หริณจันทร์กังสดาล บทที่ 13 : รุ้งพราย
- READ หริณจันทร์กังสดาล บทที่ 12 : พรานโจร
- READ หริณจันทร์กังสดาล บทที่ 11 : หอสังคีต
- READ หริณจันทร์กังสดาล บทที่ 10 : ผลึกเศษะ
- READ หริณจันทร์กังสดาล บทที่ 9 : จตุรงค์
- READ หริณจันทร์กังสดาล บทที่ 8 : ป้อมแดง
- READ หริณจันทร์กังสดาล บทที่ 7 : เฒ่าเกิบ
- READ หริณจันทร์กังสดาล บทที่ 6 : จันทบเพชร
- READ หริณจันทร์กังสดาล บทที่ 5 : ประลัย
- READ หริณจันทร์กังสดาล บทที่ 4 : ข้างนอก
- READ หริณจันทร์กังสดาล บทที่ 3 : คู่ชีพิต
- READ หริณจันทร์กังสดาล บทที่ 2 : สาลิกา
- READ หริณจันทร์กังสดาล บทที่ 1 : อาตมัน
- READ หริณจันทร์กังสดาล : อาทิบรรพ