มหกรรมมนุษย์ : บทนำ
โดย : สีตลา สัตตสุวรรณ
มหกรรมมนุษย์ โดย สีตลา สัตตสุวรรณ กับเรื่องราวของมนุษย์ทุกคนต่างเป็นตัวละครชีวิตที่โลดแล่นไปจนกว่าจะสิ้นสุดลมหายใจและ ‘ชมนาด’ ก็คือหนึ่งในตัวละครเหล่านั้น พบกับ มหกรรมมนุษย์ นวนิยายรางวัลดีเด่น จากโครงการอ่านเอาก้าวแรก ๓ ที่ชาวอ่านเอาภูมิใจนำเสนอ และอยากให้ทุกท่านได้อ่านออนไลน์บน anowl.co และ Fb Fanpage : anowldotco
หนังสืออนุสรณ์เนื่องในงานฌาปนกิจจัดวางเป็นกองสูงบนโต๊ะเชิงบันไดทางลงเมรุทั้งสองข้างมีความหนาเมื่อคะเนด้วยสายตาไม่ต่ำกว่าสองร้อยหน้า เจ้าภาพเลือกพิมพ์ด้วยกระดาษอาร์ตมันสี่สี เย็บกี่ไสกาวหุ้มปกแข็งอย่างดี
ด้านหน้าเป็นภาพถ่ายสีน้ำตาลของสตรีวัยกลางคนท่านหนึ่งซึ่งเป็นภาพเดียวกับที่จัดวางอยู่หน้าหีบศพ หล่อนเอียงดวงหน้าด้านข้างเข้าหากล้อง คลี่ยิ้มมุมปากพองาม ดวงตาทั้งสองปกปิดไว้ด้วยแว่นใหญ่สีเข้ม ผมหยักศกสั้นเหนือหูแลดูทะมัดทะแมง ด้านขวาล่างของปกเป็นลายมือชื่อเดินด้วยตัวหนังสือสีทอง เขียนตวัดเล่นหางอ่านออกได้เพียงอักษรตัวแรกว่า “ช” มองเผินๆ ดูสวยงามเป็นระเบียบ แต่แฝงไว้ด้วยอำนาจแห่งผู้เป็นเจ้าของลายมือนี้
เมื่อพลิกกระดาษสู่เนื้อหาภายใน ผู้จัดทำร้อยเรียงประวัติของผู้วายชนม์ได้เหมาะเจาะงดงาม บรรยายแต่ละช่วงชีวิตผ่านภาพถ่ายในอิริยาบถ และสถานที่แตกต่างกัน ส่วนใหญ่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมในยุคสมัยนั้น และภาพถ่ายร่วมกับสมาชิกครอบครัวในโอกาสสำคัญไล่เรียงตามลำดับเหตุการณ์เท่าที่เจ้าของภาพเขียนกำกับไว้ หรือบุคคลแวดล้อมพอจะระลึกได้
กระทั่งภาพสุดท้ายซึ่งเป็นรูปถ่ายล่าสุด แต่ได้รับการตกแต่งให้กลายเป็นภาพขาวดำอาบผิวมันพิมพ์คู่ขยายเต็มสองหน้ากระดาษ หญิงชราผมสั้นสีดอกเลาไม่ได้มองตรงมายังผู้ถ่ายภาพ เธอนั่งเท้าคางอย่างเด็กๆ จากศาลาริมน้ำที่ปลูกด้วยไม้ทั้งหลัง ทอดสายตาซึ่งยากแก่การหยั่งถึงมองไปยังเวิ้งน้ำที่ไหลเอื่อยลัดเลาะเป็นเส้นโค้งอยู่ตรงฉากหลัง เหนือขึ้นไปเป็นร่มไม้ตระหง่านแผ่กิ่งก้านสาขาปกคลุมคล้ายหลังคาธรรมชาติคอยกรองแสงแดด และดูแลปกป้องสิ่งปลูกสร้างเดียวในความทรงจำที่เหลือรอดผ่านกาลเวลามาได้
ไม่มีใครรู้ภายใต้ดวงตาฝ้าฟางว่างเปล่าแสนเลื่อนลอย หญิงชรากำลังคิดสิ่งใดอยู่ เธออาจได้กลิ่นไอดินจากแม่น้ำที่ลมหอบพัดขึ้นมาบนฝั่งยามสาย ได้ยินหวูดเรือขนข้าวที่เคยแล่นสวนกันขวักไขว่กลางลำน้ำ บ้างก็อาจแว่วเสียงนกริมน้ำโก่งคอแข่งขันประชันเสียงส่งสำเนียงเจื้อยแจ้ว หรืออาจกำลังสัมผัสความวุ่นวายของผู้คนใน ‘บ้าน’ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นประวัติศาสตร์ฉากสำคัญในชีวิตของเธอ
เสียงกริ่งกรีดลั่นทั่วลาน แขกเหรื่อมากหน้าหลายตาทยอยกันเดินเรียงแถวขึ้นเมรุเพื่อแสดงการอำลา น่าแปลก…ไม่มีเสียงร้องไห้คร่ำครวญสะอึกสะอื้นจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักดังเช่นงานศพทั่วไป มีแต่เสียงพูดคุยงึมงำจากกลุ่มญาติซึ่งส่วนใหญ่เป็นชั้นลูกหลานกำลังพากันเอ่ยถึงภาพถ่ายในหนังสือที่เพิ่งได้รับแจก
“สมัยสาวๆ คุณยายแต่งตัวเฟี้ยวไม่เบานะคะ”
“หนูดูรูปคุณทวดสิลูก คุณทวดสวยไหมคะ”
บ้างก็แสดงความห่วงกังวลในเรื่องราวที่ผิดแผกไป
“กับอีแค่หนังสือแจกงานศพเล่มเดียวหมดเงินไปเป็นแสน ถามหน่อยเถอะ มีใครที่ไหนอยากได้บ้าง มีแต่รูปคนตายทั้งนั้น แม่นะแม่เก็บเงินเอาไว้จนแก่ไม่ยอมใช้ ฉันว่าไม่เกินปีก็หมด ไอ้ลูกกำพร้าของพี่กลมมันผลาญสมบัติแม่หมดแน่”
“ย่านะย่า หลอกเราว่าไม่มีเงินเหลือสักแดง แต่ทิ้งไว้ให้ไอ้ญามาทำเรื่องไร้สาระนี่ได้ ทีเราขอยืมนิดหน่อยทำเป็นหวงไม่ยอมให้”
หากพวกเขาพลิกผ่านประมวลภาพถ่ายเหล่านั้นไปได้ ก็จะพบกับคำกล่าวอาลัยจากลูกหลานซึ่งเขียนในนามครอบครัวบ้าง หรือเป็นคำอำลาส่วนบุคคลถึงผู้จากไป บางข้อความกลั่นจากความรู้สึกลึกๆ ที่มีอยู่จริง ทว่าบางข้อความสักแต่ว่าเขียนเพื่อทำหน้าที่เติมหน้ากระดาษให้ครบ
ถ้าผู้อ่านทนแข็งใจสักนิดแล้วพลิกอ่านถึงกระดาษแผ่นสุดท้ายโดยไม่สิ้นความสนใจเสียก่อน ก็จะพบจดหมายฉบับหนึ่งถูกเขียนด้วยลายมือตัวบรรจงเต็มหน้ากระดาษ เป็นถ้อยแถลงจากญาติสนิทคนหนึ่งที่เหมือนจะบรรยายชีวิตของผู้จากไปได้อย่างหมดจดงดงาม ควรค่าแก่การยกย่องจดจำ
เขียนที่บ้านริมน้ำ
พฤศจิกายน 2558
คุณย่าของพวกเราชื่อชมนาด เป็นชื่อที่ท่านภูมิใจนัก เพราะเมื่อบวกกับสรรพนามที่พวกบ่าวในบ้านเรียกทำให้มีชื่อน่ารักแสนเก๋ว่า ‘คุณชม’ แม้บางครั้งสรรพนามแทนตัวท่านจะถูกเปลี่ยนไปบ้างตามอารมณ์ของผู้เรียกก็ตาม
คุณย่าปลูกต้นชมนาดไว้ริมรั้วหน้าบ้านเสมือนสัญลักษณ์แทนตัว ใครได้ผ่านเรือนไม้สองชั้นกลางซอยลือชาย่านอนุสาวรีย์ชัยคงได้คุ้นตากับพวงชมนาดสีขาวสะอาดที่เลื้อยเกาะไปตามโครงเหล็กบนขอบกำแพงสูงซึ่งทำหน้าที่เป็นรั้วธรรมชาติคอยบดบังสายตาของคนภายนอกได้ดีนัก
แม้ธรรมชาติของชมนาดมิใช่ไม้ยืนต้น แต่นั่นหาใช่เหตุผลที่จะลดทอนคุณค่าความงามของไม้ชมนาดลงได้ คุณย่าจึงเป็นชมนาดที่ให้กลิ่นหอมอบอุ่นยาวนานถึงเก้าสิบสี่ปีเต็มนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2464 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อคราว ‘สี่แผ่นดิน’ ถ่ายทอดลงสู่จอแก้วครั้งที่เท่าใดไม่รู้ ท่านจ้องมองแม่พลอยตัวน้อยในโทรทัศน์ประคองพานพุ่มดอกไม้ ค่อยๆ คลานเข่าด้วยสีหน้ากริ่งเกรงก่อนบรรจงก้มลงกราบเสด็จที่ประทับอยู่เบื้องหน้า ถึงตรงนี้คุณย่าบอกแก่คนรอบข้างด้วยความซาบซึ้งว่าท่านก็ถือเป็นคนสี่แผ่นดินเช่นเดียวกับแม่พลอย แม้เป็นคนละช่วงแผ่นดินกันก็ตาม ต่างกันตรงที่หากแม่พลอยดำรงตนได้เพียบพร้อม เปี่ยมล้นด้วยคุณงามความดี ชีวิตคุณย่ากลับดำเนินไปในทิศทางตรงข้ามอย่างน่าใจหาย
ใครได้ยินอาจไม่เข้าใจความหมายของท่าน และคิดว่าการที่คุณย่าพูดเช่นนั้นเกิดจากความน้อยเนื้อต่ำใจประสาผู้สูงวัยไม่ได้รับการเหลียวแลจากลูกหลานเท่าที่ควร เพราะหากจะวัดความสำเร็จของคนเราจากหน้าที่การงาน และปริมาณทรัพย์สินนอกกายแล้ว คุณย่าเลี้ยงลูกทุกคนได้ประสบความสำเร็จงดงามไม่น้อยหน้าบ้านไหน แต่น่าเสียดายข้าวของเงินทองเหล่านั้นไม่อาจสร้างความสุขที่แท้จริงให้แก่คุณย่า และพวกเราคนรอบข้างได้
ถึงบรรทัดนี้หลายคนอาจจินตนาการภาพของคุณย่าว่าเป็นผู้หญิงไทยสมัยก่อนที่มีบุคลิกสงบเสงี่ยมเจียมตน เก็บอารมณ์ สงวนถ้อยคำ ไม่ค่อยมีปากเสียง และเป็นช้างเท้าหลังของครอบครัวตามแบบฉบับหญิงไทยสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ทว่าเปล่าเลย…คุณย่าประกอบด้วยบุคลิกที่แทบเป็นคนละด้านกับสตรียุคเดียวกัน พ่อเล่าว่า คุณย่าเป็นคนคิดเร็ว พูดเร็ว และพูดเสียงดังโผงผางคล้ายผู้ชาย บวกกับท่าทางคล่องแคล่วกระฉับกระเฉงที่แม้จะล้าลงตามวัย แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยน คือ ผมที่สั้นอยู่เสมอ ยาวสุดไม่เคยเกินบ่าตั้งแต่ผมเป็นสีดำขลับจนแตกสีดอกเลาทั่วทั้งศีรษะ
ด้วยฐานะที่เหนือกว่า คุณย่าจึงยึดอำนาจการตัดสินใจในบ้านแทนคุณปู่ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยไปจนถึงเรื่องคอขาดบาดตาย หากเรื่องใดผ่านการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนของท่านแล้ว ถือเป็นประกาศิตที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม
เมื่อยังเล็กก็เป็นข้อดีที่มีคนชี้แนะแนวทางให้ แต่พอโตเป็นผู้ใหญ่มีความคิดอิสระ เรื่องที่ว่าเคยเป็นคุณ ก็กลับตาลปัตรเป็นโทษไปเสีย ญาติพี่น้องหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าคุณย่าเป็นจอมเผด็จการคอยบงการราวกับเป็นเจ้าชีวิต น้อยคนนักอยากเข้าหา หรืออยู่ใกล้เพื่อให้คุณย่าถือหางเสือคอยกำกับชีวิตให้ไปในทิศทางตามที่ท่านต้องการ ญาติหลายคนจึงว่าคุณย่าเป็นคนดุ น้อยคนนักที่จะเข้าหน้าติด
แม้บ้านของคุณย่าจะอยู่ใจกลางเมือง มีรถไฟฟ้าแล่นผ่าน และเดินไม่กี่ก้าวก็ถึงหน้าประตูบ้าน แต่ดูเหมือนมีม่านอะไรสักอย่างที่กางกั้นท่านให้ห่างจากพวกเรา กระทั่งเกิดการสูญเสียครั้งใหญ่ในชีวิตผม ม่านหมอกเหล่านั้นกลับสูญสลายหายวับในพริบตา
ผมประคองชีวิตในสภาพบ้านแตกสาแหรกขาดมาขอพึ่งใบบุญท่านหลังจากญาติบางครอบครัวซึ่งแลดูสนิทสนม และมีสายสัมพันธ์อันดีกับบ้านเราบ่ายเบี่ยงเมินหน้าหนี ทั้งยังปฏิเสธจะรับผมไว้เป็นภาระ ขณะที่คุณย่ากลับต้อนรับชีวิตเด็กไร้บ้านอย่างผมไว้ในความดูแลโดยไม่มีข้อแม้ หรือนึกลังเลแต่อย่างใด เป็นครั้งแรกที่ผมได้ทำความรู้จักคุณย่าอย่างแท้จริง และเป็นคุณย่าที่ต่างจากภาพจำของบรรดาญาติในตระกูลเราอย่างสิ้นเชิง
…การได้อาศัยภายใต้ชายคาบ้านท่านคุ้มกะลาหัวทำให้ผมได้เรียนรู้สัจธรรมชีวิตหลายอย่าง ได้เห็นมนุษย์หลากหลายประเภทรายรอบตัว คุณย่ามีสมุดภาพอยู่เล่มหนึ่งที่ใช้รวบรวมเหตุการณ์ชีวิต เรียกได้ว่าตั้งแต่เล็กจนโต เป็นการบันทึกวัฏจักรชีวิตมนุษย์คนหนึ่งตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บ จนถึงก่อนตายได้อย่างสมบูรณ์แบบ
ทุกครั้งที่หยิบสมุดภาพเล่มนั้นขึ้นมาเปิดดู ท่านจะบรรยายเหตุการณ์เบื้องหลังภาพถ่ายแต่ละใบได้อย่างแม่นยำราวกับว่ามันเพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน และรำพันทิ้งท้ายเสมอก่อนที่จะเก็บสมุดนั้นกลับใส่ตู้ตามเดิมว่า ชีวิตย่าเหมือนคนถูกฟ้าสาป จะดำรงชีวิตตามวิถีปกติของคนทั่วไปก็มีเหตุให้ต้องซวนเซ ถูกผลักไสให้ต้องเฉออกนอกลู่นอกทางจนเห็นผิดเป็นชอบในบางครั้ง หรือเห็นกงจักรเป็นดอกบัวบ้างในบางคราว
เปรียบได้กับคนที่ทรงตัวอยู่บนไม้กระดานหน้าแคบที่พาดผ่านเหวลึก หากพลาดท่าเทน้ำหนักไปข้างใดข้างหนึ่งเกินสมดุลก็ง่ายต่อการพลั้งหล่นลงสู่เหวลึกเบื้องล่างได้ ชีวิตของคุณย่าที่ดำเนินผ่านมาจึงมิได้เทไปข้างใดข้างหนึ่งเสียทีเดียว กล่าวคือไม่ใช่ดีได้อย่างเต็มร้อย หรือเลวได้เต็มเหนี่ยว แต่จะด้วยบุญเก่ายังคงมี หรือบาปที่ยังไม่ได้เกาะลึกถึงแก่นของจิตใจก็สุดแล้วแต่ ทำให้คุณย่าสามารถประคองตนบนไม้กระดานแผ่นเล็กนั้นได้จนนาทีสุดท้ายของชีวิต
คุณย่าครับ…วันนี้ผมคืนค่อนชีวิตของคุณย่าที่บ้านริมน้ำหลังนี้ให้แล้ว ถึงมันจะไม่เหลือเค้าเดิมให้ได้คุ้นตาเท่าใดเมื่อคราวที่เรามาที่นี่ แต่ผมก็รู้สึก และรับรู้ได้ถึงเหตุการณ์ทั้งร้ายดีจากสมุดภาพถ่าย รวมทั้งจากคำบอกเล่าของคุณย่าที่เคยเกิดขึ้นมากมาย ณ สถานที่แห่งนี้…
วันนี้ก่อนกลับกรุงเทพฯ ผมไม่ลืมเก็บดอกชมนาดสีขาวที่ปลูกไว้มาลอยน้ำในกระติก เหยาะยาอุทัยสองสามหยด แช่ตู้เย็นรอให้น้ำเย็นจัดแล้วนำไปวางไว้ที่หัวเตียงเช่นเคย แม้เจ้าของเตียงจะไม่ได้อยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของลูกหลานอีกต่อไปแล้ว แต่ ณ ที่ใดที่หนึ่งในอีกภพภูมิที่คุณย่าไปสู่ที่นั้น ผมเชื่อว่าคุณย่าจะยังมองดูเราจากตรงนั้น และเป็นกำลังใจให้เราดำเนินฉากชีวิตที่ยังเหลืออยู่ต่อไป
รักและคิดถึง
ทองพญา
เสียงสัญญาณดังขึ้นอีกครั้งเพื่อแจ้งว่าการเผาจริงกำลังจะเริ่ม พวงหรีดน้อยใหญ่ถูกยกออกเพื่อเปิดทางให้เจ้าหน้าที่วัดเคลื่อนโลงไม้สีขาวเตรียมบรรจุเข้าเตา แผ่นโลหะสีทองฉลุเป็นลวดลายงดงามซึ่งใช้ตกแต่งบ้านหลังสุดท้ายให้สมเกียรติถูกแงะแกะออกราวกับของไม่มีราคา
มีญาติสนิทเพียงไม่กี่คนยังรอส่งสตรีท่านนั้นสู่สัมปรายภพ ส่วนใหญ่เป็นลูกหลานมากกว่าคนวัยเดียวกันที่ลาโลกกันไปหมดแล้ว เมื่อแผ่นไม้ยาวถูกเลื่อนเปิด ญาติมิตรเหล่านั้นต่างบ่ายหนีบ้างก็ขยับตัวหลบ ทว่าบางคนกำลังเฝ้ารอโอกาสสั้นๆ นี้เพื่อร่ำลาคนต่างภพให้เห็นหน้าค่าตากันเป็นครั้งสุดท้าย ใบหน้าของหญิงชราคล้ายคนนอนหลับ มือประสานเข้าหากันเป็นท่าที่จัดไว้ซึ่งคงเป็นครั้งเดียวที่เจ้าตัวยอมอยู่ในลักษณาการที่ถูกจัดวางจากผู้อื่น
เพียงชั่วครู่หลังช่องประตูเหล็กถูกผนึกแน่น ละอองสีเทาอ่อนก็พวยพุ่งออกจากยอดปล่องด้านบนสุด และหนาแน่นขึ้นจากการลุกไหม้เบื้องล่างจนกลายเป็นควันสีดำสนิทเป็นภาพสุดท้ายที่ทิ้งไว้ก่อนเลือนหายกลายเป็นความทรงจำแก่คนรุ่นหลัง
ใครเล่าจะรู้ ครั้งหนึ่งสตรีสูงวัยท่านนี้เคยเป็นลูกสาวของพ่อแม่ เป็นพี่สาวของน้องชายหญิง เป็นภรรยาของสามี เป็นแม่ของบรรดาลูกๆ และเป็นคุณย่าคุณยายของหลานอีกมากมาย กว่าจะดำเนินชีวิตจนมาถึงปลายทางเช่นนี้ ต้องผ่านร้อนผ่านหนาว ผจญทั้งทุกข์และสุข ล้มลุกคลุกคลานบนเส้นทางที่ตนเองเป็นผู้ลิขิต และเลือกดำเนินไปในวิถีที่ผู้คนรอบตัวกำหนดให้ มีสีสัน และคุณค่าควรแก่การจดจำมากกว่าภาพหญิงชราในบั้นปลายชีวิตที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เลย