
ข้ามมหาสาคร บทที่ 33 : หลอมแร่
โดย : กฤษณา อโศกสิน
“ข้ามมหาสาคร” นวนิยายพีเรียด โดย กฤษณา อโศกสิน ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ เรื่องราวความรักโรแมนติกของสองหนุ่มสาวที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการไปจนถึงความรักชาติรักแผ่นดินและการต่อกรกับชาติตะวันตกที่จ้องจะเข้ามาครอบครอง นิยายออนไลน์อีกหนึ่งเรื่องที่ อ่านเอา อยากให้คุณได้อ่านออนไลน์
************************
– 33 –

เพียงแต่ก้าวออกจากบ้านหลวงบำรุง ตาปันจังก็ชี้ไปทางวัดแห่งหนึ่งซึ่งพระอาจารย์ของตาเคยจำพรรษา ณ ที่นี้ตั้งแต่ยังเป็นสามเณร ครั้นไปถึงจริงๆ สิ่งที่ทิ้งไว้ให้ดูต่างหน้าก็มีเพียงกระท่อมโกโรโกโส ส่วนโบสถ์อยู่ถัดออกไปในหมู่บ้านที่เรียกว่า ‘บ้านดอน’ ซึ่งจะต้องเดินไปอีกครึ่งวัน ชาวบ้านแถวนั้นบอกกล่าว
“แล้วบ้านเจ้าเล่าอยู่ถึงไหน” คุณหลวงจึงไต่ถามกันตัง
“บ้านกระผมอยู่ทางใต้สุดเกาะขอรับ ถ้าเดินก็คงไม่ไหว แต่ถ้าไปเรือก็จะสะดวกกว่า” กันตังตอบพร้อมกับยิ้มในหน้าเมื่อนึกถึงระยะทางจากที่นี่ตรงไปสู่ทิศใต้ว่ายาวไกลเพียงไร “ไปเรือจากนี่ถึงใต้สุดก็คงหลายชั่วโมงเหมือนกันขอรับ อาจจะถึงค่ำ ถ้าไม่มีฝนหนักกะพายุ…แต่ถ้าเดินไปก็คงเดินไม่ไหวเพราะไม่ใช่ทางเรียบ…”
“ถ้าเช่นนั้นก็ไปเรือ” เหมืองได้ยินจึงเห็นด้วยทันใด
หมู่บ้านไม่เกินยี่สิบหลังคาเรือนนี้ มีเพียงไม่กี่หลังค่อนข้างใหญ่ นอกนั้นเป็นกระท่อมมุงแฝกเล็กๆ พื้นไม้รวกตีชิดกัน เห็นได้ชัดถึงความทรุดโทรม
“แต่ก็ยังดีที่ยังเลี้ยงเป็ดไก่ หมูนะ”
“ควายก็มีขอรับ” เหมืองชี้แจง “หมูนี่ก็เลี้ยงกันทั้งหมูป่าหมูบ้าน หลังเรือนกระผมก็เลี้ยงไว้เหมือนกัน ไม่เลี้ยงไม่ได้ขอรับ ผู้คนมากมาย ต้องให้มันมีของกิน…แต่ช้างไม่มีขอรับ ถลางไม่เลี้ยงช้าง ไม่เอาช้างป่ามาฝึกนานแล้วขอรับ เพราะชาวบ้านที่นี่ยังจะต้องเอาตัวรอดอีกมาก เลยเลี้ยงแค่ที่เอามากินได้ขอรับ”
คุณหลวงพยักหน้า ขณะที่อีกฝ่ายพาเดินไปยังเหมืองดีบุกของจีนผู้หนึ่ง นามว่าจีนเต็ง สนิทชิดเชื้อกับเหมืองอย่างยิ่ง แต่จีนเต็งก็มีเตาหลอมอยู่เพียงเตาเดียว มีคนงานแค่ 6 คน
“ตะกั่วที่นี่ถึงอย่างไรก็หลอมได้ปีละไม่ถึง 100 ภารา” ผู้พูดหมายถึงน้ำหนัก 1 ภารา หรือเพี้ยนไปตามภาษามคธว่า ‘บาฮาร์’ เท่ากับ 3 หาบตามมาตราชั่งตวงวัดของสยาม “หลอมเสร็จก็ส่งไปพังงา”
“แล้วคนงานขุดแร่จะได้ค่าจ้างสักเท่าไร…ไหน…เต็งช่วยบอกท่านหน่อย…นี่ท่านก็เป็นเจ้าของเหมืองเหมือนเต็งนะ”
จีนเต็งยิ้มฟันเหลืองพลางยกมือไหว้ปะหลกๆสองสามครั้ง พูดภาษาสยามได้ความชัดบ้างไม่ชัดบ้าง หากก็พอเข้าใจ
“ก็ต้องจ่ายให้คนขุดแร่ 19.20 เหรียญสเปน” อีกฝ่ายเต็มใจบอกกล่าวอย่างละเอียดตามคำขอของผู้เป็นใหญ่ของเกาะ
“รายได้ก็ดีไม่ใช่เล่นเหมือนกัน” คุณหลวงพึมพำ
“แล้วก็ต้องเอาไปส่งพระเจ้าแผ่นดินเป็นค่าภาษีอีกภาราละ 24 เหรียญ ตอนส่งออกขายตามเมืองไกลก็ต้องเสียภาษีส่งออกอีกภาราละ 2.26 เหรียญ”
“ก็เสียแค่นี้เหมือนๆกัน” หลวงประกาศบุรีพยักหน้า หากก็ไม่ปริปากถึง ‘ภาษีส่วนบุคคล’ ที่ตนเสียอย่างพิเศษทุกๆปีจนได้รับพระราชทานความดีความชอบ “แต่ถึงเสีย ท่านก็เอาไปเป็นค่าทะบุบำรุงประเทศอย่างไรเล่า…ก็อย่างในรัชกาลที่ 2 นี้ หากผู้ใดมีปัญญาทางด้านศิลปแลวรรณคดี ก็คงจะรู้ละมังว่า บทละคอนต่างๆที่สยามมีอยู่ขณะนี้ ดังเช่น บทละคอนเรื่องรามเกียรติ์ที่ข้าเองก็เพิ่งดูมาสดๆร้อนๆจากจวนเจ้าเมืองพังงาในโอกาสต้อนรับทูตอังกฤษ…ก็ได้พระองค์ท่านทรงพระราชนิพนธ์…แล้วก็ยังมีอีกมากมายหลายเรื่อง ทั้ง คาวี ไกรทอง สังข์ทอง กาพย์เห่เรือ…เรื่องการดนตรีก็ทรงเชี่ยวชาญมาก…เสียดายที่วันก่อนเจ้าไม่ได้ไปดูรามเกียรติ์ มโหรีปี่พาทย์ ขับร้องนี่ต้องถอดราชสำนักออกมา…แล้วยังทรงงานศิลปะอื่นอีก…เช่นงานเขียนหน้าหุ่นพระยารักใหญ่พระยารักน้อย ลวดลายพระที่นั่งสนามจันทร์ บานประตูพระวิหารวัดสุทัศน์ แกะเป็นรูปป่าเขาลำเนาไพร สิงสาราสัตว์…โอย…นับฝีไม้ลายมือของพระองค์ท่านแทบไม่ถ้วนทั่ว”
คุณหลวงรู้สึกอยากเล่าก็เล่าไปพอให้ตนเองเพลิดเพลินแลผู้ร่วมทางผู้มิเคยรู้เรื่องราวของพระเจ้าแผ่นดิน จักได้ล่วงรู้กันบ้างว่าการสร้างทำทุกอย่าง เมื่อมีค่า ก็ต้องตามมาด้วยการจับจ่ายใช้สอยอันเรียกว่า ราคา เช่นกัน
“แล้วในรัชกาลของพระองค์ก็ยังทรงได้ช้างเผือกมาสู่พระบารมีถึง 3 ช้าง จึงโปรดให้ธงที่ชักในเรือกำปั่นหลวงที่บรรทุกสินค้าไปขายต่างแดน ชักธงแดงที่ตรงกลางเป็นรูปจักรมีช้างเผือกขาวกลางจักรด้วยอย่างไรเล่า”
ที่จริง เรื่องราวที่คุณหลวงเล่าขานวันนี้ ต่างก็ไม่มีผู้ใดเคยได้ยินมาก่อน
ฉะนั้น ทุกประโยคทุกบทตอนจึงมีแต่ผู้สนใจฟัง แม้กระทั่งจีนเต็งผู้เป็นเจ้าของเตาหลอมดีบุก
“นอกจากนี้ยังมีไรอีกคุณพ่อ” ด่านถามต่ออย่างสนใจ “ลูกไม่เคยทราบเรื่องพวกนี้เลย ตาก็ไม่เคยเล่า”
“บางทีก็อาจจะหลงลืมเรื่องใกล้ตัว” ตาปันจังยอมรับ
“ก็แล้วการค้าทางไกลเล่า ท่านไม่เชี่ยวชาญดอกหรือ” คุณหลวงถามเอง ครั้นแล้วก็ตอบเอง “ไม่งั้นจะมีเรือสำเภาไปเมืองจีน เขมร ญวน มลายู ได้อย่างไร…โดยเฉพาะจีน…จริงรือไม่นายเหมือง”
“จริงขอรับ…จริงใช่ไหม เต็ง”
“จริงซีนาย” จีนเต็งผงกศีรษะครั้งแล้วคราวเล่า “แล้วยังไปเมืองฝรั่งอีกล่ะ…เสียอย่างเดียว…ท่านไม่ชอบคนสูบฝิ่น…แต่อั๊วชอบ…อะฮ่า”
“ถึงฝิ่นจะทำเงินทำทองได้ ท่านก็ไม่เอา” คุณหลวงตบท้าย “ดีแล้วที่ลื้อต้องแอบสูบตอนทางการไม่รู้…”
จีนเต็งจึงได้แต่หัวเราะกั้กๆ
“แต่ลูกชายท่านก็เก่งมาก…เก่งมั่กมั่ก…” นักหลอมดีบุกสรรเสริญ “ค้าขายเก่งที่สุด”
“แล้วนี่…เมื่อ 6 ปีที่แล้ว พ่อก็ยังมอบให้ลูกชายสร้างเมืองปากลัดต่อจากที่ท่านสร้างค้างไว้ ตั้งชื่อใหม่ว่า ‘นครเขื่อนขันธ์’ ใช้ป้องกันข้าศึกที่จะยกทักมาตีสยามทางทะเลอีกเมืองหนึ่ง” คุณหลวงยังคงเอ่ยต่อ
แต่ก็ถูกคำถามจากจีนเต็ง
“แล้วท่านคิดจะเอาเรื่องกะพวกโจรสลัดแถวนี้มั่งไหม”
กันตังยืนอยู่ด้านหลัง หากก็ได้ยินทุกถ้อยคำที่ทั้งสามตอบโต้กัน…ครั้นได้ยินจีนเต็งไต่ถามประโยคสุดท้าย ก็แทบจะลืมหายใจขณะฟัง
ฝ่ายคนอื่นๆอาจกำลังมองไปที่เตาถลุงแร่ซึ่งอยู่ในโรงกว้างมุงแฝกอย่างสนใจ เนื่องด้วยขณะนั้น จีนหกคนที่เป็นผู้ช่วยกำลังใส่ถ่านหินเข้าไปในเตาเพื่อโหมไฟให้ครบ 4 ครั้ง ก่อนดีบุกทั้งหมดจะถูกคั้นจนไหลออกมา…หากได้ดีบุกสักแค่ 5 ภาราครึ่งเท่านั้น ก็เป็นอันว่าพวกเขาจะได้หยุดงานอีกหลายวัน
ไม่มีเสียงตอบใดๆจากเหมือง
ฝ่ายคุณหลวงก็แค่อ้อมแอ้ม
“เรื่องนี้คงต้องถามไปทางเมืองนครฯละกระมัง”
จีนเต็งก็เลยตอบกระท่อนกระแท่น
“ขอแค่ให้มันไม่มาปล้นตะกั่วก็เอาละ”
คุณหลวงเพียงแต่พยักหน้า…ครั้นแล้วจึงปราศรัยอีกแค่สองสามประโยค จึงเดินจากจีนเต็งกลับไปยังท่าเรือ
ลงเรือลำเก่าที่ยังคงจอดสงบ มีคนพายหัวแลท้ายนั่งเฝ้าพร้อมกับแลดูหมู่คนที่กำลังเดินมาด้วยทีท่าเหนื่อยเพลียหมดแรง ท่ามกลางแสงจากแดดอ่อนทอลงมารำไร
ข้าทาสยี่สิบกว่าคนของเหมืองยังคงติดตามนายมา
“เดี๋ยวกระผมจะพาใต้เท้าลงเรือวนรอบเกาะดีหรือไม่ขอรับ…ดีหรือไม่ คุณตากะน้องๆ”
ทุกคนต่างก็แลดูท้องฟ้าที่ขณะนี้แม้ยังมิถึงกับสดสว่าง เนื่องด้วยยังค่อนข้างมัวหม่นด้วยละไอน้ำอยู่บ้างเพียงบางตอน หากแดดอ่อนๆที่เริ่มชอนลงมาทำให้เหงื่อซึมทั้งดวงหน้าแลเนื้อตัวกันบ้างแล้ว
“ดี…เพียงแต่เราจะต้องติดฝนกลางทางไหมพ่อเหมือง”
“ไม่น่าจะติดนะขอรับ” เศรษฐีแห่งหมู่บ้านท่าเรือทำทีคาดคะเน “แต่ถึงตก กระผมก็มีผ้าใบติดมา เอาไว้คลุมได้ตลอดทั้ง่ลำเลยขอรับ ไม่ต้องห่วง”
ใจคุณหลวง ณ บัดนี้ แม้แต่ตนเองก็เริ่มรู้สึกประหลาด ด้วยว่าหวาดระแวงชอบกลอยู่ ครั้นเหลือบดูลูกชายผู้กำลังจะนั่งลงติดกับคนพายหัว แต่สายตาแลเลยไปยังเรือลำหลังที่มีกันตังแลกายี ก็แลไม่เห็นว่าคิดมากแต่อย่างใด
หรือจะเป็นเพราะเมื่อกี้ เดินผ่านกระท่อมไม้ไผ่ผุพัง หลังเล็กหลังน้อย ล้วนแล้วเก่าโทรม ชาวบ้านทั้งหลายที่ออกมายืนดูกันสลอน คนแก่ส่วนใหญ่เปลือยอก มีหลานตัวล่อนจ้อนอยู่บนเอว หญิงสาวหลายรายมีเพียงผ้าแถบบางๆซอมซ่อพันถันของนางไว้ ดูจนยากขาดไร้แห้งแล้ง…ไม่เหมือนครั้งเก่าปีก่อน สมัยที่พม่ายังไม่มากวาดเอาเงินทองของมีค่าจากไป
ชวนให้แสนเศร้าเหงาใจขึ้นมา
นี่ก็เดือน 7 ปีวอก พ.ศ.2367 แล้ว
15 ปีกำลังจะผ่านไป
แม้ถลางจะเริ่มฟื้นจากอาการไข้อยู่บ้าง หากก็ยังไม่บริบูรณ์
‘เมื่อไม่กี่วัน ฝรั่งก็ม้า’ ป้าลากเสียงบอกกล่าว พร้อมแววตาชื่นใจในคนผิวขาวจมูกโด่ง ผมสีน้ำตาลอมทอง ‘เห็นบอกนี่ก็ชอบ…ถามว่าไม่หนักรือ…ก็ว่าไม่นัก…จะนักได้ไร้ต้องกินต้องใช้ทู้กวัน’
แกหมายถึงกระบอกไม้ไผ่บรรจุน้ำที่ฝรั่งแลเห็นแขวนไว้ตามหัวบันไดแลบนหัวไหล่ของชาวบ้านที่ต้องสะพายติดตัวไปยามออกไปเลี้ยงควายในนา
‘มันต๊กใจใหญ่ มาขอดู’ พลางนางก็หัวเราะขำขันแลเห็นฟันสีน้ำตาลกระดำกระด่าง
คนพายร่างใหญ่ต่างก็พาเรือยาวออกจากท่าเลียบไปตามชายฝั่งที่บัดนี้น้ำเอ่อเต็มจนแลไม่เห็นโคลนเลนรอบเกาะ
ขณะที่คุณหลวงคล้ายหม่นหมองใจหายขึ้นมาเป็นพักๆ
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 64 : หัวใจคนเป็นพ่อ
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 63 : ให้อภัยคนพาล แต่ไม่ขอคบหา
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 62 : ถอนสมอ
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 61 : เรารักกันเจ้าค่ะ
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 60 : สองทางเลือก
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 59 : ทะเลนี่ไม่ใช่ของมันคนเดียว!
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 58 : คบได้หรือไม่ แล้วจะได้รู้กัน
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 57 : ขืนต่อกรรมชั่วกันสืบไป
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 56 : อุบายของเหมือง
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 55 : มหาโจร...คนธรรมดา
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 54 : เรื่องราวในรุ่นพ่อ
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 53 : ลูกโจร
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 52 : หรือว่ามันคือสายโจร
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 51 : ปล้นหญิง
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 50 : หญิงคนสำคัญ
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 49 : มุ่งคืนสู่ดูรา
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 48 : แลกเปลี่ยน
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 47 : กูเป็นพ่อค้า แต่มันเป็นโจร
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 46 : เสียรู้มหาโจร
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 45 : หนี!!
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 44 : ร้ายกว่าโจร
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 43 : คู่ควร...ไม่คู่ควร
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 42 : น่ากลัวยิ่งกว่าสะลอแม
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 41 : อดีตลูกน้องโจร
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 40 : ใจโจร
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 39 : เขามีนาง นางมีเขา
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 38 : หัตถ์แห่งโชคชะตา
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 37 : เผชิญภัย
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 36 : ความหลังฝังใจ
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 35 : ภาวนา
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 34 : วันอันรุ่งเรือง
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 33 : หลอมแร่
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 32 : คือใครคือเขา
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 31 : คืนฟ้าคำรณ
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 30 : รอบเกาะ
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 29 : ล่องนาวา
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 28 : ทุกข์ในใจนาง
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 27 : ต่อรอง
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 26 : ขวางหูขวางตา
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 25 : กัปตันโฮป
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 24 : ต้อนรับขับสู้
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 23 : ปล้นและฆ่า
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 22 : สลัด
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 21 : ร้อยโทโลว์
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 20 : สัญญา
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 19 : คุณพระ
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 18 : ขมุกขมอม
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 17 : คลับคล้าย
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 16 : ขัดคอ
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 15 : รอรับ รับรอง
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 14 : รุมร้อน
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 13 : รู้รอบ
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 12 : รักรุม
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 11 : ลึกลับ
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 10 : ลับลวง
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 9 : แรกรุ่น
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 8 : ร่ำเรียน
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 7 : รับรอง
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 6 : เรือเร็ว
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 5 : รอบรู้
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 4 : เหลี่ยมเล่ห์
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 3 : ล่องเรือ
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 2 : รอลม
- READ ข้ามมหาสาคร บทที่ 1 : รอนแรม
- READ "ข้ามมหาสาคร" กับนายท้ายเรือ ‘กฤษณา อโศกสิน’