ลำนำพราย บทที่ 2 : จากป่าดงสู่เวียงเจียงใหม่ (1)

ลำนำพราย บทที่ 2 : จากป่าดงสู่เวียงเจียงใหม่ (1)

โดย : เก็ตตะหวา

Loading

ลำนำพราย นวนิยายรางวัลรองชนะเลิศ โครงการอ่านเอาก้าวแรก ๓ โดย เก็ตตะหวา เรื่องราวของหนองน้ำที่มีเรื่องเล่าและความลึกลับ มีภูตร้ายพรายผีที่หมายจะเอาชีวิตผู้คนที่กรายใกล้หรือที่จริงแล้วเป็นเพราะความโหดร้ายของมนุษย์กันแน่ที่พร้อมจะทำลายทุกสิ่งที่ขัดขวางความต้องการภายในจิตใจ นวนิยายสนุกๆ อีกหนึ่งที่ anowl.co

สองคนพ่อลูกพร้อมห่อผ้าที่ภายในมีสมบัติเพียงไม่กี่ชิ้น คือเสื้อผ้าและทุนรอนเล็กน้อยที่เหลือจากการขายที่ โบกมือลาลงจากเกวียนที่เคยเป็นของตัวเอง แต่บัดนี้เปลี่ยนมือเป็นของคนอื่น ซึ่งคนอื่นคนนั้นยังมีน้ำใจ พาสองคนพ่อลูกจากบ้านมาส่งเข้าสู่ในเวียง

หนานถามองตามหลังวัวเทียมเกวียนคู่นั้นไปจนสุดสายตา ใครว่าสัตว์ไม่มีหัวใจ หากได้มาเห็นวัวคู่ร่ำไห้อาลัยเจ้าของ คงต้องเปลี่ยนคำพูดใหม่

“พ่อจะพาข้าเจ้าไปที่ใด” บัวหอมถามขึ้นเป็นคำแรกนับจากเริ่มออกเดินทาง

“ไปหาป้าของลูก ป้าบัวผันเป็นลูกพี่ลูกน้องญาติทางฝั่งแม่ของเจ้า เปิ้นมาเป็นแม่ครูสอนท่าฟ้อนรำหื้อสาวๆ ในคุ้มเจ้า” หนานถาเอ่ยระลึกถึงญาติทางฝั่งเมีย เมื่อสมัยก่อนตอนที่แม่ของสองสาวยังมีชีวิต เคยติดต่อไปมาหาสู่กัน ต่อมาทางคุ้มเวียงสิงห์ได้มาตามไปเป็นแม่ครูสอนฟ้อนรำ ป้าบัวผันจึงได้ละถิ่นฐานบ้านเกิด มาอยู่ในรั้วในเวียงได้หลายปีดีดัก ด้วยระยะทางลำบากกันดาร ทำให้ขาดการติดต่อกัน

แต่ในวันนี้สองพ่อลูกคนจรกำลังย่างเท้าเข้าไปยังคุ้มวังสิงห์คำอย่างหวาดหวั่น

ภาพเรือนไม้สักสลักเสลาหลังคามุงดินขอกระเบื้องอย่างดี มีสองชั้นก่ออิฐถือปูนชั้นล่าง ด้านหน้ามีซุ้มโค้งงดงาม พ่อบอกว่าเป็นอาคารแบบตะวันตกผสมผสานกับล้านนา ที่ช่างสล่าชาวบ้านเล่าลือกันว่างามนัก อาคารที่คนธรรมดาไม่เคยมีบุญได้อาศัย

คุ้มเจ้าเป็นอาคารสองชั้น ครึ่งปูนครึ่งไม้ หลังคาทรงมนิลามุงด้วยกระเบื้องดินขอ มีระเบียงโดยรอบทั้งชั้นบนชั้นล่าง ที่ชั้นล่างมีก่ออิฐเป็นรูปโค้งงดงาม ส่วนระเบียงไม้บริเวณชั้นบนแกะลวดลายฉลุ คุ้มเรือนใหญ่ที่ปรากฏตรงหน้าสะกดให้ผู้มาเยือนเหลือตัวนิดเดียว ค่าที่เรือนนั้นใหญ่โตรโหฐาน สมกับคำว่าคุ้มเจ้า เจ้านายฝ่ายเหนือที่แต่ละคุ้มล้วนมีวงมโหรีปี่พาทย์ของตนเอง ไว้บรรเลงขับกล่อมทั้งยามกิน ยามนอน และยามหลับหรือยามตื่น คุ้มเจ้ามีดนตรีนักร้องขับลำนำกล่อมเสนาะหู มีช่างฟ้อน นางรำ ร่ายรำระบำฟ้อน ดุจเมืองบน งดงามราวทิพย์พิมาน ที่มีนางอัปสรร่างงามแน่งน้อยแช่มช้อยออกมาฟ้อนรำขับกล่อมให้สำราญใจ ถัดจากคุ้มหลังใหญ่ลึกเข้าไปคือหมู่เรือนไม้หลังเล็กๆ เป็นหย่อมย่านบ้านเรือนของข้าทาสบริวาร

หนึ่งในเรือนไม้บริวารที่ถูกสร้างห่างไกลออกจากกลุ่มเรือนเล็กหลังอื่นๆ คือ ‘เฮือนแม่ครู’ สองคนพ่อลูกแจ้งความประสงค์กับยามหน้าประตูใหญ่ โดยอาศัยชื่อแม่ครูบัวผัน ยามเฝ้าประตูจึงพาเดินลัดเลาะเลียบกำแพงมาเข้าประตูเล็กๆ ข้างทิศใต้ ประตูที่ใช้เข้าออกของพวกแม่ครัวเวลาไปกาดเช้า

เฮือนไม้หลังเล็กขนาดกะทัดรัดหลังนั้นถูกตกแต่งด้วยพรรณไม้งามแปลกตา มีลวดลายฉลุไม้ด้านหน้า มีระเบียงสำหรับพักผ่อนแตกต่างจากเรือนหลังเล็กทั่วไป

“เฮือนแม่ครู” คนพามาส่งชี้ให้ดูแล้วก็รีบผละจากไปทำงานอื่นๆ ทันที

“ไหว้ป้าบัวผันสิ บัวหอม” หนานถาแนะนำป้าให้หลานที่จากกันหลายปีจนจำกันไม่ได้ ให้รู้จักรู้จำกันอีกครั้ง

“โฮ๊ะอีหล้าขี้หมาหวานของป้ากานิ ใหญ่เวยต๊ะ ตอนเป๋นละอ่อนตัวเท่ามดแดง ทั้งผอมทั้งดำ เจ็บไข้ออดๆ แอดๆ เป็นลูกผีลูกคน ดูตอนนี้ลอเป็นสาวแล้วงามแต้ๆ” ป้าบัวผันโอบกอดร่างของหลานสาวอย่างตื่นเต้นดีใจ

บัวหอมจ้องมองป้าที่พ่อแนะนำให้รู้จักอย่างเพ่งพิศ ป้าเป็นคนงามสมวัย รูปร่างสูงโปร่งมีน้ำมีนวล แม้มิได้อ้อนแอ้นอรชรอย่างสาวชาวช่างฟ้อน แต่ก็งามตามวัย ผิวขาวกระจ่างนวลภายใต้แสงเทียนยามย่ำค่ำ ดุจจะทำให้ผิวป้าสว่างมากขึ้นอีก ป้ายิ้มงามละมุนละไม เพราะป้ายิ้มทั้งปากและตา

ป้ารีบหาสำรับกับข้าวอาหารพร้อมขันโตกประดามีมาต้อนรับขับสู้สองพ่อลูก ที่เดินทางมาไกลทั้งเหนื่อยและหิว

“พักอยู่กับป้าก่อนนะลูกนะ เจ้าขี้หมาน้อย” ป้ายังคงติดอยู่กับชื่อเก่า จนพ่อต้องรีบท้วง

“ตอนที่เป็นคนไข้ของพ่อเลี้ยงคอร์ท เปิ้นได้เมตตาเปลี่ยนชื่อหื้อใหม่เป็นบัวหอมแล้ว พ่อเลี้ยงคอร์ทบอกว่ามันเป็นลูกคน บ่ดีตั้งชื่อเป็นหมูเป็นหมา” เด็กน้อยผงกหัวยิ้มรับกับชื่อใหม่

“นั่นแหละ มาๆ เล่าหื้อป้าฟังลอ ว่าเกิดอะหยังขึ้นที่บ้านนอก สูเขาสองคนพ่อลูกถึงดั้นด้นเข้ามาหา

ป้าถึงในเวียง” ป้าช่างฟ้อนนั่งฟังเรื่องราวข้างๆ ขันโตกข้าวอย่างตั้งอกตั้งใจ

“ที่นี่มีสามงานที่พอจะฝากให้ทำงานในคุ้มสิงห์ได้ คืออาชีพนักมวยกับจ๊างฟ้อนและนักดนตรี ซึ่งซุ้มปี่จ๊อยซอ พ่อของเจ้าบ่จ๊างสักอย่าง ส่วนเจ้าก่ตัวเล็กยังบ่ใหญ่เต็มสาว ที่นี่บ่รับละอ่อนหน้อยมาฝึกเป็นนางรำอย่างคุ้มอื่น ที่นี่รับแต่สาวๆ หน้าขาวปากแดง” ป้าบัวผันถอนใจใหญ่ พูดถึงอนาคตในเขตคุ้มของสองพ่อลูก

“เอาหยั่งอี้ก่แล้วกัน ค่ำๆ แลงๆ นี้ ป้าจะปาสูสองคนพ่อลูกไปดูเวทีนักมวย และข่วงจ๊างฟ้อน ให้นั่งเกาะขอบเวทีดูเงียบๆ เผื่อไปดูลาดเลาว่าจะฝากได้ในหน้าที่ไหน” ป้าบัวผันเร่งให้สองพ่อลูกกินข้าวกินปลา อาบน้ำแต่งตัว เมื่อแว่วเสียงกลองสะบัดไชยที่ลาน ข่วงสำราญกลางเขตคุ้มดังก้องกังวาน สะบัดไหวกระหึ่มเร้าใจ ดังถี่กระชั้นเป็นสัญญาณเริ่มต้นการแสดงขับระบำรำฟ้อน ฟ้อนเงี้ยว ฟ้อนเจิง ประลองเชิงดาบ หมัดมวย เปิดเวทีการแสดง

ที่ลานข่วงบ้านลานดินเสมือนเวทีขนาดใหญ่ในเขตคุ้ม ลานดินนั้นแบ่งเป็นเวทีมวย และอีกด้านหนึ่งนั้นเป็นลานดินที่ยกสูงปรับพื้นเรียบ เป็นเวทีสำหรับการแสดงร่ายรำของหญิงสาวช่างฟ้อน รอบๆ ลานกว้างนั้นจัดแยกเป็นส่วนที่นั่งของเหล่าเจ้านายและเพื่อนผอง รวมทั้งพ่อค้าวาณิชที่เข้ามาเจรจาค้าขายในวงการพนันขันต่อ แต่ที่เป็นที่นิยมคือ การเล่นพนันลูกเต๋าเขย่าในกล่องไม้ทึบ มีการเลี้ยงเหล้าชั้นดีและอาหารโอชามาเติมไม่มีพร่องโตก

มีเสียงสรวลเสเฮฮาดังมาไม่ขาดสาย แต่เมื่อดนตรีบรรเลงและนางช่างฟ้อนอ่อนช้อยที่งดงามราวนางฟ้า ออกมาพร้อมจังหวะร่ายรำ ก็สะกดให้เสียงเหล่านั้นเงียบกริบลงไปชั่วขณะ

“คุ้มเจ้าคำสิงห์มีแต่ช่างฟ้อนงามๆ หน้าตาแฉล้มแช้มช้อยงามนัก นักดนตรีผู้ชายก็ฝีมือดีทีเดียว” พ่อค้าไม้ชาวตะวันตกตัวใหญ่ที่นั่งร่วมวงกับเจ้านายแถวหน้ามองตาลุกวาว คล้ายประเมินราคาของคณะนาฏศิลป์พลางออกปากชม

“ที่นี่ไม่เพียงแต่มีดีเฉพาะช่างฟ้อนหรอกนะ เรามีนักมวยฝีมือดีที่ชกที่ไหนไม่เคยพ่ายอีกด้วย” เจ้าของคุ้มโอ่เชิงอวยฝีมือนักมวยหนุ่มในค่ายของตัวเองอย่างอารมณ์ดี

“เดี๋ยวคอยดูว่า ระหว่างนักมวยของคุ้มเฮากับนักมวยเจิงของค่ายคุ้มใต้ ไผจะโดนน็อก เจ้าจะเลือกข้างฝั่งไหน” ใครคนหนึ่งในวงสนทนา โยนถุงเงินที่มีน้ำหนักพอควรลงดินเป็นถุงแรก และต่อๆ มา

จำนวนถุงเงินจากฝั่งตรงข้ามที่ถูกโยนลงมาสมทบ แบ่งเป็นสองฟากฝั่ง เป็นเงินเดิมพันที่ดูด้วยสายตาว่ามากโขอยู่

 

เสียงปี่กลองเปลี่ยนเป็นบรรเลงจังหวะเร้าใจ เมื่อจบการแสดงฟ้อนที่งดงามอ่อนช้อย เสียงนั้นบรรเลงดัง เป็นดนตรีที่สร้างความฮึกเหิมลำพองใจ ยั่วให้มีอารมณ์โกรธเกรี้ยวโกรธา พร้อมๆ กับชายฉกรรจ์ร่างใหญ่เต็มไปด้วยมัดกล้ามสองคนนุ่งผ้าเตี่ยวตัวเดียว มีมงคลครอบศีรษะ เป็นนักมวยตัวใหญ่ไหล่กว้าง แถมมีรอยสักหมึกดำรอบขาเหมือนนุ่งผ้าเตี่ยวก้อมกางเกงขาสั้นซ่อนทับอยู่ด้านใน ก้าวออกมาประชันขันแข่งกันบนเวทีมวยคนละมุม

เสียงคนดูโห่เชียร์เสียงดังสนั่นกลบเสียงใดๆ เมื่อนักมวยเริ่มโรมรันราวกับหมายเอาชีวิต เอาเป็นเอาตาย ไม่มีใครในที่นั้นทันสังเกตคนสามคนที่ซุ่มอยู่พากันล่าถอยจากสนามประลอง

หนานถาจูงมือเด็กน้อยผละออกห่างเวทีมวยอย่างเงียบๆ โดยมีป้าบัวผันเดินตามหลังออกมาด้วย ทิ้งให้เวทีสำราญหรือข่วงสำราญอยู่ข้างหลังอย่างสิ้นหวัง

“เห็นละยัง ว่าที่นี่บ่มีงานสำหรับสู” ป้าบัวผันเอ่ยขึ้นเบาๆ

“ที่นี่มีแต่ความสนุกสนานของคนหนุ่มสาว พ่อเจ้าก็แก่เกินกว่าจะเป็นนักมวย ส่วนเจ้าก็เด็กเกินกว่าจะเป็นนางรำ” ป้าทอดถอนหายใจยาว เอ่ยอย่างหนักใจต่อไป

“ที่นี่ภายนอกเหมือนเวียงวังกว้างใหญ่ แต่เป็นคุ้มเวียงที่บ่อาจขยายได้แหมแล้ว เลี้ยงดูคนหมู่หลายบ่ได้อีก เบี้ยหวัดเงินทองของหายาก ตั้งแต่ข้าราชการหัวเมืองใต้ขึ้นมาควบคุมความเป็นอยู่และลดทอนอำนาจเจ้านายเฮาลง หมู่เฮาก่ต้องอยู่อย่างประหยัด” ป้าบัวผันเห็นถึงการจำกัดค่าใช้จ่ายในคุ้มเรือนในโรงครัวอย่างเข้มงวด

“เจ้าท่านมีทางเดียวที่จะทำให้มีรายได้เข้ามาใช้จ่ายเลี้ยงคนทั้งหลาย คือการให้สัมปทานป่าไม้กับพวกพ่อค้าฝรั่ง หนานถาจะเดินทางเข้าป่าแดนเถื่อนไปตอกหมุดนับตอไม้ไหวก่ล่ะ” ป้าบัวผันนึกถึง

นายห้างค้าไม้ของบริษัทบอร์เนียว คู่แข่งของบริษัทบอมเบย์เบอร์ม่า นายห้างมาติดพันสาวๆ ช่างฟ้อนลูกศิษย์คนสวย แม่ครูคงพอจะออกปากฝากฝังให้เข้าทำงานได้บ้าง

“บ่ เฮาบ่อยากทำงานกับพวกฝรั่งตัดไม้ ทำลายป่า คนเมืองเฮากลัวบาป เฮาอยากอยู่รับใช้ในคุ้มเจ้านี่ละ จะได้คอยดูแลบัวหอมได้” หนานถารีบปฏิเสธพร้อมบอกเหตุผล

“หมายใจไว้ว่า เมื่อได้งานทำเป็นหลักแหล่งแล้ว จะพาบัวหอมไปฝากกับพ่อเลี้ยงคอร์ท เคยได้ยินว่าพ่อเลี้ยงกับแม่เลี้ยงคอร์ทรับอุปการะเด็กกำพร้าหลายคน ทั้งยังหื้อเฮียนหนังสือตวย” น้องเขยรีบเอ่ยถึงแผนการในใจออกมา เมื่อป้าบัวผันมีท่าทียุ่งยากใจ

“ทำไร่ทำนาทำสวน เผ้วถางหญ้า ดูแลไม้ดอกในสวนกว้างใหญ่เฮาทำได้ งานใช้แรงงาน เลี้ยงช้าง เลี้ยงม้าก่ได้” หนานถารีบบอกถึงจุดประสงค์และของานของชนชั้นแรงงานหยาบๆ ให้ป้าบัวผันรับรู้

“โฮ๊ะ จะเอาแบบนั้นก่ได้ ไปอยู่โฮงเลี้ยงจ๊างข้างคุ้มก่จะไปแม่นก่ อั้นไว้วันพุกขวายๆ ป้าจะพาพ่อเจ้าเข้าไปฝากหื้อ ขอทำงานกับเจ้าสิงห์คำมั่น ส่วนบัวหอมก่อยู่เฝ้าบ้านเฝ้าเฮือนไปก่อน ไว้พ่อเจ้าได้ทำก๋านทำงานแล้วค่อยไปโรงเรียนบ้านแหม่มคอร์ท”

 



Don`t copy text!