
แก่นไม้หอม บทที่ 12 : เข้ากรุง
โดย : กิ่งฉัตร
แก่นไม้หอม นวนิยายออนไลน์ โดย กิ่งฉัตร ที่อ่านเอาอยากให้คุณได้อ่านออนไลน์ กับเรื่องราวที่จะทำให้คุณได้รู้ว่าผู้หญิงเป็นเมียและแม่ไม่ต่างจากแก่นไม้ที่แข็งแกร่ง มั่นคงและทรหดที่ยึดให้ใบได้แผ่กว้าง และหากโลกนี้เชื่อว่าผู้ชายเป็นใหญ่ แต่จริงๆ แล้วทุกสรรพสิ่งในธรรมชาติล้วนเป็นหยินที่โอบหยางทั้งสิ้น
ทุกครั้งที่เง็กซิมขึ้นมาสุพรรณเพื่อเยี่ยมซิ่วเฮียงและครอบครัว หล่อนมักค้างอยู่ด้วยสองถึงสามวัน มาครั้งนี้เซียมลั้งก็เตรียมจัดที่ทางให้แขกได้นอนค้างในห้องเดิมที่ซิ่วเฮียงเคยใช้ร่วมกับซิ่วเซียงมาก่อน แต่เง็กซิมกลับขอนอนในเพิงเก็บของกับลูกบุญธรรม
หลีกังหงุดหงิดบ่นว่าจะให้เง็กซิมขึ้นมาพักบนเรือนเพราะไม่อยากให้ลำบาก แต่อีกฝ่ายหัวเราะร่วนตอบว่า
“ไม่ลำบาก ๆ ตอนลงเรือมาลำบากกว่านี้เยอะ พวกลื้อไม่ต้องเป็นห่วง อั๊วอยู่ได้”
ดังนั้นตกค่ำเซียมลั้งก็มาอุ้มหาญขึ้นเรือนไป เง็กซิมตามขึ้นไปดูไปคุยอยู่พักใหญ่ก่อนกลับมาที่เพิงเก็บของ ซิ่วเฮียงปวดใจว่าแคร่แคบมุ้งเล็กทำให้แม่บุญธรรมต้องมาลำบากไปกับหล่อนด้วย แต่เง็กซิมบอกอย่างไม่เดือดร้อนว่า
“ชีวิตเง็กซิมก็ใช่ว่าจะสบาย ที่ทางแคบแค่นี้เรื่องเล็ก”
เง็กซิมที่อพยพจากเมืองจีนมาอยู่กับสามีที่เมืองไทยเมื่อสิบกว่าปีก่อนนั้นตกพุ่มม่ายมาหลายปีแล้ว สามีที่เป็นคนหมู่บ้านเดียวกันกับหลีกังเคยเป็นชายที่แข็งแรง แต่วันหนึ่งแค่ตากฝนปรอย ๆ อยู่ครึ่งชั่วโมง ถึงบ้านก็ครั่นเนื้อครั่นตัวเหมือนเป็นไข้หวัดธรรมดา เจ้าตัวไม่ได้ใส่ใจมากนักคิดว่านอนพักสักคืนก็หาย ทว่าวันรุ่งขึ้นไข้เขากลับหนักขึ้นจนเพ้อไม่ได้สติ และยังไม่ทันจะได้สั่งเสียอะไรสามีคู่ทุกข์คู่ยากของเง็กซิมก็จากไปไม่มีวันกลับ
เง็กซิมกับสามีไม่มีลูก ญาติพี่น้องจากหมู่บ้านเดิมก็แทบไม่มีเหลือแล้ว เพื่อนฝูงที่มีส่วนใหญ่ก็ลงเรือมาเมืองไทยด้วยกัน ที่สำคัญเงินทองติดตัวมีไม่มาก ไม่พอจะส่งศพกลับเมืองจีน ดังนั้นเง็กซิมจึงทำศพสามีอย่างเรียบง่ายฝังเขาที่สุสานวัดดอน ช่วงเทศกาลหรือครบปีก็ไปจุดธูปไหว้ ส่วนตัวหล่อนนั้นรับจ้างซักผ้ารีดผ้าพอมีพอกินไม่อด ต่อมาได้งานประจำที่โรงงานย้อมผ้ามะเกลือ เริ่มจากเป็นช่างเย็บเสื้อกับกางเกงแพร จากนั้นก็เลื่อนขั้นเป็นหัวหน้าคนงานเย็บปัก
เพราะไม่มีลูกและกินอยู่อย่างประหยัด เงินเก็บของเง็กซิมจึงใช้ไปกับของฝากของเยี่ยมเวลาที่หล่อนมาเยี่ยมลูกบุญธรรมที่สุพรรณ วันเกิดปีที่สิบห้าของซิ่วเฮียงเง็กซิมก็ใช้เงินเก็บที่มีอยู่ซื้อตุ้มหูทองให้เป็นของขวัญวันเกิด
ตอนที่ซิ่วเฮียงหนีไปกับพนมนั้น หญิงสาวเขียนจดหมายกลับบ้านหลายฉบับ และเคยเขียนถึงเง็กซิมด้วย แต่ไม่เคยได้รับจดหมายตอบกลับ ตอนแรกหล่อนนึกว่าทั้งเตี่ยม้าและแม่บุญธรรมตัดขาดหล่อนหมดแล้ว เพิ่งมารู้ตอนนี้เองว่าเง็กซิมไม่ได้รับจดหมายเพราะย้ายที่อยู่จากแถวถนนบรรทัดทองไปอยู่บ้านพักคนงานในตรอกเล็กหลังวัดช่างแสง ผู้เช่าคนใหม่เป็นคนไทย พอเปิดจดหมายเห็นตัวหนังสือจีนแถมยังเป็นตัวหนังสือที่โย้เย้แบบเด็กเล็กเขียน เขาอ่านไม่ออกเลยจึงโยนความรักและความหวังของซิ่วเฮียงลงถังขยะไปอย่างไม่ใส่ใจ
ซิ่วเฮียงไม่รู้อะไรเลยจนถึงคืนนี้ ดังนั้นพอรู้ว่าที่หล่อนไม่ได้จดหมายตอบเพราะอะไร หญิงสาวก็ร้องไห้สะอึกสะอื้นด้วยความโล่งใจ
“เด็กโง่ แค่จดหมายไม่ถึงมือไม่กี่ฉบับ ไม่เห็นต้องเสียใจมากขนาดนี้เลย” เง็กซิมกอดปลอบลูกบุญธรรมของหล่อนไว้
“เฮียงไม่ได้เสียใจ” หล่อนตอบพร้อมยังสะอื้นไม่หยุด “เฮียงดีใจที่เง็กซิมไม่ได้โกรธไม่ได้เกลียดเฮียง”
แม้จะเป็นแม่บุญธรรม…แต่ซิ่วเฮียงไม่เคยเรียกหญิงร่างเล็กที่กอดปลอบหล่อนตรงนี้ด้วยคำเรียกอื่นนอกจากเง็กซิม ทุกอย่างมันเริ่มตั้งแต่ตอนที่หลีฮวงพาหลานสาวไปฝากกับเง็กซิมให้ช่วยพามาเมืองไทย หลีฮวงเรียกเง็กซิม คนรอบตัวรวมถึงผู้ที่ลงเรือมาด้วยกันก็เรียกเง็กซิม แม่หนูน้อยที่ไม่มีใครสอนก็เลยเรียกเง็กซิมตามคนอื่น ๆ
เง็กซิมเองก็ไม่ถือสา เด็กน้อยจะเรียกหล่อนว่าอะไรก็เรียกไป อยู่ด้วยกันแค่ประเดี๋ยวประด๋าว พอส่งตัวคืนให้พ่อแม่แล้ว โอกาสจะได้เจอะเจอกันอีกคงมีไม่บ่อยนัก เง็กซิมไม่รู้เลยว่าจากที่คิดว่าคงได้พบเจอกันช่วงสั้น ๆ กลายเป็นความผูกพันยาวนาน แต่กว่าจะรู้ก็แก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว ซิ่วเฮียงเรียกแต่ชื่อหล่อนจนติดปาก และถ้าให้ซิ่วเฮียงเรียกแม่บุญธรรมหรือเรียกคำอื่นหล่อนคงไม่ชินเหมือนกัน
“อะไร มีอย่างที่ไหนดีใจแล้วร้องไห้ มันต้องยิ้มต้องหัวเราะสิ” มือที่หยาบกระด้างของเง็กซิม ปาดน้ำตาให้ซิ่วเฮียงอย่างอ่อนโยน ฝ่ายหลังจึงหัวเราะฝืน ๆ ออกมาเล็กน้อย
“เง็กซิมไม่โกรธเฮียงเลยหรือจ้ะ ทุกวันนี้เตี่ยยังโกรธยังเกลียดเฮียงไม่หายเลย”
“โกรธเหมือนกัน แต่เง็กซิมเข้าใจ ใคร ๆ ก็ทำผิดทำพลาดได้ทั้งนั้น”
“เฮียงโง่เองที่หลงเชื่อผู้ชายคนนั้น เฮียงเลวมากเลยที่ทำให้เตี่ยกับม้าอายชาวบ้านเขาที่มีลูกสาวไม่รักดี อาเส่งกับเซียงก็ถูกเพื่อนล้อ ถูกคนเขาดูถูกว่ามีพี่สาวใจง่ายใจแตกหนีตามผู้ชาย เตี่ยถึงกับออกปากว่าเฮียงเป็นส้วมแตกหน้าบ้าน ทำให้บ้านเหม็นไปหมด…” ซิ่วเฮียงระบายอย่างขมขื่น
“เสียใจมากใช่ไหม”
“จ้ะ” หญิงสาวรับ น้ำตาไหลอาบแก้ม “เฮียงรู้สึกผิดมากเลยเง็กซิม รู้สึกผิดจนปวดใจไปหมด เฮียงอยากให้เตี่ยตีเฮียงให้หนัก ๆ ตีให้แรง ๆ ให้สมกับที่เฮียงสร้างความเดือดร้อนให้ทุกคน ตีให้แรง ๆ เลย”
“เฮ้อ…” เง็กซิมฟังแล้วส่ายหน้า ถามว่า “เฮียงเอ๊ย ถ้าเตี่ยตีลื้อจนตายแล้วมันจะแก้อะไรได้ไหม มันจะช่วยลื้อย้อนไปแก้ไขไอ้เรื่องที่พลาดไปแล้วได้ไหม…หา…”
“ไม่ได้จ้ะ”
“ทำไม่ได้แล้วจะมาร้องไห้คร่ำครวญให้เตี่ยตีลื้อทำไม ทำไมไม่หาทางทำให้เตี่ยลื้อกับคนอื่น ๆ รู้ว่าลื้อก็เก่ง ถึงจะเคยพลาดแต่ลื้อก็ยังมีคุณค่า ไม่ใช่ลูกไม่รักดีที่กลับมาเป็นภาระให้เตี่ยกับม้า”
“เฮียงไม่รู้จะทำอะไร จะเย็บดอกไม้ขายเหมือนเดิมคนเขาก็รังเกียจหาว่าของที่เฮียงทำไม่เป็นมงคล ไม่ยอมรับซื้อ”
ไม่ใช่แค่เรื่องดอกไม้ผ้าเท่านั้น งานอื่นก็หาทำได้ยากนัก พวกเพื่อนบ้านเวทนาหล่อนแต่ก็ไม่ได้ต้องการใกล้ชิดสนิทสนมเหมือนเดิม ต่อหน้าก็ยิ้มแย้มแจ่มใสดีแต่ลับหลังก็มีเสียงกระซิบบอกเล่าให้คนอื่นรู้ว่า ‘เฮียงมันเคยหนีตามผู้ชายไป นี่เพิ่งกระเตงลูกกลับบ้าน พ่อเด็กไม่ได้มาด้วยคงเลิกกันแล้ว’ ‘ตามเขาไปง่ายก็ถูกทิ้งง่าย ๆ แบบนี้แหละ เอ…หรือว่าเรื่องพวกนี้เจ๊กจีนเขาไม่ถือ’
ซิ่วเฮียงฟังแล้วได้แต่ยิ้มขม หล่อนเคยคิดว่าอดีตแม่ผัวปากร้ายสุดแล้ว ด่ากราดได้ทั้งวันทั้งคืนราวกับเครื่องจักรที่ไม่ต้องหยุดพัก แต่พิกุลนั้นด่าซึ่งหน้า ฟังแล้วเจ็บใจแต่ไม่เจ็บปวดเท่ากับคำของคนที่ต่อหน้ายิ้มแย้มทักทายอย่างโอบอ้อมอารี แต่ลับหลังพูดจาว่าร้ายเหมือนหล่อนเป็นกิ้งกือไส้เดือนที่เขาดูถูกเขาดูแคลนไม่ใช่เพียงแค่หล่อนเท่านั้น ยังมีเตี่ยกับม้าและน้องอีกสองคน วันนี้ยังไม่ได้ยินที่เขานินทา วันหน้าก็ต้องได้ยิน ดูเหมือนหล่อนหนีไปพร้อมคำนินทาและกลับมาเพื่อให้คำซุบซิบอย่างสนุกสนานนั้นลุกโพลงยิ่งกว่าเดิม
เพราะเรื่องนี้ซิ่วเฮียงถึงได้อยู่บ้านอย่างซังกะตาย ทำงานไปวัน ๆ โดยไม่ดิ้นรนอะไร พอเง็กซิมถามหล่อนก็บอกไปตรง ๆ ว่าคนอื่นเขารังเกียจความผิดของหล่อน บอกว่าดอกไม้หล่อนทำขายไม่เป็นมงคล ไม่มีใครอยากซื้อหรือต้องการ
เง็กซิมฟังแล้วทำเสียงจิ๊กจั๊กอย่างไม่พอใจ บ่นว่า
“ปากหรือนั่น พูดมั่วไปเรื่อยนี่นา แล้วเขาพูดแค่นี้ลื้อก็ยอมเขาแล้วหรือเฮียง ทำไมลื้อไม่สู้ บ้านนี้เมืองนี้มีแต่คนพูดมากลื้อก็ไม่ต้องอยู่ สองมือสองตีนครบลื้อกลัวอะไร งานนี้เขาไม่ให้ทำก็ทำอย่างอื่น เอางี้เฮียงเข้ากรุงเทพฯกับเง็กซิมเถอะ ที่โรงงานยังขาดคนลื้อไปที่นั่นก่อน เย็บเสื้อกางเกงไป งานหนักหน่อยอดทนทำไปก่อน ไว้ถ้าร้านที่สะพานหันขาดคน เฮียงค่อยไปขายของที่นั่นงานจะได้สบายหน่อย”
“แต่เฮียงไม่ชอบขายของ” ซิ่วเฮียงหน้าแหย
“เคยขายแล้วหรือถึงได้รู้ว่าชอบหรือไม่ชอบ” เง็กซิมถามดุ ๆ ก่อนสอน “อะไรที่ไม่เคยรู้หรือไม่เคยทำอย่าเพิ่งบอกว่าทำไม่ได้หรือไม่ชอบ ลื้อต้องลองดูก่อน ถ้าไม่ได้จริง ๆ มาบอกทีหลังก็ยังไม่สาย แต่อย่างน้อยก็ดีกว่าที่ไม่กล้าลองทำอะไรเลย”
“จ้ะเง็กซิม ต่อไปเฮียงจะลองทำก่อนไม่รีบบอกปัดอีกแล้ว” ซิ่วเฮียงกอดแขนแม่บุญธรรมอย่างประจบ “นี่เง็กซิมจะพาเฮียงไปทำงานกรุงเทพฯจริง ๆ หรือจ๊ะ”
“จริงสิ จะปล่อยให้ลื้ออยู่ในเพิงกวาดใบไม้ไปวัน ๆ ได้ยังไง ไปทำงานกับเง็กซิมอย่างน้อยก็พึ่งตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งพาเตี่ยกับม้าลื้อ ไปทำงานไปหาความก้าวหน้า หาเงินหาทองทำมาหากินให้รวย ๆ ทำให้ทุกคนเห็นว่าเฮียงเก่ง ไม่ใช่ผู้หญิงใจง่ายใจแตกอย่างที่เขาว่ากัน”
ซิ่วเฮียงฟังแม่บุญธรรมปลอบแล้วรู้สึกฮึกเหิมขึ้นไม่น้อย ยิ่งเมื่อนึกว่าจะได้กลับไปทำงานที่กรุงเทพฯ ก็อดตื่นเต้นขึ้นมาเหมือนกัน จำได้ว่าตอนที่หล่อนมาถึงเมืองไทยใหม่ ๆ อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ สองสามปี ผู้คนที่นั่นมากมาย รถราเยอะแยะ จำได้ว่าม้าเคยพาหล่อนไปซื้อของที่เยาวราช นั่งรถรางไปสนุกเหลือเกิน เยาวราชก็มีข้าวของน่าตื่นตาตื่นใจผู้คนมากมาย เสียดายแต่ว่าตอนนั้นหล่อนอายุไม่กี่ขวบ จำได้แต่ความคึกคัก เสียงและกลิ่นที่ต่างไปจากส่วนอื่น ๆ ในกรุงเทพฯ จำได้ไม่ลืม…
ความคิดสะดุดลงเมื่อนึกถึงปัญหาข้อหนึ่งขึ้นมาได้
“ถ้าเฮียงไปทำงานที่โรงงานทั้งวัน หาญจะทำยังไงจ้ะ ที่โรงงานเขาจะให้เฮียงเอาลูกไปเลี้ยงหรือเปล่าจ้ะเง็กซิม”
“เอาลูกไปทำงานด้วยไม่ได้หรอก โรงงานไม่เหมาะกับเด็กอ่อน คงต้องฝากเขาเลี้ยงไว้ เช้าไปส่งเย็นก็ไปรับกลับ” เง็กซิมว่า
“ค่าเลี้ยงเด็กแพงไหมจ้ะเง็กซิม”
“ไม่แพง เง็กซิมรู้จักคนที่เขารับเลี้ยง เด็กแถวนั้นพ่อแม่ก็ไปฝากเลี้ยง ไว้ใจได้”
ซิ่วเฮียงฟังแล้วสบายใจ คืนนั้นหลังให้นมลูกรอบดึกแล้วหล่อนนอนหลับสบาย สบายกว่าทุกคืนที่ผ่านมา
แต่เช้าวันรุ่งขึ้นฝันที่จะตามเง็กซิมเข้ากรุงเทพฯสลายไปหมดเพราะเซียมลั้งไม่ยอมให้ลูกสาวพาหลานเล็กไปลำบากในเมืองกรุง หล่อนเสียงแข็งบอกว่า
“ถ้าจะเอาไปให้คนอื่นเลี้ยง ลื้อทิ้งอาหาญไว้ที่นี่แหละ อั๊วเลี้ยงให้เอง เอาไปให้คนอื่นเลี้ยงไว้ใจได้แค่ไหนกัน ถ้าเขาตีเขาหยิกลูกลื้อ เด็กมันพูดไม่ได้ฟ้องไม่ได้ ลื้อจะรู้หรืออาเฮียง”
“ม้า เง็กซิมบอกว่าคนเลี้ยงไว้ใจได้ เขาเลี้ยงเด็กแถวนั้นมาหลายคนแล้ว” ซิ่วเฮียงพยายามกล่อม
“พวกลื้อไว้ใจ อั๊วไม่ไว้ใจ ให้คนแปลกหน้าเลี้ยงมันจะสู้อากงอาม่าได้ไง ไม่รู้ล่ะอั๊วไม่เห็นด้วย ถ้าลื้ออยากไปก็ไปทิ้งอาหาญไว้ที่นี่ อั๊วเลี้ยงเอง” เซียมลั้งยืนยัน
“ม้า เฮียงจะทิ้งลูกได้ไง ยังไม่ถึงหกเดือน ลูกยังต้องกินนมเฮียงนะ”
“ป้อนน้ำข้าวได้ กล้วยสุกก็มี ถ้ามันกินไม่ได้แถวนี้มีคนเลี้ยงแพะ อั๊วไปซื้อนมแพะให้มันกินได้ แค่นี้ก็ดีแล้ว ตอนลื้อเกิดน้ำข้าวยังไม่มีป้อนเสียด้วยซ้ำไป”
“ม้า…” หญิงสาวได้เอ่ยอย่างอ่อนใจ “ม้าจะเลี้ยงหาญ ม้าถามเตี่ยหรือยัง”
“ไม่ต้องถาม อั๊วตัดสินใจเองได้ หลานคนเดียวเลี้ยงได้ ลื้ออยากไปทำงานก็ไป วันหยุดหรือช่วงเทศกาลก็ขึ้นมา ไม่ต้องเอาอาหาญไปลำบากกับลื้อ”
ซิ่วเฮียงค้านมารดาไม่ได้ ลูกก็ยังเล็กนักตัดใจไม่ลง วูบหนึ่งหล่อนคิดจะปฏิเสธเง็กซิมไปแล้ว แต่พอจะเอ่ยปากก็นึกถึงคำสอนของน้าแก้ว น้าแก้วสอนว่าอย่ายึดลูกเป็นหลักทุกอย่าง น้าแก้ว…สอนให้หล่อนทำเพื่อตัวเองก่อนยืนด้วยตัวเองให้มั่นคงก่อนแล้วถึงจะเป็นหลักให้ลูกยึดพยุงได้
ถ้าหล่อนยังอยู่สุพรรณ อยู่ในแวดวงคำติฉินนินทาลับหลังคงไม่อาจขยับตัวทำอะไรได้ แล้วเมื่อไหร่หล่อนจะยืนขึ้นด้วยลำแข้งของตัวเองได้ ดังนั้นซิ่วเฮียงจึงตัดสินใจว่าจะอยู่สุพรรณเลี้ยงลูกชายให้ครบหกเดือนก่อน จากนั้นจึงฝากลูกชายไว้กับเซียมลั้ง ส่วนตัวหล่อนไปทำงานที่กรุงเทพฯ คอยส่งเงินกลับบ้าน
“งานที่โรงงานถ้ามีฉันก็ทำ แต่ถ้าไม่มีฉันก็จะลองหางานอื่นทำ ฉันเย็บผ้าได้ ทำกับข้าวได้เลี้ยงเด็กได้ อย่างที่เง็กซิมว่าแหละจ้ะ สองมือสองเท้ามี คงไม่อดตาย”
เง็กซิมไม่ค้านอะไร หล่อนพักอยู่ที่สุพรรณอีกสองสามวันก่อนกลับกรุงเทพฯไป
กระทั่งหาญอายุได้เจ็ดเดือน เซียมลั้งพอป้อนน้ำซาวข้าว กล้วยสุกและข้าวบดละเอียดให้หลานได้แล้วเง็กซิมก็กลับมาสุพรรณอีกครั้ง สองมือแม่บุญธรรมเต็มไปด้วยถุงของฝากเหมือนเคย แถมคราวนี้หล่อนยังพาหาญไปถ่ายภาพที่ร้านในอำเภอ ภาพเด็กชายตัวอ้วนกลมทั้งเนื้อทั้งตัวใส่สร้อยพระใบมะขามองค์เล็ก นั่งอยู่ในเก้าอี้หวายทรงกลมขนาดใหญ่ สองมือจับขอบเก้าอี้เงยหน้าขึ้นมองตาแป๋วน่ารักน่าเอ็นดูเป็นที่สุด เง็กซิมอัดภาพใหญ่ใส่กรอบทิ้งไว้ที่บ้านหลีกัง ส่วนภาพเล็กขนาดเท่าฝ่ามือซิ่วเฮียงพกติดตัวไว้
ตลอดชีวิตที่ทุกข์และสุข…ขึ้นและลงของซิ่วเฮียง ภาพเดียวที่อยู่ในกระเป๋าเงินของหญิงสาวก็คือภาพหาญในวัยเจ็ดเดือนภาพนี้ ยามเมื่อหาญโตขึ้น บ่อยครั้งที่เขาน้อยใจเสียใจแค้นใจหาว่าแม่ไม่รัก หาว่าแม่รักแต่ลูกใหม่แม้แต่ลูกคนอื่นแม่ก็รักมากกว่าเขา ซิ่วเฮียงไม่เคยแก้ตัว มีเพียงพยานใบนี้เท่านั้นที่ติดตัวอยู่กับหล่อนตลอดตั้งแต่สาวตราบจนสิ้นลมหายใจ
การเดินทางไปกรุงเทพฯนั้นมีได้หลายทาง เรือเมล์แดงของสุพรรณขนส่งยังอยู่ในช่วงปลายของกิจการ ยังมีการเดินเรืออยู่ สองสาวสามารถนั่งเรือจากสุพรรณไปลงท่าเตียนได้เลย แต่ซิ่วเฮียงไม่อยากผ่านมหาชัย เง็กซิมเองก็ไม่อยากเสียเวลาบนเรือสิบห้าชั่วโมง ดังนั้นทั้งคู่จึงตัดสินใจนั่งเรือจากตลาดสุพรรณไปบ้านงิ้วรายและต่อรถไฟเข้ากรุงเทพฯ
วันเดินทางนั้นเซียมลั้งอุ้มหลานไปส่งลูกสาวที่ท่าเรือ อาเส่งที่ตามมาด้วยช่วยยกกระเป๋าและลังของกินของใช้ลงเรือให้ ซิ่วเฮียงทั้งกอดทั้งจูบลูกชายอย่างอาวรณ์ สอนเด็กชายที่อ้อแอ้ไม่รู้ความว่า
“ทำตัวดี ๆ นะหาญ อย่างอแงให้อาม่าหนักใจ เป็นเด็กดีนะลูก”
หาญหัวเราะเอิ๊กอ๊าก มองรอบตัวอย่างสนอกสนใจ
“ลื้อไม่ต้องห่วงลูกหรอก เชื่อฟังเง็กซิม ทำตัวดี ๆ ถ้าว่างก็กลับมาหาหาญมันบ้าง หรือไม่ก็เขียนจดหมายมา”
“จ้ะม้า” หญิงสาวรับคำอย่างเชื่อฟัง
เง็กซิมมองแม่ลูกสั่งเสียกันเป็นทอด ๆ แล้วได้แต่ยิ้มตาหยี
ลงนั่งในเรือเรียบร้อยซิ่วเฮียงยังชะโงกหน้ามองม้า ลูกชายและน้องชาย มือโบกลาอย่างแข็งขัน น่าแปลกที่สายตาของหญิงสาวจ้องไปแต่ที่เซียมลั้ง แม้เรือจะวิ่งห่างออกไปเรื่อย ๆ แม้เสียงเครื่องยนต์จะดังแต่หล่อนกลับเห็นสีหน้าอาวรณ์สายตาห่วงใย เห็นสองมือที่โอบหาญไว้แน่น เห็นริมฝีปากที่จืดชืดไร้สีสันขยับขึ้นลงเหมือนกระซิบว่า
เดินทางปลอดภัยนะอาเฮียง…เดินทางปลอดภัย…
ร่างของคนทั้งสามกลายเป็นจุดเล็ก ๆ ก่อนหายไปจากสายตา ซิ่วเฮียงลงนั่งลงกับเก้าอี้ไม้แข็ง ๆ พอเห็นแม่บุญธรรมมองมายิ้ม ๆ แบบเอ็นดู หล่อนก็ยิ้มตอบแต่แล้วจู่ ๆ น้ำตาเม็ดหนึ่งก็ร่วงเผาะสู่แก้ม ตามด้วยเม็ดที่สองที่สามก่อนกลายเป็นสายอาบเต็มหน้า ซิ่วเฮียงยกมือขึ้นปิดปากร้องไห้สะอึกสะอื้น
เง็กซิมขยับมากอดหล่อนไว้หมือนตอนที่ทั้งคู่ลงเรือข้ามสมุทรจากจีนมาไทย คลื่นลมแรงหน่อยแม่หนูซิ่วเฮียงก็ร้องไห้ด้วยความหวาดกลัว
“อย่าร้อง ๆ ไม่ต้องห่วงลูกหรอกนะเฮียง ม้าเราเขารักอาหาญมาก เขาดูแลอาหาญอย่างดีแน่”
ซิ่วเฮียงส่ายหน้า
“เฮียงไม่ได้ร้องไห้เพราะลูก เฮียงแค่เสียใจว่าทำไมเฮียงเคยคิดว่าม้าไม่รักเฮียง ทำไมเฮียงคิดว่าม้ารักอาเส่งรักอาเซียงมากกว่า ทำไมเฮียงไม่เคยเห็นเลยว่าม้าก็รักเฮียงเหมือนกัน ม้าก็รักเฮียง…เหมือน…กัน…”
เง็กซิมลูบหลังไหล่อีกฝ่ายอย่างปลอบโยน
“รู้ก็ดีแล้ว รู้ก็ดีแล้วนะ”
ซิ่วเฮียงร้องไห้เป็นพัก ๆ ซับน้ำตาอยู่ป้อย ๆ กระทั่งขึ้นเรือมาต่อรถไฟที่บ้านงิ้วราย นครชัยศรี หญิงสาวที่ไม่เคยขึ้นรถไฟจึงคึกคักขึ้น มองทุกอย่างด้วยความสนใจและใคร่รู้
รถไฟเร็วกว่าเรือเมล์มาก ใช้เวลาเดินทางไม่กี่ชั่วโมงก็ถึงสถานีหัวลำโพง
ลงจากรถไฟซิ่วเฮียงรู้สึกเมาคน ไม่นึกว่าผู้คนจะขวักไขว่มากมายขนาดนี้ โชคดีที่หล่อนมากับเง็กซิม ฝ่ายนั้นเดินนำซิ่วเฮียงก็เดินตามไปเรื่อย ๆ จนออกสู่ถนนใหญ่ หญิงสาวมองรถรางตาปรอย แต่เง็กซิมกลับบอกว่า
“ข้าวของมีเยอะแบบนี้อย่างนั่งรถรางเลย เรียกสามล้อเครื่องดีกว่า”
สามล้อเครื่องหรือที่ต่อมาคนนิยมเรียกว่ารถตุ๊กตุ๊กตามเสียงท่อไอเสียของรถ…เพิ่งเปิดตัววิ่งรับส่งผู้โดยสารปีก่อนแทนรถสามล้อถีบ รถรับจ้างแบบนี้ค่อนข้างเป็นที่นิยมไม่น้อย เพราะเรียกใช้สะดวก นั่งสบายและรวดเร็วกว่ารถรางที่ต้องจอดรถตามป้ายหรือมีเส้นทางวกวนมาก
เง็กซิมเรียกรถไปส่งที่วัดช่างแสง เจริญผล รถส่งได้แค่ในลานวัด ซิ่วเฮียงอยากจะมองรอบ ๆ วัดให้นานหน่อย แต่เง็กซิมเร่งให้หล่อนหิ้วข้าวของเดินตามไปตามทางเดินลาดซีเมนต์แคบ ๆ ด้านหลังวัด
“โรงงานอยู่นี้หรือจ๊ะ” หญิงสาวถามอย่างแปลกใจ
“อยู่ในตรอกนี้แหละ แต่มีทางเข้าได้อีกทางจากถนนบรรทัดทอง ส่วนโรงงานน่ะเขาเรียกลานมะเกลือ เมื่อก่อนเป็นโรงงานย้อมผ้าด้วยมะเกลือ แต่ตอนหลังรัฐเขาไม่ให้ตั้งโรงงานย้อมผ้าในเขตเมือง เถ้าแก่เลยย้ายโรงย้อมไปสมุทรปราการ ที่นี่เหลือแค่โรงรีดผ้ากับโรงเย็บชุดเสื้อกางเกง อ้อ…ช่วงที่ไม่ใช่หน้ามะเกลือ เถ้าแก่ก็หมักซีอิ๊วทำหัวไชโป๊ มีงานตลอดแหละ ขอให้เฮียงขยัน อดทน ทำงานกับเถ้าแก่ส่วงไม่มีอดตายแน่”
“จ้ะเง็กซิม” ซิ่วเฮียงรับคำหนักแน่น
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 44 : ฝันสลาย
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 43 : รอยร้าว
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 42 : สัญญา
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 41 : อามาลัย
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 40 : พบหน้า
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 39 : ลูกไม่มีพ่อ
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 38 : หมากฝรั่งบุหรี่
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 37 : พิราบขาว
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 36 : คนนอก
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 35 : ผู้ชนะ (ตอนที่ 2)
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 34 : ผู้ชนะ (ตอนที่ 1)
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 33 : คดในข้องอในกระดูก
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 32 : สัญญาที่ไม่เป็นธรรม?
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 31 : แม่ม่ายลูกกำพร้า
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 30 : ฟ้าถล่ม
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 29 : ลูกชายลูกชาย
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 28 : ไม่มีอะไรแน่นอน
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 27 : เด็กน้อยของซิ่วเฮียง
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 26 : สันดานคนยากจะเปลี่ยน
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 25: รถจี๊ปสีเขียว
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 24 : หวังดีเกินไป รักเกินไป
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 23 : เรื่องที่เข้ากันได้
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 22 : หยี่แจ้ โอ่ยแจ้
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 21 : แต่งงาน
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 20 : สู่ขอ
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 19 : ชีวิตไม่มีอะไรแน่นอน
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 18 : เห็นขี้ดีกว่าไส้
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 17 : กระต่ายก็กัดเป็น
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 16 : เลิกกับผัวแล้ว
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 15 : ปุ๋ยดีไม่ควรปล่อยให้ไหลลงนาผู้อื่น
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 14 : ลานมะเกลือ
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 13 : ศาลองค์แป๊ะกง
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 12 : เข้ากรุง
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 11 : ส้วมที่แตกแล้ว
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 10 : บ้าน
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 9 : หันหลังกลับ
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 8 : พยอม
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 7 : หมดสิ้น
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 6 : หาญ
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 5 : วาสนา
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 4 : ดอกไม้ผ้า
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 3 : ตุ้มหูทอง
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 2 : แม่ผัว
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 1 : ซิ่วเฮียง