ภาพภพ บทที่ 3 : กามเทพ

ภาพภพ บทที่ 3 : กามเทพ

โดย : ฟารุต

ภาพภพ โดย ฟารุต เรื่องราวของช่างศิลปะชาวอิตาลีที่เข้ามาในช่วงปลายสมัย ร.5 และต้องมาเกี่ยวพันกับเด็กหนุ่มและหญิงชาวไทยจนเกิดเรื่องราวความรักที่ไม่สมหวังนำมาซึ่งความพยาบาทข้ามภพ ตัวละครหลายตัวได้กลับมาเกิดใหม่ แต่ตัวละครหลักที่ผูกจิตไว้กับความแค้นยังตามราวีจนถึงภพปัจจุบัน นวนิยายออนไลน์ที่อ่านเอาอยากให้คุณได้อ่านออนไลน์

“เดล…เดล” เสียงเรียกพร้อมกับแรงเขย่าต้นแขนทำให้อเดลลารู้สึกตัว ใจหายวาบเมื่อเห็นบุรฉัตรกำลังจ้องประสานตาอยู่ เหลียวมองไปรอบตัว ไม่มีนักศึกษาแม้แต่คนเดียว หันไปเห็นดาริกายิ้มแห้งส่งมา

“มาทำงานได้แล้ว” ดาริกาพยักหน้า อเดลลาหน้าร้อนผ่าว อับอายจนแทบอยากวิ่งไปให้พ้นเสียจากตรงนั้น

“ทำไมไม่เรียกฉันล่ะดา” อเดลลาหันไปเอ่ยกับเพื่อนขณะนั่งลง มือเย็นเฉียบจับพู่กันงกๆ เงิ่นๆ

“ฉันเรียกเธอตั้งหลายครั้งแล้วนะเดล แต่เธอก็นั่งเหม่อมองอาจารย์อยู่อย่างนั้นน่ะ” ดาริกามองด้วยแววตาสงสัย “ไม่สบายหรือเปล่า เมื่อเช้าอึมารึยังเนี่ย”

“เปล่า ฉันโอเค” อเดลลาหันไปยิ้มให้ก่อนจะเบนสายตาไปยังผืนผ้าใบตรงหน้า จับพู่กันป้ายสี เริ่มต้นร่างภาพโดยไม่พูดอะไรอีกเลย

ตลอดสี่ชั่วโมง สายตาของอเดลลาจับจ้องบนผืนผ้าใบก็จริง แต่สมองกลับวนเวียนอยู่กับคำถาม เธอแอบชำเลืองมองบุรฉัตร เห็นเขาง่วนกับการขีดเขียนบางอย่างบนสมุดสเกตช์เล่มใหญ่ นานครั้งจึงจะลุกขึ้นเดินมาดูงานพร้อมกับแนะนำนักศึกษาเป็นรายตัว อเดลลาตั้งใจไว้แล้วว่า วันนี้ต้องหาโอกาสคุยกับชายหนุ่มให้ได้ เธอรอคอยจนชั่วโมงเรียนสิ้นสุดลง รีบล้างพู่กัน จัดเก็บจานสีเข้าที่ ฉวยกระเป๋าแล้วเดินลิ่วตามบุรฉัตรที่เพิ่งก้าวออกจากห้องไป

“เดล! จะไปไหน” ดาริกาตะโกนถาม มองตามด้วยความงุนงง

อเดลลาก้าวพ้นประตูออกมาเหลียวมอง ไม่เห็นผู้ที่อยากพบ กึ่งเดินกึ่งวิ่งไปตามระเบียง เลี้ยวซ้ายตรงมุมห้อง นั่นไง บุรฉัตรกำลังจะก้าวลงบันไดไปชั้นล่าง

“อาจารย์คะ” อเดลลาเรียกเสียงดัง แต่อีกฝ่ายไม่ได้ยิน เธอวิ่งตามไปอย่างรวดเร็ว มือคว้าราวบันไดไว้ได้ก่อนที่จะพุ่งถลาลงไป มองเห็นร่างสูงก้าวไปตามขั้นบันได กำลังอ้าปากจะเรียกซ้ำ แต่หญิงสาวคนหนึ่งเดินสวนขึ้นมาหยุดยืนตรงหน้าชายหนุ่ม

“อาจารย์บุรฉัตรคะ ท่านคณบดีเชิญที่ห้องค่ะ”

อเดลลาทิ้งตัวลงด้วยความผิดหวัง ถอนใจหนักหน่วง ตัดสินใจหันหลังกลับ เดินก้มหน้าครุ่นคิดมาตลอดทางว่าจะทำอย่างไรต่อไป จนเกือบจะชนเข้ากับดาริกาที่ตามมาด้วยความห่วงใย

“ไปไหนน่ะมาเดล”

“ขอโทษด้วยดา ฉันรีบน่ะ พอดีมีเรื่องอยากจะถามอาจารย์” ดาริกากำลังจะถามต่อ แต่เมื่อเห็นแววกังวลบนใบหน้าเพื่อน จึงยั้งคำพูดไว้

อเดลลาครุ่นคิดหาวิธีจะได้พูดคุยกับบุรฉัตร ตอนแรก ตั้งใจจะค้นหาเบอร์โทรศัพท์แล้วโทร.ไป แต่คำพูดของหญิงเจ้าของร้านผ้าไหม ดังก้องขึ้นมาเตือน

‘การที่เราจะใช้วิธีโทรศัพท์ไปคุยธุระกับใครสักคน ถ้าเป็นธรรมเนียมตะวันตก อาจจะไม่เป็นไร แต่เรื่องนี้คนไทยเขาถือ โดยเฉพาะคนที่เราต้องการจะพูดคุยหรือปรึกษาหารือด้วย มีสถานภาพสูงกว่าเรา เช่น ญาติผู้ใหญ่ เจ้านายหรือครูบาอาจารย์ เราควรจะไปพบปะพูดคุยต่อหน้า ถือว่าเป็นการให้เกียรติเขา ยิ่งถ้าเรื่องนั้นสำคัญและเราต้องไปขอความช่วยเหลือจากเขาเหล่านั้นด้วยแล้ว ยิ่งไม่เหมาะไม่ควรเป็นอย่างยิ่ง’

ที่สุด อเดลลาก็คิดออก เธอเขียนข้อความลงบนการ์ดไปวางบนโต๊ะทำงานของบุรฉัตรในเช้าวันต่อมา ขอนัดเลี้ยงอาหารเป็นการตอบแทนความมีน้ำใจที่เขาช่วยเหลือดูแลในวันที่หมดสติ วิธีนี้น่าจะสุภาพที่สุด ไม่เป็นการสร้างความลำบากใจให้บุรฉัตรในการตอบรับหรือปฏิเสธ

 

อเดลลาออกจากที่พักก่อนเวลา นั่งตากลมยามเย็นบนเรือข้ามฟากเพียงครู่เดียวก็ถึงท่าราชวรดิษฐ์ เธอก้มมองนาฬิกาบนข้อมือ อีกชั่วโมงกว่าจะถึงเวลานัด ยังมีเวลาเหลือพอจะเดินชมสินค้าซึ่งวางโชว์เรียงรายตามทางเท้าได้ ส่วนใหญ่เป็นสินค้ามือสองแต่ยังอยู่ในสภาพดี เธอสะดุดตาสร้อยทำจากเส้นหนังสีน้ำตาลเข้มถักเป็นริ้วสลับไปมาตลอดเส้น ล้อมล็อกเกตเทอร์คอยซ์รูปไข่สีเขียวอมฟ้า หญิงสาวยกขึ้นทาบกับลำคอ

“กู๊ดๆ ค่ะ” แม่ค้าวัยกลางออกปากชมพลางยกนิ้วหัวแม่มือ

“เท่าไหร่คะ” อเดลลาเอ่ยถามขณะมองเงาสะท้อนในกระจกเงาบานเล็กที่คนขายตั้งไว้ให้ลูกค้า

“ต๊าย! พูดไทยได้ด้วย” หญิงคนขายอุทาน

สร้อยหนังสีน้ำตาลเข้มเข้ากันได้ดีกับเสื้อผ้าป่านสีน้ำตาลอ่อนคอจีนที่สวมอยู่ ได้สีฟ้าสดของเทอร์คอยซ์มาสร้างจุดเด่นได้อย่างเหมาะเจาะ อเดลลาจ่ายเงินพร้อมกล่าวขอบคุณ ออกเดินเรื่อยมาจนถึงร้านอาหารเล็กๆ ที่ดาริกาเคยพามาเมื่ออาทิตย์ก่อน เธอประทับใจการจัดร้านสวยงามด้วยวัสดุตกแต่งจากธรรมชาติ พนักงานหญิงกำลังง่วนจัดช่อดอกไม้บนโต๊ะหันมายิ้มทักทาย

อเดลลาก้าวบนลานซึ่งปูด้วยแผ่นหิน ผนังปูนด้านซ้ายพรางมิดชิดด้วยต้นตีนตุ๊กแกเกาะเต็มพรืดเหมือนปูด้วยวอลล์เปเปอร์สีเขียว ต้นโมกพวงหลายต้นในกระถางดินเผาวางเรียงเป็นแนวอยู่ด้านหน้า กำลังผลิดอกสีขาวกระจายเต็มต้นโชยกลิ่นหอมอ่อนฟุ้ง ทางเดินปูด้วยแผ่นหินทอดไล่ระดับลงสู่พื้นด้านล่างซึ่งตั้งโต๊ะอีกสองโต๊ะชิดแนวรั้ว มีพุ่มปักษาสวรรค์กำลังอวดช่อสีส้มเป็นพวงระย้า อเดลลาตัดสินใจเลือกโต๊ะด้านขวามือ มองไกลออกไปคือสายน้ำเจ้าพระยาไหลเอื่อยสะท้อนแสงสีเหลืองทองยามอัสดงส่องประกายระยิบระยับบนผิวน้ำ เรือเอี้ยมจุ๊นลำเล็กวิ่งทวนกระแสน้ำลากเรือบรรทุกทรายตีระลอกคลื่นเข้าหาฝั่งเป็นระยะ สายลมเย็นพัดพากลิ่นหอมของดอกโมกเจือมาในบรรยากาศ ก้มมองหน้าปัดนาฬิกา เหลือเวลาอีกกว่ายี่สิบนาที

บุรฉัตรจะได้รับข้อความหรือเปล่านะ เขาอาจจะมองไม่เห็นหรืออาจจะเห็นแล้ว แต่คงคิดว่าไม่สำคัญ เพราะเขาเองก็ไม่รู้จักเธอมาก่อน ช่างเถอะ นึกเสียว่าออกมากินข้าวนอกบ้านสักวัน จะเป็นไรไป

อเดลลาตั้งใจว่าจะเผื่อเวลาสักยี่สิบนาที ถ้าชายหนุ่มไม่มาก็จะไม่รอ เธอสั่งน้ำลิ้นจี่โซดาให้ตัวเอง ยังติดใจในรสชาติหอมแปลกลิ้นตั้งแต่ครั้งก่อน ขยับแว่นสายตา ล้วงหยิบหนังสือจากกระเป๋าสะพายขึ้นมาเปิดอ่านขณะรอเครื่องดื่มมาเสิร์ฟ ภายในร้านค่อนข้างสลัว อาศัยแสงจากตะเกียงดวงเล็กบนโต๊ะและโคมไฟรูปทรงสี่เหลี่ยมบุด้วยผ้าฝ้ายแขวนอยู่เหนือศีรษะช่วยให้มองเห็นได้บ้าง เธอเพลินกับเรื่องราวบนหน้ากระดาษ จนไม่ทันสังเกตเห็นร่างสูงก้าวมาหยุดยืนข้างโต๊ะ

“สวัสดีครับ มาถึงนานหรือยัง”

สำเนียงอังกฤษที่ได้ยินชัดเจนราวเจ้าของภาษา อเดลลาเงยหน้าจากหนังสือในมือ

“สวัสดีค่ะ มาถึงสักครู่แล้วค่ะ”

รอยยิ้มทำให้บุรฉัตรดูสดใส เสื้อยืดสีฟ้า Cobalt blue ปกสีขาวขับผิวกระจ่าง แขนเสื้อดึงร่นขึ้นเสมอข้อศอกให้ความรู้สึกผ่อนคลายกว่าตอนอยู่ในชั้นเรียน เขาหย่อนกายลงนั่งบนเก้าอี้ตรงข้ามโดยไม่รอให้เชื้อเชิญ อเดลลาพับหนังสือลงบนโต๊ะ สบตาและส่งยิ้มให้

“ขอบคุณครับสำหรับการ์ด ผมเพิ่งเห็นเมื่อตอนบ่ายนี่เอง” เธอพยักหน้ายิ้ม ตอบเสียงสดใส

“ขอบคุณเช่นกันค่ะที่ให้เกียรติมา ดิฉัน อเดลลา เวอร์ราชิโอ ค่ะ”

“ยินดีครับ ผมบุรฉัตร วิชญนานนท์ แต่ผมว่า คุณน่าจะรู้จักผมแล้วละ” น้ำเสียงสุภาพนุ่มนวลกับรอยยิ้มช่วยให้ถ้อยคำดูไม่เป็นการโอ้อวดแต่อย่างใด

การสนทนาหยุดลง เมื่อพนักงานบริการในร้านเดินตรงเข้ามาพร้อมวางเมนูบนโต๊ะ อเดลลาลอบชำเลืองขณะบุรฉัตรกำลังก้มหน้ามองรายการอาหาร ใบหน้ารูปเหลี่ยมยาว ผิวสีน้ำตาลเนียนสะอาด ดวงตาหรุบต่ำมองเห็นแผงขนตาดกหนาล้อมกรอบดวงตาเรียวยาว จมูกเป็นสันโด่งได้รูป เหนือริมฝีปากสีน้ำตาลอมส้มนั้นคือเรียวหนวดเขียวซึ่งถูกโกนจนสะอาดเกลี้ยงเกลา

ใบหน้าเด็กหนุ่มในฝันแวบเข้ามา ช่างเหมือนกันจริงๆ เหมือนจนแทบจะเรียกว่าเป็นคนเดียวกันก็ยังได้ ต่างกันเพียงแค่วัยเท่านั้นเอง

จะเป็นไปได้ไหมที่ทั้งคู่อาจจะเป็นเครือญาติกัน เด็กหนุ่มคนนั้นอาจจะมีศักดิ์เป็นปู่ทวดหรือตาทวดของบุรฉัตร ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ชายหนุ่มก็คงพอจะรู้เรื่องราวเกี่ยวกับปู่ทวดจิอานโนของเธอบ้างสินะ เพราะภาพถ่ายในห้อง Eternita ยืนยันชัดเจนว่าปู่ทวดของเธอกับเด็กหนุ่มรู้จักกันมาก่อนแน่นอน

อเดลลาจมในห้วงคิดจนลืมสังเกตว่าถูกมองอยู่ เธอสะดุ้ง หลบสายตา ขยับตัวอย่างเก้อเขิน

เขาคงสงสัยว่าทำไมเราชอบจ้องหน้าเขาตลอด ในห้องเรียนก็หนหนึ่งแล้ว นี่ยังจะเผลอซ้ำอีก น่าอายจริงๆ

“คุณทานอาหารไทยได้หรือเปล่าครับ” บุรฉัตรเอ่ยสำเนียงอังกฤษน่าฟัง อเดลลาใจชื้นเมื่อเห็นรอยยิ้มจางตรงมุมปาก

“ถ้าไม่เผ็ดมาก ก็พอทานได้ค่ะอาจารย์” รอยฉงนบนใบหน้าชายหนุ่ม ทำให้ต้องรีบอธิบาย “ดิฉันพอพูดภาษาไทยได้ค่ะ เคยเรียนพูดจากครูที่รับสอนภาษาไทยในฟลอเรนซ์มาบ้าง และก็เคยทำงานในร้านขายผ้าไหมไทยตอนอยู่ที่โน่น อาจารย์ใช้ภาษาไทยดีกว่านะคะ ดิฉันจะได้ฝึกพูดไปด้วย”

บุรฉัตรพยักหน้ายิ้ม หันไปสั่งอาหาร พนักงานหญิงจดรายการอย่างรวดเร็วแล้วเดินกลับไป

“สำเนียงภาษาไทยของคุณถือว่าดีทีเดียว” บุรฉัตรเอนหลังพิงพนัก “อ้อ อย่าเรียกผมว่าอาจารย์เลยครับ มีคนเรียกผมแบบนี้เยอะแล้ว เรียกชื่อก็พอครับ”

“ได้ค่ะ คุณบุรฉัตร” อเดลลารู้สึกสบายใจขึ้น มือเกร็งบนตักเริ่มผ่อนคลาย

“ทราบมาว่าคุณเป็นนักศึกษาทุนแลกเปลี่ยนจากอิตาลี ผมเห็นครั้งแรก สงสัยอยู่ว่าเป็นลูกครึ่งหรือเปล่า” บุรฉัตรมองใบหน้านวลเนียน แพขนตายาวล้อมดวงตากลมโตหลังกรอบแว่น จมูกโด่งเป็นสันพองามรับกับเส้นผมหยักศกสีน้ำตาลเข้มเหลือบทองรวบไว้ข้างหลังดูเรียบร้อย

“เปล่าค่ะ ดิฉันเกิดและโตที่อิตาลี พ่อแม่เป็นอิตาเลียนทั้งคู่ค่ะ ดิฉันสอบทุนได้และเลือกลงที่นี่” เธอตอบสบตาอีกฝ่ายเพียงแวบเดียว แล้วหันไปมองพนักงานชายที่กำลังวางแก้วเครื่องดื่มลงบนโต๊ะ อเดลลารู้ว่าเป็นการเสียมารยาทในการสนทนา แต่ก็ไม่กล้าพอจะสบตาอีกฝ่าย “ดิฉันต้องขอขอบคุณอีกครั้งสำหรับความช่วยเหลือ ไม่อย่างนั้น วันนั้นดิฉันคงแย่”

“ไม่เป็นไรครับ พอดีผมกำลังจะพาคณะอาจารย์จากอเมริกาไปชมงาน แต่ไปพบคุณเข้าเสียก่อน”

“โอ ต้องขอโทษจริงๆ ที่ทำให้คุณเสียเวลา” หญิงสาวเสียงอ่อย “ดิฉันชอบภาพวาดของคุณมาก วันนั้นตั้งใจจะไปชมงานของคุณ แต่ก็ได้ชมเพียงแค่ภาพเดียว ยังเสียดายไม่หายเลยค่ะ” อเดลลาตั้งใจจะถามเกี่ยวกับภาพวาดเรือนไม้ แต่การสนทนาต้องหยุดลงเมื่อพนักงานหญิงเดินถือถาดบรรจุจานอาหารมาถึงและยกลงวางเรียงบนโต๊ะ กลิ่นคล้ายเครื่องเทศโชยกรุ่นจากชามตรงหน้า หอมแปลกแต่ชวนลิ้มลอง บุรฉัตรเอื้อมมือมาหยิบช้อนกลาง ตักอาหารคล้ายแกงสีเขียวข้นจากชามวางลงในจานอเดลลา

“คุณลองทานดูครับ แกงเขียวหวานปลากราย ผมกำชับแล้วว่าให้เผ็ดน้อยที่สุด”

“ขอบคุณค่ะ” อเดลลาตอบ ใช้ช้อนแบ่งชิ้นปลาเป็นคำเล็กก่อนตักเข้าปาก รสชาติหวานมันกลมกล่อม เผ็ดซ่านพอประมาณ เจือด้วยสมุนไพรที่มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว แตกต่างจากอาหารในบ้านเมืองของเธอซึ่งรสชาติจืดและมัน เพราะส่วนผสมอุดมด้วยนมเนยและชีสเป็นหลัก

“เมื่อกี้ ได้ยินว่าคุณได้ชมภาพเขียนของผมเพียงแค่ภาพเดียวเหรอครับ” บุรฉัตรชวนคุย หญิงสาวเงยหน้าขึ้นมอง มือถือช้อนและส้อมนิ่งอยู่

“ใช่ค่ะ เสียดายเหลือเกิน อุตส่าห์ตั้งใจมาชมเต็มที่เลย ไม่รู้เมื่อไหร่จะมีโอกาสได้ชมงานดีๆ แบบนี้อีก ดิฉันชอบงานสไตล์แบบคุณ ละเอียดและสวยงามเหมือนจริงมาก คล้ายกับงานของศิลปินฝรั่งเศสท่านหนึ่ง แต่ดิฉันจำชื่อเขาไม่ได้”

ภาพจิตรกรรมสีน้ำมันรูปหญิงสาวยืนอวดเรือนร่างเปลือยเปล่าท่ามกลางกามเทพตัวน้อยกำลังขยับปีกบินวนอยู่รอบตัวปรากฏขึ้นในห้วงนึก เธอพยายามนึกชื่อของจิตรกรคนนั้น แต่ยิ่งนึกก็ยิ่งทึบตัน

“คุณคงหมายถึง William Adolphe Bouguereau”

“ใช่ค่ะ! Bouguereau” อเดลลาตาโต ตื่นเต้นเหมือนไขปริศนาสำเร็จ

“Bouguereau เป็นแรงบันดาลใจอันดับหนึ่งของผมเลยละครับ ผมซื้อหนังสือรวมผลงานของเขามาศึกษา แต่เทียบไม่ได้เลยกับการได้ไปชมงานต้นฉบับจริงๆ สวยมาก”

“โอ! น่าอิจฉาคุณจัง” อเดลลาเริ่มผ่อนคลาย รู้สึกสนุกกับการได้สนทนาเรื่องที่อยู่ในความสนใจ โดยเฉพาะกับคนรอบรู้และสนใจงานศิลปะเหมือนกัน เธอกล้าพูดด้วยเสียงสดใสกว่าเดิม

“ภาพที่ดิฉันชอบมากคือ ‘The Return of Spring’ แล้วก็ L’Amour et Psyché, enfants สวยเหลือเกิน ดูกี่ครั้งก็ไม่เคยเบื่อ”

บุรฉัตรชอบสำเนียงฝรั่งเศสของอเดลลาเมื่อขานชื่อภาพวาด หญิงสาวดูสดใสเมื่อเปิดรอยยิ้ม ดวงตาสีน้ำตาลอ่อนทอประกายระยิบ ผิดกับอเดลลาคนก่อนหน้านี้ซึ่งเงียบนิ่งและดูไว้ตัว

“ถ้าคุณชอบงานเขียนของ Bouguereau คุณก็ต้องรู้จัก Sir Lawrence Alma Tadema สิคะ คนโปรดของดิฉันเลยละค่ะ ภาพของเขางดงามมาก”

“รู้จักสิครับ ภาพเขียนของสองท่านนี้คล้ายกัน ต่างกันก็เพียงการใช้ฝีแปรงของ Bouguereau จะเกลี่ยสีเนียนละเอียด การคุมโทนสีจะนุ่มและคลาสสิก ส่วนหลายภาพของ Sir Lawrence Alma Tadema จะแทรกสีสดใสในเสื้อผ้าและดอกไม้ ต้องยอมรับเลยว่าศิลปินรุ่นเก่า ฝีมือเฉียบขาดมาก” บุรฉัตรเอนหลังพิงพนัก เขาเห็นแววกระตือรือร้นในดวงตาเมื่อหญิงสาวโน้มตัวมาวางข้อศอกลงบนโต๊ะ สองมือประสานกันไว้ ปากหยักอิ่มเต็มสีกุหลาบเผยอยิ้ม

“อ้อ ยังมีอีกคนที่ดิฉันชอบ คุณรู้จักจิตรกรชาวฝรั่งเศสที่ชื่อ Émile Munier ไหมคะ ภาพของเขาคล้ายกับ Bouguereau มาก”

“รู้จักครับ เขาเป็นลูกศิษย์มือเอกของ Bouguereau นี่ครับ ถอดแบบสไตล์การวาดจากอาจารย์มาได้หมดเลย”

“ดิฉันชอบรูป Le sauvetage และ Armistice ดูน่ารักมาก”

“ท่าทางคุณจะชอบกามเทพนะครับ” บุรฉัตรเอ่ย แต่เมื่อเห็นคิ้วสีน้ำตาลเข้มขมวดและแววตาสงสัย เขารีบเอ่ยขอโทษ “โทษทีครับ ผมหมายถึง cupid น่ะ”

“คุณรู้ได้ไงคะ” อเดลลาอุทาน ตาทอประกาย “ใช่ค่ะ ฉันชอบ cupid มาก”

“เพราะภาพที่คุณพูดถึง จะมี cupid อยู่ในนั้นทุกภาพน่ะสิครับ”

“ฉันชอบภาพวาดที่เกี่ยวกับ cupid ฉันชอบเด็กตัวเล็กๆ ผมหยิกขอด แก้มกลม ตัวป้อมๆ ยิ่งมีปีกสีขาวด้วย ยิ่งน่ารัก” อเดลลายิ้ม “เอ…เมื่อกี้คุณเรียก cupid ว่ายังไงนะคะ”

“กามเทพครับ กาม หมายถึงความรัก ส่วนเทพก็คือเทวดาหรือเทพเจ้า ภาษาอังกฤษคือ angel นั่นแหละครับ เทพเจ้าแห่งความรัก”

“ภาพเขียนของคุณก็ไม่ด้อยกว่าสองท่านนี้หรอกค่ะ ยอมรับเลยว่าแค่ได้ชมภาพเล็กๆจากหนังสือ ยังสวยงามขนาดนั้น คิดแล้วยังเสียดายที่ไม่มีโอกาสได้ชมต้นฉบับจริง” อเดลลาเสียงอ่อน

“ขอบคุณครับ ถ้าคุณสนใจ ผมอนุญาตให้ไปชมที่แกลเลอรีส่วนตัวของผมได้ แต่คงต้องเป็นต้นเดือนหน้า เพราะภาพทั้งหมดต้องนำไปจัดนิทรรศการที่ฝรั่งเศสอีกสามอาทิตย์ครับ ถ้าโชคดี คุณก็จะได้ชมครบทุกภาพ แต่ถ้าโชคดีน้อยหน่อย งานบางชิ้นอาจจะมีคนขอซื้อไปเสียก่อน”

“ขอบคุณมากเลยค่ะ” อเดลลากระพุ่มมือไหว้แบบที่เคยได้รับการฝึกเมื่อครั้งยังเป็นพนักงาน บุรฉัตรสังเกตเห็นกิริยานุ่มนวล สายตาอ่อนโยนแฝงความเก้อเขินยามถูกจับตามอง

บุรฉัตรหยุดการสนทนาไว้ชั่วครู่ เพื่อให้อเดลลาได้รับประทานอาหาร เขาบริการตักอาหารให้ พร้อมอธิบายสรรพคุณของแต่ละจานอย่างเชี่ยวชาญ ความเพลิดเพลินในบรรยากาศการพูดคุยทำให้อเดลลาลืมเรื่องสำคัญที่ตั้งใจไป เมื่อฉุกคิดได้จึงเอ่ยถามทันที

“เอ้อ…คุณบุรฉัตรคะ ดิฉันอยากรบกวนถามค่ะ” ชายหนุ่มเลิกคิ้ว มองนิ่ง “ดิฉันอยากทราบว่าภาพเรือนไม้ที่…”

“ว้าว! บรู๊ค” เสียงหนึ่งแทรกขึ้น อเดลลาชะงักคำ อ้าปากค้าง



Don`t copy text!