แรมสิบห้าค่ำนี้มีปาฎิหาริย์ บทที่ 1 : โลกใบเล็กของนารา (1)

แรมสิบห้าค่ำนี้มีปาฎิหาริย์ บทที่ 1 : โลกใบเล็กของนารา (1)

โดย : ณรัญชน์

Loading

แรมสิบห้าค่ำนี้มีปาฎิหาริย์ นวนิยายเรื่องล่าสุดจาก ณรัญชน์ ที่อ่านเอาคัดสรรมานำเสนอ กับเรื่องราวของกระจกโบราณที่สามารถทำนายอนาคตมนุษย์ทุกคนได้อย่างแม่นยำ ‘วิศรุต’ จึงใช้มันมาลิขิตชะตาชีวิตตัวเอง แม้นั่นจะหมายถึงการทำลายล้างคนรอบข้างอย่างโหดเหี้ยม ไม่เว้นแม้แต่ผู้หญิงที่เขารัก นวนิยายออนไลน์จาก www.anowl.co

หากย้อนคิดกลับไปถึงช่วงเวลาในวัยเยาว์ สิ่งที่แจ่มชัดที่สุดในความทรงจำของนาราได้แก่บ้านสองชั้นครึ่งปูนครึ่งไม้ มุงหลังคาสีเขียว ลานหน้าบ้านปลูกต้นตะแบกต้นใหญ่ ส่วนด้านหลังมีกุมาริกาเลื้อยพาดพันตลอดแนวรั้วที่กั้นระหว่างคลองกับตัวบ้าน ผลิดอกขาวพร่างหอมกรุ่นในฤดูร้อน เป็นสถานที่ที่เธอใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยมาตลอดหลายปี ไม่ต้องกริ่งเกรงระวังตัวไปเสียทุกสิ่งเหมือนอย่างทุกวันนี้ เพราะที่นั่นมีคุณแม่คอยคุ้มครองให้ความอบอุ่น ไม่ต่างจากแม่นกคอยดูแลลูกอ่อนที่ยังไม่หัดบิน

แม่ตวงพรในความทรงจำของนาราเป็นผู้หญิงผิวขาวเหลือง ใบหน้าหวาน ในกรอบหน้ารูปไข่มีรอยยิ้มใจดีแต่งแต้มอยู่เป็นนิจ ใครๆ ก็ชมว่าแม่เป็นคนสวยสมกับที่เคยเป็นนางเอกละครมาก่อน แต่ถึงอย่างนั้นแม่กลับไม่ชอบแต่งหน้าทาปากเหมือนผู้หญิงสวยคนอื่นๆ เวลาว่างของแม่หมดไปกับการทำงานฝีมือหรือวาดรูป โดยเฉพาะวาดตุ๊กตาเป็นรูปผู้หญิงสวมเสื้อผ้าแบบต่างๆ แล้วให้นาราระบายสีเล่นตามชอบใจ ขณะที่นาราก้มหน้าก้มตาลงสี ตวงพรก็จะมองลูกอย่างเอ็นดูแกมสงสาร ครั้งหนึ่งเธอเคยชมว่า

“นาราดีตรงที่ชอบวาดรูปเหมือนแม่ ไม่ชอบออกไปเที่ยวหรือร้องจะเอาตุ๊กตาแพงๆ ไม่อย่างนั้นแม่คงไม่มีปัญญาซื้อให้”

“ทำไมแม่ถึงไม่มีเงินล่ะคะ หนูเห็นคุณแม่ใหญ่ขอเงินพ่อออกจะบ่อย พี่รพีก็ชอบให้พ่อพาไปซื้อของเล่น แม่ขอบ้างไม่ได้หรือ”

นาราไม่ได้คิดอะไรนอกจากถามไปเรื่อยเปื่อยตามประสาเด็ก แต่รอยยิ้มของตวงพรสลดลงทันที แม้แต่น้ำเสียงที่มักจะเฉื่อยเนือยเหมือนคนหมดอาลัยตายอยากก็เปลี่ยนเป็นจริงจัง

“แม่เป็นแค่เมียน้อยเขา จะไปเรียกร้องอะไรมากๆ เหมือนคุณวรรณาที่เป็นเมียหลวงไม่ได้หรอกลูก จำคำแม่ไว้นะนารา โตขึ้นลูกต้องไม่เดินตามรอยแม่เป็นอันขาด อย่ายอมเป็นเมียน้อยใครและอย่าขอใครกิน ตนเท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งแห่งตน อย่าได้ฝากความหวังไว้ที่คนอื่นนอกจากตัวเราเอง”

ในวัยเพียงสิบสองปี นาราไม่อาจเข้าใจความหมายของมารดาและไม่เฉลียวใจเลยว่าคำสอนนั้นจะเป็นคำสั่งลาครั้งสุดท้าย ก่อนที่ตวงพรจะเสียชีวิตไปในเวลาไม่นานต่อจากนั้น

หลังจากสิ้นบุญมารดา นาราควรจะย้ายจากเรือนเล็กขึ้นไปอยู่บนตึกใหญ่เพื่อให้วรรณาดูแลได้สะดวก แต่ติดปัญหาว่ารพีพรรณลูกสาวของวรรณาไม่ชอบน้องสาวเอาเสียเลย เพียงวรรณาเปรยว่าจะให้นารามาอยู่ด้วย รพีพรรณก็ร้องไห้โวยวายราวกับน้องสาวจะเอาโรคร้ายมาแพร่ ลงท้ายเด็กหญิงทำฤทธิ์ขังตัวเองอยู่ในห้อง ไม่ยอมกินข้าวกินปลาถึงหนึ่งวันเต็มๆ นาราเองก็อยากอยู่ในบ้านที่มีอดีตผูกพันร่วมกับแม่มากกว่า เด็กหญิงจึงโล่งใจเมื่อวรรณาสั่งให้เธอพักที่เรือนเล็กต่อไป มีแม่องุ่น พี่เลี้ยงที่ดูแลกันมาตั้งแต่เกิดอยู่เป็นเพื่อน

ส่วนคุณสุพจน์พ่อของนารานั้นไม่สนใจครอบครัวมาแต่ไหนแต่ไร เขาเป็นผู้ชายประเภทที่คิดว่าหน้าที่ของสามีคือทำงานหาเลี้ยงลูกเมียเท่านั้น เรื่องปลีกย่อยทั้งหลายในบ้านเป็นหน้าที่ของภรรยาหลวงที่จะต้องควบคุมดูแล ไม่ให้ยุ่งยากมาถึงตัวเขา

วันธรรมดาสุพจน์จะทำงานอยู่ที่กระทรวงทั้งวัน กว่าจะกลับถึงบ้านก็ค่ำมืด ส่วนในวันหยุดสุพจน์ชอบออกไปสังสรรค์กับเพื่อนมากกว่าจะใช้เวลาใกล้ชิดลูกๆ ประกอบกับเขาเคยมีเรื่องบาดหมางกับตวงพรก่อนที่อีกฝ่ายจะเสียชีวิต นาราจึงกลายเป็นลูกที่พ่อไม่เอาใจใส่ นานๆ ทีถ้านึกขึ้นได้สุพจน์ก็จะถามถึงลูกสาวกำพร้าสักครั้ง พอรู้ว่านารากินอิ่มนอนหลับไม่ได้เจ็บป่วย โดยรวมแล้วนับว่าสบายดี เขาก็ไม่ได้ใส่ใจอีก

แท้ที่จริงชีวิตในเรือนเล็กของนาราอยู่ในขั้นขัดสน วรรณาไม่พอใจเมียน้อยของสามีมาตั้งแต่ตวงพรยังมีชีวิตอยู่แล้ว ยามนี้เมื่อต้องมาดูแลลูกของฝ่ายตรงข้าม เธอก็บอกตัวเองว่า

“ลูกเสือลูกตะเข้ เลี้ยงให้ดีไปก็เท่านั้น โตขึ้นมันจะมาสำนึกบุญคุณฉันหรือก็เปล่า”

ค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนที่วรรณาจัดสรรให้ลูกเลี้ยงครอบคลุมเพียงค่าอาหารสามมื้อกับเหลือให้ใช้จ่ายจิปาถะอีกเล็กน้อยเท่านั้น พอถึงเวลาจะต้องจ่ายค่าเล่าเรียน เธอก็มักจะอ้างธุระมากมายในบ้านจน ‘ลืม’ ไปเสียทุกครั้ง แม้จะรู้อยู่เต็มอกว่าลูกเลี้ยงของเธอถูกเรียกไปทวงเงินทุกเทอมจนเป็นขาประจำของห้องพักครูไปแล้วก็ตาม

ถึงนาราจะเป็นเด็กแก่นแก้วพอตัว แต่เวลานั้นเด็กหญิงยังบริสุทธิ์ต่อโลกพอจะเชื่อว่าแม่เลี้ยงคงมีธุระยุ่งจนลืมไปจริงๆ มีแต่แม่องุ่นที่ค้านเสียงแข็ง

“คุณวรรณาเธอจงใจกีดกันไม่ให้คุณเรียนหนังสือน่ะสิ หรืออย่างน้อยคุณก็จะได้เป็นทุกข์จนเรียนไม่รู้เรื่อง” นางทำตาคว่ำค้อนขวับไปทางเรือนใหญ่ “ไอ้ที่ว่าลืมน่ะโกหกทั้งเพ คนเราลงว่าจะแกล้งกันไม่ว่าอะไรก็ยกเป็นข้ออ้างได้หมดละค่ะ ตัวเองเป็นผู้ใหญ่แท้ๆ ยังจะใจดำรังแกเด็กได้ลงคอ อิจฉาแม่แล้วมาพาลลูก คนอะไร้” ประโยคท้ายนางบ่นอุบอิบ

ครั้นเกิดเหตุการณ์แบบเดิมติดต่อกันหลายเทอมเข้า นาราก็เลิกคิดที่จะรอเงินจากแม่เลี้ยงอีก เทอมต่อมาเมื่อทางโรงเรียนยื่นคำขาดว่าจะตัดสิทธิ์ไม่ให้สอบปลายภาค หากยังไม่จ่ายค่าเทอมที่ค้างชำระอยู่ เด็กหญิงก็ไปดักรอบิดาตั้งแต่เช้าก่อนอีกฝ่ายจะขึ้นรถไปทำงาน สุพจน์เป็นคนรักหน้าตัวเองเป็นที่สุด พอรู้ปัญหาของลูกสาวเขาก็เปิดซองธนบัตรหยิบเงินให้ทันที และแน่นอนว่าเขาจะต้องไปไล่เบี้ยเอากับภรรยาหลวง

“ครูที่โรงเรียนคงนินทาพี่ป่นปี้ว่าไม่ดูแลลูก หรือไม่ก็คิดว่าครอบครัวเราตกต่ำจนไม่มีเงินจะจ่ายค่าเทอม นี่ถ้าคนที่กระทรวงรู้เข้าพี่จะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน” สามีหัวเสีย หน้าตาบึ้งตึง

วรรณาหน้าเจื่อน ตอบเสียงเบา “ช่วงนี้ลูกรพีป่วย คนรับใช้ก็ลาออกไป ดิฉันวุ่นวายอยู่คนเดียวจนลืมเรื่องของนาราไปเลย ขอประทานโทษจริงๆ ค่ะ”

เป็นที่รู้กันทั้งบ้านว่าสุพจน์ให้เกียรติภรรยาหลวงมาก ถ้าไม่เหลืออดจริงๆ เขาจะไม่ต่อว่าวรรณาเลย สืบเนื่องจากตอนที่ได้ตวงพรเป็นภรรยาน้อยใหม่ๆ เขาเคยเช่าบ้านบนถนนดินสอให้ตวงพรอยู่แล้วหมั่นแวะไปหาทุกสัปดาห์ แต่ปิดบังได้ไม่นานวรรณาก็รู้เข้าจนได้

ในตอนนั้นวรรณาไม่ได้โวยวายอย่างที่ใครๆ คิดว่าเธอจะทำ แต่กลับวางตัวสงบเสงี่ยมบอกให้สามีปลูกเรือนเล็กขึ้นตรงที่ดินว่างเปล่าริมรั้ว แล้วให้ตวงพรย้ายเข้ามาอยู่ ความใจกว้างของภรรยาหลวงในครั้งนั้นเป็นเหตุให้สามีเกรงใจมาโดยตลอด

ครั้งนี้ก็เช่นกัน ถึงแม้จะเคืองแค่ไหนสุพจน์ก็ยังระงับอารมณ์ไว้ได้ เพียงแค่วรรณายอมรับผิดและสัญญาว่าต่อไปจะจ่ายค่าเทอมของนาราให้ตรงเวลา เขาก็ไม่ติดใจเอาความอีก

วรรณารอจนสามีเดินลับเข้าไปในห้องทำงานของเขาแล้ว ก็หยิบปลอกหมอนที่กำลังปักลายให้ลูกสาวขึ้นมาทำต่อ แต่ใบหน้าคนทำเครียดขมึง นิ้วที่จับเข็มปักผ้าเกร็งแน่นคล้ายอยากขยี้ใครบางคนให้แหลกคามือ

เย็นวันนั้นคุณแม่ใหญ่สละเวลามาเยี่ยมลูกเลี้ยงถึงเรือนเล็ก เธอเดินนำนางองุ่นและนาราสำรวจไปทั่วบ้าน มองไปทางไหนก็พบข้อบกพร่องให้ตำหนิได้ทุกจุด ครัวสกปรกมีคราบเขม่า หยากไย่เกาะเต็มช่องลม ใต้บันไดมีฝุ่นจับกรัง ผ้าม่านมีกลิ่นอับ ฯลฯ สุดท้ายเมื่อวนกลับเข้ามานั่งในห้องโถง วรรณาก็ประกาศิตเสียงเย็น

“นังองุ่น ฉันเห็นว่าแกเป็นคนเก่าคนแก่ของแม่ตวงพรหรอกนะถึงไว้ใจให้ดูแลเรือนเล็ก แต่เมื่อทำงานแบบขอไปทีก็ไม่รู้จะเลี้ยงต่อไปอีกทำไม พรุ่งนี้แกเก็บข้าวของออกจากบ้านไปซะ ฉันไม่เลี้ยงพวกขี้เกียจสันหลังยาว”

แม่องุ่นที่พับเพียบอยู่กับพื้นถึงกับหน้าเสีย นาราผวาเข้ากอดพี่เลี้ยงไว้แน่น

“ส่วนแม่นาราก็ไม่ต้องห่วงว่าจะไม่มีใครดูแล นังองุ่นมันอบรมแม่นาราไม่ดี ปล่อยให้เอาเรื่องไม่เป็นเรื่องไปรบกวนคุณพ่อ ต่อไปฉันจะหาพี่เลี้ยงคนใหม่มาอยู่ที่เรือนนี้เอง รับรองว่าคนของฉันจะดูแลแม่นาราให้สุขสบาย ถ้าวิญญาณแม่ตวงพรรู้เข้าจะต้องพอใจมากเชียวละ”

นาราตะลึงงันมองแม่เลี้ยงอย่างไม่เชื่อหู เมื่อสบตากันก็พบแววเย็นชาเหินห่างมองตอบกลับมา ผสานกับน้ำเสียงเหี้ยมเกรียมในประโยคท้าย ทั้งหมดพุ่งเข้าเสียบหัวใจไร้เดียงสาของผู้เยาว์ราวกับลูกธนูจากมือนายพราน พริบตานั้นนารารู้สึกว่าตนเองเติบใหญ่ขึ้นทันที จากเด็กน้อยที่เชื่อในนิทานก่อนนอนไปเป็นผู้ใหญ่ที่พบว่าโลกใบนี้ไม่ได้งดงามอย่างที่คิด

อะไรหลายๆ อย่างที่เคยคลุมเครือพลันกระจ่างแจ้งในวินาทีนั้นเอง….

การกระทำที่ผ่านมาของวรรณา ทุกเรื่องไม่ใช่เหตุบังเอิญ แต่เป็นการกลั่นแกล้งลูกเลี้ยงของเธออย่างจงใจ

และที่มาในวันนี้ จุดประสงค์แท้จริงของแม่เลี้ยงก็เพื่อลงโทษนาราที่บังอาจไปขอค่าเล่าเรียนจากคุณพ่อ ทำให้วรรณาถูกสามีตำหนิ เมื่อทำกับนาราโดยตรงไม่ได้ วรรณาก็นำโทษทัณฑ์ทั้งหมดมาลงที่แม่องุ่น

และแน่นอนว่าหลังจากไล่พี่เลี้ยงออกไปแล้ว คนรับใช้คนใหม่ที่เธอหามาจะต้องควบคุมนาราอย่างเข้มงวดยิ่งกว่าผู้คุมดูแลนักโทษ จนลูกเลี้ยงหาความสุขไม่ได้เลย

“คุณแม่ขา เรื่องทั้งหมดเป็นความผิดของหนูเอง ไม่เกี่ยวอะไรกับพี่องุ่น ต่อไปหนูจะไม่สร้างความหนักใจให้คุณแม่อีก ส่วนคุณพ่อหนูก็จะไม่ไปรบกวนอีกแล้ว หนูสัญญา” นารากล้ำกลืนความสะเทือนใจลงไป อ้อนวอนเสียงเครือ “ขอให้พี่องุ่นอยู่กับหนูต่อไปเถิดนะคะ หนูอยู่กับพี่องุ่นมานานแล้วไม่อยากได้พี่เลี้ยงคนใหม่”

วรรณายิ้มในหน้า เมื่อนารายอมหมอบราบคาบแก้วเธอก็ไม่เห็นความจำเป็นจะต้องเสียเวลากับเด็กหญิงอีก แต่เธอยังต้องการที่จะแน่ใจว่าได้กดลูกเลี้ยงไว้อยู่มือแล้วจริงๆ ด้วยการทำให้นารารับรู้สถานะของตนเองอย่างแจ่มชัด

นับจากนั้นแม่องุ่นก็ได้รับคำสั่งให้ไปยกสำรับอาหารของนารามาจากครัวของเรือนใหญ่ แทนที่จะให้เงินมาซื้อของสดทำกินกันเองที่เรือนเล็กอย่างเคย แต่กับข้าวที่ยกมาเป็นอาหารพื้นๆ ชนิดเดียวกับที่เลี้ยงคนรับใช้ อีกทั้งปริมาณยังน้อยนิดไม่พอให้แม่องุ่นกินต่อจากเจ้านาย

และถ้าวันไหนแม่องุ่นไปถึงครัวสายกว่ากำหนดก็จะพบว่าไม่มีข้าวปลาเหลือแล้ว นางต้องไปเก็บผักตำลึงริมรั้วมาทำเป็นแกงจืดให้นารากิน เก็บไปก็น้ำตาไหลไปด้วยความเจ็บใจและเวทนาเด็กหญิง

ถึงเวลานี้นาราไม่หวังความช่วยเหลือจากบิดาอีกแล้ว เธอประจักษ์ว่าคำสั่งสอนของตวงพรก็คือคำพยากรณ์ชีวิตในภายภาคหน้าของเธอโดยแท้

‘จำคำแม่ไว้นะนารา ตนเท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งแห่งตน อย่าได้ฝากความหวังหรือฝากชีวิตไว้กับคนอื่นนอกจากตัวเราเอง’

ในครัวของเรือนเล็กมีอุปกรณ์อบขนมที่มารดาทิ้งไว้รวมกับตำราสองสามเล่ม นาราจึงลองทำขนมง่ายๆ ไปขายที่โรงเรียน และก็ขายดีเสียด้วย แต่ก็เกิดปัญหาขึ้นอีกจนได้ว่าถ้าไม่คอยเฝ้าไว้ ตอนกลางคืนมักจะมีคนย่องเข้ามาคว่ำถาดขนมที่ตั้งอยู่ในครัวเอาดื้อๆ จนทุนหายกำไรหด

ต่อมานาราได้ลูกเจี๊ยบหลายตัวมาจากภารโรงที่โรงเรียน เลยนำมาเลี้ยงไว้เก็บไข่กิน แต่ไก่เจ้ากรรมก็ถูกวางยาตายหมดทั้งเล้าอย่างน่าเศร้าใจ

เมื่อไม่มีเงินจะลงทุนซื้อของมาขาย แม่องุ่นก็หาทางออกด้วยการรับงานปักผ้าและทำของชำร่วยส่งร้านค้าในพาหุรัด ได้เงินเล็กๆ น้อยๆ ไว้ใช้จ่ายในยามจำเป็น นางมัววุ่นวายกับการดำรงชีพจนละเลยไม่ได้กวดขันกิริยามารยาทของนารา กว่าจะรู้ตัวในอีกหลายปีต่อมา แม่องุ่นก็พบว่าเด็กหญิงที่นางหวังจะให้เรียบร้อยเป็นกุลสตรี ได้กลายเป็นสาวน้อยแรกรุ่นที่ปราดเปรียวยิ่งกว่ากระต่ายป่าไปเสียแล้ว

นาราไม่ชอบนั่งเย็บผ้าอย่างพี่เลี้ยง แต่แอบไปรับจ้างทำงานหลังเลิกเรียน ทั้งล้างจาน ขายขนม เดินโพยหวย เด็กสาวทำได้คล่องแคล่วไม่แพ้หัวโจกคนไหนๆ เลยทีเดียว



Don`t copy text!