แสนคำนึง บทที่ 1 : บ้านคำหอม

แสนคำนึง บทที่ 1 : บ้านคำหอม

โดย : สิริมารีน

Loading

แสนคำนึง โดย สิริมารีน กับเรื่องราวความรักและการรอคอย ท่ามกลางกลิ่นอายของสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งอุบัติขึ้นโดยไม่มีใครคาดหมาย สงครามที่พรากความรักของมัทนาและศันต์จากกัน…หนึ่งหัวใจ และหนึ่งหน้าที่ที่มีต่อชาติบ้านเมือง…หากชีวิตนี้ ศันต์พร้อมจะพลีเพื่อเธอคนเดียว … นิยายออนไลน์ ที่ อ่านเอา อยากให้คูณได้ อ่านออนไลน์ ได้ลงจนจบบริบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางผู้เขียนใจดีมอบ 5 บทแรกไว้ให้อ่านกันที่อ่านเอาและหากติดใจอยากอ่านต่อคุณผู้อ่าน สามารถหาซื้อเป็น eBook ได้ โดยสามารถติดตามรายละเอียดได้ใน Facebook Fanpage : สิริมารีน ค่ะ

……………………………………………………………

 

-1-

 

ท่าเรือบัลติมอร์

มีนาคม พ.ศ. 2486

 

เสียงเครื่องยนต์เรือลิเบอร์ตี้ดังแหวกความเงียบในยามดึกสงัด เป็นสัญญาณเตือนว่า การเดินทางกำลังจะเริ่มขึ้นแล้ว

ชายหนุ่มในเครื่องแบบสีกากีแกมเขียวขยับเป้สะพายบ่าให้ถนัดมือ น้ำหนักของสัมภาระทำให้เลือดซึมออกมาจากรอยบาดที่แขน แต่เจ้าตัวมิได้ใส่ใจ หันไปกวาดตามองลำเรือซึ่งเต็มไปด้วยชายฉกรรจ์วัยตั้งแต่สิบแปดขึ้นไปถึงสามสิบเศษ ทุกคนสวมเครื่องแบบสีกากีแกมเขียวคล้ายทหาร แต่สีหน้ากังวลและแววตาหวาดหวั่นสับสนนั้นแสดงให้รู้ว่าพวกเขาไม่ใช่นักรบมืออาชีพ

“เร็วเข้า!” เสียงสั่งเป็นภาษาอังกฤษเร่งให้ก้าวขึ้นเรือที่มารับกำลังพลเดินทางไกลไปสู่การปฏิบัติงานที่อาจต้องแลกด้วยชีวิต

เขาเหลียวหลังกลับไปมองทั้งที่ความมืดปกคลุมจนไม่เห็นฝั่ง กระนั้นยังอยากจะสั่งลา เพราะไม่รู้ว่าจะได้กลับสู่ชีวิตนักศึกษาอันปกติสุขอีกเมื่อไร แต่หากไม่ออกปฏิบัติภารกิจ ก็อาจไม่มีแผ่นดินให้เหยียบยืน…ด้วยเหตุผลนี้ ทุกคนจึงยอมละทิ้งอาชีพ การศึกษา ครอบครัว สละแม้ตัวตนและชื่อนามสกุล กลายเป็นคนใหม่ในนามแฝง ข้อมูลส่วนตัวทุกอย่างกลายเป็นความลับสุดยอด

“ซัน” เพื่อนที่นั่งเบียดไหล่เรียกเขาด้วยชื่อรหัส

“มีอะไร”

“แผลที่แขน…เจ็บมากไหม”  

“ไม่หรอก” เขาก้มลงมองรอยบาดนั้น “สมาร์ท” มีน้ำใจเสมอ ซันสังเกตได้ระหว่างร่วมฝึกการรบใต้ดินและวิชาจารชนในค่ายมาด้วยกัน น่าเสียดายที่เพิ่งมารู้จักในภารกิจลับ คงสนุกไม่น้อยหากได้เป็นเพื่อนเรียนหนังสือด้วยกัน

แต่มหาวิทยาลัยอเมริกันเริ่มห่างไกลออกไปเรื่อยๆ ราวกับอยู่ในความฝัน ซันถอนใจก่อนจะสะบัดหน้า เสียดายวันเวลาของการเรียนรู้ที่ถูกทำลายด้วยภัยสงคราม แต่เขาก็เชื่อมั่นว่า ปฏิบัติการนี้ คือวิถีทางเดียวที่ประเทศชาติจะรอดพ้นจากผู้ยึดครอง และรักษาเอกราชไว้ได้

เพื่อชาติ…เพื่อมนุษยธรรม…เขาท่องอยู่ในใจ กอดถุงทะเลบนตักแน่นขึ้น

“เลือดไหลอีกแล้ว” สมาร์ทบ่นพึมพำ “ส่งผ้าเช็ดหน้ามาสิ จะผูกให้”

“ไม่เป็นไร” แม้เขาจะยืนยันเช่นนั้น สมาร์ทก็ยังพยายามดึงผ้าไปจากมือ จนต้องส่ายหน้าห้าม เพิ่งรู้ตัวว่าลินินผืนน้อยยับเยินเพราะเขากำไว้

ซันเพ่งมองลายปักอักษรย่อ “เอ็ม” ในวงล้อมกุหลาบชมพู กลิ่นหอมที่อบร่ำด้วยกลีบดอกไม้ชนิดเดียวกันนั้นจางไปนานแล้ว แต่เขายังจดจำได้เจนใจ ความอ่อนหวานนี้เป็นอีกสิ่งหนึ่ง ซึ่งเขาต้องยอมลาจาก เลือกเส้นทางยากลำบาก เพื่อตราธงชาติและคำว่า “ฟรีไทย” ที่ติดอยู่บนแขนเสื้อ…

………………………………

ข้ามขอบฟ้ามหาสมุทรไปไกลอีกฝั่งหนึ่งของโลก เจ้าของชื่อย่ออักษร “เอ็ม” นั่งอยู่หน้าเปียโนสีขาว ท่วงทำนองลาวคำหอมอันอ่อนหวานพลิ้วพรายจากปลายนิ้ว

โน้ตสุดท้ายแผ่วจางลง พร้อมกับเสียงปรบมือเบาๆ “เล่นฟังกันเอง ซ้อมเพลงในบ้าน เขาคงจะไม่มาจับกุมหรอกนะ” เจ้าจอมสายหยุดก้าวช้าๆ เข้ามานั่งที่เก้าอี้ริมหน้าต่าง ตามด้วยบ่าวหญิงสองคนนำของว่างและน้ำชามาจัดวางบนโต๊ะปูผ้าลูกไม้

“กินของว่างกัน มัทนา”

“เจ้าค่ะ”

“ช่อม่วง กับน้ำมะตูม” ผู้อาวุโสชี้ชวน “ทำเล่นแก้กลุ้มไปอย่างนั้น ว่างจนเบื่อ ฉันไม่เข้าใจจริงๆ ว่าทำไมรัฐบาลเขาจะต้องออกกฏอะไรมากมาย เรื่องดนตรีไทย”

“ฉันพอจะทำตามได้หรอกนะ ตอนประกาศเรื่องแต่งตัวมาลานำไทยไปสู่มหาอำนาจ” คุณจอมบ่นต่อไป “มัทนาเอง แต่งแหม่มก็ขึ้น เพราะหน้าหวาน ตาโตและผิวขาว ไว้ผมยาวดัดลอนก็สวยดี เสื้อผ้าเปลี่ยนตามยุคสมัยไม่แปลก ฉันเห็นมามากตั้งแต่สมัยแขนพองเป็นขาหมูแฮม แล้วกลายเป็นเสื้อตัวยาวแบบปลากระบอกท้องไข่”

คุณจอมช่างแต่งตัวให้เข้าสมัยอยู่เสมอ ท่านปฏิบัติตามรัฐนิยมเรื่องเครื่องแต่งกายด้วยการไว้ผมยาวเกล้ามวย นุ่งซิ่นยาวสีม่วงเม็ดมะปรางกับเสื้อแขนสามส่วนสีเขียวโศก เป็นสีตามวันเหมือนเมื่ออยู่ในวังหลวง ที่ข้อมือมีสร้อยเส้นบางซ้อนกัน ไม่ปล่อยให้คอแขนโล่งไร้เครื่องประดับ ใบหน้าคมคายและรูปร่างที่สง่าสมวัย คงเค้าความงามอันเลื่องลือเมื่อยังสาว

“ให้เลิกนุ่งโจงไม่กระไร แต่ห้ามเล่นมโหรีนี่เกินไป ฉันอ่านคำสั่งยังไม่เข้าใจ เป็นไปได้หรือที่จะควบคุมมโหรีปี่พาทย์”

“ต้องแต่งกายตามกฏระเบียบ นั่งเก้าอี้…” มัทนาท่องจำข้อบังคับที่เพิ่งออกมาใหม่จนขึ้นใจเหมือนกัน

“ยุ่งยาก” คุณจอมส่ายหน้า “ไหนจะสอบทำใบรับรอง จะแสดงแต่ละทีมีทำเรื่องขออนุญาต กำหนดเรื่องเพลงเรื่องร้องนั่นนี่ ไม่ทำตามมีความผิด สุดท้ายก็ท้อ วงแตกเห็นไหมล่ะ”

เมื่อสองเดือนก่อน คนในบ้านคำหอมตกใจกันมาก เพราะรัฐบาลสั่งควบคุมดนตรีไทย มีข้อบังคับมากมายชวนให้ท้อถอย สาวๆ ในวงเครื่องสายผสมเปียโน “แก้วเจ้าจอม” แห่งบ้านคำหยาดที่กำลังได้รับความนิยมก็ต้องพลอยหยุดรับงาน แตกฉานซ่านเซ็นกันไป บางคนตัดสินใจรับหมั้น แต่งงาน บ้างก็กลับไปอยู่บ้านเดิมกับพ่อแม่ เหลือนักดนตรีอยู่แค่สองคน คือมัทนากับวดี ที่เจ้าจอมสายหยุดเลี้ยงมาตั้งแต่ยังเล็กทั้งคู่

“ชนใดไม่มีดนตรีกาล…” มัทนาพึมพำ

“อย่าพูดไป” ผู้อาวุโสวางถ้วยชากระทบจานรอง “หน้าต่างมีหู ประตูมีช่อง เดี๋ยวจะเดือดร้อน”

“นาไม่กลัวเขาหรอกเจ้าค่ะ อย่างไรก็จะฝึกซ้อมต่อไป คงมีสักวัน ที่เราจะรวมวงกันได้อีก”

“ซ้อมต่อดีแล้ว มัทนา บ้านเมืองคงไม่เป็นแบบนี้ตลอดไป ฉันเห็นมาหลายยุคสมัย มีขึ้นมีตก เปลี่ยนแปลงเมื่อไรก็ได้ทั้งนั้น เราอย่าทิ้งวิชาเสีย อุตส่าห์ฝึกมาแต่เล็กแต่น้อย…”

………………………………

 

พระนคร พ.ศ. 2477

 

มัทนาเริ่มหัดเปียโนตั้งแต่อายุสิบเอ็ดขวบ เมื่อแม่พาเข้ามาพึ่งใบบุญคุณจอมสายหยุด หลังจากพ่อหายสาบสูญไปเกือบปี…

เด็กหญิงหิ้วกระเป๋าผ้าใบเล็กเดินตามมารดาอย่างงุนงง วันนั้นแม่สั่งให้ใส่กระโปรงกะลาสีซึ่งเป็นชุดดีที่สุด รวบผมผูกโบว์ แล้วพามาขึ้นรถสามล้อ “เราจะไปบ้านของคุณจอมสายหยุด ท่านรู้จักกับคุณยายมาตั้งแต่สมัยอยู่ในพระราชวังดุสิต แม่เรียนท่านแล้วว่าจะขอฝากนาไว้”

“นาไปกับแม่ไม่ได้หรือคะ”

แม่หันหน้าไปทางอื่น ตอบเบาๆ ว่า “อยู่กับท่าน นาจะได้เรียนหนังสือ เรียนดนตรี ท่านมีวงเครื่องสายหญิงล้วน ออกแสดงตามวังเจ้านาย งานเลี้ยงใหญ่โต นาจะต้องชอบ”

รถเลี้ยวไปทางริมคลองสามเสน ถนนสายนี้มีบ้านสวยหลายหลัง “ส่วนมากเป็นตำหนักเจ้านาย แถวนี้เรียกว่าสวนนอก คืออยู่นอกสวนดุสิต คุณจอมท่านก็ได้รับที่ดินพระราชทานเหมือนกัน ช่วงกลางรัชกาลที่หก ท่านออกจากวังมาปลูกบ้านอยู่ที่นี่หลายปีแล้ว มีห้องแถวให้เช่าด้วย ตอนเกิดเรื่องคณะราษฎร์เมื่อสองปีก่อน ก็เลยไม่กระทบท่านเท่าไรนัก” แม่เล่าแล้วก็ชี้บอกว่า “จอดตรงนั้นเลยจ้ะ”

แขกยามในป้อมชะโงกหน้าออกมาดู พอเห็นว่าเป็นใครก็กล่าวทักทายและออกมาเปิดประตูให้

ระหว่างแม่จ่ายเงินให้คนถีบสามล้อ มัทนาเงยหน้าอ่านป้ายทองเหลืองที่สลักชื่อไว้ว่า “บ้านคำหอม” ที่นี่ช่างสวยงามน่าอยู่ มองผ่านรั้วเหล็กโปร่งเข้าไปเห็นสวนดอกไม้และสนามหญ้ากว้าง รอบสนามมีเรือนไม้เล็กๆ และเรือนแถวหลายหลัง ตรงกลางเป็นบ้านสองชั้นครึ่งตึกครึ่งไม้ไม้ ชั้นบนมีหน้ามุขดูโอ่อ่า ข้างใต้มุขเป็นซุ้มโค้งสำหรับขึ้นลงจากรถได้โดยไม่เปียกฝน บันไดหินอ่อนขาวสามขั้นนำไปสู่ประตูห้องโถง ที่มีหญิงวัยกลางคนในชุดเสื้อผ้าป่านขาวนวลโจงกระเบนสีเหล็กยืนรอและร้องทัก

“แม่สุนทรีย์ เข้ามาเลย คุณจอมท่านอยู่ที่ห้องซ้อม”

ทั้งสามเดินผ่านห้องโถงที่แต่งด้วยเครื่องเรือนไม้แบบฝรั่ง ไปทางปีกขวาที่ต่อแยกจากตัวบ้าน เป็นห้องใหญ่มีเปียโนสีขาวอยู่ตรงกลาง และบนยกพื้นพาไลวางเครื่องดนตรีไทยนานาชนิด อีกฝั่งริมหน้าต่างเป็นที่ตั้งชุดโต๊ะเก้าอี้ไม้สลักแบบฝรั่งที่คุณจอมนั่งจิบชาอยู่

ผู้ที่แม่เรียกว่า “คุณจอม” ดูมีสง่าราศีเหลือเกิน ท่านงดงามในแบบที่ต่างจากความสวยของผู้หญิงทั่วไป ในสายตาของมัทนา

ท่านเรียกให้แม่นั่งเก้าอี้ ส่วนมัทนานั่งลงกับพื้นแล้วกราบตามที่แม่สอนไว้

“นี่หรือ ลูกสาวที่จะมาฝากให้เลี้ยง” น้ำเสียงของคุณจอมกังวานไพเราะ

“เจ้าค่ะ” ท่าทางของแม่นอบน้อม อย่างที่มัทนาไม่เคยเห็นมาก่อน “พี่องอาจคงไม่กลับมาแล้ว…ตั้งแต่…” แม่ลดเสียงลงเบาแทบเป็นกระซิบเมื่อพูดคำว่า “…กบฏบวรเดช…ก็ไม่ได้ข่าวมาตั้งเกือบปี พวกเพื่อนสนิทเขา ที่เป็นร้อยตรีเหมือนกันยังบอกว่าไม่ทราบ  ตั้งแต่เขาถูกจับส่งไปเกาะคราวนั้นก็เงียบหาย จะป่วยตายเสียแล้วก็ไม่รู้”

คำรำพันของแม่บีบหัวใจมัทนาจนน้ำตาเอ่อขึ้นมาทันที

“อย่าเพิ่งร้อง” คุณจอมสังเกตเห็น “เข้ามาใกล้ๆ ซิ” มืออ่อนโยนที่ลูบหลังลูบไหล่ปลอบนั้นช่วยให้มัทนาสบายใจขึ้นได้อย่างประหลาด

“สวยน่าเอ็นดู…ฉันเห็นแล้วถูกชะตา” ท่านหันไปบอกแม่ “ยกให้เลยใช่ไหม”

“เจ้าค่ะ” แม่ก้มลงกราบไปกับโต๊ะ

“แม่” มัทนาอุทาน หันไปมามองผู้ใหญ่ทั้งสองอย่างตื่นตระหนก

“ไม่ต้องกลัว” คุณจอมหัวเราะ “แค่ให้ฉันเป็นผู้ปกครอง ตัดสินใจเรื่องการเรียนไปถึงคู่ครอง แต่แม่เขาก็จะมาเยี่ยมบ่อยๆ ใช่ไหมสุนทรีย์”

“เจ้าค่ะ” น้ำเสียงของแม่อ้อมแอ้มชอบกล

“อย่างไรก็ต้องแวะมาตัดเสื้อให้ฉันบ่อยๆ” ทั้งแม่และยายเป็นช่างมีฝีมือ รายได้ดีพอเลี้ยงตัว ว่าตามจริง มัทนาก็ไม่เข้าใจว่าเหตุใดแม่จึงต้องพาเธอมาฝากไว้ที่นี่

“แป้น” คุณจอมเรียกแม่บ้านเข้ามา “มีเด็กมาให้เลี้ยงอีกคนแล้วนะ” ท่านบอกปนหัวเราะ “คราวนี้ลูกสาว คงไม่ซนเหมือนเจ้าศันต์”

เป็นครั้งแรกที่มัทนาได้ยินชื่อของเขา…

คุณศันต์เป็นน้องชายของคุณจอมป้าแป้นเล่าระหว่างพาเธอเดินไปห้องพัก มัทนาฟังแล้วก็นึกสงสัย คุณจอมน่าจะอายุสี่สิบกว่า แต่ศันต์ยังเล่นซนแบบเด็กๆ จะเป็นพี่น้องกันได้อย่างไร

คนละแม่ผู้อาวุโสชี้แจงโดยที่เธอไม่ต้องถาม คุณศันต์กำพร้าแม่ตั้งแต่สองขวบ เจ้าคุณพ่อเลยอุ้มมาฝากไว้ที่นี่ คุณจอมท่านไม่มีลูก ก็เลยรักคุณศันต์มาก ตอนยังเล็กท่านเลี้ยงใกล้ชิด ปูเบาะนอนหน้าเตียงท่าน แต่พอโตหน่อยด้วยความที่ท่านถือฝ่ายหน้าฝ่ายใน ให้อยู่บนตึกไม่เหมาะ ก็ต้องลงมานอนที่เรือนคุณประวิช หลังที่อยู่ตรงโน้นไงป้าแป้นชี้ให้ดูแล้วก็หันขวับมาถามเหมือนเพิ่งนึกได้ นี่หิวไหม กินอะไรมาหรือยัง

รับตอนมื้อเช้าเจ้าค่ะ” เด็กหญิงเลือกใช้คำที่เห็นว่าเหมาะกับชาววัง

พูดกับป้าคะขาก็พอ เจ้าค่ะไว้พูดกับท่านป้าแป้นหัวเราะ ถ้าอย่างนั้น ไปกินขนมกันก่อน

ห้องของป้าแป้นอยู่ในเรือนแถว ใกล้กับบ้านคุณประวิช นอกจากฉันแล้วก็มีนักดนตรีอยู่ด้วยกันอีกสามสี่คน หนูเก็บกระเป๋าข้าวของส่วนตัวไว้ในตู้ อาบน้ำกินข้าวที่นี่แล้วก็ขึ้นไปรับใช้ท่านตามเวลา ตอนกลางคืน ป้ากางมุ้งนอนหน้าห้องคุณจอม หนูไปนอนกับป้าก็ได้

เรือนแถวนั้นมีระเบียงแล่นยาวตลอดไว้นั่งเล่น ร่มรื่นด้วยชายคาไม้ระแนง ปลูกต้นเล็บมือนางเลื้อยพันผลิดอกขาวชมพูสะพรั่ง

เด็กชายคนหนึ่งนั่งกินขนมอยู่ที่ม้ายาวสุดปลายระเบียงตรงหน้าห้องครัว เขาสวมเครื่องแบบนักเรียน เสื้อราชปะแตนขาว กางเกงขาสีน้ำเงินขาสั้นแค่เข่ากับถุงเท้าดำยาว ถอดรองเท้าหนังไว้ใต้ม้านั่ง และข้างตัวมีหมวกหนีบวางอยู่

“ป้าแป้น มาแล้วหรือ ศันต์รอตั้งนานทนหิวไม่ไหวเลยหาขนมกินเอง วันนี้ที่โรงเรียนมีงานพิธีเหนื่อยมาก” เขาเงยหน้าขึ้น และมัทนาก็สังเกตเห็นว่า นัยน์ตาของเขาดำขลับสวยราวกับลูกหว้า คิ้วเข้ม จมูกโด่ง ริมฝีปากชมพูอ่อนเผยอยิ้มสดใส ไม่น่าแปลกใจที่เขาจะเป็นคนโปรดของคุณจอม และเป็นคุณหนูที่รักของป้าแป้น

“คุณศันต์!” พี่เลี้ยงร้อง “ป้ามัวแต่คุยกับมัทนาที่มาอยู่ใหม่เลยช้าไปหน่อย ไม่ทันมารอรับคุณกลับจากโรงเรียน แล้วนั่นรับทานอะไรคะ”

ศันต์หันมามองมัทนาอย่างสนใจ “นี่หรือ ที่คุณพี่ว่าจะมาเป็นนักเปียโน ยังกับตุ๊กตาแหม่ม” เขายิ้มกว้าง “เราชื่อศันต์ เธอชื่ออะไร”

“มัทนาค่ะ”

“อายุเท่าไหร่”

“ย่างสิบเอ็ดขวบ”

“เราสิบสามงั้นน้องนาเรียกเราว่าพี่ศันต์ก็ได้” เขาบอกก่อนจะเลื่อนจานขนมให้ “กินด้วยกันสิ ขนมตาล แม่ขวัญมือซออู้เขาเพิ่งทำเมื่อเช้า ยังนิ่มอร่อยอยู่”

เธอเอื้อมไปหยิบห่อใบตองมาดึงไม้กลัดออก หิวจนไม่นึกประหม่าพี่ชายคนใหม่ แล้วมิตรภาพระหว่างกันก็เริ่มต้นขึ้น…

………………………………………………..

“อิ่มแล้ว” ศันต์ประกาศก่อนจะหันมาชวนมัทนาว่า “ไปเรือนคุณพี่ประวิชกันไหม”

“เพิ่งรู้จักก็ชวนกันไปซน” ป้าแป้นค้อน

“น้องนาเพิ่งมาอยู่ใหม่ ควรไปกราบแนะนำตัวกับผู้ใหญ่มิใช่หรือ” ศันต์อ้างเหตุผล “จะได้รู้จักน้องวดีด้วย”

“พี่ศันต์มีน้องสาวหรือคะ” ขนมตาลแสนอร่อยช่วยให้คนตัวเล็กพูดคล่องขึ้น

“ถ้านับจริงๆ วดีก็เป็นหลานอา” ศันต์หัวเราะ “เจ้าคุณพ่อท่านมีลูกสามสิบคน อายุห่างกันมาก พี่เป็นรุ่นเล็ก บางทีเราก็เรียกพี่น้องว่าคุณ เพราะเรียงอายุไม่ถูกและเรียกตามคนเลี้ยงด้วย”

บิดาของมัทนามีภรรยาเดียว เด็กหญิงนึกไม่ออกว่า การมีพี่น้องต่างมารดามากมายอยู่รวมกันในบ้านนั้นเป็นอย่างไร แต่ศันต์ก็ดูจะรับสภาพได้ แถมยังเล่าต่อไปหน้าตาเฉยว่า

“พี่กำพร้าแม่ตั้งแต่สองขวบ คุณจอมเลยรับมาเลี้ยง วดี เขาก็เป็นเด็กที่ขอมาเหมือนกัน”

“ยังไงคะ” มัทนางง

“คุณพี่ประวิชแต่งงานกับพี่อรมาตั้งนาน ไม่มีลูก ก็เลยรับวดี ที่เป็นหลานของพี่อรมาเลี้ยงเป็นลูกเหมือนที่คุณจอมรับพี่มาไงล่ะ”

ศันต์ลำดับญาติคล่องจนมัทนาตามไม่ทัน และไม่คิดว่าเธอจำเป็นจะต้องเข้าใจไปมากกว่านี้ จึงตอบเพียงแค่ “อ้อ” โดยไม่ซักถามต่อ

เขาเก็บใบตองไปทิ้ง แล้วหันมาพยักหน้าชวนเธอก่อนจะออกวิ่งนำจนมัทนาต้องเร่งฝีเท้าตาม โดยมีจุดหมายอยู่ที่เรือนปั้นหยาสีฟ้าใกล้ต้นหูกวาง ที่มีชิงช้าแผ่นไม้ผูกไว้ เด็กหญิงที่นั่งไกวตัวเล่นอยู่นั้นคงเพิ่งกลับจากโรงเรียนเช่นกัน เพราะยังอยู่ในชุดเสื้อขาวปกบัวกับผ้าซิ่นป้ายสีน้ำเงิน ผมยาวถักเปียผูกริบบิ้นเปิดให้เห็นใบหน้าสวยคม ท่าทางอายุใกล้เคียงกับมัทนา

“วดี” ศันต์เรียก “นี่เพื่อนใหม่ เขาชื่อมัทนา เพิ่งมาอยู่วันนี้”

วดีเอียงคอมองแล้วยิ้มให้ “จะมาเรียนดนตรีใช่ไหม เธอเล่นอะไรล่ะ ฉันสีซอด้วง”

“ยังไม่รู้เลย” มัทนาบอก “แต่อาจจะเรียนเปียโน”

เด็กที่ถูก “ขอมาเลี้ยง” วัยใกล้เคียงกัน ใช้เวลาไม่นานก็คุยกันได้สนิทสนม…

“คุณศันต์ กลับมาแล้วหรือ” หญิงสาวใหญ่หน้าตาหมดจดร้องเรียกมาจากเฉลียงหน้าบ้าน “นั่นพาใครมาด้วย”

“มัทนาครับ พี่อร” ศันต์ตอบ “เขาจะมาอยู่กับเรา”

“บุญรักษานะลูก” มารดาของวดีบอกเมื่อมัทนายกมือไหว้ และเด็กหญิงก็เริ่มรู้สึกว่า ที่นี่ไม่น่ากลัวอย่างที่หวั่นเกรง นอกจากวดีกับศันต์ ยังมีเด็กที่คุณจอมอุปการะไว้อีกสองสามคน และกลุ่มพี่สาวนักดนตรีที่สวยและเก่ง เป็นวงที่มีชื่อเสียงเลื่องลืออีกด้วย

 



Don`t copy text!