เวียงวนาลัย บทที่ ๒ : ไฟฝันเมื่อวันเยาว์ “ปฐมบทของวิลเลียม บรูค”
โดย : เนียรปาตี
เวียงวนาลัย เรื่องราวของวิลเลียม หนุ่มอังกฤษที่เดินทางมาทำงานในบริษัทสัมปทานป่าไม้ในภาคเหนือของสยาม เขาไม่เคยนึกฝันมาก่อนว่าต้องเผชิญกับอะไรมากมายในดินแดนที่ไม่คุ้นเคย ทั้งมิตรแท้ สงครามและความรัก มาเอาใจช่วยหนุ่มอังกฤษคนนี้กับชีวิตอันแสนจะโลดโผนในเวียงวนาลัย นวนิยายออนไลน์ โดย เนียรปาตี ที่อ่านเอาภูมิใจนำเสนอ
แมรีให้กำเนิดบุตรคนโตตั้งแต่ปีแรกที่แต่งงาน ตามด้วยคนที่สองในปีถัดมา ทิ้งช่วงไปอีกหลายปีจนลูกชายทั้งสองเติบโตรู้ความรอบด้าน เริ่มมีความคิดและความฝันเป็นของตัวเอง แมรีก็ให้กำเนิดบุตรชายคนที่สาม
“ทำไมเราถึงกลับมาอยู่อังกฤษครับ” น้ำเสียงของวิลเลียมเศร้าระคนเสียดายโอกาสที่ไม่ได้สนุกในเมืองชื่อแปลก “แม่น่าจะให้ผมได้อยู่ที่อินเดียเหมือนพี่ๆ บ้าง”
แมรียิ้มให้ลูกน้อย ลูบผมสีทองนุ่มเหมือนกลุ่มไหมเรียบลื่นอย่างเอ็นดู พลันประกายในตาก็หม่นแสงลง
“คุณพ่อป่วยหนักมาก”
ความสะเทือนใจผ่านเข้ามาในแววตาวูบหนึ่ง หล่อนก็พยายามสลัดความหม่นเศร้าทิ้งไป
“ในดินแดนอย่างนั้น ทั้งแร้นแค้นและทุรกันดาร แม่มองไม่เห็นทางที่จะรักษาคุณพ่อให้หายได้เลย แม่พยายามขอร้องให้คุณพ่อกลับมารักษาตัวที่อังกฤษ เพราะที่นี่ย่อมดีกว่าทุกอย่าง ทั้งการแพทย์และสิ่งแวดล้อม แต่คุณพ่อยังมีภารกิจที่ยิ่งใหญ่ต้องทำให้สำเร็จก่อน จนเมื่อเสร็จ…วางใจได้แล้วนั่นแหละ คุณพ่อถึงยอมกลับมารักษาตัวที่อังกฤษ แต่ว่า…”
แมรีลากเสียงยาวแล้วปล่อยให้เรื่องนั้นหายไปกับสายลม หล่อนมั่นใจว่าลูกน้อยสามารถเดาต่อได้ เพราะเหตุการณ์หลังจากมาถึงอังกฤษที่เซาแธมป์ตัน ทั้งหล่อนและอีวานเล่าให้วิลเลียมฟังหลายหน
“ภารกิจยิ่งใหญ่ของคุณพ่อคืออะไรครับ”
“สร้างโบสถ์จ้ะ โบสถ์เซนต์ปอล ยิ่งใหญ่และสวยงามมาก ใหญ่กว่าศาสนสถานแห่งใดในเมืองนั้น คุณพ่อรับช่วงต่อจากคุณตา ใช้เวลาหลายสิบปีทุ่มเทแรงกายแรงใจจนสำเร็จลงได้ แม่ยังจำเสียงระฆังที่ดังขึ้นครั้งแรกได้ดี ราวกับเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้เอง”
วิลเลียมเอียงหน้าสงสัยระคนสับสน เพราะโบสถ์เซนต์ปอลที่เขารู้จักอยู่ในลอนดอนนี่เอง และใครๆ ก็เรียกว่ามหาวิหารกันทั้งนั้น มีแต่แม่นี่แหละที่เรียกว่าโบสถ์ ครั้นเห็นบุตรชายทำหน้าฉงน แมรีจึงรีบอธิบายให้เข้าใจ
“โบสถ์เซนต์ปอลที่ติรุเนลเวลลีจ้ะ ไม่ใช่วิหารเซนต์ปอลในลอนดอนนี่หรอก”
“แล้วใหญ่เท่ากันไหมครับ สวยเหมือนกันไหม”
“โบสถ์ที่คุณตากับคุณพ่อสร้างเล็กกว่าจ้ะ แต่ก็สวยมาก เพราะสร้างด้วยศรัทธาที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้า และการช่วยเหลือของคนอังกฤษนี่จ๊ะ” น้ำเสียงที่เอ่ยถึงภูมิใจยิ่งนัก “สวยกว่าโบสถ์ไหนๆ ที่แม่เคยเห็นในอินเดีย แม้ว่าจะตั้งอยู่ในเมืองเล็กๆ และแร้นแค้นอย่างเมกะนันนะปุรัม แต่ก็งามกว่าโบสถ์เซนต์ปอลที่กัลกัตตา”
“กัลกัตตา…” วิลเลียมลากเสียงสงสัย “ที่นั่นก็มีโบสถ์เซนต์ปอลเหรอครับ”
“มีจ้ะ…เป็นวิหารเซนต์ปอล กัลกัตตาเป็นเมืองหลวงของบริติชอินเดีย เป็นศูนย์กลางความยิ่งใหญ่และรุ่งเรืองของอังกฤษ คุณตาหมายมั่นปั้นมือว่าจะต้องสร้างโบสถ์หลังใหม่ที่ใหญ่กว่าสิ่งก่อสร้างใดๆ ของพวกฮินดู ให้ใหญ่กว่าวิหารฮินดูริมทะเลที่หมู่บ้านติรุเชนดูร์ ที่ว่ากันว่างดงามยิ่งนัก”
หลายครั้งที่วิลเลียมฟังแม่เล่าเรื่องในอินเดีย พอถึงระยะหนึ่งก็จะหมดสนุก แม้ว่าเขายังอยากรู้เรื่องต่อไป ใคร่ซักถามให้ลึกซึ้งไปกว่านั้น แต่แม่ก็จะพร่ำรำพันถึงวิถีชีวิตของผู้มีอารยธรรมชาวอังกฤษที่มีหน้าที่ปกครองจนถึงอบรมสั่งสอนชาวพื้นเมืองให้กลายเป็นผู้มีอารยธรรม ไม่ว่าจะเป็นการกินอยู่ หรือกล่อมเกลาให้เลิกกราบไหว้บูชาร้องขอความช่วยเหลือจากเทพเจ้าองค์ต่างๆ ที่แม่เห็นว่างมงาย เทพเจ้าของฮินดูมีหลายองค์ แต่ละองค์ก็จะให้คุณในการขอพรแตกต่างกัน ถึงกระนั้นรูปปั้นเทพเจ้าบางองค์ก็ดูน่ากลัว จนแม่เรียกพลางทำท่าขนลุกขนพองสยองขวัญว่า เทพปีศาจ
สิ่งที่แม่ยอมรับจากคนพื้นเมือง คือการที่คนเหล่านั้นอยู่ในโอวาท เป็นบริวารที่ดี เป็นสัตว์เลี้ยงที่เชื่อง
บางเรื่องที่แม่หยอดไว้ให้อยากรู้แต่ไม่ยอมเล่า วิลเลียมก็ไปหาคำตอบจากน้าอีวาน
น้าอีวานมักจะหัวเราะสนุกเป็นการเริ่มต้น เมื่อหลานชายมาเกาะแขนเขย่ารบเร้าให้เล่าเรื่องที่คาใจ อีวานมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับแมรีแต่ต่างสถานะกัน เพราะแมรีเป็นภรรยา ส่วนอีวานเป็นหลานของสาธุคุณแอชลีย์ บรูค
“น้าอีวานรู้เรื่องที่คุณพ่อสร้างโบสถ์เซนต์ปอลไหม”
“สนุกกว่าเรื่องอะไรทั้งหมดที่น้าเคยเล่าให้ฟัง” อีวานยั่วเย้าให้หลานชายกระหายหนักขึ้น
ตากลมใสสีฟ้าเหมือนลูกแก้วเปล่งประกายอยากรู้อยากเห็น รบเร้าให้เล่าไวๆ
“ตอนที่ตาของหลานเริ่มสร้าง” อีวานเกริ่นนำ “ต้องจ้างชาวบ้านไปขนหินทรายมาจากเหมือง ใส่เกวียนเทียมวัวตามกันเป็นขบวนเหมือนกองคาราวาน ระยะทางกว่า 5 กิโลเมตร ขนกันต่อเนื่องไม่มีพัก ลองทายดูซิว่าต้องใช้เวลาเท่าไร” ครั้นหลานชายส่ายหน้าจึงเฉลยว่า “ถ้าน้าจำไม่ผิดนะ ขนกันราว 500 เที่ยว ใช้เวลา 15 วัน แทบไม่ได้พักเลย”
“น้าอีวานไปขนด้วยไหม”
“ไปสิ เรื่องสนุกแบบนี้ น้าจะพลาดได้ยังไง ครั้งหนึ่งแอชตันกับโทมัสก็ไปด้วย” เขาหมายถึงหลานชายคนโตและคนรอง “สนุกกันใหญ่ แต่ไปแค่สองเที่ยว แม่ของหลานก็ไม่อนุญาตอีก”
น้าอีวานส่งภาพถ่ายให้หลานชายดู ในขณะที่เขาไม่จำเป็นต้องพึ่งรูปนั้น เพียงหลับตาลง ภาพสถาปัตยกรรมแบบโกธิคของโบสถ์เซนต์ปอลก็ปรากฏชัดในมโนนึก จำได้แม้กระทั่งสัดส่วนเกือบถูกต้องว่ากว้าง 58 ฟุต ยาว 128 ฟุต และสูง 60 ฟุต ส่วนหอคอยทางเข้าที่โดดเด่นเป็นสง่านั้นสูง 172 ฟุต และหากจะวัดไปถึงปลายยอดแหลมบนหอคอยก็จะสูงถึง 192 ฟุต
“สูงกว่าวิหารของฮินดูทุกแห่งในแถบนั้น” น้ำเสียงแม้แผ่วเบาหากก็ภาคภูมิและทะนงอย่างผู้เหนือกว่าอยู่ในที
“คุณพ่อเอาเงินมากมายจากไหนมาสร้างโบสถ์ใหญ่อย่างนี้” วิลเลียมมองภาพในมืออย่างทึ่งและภาคภูมิใจในตัวบิดา
“ตาและพ่อของหลานมีคนเคารพนับถือมาก เมื่อขอรับบริจาค…ทั้งจากชาวอังกฤษและทมิฬก็ได้มาไม่น้อย ทั้งเงินปอนด์และรูปี อีกส่วนหนึ่งก็ได้จากการสนับสนุนของกลุ่มนิยมศิลปะแบบโกธิค ทั้งจากอังกฤษและอินเดียเหมือนกัน เพราะแค่เห็นแบบร่างก็รู้แล้วว่าถ้าสร้างเสร็จจะสวยงามไม่แพ้โบสถ์เซนต์เซเวียที่เมืองลีดส์ หรือโบสถ์เซนต์จอห์นที่เมืองแบนบิวรี”
วิลเลียมยังคงฟังต่อไปอย่างปลาบปลื้ม
“บางคนบริจาคมาเป็นสิ่งของหรือวัสดุก่อสร้าง อย่างหินแกรนิตสีดำและขาวก็มีคนบริจาคมาให้ แต่เหมืองอยู่ไกลกว่า 800 กิโลเมตร ต้องจ้างคนไปขนมาหลายเที่ยว มุขไม้เนื้อเลี่ยน…” คนเล่าหมายถึงแท่นที่นักบวชยืนเทศน์ “ขนกันมาจากเกาะซีลอน (1) ระฆังบนหอคอยสั่งหล่อจากอังกฤษ ออร์แกนกับโคมไฟก็เหมือนกัน น้าชายสั่งจากอังกฤษแล้วบริจาคให้โบสถ์”
“คุณพ่อสร้างนานไหมครับ”
“สัก 25 ปีเห็นจะได้”
น้าชายของวิลเลียมนึกถึงวันแรกที่ตาของวิลเลียมเริ่มต้นวางโครงสร้าง ใช้เวลาสี่ปีจึงเป็นรูปเป็นร่าง ก่อกำแพงและมุงหลังคาด้วยตับใบตาลโตนดเพื่อให้ใช้ประกอบพิธีทางศาสนาได้ แต่การก่อสร้างก็ดำเนินต่อไป กว่าหอคอยทางเข้าจะสร้างเสร็จก็กินเวลาไปอีก 14 ปี ส่วนยอดแหลมของโบสถ์ออกแบบโดยสถาปนิกผู้มีชื่อเสียงของอังกฤษ
“เขาเคยบูรณะวิหารใหญ่ๆ ในอังกฤษหลายแห่ง ที่โบสถ์นี้ เขาออกแบบให้ฟรี”
อีก 3 ปีต่อมา ท่านลอร์ดผู้เป็นผู้ว่าการเมืองมัทราสจึงได้เดินทางมาเป็นประธานในพิธีวางหินก้อนสุดท้ายที่ยอดแหลมของโบสถ์
“เสียงร้อง…พระสิริจงมีแด่พระเจ้า…Glory be to God ดังกระหึ่มไปทั่วบริเวณซ้ำแล้วซ้ำเล่าราวกับระลอกคลื่นกระเพื่อมออกไป มันหมายถึงอะไรรู้ไหม” น้าอีวานถามหลานชาย ครั้นเด็กชายส่ายหน้าจึงเฉลย “ก็หมายถึงความสำเร็จของคริสต์ศาสนา เหนือกว่าสิ่งที่คนที่นั่นนับถือกันมาน่ะสิ”
“แปลว่าเราชนะเหรอครับ”
วิลเลียมไม่เข้าใจความหมายของน้าชาย จึงถามอย่างสรุปง่ายๆ ตามความเข้าใจของตน น้าอีวานพยักหน้าพลางยิ้มอย่างภาคภูมิแทนคำตอบว่า…ถูกต้องแล้ว
แต่เมื่อเล่าต่อ ดวงหน้าและแววตาก็หม่นหมองลง
“สองปีต่อมาน้าชายก็ป่วย หลายคนพูดว่า…” น้าอีวานไม่ระบุว่าหลายคนนั้นคือใครบ้าง ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ศรัทธาในศาสนาเดิมของตนอย่างเหนียวแน่น ชาวพื้นเมืองที่ยังสองจิตสองใจในการเปลี่ยนหลักยึดทางจิตใจ และคนที่ต่อต้านการปกครองของบริติชราช “เทพเจ้าทั้งหลายลงทัณฑ์แก่ผู้ที่ลบหลู่พระองค์ หลานรู้ไหม เทพเจ้าหลายองค์สามารถสาปผู้ที่ไม่นับถือตนให้พบแต่ความเลวร้ายในชีวิตได้”
“เพราะอย่างนี้ เราจึงกลับมาอังกฤษเหรอครับ”
“ใช่” น้ำเสียงของน้าอีวานเศร้าลงไปอีก
“แต่น้าชาย…พ่อของหลาน มาถึงแค่ท่าเรือเซาแธมป์ตันเท่านั้นเอง”
เสียงหวูดเรือดังขึ้นเป็นสัญญาณให้รู้ว่าเรือใกล้เทียบท่าเซาแธมป์ตัน แม้บรรยากาศโดยทั่วไปของเมืองท่าทางใต้ของอังกฤษจะหม่นมัวด้วยสีหม่นทึมของเครื่องแต่งกายที่ผู้คนสวมใส่ แต่สายลมของฤดูใบไม้ร่วงกลางเดือนตุลาคมก็เป็นอากาศที่แมรีสูดเข้าไปเต็มปอดด้วยความรู้สึกว่าได้กลับมาเยือนมาตุภูมิอีกครั้ง ที่ซึ่งมีทั้งอารยธรรมและความปลอดภัย ใบไม้เปลี่ยนสีจากเขียวเป็นส้มแดงแกมเหลืองและน้ำตาลคือความสดใสไม่ต่างจากดอกไม้บานต้นฤดูใบไม้ผลิ
อีวานคลายใจเมื่อเห็นใครคนหนึ่งในสูทสีดำคลุมทับด้วยเสื้อโคตและสวมหมวกทรงสูงสีเดียวกันดูเคร่งขรึมเป็นสง่ามารอรับที่ท่าเรือ
พันเอกไรอัน บรูค พี่ชายของสาธุคุณแอชลีย์…ลุงของเขา
เมื่อสาธุคุณแอชลีย์ยอมกลับมารักษาตัวที่อังกฤษตามการรบเร้ากึ่งบังคับและวิงวอนของแมรีภรรยาครรภ์แก่ หากแต่หล่อนยืนยันว่าสามารถเดินทางไกลได้ อีวานจึงส่งจดหมายหาลุงของเขาที่อังกฤษ มั่นใจว่าพันเอกไรอันจะได้รับจดหมายก่อนครอบครัวบรูคเดินทางมาถึง บอกสาเหตุสำคัญของการกลับมา ว่าสาธุคุณแอชลีย์ป่วยหนัก
อีวานมิได้คาดหวังว่าพันเอกไรอันจะมาคอยที่ท่าเรือพร้อมกับรถม้าหลายคัน เมื่อเห็นดังนั้นจึงเป็นสุขขึ้นมา ถือว่าเป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่ในอังกฤษที่ดี เพราะก่อนจากติรุเนลเวลี อีวานได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นตำรวจที่เมืองมัทราสเพื่อดูแลความปลอดภัยของครอบครัวบรูค แม้ผู้บังคับบัญชาจะแนะให้ลาเป็นการชั่วคราว แต่อีวานก็ไม่แน่ใจว่าจะได้กลับมาเมื่อไร จึงยืนยันว่าเขาตัดสินใจลาออก
พันเอกไรอันต้อนรับด้วยท่าทีเคร่งขรึมอย่างผู้ใหญ่ที่ไว้ยศ ไม่แสดงความยินดีหรือปลื้มใจออกนอกหน้าที่ได้พบครอบครัวของน้องชาย แต่สิ่งทั้งหลายที่เขาเตรียมไว้ก็บ่งบอกได้ว่าสายสัมพันธ์นี้ไม่เคยขาด ขนสัมภาระขึ้นรถม้าแล้วจึงตามกันไปยังที่พัก
“ฉันจองห้องไว้ที่โรงแรมแรดลีย์ อยู่ตรงหัวมุมถนนนี้เอง” พันเอกไรอันบอกแก่ทุกคน
รถม้าสีดำเหยาะย่างเสียงดังกุกกักไปบนถนนปูด้วยหินสี่เหลี่ยมก้อนเท่าฝ่ามือที่กาลเวลากัดกร่อนจนขึ้นเงาและลื่น อาจล้มได้หากเดินไม่ระวัง ไม่นานก็มาถึงโรงแรมหรูสูงสามชั้นที่มุมถนนด้านตะวันออกของควีนเทอร์เรส ตรงข้ามสถานีรถไฟ ไม่กี่ร้อยเมตรจากท่าเรือ
แมรีค่อนข้างพอใจห้องพักและการจัดการทั้งหมดของพันเอกไรอัน…พี่ชายของสามี
เมื่อร่างของสาธุคุณแอชลีย์ถูกพาไปนอนบนเตียงด้วยสัมปชัญญะที่ขาดหายอยู่เป็นระยะ ทีมแพทย์ก็เข้ามาดูอาการ อีวานมอบจดหมายของแพทย์ผู้ดูแลระหว่างเดินทางบนเรือกลไฟจากอินเดียมาอังกฤษให้ เนื้อหาบอกถึงความพยายามทุกวิถีทางในการรักษา ทีมแพทย์ของพันเอกไรอันอ่านแล้วก็ตัดสินใจรายงานอย่างตรงไปตรงมาว่าหมดหนทางจะแก้ไข แมรีเฝ้าดูอาการสามีอยู่ข้างเตียงไม่ห่าง อีวานจึงช่วยดูแลหลานๆ ที่แยกไปพักคนละห้อง
โรคภัยรุมเร้าสาธุคุณแอชลีย์มานาน ประกอบกับเจ้าตัวไม่ยอมรักษาอย่างจริงจัง ผนวกกับความอ่อนเพลียจากการเดินทางข้ามมหาสมุทรมายาวนาน ในราตรีที่สามที่คืนสู่มาตุภูมิ สาธุคุณแอชลีย์ บรูค ก็เดินทางไปเฝ้าพระผู้เป็นเจ้า
พิธีศพของสาธุคุณแอชลีย์เป็นไปอย่างครบถ้วนตามประเพณี พันเอกไรอันจัดการทุกอย่างได้ราบรื่นราวกับเตรียมพร้อมไว้อยู่แล้ว รวมถึงเงินมรดกของน้องชายที่ครอบครัวของเขาควรได้ แต่นอกเหนือจากนั้น…เมื่อไม่มีแอชลีย์เป็นสายใยเชื่อมโยง พันเอกไรอันก็ตัดภาระผูกพันทั้งปวงกับแมรีและหลานๆ คงเหลือเพียงอีวานที่เขายังพอมีใจไถ่ถาม
“แกคิดอย่างไรต่อไป จะกลับไปอินเดีย หรือไปช่วยงานของลุง”
เพราะพันเอกไรอันเป็นหุ้นส่วนใหญ่ในธุรกิจเบียร์ที่เมืองฮัลล์ในมณฑลยอร์คเชียร์ตอนเหนือของอังกฤษซึ่งกำลังไปได้ดี แต่อีวานก็ปฏิเสธ
“ผมขออยู่ดูแลหลานๆ ดีกว่า”
พันเอกไรอันคอแข็งขึ้นมาทันที ในแววตานั้นมีคำว่า ‘โง่’ ส่งมาจนอีวานต้องก้มหน้าทว่าไม่เปลี่ยนใจ พันเอกไรอันอดคิดไม่ได้ว่า หรืออีวานจะมีใจให้แมรี ด้วยทั้งคู่ก็มีวัยไล่เลี่ยกัน แม้จะเป็นแม่ลูกสามและคนที่สี่อยู่ในท้องจวนคลอด แต่แมรีก็ยังเป็นหญิงงามที่ผุดผ่องไปทั้งเนื้อทั้งตัว โดยเสื้อผ้าสีหม่นไม่อาจปิดบังความผุดผ่องนี้ได้ ที่อีวานบอกว่าจะอยู่ดูแลหลานชาย จึงกลายเป็นข้ออ้างที่จะได้อยู่ใกล้แมรีมากกว่า
หากเมื่ออีวานยืนยัน พันเอกไรอันก็ไม่ทัดทาน เดินทางกลับยอร์คเชียร์อย่างไม่ถึงกับตัดหางปล่อยวัด แต่ก็ไม่ติดต่อมาอีก หลายครั้งที่อีวานเขียนจดหมายไปขอความช่วยเหลือ จดหมายนั้นก็หายไปกับสายลมจนรู้แน่แก่ใจว่า ลุงจะไม่ยอมช่วยเหลือแม้ในเรื่องน้อยนิด ตราบใดที่เขายังอยู่กับแมรีและลูกของหล่อน
แมรีกลายเป็นแม่หม้ายในวัย 35 ปี เสร็จจากพิธีฝังศพสามี หล่อนก็เดินทางไปยังลอนดอน พยายามข่มอาการปวดครรภ์ไว้อย่างสามารถ กัดฟันไปถึงชอล์คฟาร์ม ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของลอนดอน แล้วให้กำเนิดบุตรชายคนที่สี่
ลูกน้อยแข็งแรงสมบูรณ์ดี แมรีให้ชื่อลูกชายว่า วิลเลียม ตามที่บิดาของพ่อหนูน้อยตั้งให้และสั่งเสียก่อนสิ้นใจ ไม่นานจากนั้น อีวานก็หาบ้านได้หนึ่งหลังทางตะวันตกเฉียงเหนือของลอนดอน เป็นเทอร์เรซเฮาส์สี่ชั้น มีหลายห้องและยังมีห้องใต้หลังคา มีสวนขนาดย่อมอยู่หลังบ้านเป็นสัดส่วน แม้จะมีเงินพอจ่าย แต่แมรีก็ชั่งใจอย่างจริงจังยิ่งกว่าครั้งใดในชีวิต เพราะหล่อนต้องเป็นเสาหลักของครอบครัว หวังพึ่งใครไม่ได้อีก หล่อนอยากให้ลูกเติบโตในบ้านที่อบอุ่นและปลอดภัย แม้ไม่มีสามีอยู่เคียงข้างแล้วก็ตาม ในที่สุดหล่อนจึงทุ่มเงินที่ได้จากมรดกของเขาไปในการซื้อบ้านหลังนี้…บ้านเลขที่ 16 บนถนนเกย์ตัน ย่านแฮมพ์สเต็ด ส่วนเงินรายปีที่ได้จากโบสถ์ไม่กี่ร้อยปอนด์ เพียงพอที่จะทำให้แมรีดูแลลูกๆ ให้เติบโตได้อย่างสุขสบายไม่ขัดสน
แอชตัน พี่ชายคนโต และโทมัส พี่ชายคนรอง อายุห่างจากวิลเลียมหลายปี ทั้งสองเป็นหนุ่มแล้วเมื่อเขาเกิด ความรู้สึกของวิลเลียมที่มีต่อพี่ชายทั้งสองจึงค่อนข้างห่างเหิน แอชตันและโทมัสเป็นเหมือนผู้ปกครองมากกว่าพี่น้องที่ชวนกันไปเล่นซนหรือแอบทำอะไรที่แม่ห้ามแต่ตื่นเต้น เพราะตั้งแต่วิลเลียมจำความได้ พี่ชายทั้งสองก็ทำงานหารายได้มาเป็นค่าใช้จ่ายของบ้าน
ชีวิตวัยต้นจนเข้าสู่วัยรุ่นของแอชตันและโทมัสเหมือนเดินเคียงกันไป คือทั้งเกิดและโตในอินเดีย เมื่อกลับมาอยู่อังกฤษ แมรีก็ให้ลูกชายเข้าโรงเรียนประจำ จบมัธยมปลายในช่วงที่เป็นหนุ่มเต็มที่ ทั้งสองก็ได้งานเป็นเสมียนในบริษัทใหญ่ แอชตันทำงานที่บริษัทโคโลเนียล โบรกเกอร์ ส่วนโทมัสได้งานที่บริษัท จี อี เรลเวย์
แมรีไม่อยากให้ลูกเป็นแค่เสมียน หล่อนอยากให้ลูกเจริญรอยตามบิดา คือเป็นสาธุคุณ เป็นหมอสอนศาสนา รับใช้พระผู้เป็นเจ้า หากลึกๆ ในใจนั้นเพื่อการรักษาชนชั้นในสังคมมิให้ตกไปอยู่ในกลุ่มชนชั้นล่างหรือชั้นแรงงาน แต่แมรีไม่มีทางเลือกมากนัก มรดกที่ได้หลังจากสามีเสียชีวิตหมดไปกับการซื้อบ้านและดูแลลูกไปแต่ละปี หล่อนยอมทุ่มเทค่าใช้จ่ายเพื่ออนาคตของลูกทุกคน แต่เมื่อไม่มีรายได้ที่แน่นอน เงินที่มีอยู่ก็ร่อยหรอลงไป
หากกระนั้น แมรีก็ยังหวังว่าสักวันหนึ่งเมื่อลูกชายทั้งสองตั้งตัวได้ เขาจะปวารณาตัวรับใช้พระผู้เป็นเจ้าอย่างที่บิดาและสามีของหล่อนเคยเป็นมาก่อน
ส่วนฮิวจ์ พี่ชายคนที่สามของวิลเลียมมีอายุแก่กว่าสามปี
ฮิวจ์เรียนที่เทรนต์ คอลเลจ (2) เป็นโรงเรียนประจำสำหรับลูกชนชั้นกลางในอังกฤษเหมือนพี่ชายทั้งสอง แต่อยู่ที่เมืองลองอีตัน มณฑลดาร์บิชอร์ แต่เพียงไม่นานก็ต้องลาออกมารักษาตัวที่บ้านอย่างประคบประหงม เพราะสุขภาพไม่ดี อากาศเปลี่ยนนิดหน่อยก็เป็นอันป่วยไข้ไปได้ทั้งนั้น บ่อยครั้งวิลเลียมมักได้ยินแม่รำพึงอยู่เสมอทำนองว่า
‘หรือจะเป็นคำสาปจากเทพปีศาจเหล่านั้นจริงๆ เพราะตอนเด็กฮิวจ์ก็ดูแข็งแรงสดใสดี ไม่มีเค้าเป็นคนขี้โรคอย่างนี้เลย จนกระทั่งสร้างโบสถ์เสร็จ แอชลีย์ป่วยหนัก ฮิวจ์ก็เริ่มป่วยตามพ่อไปอีกคน’
ครั้นแล้วหล่อนก็สลัดความฟุ้งซ่านทิ้งไป บอกตัวเองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ อากาศชื้นในอังกฤษอาจไม่เหมาะกับสุขภาพของฮิวจ์ หากกระนั้นแมรีก็สวดมนต์อ้อนวอน
‘ขอพระผู้เป็นเจ้าโปรดประทานพร อย่าให้ฮิวจ์มีจุดจบเหมือนพ่อของเขาเลย’
หากแมรี เจน ผู้เป็นแม่คือคนเลี้ยงให้วิลเลียมเติบโตทางร่างกาย อีวาน ผู้เป็นน้าชายก็คือผู้บ่มเพาะเมล็ดแห่งจินตนาการและวิญญาณของนักผจญภัยให้แก่วิลเลียม
หลายครั้งที่เด็กชายไม่อาจออกไปเล่นนอกบ้านได้เพราะฝนตก หรือในฤดูหนาวที่กลางวันแสนสั้นและกลางคืนยาวนานจนน่าเบื่อ น้าอีวานคือผู้นำวิลเลียมน้อยผจญภัยไปในดินแดนต่างๆ ด้วยเรื่องเล่าของเขาและญาติที่ทำงานในอินเดีย การเป็นตำรวจทำให้เรื่องเล่าของเขามีทั้งการปราบโจรผู้ร้าย และการต่อสู้กับโรคภัยต่างๆ ในดินแดนสุดแสนทุรกันดาร
วิลเลียมเข้าโรงเรียนไปกลับใกล้บ้าน น้าอีวานช่วยสอนเนื้อหาหลายวิชาที่วิลเลียมไม่เข้าใจ บางวันวิลเลียมก็เล่าเรื่องสนุกให้พี่ชายที่นอนป่วยบนเตียงฟัง เพราะฮิวจ์หมดโอกาสจะได้ไปวิ่งเล่นนอกบ้านเหมือนเด็กวัยเดียวกัน
ในปีหนึ่ง หลังมื้ออาหารในวันขอบคุณพระเจ้า แมรีก็ถามลูกๆ ถึงอนาคตข้างหน้า
“ผมอยากเป็นนักบวชเหมือนคุณพ่อ”
คำตอบของแอชตันและโทมัสเหมือนกันโดยมิได้นัดแนะ มีผลให้ยิ้มของผู้เป็นแม่อิ่มเอมใจ เพราะนั่นเป็นหลักประกันว่าครอบครัวของหล่อนจะยังคงอยู่ในกลุ่มชนชั้นกลางต่อไป
ในขณะที่ฮิวจ์ ลูกชายคนที่สามภาวนาขอพระผู้เป็นเจ้าประทานพรให้แก่สุขภาพตัวเอง
“ผมอยากแข็งแรง จะได้อยู่กับแม่ไปนานๆ”
สีหน้าปลื้มใจของแมรีฉายออกมาอีกครั้งพร้อมแววตาเอื้อเอ็นดู หันไปทางบุตรชายคนเล็กที่ขยับไปมาไม่ยอมนิ่ง ลุกลี้ลุกลน เพราะมีคำตอบอยากบอกแม่ อยากอวดเต็มที่ แต่ต้องรอให้ถึงตาตัวเองก่อน
เมื่อมารดาส่งสายตามาแทนคำอนุญาตว่า…ถึงตาของลูกแล้วจ้ะ วิลเลียมก็บอกด้วยเสียงแน่วแน่ห้าวหาญว่า
“ผมจะเป็นตำรวจแบบน้าอีวาน พอโตขึ้น ผมจะเดินทางไปอินเดีย คุณแม่ว่าดีไหมครับ”
รอยยิ้มแห้งๆ ฉายที่มุมปากของแมรี แต่ตาขวางแลไปยังน้าชายของหลานๆ
“ว่ายังไงครับแม่ ผมไปอินเดียได้ไหม”
แมรีไม่ให้คำมั่น แต่ตอบเลี่ยงไป
“ไว้ถึงตอนนั้น เราค่อยพูดกันอีกทีดีไหมจ๊ะ” หล่อนถือโอกาสตัดบท “ได้เวลาเข้านอนแล้ว ไปที่ห้องกันได้แล้วจ้ะ”
แมรีลุกขึ้นมาจุมพิตที่หน้าผากฮิวจ์และวิลเลียม ส่งยิ้มบอกลูกชายคนโตและรองให้พาน้องขึ้นไปบนห้อง เมื่ออยู่ตามลำพังกับอีวาน สีหน้าแมรีกลับเรียบตึงเหมือนกระดาษ น้ำเสียงเกือบเป็นคำสั่งเด็ดขาดอยู่ในที
“เธออย่าเล่าเรื่องผจญภัยให้หลานฟังมากนัก ฉันไม่มีวันยอมให้ลูกไปใช้ชีวิตที่นั่น เธอก็รู้ว่ามันทุรกันดารและป่าเถื่อนแค่ไหน ถ้าไม่ใช่ภารกิจของพระผู้เป็นเจ้า ฉันไม่มีวันยอมให้คนในครอบครัวของฉันไปเด็ดขาด”
อะไรบางอย่างในน้ำเสียงของแมรีทำให้อีวานรู้สึกว่า ตัวเขาไม่ได้รวมอยู่ในคำว่า ‘ครอบครัวของฉัน’ เพราะแมรีสำทับในตอนท้าย
“เธอเข้าใจใช่ไหม ถ้าเข้าใจก็ขอให้ปฏิบัติตามด้วย หาไม่แล้ว ก็เห็นทีจะอยู่ด้วยกันยาก”
เชิงอรรถ :
(1) ซีลอน คือชื่อเดิมของ ศรีลังกา ในปัจจุบัน
(2) Trent Collage หรือวิทยาลัยเทรนต์นี้เป็นโรงเรียนเดียวกับที่ ม.ร.ว. เสนีย์ และ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ เข้าศึกษา
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๓ รอยบูรพา "ค่ายเชลย"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๓ รอยบูรพา "ผู้ลี้ภัย"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๓ รอยบูรพา "เอเชียบูรพา"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๓ รอยบูรพา "๒๔๗๕ นายห้างรุ่นใหม่"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๒ ชีวิตบทใหม่ "ภารกิจ ๓๕๙ วัน"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๒ ชีวิตบทใหม่ "ผ่าจ้าน"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๒ ชีวิตบทใหม่ "สงกรานต์เชียงใหม่"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๑ แผ่นดินสุดท้าย "พบและพราก"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๑ แผ่นดินสุดท้าย "นายห้างคนใหม่"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๑ แผ่นดินสุดท้าย " ไม้แปลกป่า"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๑ แผ่นดินสุดท้าย "ต้นตระกูล"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๑ แผ่นดินสุดท้าย "คนแปลกหน้า"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๐ สู่สมรภูมิ "การตัดสินใจครั้งสุดท้าย?"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๐ สู่สมรภูมิ "ศักดิ์ศรีของใคร?"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๐ สู่สมรภูมิ "ทอฟฟีแอปเปิ้ล"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๐ สู่สมรภูมิ "สงครามกับความรัก"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๙ เจ้าสาววิกตอเรียน "ลูกชายคนโต"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๙ เจ้าสาววิกตอเรียน "ฝันสลาย"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๙ เจ้าสาววิกตอเรียน "ว่าที่เจ้าสาว"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๙ เจ้าสาววิกตอเรียน "ร้อยเล่ห์เพทุบาย"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๙ เจ้าสาววิกตอเรียน "หัวใจร้อนรุ่มดังสุมไฟ"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๘ ตามกระแสชล "ตัดหัวเสียบประจาน"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๘ ตามกระแสชล "คนทรยศ"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๘ ตามกระแสชล "พะกาเงี้ยว"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๘ ตามกระแสชล "ดวงดาวที่ดับสูญ"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๘ ตามกระแสชล "ประทีปอธิษฐาน"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๘ ตามกระแสชล "วิมานลอย"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๗ พิมานพงไพร “ลมหายใจสุดท้าย”
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๗ พิมานพงไพร “ผู้มาเยือน”
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๗ พิมานพงไพร "ซุ่มซ่อนในดอนดง"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๗ พิมานพงไพร "ชีวิตในปางไม้"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๖ ผูกเสี่ยวเกลียวสัมพันธ์ "ป่าเหนือเมื่อหน้าดอกไม้บาน"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๖ ผูกเสี่ยวเกลียวสัมพันธ์ "เสี่ยวช้าง-เสี่ยวคน"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๖ ผูกเสี่ยวเกลียวสัมพันธ์ "ช้างที่หายไป"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๖ ผูกเสี่ยวเกลียวสัมพันธ์ "ข่าวด่วน"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๖ ผูกเสี่ยวเกลียวสัมพันธ์ "We go native"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๕ มิตซ่ากุลาเผือก "เดิมพันที่ข่วงโปโล"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๕ มิตซ่ากุลาเผือก "หลุยส์ ที เลียวโนเวนส์"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๕ มิตซ่ากุลาเผือก "ฝรั่งต้นคอแดง"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๕ มิตซ่ากุลาเผือก "เลียบละกอน"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๔ เอื้องป่าเวียงละกอน "Blue Vanda คือ ฟ้ามุ่ย"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๔ เอื้องป่าเวียงละกอน "ดำเนินไพร-นางในฝัน"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๔ เอื้องป่าเวียงละกอน "พบกันวันฝนโปรย"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๓ สู่อุษาคเนย์ "ความลับของเบ็ตตี้"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๓ สู่อุษาคเนย์ "สมาคมเถ้าศักดิ์สิทธิ์"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๓ สู่อุษาคเนย์ "ตามรอยพ่อและตา"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๓ สู่อุษาคเนย์ "หญิงสาวจากโอริสสา"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๓ สู่อุษาคเนย์ "โลกใบใหม่"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๒ : ไฟฝันเมื่อวันเยาว์ "แรงใจและไฟฝัน"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๒ : ไฟฝันเมื่อวันเยาว์ "บ้านใหม่-เพื่อนใหม่"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๒ : ไฟฝันเมื่อวันเยาว์ "ปฐมบทของวิลเลียม บรูค"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๒ : ไฟฝันเมื่อวันเยาว์ "ครอบครัวในอินเดีย"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑ : ปัจจุบันของวันวาน "เวียงวนาลัย"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑ : ปัจจุบันของวันวาน "แกรนด์ปา"