เวียงวนาลัย บทที่ ๑๓ รอยบูรพา “เอเชียบูรพา”

เวียงวนาลัย บทที่ ๑๓ รอยบูรพา “เอเชียบูรพา”

โดย : เนียรปาตี

Loading

เวียงวนาลัย เรื่องราวของวิลเลียม หนุ่มอังกฤษที่เดินทางมาทำงานในบริษัทสัมปทานป่าไม้ในภาคเหนือของสยาม เขาไม่เคยนึกฝันมาก่อนว่าต้องเผชิญกับอะไรมากมายในดินแดนที่ไม่คุ้นเคย ทั้งมิตรแท้ สงครามและความรัก มาเอาใจช่วยหนุ่มอังกฤษคนนี้กับชีวิตอันแสนจะโลดโผนในเวียงวนาลัย นวนิยายออนไลน์ โดย เนียรปาตี ที่อ่านเอาภูมิใจนำเสนอ

น้ำในลำห้วยและแม่น้ำเพิ่มระดับขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องด้วยฝนที่ตกต่อเนื่องมาหลายวัน วันที่รอคอยสำหรับคนทำงานปางไม้มาถึง ช่วงเวลาสั้น ๆ นี้เป็นนาทีทองที่จะผลักซุงลงแม่น้ำให้ล่องไปยังสถานีผูกแพ การทำงานต้องแข่งขันกับเวลาก่อนระดับน้ำจะลด

วิลเลียมพาลูกสาวมาดูการปล่อยซุงลงแม่น้ำทุกปีจนแทบว่าไม่มีอะไรแปลกใหม่สำหรับหล่อน แต่ปีนี้มาลีมีท่าทางตื่นเต้นและกระตือรือร้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะพ่อนายและแม่นายอนุญาตให้นั่งแพล่องไปกับขบวนแพซุงถึงปากน้ำโพได้

โอลิเวอร์สั่งการกุลีอยู่ริมฝั่งท่ามกลางสายฝนที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุด ช้างนับสิบทำงานตามคำสั่งของควาญ

งัด…งัด…

โสก…หาว…หาว

และอีกหลายคำที่ควาญช้างร้องสั่ง แม้คนฟังไม่รู้เรื่องแต่ช้างกลับทำหน้าที่อย่างดี มีบ้างที่ร้องแปร๋นเป็นการอุทธรณ์หรือแสดงอารมณ์ไม่พอใจที่ถูกกระตุ้นให้ผลักซุงลงน้ำไม่ได้หยุดหย่อน

“ตอนนี้ดีกว่าหลายปีก่อนมาก” วิลเลียมเอ่ยเช่นเดิมทุกปี ยิ่งวันผ่านไป สิ่งอำนวยความสะดวกในการทำไม้ยิ่งมากขึ้น เช่นการลากไม้ออกจากป่าก็ไม่ได้ใช้แรงช้างอย่างเดียว หากยังใช้รถยนต์บรรทุกไม้จากป่ามาเรียงไว้ริมตลิ่ง ย่นระยะเวลาได้มากหากเทียบกับการใช้ช้างลากซุงอย่างเมื่อก่อน

มาลีมองน้ำที่แตกกระจายเพราะท่อนซุงกลิ้งลงไปกระแทกผิวน้ำสีสนิมข้นคลักท่ามกลางเสียงครืน ๆ แทรกอยู่ในเสียงฝนกระหน่ำอย่างเห็นเป็นเรื่องสนุก สิ่งที่เฝ้าคอยมาตลอดชีวิตคือการได้ล่องแพซุงไปตามลำน้ำนี่แหละ มาลีรู้ว่าแม้พ่อนายจะอนุญาตแต่พ่อนายก็เตรียมการเดินทางอย่างรัดกุม นับแต่การผูกแพซุงที่หล่อนจะนั่งไป การคัดเลือกพ่อครัวฝีมือดีให้ติดตามไปอีกแพหนึ่ง และผู้ที่อาสาดูแลก็คือปะเล

ในวันเดินทาง…หลังจากที่ผลักท่อนซุงลงน้ำหมดแล้ว โอลิเวอร์และปรันต์ก็รับปากแข็งขันว่าจะดูแลมาลีอย่างดีที่สุดตลอดการล่องแม่น้ำคราวนี้

วิลเลียมยิ้มน้อย ๆ เป็นการยอมรับคำมั่นนั้น เขาเชื่อว่าชายหนุ่มทั้งสองจะดูแลมาลีเป็นอย่างดี เพราะทั้งคู่มีใจปฏิพัทธ์ต่อหล่อน วิลเลียมมองดูแพนายห้างล่องไปจนลับสายตาจึงขับรถกลับบ้าน ภรรยาเตรียมอาหารคอยไว้แล้ว เขาไม่เสียเวลากินนานนัก เมื่ออิ่มแล้วก็เอ่ยชวนเรียบ ๆ ว่า

“ไปนั่งรถเล่นกันไหม เตรียมเสื้อผ้าไปสักสองสามชุดก็พอ”

มุ่ยหัวเราะออกมาอย่างรู้เท่าทันความคิดของสามี

“นายห้างจะแวะที่สวรรคโลก บ้านนา หรือว่าปากน้ำโพล่ะ” สถานที่เหล่านั้นล้วนเป็นสถานีผูกแพ

วิลเลียมหัวเราะน้อย ๆ รู้อยู่ว่ามุ่ย ‘ทัน’ เขาเสมอ วิลเลียมจึงกลบเกลื่อนไปว่า

“นาน ๆ ทีได้อยู่กันสองคน ไม่มีลูก ๆ อยู่ด้วย เราก็น่าจะฮันนีมูนกันบ้าง”

มุ่ยไม่ขัดคำชวนของสามี วิลเลียมขับรถยนต์ที่ถือเป็นของใหม่และราคาสูงในสมัยนั้น มีไม่กี่คันในจังหวัด มุ่งสู่สถานีผูกแพที่ปากน้ำโพ

 

โรงแรมที่พักที่ปากน้ำโพมีหลายแห่งและต่างระดับกันไป นายห้างปางไม้และพ่อค้าวาณิชเป็นแขกประจำเพราะต้องมากำกับการทำงานที่นี่ทั้งขาขึ้นและขาล่อง ปากน้ำโพที่นครสวรรค์จึงเป็นแหล่งชุมนุมใหญ่ของคนหลายกลุ่ม

โอลิเวอร์ไม่แปลกใจที่เมื่อมาถึงสถานีผูกแพ กำลังควบคุมกุลีให้ทำงานอยู่นั้น เห็นวิลเลียมยืนโบกมือให้ริมฝั่ง และในตอนบ่ายปะเลก็นำสารมาบอกว่า นายห้างเชิญไปรับมื้อเย็นด้วยกันที่โรงแรม

ตลอดเวลามื้อค่ำมาลีคุยไม่หยุดปากถึงความสนุกสนานที่หล่อนได้รับ ทุกสิ่งล้วนเป็นความแปลกใหม่ในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการตั้งครัวทำกับข้าวบนแพ จิบน้ำชายามบ่ายขณะล่องแพ การนอนที่รู้สึกเหมือนเลื่อนไหลไปกับสายน้ำ แม้แต่ยามที่แพกระแทกแก่งหินจนสะเทือนไหวก็กลายเป็นเรื่องสนุกไปเสียสิ้น ในเรื่องเล่าของมาลีมีทั้งพี่โอลิเวอร์และพี่ปรันต์อยู่ในนั้น ยามเอ่ยถึงใคร หล่อนก็มองไปยังคนนั้น

วิลเลียมพอใจที่เห็นความเบิกบานฉายอยู่เต็มสีหน้าและแววตาของลูกสาว แกล้งถามอย่างไม่จริงจังว่า

“มาลีจะไปเที่ยวต่อที่กรุงเทพฯ หรือกลับเชียงใหม่กับพ่อ”

มาลีคงสนุกเต็มที่แล้ว หล่อนจึงตอบว่าจะกลับเชียงใหม่พร้อมพ่อและแม่ ทำให้วิลเลียมพอใจที่ลูกสาวไม่เห็นแก่ความสนุกมากไปกว่านี้

มาลียังเล่าเรื่องสนุกที่ได้พบตลอดขากลับ บางเหตุการณ์แม้จะเล่าไปแล้ว แต่เมื่อนึกได้ว่าตกหล่นรายละเอียดช่วงใดไป มาลีก็เล่าใหม่แบบมีรายละเอียดมากขึ้น

วิลเลียมและมุ่ยพอจะเห็นเค้าลางอยู่รำไรว่า ‘ใคร’ คือคนที่จะมาเป็นลูกจายหรือลูกเขยในอนาคต แต่ทั้งสองไม่ซักถาม ปล่อยให้เวลาล่วงเลยไป เมื่อใดที่เจ้าตัวพร้อม เขาคงเอ่ยออกมาเอง

วันนั้นมาถึงในเวลาไม่นานเมื่อโอลิเวอร์และปรันต์เสร็จสิ้นภารกิจการส่งไม้ที่กรุงเทพฯ กลับมาเชียงใหม่เพื่อล่องแพสำรวจไม้ตกค้างตามลำน้ำที่เรียกกันว่านีปปิ้ง ภูมิทัศน์ยามนี้สวยงามกว่าหน้าฝนเพราะเริ่มเข้าสู่ต้นเหมันต์ ใบไม้เปลี่ยนสีทั้งส้ม เหลือง แดง อยู่ในสายหมอก พวกเขาชวนมาลีเดินทางไปด้วยกัน เพราะเคยรับปากไว้ว่าจะพาไปชมความงามของป่าในอีกฤดูหนึ่ง

มาลีตอบรับคำชวนด้วยความยินดี

และเพียงวันเดียวก่อนเดินทาง ปรันต์ก็ติดภารกิจ ไปนีปปิ้งคราวนี้ไม่ได้…จังหวะพอดีจนคล้ายจงใจ

โอลิเวอร์และมาลีเสร็จภารกิจนีปปิ้งก่อนหยุดคริสต์มาส บนโต๊ะอาหารในวันขอบคุณพระเจ้า โอลิเวอร์ก็แจ้งข่าวดีแก่ทุกคนว่า มาลีตกลงแต่งงานกับเขาแล้ว

วันที่วิลเลียมให้ลูกสาวคนเล็กคล้องแขนเข้าโบสถ์เพื่อส่งมอบหล่อนให้แก่ผู้จะเป็นสามี มาลีอายุครบ ๒๕ ปีบริบูรณ์แล้ว ในขณะที่โอลิเวอร์มีอายุ ๔๐ ปีพอดี ขณะพาลูกสาวก้าวเดินไปยังแท่นพิธี วิลเลียมก็ได้ทบทวนการเดินทางที่ผ่านมาของตนเอง นานเหลือเกิน ไกลเหลือเกิน แต่เขาก็ยังต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงไม่สิ้นสุด

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามเปลี่ยนชื่อประเทศจาก ‘สยาม’ เป็นประเทศ ‘ไทย’ ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Thailand เรื่องนี้ไม่ส่งผลกระทบหรือสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่ครอบครัวเขามากนัก เพราะไม่ว่าดินแดนนี้จะถูกขนานนามว่าอย่างไร เขาก็ยังคงจะอยู่กับครอบครัวที่นี่จนลมหายใจสุดท้าย

เหตุการณ์ที่กำลังดำเนินไปตรงนี้ต่างหากเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อเขา วิลเลียมส่งลูกสาวตัวน้อยให้กับโอลิเวอร์ เด็กหนุ่มผู้เคยร่วมรบด้วยกัน ทว่าบัดนี้ก็โตเป็นผู้ใหญ่ที่ได้เรียนรู้ชีวิตมามากพอที่เขาจะมอบลูกสาวให้ดูแลต่อ

การแต่งงานอย่างที่คนที่นี่เรียกว่า ‘ออกเรือน’ หรือ ‘ลงเฮือน’ เป็นแค่การเปลี่ยนสถานะของคนในครอบครัวแต่ไม่ใช่การจากพราก เพราะโอลิเวอร์และมาลีตกลงกันแล้วว่าจะยังคงอยู่ที่บ้านเดิมเพียงแต่ย้ายมาอยู่ห้องเดียวกัน และอาจขยับขยายไปสร้างบ้านหลังเล็ก ๆ อยู่ในอาณาบริเวณเดียวกันในอนาคต

หากวิลเลียมจะมีญาณวิเศษมองเห็นเหตุการณ์ในอีกซีกโลกหนึ่ง เขาคงจะได้รู้ในตอนนั้นว่า การพรากจากครอบครัวเมื่อเขาสิ้นลมอันเป็นการจากลาครั้งสุดท้าย มิใช่การจากพรากที่เขาจะได้พบในเวลาอันใกล้

ระฆังวิวาห์ของมาลีและโอลิเวอร์ที่โบสถ์ในเชียงใหม่ดังขึ้นพร้อมกับเสียงระเบิดในอีกซีกโลกหนึ่ง…สงครามอุบัติขึ้นอีกครั้ง

 

 

“เกิดสงครามในยุโรปอีกแล้ว”

นายห้างวัยเกษียณจุดประเด็นสนทนาขึ้นมาหลังจากพ่นควันซิการ์ให้ลอยขึ้นไปในอากาศ

“ใครจะอาสาไปร่วมรบกับกองทัพอีกไหม”

วิลเลียมส่ายหน้าเบา ๆ เป็นคนแรก หันมองลีรอยที่ยังคงนิ่งเงียบทว่าดูมีความสุขอยู่ในทีราวคนพบความสุขสงบของชีวิตแล้ว ลีรอยเดินทางจากระแหงมาร่วมงานแต่งงานของมาลี และอยู่เชียงใหม่ต่ออีกสัปดาห์เพื่อคุยกับหลาน ๆ และไอเดนในการบริหารโรงงานเฟอร์นิเจอร์ไม้

“วัยขนาดผมคงเป็นภาระให้กองทัพมากกว่าจะไปช่วยสนับสนุน อีกอย่าง…ลูกเมียผมก็อยู่ที่นี่ ผมทิ้งครอบครัวไปไหนไม่ได้อีกแล้ว”

วิลเลียมเห้นลีรอยยิ้มนิด ๆ อย่างพอใจกับคำตอบของเขา ครั้นหันไปทางโอลิเวอร์ผู้บัดนี้เป็นลูกเขย เขาก็บอกว่า

“ผมคงไม่กลับไปเช่นกัน ผมวางแผนจะมีลูกเร็ว ๆ และเขาควรเห็นหน้าผมในวันที่ลืมตาดูโลก ตัวผมเองก็ยังมีอาการเชลล์ล็อกไม่หาย มันคงติดตัวไปจนผมตายนั่นละ”

ผู้ฟังพยักหน้าเห็นด้วยกับเหตุผลนี้ วัยที่โตขึ้น ความรับผิดชอบมากขึ้นทั้งเรื่องงานและครอบครัวทำให้โอลิเวอร์ที่เคยห่ามและมุทะลุค่อยสงบลง โรคเชลล์ล็อกหรือโรคผวาระเบิดเมื่อกำเริบก็ควบคุมตัวเองไม่ได้ อาการแบบนี้ถ้าอยู่ในกองทัพจะยิ่งเป็นปัญหามากกว่าคนปกติเสียอีก

“สงครามคราวนี้คงบานปลายกว่าครั้งก่อน” วิลเลียมปรารภขึ้นมา “เยอรมัน อิตาลี และญี่ปุ่น ดูจะจับมือกันเหนียวแน่นและมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนกว่าครั้งก่อนที่เป็นสงครามแย่งชิงดินแดน แต่คราวนี้เป็นการแย่งชิงอำนาจของโลกในเรื่องอุดมการณ์การปกครองด้วย”

สามประเทศที่จับมือกันคือ เยอรมัน อิตาลี และญี่ปุ่น รู้จักกันในนาม ‘กลุ่มอักษะ’ หรือ Axis Power โดยมีอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เป็นผู้นำฝ่ายเยอรมัน มุสโสลินีนำฝ่ายอิตาลี และจักรพรรดิฮิโรฮิโตะนำฝ่ายญี่ปุ่น จึงมีคำติดปากอีกคำที่เรียกกลุ่มอักษะนี้ว่า ‘โรม-เบอร์ลิน-อิตาลี-แอคซิส’

“ไม่เห็นจะต้องกลัวอะไร โรม-เบอร์ลิน-อิตาลี มีแค่สาม แต่พวกเรา…ฝ่ายสัมพันธมิตรมีมากกว่าไม่รู้ตั้งกี่เท่า จะกลัวอะไรกับประเทศที่เคยแพ้สงคราม หาพันธมิตรไม่ได้ จนต้องไปจับมือกับไอ้พวกลิงแคระจากประเทศเกาะกลางทะเลนั่น ฉันคิดว่าฝ่ายนั้นจะยกธงขาวยอมแพ้ก่อนพวกเรายกพลเสียอีก”

คำปรามาสของนายห้างผู้นั้นเป็นไปอีกทาง และบทสนทนาในวันนั้นจบลงด้วยเสียงหัวเราะของชาวอังกฤษต่างวัยที่มั่นใจว่าถึงอย่างไร ฝ่ายสัมพันธมิตรก็ต้องเป็นผู้กำชัยชนะในครั้งนี้

 

“รัฐบาลไทยจะบ้าไปแล้ว จู่ ๆ ก็ประกาศว่าตนเองเข้าร่วมสงครามกับญี่ปุ่น”

โอลิเวอร์เดือดขึ้นมากลางสมาคม แม้ก่อนหน้านั้นโอลิเวอร์จะเป็นเด็กหนุ่มที่ชวนขวางหูขวางตาสำหรับผู้ใหญ่ แต่บัดนี้เมื่อโอลิเวอร์แสดงจุดยืนต่อว่ารัฐบาลไทยค่อนข้างเสียสติที่ประกาศว่าตนอยู่ฝ่ายเดียวกับกองทัพญี่ปุ่น สมาชิกในสโมสรก็เห็นว่าเขาเป็นพวกเดียวกัน

สงครามระหว่างฝ่ายอักษะและฝ่ายสัมพันธมิตรดูจะยืดเยื้อ ไม่จบง่าย ๆ ในเร็ววันเหมือนที่คิดไว้แต่แรก ยิ่งเมื่อรัฐบาลสยามมีประกาศเช่นนี้ ก็เท่ากับบอกให้รู้ว่า ชาวต่างชาติที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับฝ่ายอักษะก็มีสถานะไม่ต่างจากเชลย

วิลเลียมกังวลใจกับเรื่องนี้ไม่น้อย การเปลี่ยนสถานะเป็นเชลยจะส่งผลกระทบแก่เขาและครอบครัวอย่างมาก แม้ตอนเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ วิลเลียมจะกลับไปร่วมรบกับกองทัพอังกฤษ แต่เมื่อกลับมาสยามก็ได้รับรู้จากการสมาคมหลาย ๆ ครั้งว่า ในตอนนั้นทางการสยามปฏิบัติกับเชลยชาวเยอรมันและฮังการีอย่างไร

“ส่วนใหญ่ก็มุ่งไปที่ผู้ชาย ถ้าเริ่มเป็นหนุ่มอายุ ๑๒-๑๓ ปีขึ้นไปก็จับหมด” นายห้างอาวุโสชาวอังกฤษที่ตอนนั้นต้องแสดงหลักฐานยืนยันว่าตนเองเป็นชาวอังกฤษ ไม่ใช่เยอรมันหรือฮังการีเล่า น้ำเสียงปนหัวเราะเหยียด ๆ เมื่อเอ่ยว่า “คนสยามแยกไม่ได้ว่า ‘ฝรั่ง’ ผมแดงตาสีอ่อนนี้มีเชื้อชาติต่างกัน”

“กองทัพจับแล้วก็คุมตัวไปไว้ที่โรงพยาบาลปากคลองหลอด” นายห้างอีกคนที่วัยอ่อนกว่าคนแรกช่วยให้ข้อมูล

“พวกผู้หญิงล่ะครับ”

วิลเลียมถาม ชะตากรรมของผู้หญิงส่วนใหญ่หนีไม่พ้นเป็นเครื่องบำเรอกามในค่ายกักกัน หรือไม่ก็ถูกริบทรัพย์สินแล้วปล่อยพวกหล่อนไปเผชิญชีวิตกันเองตามยถากรรม

“ผู้หญิงกับเด็กถูกตำรวจนครบาลมาคุมตัวไปไว้ที่คลับเยอรมันที่สีลม” สมาชิกสโมสรอีกคนบอก

จากนั้นวิลเลียมจึงได้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า เชลยเหล่านี้ถูกแบ่งเป็น ๔ ชั้น ชั้นหนึ่งคือบุคคลที่เคยมีตำแหน่งสูงในรัฐบาลสยาม ชั้นสองคือผู้ดีและผู้ที่รับราชการมานาน ชั้นสามคือบุคคลสามัญ ส่วนชั้นสี่เป็นบุคคลชั้นต่ำและส่วนใหญ่เคยต้องโทษมาก่อน

สิ่งที่วิลเลียมสนใจมากกว่าระดับชั้นของเชลยคือเรื่องครอบครัวและทรัพย์สิน

“รัฐบาลถอดชาวเยอรมันออกจากการเป็นคนในบังคับสยาม พวกเชลยได้รับเงินเบี้ยเลี้ยง แต่ก็เป็นเงินที่ยึดมาจากทรัพย์สินของตัวเองนั่นแหละ ต่อมาอังกฤษเสนอให้ส่งเชลยไปอยู่อินเดีย รัฐบาลสยามก็ทำตาม” นางห้างอาวุโสบอก มองผู้ฟังนิ่งอยู่ครู่หนึ่งจึงเอ่ยต่อ “ส่วนเรื่องภรรยาของเชลยนั้น รัฐบาลจ่ายเบี้ยเลี้ยงให้ตามสมควร ไม่มีระเบียบแบบแผนอะไรชัดเจนหรอก จ่ายตามความเหมาะสม ว่ากันเป็นกรณีไป พวกที่เป็นเมียตามกฎหมายก็อาจจะได้มากหน่อยเพราะมีเครดิต ภาษีดีกว่าพวกนอกสมรสอยู่แล้ว พวกเมียน้อยเมียบ่าวนี่ก็ไม่ต่างอะไรจากนางบำเรอ แทบไม่อยู่ในสายตา”

“แสดงว่าได้รับการดูแลไม่เท่ากันสิครับ” วิลเลียมเอ่ย

“คุณหมายถึงความยุติธรรมหรือ ไอ้ความยุติธรรมที่คุณว่า มันคืออะไรกันแน่ล่ะ อย่างเรื่องเมีย ๆ ทั้งหลาย ต่อให้ขึ้นชื่อว่าเมีย มีหน้าที่บำรุงบำเรอสามีเหมือนกัน แต่เมียตามกฎหมายกับเมียนอกสมรสก็ถูกให้ค่าไม่เท่ากัน หรือแม้แต่ในกลุ่มเมียเชลยที่เป็นเมียจดทะเบียนที่กงสุลรับรอง ยังได้ปันส่วนเบี้ยเลี้ยงรายเดือนไม่เท่ากันเลย เพราะ ‘ท่าน’ ก็ตัดสินตามฐานะ ใครมั่งคั่งก็ได้ปันส่วนมากหน่อย ใครชั้นรองลงมาก็ได้น้อยลงไป ท่านว่าค่าใช้จ่ายของแต่ละคนไม่เท่ากัน ทำไมจึงต้องจ่ายทุกคนในอัตราเดียวกันด้วย”

น้ำเสียงผู้เล่าเน้นหนักแกมประชดเมื่อเอ่ยถึง ‘ท่าน’ อันเข้าใจทั่วกันว่าหมายถึงรัฐบาลสยามและผู้มีอำนาจในการดำเนินการนั้น

วิลเลียมบอกไม่ถูกว่ารู้สึกอย่างไร แต่อย่างน้อยก็อุ่นใจว่า ถ้าเขาต้องกลายเป็นเชลยสงครามครานี้ ภรรยาและลูกทุกคนจะไม่เดือดร้อนเกินไป เพราะมุ่ยจดทะเบียนสมรสกับเขาแล้ว

 

 

งานฤดูหนาวเป็นงานประจำปีที่ยิ่งใหญ่ของเชียงใหม่ไม่ต่างจากงานฉลองรัฐธรรมนูญหรืองานกาชาดที่กรุงเทพฯ กิจกรรที่มีเหมือนกันคือการออกร้านของหน่วยงานต่าง ๆ และการประกวดสาวงามตามนโยบายของท่านผู้นำที่ให้สตรีทั้งหลายมีสถานะเป็น…ขวัญใจดอกไม้ของชาติ

มาลีเคยถูกทาบทามให้ประกวดนางสาวเชียงใหม่แต่เจ้าตัวปฏิเสธ เห็นสาวรุ่นวัยเดียวกันสวมชุดอาบน้ำเดินโชว์ตัวบนเวทีท้าลมหนาวแล้วก็คิดว่าตนคงทำอย่างนั้นไม่ได้ ต้องเดินอ้อยสร้อยชม้อยสายตาโปรยยิ้มหลายนาที เมื่อลงจากเวทีพี่เลี้ยงจะรีบเอาผ้ามาคลุมตัวแล้วพาไปนั่งผิงไฟจากเตาอั้งโล่ที่ตั้งเรียงไว้เป็นแถวหลังเวที รอเวลาขึ้นโชว์ตัวรอบต่อไป

แต่ถึงกระนั้นมาลีก็ชอบดูการประกวดนางสาวเชียงใหม่

ปีนี้ก็เช่นเคย แม้จะมีข่าวเรื่องรัฐบาลสยามจับมือเป็นพันธมิตรกับกองทัพญี่ปุ่น กำลังพิจารณาว่าจะให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านสยามไปยังพม่าเพื่อโจมตีบริทิชมลายูหรือไม่ ผู้คนที่เชียงใหม่ก็ยังรื่นเริงกับงานประจำปี ไม่มีทีท่าว่าจะต้องหวาดกลัวภัยสงครามอย่างคนบางกอก การประกวดสาวงามจึงยังดำเนินไปเช่นทุกปี หน้าเวทีก็เต็มไปด้วยผู้คนที่มาเสพอาหารตาให้เพลินอารมณ์

“สงครามยังอีกไกล แต่สิ่งตรงหน้านี้สิน่าสนใจกว่า” ชาวบ้านคนหนึ่งว่าอะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด เมื่อเกิดแล้วต้องเป็นทุกข์ แล้วจะทิ้งโอกาสที่จะมีความสุขในปัจจุบันขณะนี้ไปทำไม “ใช่ว่าเลิกดูนางงามแล้วสงครามมันจะเลิกเสียเมื่อไหร่”

ในคืนนั้นจึงไม่มีใครเห็นเรื่องสงครามน่ากังวลมากไปกว่าการชมประกวดนางงามในงานฤดูหนาว แม้ว่าอีกด้านหนึ่งของเขตแดนประเทศ เรือรบสัญชาติญี่ปุ่นหลายลำแล่นตรงมายังชายฝั่งสยาม ราวตีสองกองทัพญี่ปุ่นก็ยกพลขึ้นบกในหลายพื้นที่ ทั้งอรัญประเทศ สมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และปัตตานี

ครั้งรุ่งรางดวงอุทัยไขแสง ชาวบ้านก็แจ้งข่าวลือเล่าต่อกันจนแซ่ไปว่า…ญี่ปุ่นบุก

 

 

รอยเมืองรีบจับรถไฟจากกรุงเทพฯ มาเชียงใหม่ด้วยใจที่ร้อนรนและแล่นเร็วกว่าล้อที่บดไปบนรางเหล็ก นับแต่รู้แน่ว่าทัพญี่ปุ่นเข้ามาในประเทศไทยแล้วโดยไม่รอประกาศอนุญาตอย่างเป็นทางการจากรัฐบาล  การอยู่ในแวดวงหนังสือพิมพ์ที่เกี่ยวกับขั้วอำนาจทั้งเก่าและใหม่ทำให้รอยเมืองได้รับข้อมูลจาก ‘วงใน’ มาหลายทาง แม้บางเรื่องจะเปรยว่าเป็นข่าวลือ แต่เมื่อพิจารณาถ้วนถี่ก็เห็นว่ามีเค้ามีมูลพอจะเชื่อว่าเป็นข่าวจริงได้

ที่ออกตัวไว้ว่าเป็น ‘ข่าวลือ’ ก็เพื่อป้องกันตัวไว้ เผื่อ ‘เรื่องนั้น’ ไม่เป็นจริงก็เท่านั้นเอง

รอยเมืองไม่เสียเวลาล้างหน้าเปลี่ยนเครื่องแต่งตัว เมื่อเข้าบ้านแล้วพบว่าทุกคนที่ต้องการพบอยู่พร้อมหน้า ทั้งพ่อนายวิลเลียม นายแม่มุ่ย มาลีน้องสาว และโอลิเวอร์น้องเขย ความร้อนใจทำให้ตรงเข้าสู่ประเด็น

“ญี่ปุ่นยกทัพเข้าไทยแล้วพ่อนาย ตีสองเมื่อคืนนี้”

“พ่อได้ข่าวมาเหมือนกัน”

“ตอนนี้ยังอยู่แถวอรัญประเทศกับชายแดนทางใต้ คงอีกหลายวันกว่าจะเดินทัพขึ้นมาทางเหนือ เรายังพอมีเวลา แต่ผมก็ไม่อยากให้ทุกคนช้านัก”

“มีเวลาสำหรับอะไรหรือคะ” มาลีถามพี่ชาย

รอยเมืองหันไปดูหลานสาวตัวน้อยในห่อผ้าที่มารดากอดไว้อย่างทะนุถนอม ทั้งเอ็นดูระคนเวทนา กรรมเวรอะไรหนอต้องเกิดกับแม่หนูน้อยยามนี้ รอยเมืองตอบคำถามน้องสาวว่า

“มีเวลาหนีก่อนญี่ปุ่นจะยกทัพมาถึงเชียงใหม่นี่นะสิ” มาลีตกใจหน้าซีดเผือด รอยเมืองยังอธิบายต่อไป “รัฐบาลก็อิหลักอิเหลื่อ จัดการอะไรไม่ได้เต็มที่ ญี่ปุ่นขอเจรจาแกมบังคับให้รัฐบาลยอมให้เดินทัพผ่านไปยังพม่า สถานการณ์ตอนนี้ก็เหมือนพวกเราชาวอังกฤษกลายเป็นศัตรูของรัฐบาลสยามด้วย ทั้งสยามและญี่ปุ่นจะมาจับพวกเราไปเป็นเชลยนะสิ กองทัพญี่ปุ่นเข้าใจโน้มน้าว ว่ากันเรื่องขอคืนดินแดนที่อังกฤษกับฝรั่งเศสเคยยึดไป เท่านี้รัฐบาลไทยก็ตกลง”

มาลีหน้าเสียยิ่งขึ้นเมื่อเข้าใจเหตุผลกระจ่างแจ้ง หันไปมองหน้าบิดาและสามี อะไรบางอย่างผุดขึ้นมาให้ความคิดของหล่อน คงเป็นลางสังหรณ์กระมัง สังหรณ์ว่าชะตาชีวิตของแม่หนูน้อยลูกสาวคนแรก จะซ้ำรอยตนเองเมื่อพ่อต้องเดินทางไปร่วมรบที่อังกฤษ

ผิดไปแต่ว่าครั้งนี้ พ่อของแม่หนูมิได้ไปร่วมรบ แต่อาจถูกพรากไปในฐานะเชลย

หนึ่งสัปดาห์จากนั้นเต็มไปด้วยความวุ่นวายของครอบครัวชาวอังกฤษในสยาม ข่าวที่ได้รับมามีแต่เรื่องการหนี บางคนหนีไปทางเชียงราย บางคนหนีไปทางระแหง เพื่อไปสู่พม่าและอาจเลยไปถึงอินเดีย อีกข่าวที่ชวนอกสั่นขวัญหายคือข่าวชาวอังกฤษบางคนถูกจับเข้าค่ายกักกันเชลย ทั้งค่ายของรัฐบาลไทยและค่ายของกองทัพญี่ปุ่น

รอยเมืองร้อนใจเมื่อไปพบลุงลีรอยที่เมืองระแหงกลับมาเชียงใหม่แล้วพ่อนายวิลเลียมยังไม่ตัดสินใจว่าอย่างไร เขาแทบทรุดตัวร้องไห้ลงไปกับพื้นเมื่อเอ่ยแกมวิงวอนว่า

“ตัดสินใจสักทางเถิดครับ พ่อนาย ไม่ว่าพ่อนายจะเลือกทางไหน ผมจะอยู่กับพ่อนายและน้อง ๆ เสมอ”

 



Don`t copy text!