เวียงวนาลัย บทที่ ๑๓ รอยบูรพา “องค์กรวี”

เวียงวนาลัย บทที่ ๑๓ รอยบูรพา “องค์กรวี”

โดย : เนียรปาตี

Loading

เวียงวนาลัย เรื่องราวของวิลเลียม หนุ่มอังกฤษที่เดินทางมาทำงานในบริษัทสัมปทานป่าไม้ในภาคเหนือของสยาม เขาไม่เคยนึกฝันมาก่อนว่าต้องเผชิญกับอะไรมากมายในดินแดนที่ไม่คุ้นเคย ทั้งมิตรแท้ สงครามและความรัก มาเอาใจช่วยหนุ่มอังกฤษคนนี้กับชีวิตอันแสนจะโลดโผนในเวียงวนาลัย นวนิยายออนไลน์ โดย เนียรปาตี ที่อ่านเอาภูมิใจนำเสนอ

“นายห้างถูกจับไปวันเดียว พวกญี่ปุ่นก็ย้อนมายึดบ้านเราเป็นที่ทำการ”

มุ่ยนึกถึงวันนั้นแล้วยังแปลกใจตัวเองว่ากล้ายืนเผชิญหน้ากับทหารญี่ปุ่นได้อย่างไร เล่าให้นายห้างสามีฟังว่าทหารญี่ปุ่นเที่ยวเดินหาตึกร้างเพื่อใช้เป็นฐานทัพ ที่ไหนร้างก็ยึดครอง วัดหลายแห่งจึงกลายเป็นฐานทัพญี่ปุ่นเพราะพระเณรต่างหนีเอาตัวรอดกันไปก่อน แต่บางที่หากทำเลเหมาะ แม้ไม่ร้างญี่ปุ่นก็มาเจรจาแกมขู่ยึดเอาดื้อๆ อย่างเช่นบ้านของวิลเลียม

“ที่บ้านเฮา…มันก็กึ่งยึด กึ่งค้าขายกัน” มุ่ยเล่าต่อไปถึงการเจรจาค้าขาย ญี่ปุ่นขอซื้อผักผลไม้ในสวนซึ่งส่วนใหญ่เป็นกล้วยที่ปลูกไว้เป็นพื้น เพราะกล้วยเป็นพืชสารพัดประโยชน์ คิดอะไรไม่ออกก็ปลูกกล้วยไว้ก่อน ปลูกทิ้งปลูกขว้างให้เทวดาเลี้ยงก็ยังได้ผลงาม แต่ที่มุ่ยภูมิใจมากกว่าคือสัญญาซื้อขายเหล้า

“มันชิมเหล้าเฮาแล้วเปิงใจ๋…ชอบมาก…เลยให้ต้มเหล้าส่งมัน”

วิลเลียมมองหน้าภรรยา นอกจากจะให้ลึกล้ำสมความคิดถึงที่ต้องจากกันมานานก็ยังมองลึกเข้าไปในดวงตา รู้ว่ามุ่ยมีแผนการที่เหนือกว่าการต้มเหล้าส่งญี่ปุ่นเพื่อหารายได้เลี้ยงปากท้องในช่วงสงคราม ครอบครัวของเขามิได้อัตคัดแม้ในยามข้าวยากหมากแพง วิลเลียมจึงถามไปตรงๆ มุ่ยก็บอกเหตุผลอย่างผู้ที่เชื่อมั่นในการตัดสินใจของตัวเองเต็มที่

“ถ้าเฮากับญี่ปุ่นตกลงซื้อขายกัน โดยเฉพาะพวกของกิน” มุ่ยอยากพูดว่าเสบียงแต่คำมันยากและวุ่นวายหนักหนา ทว่าวิลเลียมก็เข้าใจ “ปากท้องของทหารมันก็เท่ากับพละกำลังของกองทัพนั่นละ ในเมื่อเฮาเป็นคนส่งข้าวส่งน้ำ มันก็ย่อมจะบ่ทำร้ายเฮา นายห้างรู้ก่ มันมักเหล้าของเฮาขนาด”

มุ่ยเล่าว่าวันหนึ่งๆ หมดไปกับการต้มเหล้า ทำเท่าไรไม่พอ เพราะนอกจากพวกชั้นหัวหน้ากินกันเองแล้วยังส่งไปให้กองทัพที่จุดอื่นๆ ด้วย มุ่ยสบโอกาสเหมาะเมื่อนายหัวหน้ากองทัพบอกว่าจะส่งไปที่ค่ายเชลยที่หนองปลาดุก มุ่ยจึงขอติดรถไฟไปกาญจนบุรีด้วย อ้างว่าเกรงทหารเลวไม่ระมัดระวังทำไหเหล้าแตกหรือไม่ก็ทำให้รสชาติผิดเพี้ยนจะเสียชื่อเอาได้ นายทหารแม่ทัพจึงยอมตาม

ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปพร้อมกับทหารญี่ปุ่นแล้ว มุ่ยก็รีบส่งข่าวให้เมืองพี่ชายซึ่งบัดนี้สึกจากพระมาเป็น ‘คนบ้าน’ หรือฆราวาสแล้ว ทว่ายังหมั่นโกนศีรษะไม่ปล่อยให้ผมยาว

“อ้ายสึกเพราะบ่อยากให้พระพุทธศาสนาต้องมัวหมอง สิ่งที่จะทำบ่ใช่กิจของสงฆ์” เมืองนิ่งตรองอยู่ครู่หนึ่ง แววตาคล้ายมีความละอายวูบขึ้นมา “แต่อ้ายก็จะห่มจีวรเป็นพระอยู่บางครั้ง บ้านเมืองร้อนร้ายอย่างใด คนก็ยังเกรงอกเกรงใจพระเจ้าอยู่”

ในวันเดินทางที่สถานีรถไฟ นางมุ่ยแม่ค้าเหล้าจึงมาพร้อมกับพระสงฆ์รูปหนึ่ง อ้างว่าท่านจะไปธุดงค์ที่กาญจนบุรีพอดีเลยนิมนต์ให้เดินทางไปพร้อมกัน นายทหารเหล่านั้นก็ไม่ติดใจอะไร

เมื่อถึงกาญจนบุรีมุ่ยและพระสงฆ์พี่ชายก็ตามหาบ้านนายบุญผ่อง เรื่องนี้รอยเมืองเป็นคนบอกกับแม่นายมุ่ยและพ่อเมือง…บิดาแท้ๆ ของตน เมื่อไม่อาจทัดทานแผนการเดินทางไปกาญจนบุรีของทั้งสองคนได้ จึงบอกว่าให้ไปหาคุณบุญผ่องที่ร้านบุญผ่องแอนด์บราเดอร์เพื่อปรึกษาหารือวิธีเข้าไปในค่าย

การตามหาบุญผ่องไม่ยากเย็นนัก ด้วยเขาเป็นนายกเทศมนตรีเมืองกาญจนบุรี เป็นที่รู้จักของชาวบ้านเป็นอย่างดี และร้านสิริโอสถบนถนนปากแพรกซึ่งเป็นย่านการค้าของเมืองก็หาง่าย พบหน้าพูดคุยกันไม่เท่าไร มุ่ยก็เข้าใจว่าทำไมชายหนุ่มวัยสี่สิบคนนี้จึงเป็นคนที่รอยเมืองบอกว่าจะช่วยเหลือกันได้

บุญผ่องได้เปรียบคนอื่นๆ ตรงที่เขาสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ จึงติดต่อกับทหารญี่ปุ่นและเชลยศึกในค่ายกักกันได้ดี กองทัพญี่ปุ่นให้สัมปทานร้านของบุญผ่องส่งอาหารแก่ค่ายเชลย และเขายังมีรายได้จากการประมูลตัดไม้หมอนรถไฟขายให้กับญี่ปุ่นด้วย

ความรู้สึกเป็น ‘พวกเดียวกัน’ คงสื่อถึงกันได้โดยไม่ต้องพูดอะไรให้มากความ เพียงแค่มุ่ยบอกว่า

“นายห้างผัวฉันถูกจับเข้าค่ายเชลยที่กรุงเทพ แต่เพื่อนเขาถูกจับมาอยู่ที่นี่”

บุญผ่องมองหญิงวัยคราวแม่แต่ดวงตามุ่งมั่นแก่กล้าราวสาวเบญจเพสก็รู้ทันทีว่า ‘ปฏิบัติการ’ นี้มิใช่เรื่องเล่น

มุ่ยและเมืองอยากเข้าไปดูในค่าย ความจริงคืออยากจะไปสืบหาลีรอยนั่นเอง บุญผ่องจึงช่วยคิดวิธีการที่จะพาเข้าไปในค่ายโดยมิให้ผิดสังเกตนัก

“พรุ่งนี้พอดีถึงกำหนดส่งเสบียง เราเข้าไปด้วยกันก็ได้” เราในที่นี้หมายถึงบุญผ่องกับมุ่ย รู้ว่านางมุ่ยมากับทหารญี่ปุ่นเพราะต้มเหล้าส่งให้เหมือนที่เขาได้สัมปทานส่งเสบียงอาหาร จึงได้ข้อสรุปที่ลงตัวว่า “จากนี้นายแม่ส่งเหล้ามาให้ผม บอกพวกญี่ปุ่นไปว่านายแม่ให้ผมเป็นตัวแทน”

“ส่วนท่าน…” บุญผ่องหันมายังเมืองที่ยังครองจีวรอยู่ จุดที่นั่งสนทนากันมิได้ปลอดจากสายตาคน “แสดงตัวเป็นพระต่อไปอย่างนี้ดีแล้ว พรุ่งนี้ไปที่ค่าย ผมจะขอร้องผู้คุมว่าขอให้ท่านเทศน์ให้พวกเชลยคนไทยฟังสักหน่อย อย่างน้อยพวกนั้นได้มีกำลังใจเห็นทางสว่างของชีวิตบ้าง”

ไม่มีใครคัดค้านแผนการนี้ วันต่อมาทุกอย่างก็ราบรื่นไปตามที่ตั้งใจ

มุ่ยช่วยบุญผ่องและคนงานขนข้าวของไปรวมไว้ที่หนึ่ง แสร้งทำวุ่นวายเงอะงะเดินสะเปะสะปะดุจคนเร่อร่าไม่รู้ทิศทาง หากสายตาแลกวาดหาตัวนายห้างลีรอย ส่วนเมืองนั้นรับบทพระสงฆ์ผู้สำรวมเทศนาให้เหล่าเชลยชาวไทยฟัง ไม่อาจออกกิริยาผาดโผนได้ดังน้องสาว หากกระนั้นสายตาก็เหลือบแลมองหาคนที่ตัวเองมาตาม

ค่ายเชลยคือสถานที่กักกันร่างกายของเชลยศึกมิให้เล็ดลอดหลบหนีออกไปได้ แต่ไม่มีสิ่งใดที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิต นับแต่เรือนนอนที่เป็นเพียงเพิงโล่งปลูกหยาบๆ แคร่ไม้ไผ่ตั้งเรียงกันไป เชลยทั้งหลายที่อ่อนแรงและป่วยไข้นอนปะปนกัน แมลงวันบินตอมหึ่งๆ เพราะกลิ่นคาวเลือดและอาจม เสียงร้องโอดโอยระงมเป็นแห่งๆ เพราะความเจ็บปวดบาดแผลที่ไม่ได้รับการรักษา มองไปรอบด้านมีแต่ภาพชวนเวทนาหดหู่ใจ

มุ่ยอยากจะเบือนหน้าหนีภาพเลวร้ายเหล่านั้น แต่ไม่ว่าจะหันไปทางใดก็หนีไปไม่พ้น เชลยฝรั่งสองคนพยุงกันมา คนหนึ่งเห็นชัดว่าชราพยุงคนหนุ่มกว่าที่ร่างกายอ่อนเปียก ทั้งสองคนผ่ายผอมเหมือนโครงกระดูกเดินได้ แล้วก็หมดแรงล้มลงไปตรงที่พระท่านกำลังเทศนาอยู่นั่นเอง

พระเมืองมองคนที่ล้มอยู่ตรงหน้า พยายามสะกดอารมณ์มิให้สะเทือน นายห้างลีรอยผิดตาไปราวกับเป็นคนละคน แต่ยังไม่เท่ากับโอลิเวอร์ที่ตอนนี้เหมือนซากศพผุพัง เสื้อผ้ามอมแมมฉีกขาด เนื้อตัวเต็มไปด้วยบาดแผลที่ถูกตอมด้วยแมลงวันแมลงหวี่ ทว่าไม่มีแม้เรี่ยวแรงปัดมันออกไปให้พ้นรำคาญ

“ดีแค่ไหนที่นายห้างบ่ได้เห็นอย่างที่เฮาเห็น” มุ่ยเสียงอ่อนบอกนายห้างสามีเมื่อเล่าจบ ภาพของลีรอยและโอลิเวอร์ยังติดตา “รอยเมืองไปหาที่ร้านของบุญผ่อง บอกว่านายห้างอยากเจอเฮา อันที่จริง…เฮาเองก็ตั้งใจอยู่ว่า แล้วจากค่ายที่เมืองกาญจน์ก็จะมาหานายห้างที่นี่”

“พอได้ข่าวฉันก็แทบอยู่ไม่ได้ เป็นห่วงไปหมด แค่ไม่กี่วัน แต่ฉันกลับรู้สึกเหมือนรอเป็นเดือนเป็นปี กลัวว่าเราจะไม่ได้พบกันอีก” วิลเลียมไม่ปิดบังความรู้สึกของตนเอง ไม่อายหากใครจะได้ยิน ชีวิตในวัยปลายจะตายวันตายพรุ่งยังไม่รู้เช่นนี้ ไม่มีอะไรดีกว่าเผยความในใจออกไปตรงๆ

“แล้วเมืองล่ะ ทำไมไม่มาด้วยกัน” วิลเลียมถามต่อไป

“อ้ายเมืองขออยู่ที่นั่น วันพระวันศีลจะได้เข้าไปเทศน์ในค่าย ปะเหมาะเคราะห์ดี” มุ่ยเว้นจังหวะนิดหนึ่ง ลดเสียงเบาลงเกือบเป็นกระซิบ “ก็จะพานายห้างลีรอยหนีไปเลย”

“หนี! หนีไปไหน” วิลเลียมตกใจกับเรื่องที่ได้ยิน

“ไปพม่า” มุ่ยตอบอย่างเชื่อว่า พี่ชายจะทำสำเร็จ

 

ร้านค้าแถวค่ายเชลยที่คึกคักชนิดว่าลูกค้าไม่เคยห่างหาย สินค้าวางเท่าไรเป็นขายหมดไม่เหลือคือร้านของยายมุ่ย และลูกค้าส่วนใหญ่ก็คือเหล่าทหารญี่ปุ่น เหล้าของมุ่ยรสชาติดีถูกปากทหารญี่ปุ่น ยิ่งมีกะบองหรือผักชุบแป้งทอดขายเป็นกับแกล้มยิ่งถูกใจทหารญี่ปุ่นนัก เพราะกะบองในสายตาญี่ปุ่นนั้นมันก็คือเทมปุระดีๆ นี่เอง

แรกๆ ยังมีลูกค้าที่เป็นชาวบ้านบ้าง แต่ต่อมาพอลูกค้าญี่ปุ่น ‘ติด’ ก็โหวกเหวกขับไล่ลูกค้าชาวไทยออกไป ประกาศให้แผงขายเหล้ากับกะบองของนางมุ่ยรับแต่ลูกค้าญี่ปุ่นอย่างเดียว แต่เหนือฟ้ายังมีฟ้า เหนือทหารเลวยังมีผู้บังคับบัญชา สุรารสดีบางส่วนจึงถูกสงวนไว้สำหรับกลุ่มหัวหน้าเท่านั้น

สมความตั้งใจของมุ่ย จึงบอกแก่เหล่าทหารญี่ปุ่นไปว่า

“เหล้าของนายหัวหน้า เฮาจะเข้าไปส่งในค่ายเอง บ่ไว้ใจผู้ใด”

นั่นเองมุ่ยจึงสามารถเข้า-ออกค่ายเชลยได้อย่างมีอภิสิทธิ์

จดหมายของวิลเลียมที่เขียนฝากมา มุ่ยพับให้เล็กที่สุดเท่าที่จะเล็กได้ก่อนยัดไว้ในอกเสื้อ ครั้นเข็นรถบรรจุไหเหล้าเข้าไปในค่าย ทหารสี่ห้านายวิ่งเข้ามาจะช่วยมุ่ยก็เอะอะไล่ให้พ้นไป เพื่อแสดงให้เห็นว่าเหล้าที่จะส่งให้นายทหารชั้นหัวหน้านั้นทหารเลวไม่ควรแตะต้อง หญิงสูงวัยที่ต้องเข็นรถบรรทุกไหเหล้าจนหนักทำให้เคลื่อนไปได้เชื่องช้าจึงไม่มีใครเห็นว่าผิดปกติ มุ่ยใช้เวลานี้มองหาเป้าหมาย ครั้นสายตาประสานกับลีรอยแล้วจึงแสร้งทำว่ารถเข็นติด

มุ่ยใช้เท้าเขี่ยหินก้อนใหญ่มาขัดตรงล้อ ส่งเสียงร้องเรียกออกไป

“บ่านั่นน่ะ…นายคนนั้น…มาช่วยดูนี่หน่อยซิ”

ลีรอยโผเผเข้ามาใกล้ มุ่ยส่งสายตาบอกว่าอย่าทำให้พวกญี่ปุ่นรู้ว่าเป็นพวกเดียวกัน จากสายตาผู้สังเกตการณ์ในค่ายจึงเห็นเพียงไอ้เชลยฝรั่งแก่ๆ คนหนึ่งกำลังช่วยแม่ค้าเหล้าขยับรถเข็นในขณะที่นางแม่ค้าโบกมือพัดหน้ากระพือเสื้อไล่ความร้อน ไม่เห็นว่ามี ‘อะไร’ ตกลงมาจากอกเสื้อของนาง สีของกระดาษพับเล็กๆ นั้นก็กลืนไปกับพื้นฝุ่นที่แห้งแล้ง

ลีรอยรีบหามุมลับตาคนอ่านจดหมายอย่างรวดเร็ว จำได้แม่นว่าเป็นลายมือของวิลเลียมแม้จะเห็นว่าผู้เขียนพยายามดัดแปลงวิธีการเขียนเพื่อระวังตัว เผื่อว่าจดหมายนี้หลุดรอดไปถึงศัตรูอย่างน้อยก็จะสืบหาเจ้าของลายมือไม่ได้ แม้แต่การลงชื่อ วิลเลียมก็ไม่ใช้ตัว W หากแต่ลงท้ายด้วยตัวอักษร V

สาระสำคัญในจดหมายคือการบอกว่าเขารู้เรื่องราวความทุกข์ยากทางนี้ หากมีเรื่องต้องการความช่วยเหลือให้ขอไปได้เสมอ ทางนั้นแม้จะอยู่ในค่ายเชลยเหมือนกันแต่ก็สบายกว่ามากเพราะเหมือนแค่ถูกกักบริเวณเท่านั้น มิต้องใช้แรงงานสร้างถนนหรือทางรถไฟอย่างทางนี้

ลีรอยเขียนตอบกลับไปไม่ยาวนัก บอกสิ่งจำเป็นที่ขาดแคลนในค่าย คืออาหาร เสื้อผ้า และยา ใคร่ครวญแบบเดียวกับวิลเลียมว่าหากจดหมายนี้ไปไม่ถึงผู้รับ จะทำอย่างไรมิให้สืบสาวมาถึงตัวผู้เขียนได้ เวลาจวนเจียนลงทุกที เขาต้องรีบจบท้ายจดหมายโดยเร็วเพื่อส่งให้มุ่ยตอนออกจากค่าย

พลันลีรอยก็เห็นรหัสอีกชั้นหนึ่งที่วิลเลียมเขียนลงท้ายด้วยตัว V แทนที่จะเป็น W ตามชื่อต้นของเขา มิใช่เพื่อให้พ้องเสียง ว หากแต่ V นั้นมาจาก Vanda

ฟ้ามุ่ยคือ Blue Vanda ยากนักหากใครจะถอดรหัสนี้ได้

และเมื่อลีรอยคือคนรักของเมือง พี่ชายของฟ้ามุ่ย เขาจึงลงท้ายจดหมายฉบับนั้นว่า V/V

โชคไม่เข้าข้างลีรอยในวันนั้น ขณะกำลังผนึกจดหมายก็ได้ยินเสียงทหารญี่ปุ่นโหวกเหวกมา เขาจึงรีบยัดจดหมายของวิลเลียมเข้าปากกลืนลงท้องและยัดจดหมายที่ตนเขียนไว้ในร่องก้นก่อนไปยืนรวมกับเชลยคนอื่นๆ รับแจ้งว่าพรุ่งนี้จะต้องออกไปสร้างทางรถไฟ

มุ่ยผ่านมาได้ยินคำสั่งและเห็นลีรอยอยู่ในหมู่เชลยกลุ่มนั้น แสงสนธยายังพอทำให้เห็นแววตาและท่าทางได้บ้าง มุ่ยจึงรู้ว่าลีรอยมีจดหมายตอบกลับแล้วแต่หาจังหวะส่งให้ไม่ได้ ดวงจันทร์กลมใหญ่เคลื่อนไปสู่ผืนฟ้า มุ่ยเงยหน้ามองแล้วบอกนายทหารผู้คุมว่า

“พรุ่งนี้วันศีลเดือนแจ้ง…วันพระจันทร์เพ็ญ…ให้เชลยหมู่นี้ได้ไหว้พระไหว้เจ้าก่อนออกไปยะก๋านเต๊อะ”

มุ่ยพูดช้าๆ ดังๆ เหมือนอธิบายให้อีกฝ่ายเข้าใจผ่านอุปสรรคทางภาษา ลีรอยพยักหน้ารับเอารหัสนั้นมาอย่างเข้าใจดี

ครั้งรุ่งรางกระจ่างแสงสุรีย์ศรี พระเมืองที่เข้ามาเทศน์ในค่ายบ่อยๆ ก็ผ่านมาบิณฑบาตหน้าค่าย เชลยทั้งหลายผู้ใฝ่บุญและหวังว่าผลบุญนี้จะช่วยให้ชีวิตดีขึ้น ไม่ทันโลกนี้ก็ขอให้ดีในโลกหน้า ก็ยกมือไหว้นิมนต์พระเข้ามารับบาตร ใส่อาหารประดามีเท่าที่พอจะเจียดได้มาทำบุญ หนึ่งในนั้นคือฝรั่งแก่ที่กะโผลกกะเผลกเกาะกลุ่มเชลยคนไทยมา หย่อนของลงในบาตร

พระเมืองปิดฝาบาตรกลับสู่นิวาสสถาน ไม่รับบาตรผู้ใดอีก

 

วิลเลียมอ่านจดหมายที่มีข้อความไม่กี่ประโยคนั้นด้วยความรู้สึกคับแน่นในอก เอนตัวพิงโคนไม้ใหญ่ หลับตานิ่ง พลันนึกถึงข้อความที่แท้จริงที่ลีรอยคงอยากพรั่งพรูออกมาให้มากที่สุดเท่าที่จะบอกได้ คำว่าทุกข์ยากหรือลำบากนั้นส่งให้เกิดมโนภาพการทารุณที่โหดร้ายที่สุดที่มนุษย์จะพึงทำต่อกันได้แล้วก็ให้สะท้อนใจว่า ที่ญี่ปุ่นกดขี่ข่มเหงเชลยฝรั่งเช่นนี้ เป็นการเอาคืนที่ครั้งหนึ่งฝรั่งหรือชาวตะวันตกก็เคยปฏิบัติแบบเดียวกันนี้มาก่อนหรือเปล่า

การรู้ข่าวว่าคนที่รักยังมีชีวิตอยู่น่าจะนับเป็นข่าวดีได้

การหวังว่าสักวันหนึ่งจะมีโอกาสได้พบกันอีก คงเป็นกำลังใจให้มีชีวิตต่อเพื่อรอให้ถึงวันนั้น

ใช่…สิ่งที่ลีรอยขอความช่วยเหลือมา เพียงแค่ต้องการต่อลมหายใจเท่านั้น

วิลเลียมนำจดหมายที่ลีรอยเขียนมาไปหารือกับเพื่อนเชลยในค่ายเพื่อหาทางช่วยเหลือ อย่างที่รู้กันว่าเชลยฝรั่งในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะอยู่ที่ค่ายธรรมศาสตร์หรือค่ายวชิราวุธต่างก็เป็นเหมือนเชลยกิตติมศักดิ์ ไม่ต้องทำงานใช้แรง เป็นแต่เพียงควบคุมตัวไว้มิให้ติดต่อกับทหารฝ่ายสัมพันธมิตรได้

“เราจะเชื่อได้อย่างไรว่า จดหมายนี้ไม่ใช่กลลวงของฝ่ายนั้น” ใครคนหนึ่งเอ่ยขึ้นมา

สถานการณ์ที่ทุกคนเผชิญหน้ากันอยู่ในตอนนี้ถูกครอบคลุมไปด้วยความหวาดระแวง ทุกวันจะมีทั้งข่าวกรองและข่าวลือ ข่าวว่ามีพวกใต้ดินบ้าง บนดินบ้าง มีกลุ่มก่อการต่างๆ กระจายเต็มไปหมดจนทำให้ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร เข้ากับพวกใด ข่าวว่าจับสายลับได้แล้วถูกยิงตายก็ไม่เว้นแต่ละวัน

“ผมขอยืนยันด้วยเกียรติของผม ว่าจดหมายนี้เป็นของเพื่อนผมจริง” วิลเลียมรับรอง

“ถ้าเช่นนั้นเราก็ควรจะช่วยพวกเขาตามสมควร” ผู้แคลงใจในตอนแรกสรุป ทำให้วิลเลียมยิ้มออกแต่ก็เจื่อนไปเมื่อฝ่ายนั้นยื่นข้อเสนอ “แต่ทางนั้นก็ควรจะมีอะไรแลกเปลี่ยนกันบ้าง”

“ท่านหมายถึงอะไร” วิลเลียมถามแทนอีกหลายคนที่ยังไม่เข้าใจเช่นกัน “เชลยในค่ายอย่างนั้น วันๆ มีแต่สร้างทางรถไฟ กับรักษาไข้ไม่ให้ป่วยตายเสียก่อน จะมีอะไรช่วยเราได้อีก”

“มีสิ ก็ให้เขารายงานความคืบหน้าในค่ายทางโน้นมาบอกเราบ้าง”

“มันเสี่ยงมากเลยนะครับ” วิลเลียมแย้ง

“แล้วการที่เราส่งหยูกยาอาหารไปให้เชลยในค่ายนี่ไม่เสี่ยงเลยหรือยังไง นายห้างตรองดูให้ดีนะ ไอ้จดหมายที่เขียนขอความช่วยเหลือมานี่ ถ้าจะมองว่าธุระไม่ใช่ก็ย่อมได้ จริงไหม”

วิลเลียมข่มอารมณ์ที่พลุ่งขึ้นมา จ้องหน้าชายคนนั้นนิ่งถามว่า

“เราจะช่วยเหลือใครสักคนเพียงเพราะเขาเป็นเพื่อนมนุษย์เหมือนกับเราไม่ได้เลยหรือ”

“ก็อาจจะได้ แต่ไม่ใช่ในภาวะสงครามอย่างนี้” ผู้พูดยักไหล่อย่างไม่ยี่หระ “เอาเป็นว่านี่คือทัศนะของผม ผมยินดีช่วยเหลือหากว่ามีอะไรแลกเปลี่ยนกันบ้าง”

เสียงในที่ชุมนุมแตกไปพักหนึ่งก็เริ่มรวมไปสู่ข้อสรุปว่าทุกคนไม่ติดขัดที่จะให้ความช่วยเหลือเชลยในค่ายหนองปลาดุก เงินจำนวนสามสี่ร้อยบาทที่หลายคนรวมกันมาถือว่าไม่ทำให้เดือดร้อนกระไรนัก แต่ความเสี่ยงอยู่ที่การส่งมอบเงินและยาให้พวกเชลยในค่ายต่างหาก พวกเขาไม่ขอรับรู้ และขอให้วิลเลียมให้ความมั่นใจว่า เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันใดๆ ที่ส่งผลร้าย จะไม่สืบสาวมาถึงพวกเขา

วิลเลียมก็ยอมรับข้อเสนอแต่โดยดี

นับแต่นั้น รอยเมืองก็จะมาพบพ่อนายวิลเลียมทุกเดือน นำจดหมายจากเมืองกาญจน์มาส่งให้ รับเงินสามร้อยถึงสี่ร้อยบาทไปส่งให้แม่นายมุ่ยที่หนองปลาดุก เล่ากลวิธีสารพัดอย่างที่ใช้ส่งของให้กันโดยเฉพาะยา เงินนั้นญี่ปุ่นไม่ค่อยสนใจนักเพราะพิมพ์ธนบัตรใช้เอง แต่ยารักษาโรคนี้ถือเป็นยุทธปัจจัย ขายกันในตลาดมืดราคาแพงๆ ขนาดพวกทหารญี่ปุ่นด้วยกันเอง ถ้าป่วยน้อยก็ให้พักจนหายเอง แต่ถ้าป่วยมากเกินเยียวยาก็ปล่อยให้ออกไปตายนอกค่าย ฉะนั้น จะให้ยามาถึงปากเชลยในค่ายจึงเป็นเรื่องที่หวังยาก

เหตุการณ์ลักษณะนี้ดำเนินไปจนถึงปี 2486 เหล่าเชลยในค่ายที่กรุงเทพฯ ยังคงยินดีลงขันช่วยเหลือเชลยในค่ายที่ต้องใช้แรงงาน ตราบที่ยังมีข่าวสารแจ้งความเคลื่อนไหวในค่ายส่งมาอย่างต่อเนื่องเป็นการแลกเปลี่ยน

สถานการณ์ล่าสุดที่รายงานมารุนแรงขึ้นเป็นทบทวี ญี่ปุ่นเร่งสร้างทางรถไฟให้เสร็จเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เชลยทั้งหลายจึงทำงานมิได้หยุดหย่อนทั้งกลางวันและกลางคืน วันละ 18 ชั่วโมง ยามกลางวันแสงแดดแผดกล้า เหงื่อไคลไหลย้อย เรี่ยวแรงถดถอยอิดโรย ได้พักกินข้าวประเดี๋ยวก็พลบค่ำ จุดคบจุดไต้ให้สว่าง เปลวเพลิงสีแดงวับๆ แวมๆ เป็นระยะตามแนวเส้นทางส่องกระทบร่างผอมดำมันเลื่อมดุจโครงกระดูกเคลื่อนไหวไปมาในป่าเขา แรงงานส่วนใหญ่มีผ้าเตี่ยวผืนเดียวคาดเอวไว้แค่กันอุจาด แต่มิอาจต้านทานความหนาวเย็นหรือยุงตัวใหญ่ได้ ซ้ำร้ายบางคนเป็นแผลติดเชื้ออยู่ทั่วร่างกาย เลือดหนองเยิ้มไหล กลิ่นคาวกลิ่นเหม็นชวนสะอิดสะเอียนคลุ้งไปก็ยังต้องแบกท่อนไม้มาเรียงหมอน บางคนอาเจียนโพรกออกมาเพราะอหิวาตกโรค ที่ป่วยด้วยไข้ป่าจนเสียชีวิตก็ถูกฝังกลบทิ้งไว้แถวนั้นแค่พอพ้นอุจาดตา ภาพน่าหดหู่เช่นนี้ดำเนินไปอยู่ทุกวันไม่ผิดกับอยู่ในขุมนรก

ลีรอยเล่าถึงการทำงานจุดนี้ในจดหมายฉบับล่าสุดแล้วสรุปว่า…ฉันอยากจะเรียกมันว่า ช่องไฟนรก หรือ Hellfire Pass

 

การชุมนุมครั้งสำคัญเกิดขึ้นเพราะจดหมายฉบับล่าสุดของลีรอย เชลยในค่ายที่ต้องการความช่วยเหลือมีมากขึ้นและอาการเจ็บป่วยก็รุนแรงขึ้นทุกที ลีรอยเองก็รู้ว่าจำนวนเงินที่ขอเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ย่อมสร้างความลำบากใจแก่ผู้หาให้ ในครั้งนี้เขาจึงขอมาในลักษณะเป็นสัญญากู้ยืมเงิน

เงินหลักหมื่นมิใช่จำนวนน้อย แต่ไม่ใช่ปัญหาว่าจะหาได้หรือไม่ได้

อีกทั้งไม่ใช่ปัญหาที่หลายคนกลัวว่าลูกหนี้จะเบี้ยวไม่ใช้คืนตามสัญญา เพราะจากสถานการณ์ที่เห็นกันอยู่ตอนนี้ เหล่าลูกหนี้มีแนวโน้มจะล้มตายไปทีละคนสองคนในแต่ละวันมากกว่าจะอยู่รอดจนถึงวันใช้หนี้ได้ เงินที่ให้กันนี้จึงรู้กันดีอยู่แล้วว่าแทบจะให้เปล่ากันไป

แต่ปัญหากลับอยู่ที่จะทำอย่างไรจึงจะส่งมอบเงินทั้งหมดนี้เข้าไปในค่ายเชลยได้โดยญี่ปุ่นไม่ผิดสังเกต ด้วยญี่ปุ่นกำหนดให้เงินไทยมูลค่าสูงสุดที่จะนำเข้าไปในค่ายได้ คือธนบัตรใบละ 20 บาทเท่านั้น

เงินหมื่นที่รวบรวมมาได้จากเพื่อนฝรั่ง และเพื่อนชาวไทยชาวจีนที่ไม่ได้เข้ากับญี่ปุ่นถูกแลกเป็นธนบัตรใบละ 20 บาท รวมกันแล้วก็หลายปึกหลายมัด วิลเลียมมองปริมาณธนบัตรในกำปั่นแล้วยังนึกไม่ออกว่าจะขนเข้าไปในค่ายได้อย่างไรให้รอดพ้นจากการตรวจจับของทหารญี่ปุ่น

หลายคนที่ร่วมลงขันก็วิตกถึงปัญหาเดียวกัน สุดท้ายวิลเลียมจึงเอ่ยออกไปว่า

“ผมเชื่อว่า…ภรรยาของผมจะหาทางจนได้”

 



Don`t copy text!