เสน่ห์บางกอก 2 : เยาวราช > เจริญกรุง

เสน่ห์บางกอก 2 : เยาวราช > เจริญกรุง

โดย : สุวิทย์ เมฆวิบูลย์

Loading

ไม่ได้มีแค่ นิยายออนไลน์ ให้อ่าน ที่ อ่านเอา  แต่เรายังมีเรื่องราวการเดินทางของ สุวิทย์ เมฆวิบูลย์ ชายหนุ่มผู้ที่เชื่อว่า การเดินทางกับการดื่มกิน คือองค์ประกอบสำคัญในการเติมไฟ เพิ่มพลังให้ชีวิต และเขายินดีแบ่งปันขุมพลังนี้กับผู้อ่าน “อ่านเอา” ได้ อ่านออนไลน์ 

…………………………………………..

5 โมงเย็น แสงแดดยังมี รู้สึกร่มรื่นขึ้น แม้ไม่พบเห็นต้นไม้ยืนต้นเลย ทั้งในบริเวณอาคารและริมถนนทางเท้า คนเยาวราชและ กทม. ในเขตนี้คงลืมนึกไปว่าสีเขียวจากธรรมชาติสร้างความสวยงามได้ดีที่สุด งดงามกว่าคอนกรีต ไม้ เหล็ก สเตนเลส

เอ๊ะ คิดเรื่อยเปื่อยไปจนได้ เดินออกมาเตร่บนถนนเยาวราชอีกครั้ง เจอราดหน้าเจ๊อ้วนออกมาตั้งแผงพอดี เห็นเส้นใหญ่และหมี่กรอบกำลังถูกผัดคั่วเส้นได้หอม สั่งปุ๊บได้ปั๊บเพราะเป็นเฟิสต์ออร์เดอร์ แตะลิ้นน้ำราดร้อนๆ อร่อยมากๆ ร้านเจ๊แกอยู่ใกล้ๆ มูลนิธิศาลเจ้าแม่กวนอิม (มูลนิธิเทียนฟ้า) ต้องชิมนะ ห้ามพลาดเลย…

สั่งมา 3-4 จานแล้วแบ่งกันจิ้มชิมคนละ 4-5 คำ พอดีเลย แล้วเข้าไปมูลนิธิเทียนฟ้า (ที่ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2445 เป็นมูลนิธิเพื่อสงเคราะห์ผู้ป่วยที่ยากไร้ให้ได้รับการรักษาพยาบาลแห่งแรกของประเทศไทย มีทั้งแผนปัจจุบันและแผนจีน) แนะนำให้เข้าไปกราบไหว้เจ้าแม่กวนอิม (พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ปางประทานพร) ประดิษฐานเป็นเทพเจ้าองค์ประธาน อธิษฐานขอพรให้ไร้โรคภัยไข้เจ็บ มีสุขภาพแข็งแรง (ประวัติบอกว่าองค์ท่านทำด้วยไม้จันทน์แกะสลักรูปแบบศิลปะราชวงศ์ถัง แต่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยของราชวงศ์ซ่ง ประมาณ 800-900 ปีและปี พ.ศ. 2501 ได้ถูกอัญเชิญมาจากประเทศจีนมาประดิษฐาน) เปิดให้เข้าชมทุกวัน

เดินข้ามไปสามแยก ย้อนไปดื่มยาขมน้ำเต้าทองคนละแก้ว และถัดไปอีก 10 เมตร ไปนั่งดูด ‘ลอดช่องสิงคโปร์’ ตำนานลอดช่องเมืองไทย (ร้านนี้มาบ่อยครับ) คนละแก้ว ไม่ต้องแบ่งกับใคร เดินย้อนถนนเจริญกรุงเลี้ยวขวาตัดเข้าถนนพลับพลาไชย ไปศาลเจ้าไต้ฮงกง (ที่สร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2452-2461) เป็นที่ประดิษฐานรูปจำลองหลวงปู่ไต้ฮงมหาเถระ ผู้ริเริ่มบำเพ็ญกุศลในการจัดฌาปนกิจศพไร้ญาติสมัยราชวงศ์ซ้อง เมื่อเกือบพันปีมาแล้ว และได้มีจัดตั้ง ‘คณะเก็บศพไต้ฮงกง’ เพื่อจัดการงานศพอนาถา (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นมูลนิธิป่อเต็กตึ้ง) ภารกิจหลักของป่อเต็กตึ๊งคือช่วยเหลือสังคมมากกว่าการเก็บศพ ช่วยกันทำบุญสนับสนุนกิจกรรมมูลนิธิกันมากๆ จะได้บุญกุศลยิ่งใหญ่

เดินเลาะออกมาซอยข้างๆ วัดเล่งเน่ยยี่ ผ่านร้านข้าวแกงชื่อดัง ข้าวแกงเจ๊กปุ้ย ซึ่งเป็นแค่ร้านข้าวแกงแสนจะธรรมดาๆ ที่ทุกคนน่าจะเคยเห็นรูปภาพคนเข้าคิว ต่อแถวซื้อ รอนั่งเก้าอี้พลาสติกตัวเตี้ยๆ ถือจานข้าวนั่งยองๆ กินริมถนนแบบทุลักทุเล เจ๊กปุ้ยแกโด่งดังมานานเรื่องรสชาติแบบถูกปากคนจีนในละแวกนี้ จนคนต่างถิ่นชิมแล้วบอกว่าไม่ธรรมดา โดยเฉพาะแกงกะหรี่ แกงเผ็ดฟัก ไข่พะโล้ ส่วนหนึ่งนิยมซื้อกลับบ้าน ยิ่งช่วง 5-6 โมงเย็น คิวจะยาวเลยร้านนี้ (จริงๆ น่าจะเรียกว่าหาบมากกว่า) เปิดบริการมานานกว่า 60 ปี โอ้โฮ เห็นประวัติยาวนานแบบนี้ อดไม่ได้ที่จะเขียน ให้ลองมาชิมดูครับ ถ้าย้อนไปสัก 10-20 ปี คงนั่งยองๆ ชิม แต่เดี๋ยวนี้ไม่ชอบแบบไม่สบายตัวซะแล้ว ขอผ่านครับ

เดินออกมา 20 เมตรก็ถึงหน้าวัดเล่งเน่ยยี่ (ชื่อพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 คือ ‘วัดมังกรกมลาวาสง) วัดก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2414 ใช้เวลาการสร้างกว่า 8 ปี จึงเสร็จสมบูรณ์ ออกแบบตามสถาปัตยกรรมแบบจีนตอนใต้โดยช่างชาวแต้จิ๋ว วางแปลนตามแบบวัดหลวง คือมีวิหารท้าวจตุโลกบาลเป็นวิหารแรก ตรงกลางเป็นพระอุโบสถ ข้างหลังพระอุโบสถเป็นวิหารเทพเจ้า การสร้างใช้ไม้และอิฐเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง ปัจจุบัน ‘วัดเล่งเน่ยยี่’ จึงกลายเป็นศูนย์กลางในการจัดงานของชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนในเทศกาลตรุษจีนและเทศกาลกินเจ เข้าไปภายในวัดจนถึงวิหารจะพบ ‘ท้าวโลกบาล’ ทั้ง 4 ที่เป็นเทวรูปเทพเจ้าทั้ง 4 พระองค์ ในชุดนักรบชาวจีน พร้อมถืออาวุธ พิณ ดาบ ร่ม เจดีย์ ซึ่งชาวจีนเรียกว่า ‘ซี้ไต๋เทียงอ้วง’ หมายถึงเทพเจ้าที่ปกปักษ์รักษาคุ้มครอง

ถัดไปเป็นส่วนของอุโบสถ ซึ่งเป็นสถานที่ประดิษฐานพระประธานคือพระโคตมพุทธเจ้า พระอมิตาภพุทธะ พระไภษัชยคุรุพุทธะ ทั้งหมด 3 องค์ หรือ ‘ซำป้อหุกโจ้ว’ พร้อมพระอรหันต์อีก 18 องค์ หรือที่เรียกว่า ‘จับโป๊ยหล่อหั่ง’ ซึ่งทางด้านขวามีเทพเจ้าต่างๆ หลายองค์ เช่น เทพเจ้าคุ้มครองดวงชะตา หรือ ‘ไท้ส่วยเอี๊ยะ’, เทพเจ้าแห่งยาหรือหมอเทวดา ‘หั่วท้อเซียงซือกง’ เป็นต้น

เพื่อนที่ไปด้วยเล่าว่า ที่นิยมไหว้ขอพรกันมากคือเทพเจ้าแห่งโชคลาภ ‘ไฉ่ซิ้งเอี๊ยะ’ เทพเจ้าเฮ่งเจีย หรือ ‘ไต่เสี่ยหุกโจ้ว’ พระเมตไตรยโพธิสัตว์หรือ ‘ปู๊กุ่ยหุกโจ้ว’ ซึ่งคล้ายกับพระมหากัจจายนะ ‘กวนอิมผู่สัก’ หรือ พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ‘แป๊ะกง’ และ ‘แป๊ะม่า’ รวมเทพเจ้าในวัดจะมีทั้งหมด 58 องค์ 6 โมงเย็นฟ้าเริ่มมืด วัดปิดพอดี เดินทะลุตรอกมังกรไปถนนเยาวราช แวะรองท้องด้วยหูฉลามหม้อดินและขนมจีบที่ร้านฮั่วเซ่งฮง แล้วข้ามถนนไปฝั่งตรงข้ามหน้าโรงหนัง (เก่า) ก๋วยจั๊บนายอ้วน (ที่มีพริกไทยเยอะมาก) จะต่อแถวที่มีคนไทยคนจีนฮ่องกงสิงคโปร์ยืนเข้าคิวยาวราว 30 คน ตัดสินใจไม่นั่งกินดีกว่า ซื้อห่อกลับบ้านเพราะสั่งได้เลย เดินเตร่ย้อนเส้นทางรถไปหิ้วบะหมี่แห้งมังกรขาวกลับบ้านอีก 3 ห่อ แล้วลัดเลาะจะไปต่อร้านหอยทอดท้ายซอยเท็กซัส ดันปิดของหมด มานั่งกินเซ็งซิมอี๊ปากซอย แล้วปิดท้ายด้วยถือเส้นใหญ่ราดหน้า ‘ยู่อี่’ เจ้าดัง กลับบ้าน 1 ทุ่มครึ่งพอดี

เป็นอีกหนึ่งทริปที่สนุก อร่อยแบบพื้นๆ ง่ายๆ แถมได้สัมผัสจุดเช็กอินสำคัญๆ ที่เป็นประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ คงจะมีเสน่ห์บางกอกภาค 4-5 แน่นอน เพราะยังไปไม่ถึง 50% ของย่านเยาวราชและเจริญกรุง แต่อาจขอไปเลาะลัดตามเกาะรัตนโกสินทร์ ที่ถือเป็นแลนด์มาร์กของเมืองไทยบ้าง เพื่อประชาสัมพันธ์ให้เราคนไทยกันเองออกมาชื่นชมและทำนุบำรุงรักษามรดกทางวัฒนธรรมชิ้นสำคัญที่บรรพบุรุษฝากไว้กับเรา

 

Don`t copy text!