เที่ยวเกาหลีกับลีซังกุง ตอนที่ 7 : คยองฮเวรู และฮยังวอนจอง ตำหนักหอมขจรไกล
โดย : ลีซังกุง
ไม่ได้มีแค่ นิยายออนไลน์ ให้อ่าน ที่ อ่านเอา แต่เรายังมีเรื่องราวของดินแดนแห่งแสงสว่างยามเช้าและคำบอกเล่าของกาลเวลา โดย ลีซังกุง ให้ทุกคนได้ อ่านออนไลน์ กันเพลินๆ ในคอลัมน์ เที่ยวเกาหลีกับลีซังกุง
…………………………………………..
– 7 –
หลังจากที่เราได้เดินเข้ามาเรื่อยๆ ที่นี่ก็เป็นสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งค่ะ ซึ่งบรรดานักท่องเที่ยวมักจะมาถ่ายรูป นั่นก็คือศาลาจัดเลี้ยงคยองฮเวรู ที่นี่เป็นศาลาที่สร้างกลางสระน้ำขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ด้านตะวันตก ที่นี่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่รับรองงานจัดเลี้ยงต้อนรับราชทูตระหว่างประเทศ
และนอกจากนั้นยังใช้เพื่อเป็นสถานที่เลี้ยงรับรองเมื่อมีงานรื่นเริงเช่นงานฉลองพระชนมพรรษา สระน้ำขนาดใหญ่ถูกเจาะในปีที่สิบสองของพระราชาแทจง (ปี1 412) แรกๆ ก็เป็นเพียงศาลาเล็กๆ แต่หลังจากนั้นตัวอาคารก็เอียง ในสมัยพระราชาชอลจงก็ได้ทำการซ่อมแซมใหญ่ด้วยเสาหินเพิ่มความแข็งแรงให้มากขึ้น บ่อน้ำที่ท่านเห็นถูกใช้เป็นสถานที่สำหรับเก็บน้ำฝนที่เอาไว้ใช้ในพระราชวังเมื่อประเทศประสบภัยแล้งค่ะ
คยองฮเวรูที่เห็นในปัจจุบันถูกสร้างขึ้นใหม่ในปี 1867 ถึงแม้อาคารหลายหลังของพระราชวังคยองบกทำลาย แต่ก็ได้สร้างขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ทั้งจากสงครามและบางทีก็โดนไฟไหม้ แต่คยองฮเวรูก็ยังคงรักษาภาพลักษณ์แบบดั้งเดิมไว้ แต่เป็นที่น่าเสียดายก็คือ รั้วหินรอบสระจะพังยับเยินในระหว่างที่ญี่ปุ่นยึดครอง แต่อย่างไรก็แล้วแต่รั้วทางทิศเหนือและทิศตะวันออกก็ได้รับการบูรณะในปี 2004-2005
จากภาพที่ท่านเห็น นี่คือมังกรที่ขุดพบที่สระของคยองฮเวรู เป็นมังกรสำริดที่พบในพระตำหนักคยองฮเวรู เชื่อกันว่าเป็นการเอามังกรใส่ลงไปในสระเพื่อป้องกันอัคคีภัย
จากภาพตรงนี้เป็นพื้นเอาไว้จัดงานเลี้ยงสังสรรค์ในสมัยก่อนจะมีนางรำมาทำการแสดง สถานที่แห่งนี้สร้างขึ้นเพื่องานเลี้ยงในราชสำนัก และบางทีเมื่อมีการเลี้ยงต้อนรับราชทูตที่มาจากจีนค่ะ เหล่าขุนนางและข้าราชบริพารจะมาที่นี่เวลาที่มีงานเลี้ยงรื่นเริง แต่ก็นิยมจัดในช่วงอากาศที่ไม่ร้อนและหนาวจนเกินไปค่ะ
ฮยังวอนจอง ตำหนักหอมขจรไกล
และไม่ไกลจากคยองฮเวรูนักก็คือศาลาฮยังวอนจอน เป็นอาคารรูปทรงหกเหลี่ยมที่อยู่ด้านหลังของพระราชวังคยองบกกุง ในความหมายของนามตำหนักนี้หมายความว่า ‘หอมขจรไกล’ ฮยังวอนจองสร้างขึ้นครั้งแรกในปีที่ 2 ในรัชกาลของพระราชาเซจงหรือราวปี 1456 หลังสร้างตำหนักนี้แล้ว ก็มีการนำดอกบัวสายพันธุ์ต่างๆ ทำให้ช่วงฤดูร้อนดอกบัวจะบานสะพรั่งและส่งกลิ่นหอมอบอวล จึงเป็นที่มาของชื่อว่าตำหนักหอมขจรไกลค่ะ
ตำหนักหอมขจรไก ขึ้นชื่อว่าเป็นตำหนักที่มีทิวทัศน์งดงาม เพราะด้านหลังเป็นภูเขาพุกอักซาน
สะพานนี้ชื่อชีฮยังคโย ซึ่งเป็นสะพานที่จะเข้าสู่ตำหนักนี้ แต่เดิมก่อตั้งขึ้นเป็นสะพานไม้ในปี 1873 ในอดีตสะพานไม้ที่เห็นจะทอดยาว แต่เมื่อในช่วงสงครามเกาหลีสะพานไม้ส่วนนี้ได้รับความเสียหายมาก ทำให้มีการสร้างขึ้นมาใหม่ในปี 1953 ชีฮยังคโยเป็นสะพานที่ยาวแห่งหนึ่ง แต่เดิมนั้นตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของพระราชวังและถูกทำลายลง ในปี 1953 สะพานแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นใหม่ค่ะ
เมื่อเราเดินไปทางตะวันตกเฉียงเหนือของพระราชวัง ที่นี่คือพระตำหนักแทวอนจอน ที่นี่จะมีลักษณะคล้ายๆ ศาลเจ้า ที่ประดิษฐานพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระราชาแทโจ ปฐมกษัตริย์แห่งโชซอน แน่นอนค่ะที่นี่ก็คือสถานที่เก็บพระบรมศพของพระราชาแทโจ ตามธรรมเนียมเกาหลีจะเก็บศพไว้เป็นเวลาสองปีหลังจากสวรรคต จนกระทั่งมีพิธีฝังที่สุสานหลวง
หลังจากนั้นก็จะนำป้ายพระวิญญาณจะถูกนำไปที่ศาลบรรพชนของราชสกุล ในสมัยโชซอนคือจุงมโยค่ะ ที่นี่จึงเป็นสถานที่เก็บพระศพและทำพิธีกรรมสำหรับผู้วายชนม์ค่ะ บริเวณที่เงียบสงบแห่งนี้แยกได้จากอาคารพระราชวังอื่นๆ ในคยองบกกุง
พระตำหนักคอนชอนกุง
คอนชอนกุงเป็นหมู่ตำหนักที่สร้างขึ้นมาในสมัยหลังๆค่ะ ถูกสร้างขึ้นในปี 1873 (เป็นปีที่ 10 ของพระราชาโกจง) หมู่ตำหนักนี้ตั้งอยู่ในสถานที่ที่เงียบสงบทางตอนเหนือสุดของพระราชวังคยองบกกุง และที่พิเศษก็คือถูกสร้างขึ้นสำหรับกษัตริย์และพระราชินีเพื่อผ่อนคลายพระอิริยาบถ ที่นี่มีสระน้ำขนาดใหญ่ชื่อว่า ฮยังวอนจีตั้งอยู่ใกล้ๆ ฮยังวอนจองหรือศาลาหกเหลี่ยมที่ซังกุงได้กล่าวในบทที่แล้วมาค่ะ
ที่นี่ออกแบบตามสถาปัตยกรรมของที่อยู่อาศัยทั่วไป ยกเว้นการตกแต่งที่ดูหรูหราก็มีไม่กี่ห้อง แยกเป็นพระตำหนักจางอันดัง สำหรับกษัตริย์ พระตำหนักกูรยอนฮับ สำหรับพระมเหสีและหอตำรา ความุนกัก ด้านหลังพระตำหนักจางอันดัง มีการตกแต่งตามสไตล์แบบห้องพักของผู้ชาย ส่วนกูรยอนฮับและหอตำราก็ตกแต่งผนังอิฐล้อมรอบตกแต่งด้วยลวดลายดอกไม้สวยงามยิ่งนัก
พระราชาโกจงโปรดคอนชอนกุงมาก เพราะพระองค์ได้รู้สึกว่าได้ผ่อนคลายอย่างแท้จริง พระองค์และพระราชินีมินจะประทับอยู่ด้วยกันที่นี่บ่อยๆ แต่ตรงกันข้ามกับจุดประสงค์ของการผ่อนคลาย ที่พักแห่งนี้เป็นเวทีแห่งความวุ่นวายทางการเมืองในตอนท้ายของราชวงศ์โชซอน นี่เป็นจุดที่พระราชาโกจงต้องเปิดประตูรับราชทูตจากสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และรัสเซีย เพื่อแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่วุ่นวายนี้ขึ้นมาค่ะ
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สถาปนิกรัสเซียได้สร้างห้องสมุดควอนมุนกักขึ้นใหม่ เป็นอาคารอิฐสองชั้น มีการติดตั้งไฟไฟฟ้าชุดแรกในวังที่นี่ด้วย แต่ในปี 1895 กลุ่มนักลอบสังหารชาวญี่ปุ่นบุกเข้ามาในที่นี้ และสังหารราชินีมินอย่างเหี้ยมโหดพระนางสิ้นพระชนม์ที่ตำหนักอ๊กโฮรู
ตำหนักอ๊กโฮรู ตำหนักที่พระมเหสีมินสิ้นพระชนม์ จากการลอบสังหารจากชาวญี่ปุ่นและพวกเกาหลีที่ฝักใฝ่ญี่ปุ่น
บทเสริมพิเศษ เรื่องราวของประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับคอนชอนกุง
เรื่องราวของการลอบสังหารราชินีมินเป็นที่ถกเถียงกันมาก แต่นั่นเป็นเรื่องที่หาข้อยุติไม่ได้ และก็เป็นเรื่องของนักวิชาการไป แต่ซังกุงจะหาอ่านหลายๆ สำนัก เพราะบางทีก็เขียนไม่เหมือนกัน เพราะความเป็นจริงการลอบสังหารภายในเช้ามืดวันที่ 8 ตุลาคมปี 1895 ข้ารับใช้ในพระองค์ต่างตายตามนายไปเกือบหมดแทบไม่เหลือเลย
จากสนธิสัญญาคังฮวาที่ญี่ปุ่นทำกับโชซอน ขอให้โชซอนเปิดเมืองท่า 3 แห่ง ญี่ปุ่นดีใจที่จะได้เข้ามาที่รัฐฤๅษีเสียที แต่ก็ดีใจไม่นานเพราะประเทศอื่นที่เข้ามาก็ได้สิทธินั้นเช่นกัน พระนางใช้วิธีการคานอำนาจทำให้ญี่ปุ่นแค้นใจมาก ในราชสำนักก็แย่งชิงอำนาจกันให้วุ่นวาย ทำให้เหล่าขุนนางแตกออกเป็นสองฝ่ายใหญ่ๆ คือฝ่ายที่สนับสนุนราชินีมิน ส่วนมากจะเป็นคนจากตระกูลมินและแทวอนกุน และพอราชินีทรงปลดแทวอนกุนออกจากผู้สำเร็จราชการได้ ขุนนางยังแตกออกเป็นอีกพวกคือพวกสนับสนุนญี่ปุ่น
การลอบสังหาร การปองร้าย กบฏเป็นสิ่งรัชกาลนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ การหนีหลายครั้ง ราชินีมินรู้จักการขอความช่วยเหลือจากจีนซึ่งตอนนั้นถือเป็นพี่ใหญ่ที่เกาหลีต้องส่งจิ้มก้องไปให้ก็มาช่วย แต่ญี่ปุ่นเตรียมการยึดเกาหลีสิบปีโดยวางแผนอย่างแยบยล อย่างแรกเลย คือเมื่อรบชนะจีนแล้วญี่ปุ่นก็จับจีนทำข้อตกลง มีเหตุผลหลายข้อ ข้อหนึ่งก็คือห้ามจีนส่งกำลังมาช่วยเกาหลีโดยพลการ เว้นแต่ว่าการเข้ามานั้นคือการปกป้องพลเรือนของจีนเอง
แต่ถ้าคุณเข้ามาที่เกาหลี เรามีสิทธิ์รบกับคุณได้ นั่นคือสิ่งที่ญี่ปุ่นพูดกับจีน
เกี่ยวกับความขัดแย้งในราชสำนัก ขอเล่าแบบย่อๆ ตามความเข้าใจของนาคนะคะ เหตุการณ์ในราชสำนักตึงเครียดเมื่อแทวอนกุนประเมินความสามารถสตรีไร้บิดาที่เกิดจากตระกูลมินต่ำไป แทวอนกุนคิดเสมอว่าราชินีมินเป็นผู้หญิงอ่อนแอและดูหัวอ่อน คงไม่เป็นพิษเป็นภัยอะไร แต่แทวอนกุนคิดผิด ช่วงเวลาที่พระเจ้าโกจงยังหนุ่มทรงพอพระทัยกับงานเลี้ยงสังสรรค์แต่ราชินีมินทรงสนพระทัยหนังสือ และไม่ได้สนพระทัยพระสวามีเช่นกัน จากคนที่ดูไม่มีพิษมีภัยอะไรก็กลายมาเป็นคนที่ดูแคลนฝีมือไม่ได้ แทวอนกุนทรงไม่พอพระทัยที่ราชินีทำตัวทัดเทียบพระราชา จึงมีเรื่องขัดแย้งกันเนืองๆ
การคานอำนาจดึงฝั่งนั้นฝั่งนี้มาทำให้ญี่ปุ่นไม่พอใจมาก และยิ่งมาเห็นราชินีมินวางรากฐานการปฏิรูปประเทศก็ยิ่งไม่พอใจ การทำแบบนี้จะทำให้ญี่ปุ่นควบคุมโชซอนได้ยาก และแผนการยึดครองจะล่าช้าไปอีก จึงมีแผนสังหารนางจิ้งจอกขึ้น การสังหารเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความรอบคอบและต้องทำให้รวดเร็วและทิ้งร่องรอยเอาไว้ไม่ได้
ในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ ของวันที่ 8 ตุลาคม ปี 1895 เหล่ากองกำลังของญี่ปุ่นและเกาหลีที่นิยมญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งพร้อมด้วยอาวุธดาบและปืนครบมือ ได้บุกเข้าไปที่พระราชวังคยองบกกุง การต่อสู้ดำเนินไปอย่างดุเดือด ทหารเกาหลีที่รักษาพระราชวังก็มิอาจจะต่อสู้ได้ จากการสันนิษฐานน่าเป็นที่อาวุธที่ล้าหลังและวิธีการจู่โจมของญี่ปุ่น
กองกำลังติดอาวุธจึงล่วงไปที่พระราชวังคอนชอนกุงที่เป็นพระราชวังส่วนท้ายของพระราชวังคยองบก เมื่อสังหารพระนางแล้ว จึงเอาพระศพไปฝังที่ป่าสนท้ายพระราชวังเพื่อทำลายหลักฐาน และสองปีหลังจากที่พระนางสิ้นพระชนม์ เกาหลีก็ประกาศตนเป็นจักรวรรดิแทฮันเจกุก หรือจักรวรรดิเกาหลีค่ะ
การเดินทางไปพระราชวังคยองบกกุง
ค่าเข้าชม :
- ผู้ใหญ่ (19-64 ปี) : 3,000 วอน / กลุ่ม (มากกว่า 10 คน) : 2,400 วอน
- เด็ก (7-18 ปี) : 1,500 วอน / กลุ่ม (มากกว่า 10 คน) : 1,200 วอน *เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี เข้าชมฟรี*
เวลาเปิด-ปิด :
- มกราคม-กุมภาพันธ์ 09.00-17.00 น.
- มีนาคม-พฤษภาคม 09.00-18.00 น.
- มิถุนายน-สิงหาคม 09.00-18.30 น.
- กันยายน-ตุลาคม 09.00-18.00 น.
- พฤศจิกายน-ธันวาคม 09.00-17.00 น.
* เข้าชมก่อนเวลาปิด 1 ชั่วโมง
* เวลาเปิดปิดอาจมีการเปลี่ยนแปลง ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและสถานการณ์
วันปิดทำการ : ปิดทุกวันอังคาร
วิธีการเดินทาง
- ขึ้นรถไฟใต้ดินสาย 3 ลงที่สถานี Gyeongbokgung Palace Station ทางออก 5 จากนั้นเดินตรงไปอีก 100 เมตรก็จะถึงประตูทางเข้าพระราชวัง (แนะนำให้ลงที่สถานีนี้เพราะใกล้พระราชวังที่สุด)
- ขึ้นรถไฟใต้ดินสาย 5 ลงที่สถานี Gwanghwamun Station ทางออก 2 จากนั้นเดินตรงไปอีก 450 เมตรก็จะถึงประตูทางเข้าพระราชวัง