เบปปุ บ่อน้ำพุร้อนธรรมชาติที่ ‘ออกแบบ’ ได้

เบปปุ บ่อน้ำพุร้อนธรรมชาติที่ ‘ออกแบบ’ ได้

โดย : สุวิทย์ เมฆวิบูลย์

Loading

ไม่ได้มีแค่ นิยายออนไลน์ ให้อ่าน ที่ อ่านเอา  แต่เรายังมีเรื่องราวการเดินทางของ สุวิทย์ เมฆวิบูลย์ ชายหนุ่มผู้ที่เชื่อว่า การเดินทางกับการดื่มกิน คือองค์ประกอบสำคัญในการเติมไฟ เพิ่มพลังให้ชีวิต และเขายินดีแบ่งปันขุมพลังนี้กับผู้อ่าน “อ่านเอา” ได้ อ่านออนไลน์ 

…………………………………………..

 

เคยไปเที่ยวบ่อน้ำพุร้อนมาหลายสิบแห่งหลายทวีปทั้งในบ้านเราและเมืองจีน ฝรั่งและญี่ปุ่น ดูๆ ก็คล้ายๆ กัน จอดรถลงรถแล้วก็เดินๆ บางแห่งมีรถยนต์ รถเมล์เข้าถึง บางที่ก็มีรถรางนั่งเข้าไปถึงเลย หากอยู่บนภูเขาสูง ก็จะมีรถเคเบิ้ลกระเช้า แต่รวมๆ บรรยากาศจะเหมือนๆ กัน ได้สัมผัสกับควันไอน้ำร้อนๆ และได้กลิ่นกำมะถันฉุนฟุ้งกระจายแสบตา แต่ที่เบปปุไม่ใช่แค่นั้น ธรรมชาติสร้างหุบเขาและบ่อน้ำพุร้อนกระจัดกระจายทั่วเมืองรอบนอก ชุมชนเขาก็จัดการให้ทุกบ่อเชื่อมต่อการคมนาคมอย่างลงตัว สามารถใช้ตั๋วใบเดียว มีสตอรีเล่าเรื่องราวของบ่อต่างๆ ผนวกความเชื่อถือของคนท้องถิ่นเติมแต่งให้เข้าใจเบปปุมากขึ้น ไม่ผิดหวังเลย ได้อะไรติดตาติดใจกลับบ้านเยอะเลย มากกว่ารูปภาพสวยๆ ประทับใจกับการใส่ใจ ทุกอย่างออกแบบและควบคุมอย่างลงตัว ตามมาสำรวจกันครับ (เมืองเบปปุ : Beppu เป็นเมืองในจังหวัดโออิตะ บนเกาะคิวชูของประเทศญี่ปุ่น เป็นเมืองท่องเที่ยว ที่ยอมรับกันว่าเป็นเมืองหลวงแห่งออนเซน การแช่น้ำพุร้อน )

ไฮไลต์ของเบปปุที่เป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวคือทัวร์บ่อนรก 8 บ่อ โดยเฉพาะบ่อน้ำพุร้อนสีแดงคล้ายเลือด ชื่อว่า ‘Chinoike-jigoku’ หรือ ‘Bloody Hell Pond’ ซึ่งถูกยกให้เป็นหนึ่งใน Most Mysterious Place on Earth สาเหตุมาจากชาวญี่ปุ่นโบราณตั้งชื่อบ่อโดยอิงจากรูปนรกตามที่บรรยายไว้ในศาสนาพุทธ บ่อนี้มีอายุมากกว่า 1,300 ปี มีอุณหภูมิสูงถึง 78 องศาเซลเซียส และมีความลึกกว่า 27 เมตร แนะนำให้ซื้อบัตรแบบเหมา 1,500 เยน เพราะหากแยกซื้อ จะตกราคา 400 เยนต่อบ่อ เราวางแผนใช้เวลาเร่งๆ ก็ดูได้เพียง 5-6 บ่อเพราะปิดแค่ 17.00 น. ที่นั่นจะเริ่มมืดและหนาวจัดมากแล้ว เที่ยวแบบสบายๆ ดีกว่า แต่ก็ต้องถูกตังค์ด้วยนะ

จำชื่อย่านคันนาวะให้ดีๆ ที่นี่มีบ่อน้ำพุร้อนรวมทั้งสิ้น 6 บ่อ ประกอบด้วย บ่อโอนิอิชิโบสุจิโกะกุ บ่อยามะจิโกะกุ บ่อคามาโดะจิโกะกุ บ่อโอนิยามะจิโกะกุ บ่อชิราอิเกะจิโกะกุ บ่ออุมิจิโกะกุ (บ่อทะเลเดือด) บ่อนี้จะเดือดปุดๆ มีไอน้ำพุ่งสูงมาก ปลิวคลุ้งไปตามลม ถ่ายรูปเอาบ่อเป็นแบ็กกราวนด์สวยมากๆ และลงไปอีก 500-600 เมตรก็จะเป็นจุดที่ 2 บริเวณนี้มี 2 บ่อคือ บ่อน้ำพุร้อน Tatsumaki-Jigoku เป็นบ่อที่มีน้ำพุ่งขึ้นมาจากใต้ดินซึ่งจะพุ่งขึ้นมาทุกๆ 30 นาที รอบนึงใช้เวลาประมาณ 5-10 นาที เจ้าหน้าที่สามารถแจ้งเวลาที่น้ำพุจะพุ่งขึ้นมาได้ใกล้เคียงแม่นยำ เรียกว่าตั้งกล้องรอได้เลย และบ่อใกล้ๆ กันคือหมายเลข 7 Chinoike-Jigoku ที่เรียกว่าบ่อสระเลือด เป็นบ่อน้ำร้อนสีแดงสดๆ มีไอควันขาวๆ ดูน่ากลัว แต่ก็แปลกตาแปลกใจ กดภาพยืนข้างๆ บ่อ มีแบ็กกราวนด์ออกมาเป็นสีแดง โอ้โฮ ทำไมถึงมหัศจรรย์ อันซีนอะเมซิ่ง ได้ขนาดนี้

ด้วยสภาพภูมิประเทศ ทำให้บ้านเรือนของเบปปุ ที่ปลูกสูงต่ำไล่ไปตามไหล่เชิงเขาส่วนใหญ่เป็นบ้านชั้นเดียว แต่ก็มีสองชั้นประปราย ดูเผินๆ เหมือนแถบชานเมืองในออสเตรเลียหรือที่นิวซีแลนด์ ทำให้…

ยานพาหนะหลักของเบปปุ คือรถเมล์ประจำทางคล้ายกับเกียวโต เพราะไม่มีรถไฟฟ้าใต้ดิน สังเกตจากที่ยืนรอที่ป้ายหน้าสถานีรถไฟและดูตารางเวลา รถมากพอเพียงให้นักท่องเที่ยวได้ใช้ร่วมกับชาวบ้านสบายๆ เลย  เวลาทีระบุตามป้าย ตรงเวลาเป๊ะ ระดับนาที (เหมือนรถไฟ) แถมมีป้ายจอดตามจุดท่องเที่ยวทั่วเมือง ขึ้นแต่ละครั้งเริ่มที่ ราคา 150 เยน ราคาจะเพิ่มตามระยะทาไปเรื่อยๆ จนถึงราคา 900-1,000 เยน แต่ถ้าเราซื้อตั๋วเหมาเพียง 900 เยน ต่อ 1 วัน หรือ 1,500 เยน ต่อ 2 วัน ขึ้นลงไม่จำกัดครั้งและสาย

เห็นการเดินทางเชื่อมต่อของกลุ่มบ่อน้ำพุร้อนของเขต (ตำบล) คันนาวะ 6 บ่อ กับ 2 บ่อล่าง แถวบ่อทัตสุมากิ เลยนั่งเหม่อลอย… คิดไปถึง แม่ริม-แม่สา-สะเมิง-หางดง หรือบ่อน้ำร้อนสันกำแพงกับเส้นทางโป่งเดือดป่าแป๋ (ที่แม่แตง)-บ่อน้ำร้อนฝาง-ห้วยน้ำดัง-ปาย ถ้า อบจ. เชียงใหม่และแม่ฮ่องสอนและ ททท. จับมือกันผูกร้อยเรียงให้เป็นกลุ่มคลัสเตอร์เที่ยววันเดียว (One Day Trip) มีรถเมล์บริการครบรอบวงจร ทำไมเราจะทำไม่ได้? เสียดาย กลไกอย่างนี้ เมืองไทยเราหาคนเริ่มจัดการเป็นเจ้าภาพยากจริงๆ ที่ญี่ปุ่นเชื่อว่าทุกอย่างเกิดจากชุมชนและเอกชนรายย่อยบริหารจัดการแล้วรัฐเข้ามาสนับสนุน

ทุกๆ บ่อที่ไปแวะตามตารางนำเที่ยว มีการสร้างเรื่องราว เขียนบรรยายความเชื่อ เรื่องราวแนวนิทานแฝงไว้กับแต่ละบ่อน้ำ เกี่ยวกับภูติผีปีศาจ เทพเจ้า ความรัก มิตรภาพ กระตุ้นต่อมความสนใจใคร่รู้ของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะคนต่างชาติจะต้องยืนอ่านให้เข้าใจ และรู้ว่าแต่ละแห่งมีกิจกรรมให้ร่วม เช่น แช่เท้า ล้างมือ ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอพร มีควันไอน้ำพวยพุ่งให้สัมผัส และทางออกทุกบ่อมักมีร้านขายของที่ระลึกเกี่ยวกับแต่ละบ่อให้เสียสตางค์ คนไทยเราก็ใจร้อน ซื้อกันทุกร้านตามประสาคนญาติเยอะ มีร้านขายไข่ต้มจากบ่อน้ำพุ นึ่งกันเป็นหลายสิบซึ้ง คนญี่ปุ่นนิยมนั่งแกะกินกันสดๆ รวมทั้งชอบดื่มน้ำแร่ธรรมชาติบริสุทธิ์ด้วย เข้ามาในตัวเมืองเบปปุก็ยังมีร้านขายไข่ต้มเต็มไปหมด เพราะมีบ่อเล็กบ่อน้อยตามซอกซอยที่เปิดบริการออนเซนทั่วทั้งเมือง  สมกับเป็นเมืองหลวงออนเซนจริงๆ

สถานที่ท่องเที่ยวของญี่ปุ่นสะอาดสะอ้าน แยกทางเข้าทางออก ไม่ปะปน สะดวกสบาย ไม่ว่าจะเป็นวัด ศาลเจ้า ตลาด เหมือนมาตรฐานเดียวกันหมด ไม่รู้มี ISO อะไรทำนองนั้นเปล่า คนญี่ปุ่นรู้จักหน้าที่และมีความรับผิดชอบสูง จึงดูแลเรื่องสถานที่บริเวณ แม้ห้องน้ำสาธารณะก็ถือว่าได้คะแนนเต็มร้อยทุกแห่งทั่วประเทศ

อีกเรื่องที่ต้องชมเชยคือ ‘ป้าย’ แต่ละทางเลี้ยวทางแยกจะมีข้อมูลพออ่านให้เข้าใจและเห็นชัดเจน ห้องน้ำสาธารณะมักจะมีขนาดเล็กๆ แต่มีกระจายรองรับทุกพื้นที่ มีมากจุดเข้าไว้ก่อน มีผ้าเช็ดมือ กระดาษแบบไม่อั้น น้ำสะอาดไหลแรงมาก เครื่องเป่ามือแห้งพร้อม (ไม่เห็นเสียชำรุดสักแห่ง อันนี้งงมาก) ก๊อกน้ำก็อนามัยหรูแบบไร้สัมผัส สุขอนามัยประเทศนี้ช่างดีจริงหนอ เอ้อ… เซไปตรงไหนก็แอ่นฉี่ปิ๊ดๆๆ ได้

คนไทยเราก็แปลก… ยิ่งหนาวยิ่งเห็นสัญลักษณ์ ‘ห้องน้ำ’ ต้องขอแวะสักช็อต ไม่ลุ้นไปตายเอาดาบหน้าหรอก ตรูขอปลิดออกก่อนล่ะ…

Don`t copy text!