“บึงกาฬ” อันซีนอลังการ (2)

“บึงกาฬ” อันซีนอลังการ (2)

โดย : สุวิทย์ เมฆวิบูลย์

ไม่ได้มีแค่ นิยายออนไลน์ ให้อ่าน ที่ อ่านเอา  แต่เรายังมีเรื่องราวการเดินทางของ สุวิทย์ เมฆวิบูลย์ ชายหนุ่มผู้ที่เชื่อว่า การเดินทางกับการดื่มกิน คือองค์ประกอบสำคัญในการเติมไฟ เพิ่มพลังให้ชีวิต และเขายินดีแบ่งปันขุมพลังนี้กับผู้อ่าน “อ่านเอา” ได้ อ่านออนไลน์ 

…………………………………………..

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

หลายคนไม่รู้ว่า ‘บึงกาฬ’ อยู่ตรงไหนของประเทศไทย และบางคนไม่ทราบว่าในอดีตขึ้นอยู่กับจังหวัดอะไร จึงต้องขอพามาทำความรู้จักเสริมความรู้วิชาภูมิศาสตร์กันสักหน่อย จ.บึงกาฬตั้งอยู่ในภาคอีสาน ถ้าดูแผนที่ประเทศจะอยู่ตรงส่วนบนของหัวขวานทอง มีพื้นที่อาณาเขตติดต่อกับ 3 จังหวัดได้แก่ จ.หนองคาย จ.สกลนครและ จ.นครพนม บึงกาฬเดิมเคยเป็นอำเภอของ จ.หนองคาย ห่างจากกรุงเทพ 760 กม. เดินทางด้วยเครื่องบินลงที่สนามบินอุดรธานี สะดวกที่สุด

หากแปลชื่อตามพจนานุกรมราชบัณฑิตสถาน บึง คือแหล่งน้ำขนาดใหญ่ มีน้ำขังตลอดปี และกาฬ แปลว่า ดำ จึงเป็นบึงที่มีน้ำสีดำ ก่อนหน้านั้นบึงกาฬเคยเขียนสะกดด้วยคำว่า ‘กาญจน์’ จึงมีความหมายว่าบึงน้ำสีทอง และสมัยโบราณก็เคยใช้คำว่า บึงกาน แต่ไม่ทราบความหมาย ในอดีตเริ่มจากเป็นตำบล ในอำเภอชัยบุรี จ.นครพนม ต่อมาขยายตัวขึ้นจนเป็นอำเภอของจังหวัดหนองคาย ก่อนเปลี่ยนเป็นจังหวัดบึงกาฬ ในลำดับจังหวัดที่ 77 ของประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2554 มีพื้นที่รวม 4,305.746 ตารางกิโลเมตร มีประชากรราว 399,043 คน ครอบคลุมพื้นที่ 8 อำเภอ คือ อำเภอเมืองบึงกาฬ อำเภอปากคาด อำเภอโซ่พิสัย อำเภอพรเจริญ อำเภอเซกา อำเภอบึงโขงหลง อำเภอศรีวิไล และอำเภอบุ่งคล้า …พอแค่นี้ก่อน เรากลับไปเที่ยวกันต่อดีกว่าครับ

หลังมื้อเที่ยงของทริปวันที่สอง อาหารง่ายๆ ที่โปรดปรานของพวกเราคนไทยเมื่อรวมตัวกัน นั่นคือส้มตำ ไก่ย่าง หมูปิ้ง ลาบ น้ำตกที่ร้านค้าบริเวณริมน้ำตก 7 สี แม่ครัวอีสานแท้ๆ เธอจะไม่ปรุงรสหวาน ทุกจานเน้นเผ็ดและเค็ม ก่อนนั่ง เพื่อนอดีตปลัดจังหวัดสุรินทร์เลยเดินไปย้ำว่า พี่กินอย่างไรตำ ปรุง ต้มรสนั้นมา เพื่อนผมเขาอยากชิมอาหารพื้นเมืองรสดั้งเดิม ผลคือเผ็ดมากและกระหายน้ำมาก กินไม่จุเท่าที่เคยกินในกรุงเทพฯ เพราะไม่คุ้นปากคุ้นลิ้น ได้สัมผัสได้ลิ้มลองตามที่เจ้าถิ่นเขาอยากให้เพื่อนชิมแบบออริจินัลต้นตำรับ ถือว่าเข้าถึงหมวดอาหารอีสานแล้วล่ะ ช่วงบ่ายขึ้นไปกราบไหว้พระบนยอดภูทอก ที่ตั้งของวัดเจติยาศรีวิหาร ต.นาสะแบง อ.ศรีวิไล จ.บึงกาฬ ตามประวัติที่ค้นมา พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ เป็นผู้ก่อตั้ง ความหมายในภาษาอีสานของ ‘ภูทอก’ แปลว่าภูเขาที่โดดเดี่ยว ภูทอกมี 2 ลูกคือภูทอกใหญ่และภูทอกน้อย ออกเดินไต่ไปกันช้าๆ

เริ่มที่…

ชั้นที่ 1 เป็นบันไดไม้ สั้นๆ สลับแนวไปตามระดับ สองข้างทางมองเห็นทิวต้นไม้ใบหญ้าหลากชนิดนานาพรรณสูงชัน โปร่งแต่ดูร่มรื่นดี

ชั้นที่ 2 เป็นบันไดไม้ยาวทอดรับจากชั้นที่ 1 มีทัศนียภาพที่ไม่ต่างกันมากนัก ระหว่างทางมีกุฏิสงฆ์ที่สร้างกลมกลืนไปกับป่าเขา

ชั้นที่ 3 และ ชั้นที่ 4 เป็นสะพานไม้วนเวียนเกาะเลาะไปรอบๆ ชายเขา หยุดยืนหน้าผาแต่ละจุด มองไปใกล้ไกลสภาพเป็นป่าเขามืดครึ้ม สลับกับโขดหินลานหินเป็นจุดๆ

ชั้นที่ 5 เป็นชั้นที่สำคัญที่สุด มีศาลาและกุฏิ ตามช่องทางเดินจะมีถ้ำอยู่หลายถ้ำ เช่น ถ้ำเหล็กไหล ถ้ำแก้ว ถ้ำฤาษี ฯลฯ ถ้ามาทางด้านเหนือจะเห็นสะพานหินธรรมชาติทอดสู่พุทธวิหาร ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้

ส่วนชั้นที่ 6 เป็นชั้นสุดท้ายของบันไดไม้เวียนรอบเขา มีความยาว 400 เมตรเป็นชั้นที่สามารถเดินชมวิวรอบๆ ภูทอกได้ดีที่สุดและสวยที่สุด เห็นเขาลังกาไกลๆ ที่อยู่ในเขต อ.บ้านแพง จ.นครพนม

การเดินขึ้นภูทอกครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สองของผม ครั้งแรกมาเมื่อปี พ.ศ. 2559 หลังวันสวรรคตของในหลวง รัชกาลที่ 9 เพียง 1 วัน จำบรรยากาศการเดินทางที่เศร้าสร้อยมาก แต่สิ่งที่ได้รับในครั้งที่สอง รับรู้ได้เช่นเดิมกับครั้งแรกคือสมาธิ ความตั้งใจแน่วแน่ขณะก้าวเดินไปตามสะพานไม้และบันไดเพื่อขึ้นไปนมัสการพุทธสถานที่หลวงพ่อจวนและลูกศิษย์ท่านฝากไว้ให้เราพุทธศาสนิกชนรุ่นหลัง ยิ่งใหญ่และเรียบง่าย สองคำนี้เหมาะที่สุดกับภูทอก อธิบายได้ด้วยตัวมันเอง เพราะมองไปทางไหน ซ้ายขวา หน้าหลัง ก็เห็นแต่ภูเขา โขดหิน หน้าผา สะพานไม้ ดิน ต้นไม้ เราเดินไต่ลัดเลาะไปตามแผ่นไม้กระดานธรรมดาๆ ตีพาดวางบนคานไม้ที่ยึดติดด้วยตะปูกับเสาไม้ต้นเล็กต้นน้อย งานวิศวกรรมชิ้นเอกนี้ปราศจากโครงเหล็ก ไม่มีแผ่นเหล็กร้อยโบลต์ ไม่มีนอต สกรู สลิง ลวดอะไรเลย สภาพสะพานในปัจจุบันชาวบ้านและช่างลูกศิษย์วัดยังคงยึดถือรูปแบบสะพานไม้เดิม ตามที่พระอาจารย์จวนท่านริเริ่มก่อสร้างบันไดไม้สำหรับไต่ขึ้นไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 ซึ่งมีทั้งหมด 7 ชั้น เล่าขานกันว่า ใช้เวลาในการก่อสร้างนานถึง 5 ปี ไม่มีเทคนิคพิเศษ ใช้เพียงแรงงานคนและภูมิปัญญาชาวบ้าน ยึดไม้ค้ำยันลงไปในช่องหินสกัดพาดเวียนให้ลาดเอียงทีละขั้นๆ วนไปมารอบๆ ภูทอกแบบ 360 องศา เลยกลายเป็นจุดชมวิวป่าไม้ ภูเขา ทะเลหมอก ท้องฟ้า แหล่งน้ำ ที่ราบลุ่มด้านล่าง โครงเสาและคานไม้นั้นอาศัยเพียงแรงกดกับแรงเสียดทาน ค้ำพยุงไม้ให้วางบนหินได้ไม่เลื่อนไถล ไม้แตกหักผุพัง ก็ซ่อมแซมปะยึดแผ่นไม้ใหม่เสาคานใหม่ด้วยไม้ที่หาในเขตพื้นที่ ก็ต้องระมัดระวังในการเดินขึ้นลง ถ้ามีสติ… ก็ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ คุ้มค่าต่อการใช้เวลาที่นี่ 3 ชั่วโมง ขึ้นกับสมรรถนะร่างกายของแต่ละคนของเพื่อนร่วมทริป

จุดสุดท้ายที่พลาดไม่ได้ ถือเป็นไฮไลต์ของเมืองไทยในปัจจุบันนี้คือ หินสามวาฬ (Three Rock Whales )ตั้งอยู่ที่ป่าภูสิงห์ บ้านโนนไทรทอง ต.โคกก่อง อ.เมือง จ.บึงกาฬ ห่างจากตัวจังหวัดบึงกาฬประมาณ 25 กิโลเมตร ลักษณะเป็นกลุ่มภูเขาหินทรายสามก้อน มีอายุกว่า 75 ล้านปี ลักษณะเป็นก้อนรีๆ หลังกลมมนโค้งแต่ยาวขนาดมหึมาเรียงกันสามก้อน มองไกลๆ คล้ายๆ หลังปลาวาฬ ตัวพ่อ ตัวแม่และลูกกำลังว่ายน้ำกันอย่างสนุกสนาน ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า ‘หินสามวาฬ’

ไปเห็นมาด้วยตาตนเอง พูดได้คำเดียวว่า ทึ่ง ธรรมชาติช่างมหัศจรรย์ เหมือนเคลื่อนภูเขาสามลูกออกมาไล่เรียงกันอย่างสวยงามลงตัว มองดูแล้วจินตนาการเป็นปลาวาฬสามตัว ดูรูปดูสารคดีทางทีวีก็สวยเด่น ยิ่งใหญ่ แต่พอมายืนในสถานที่จริงๆ แล้วทุกคนจะรักเมืองไทย หลงรักบ้านเมืองเรามากขึ้น ค้นจากเว็บพบว่าตามลักษณะทางธรณีวิทยา กล่าวว่าในอดีตหลายล้านปีก่อน พื้นที่แถบอีสานเคยเป็นทะเล จากนั้นกาลเวลาผ่านไปหลายล้านปี ตามคำกล่าวอ้างของนักธรณีวิทยาบอกว่ามีการเคลื่อนตัวของเปลือกพื้นโลก ทะเลถูกดันขึ้นเป็นแผ่นดิน จึงทำให้ดินต่างๆ ก่อตัวกลายเป็นหิน โดยเฉพาะหินทรายที่มีจำนวนมากในแถบอีสาน และหินสามวาฬก็คือหนึ่งในพื้นที่ดังกล่าว ถือเป็นจุดชมวิวที่โดดเด่นของป่าภูสิงห์ ดูรูปอาจนึกว่าอยู่บนยอดสูง ต้องเดินไต่ปีนขึ้นลำบากและเป็นอันตรายได้ แท้จริงแล้วมีถนนลูกรังตัดขึ้นไปเกือบชิดถึงสันเขาหลังปลาวาฬเลย ออกเดินอีกไม่ถึง 100 เมตร

ความยาวตามแนวหลังปลาวาฬ ใกล้เคียง 80-100 เมตร กว้างสุดน่าจะ 15-20 เมตรไม่เท่ากัน เขาลูกกลางจะสั้นสุด สามารถเดินชมวิว ถ่ายรูปกันอย่างปลอดภัย ไม่อันตราย เพราะมีพื้นที่กว้างมาก หากไม่ไปเดินชิดไหล่เขามากเกินไป หรือวิ่ง กระโดด ผลัก แหย่เล่นกัน มองไกลๆ จะเห็นเขตป่าภูวัว ห้วยบังบาตร แก่งสะดอกที่อยู่ไม่ไกล รวมทั้งหาดทรายแม่น้ำโขงและฝั่งตรงข้ามแม่น้ำโขง คือเมืองปากกระดิ่ง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีอีกสองจุดใกล้ๆ กันที่ควรแวะไป สามารถเดินเข้าไปเกือบติดเลยก็คือเขาหัวช้างและช่องเขาประตูภูสิงห์ จะได้สัมผัสมุมมองที่ไม่เหมือนที่ท่องเที่ยวแห่งไหนเลย แม้การเข้าถึงจุดท่องเที่ยวไฮไลต์ของบึงกาฬแต่ละจุดไม่ใช่ง่ายๆ ต้องเดินลุยน้ำ ต้องปีนเขา หรือต้องนั่งรถออฟโรด นั่งเรือ หากมีเวลาแค่ 1-2 วัน น้อยไป เพราะแต่ละแห่งต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 4-5 ชั่วโมง ถึงจะเต็มอิ่มในทุกแห่งที่มีบรรยากาศแตกต่างกันไป คุ้มค่าทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย ได้ความทรงจำดีๆ ที่จะเกิดขึ้นแน่นอน ฝากถึงนักเดินทางนักท่องเที่ยวทั้งหนุ่มสาวและอาวุโสทั้งหลาย ถ้ายังมีพลัง สุขภาพแข็งแรงดีทั้งกายและใจ รีบจัดสรรวางแผนตารางเวลาไปเที่ยวกันนะครับ จะไม่มีคำว่าเสียใจและเสียดาย จากสองครั้งที่ได้มาเที่ยวบึงกาฬ คำอธิบายขยายความที่เหมาะสมที่สุดของจังหวัดนี้ต้องเป็น…

บึงกาฬ อันซีนอลังการ 

Don`t copy text!