“สุโขทัย” ทุ่งเสลี่ยม – ยำไก่ผีปู่ย่า – ต้มปลาน้ำอ๊อด

“สุโขทัย” ทุ่งเสลี่ยม – ยำไก่ผีปู่ย่า – ต้มปลาน้ำอ๊อด

โดย : สุวิทย์ เมฆวิบูลย์

Loading

ไม่ได้มีแค่ นิยายออนไลน์ ให้อ่าน ที่ อ่านเอา  แต่เรายังมีเรื่องราวการเดินทางของ สุวิทย์ เมฆวิบูลย์ ชายหนุ่มผู้ที่เชื่อว่า การเดินทางกับการดื่มกิน คือองค์ประกอบสำคัญในการเติมไฟ เพิ่มพลังให้ชีวิต และเขายินดีแบ่งปันขุมพลังนี้กับผู้อ่าน “อ่านเอา” ได้ อ่านออนไลน์ 

…………………………………………..

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

 

“สุโขทัย” เป็น 3-4 จังหวัดที่ไปกี่ครั้งก็ไม่เบื่อ มีตารางท่องเที่ยวหมุนเวียนสลับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ซ้ำบ้างใหม่บ้าง ตื่นตาตื่นใจ ได้พบปะสิ่งดีๆ ได้ความรู้ได้ประสบการณ์มาเติมเต็มให้หัวใจพองโตเสมอ… ในรอบ 3 ปีนี้ ไปมา 5 ครั้งแล้ว ใครชอบหาสถานที่สงบเงียบ ยังเป็นชนบท ธรรมชาติโอบล้อมด้วยแนวสันเขาและทุ่งนาสีเขียว อากาศเย็นสบาย มีหมอกจางๆ ในยามเช้า วิ่งจ๊อกกิ้ง เดินฝ่าสายลมเย็นๆ รอบชุมชนอย่างมีความสุขสดชื่น อาณาบริเวณของเมืองสุโขทัยรายล้อมไปด้วยสถานที่เชิงศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์  แนะนำเลยว่ามาสุโขทัยต้องจัดหาเวลาให้ได้สัก 3-4 วัน โปรแกรมจึงจะครบถ้วนทุกจุดสำคัญและไม่เร่งรีบมากนัก

ผมเลือกนอนพักที่อำเภอ ‘ทุ่งเสลี่ยม’ ตรงตามโจทย์ที่ทุกคนทุกกลุ่มต้องการคือ เที่ยวใกล้ๆ ไหว้พระ อากาศดี อาหารอร่อย ได้ร้องเพลงและมีที่วิ่งเดินออกกำลังกาย ทำให้พาเพื่อนพ้องญาติพี่น้องมาที่นี่จนรู้จักและคุ้นเคยดี ใครมาแล้วก็ต้องหลงรักอำเภอทุ่งเสลี่ยมกันทุกคน

ชาวบ้านคนเก่าแก่จะเรียกว่า ‘โต้งเสลี่ยม’ ที่เราอาจจะไม่คุ้นหูกัน ตรงนี้ผมค้นคว้ามาจากเว็บไซต์ของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุโขทัย ขยายความว่า ‘โต้ง’ คือทุ่ง และ ‘เสลี่ยม’ มาจากคำว่า ‘สะเลียม’ หรือ ‘สะเดา’ ในภาษากลางนั่นเอง เพราะในอดีตอำเภอทุ่งเสลี่ยมเคยมีต้นสะเดาอยู่มาก ต่อมามีคนเขียนผิดจากสะเลียม เพี้ยนเป็น ‘เสลียม’ อ่านว่า สะ- เหลียม ซึ่งเป็นวิธีอ่านอักษรนำ บ้านโต้งสะเลียมจึงเป็นบ้านโต้งเสลียม (สะเหลียม) คนบ้านทุ่งสะเหลี่ยมส่วนใหญ่มาจากอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ใช้ภาษาล้านนา เมื่ออยู่ในปกครองของสุโขทัยจึงพยายามพูดเหมือนคนสุโขทัย เมื่อเขียนตามคำบอกออกเสียง สะ-เหลี่ยม จึงเขียนว่า ‘เสลี่ยม’ ตามสำเนียงของชาวสุโขทัย เมื่อเป็นทุ่งเสลี่ยม ชาวสุโขทัยก็ออกเสียงว่า ‘ทุ่งซะเหลียม’ เอ้อ ไปอีกทางแล้ว… ฮา ฮา ฮ่า …

อำเภอทุ่งเสลี่ยม ทั้งกลางวันกลางคืนเงี้ยบเงียบ วิถีชีวิตชาวบ้านแสนจะธรรมดาหรือที่พูดกันว่า สโลว์ไลฟ์ พื้นที่ส่วนใหญ่เพาะปลูกเกษตรกรรม จึงพบเห็นแต่ชาวนาชาวไร่ ไม่มีเขตอุตสาหกรรม ไม่มีโรงงาน ไม่มีปล่องควันไซโล มองไปทางไหนก็มีแต่ทุ่งหญ้า ท้องนา ภูเขา ลำห้วย หนองน้ำ ทุ่งเสลี่ยมเป็น 1 ใน 9 อำเภอของจังหวัดสุโขทัย ที่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวมากมายนัก อยู่ห่างจากอำเภอเมืองสุโขทัย 68 กิโลเมตร จากลักษณะภูมิประเทศและวัฒนธรรมของชุมชนน่าจะขยายมาจากจังหวัดลำปาง (ประตูสู่ล้านนา) ทุกครั้งที่มาสุโขทัยจึงเลือกเป็นจุดพักค้างแรม เพราะมีตำแหน่งเป็นศูนย์กลางสำหรับการท่องเที่ยวในสุโขทัย ไม่ว่าจะไปเมืองเก่า ราชธานีสุโขทัยแห่งแรกของชาติไทย ไปเมืองแฝดเชลียง (หรือศรีสัชนาลัย) อาณาจักรที่รุ่งเรืองด้วยอารยธรรม ศิลปะและศาสนา หรือจะไปเที่ยวอำเภอสวรรคโลก หนึ่งเดียวที่ถูกลดชั้นจากจังหวัดมาเป็นอำเภอ หรือจะไปอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ที่ไม่ลึกลับแต่น่าเที่ยวน่ามอง แถมอุดมสมบูรณ์ด้วยอาหารพื้นบ้านและผลไม้ชื่อดัง ทุเรียนพันธุ์หลงกับหลินไงครับ

เริ่มต้นที่ต้องไปเดินย่ำตระเวนรอบแน่นอนที่สุด ก็คือ 2 อุทยานประวัติศาสตร์เมืองเก่าสุโขทัยและศรีสัชนาลัย ซึ่งเป็นไฮไลต์ของอาณาจักรสุโขทัย ราชธานีแห่งแรกของคนไทย จากนั้นก็ไปกราบไหว้ 3 วัดคู่บ้านคู่เมืองของทุ่งเสลี่ยม คือ 1 ‘วัดทุ่งเสลี่ยม’ ที่มีหลวงพ่อศิลา ซึ่งท่านถูกขโมยไปเมื่อ 30 กว่าปีก่อนและไปไถ่ถอนคืนมาจากชิคาโก 2 ‘วัดพิพัฒน์มงคล’ ที่มีหลวงพ่อทองคำประทับอยู่ท่ามกลางโบสถ์ ศาลา ตกแต่งศิลปะล้านนาสุดอลังการ 3 ‘วัดท่าชุม’ วัดเก่าแก่คู่บ้านทุ่งเสลี่ยม และปิดท้ายด้วยอำเภอสวรรคโลก ต่อด้วยอำเภอลับแล หากเวลายังมีเพียงพอ

วันแรกเดินทางมาถึงทุ่งเสลี่ยมช่วงบ่ายแก่ๆ  รีบเข้าไปกราบไหว้หลวงพ่อทองคำที่วัดพิพัฒน์มงคล ในตัวอำเภอเลย เพราะนักท่องเที่ยวเริ่มทยอยออกจากวัด คนจะซา บางตา ไม่พลุกพล่านมากนัก ไม่ต้องเดินเบียดเสียดกัน ทั้งภายนอกและภายในอาคารเหมือนตอนเช้าจนถึงช่วงบ่ายนิดๆ เพื่อนเป็นคนท้องถิ่นรู้เคล็ดลับนี้ เลยพาเดินลัดเลาะเข้าไปหาหลวงพ่อและกราบไหว้พระพุทธรูปทองคำ พร้อมรับศีลรับพรอย่างสะดวกสบาย  ก่อนย้อนออกมาหามุมสวยๆ หน้าโบสถ์ หน้าศาลาขณะที่แสงแดดจ้ากำลังเริ่มอ่อนแสงลง  ยืนถ่ายรูปหมู่รูปเดี่ยวไปหลายสิบแชะแบบไม่กลัวร้อนไม่วูบวาบ แอ็กท่าชิลชิลสบายๆ ยืนเพ่งมองไปรอบๆ วัด อาณาบริเวณกว้างใหญ่โตมากๆ เนื้อที่กว่า 119 ไร่ ความรู้สึกคล้ายๆ เดินเข้าวัดในเมียนมา หรือวัดแถวๆ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตามประวัติเดิมที่นี่เป็นวัดร้างกลางทุ่งนา สันนิษฐานว่าประมาณ 700 ปี แต่ไม่ปรากฏหลักฐานในประวัติศาสตร์ พบเพียงรากฐานอุโบสถ เจดีย์โบราณ ซึ่งจมอยู่ใต้พื้นดินลึกลงไปประมาณ 1.50 เมตร ตรงใจกลางวัดในปัจจุบัน

วัดพิพัฒน์มงคลเป็นที่รู้จักกันดีไปทั้งในประเทศและต่างประเทศ ถือเป็นสถานธรรมชื่อดัง โดยมีหลวงพ่อพระครูวรคุณประยุต พระอาจารย์พิพัฒน์มงคล เจ้าอาวาสและชาวบ้านทุ่งเสลี่ยม ร่วมกันก่อสร้างบูรณะวัดและ พัฒนาเป็นเอกลักษณ์ศิลปะโบราณทรงไทยล้านนา เช่น โบสถ์เรือนแก้ว วิหารล้านนา ลานศึกษาพระปริยัติธรรมและการปฏิบัติธรรม รวมทั้งพระพุทธรูปทองคำศิลปะสมัยกรุงสุโขทัยที่ประดิษฐานในวัด  รวมระยะเวลาเกือบ 30 ปี ที่เริ่มต้นจากการสร้างบนที่ดินบริจาค 9 ไร่เศษจากพ่อลอ อินสอน คุณพ่อของครูนุ้ย (ดอกรัก) รักติญภร สันติธรรม ภรรยาเพื่อนผมเอง ปัจจุบันเธอดำรงตำแหน่งรองนายกเทศมนตรีเทศบาลทุ่งเสลี่ยม (พ.ศ.2564)

ดินเนอร์มื้อค่ำ เพื่อน (คุณกุศล สันติธรรม) ชี้เป้าพาไปร้านสามแสน ครัวอาหารพื้นเมืองชื่อดัง อยู่ห่างจากชุมชนออกไป 4-5 กิโลเมตร ริมถนนเส้นไปอำเภอเถิน มีเมนูจานพิเศษที่ต้องลองชิม คือยำไก่ผีปู่ย่า กับต้มปลาน้ำอ๊อด จำชื่อให้ดีๆ นะครับ เป็นเมนูตำนานของคนทุ่งเสลี่ยม ปรุงจากวัสดุท้องถิ่นง่ายๆ แต่รสชาติอร่อยและสมควรที่จะต้องชิม

ยำไก่ผีปู่ย่า

เริ่มที่จานแรก ‘ยำไก่ผีปู่ย่า’ เป็นกุศโลบายของชาวบ้านเวลาลูกหลานๆ กลับมาบ้าน เมื่อมีการไหว้บรรพบุรุษปู่ย่าตาทวดที่ล่วงลับไปแล้ว ต้องมีไก่ต้มใช้ไหว้ เสร็จพิธีก็นำเนื้อสุกมาฉีกคลุกยำกับน้ำพริกลาบ ใส่ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด รากผักชี เติมหัวปลีลงไป จากนั้นเอาน้ำต้มไก่ตอนแรกมาผสมลงในยำไก่กับหัวปลี ต้มไฟกลาง จะใส่ผักสด ต้มหอม ผักแพว แล้วปรุงรสด้วยน้ำปลา โรยผักชี  ยำๆ คลุกๆ จนผักนิ่มแล้วยกเสิร์ฟกินได้!! คนบ้านนอกเขาใช้ของเซ่นไหว้มาทำให้ญาติพี่น้องกินกันได้ทั่วถึงกัน แต่รสชาติยังอร่อยแซ่บเหมือนต้มยำลาบไก่ ปัจจุบันหากินยากจะมีเฉพาะแถวจังหวัดสุโขทัย ตาก และพิษณุโลกเท่านั้น อีกคำบอกเล่าจากผู้ใหญ่ผู้เฒ่า บอกว่าชาวบ้านเข้าไปล่าสัตว์และหาของป่า ต้องทำพิธีไหว้เจ้าป่าเจ้าเขา ขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้คุ้มครอง ไก่ต้มที่ไหว้นั่นแหละก็มาเป็นยำไก่ผีปู่ย่า

ต้มปลาน้ำอ๊อด

‘ต้มปลาน้ำอ๊อด’ อาหารชื่อแปลกใหม่สำหรับคนทั่วไป จริงๆ แล้วก็คือต้มยำปลาตะเพียน หรือปลาน้ำจืดที่หาได้ในท้องถิ่น ที่มาก็คือ ปกติชาวบ้านจะทำลาบปลาน้ำอ๊อด ซึ่งจะแห้งๆ อย่างที่เรากินกันพร้อมกับน้ำซุป เจ้าจานหลังนี่แหละคือต้มปลาน้ำอ๊อด อย่าเพิ่งงง น้ำซุป?? ตามมาดูวิธีการทำของชาวบ้านเขากัน

คนสุโขทัยจะเอาเนื้อปลาสด หลังจากแล่เเล้วมาสับละเอียด บีบน้ำมะนาวสดลงไปเคล้าบนเนื้อปลาเป็นการฆ่าเชื้อ ลดกลิ่นคาวปลา จากนั้นก็คั้นน้ำมะนาวออกให้แห้งแล้วนำเนื้อมาปรุงใส่เครื่องปรุงเป็นลาบ แล้วแต่ว่าจะกินแบบลาบดิบหรือสุกตามใจชอบ

ลาบเหนือทั่วไปก็จะแห้งๆ ไม่มีน้ำขลุกขลิก ไม่มีน้ำก้นจานเลย ทำให้กินแล้วไม่คล่องคอ จึงมีการทำน้ำซุปเพิ่มมากินคู่กับลาบปลา โดยเอาน้ำมะนาวคาวปลาที่คั้นมานั้นไปต้มซุป ผู้เฒ่าผู้แก่บอกว่า จะได้ยินเสียง ‘อ๊อดๆ’ จากการคั้นน้ำจากเนื้อปลานั่นเอง ชาวบ้านจึงเรียกว่าน้ำซุปว่า ‘น้ำอ๊อด’ พอต้มน้ำซุปจนเดือดก็นำส่วนที่เหลือจากตัวปลา อาทิ หัวปลา พุงปลา ไข่ปลา (ถ้ามี) ปรุงรสด้วยพริก ต้นหอม ผักชี ใบมะกรูด เติมให้มีรสเปรี้ยวนำเค็มคล้ายต้มยำ แต่รสชาติจะอร่อยเข้มข้นกว่า และหอมดีกับกลิ่นพืชสมุนไพรที่เราคุ้นเคยกัน นอกจากนี้ก็ยังมีเมนูอื่นๆ ซึ่งปรุงได้รสชาติเผ็ดเค็มกำลังดีตามรสมือแม่ครัวเมืองเหนือ ไม่ว่าจะเป็นลาบปลา แกงแค ยำปลา ส้มตำ กินได้ทั้งกับข้าวสวย ข้าวเหนียว แต่ปั้นจิ้มกับข้าวเหนียวที่คนเหนือเค้าเรียกว่าข้าวนึ่งลงตัวที่สุด

ตกดึกอากาศจะเริ่มเย็นลงอย่างนึกไม่ถึง ต่ำกว่า 30 องศาทุกฤดูกาล ด้วยลักษณะของภูมิประเทศที่เป็นหุบเขาแม้จะไม่ใช่ป่าทึบ หากมาในระหว่างเดือนธันวาคม มกราคม และกุมภาพันธ์ ต้องพกแจ็กเก็ตไปด้วยนะ ได้สวมใส่กันหนาวให้อบอุ่นและนอนหลับฝันดี พร้อมลุยเที่ยวสุโขทัยกันต่อในวันรุ่งขึ้น เพื่อพิสูจน์ราชธานีแห่งนี้ ว่า

…..ยิ่งใหญ่กว่าที่คิด  ไม่นิดอย่างที่นึก…..

Don`t copy text!