เปิดหู เปิดตา เปิดใจ ในศรีลังกา ตอนที่ 5 : จากหนุ่มกรุงเทพ แปลงกายเป็นหนุ่มสิงหล

เปิดหู เปิดตา เปิดใจ ในศรีลังกา ตอนที่ 5 : จากหนุ่มกรุงเทพ แปลงกายเป็นหนุ่มสิงหล

โดย : อรรถรัตน์ จันทรวรินทร์

Loading

ไม่ได้มีแค่ นิยายออนไลน์ ให้อ่าน ที่ อ่านเอา  แต่เรายังมีบทความอ่านเอาสบายอีกเพียบ อย่างซีรี่ย์สารคดีท่องเที่ยวศรีลังกาจากมุมมองของตุ๊กตาบันนี่กระต่ายน้อยชุดนี้ โดย อรรถรัตน์ จันทรวรินทร์ ให้ได้ อ่านออนไลน์กันเพลินๆ 

——————————————————

 

หลังจากเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากการเดินเที่ยวชมอุทยานประวัติศาสตร์โปลอนนารูว่า และยังต้องต่อสู้กับความร้อนที่แผ่ซ่านยาวนานกว่า 3 ชั่วโมง ผมก็ผล็อยหลับทันทีที่กระโดดขึ้นมานั่งบนรถของลุงมหินทร์ และมารู้ตัวอีกทีก็ตอนที่รถยนต์ของพวกเรามาจอดอยู่ด้านหน้าอาคารชั้นเดียวแห่งหนึ่ง

“เดี๋ยวเราจะแวะซื้อโสร่งกันก่อนนะ รออยู่ในรถก็แล้วกันนะบันนี่” พี่กรู๊ฟหันมาบอก  

“อะไรกัน โสร่งอะไร แล้วเรื่องอะไรจะให้เรารออยู่คนเดียว” ว่าแล้วผมก็แอบกระโดดดึ๋งๆ ลงจากรถตามพี่ๆ ทั้ง 2 คน และคุณลุงคนขับรถเข้าไปในร้านโดยไว

เมื่อแอบฟังจนได้ความจึงรู้ว่าพี่กรู๊ฟและพี่โอ๊ตเกิดอยากแปลงกายเป็นคนพื้นเมือง เพราะไหนๆ ก็กำลังจะไปดัมบุลล่าและต้องเปลี่ยนกางเกงจากขาสั้นเป็นขายาว ตามธรรมเนียมปฏิบัติของชาวพุทธที่นี่เมื่อจะเข้าศาสนสถานแล้ว พวกเขาเลยคิดว่าหากจะใส่โสร่งเสียเลยก็คงจะดี

พี่กรู๊ฟเลือกหยิบโสร่งสีสันแสบตามาลองทาบดูกับตัว จนทำผมนึกไปถึงแมลงทับตัวใหญ่ๆ แล้วก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่นาน ต่างจากพี่โอ๊ตที่หยิบโสร่งสีน้ำตาลอ่อนแต่มีลายพิมพ์รูปช้างขึ้นมาหนึ่งผืน แล้วจึงลองใส่ทันที

แต่หลังจากใช้ความพยายามอยู่นาน พี่โอ๊ตเห็นท่าว่าคงไม่ได้เรื่องแน่ๆ จึงขอความช่วยเหลือจากแม่สาวที่ห่มสาหรีสีสวยสด ซึ่งแอบยืนอมยิ้มอยู่ไม่ไกลมาช่วยใส่ให้  

การใส่โสร่งสำหรับผู้ชาย เป็นวัฒนธรรมการแต่งกายที่เก่าแก่ของที่นี่ แต่เท่าที่เห็น คงจะมีแต่พวกคุณลุง คุณตาที่สูงอายุแล้วเท่านั้นที่ยังใส่กันอยู่ ส่วนพวกวัยรุ่นเด็กแนวทั้งหลายได้หันไปใส่กางเกงยีนส์กันหมดแล้ว คงเหมือนกับที่เมืองไทยบ้านเราที่ชุดประจำชาตินั้นเริ่มเสื่อมความนิยม เพราะผู้คนหันไปใส่เสื้อผ้าแบรนด์เนมที่ผลิตมาจากต่างประเทศกันหมด

จริงๆ แล้วการใส่โสร่งนั้นไม่ยาก แค่สวมผ้าโสร่งเข้าทางด้านศีรษะ แล้วจับปลายทั้งสองข้างที่อยู่ตรงเอวให้แน่น จากนั้นจึงทำการพับด้านใดด้านหนึ่งมาทางด้านหน้า โดยให้แนบเข้ากับลำตัวมากที่สุด จากนั้นก็นำอีกด้านที่เหลือมาพันทับกันไว้ แล้วจึงตลบหรือม้วนตรงส่วนเอวออก จนกระทั่งรู้สึกว่าโสร่งนั้นแน่นกระชับกับเอวนั่นละฮะ

ส่วนพี่กรู๊ฟ พอเห็นว่าโสร่งผืนที่พี่โอ๊ตหยิบมานั้นดูเข้าท่า เลยเกิดอยากได้แบบเดียวกันขึ้นมาบ้าง (ขี้อิจฉาจริงเชียว เจ้านายผม) ว่าแล้วก็ขอร้องให้พนักงานมาช่วยกันใส่โสร่งให้ด้วย และคงยังไม่ถึงใจ กลัวว่าจะไม่เหมือนหนุ่มสิงหลจริงๆ พี่ๆ ทั้งสองจึงอุดหนุนเสื้อผ้าฝ้ายมาอีกคนละตัว เพื่อหวังจะใส่ให้เข้าชุดกัน

และหลังจากหมดเงินรูปีให้กับร้านขายผ้าไปมากพอดู (ก็เป็นผ้าไหมนี่ฮะ เลยแพงหน่อย) พวกเราทุกคนก็มุ่งหน้าเต็มกำลังสู่เมืองดัมบุลล่าอีกที

จากโปลอนนารูว่า สู่ดัมบุลล่า

สงสัยพระอาทิตย์จะเริ่มเหนื่อยล้า แสงแดดที่แผดจ้าจึงเริ่มอ่อนแรงตามลงไปด้วย พวกเรามาถึงจุดหมายปลายทางที่วัดทองแห่งเมืองดัมบุลล่าก่อนเวลาที่พระอาทิตย์จะลับขอบฟ้าแค่หน่อยเดียว

คุณลุงมหินทร์อาสาไปซื้อตั๋วเข้าชมถ้ำดัมบุลล่าในราคาคนละ 1,000 รูปีให้ จากนั้นพวกเราก็มุ่งหน้าขึ้นเขาเพื่อไปผจญภัยในถ้ำทั้ง 5 แห่ง แห่งเมืองดัมบุลล่ากันเสียที (พวกเราไม่ได้เข้าไปชมในวัดทองซึ่งอยู่ด้านล่าง เพราะมีเวลาไม่มากนัก เลยขอชมสิ่งที่เป็นไฮไลต์จริงๆ เพียงอย่างเดียว)

อากาศที่เริ่มเย็นลง ประกอบกับความร่มรื่นของสองข้าง ช่วยให้การเดินเท้ากว่า 160 เมตร เพื่อขึ้นไปชมถ้ำทั้ง 5 ถ้ำของดัมบุลล่านั้นง่ายขึ้น แต่อุปสรรคอันใหญ่หลวงสองสิ่ง ที่ทำให้การเดินทางในครั้งนี้ไม่ง่ายอย่างที่คิดก็คือ อย่างแรก-ฝูงลิงจ๋อเจ้าถิ่น ซึ่งดาหน้าเข้ามาต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างไม่ค่อยจะเป็นมิตร คุณลุงมหินทร์จึงกำชับให้พวกเราเก็บข้าวของให้ดี ถ้ามีสร้อยคอหรือกล้องถ่ายรูปก็ให้เก็บใส่ในกระเป๋ากางเกงให้เรียบร้อย

แต่… ก็นั่นละนะ สิ่งที่ลุงมหินทร์บอกยังเกี่ยวข้องกับอุปสรรคข้อที่สองของพวกเรา ก็คือ โสร่งไม่มีกระเป๋านะฮะคุณลุง ! นอกเหนือจากการที่โสร่งไม่มีกระเป๋าให้เก็บสิ่งของแล้ว โสร่งยังทำให้การก้าวเดินแต่ละก้าวของทั้งสองหนุ่มดูเก้ๆ กังๆ และลำบากมากขึ้นอีกด้วย เพราะถ้าไม่เดินเหยียบชายโสร่งตัวเอง ก็อาจจะเผลอไปเหยียบของอีกคน และแน่นอนว่าผู้ชายแปลกหน้าสองคน คนหนึ่งหน้าตี๋ อีกคนหน้าเข้ม ที่อยู่ๆ ลุกขึ้นมาใส่โสร่ง จะต้องเป็นที่สนใจของชาวสิงหลกันแน่ๆ

แล้วก็เป็นอย่างที่ผมคิด เพราะตลอดการเดินไต่บันไดเพื่อขึ้นสู่ถ้ำดัมบุลล่า ถ้าไม่ได้ยินเสียงหัวเราะคิกคัก หรือการชักชวนกันให้หันมาดูพวกเราอย่างเปิดเผย ก็จะมีชาวศรีลังกาที่กล้าแสดงออกเดินเข้ามาทักพวกเราอย่างเป็นมิตรว่า “เจแปนิส?”

“ฮ่า ฮ่า ฮ่า” ผมหัวเราะเสียงดังให้กับความช่างคิดของพี่กรู๊ฟ อุตส่าห์อยากจะทำตัวกลมกลืนกับชาวศรีลังกา ที่ไหนได้นอกจากจะไม่กลมกลืนแล้ว ยังดูประหลาดและแตกต่างอย่างสุดโต่งอีกด้วย แต่แล้วก็ต้องรีบหุบปากลงด้วยเพราะกลัวโดนพี่กรู๊ฟเขกหัว

“เงียบไปเลยเจ้าบันนี่ ซ้ำเติมกันดีนัก เดี๋ยวจับโยนลงเขาเสียเลยนี่” พี่กรู๊ฟท่าทางเอาจริง ผมเลยวิ่งไปหลบข้างหลังคุณลุงมหินทร์ พร้อมกับตะโกนเสียงดัง “คนใจร้าย… กล้าทำร้ายกระต่ายน้อยน่ารักแสนซนอย่างเราได้ลงคอเชียวเรอะ”

เมื่อคุณลุงมหินทร์เห็นท่าไม่ได้การ จึงรีบบอกว่าที่ชาวบ้านมารุมดูพวกเรานั้นเพราะพวกเขาเอ็นดู เขาเห็นว่าพวกเราน่ารัก และชอบที่พวกเราพยายามจะแต่งตัวให้เหมือนพวกเขา (ถึงจะไม่เหมือนก็เถอะ) ไม่รู้ว่าคุณลุงเขาพูดจริงๆ หรือแค่จะเรียกกำลังใจของสองหนุ่มกลับมากันแน่ แต่เอาเป็นว่าผมแอบเห็นพี่ๆ ทั้งสองยิ้มกันแก้มปริได้แล้วละ และหลังจากตีกันมาตลอดทาง (ผมกับพี่กรู๊ฟ) ในที่สุดเราก็มาถึงด้านบนของภูเขา ซึ่งมีถ้ำแห่งดัมบุลล่าทั้ง 5 ถ้ำตั้งอยู่เสียที

ถ้ำดัมบุลล่าสร้างขึ้นโดยพระเจ้าวัลลากัมพาหุ (King Walagambahu) พระองค์ทรงเคยพำนักในถ้ำที่ดัมบุลล่าแห่งนี้ ในช่วงที่เสด็จพลัดถิ่นมาจากเมืองอนุราธปุระขณะที่มีสงคราม พระองค์ประทับอยู่ที่นี่เพื่อเป็นการตั้งหลัก ก่อนที่จะรวบรวมไพร่พลกลับไปรบกันอีกครั้งหนึ่ง และต่อมาเมื่อทรงรบชนะและเสด็จกลับขึ้นครองราชย์ พระองค์จึงมีบัญชาให้สร้างวิหารศิลาภายในถ้ำที่ดัมบุลล่านี้ ซึ่งปัจจุบันมีถ้ำทั้งหมด 5 ถ้ำด้วยกัน มีขนาดใหญ่เล็กแตกต่างกันออกไป และที่นี่เป็นสถานที่สำคัญของชาวศรีลังกาที่ล่าสุดที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโกในปี พ.ศ. 2543 ที่ผ่านมา

เมื่อเดินเข้ามาภายในถ้ำแรก ผมได้เห็นพระพุทธรูปปางปรินิพานขนาดใหญ่ซึ่งมีความยาวถึง 15 เมตร ประดิษฐานอย่างโดดเด่นภายในถ้ำ และยังมีภาพเขียนเฟรสโก้ที่บอกเล่าพุทธประวัติ และเรื่องราวของชาวสิงหลโบราณ รวมทั้งลวดลายดอกไม้ต่างๆ อีกด้วย

“โอ้โฮ… อลังการงานสร้างสุดๆ” ผมอุทานเสียงดัง จึงทำให้ภายในถ้ำนั้นก้องกังกาลไปด้วยเสียงของผม จนพี่กรู๊ฟต้องรีบห้ามปราม เพราะสำหรับชาวศรีลังกาแล้วเมื่อเวลาเข้าเยี่ยมชมวิหารหรือศาสนสถาน พวกเขาจะไม่พูดคุยกันเสียงดัง และจะส่งเสียงเพียงเฉพาะเวลาที่สวดมนต์เท่านั้น

หลังจากตื่นตาตื่นใจในถ้ำแรก ผมก็ต้องร้องว้าว (อยู่ในใจ) เมื่อเดินมาถึงถ้ำที่สองซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากกัน เพราะถ้ำที่สองเป็นถ้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุด สามารถบรรจุประพุทธรูปขนาดใหญ่ไว้มากถึง 150 องค์เลยทีเดียวเชียว และเช่นกันว่าตลอดทั้งกำแพงและเพดานของถ้ำ ก็จะมีการเขียนภาพเฟรสโก้เอาไว้อย่างสวยงามอีกด้วย และต่อจากนั้นพวกเราจึงเดินไปชมถ้ำที่ 3, 4 และ 5 ตามลำดับ

หากจะพูดถึงสถิติตัวเลขกันสักหน่อย เราจะพบว่าภายในถ้ำแห่งดัมบุลล่าทั้ง 5 ถ้ำนี้ มีประพุทธรูปปางต่างๆ ประดิษฐานอยู่รวมกันมากถึง 153 องค์ และรูปสลักจำลองของพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นผู้สร้างถ้ำแต่ละถ้ำอีก 3 พระองค์ นอกจากนี้ยังมีรูปสลักของพระวิษณุ และพระพิฆเนศวร์ รวมอยู่อีกอย่างละ 2 องค์ด้วย

เป็นที่น่าสังเกตว่าที่ศรีลังกานั้นไม่นิยมจุดธูปไหว้พระ ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะป้องกันอัคคีภัย และอีกส่วนนั้นน่าจะเป็นเพราะป้องกันไม่ให้ควันธูปไปทำลายภาพเขียนเฟรสโก้แน่ๆ (อันนี้กระต่ายน้อยและพี่กรู๊ฟสันนิษฐานกันเองนะฮะ)

ก่อนจะเสร็จจากการเดินชมถ้ำแห่งดัมบุลล่า จู่ๆ คุณลุงมหินทร์ก็ทำท่าตกใจแล้วหันมาถามพี่โอ๊ตว่าเมื่อสักครู่เขาทอนเงินจากการซื้อตั๋วมาให้เท่าไร สรุปได้ใจความว่าทางเจ้าหน้าที่ขายตั๋วนั้นทอนเงินผิด ซึ่งขาดไปอีก 1,000 รูปี (เขาคงไม่ได้คิดรวมผมเข้าไปด้วยหรอกนะฮะ)  

เมื่อรู้อย่างนั้น คุณลุงมหินทร์จึงรีบขอตัวไปทวงเงินที่ขาดไปเพื่อคืนให้พวกเรา ทั้งๆ ที่พี่โอ๊ตบอกว่าไม่เป็นไร แต่คุณลุงก็ยังยืนยันอย่างหนักแน่นว่ามันเป็นการไม่สมควรที่จะต้องเสียเงินเปล่าๆ อยู่ดี พูดเสร็จคุณลุงก็จากไป ปล่อยให้พวกเราผจญภัยกับความมืดและพี่ๆ ลิงจ๋อ ซึ่งมองไม่เห็นตัว แต่ส่งเสียงมาเป็นระยะๆ พอให้หวาดเสียวขณะเดินลง

ผมมารู้ภายหลังว่าจริงๆ แล้วตลอดทางเดินขึ้นลงนั้น มีการติดตั้งเสาไฟฟ้าเอาไว้ แต่ไม่ว่าจะติดตั้งอย่างไร ก็ถูกพี่ลิงจ๋อทั้งหลายทำลายเรียบไปเสียทุกครั้ง

เมื่อมาถึงด้านล่าง เราก็พบคุณลุงมหินทร์ซึ่งยืนยิ้มแฉ่งพร้อมกับเงิน 1,000 รูปีในมือที่เขาไปนำมาคืนให้เรา… คุณลุงมหินทร์นี่ยอดจริงๆ เลยนะฮะ พวกเรารู้สึกโชคดีที่ได้เจอเขา และได้เขามาเป็นคนนำเที่ยวในครั้งนี้เป็นที่สุด

เมื่อออกจากถ้ำแห่งดัมบุลล่า เราก็มุ่งหน้าเข้าพักที่โรงแรมชื่อว่า ‘Tailanka Resort and Spa’ ซึ่งพี่โอ๊ตได้จองเอาไว้ล่วงหน้า แหม… แค่ชื่อก็ฟังดูเข้าท่าแล้วครับ ผมก็ได้แต่หวังว่าวันนี้ ผมจะได้นวดสปาแบบอายุรเวทตามแบบฉบับของชาวศรีลังกาเสียที หลังจากที่เดินจนขาสั้นๆ ทั้งสองข้างของผม มันร้องโอดครวญกันแทบแย่แล้ว

ภายในโรงแรม Tailanka นั้นตกแต่งเอาไว้อย่างสวยงามตามสไตล์ลอฟต์ที่ดูเรียบง่ายและเข้ากันได้ดีกับธรรมชาติมากๆ แถมที่นี่ยังมีการปลูกพืชผัก ผลไม้ และข้าวด้วยตนเอง ซึ่งสอบถามมาได้ความว่า ทางเจ้าของเขาอยากให้นักท่องเที่ยวหรือแขกที่มาพักได้กินของดีๆ มีประโยชน์และปลอดสารพิษ นอกจากนั้นบริเวณสวนผลไม้และนาข้าวยังเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวเดินชม หรือลงมือดำนาด้วยตัวเองอีกด้วยนะ

แต่สำหรับผมนั้นคงต้องขอตัว แค่นี้ขาก็แทบจะหลุดออกจากตัวแล้วละฮะ ขอไปนอนแอ้งแม้งให้พี่ๆ เขานวดในสปาดีกว่า เสร็จแล้วก็จะได้รีบเข้านอนเพื่อเตรียมตัวเดินทางไปเมืองแคนดี้ เมืองหลวงเก่าอีกเมืองหนึ่งซึ่งพี่กรู๊ฟคุยนักคุยหนาว่าที่นั่นเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญที่สุด  ที่เราเดินทางมาเที่ยวศรีลังกากันในคราวนี้ แต่จะเป็นอะไรนั้น พี่กรู๊ฟขออุบไว้ก่อน เอาไว้ค่อยบอกผมอีกทีเมื่อตอนไปถึงที่นั่นฮะ

ทิปการเดินทางจากกระต่ายน้อย 🙂

  1. การแต่งกายให้เหมาะสมกับกาลเทศะและสถานที่เมื่อเวลาไปท่องเที่ยว จะทำให้เราเที่ยวได้อย่างสุขใจและสบายกาย
  2. ควรรู้จักปฏิเสธสิ่งที่ผู้อื่นเสนอขาย ถ้าหากว่าเราไม่ได้ชื่นชอบหรือต้องการมันจริงๆ อย่าซื้อสิ่งเหล่านั้นเพียงเพราะความเกรงใจ

 

อ่านตอนต่อไป  –

 

Don`t copy text!